ธานินทร์ที่เคยทำท่าว่าจะล้มคะมำลงอย่างหมดท่า ได้รับการต่อลมหายใจจากกลุ่มแบงก์เจ้าหนี้ด้วยการส่งคนเข้ามาร่วมบริหารและให้เงินกู้เพิ่มเติม
แต่ยังไม่ทันเห็นผลคนที่แบงก์ส่งมาพากันลาออก พร้อมกับข่าวการเข้ามาเทคโอเวอร์ของกลุ่มสหยูเนี่ยน
ท่ามกลางความสงสัยเกิดอะไรขึ้นกับคนของแบงก์และธานินทร์ ทำไมธานินทร์จะต้องดิ้นเป็นเฮือกสุดท้ายในการขอให้สหยูเนี่ยนเข้าโอบอุ้ม
สหยูเนี่ยนจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาที่หมักมมมานานของธานินทร์ได้หรือไม่ และอนาคตของธานินทร์ภายใต้การบริหารของสหยูเนี่ยนจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ซัมซุงนั้น
จะเป็นเพียงฝันในก้อนเมฆหรือไม่
"ความจริง 30 กว่าปีของธานินทร์ แม้ว่าจะไม่สามารถชนะญี่ปุ่นได้ แต่ก็ไม่ควรแพ้เกาหลีใต้
อย่างน้อยน่าจะอยู่ในระดับเดียวกับซัมซุงหรือน้อง ๆ ซัมซุง เราไม่มีอะไรสู้เขาไม่ได้"
นักอุตสาหกรรมอาวุโสท่านหนึ่งแสดงความเห็น
หากถ้อยความข้างต้นได้ยินถึงอุดม วิทยะสิรินันท์ เราอาจจะได้ยินคำพูดที่พรั่งพรูจากปากเขาว่า
"หากรัฐบาลไม่ประกาศลดค่าเงินบาทกะทันหัน หากภาวะเศรษฐกิจไม่ตกต่ำในช่วงปี
2527 รัฐบาลไม่ใช้นโยบายจำกัดสินเชื่อ 18% หากรัฐบาลให้การสนับสนุนและช่วยเหลืออุตสาหกรรมของคนไทยอย่างจริงจัง
หากคนไทยชาตินิยมหันมาบริโภคสินค้าไทย ธานินทร์ก็คงไม่ย่ำแย่ ป่านนี้ธานินทร์อาจจะกวดทันซัมซุงแล้วก็ได้"
ธานินทร์ถือกำเนิดจากร้านขายวิทยุเล็ก ๆ และเติบใหญ่ขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นอุตสาหกรรมตัวอย่างที่เป็นของคนไทยล้วน
ๆ เพียงหนึ่งเดียวในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า
ความเติบใหญ่ของธานินทร์ ดูได้จากการขยายกิจการออกไปอย่างกว้างขวางขอบข่ายการผลิตจากที่มีวิทยุทรานซิสเตอร์ธรรมดา
ก็เพิ่มทีวีขาวดำ ทีวีสี พัดลม หม้อหุงข้าว ฯลฯ จนมีสินค้าเกือบครบวงจร ช่วงปี
2517 - 2523 มีบริษัทในเครือเพิ่มอีก 4 แห่ง คือ ธานินทร์อิเลคทรอนิคส์ที่เชียงใหม่
ธานินทร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ธานินทร์คอนเดนเซอร์ และธานินทร์การไฟฟ้า
ธานินทร์เคยส่งสินค้าไปขายทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและจีน ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของธานินทร์
คือ ปี 2526 ในปีนั้นยอดขายของธานินทร์สูงถึง 800 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสามของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
และในปีเดียวกันนั้นเองก็เป็นปีสุดท้ายของความรุ่งโรจน์ของธานินทร์ ก่อนที่จะซวนเซจนแทบจะล้มทั้งยืน
เพราะมรสุมจากภายนอกและภายในเอง !!!
เสียงเรียกร้องจากธานินทร์ดังกระหึ่มในปลายปี 2529 ขอความช่วยเหลือในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมของคนไทย
ซึ่งกำลังประสบภาวะการขาดทุนอย่างหนักหน่วง ซึ่งธานินทร์ให้เหตุผลในเชิงนโยบายที่ไม่แน่นอนของรัฐในกรณีลดค่าเงินบาท
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธานินทร์ต้องย่ำแย่
เรื่องราวของธานินทร์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางบนหน้าหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น
ในฐานะสินค้าคนไทยที่กำลังมีปัญหา แต่ปัญหานั้นเกิดมาจากอะไรกันแน่ และถ้าจะช่วยธานินทร์จะช่วยอย่างไร
?
