นักการเมืองตลอดจนผู้คนทั่วไปมักจะมอง วรรณ ชันซื่อ ว่าเป็นนักธุรกิจ เป็นคนร่ำรวยมหาศาล
และมีเครือข่ายกิจการที่เกี่ยวข้องกว้างขวางสุดหยั่งคาด
แต่สำหรับทัศนะโดยทั่ว ๆ ไปของผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจแล้ว กลับมองว่าวรรณเล่นการเมืองมาโดยตลอด
เพียงแต่ไม่ปรากฏตัวชัดเจนดังเช่นปัจจุบันเท่านั้น
วรรณ ชันซื่อ เป็นอะไรกันแน่ ?
วรรณ ชันซื่อ นั้นเป็นเจ้าของบุคลิกแบบน้ำนิ่งไหลลึก ใครที่เคยสัมผัสเขาจะพบว่า
เปลือกนอกของวรรณเป็นคนเรียบ ๆ มีอารมณ์ขัน ไม่ชอบความหรูหราฟู่ฟ่า แต่ถ้าได้สนทนาหรือคบค้าสมาคมด้วยแล้ว
ก็จะพบว่า วรรณเป็นคนมีหลักคิดเป็นตัวของตัวเอง และมักจะใช้ท่วงทำนองอ่อนแต่หลักการแข็งอยู่เสมอ
"ใครคบแล้วสบายใจ เพราะคุณวรรณรับปากอะไรแล้ว เป็นต้องทำตามคำพูด ไม่มีบิดพลิ้ว
แต่ถ้าไม่เห็นด้วยเขาก็จะให้อีกฝ่ายสบายใจ โดยไม่หยิบยกเรื่องที่ไม่เห็นด้วยมาเป็นสาระ
มีความเป็นมิตรให้กับทุกคน เขาจึงเป็นคนที่ไม่ค่อยมีศัตรู แม้จะเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองอยู่ลึก
ๆ ก็ตาม" คนที่รู้จักวรรณมานานเล่าให้ฟัง
วรรณ ชันซื่อ จึงเป็นคนที่มีมิตรสหายมากมาย ซึ่งถ้าจะมองว่า มิตรสหายเหล่านี้คือ
CONNECTION ก็คงจะไม่ผิดเพราะไม่ใช่มิตรสหายในแวดวงธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงนักการเมือง
นายทหาร และข้าราชการระดับเบ้ง ๆ อีกด้วย
วรรณ ชันซื่อ นั้นจบกฎหมายจากธรรมศาสตร์ และไม่ว่าวิถีชีวิตจะผลักดันให้วรรณ
ต้องกลายเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย ความเป็นนักกฎหมายของวรรณก็ยังคงดำรงอยู่เสมอมา
สำนักงานทนายความสะพานเหลือง ซึ่งก่อตั้งโดยเอกยู้ ชันซื่อ พ่อของวรรณ ปัจจุบันยังคงมีงานภายใต้การดูแลของวรรณอยู่มากมาย
(สำนักงานกฎหมายแห่งนี้มีสถานที่ตั้งอยู่บนอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารศรีนคร)
ความเป็นนักธุรกิจของวรรณเริ่มต้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว งานชิ้นแรก ๆ ของเขา
คือ การซื้อขายที่ดิน จากนั้นก็ลงทุนทำศูนย์การค้าวังบูรพาร่วมกับโอสถ โกสิน
และนักธุรกิจอีกหลายคน
ความเป็นลูกจีน