"ผู้จัดการ" เคยเสนอเรื่องราวของธานินทร์ โดยชี้ชัดไว้ว่า เนื้อแท้ของปัญหาของธานินทร์ที่ไม่มีคนมองก็คือ
ความล้มเหลวของการบริหารงานแบบครอบครัวภายในของธานินทร์เอง ลึกลงไปกว่านั้นเป็นปัญหาความสามัคคีในหมู่พี่น้องเอง
และปัญหาเทคโนโลยีที่ธานินทร์ไม่ปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
"ผู้จัดการ" เสนอเรื่องราวของธานินทร์เป็นครั้งที่สอง เมื่อธานินทร์สามารถตกลงกับกลุ่มแบงก์เจ้าหนี้ได้
โดยธานินทร์ยอมตามแผนฟื้นฟูกิจการของแบงก์ ซึ่งครั้งนั้น "ผู้จัดการ"
ได้ทิ้งข้อสังเกตไว้ว่า ดูกันผิวเผินแล้ว ความยุ่งยากทั้งปวงได้ผ่านพ้นไปแล้ว
แต่เมื่อพินิจให้ถ่องแท้หนทางข้างหน้ายังเป็นข้อกังขาอยู่ว่า จะราบรื่นเพียงใด
?
สาระสำคัญของการตกลงกับแบงก์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2530 คือ
หนึ่ง - ธานินทร์ยินยอมขายที่ดินและทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
ทำให้สามารถลดยอดหนี้จาก 630 ล้าน หรือ 360 ล้านบาท
สอง - ธานินทร์ยอมรับแผนการฟื้นฟูระยะยาวของธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นแผนการที่เสนอให้ธานินทร์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานใหม่หมด
โดยที่เครือบริษัทที่อยู่ภายใต้โครงสร้างใหม่ คือ ธานินทร์อุตสาหกรรม ธานินทร์การไฟฟ้า
และห้างหุ้นส่วนอุดมชัยซึ่งทำหน้าที่จัดจำหน่าย
ตามแผนการฟื้นฟูนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งกลุ่มเจ้าหนี้ 13 ราย จะไม่ฟ้องเรียกร้องหนี้คืนภายใน
5 ปี โดยที่เจ้าหนี้จะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 100 ล้านบาท ส่วนหนี้เดิมจะต้องชำระคืนทุกงวด
6 เดือน งวดละ 20 ล้าน จะสูงหรือต่ำกว่านี้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ
พร้อมกันนั้น แบงก์และธานินทร์ก็ร่วมกันสรรหามืออาชีพเข้ามาบริหาร ซึ่งในที่สุดก็ได้
ดร.ชวลิต ทิสยากร ดุษฎีบัณฑิตทางวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม
อดีตผู้จัดการโรงงานของบริษัทปัญจพลไฟเบอร์ เข้ามาเป็นผู้จัดการทั่วไปของเครือธานินทร์
และกรรณิการ์ เลิศขันติธรรม อดีตมือดีทางการเงินของธนาคารกสิกรไทยที่ลาออกมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินของธานินทร์
เพราะก่อนหน้านี้เธอถูกส่งตัวเข้ามาสะสางปัญหาการเงินในธานินทร์
นั่นคือ การมองปัญหาในมุมของแบงก์ที่เห็นว่า ควรใช้มืออาชีพเข้ามาบริหารงาน
ซึ่งในระยะแรกนั้น ทางธานินทร์ก็ไฟเขียวเต็มที่ให้มืออาชีพเหล่านี้เข้ามาว่ากันให้เต็มที่
!!!
ดร.ชวลิต เข้าไปเห็นความไม่เป็นระบบหรือไม่มีระบบของธานินทร์ ก็จัดทำโครงสร้างขององค์กรขึ้นมา
โดยแบ่งเป็น 5 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเงิน การตลาด การผลิต การส่งออก และฝ่ายวิจัยและพัฒนา
งานของ ดร.ชวลิต หลังจากจัดระบบขึ้นมาแล้วก็พยายามจะปรับทั้งคนและงานให้เข้ากับระบบ
ซึ่งเป็นงานที่หนักหนาไม่น้อยสำหรับองค์กรที่เคยชินกับสิ่งที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์มาก
ดังนั้นแรงต้านตลอดจนการกระทบกระทั่งจึงเกิดขึ้นไม่น้อย ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าทุกอย่างจะพอไปได้
ส่วนกรรณิการ์ ซึ่งเหมือนกับต้องไปสร้างฝ่ายบัญชีขึ้นมาใหม่จากแผนกที่ไม่มีความสำคัญ
มีพนักงานเพียง 10 กว่าคน มาเป็นแผนกที่มีพนักงาน 30 กว่าคน แม้ว่ากรรณิการ์จะเคยเข้ามาสะสางปัญหาการเงิน
แต่เมื่อต้องเข้ามาทำหน้าที่คุมฝ่ายบัญชี เธอเองคงแทบช็อค เพราะมันคงสาหัสสากรรจ์กว่าที่เธอประเมินไว้มากนัก
!!!
"ระบบบัญชีจริง ๆ แล้วมันไม่มีหรอกคุณ มันมีแต่บุ๊คที่โน๊ต ๆ ไว้ คำว่าบัญชีมันต้องมีสลิปเข้าม
าแล้วมีการบันทึกบัญชีทั้งเข้าและออกนี่มันไม่มี มันมัดกันไว้เป็นตั้ง ๆ
กับพื้น คุณอุดมทำการค้ามากว่า 30 ปีทำไมไม่จัดการ ไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่เข้าใจก็ไม่ทราบ
มันจึงกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของธานินทร์ไปอย่างช่วยไม่ได้" คนในธานินทร์วิเคราะห์
ความพยายามที่จะเข้าไปดัดโน่นเปลี่ยนนี่ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจจากพนักงานบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย
และได้ก่อแรงต้านขึ้นเป็นการกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมกับเสียงดูแคลนว่า
มืออาชีพเหล่านี้เป็นแต่ทฤษฎีไหนเลยจะสู้คนที่คลุกคลีกับงานเช่นนี้มานานเช่นพวกเขาได้
แต่ภาพที่ปรากฏออกมาภายนอก ธานินทร์ให้ภาพกับสาธารณชนว่าธานินทร์ไปได้ดี
ปีนี้ยอดขายจะไปได้ถึง 500 - 600 ล้านบาท
แต่ครั้นเมื่อครบกำหนดชำระหนี้งวดแรกและงวดที่สอง เมื่อกลางปีและปลายปี
2531 ปรากฏว่า ธานินทร์ยังไม่สามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้ตามแผน โดยขอผัดผ่อนเป็นงวดต่อไป
ปลายปี 2531 แบงก์ได้ปล่อยเงินให้ธานินทร์อีก 100 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีกระแสข่าวว่า
ผู้บริหารธานินทร์เห็นท่าจะบริหารงานอย่างนี้ต่อไปไม่ไหว กว่าจะชำระหนี้คืนแบงก์ได้หมด
หนทางข้างหน้าดูไม่สดใส ผู้บริหารธานินทร์จึงวิ่งหาพาร์ทเนอร์ใหม่ เพื่อเข้ามาช่วยคลี่คลายภาระหนี้สิน
ซึ่งในที่สุดกลุ่มที่เข้ามาก็คือ กลุ่มสหยูเนี่ยน
คำถามที่เกิดขึ้สำหรับคนที่สนใจติดตามปัญหาของธานินทร์ คือ ทำไมเจ้าของธานินทร์ถึงไม่ใจเย็นทำตามแผนการฟื้นฟูกิจการตามที่แบงก์วางแนวทางไว้
และเกิดอะไรขึ้นกับมืออาชีพที่เข้าไปบริหารธานินทร์ ?
คำตอบที่จะไขปริศนานี้ออกมาได้ มาจากคนของธานินทร์เองที่เข้าใจโครงสร้างปัญหาการบริหารและโครงสร้างอำนาจอย่างถ่องแท้
กล่าวคือ
"ผมว่า…พวกแบงก์ที่จับปัญหาธานินทร์มา 4 - 5 ปี ก็ยังไม่เห็นปัญหาแท้จริงหรอก
แม้แต่มืออาชีพที่เข้ามาก็ตาม ซึ่งอาจจะมองเห็นภายหลังแต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว
ในจำนวน 3 บริษัทนั้น ธานินทร์อุตสาหกรรม และธานินทร์การไฟฟ้าเป็นบริษัทผลิตเพื่อส่งขายห้างอุดมชัย
ซึ่งเป็นผู้ขายแต่ผู้เดียว เมื่อส่งสินค้าให้อุดมชัย แต่เนื่องจากระบบเอกสารไม่มีระบบบัญชีที่แน่นอนก็ไม่มี
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เงินที่เข้ามาเท่าไหร่ แล้วใครนั่งทับอุดมชัยอยู่
คนที่แบงก์ส่งมาก็มัวจัดระบบ 2 บริษัทที่ทำการผลิตอยู่ พอเริ่มลงตัวก็พยายามจะเข้ามาในอุดมชัย
ซึ่งเข้ามาไม่ได้มันเป็น BACK LOCK ถ้าคุณนึกภาพสามเหลี่ยมที่มี แต่ออกไม่มีเข้านี้ทะลุ
คุณก็จะรู้ว่ามืออาชีพเจอแบบนี้เข้าก็ทำอะไรไม่ออก และนี่คงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เขาลาออก
ผมเดาอย่างนั้น"
เมื่อเมษายน 2532 ดร.ชวลิต และกรรณิการ์ ลาออกจากธานินทร์ โดยชวลิตกลับไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการของบริษัทปัญจพล
เปเปอร์ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของปัญจพล ไฟเบอร์ ส่วนกรรณิการ์นั้นไม่กลับแบงก์กสิกร
แต่ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของปัญจพลเปเปอร์
ในที่สุดแล้ว มันกลายเป็นทัศนะที่สวนทางกันระหว่างแบงก์กับเจ้าของกิจการ
ซึ่งเจ้าของเขาเห็นว่า สิ่งที่ทำให้กิจการธานินทร์ชะงักงันนั้น เป็นปัญหาอยู่ที่พวกเขาขาดเงิน
ถ้าเขามีเงินเพียงพอเขาก็สามารถบริหารกิจการต่อไปได้ด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งใคร
ขณะที่แบงก์เห็นว่า ปัญหาของธานินทร์อยู่ที่การบริหารภายในแบบครอบครัวที่ไร้ระบบ
จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารเสียใหม่ โดยใช้มืออาชีพ
ก็เป็นอันว่า แผนการปรับปรุงหนี้ที่เสนอโดยแบงก์ล้มเหลว จำเป็นที่จะต้องหาทางออกใหม่
พฤษภาคม ปี 2532 ปลายฤดูร้อนซึ่งร้อนปานจะแผดเผาทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นจุล
ประวัติศาสตร์ของธานินทร์อุตสาหกรรมได้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อตัดสินใจเซ็นสัญญาเข้าอยู่ใต้ชายคายักษ์ใหญ่อย่างสหยูเนี่ยน
รูปแบบของการเข้าไปของสหยูเนี่ยนครั้งนี้ มิได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทเก่าในเครือของธานินทร์
แต่เป็นการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ แล้วโอนสิทธิต่าง ๆ ทางการค้าของ 4 บริษัทในเครือะานินทร์มาให้บริษัทใหม่
และบริษัทใหม่จะซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดของเครือธานินทร์เข้ามาอยู่ในบริษัทใหม่
และจดทะเบียนยกเลิกทั้ง 4 บริษัทนั้นเสีย
บริษัทใหม่มี 2 บริษัท ใช้ชื่อ ธานินทร์ยูเนี่ยนอุตสาหกรรม เป็นบริษัทที่ทำการผลิตอีกบริษัท
คือ ธานินทร์ยูเนี่ยนเซลส์แอนด์เซอร์วิส เป็นบริษัทขาย ส่วนบริษัทที่ยกเลิกไป
3 บริษัทกับอีก 1 หจก. คือ ธานินทร์อุตสาหกรรม ธานินทร์การไฟฟ้า ธานินทร์อินเตอร์เนชั่นแนล
และห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมชัย
โดยที่สหยูเนี่ยนจะลงทุนในบริษัทใหม่ 300 - 320 ล้านบาท ส่วนฝ่ายธานินทร์จะลงทุน
180 -200 ล้านบาท โดยสหยูเนี่ยนยินดีที่จะให้เงินสด ๆ แก่ธานินทร์ไปใช้หนี้ที่มีปัญหากับแบงก์ทั้งหมด
ซึ่งทางฝ่ายธานินทร์จะต้องเป็นผู้ไปเจรจากับแบงก์เองว่า เมื่อมีเงินสดมาคืนให้ทั้งหมดแบงก์จะลดดอกเบี้ยให้เท่าไหร่
ซึ่งขณะที่กำลังปิดต้นฉบับอยู่นี้ (18 พ.ค. 32) การเจรจากับแบงก์ยังไม่มีข้อยุติ
สำหรับแบงก์นั้น การที่สหยูเนี่ยนเข้ามาแล้วทำให้แบงก์ได้เงินอย่างง่ายดาย
ย่อมเป็นเรื่องที่แบงก์พอใจเป็นยิ่งนัก แม้แผนฟื้นฟูจะล้มเหลวก็ช่างมันเถอะ
เมื่อแบงก์หมดเรื่องกับธานินทร์แล้ว ต่อไปธานินทร์กับสหยูเนี่ยนก็ไปปลุกปล้ำกันต่อไป
ฐานะทางการเงินของธานินทร์เดือนกุมภาพันธ์ 2532 ธานินทร์มีทุนอยู่ 190 ล้านบาท
ขาดทุนสะสมรวม 220 ล้านบาท ทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งที่ดินและอาคารบริษัทอเมริกันแอพไพแซลตีราคาประมาณ
300 ล้านบาท หากรวมสินค้าคงเหลือและบัญชีลูกค้าต่าง ๆ ยอดจะออกมาประมาณ 700
ล้านบาท ซึ่งบริษัทใหม่จะรับซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งหากเงินไม่พอ สหยูเนี่ยนก็จะให้ยืมอีก
100 - 200 ล้าน
หลังจากชำระหนี้แบงก์ที่มีปัญหาไปหมดสิ้น และได้เงินจากการขายสินทรัพย์ให้บริษัทใหม่
และดอกเบี้ยที่แบงก์อาจจะลดให้ ซึ่งเงินส่วนนี้สหยูเนี่ยนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ธานินทร์ก็จะมีเงินเหลือมาลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งโดยสัดส่วน คือ ฝ่ายธานินทร์ถือหุ้น
40% และสหยูเนี่ยน 60%
แม้ว่า สหยูเนี่ยนจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็ได้ตกลงกันว่า ตราบใดที่ฝ่ายธานินทร์ยังไม่ลดหุ้นของตัวเอง
คนที่จะเป็นประธานก็ยังได้แก่ อุดม วิทยะศิรินันท์ ส่วนกรรมการผู้จัดการและตำแหน่งบริหารอื่น
ๆ นั้น ทางฝ่ายสหยูเนี่ยนเป็นผู้เสนอ
คำถามที่เกิดขึ้นต่อคนในวงการอุตสาหกรรม คือ ทำไมสหยูเนี่ยนจึงยอมเสี่ยงมารับภาระแทนธานินทร์
สหยูเนี่ยนมองเห็นช่องทางที่ธุรกิจนี้จะก้าวหน้าอย่างไรในเมื่อสหยูเนี่ยนไม่ได้อยู่ในไลน์นี้
ที่สำคัญสหยูเนี่ยนรู้ปัญหาของธานินทร์ถ่องแท้เพียงใด เป็นสิ่งที่ทุกคนจับตามองด้วยความสนใจ
สหยูเนี่ยนเป็นกลุ่มอุตสาหรรมที่เกิดหลังกลุ่มธานินทร์อุตสาหกรรม 5 ปี ถ้านับอายุปีนี้ก็
28 ปีเต็ม เป็นสหยูเนี่ยนที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ ซึ่งผ่านคลื่นมรสุมเศรษฐกิจลูกแล้วลูกเล่ามา
ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นกว่าจะขึ้นมายืนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าของไทย
ซึ่งมีศักยภาพทางธุรกิจไม่น้อยกลุ่มหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากผลการประกอบการในปี
2531
สหยูเนี่ยนมีสินทรัพย์ทั้งเครือรวมกัน 11,025 ล้านบาท มียอดขายทั้งสิ้น
14,811 ล้านบาท มียอดกำไรสุทธิ 1,130 ล้านบาท มีบริษัทที่ปรากฏในรายงานประจำปีของปี
2531 จำนวน 34 บริษัท ซึ่งนั่นยังมิได้รวมบริษัทที่ตั้งใหม่เมื่อต้นปี 2532
อีกเกือบ 10 บริษัทเข้าไปด้วย
ฐานของกลุ่มสหยูเนี่ยนอยู่ที่สิ่งทอ (TEXTILE) แต่ก็ขยายตัว (DIVERSIFY)
ไปในธุรกิจหลากหลายชนิด เช่น คอมพิวเตอร์, รองเท้า ฯลฯ โครงการใหญ่ที่เพิ่งเซ็นสัญญาไปไม่นาน
คือ การร่วมทุนกับบริษัทไอซีไอแห่งอังกฤษในการผลิต PTA ในโครงการปิโตรเคมีระยะที่สอง
ดำหริ ดารกานนท์ แห่งเครือสหยูเนี่ยนนั้น รู้จักสนิทสนมกับอุดม วิทยะศิรินันท์
มาเกือบ 10 ปีในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมไทย ซึ่งรู้จักกันครั้งแรกที่ศูนย์เพิ่มผลผลิตที่จัดฝึกอบรมวิทยาการสมัยใหม่แก่นักธุรกิจ
ซึ่งนับเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ในเชิงทฤษฎีให้นักธุรกิจทั่วไป
"เรื่องธานินทร์มันเริ่มมาจากคุณจารุณี ภรรยาคุณอุดม มาพบเพื่อต้องการขายที่ดินบางส่วนไปชำระหนี้
ซึ่งผมชมน้ำใจเขามาก บางธุรกิจเวลาลำบากพยายามเก็บเงินซ่อนไว้ แตทั้งคุณอุดมและจารุณียอมขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้
เพื่อรักษาชื่อเสียง เราก็ช่วยซื้อไว้หลายแปลง ต่อมาคุณจารุณีก็บอกขอให้สหยูเนี่ยนเข้าไปช่วยเพราะคุณอุดมอายุมาแล้ว
อยากให้พัก ตอนคุณเอนก (วิทยะศิรินันท์) จะแยกตัวออกไป ขอให้รับซื้อหุ้นของเอนก
ผมก็ซื้อไป 5 ล้านบาท ความจริงผมก็สนใจที่จะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว
ยังเคยบอกไว้เลยว่า ต่อไปสหยูเนี่ยนจะต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
เพราะเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป แต่สหยูเนี่ยนมีหลักว่าเราจะไม่ทำอะไรที่เราไม่ชำนาญ
ถ้าเราเข้าไปเริ่มต้นใหม่ อย่างน้อยต้องอีก 5 - 10 ปีกว่าจะรู้จัก กว่าจะคลำได้ว่าอะไรเป็นอะไร
แต่ธานินทร์ทำมาแล้วตั้ง 32 ปี" ดำหริ เล่าความเป็นมากับ "ผู้จัดการ"
นั่นคือยุทธศาสตร์การขยายตัวไปสู่ทิศทางใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่กิจการของเครือไม่ให้ตุ้มถ่วงไปอยู่ที่สิ่งทอมากเกินไป
มันบังเอิญสอดคล้องกับความต้องการปลดเปลื้องภาระหนี้สินของกลุ่มธานินทร์กับขาดทุนที่แบกไว้สองร้อยกว่าล้าน
ฝ่ายวิทยะศิรินันท์ คงคิดสาระตะอย่างถ้วนถี่ว่า ทำไปอีก 10 ก็คงใช้หนี้คืนแบงก์ไม่หมด
การก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของสหยูเนี่ยนโดยร่วมทุนกับธานินทร์
ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานที่สั่งสมมา ธานินทร์รู้จักผู้ซื้อ-ผู้ขายอย่างดี
มีคนที่ชำนาญในด้านการผลิตอย่างดี สำหรับสหยูเนี่ยนแล้วสิ่งเหล่านี้นับเป็นบันไดให้สหยูเนี่ยนก้าวไปข้างหน้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
อนาคตของธุรกิจนี้ กลุ่มสหยูเนี่ยนมองว่า ไปได้อีกไกลมาก !
หนึ่ง - ฐานะการเงินของธานินทร์ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมจะอยู่ในสภาพที่มั่นคง
มีทุนจดทะเบียน 500 มีสินทรัพย์ถาวร 300 ล้านมีหนี้เงินกู้อีก 200 ล้านบาท
ซึ่งอยู่ในสภาวะสภาพคล่องสูงมาก
สอง - ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการจัดการภายในนั้น ในระยะแรกสหยูเนี่ยนอาจจะต้องลงไปช่วยให้คำปรึกษาในการเคลียร์หนี้ของแบงก์
และส่งทีมทางด้านการเงินเข้าไปช่วยสะสางและจัดวางระบบบัญชีสำหรับบริษัทใหม่
ซึ่งทางสหยูเนี่ยนถือได้ว่า เป็นกลุ่มที่มีจุดแข็งอยู่ที่มีทีมการเงินที่แข็งแกร่งมาก
ซึ่งคิดกันว่า จะช่วยลดจุดอ่อนของธานินทร์ไปได้มากทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของฝ่ายธานินทร์ด้วย
เพราะอันที่จริง มือการเงินจากแบงก์ที่ส่งเข้าไปก็ถือเป็นมือหนึ่งเช่นกัน
และเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทใหม่ไปก่อหนี้เพิ่มสหยูเนี่ยนจะเป็นคนจัดการเรื่องเงินทั้งหมด
สาม - การจัดระบบเพื่อกุมสภาพบริษัททั้งสองไม่ให้มีการรั่วไหลเกิดขึ้น เมื่อธานินทร์ยูเนี่ยมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นบริษัทผลิต
จะซื้อวัตถุดิบทุกอย่างต้องซื้อผ่านสหยูเนี่ยน ซึ่งจะเป็นผู้เปิดแอลซีซื้อให้ทั้งหมด
และเมื่อจะขายให้บริษัทธานินทร์ยูเนี่ยนเซลส์แอนด์เซอร์วิสขายผ่านสหยูเนี่ยนก่อนอีกเช่นกัน
ซึ่งหมายความถึงการผ่านในเชิงเอกสารและมีบันทึกอยู่ที่สหยูเนี่ยนเท่านั้น
โดยที่ในทางปฏิบัติสินค้าจะส่งตรงไปเลยทั้งซื้อและขาย
นัยสำคัญของการซื้อขายผ่านบริษัทสหยูเนี่ยน คือ สหยูเนี่ยนจะกุมสภาพข้อมูลที่แท้จริงไว้ได้ทั้งหมด
ผลิตอะไรบ้าง ซื้อวัตถุดิบราคาเท่าไหร่ จากที่ไหน ต้นทุนแท้จริงเท่าไหร่
ขายในราคาเท่าไหร่ ขายให้ใครบ้าง เป็นการป้องกันการรั่วไหล หรือ BACK LOCK
ที่อาจจะเกิดขึ้น และเป็นการซึมซับความรู้ความเข้าใจในข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสหยูเนี่ยนในระยะต่อไป
สี่ - ในด้านการผลิต ซึ่งทางฝ่ายธานินทร์ชำนาญกว่าสหยูเนี่ยนนั้น สหยูเนี่ยนก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในระยะแรก
เพียงแต่สหยูเนี่ยนคงพยายามหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น
"ในด้านการผลิตต่อไป เราอาจจะขยายโรงงานรับจ้างผลิตยี่ห้ออะไรก็ได้แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า
หรือเราอาจจะร่วมทุนกับบางยี่ห้อของญี่ปุ่น หรืออาจจะร่วมทุนกับบางยี่ห้อของญี่ปุ่นหรืออาจจะเป็นชาติไหนยังไม่แน่ผลิตไปขายทั่วโลก
ซึ่งก็จะเอาบริษัทใหม่นี่แหละเป็นผู้ร่วมทุนต่อไป เราก็จะเรียนรู้พัฒนาโนว์ฮาวไปเรื่อย
ๆ ในที่สุด เราอาจจะสามารถหายี่ห้อที่เป็นสากลที่ส่งขายไปต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับก็ได้"
ดำหริกล่าวถึงแผนการในใจของเขา
ห้า - ในด้านการตลาด สำหรับตลาดภายในประเทศนั้นดูเหมือนสหยูเนี่ยนจะไม่สนใจมากนัก
เพราะมองว่าถ้าจะทำให้ใหญ่แล้วต้องส่งออกต่างประเทศ เพราะเดี๋ยวนี้ประเทศแถบยุโรปเขาถือว่า
พวกทีวีจนถึงเตาไฟฟ้า เป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีต่ำ เขาไม่อยากผลิต เขาสั่งซื้อจากญี่ปุ่น
เกาหลี ไต้หวัน ของไทยเราเองก็น่าจะขายได้เช่นกัน ยิ่งค่าแรงเราถูกกว่า หากพัฒนาคุณภาพให้ดี
ราคาถูกกว่า โอกาสที่เราขายได้มันมาก
ส่วนตลาดในประเทศก็เป็นไปในลักษณะที่รักษามาร์เก็นแชร์ที่ธานินทร์เคยมีมาในอดีต
แม้ว่าจะต้องปรับกระบวนยุทธ์มาขายผ่อนส่งอย่างที่ซิงเกอร์ทำอยู่ ผู้ใหญ่ของทางสหยูเนี่ยนก็รู้สึกว่า
"เราก็น่าจะทำได้ คนของธานินทร์ก็เก่งอยู่แล้ว เราเพียงแต่เพิ่มเติมระบบการเงินให้มันไปด้วยกันได้เท่านั้น
อาจจะมาขายผ่อนส่งแข่งกับซิงเกอร์ซักตั้งหนึ่ง"
อันที่จริงทางกลุ่มสหยูเนี่ยนเตรียมที่จะพัฒนาธานินทร์ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมไว้ในหลายลักษณะ
ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของจังหวะและโอกาส อนาคตของธานินทร์อาจจะหันไปผลิตสินค้าที่มันไฮเทคกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้
ดังจะเห็นได้จากหลังจากเซ็นสัญญาร่วมทุนกันเพียง 3 - 4 วัน กลุ่มสหยูเนี่ยนได้พาผู้จัดการบริษัทไอบีเอ็มของญี่ปุ่น
ซึ่งเดินทางมาดูโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า หัวอ่าน (HEAD
CARRIAGE) ซึ่งสหยูเนี่ยนรับจ้างบริษัทไอบีเอ็มผลิตให้เข้าไปชมโรงงานธานินทร์
เพื่อหาลู่ทางที่ข้างหน้าอาจจะปรับให้ผลิตชิ้นส่วนของไอบีเอ็มได้หรือไม่
"วันหลังเราอาจจะหันไปผลิตจอมิเตอร์ให้ไอบีเอ็ม ตอนนี้ต้องพยายามหาอินฟอร์เมชั่นให้มากที่สุด
ว่าควรจะผลิตอะไรต่อไปจึงจะดีที่สุด แต่ใจผมคิดว่า ของ LOW-TECH แล้วมันไปได้ยาก
บางทีอาจจะ SCRAP โรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนไปผลิตไอซี MEMORY CHIP หรือจอมอนิเตอร์
ซึ่งมันกำไรดีกว่าเยอะ แต่ถึงจะ SCRAP ก็คงไม่ทั้งหมดยังไงก็ตามจะยังผลิตสินค้าในชื่อธานินทร์ออกมาอยู่ตราบเท่าที่ยังขายได้"
สำหรับทีมงานของสหยูเนี่ยนที่จะเข้าไปบริหารบริษัทใหม่นั้น สหยูเนี่ยนได้วางตัว
เผ่าเทพ โชตินุชิต ผู้บริหารระดับวิพี ซึ่งคุมเขตอุตสาหกรรมบางชันให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ นั้นกำลังอยู่ในระหว่างการจัดสรร แต่สหยูเนี่ยนมีนโยบายว่า
จะพยายามใช้คนของธานินทร์เดิมให้มากที่สุด โดยผู้ใหญ่ของสหยูเนี่ยนกำชับให้คนของตนใช้ท่าทีของความเป็นมิตร
เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งเหมือนกับคราวที่มืออาชีพที่แบงก์ส่งเข้าไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
อนาคตของธานินทร์ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมนั้น ทางสหยูเนี่ยนคิดว่า ใน 1 - 2 ปีนั้น
ควรจะต้องทำกำไรได้แน่นอน หลังจากนั้นทางสหยูเนี่ยนมีแผนที่จะนำบริษัทใหม่นี้เข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนขยายกิจการให้ใหญ่โตต่อไป
เพื่อจะได้สามารถแข่งขันกับทั้งกลุ่ม 5 เสือจากญี่ปุ่น และ 3 ยักษ์จากแดนอารีดังที่พาเหรดเข้ามาแข่งขันในตลาดอย่างไม่หยุดยั้ง
บางรายถึงกับย้ายฐานการผลิตมาที่เมืองไทยแล้ว
หากย้อนประวัติศาสตร์การเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศหลายแห่งจะพบว่า อุตสาหกรรมที่มีฐานจากสิ่งทอแล้วเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าเป็นแนวโน้มให้เห็นหลายกลุ่ม
ที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มซัมซุงแห่งเกาหลีใต้
"ไม่แน่นะ อีก 5 - 10 ปีของเราอาจจะโตไม่แพ้ซัมซุงก็เป็นได้"
ดำริพูดถึงความใฝ่ฝันของเขากาลเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์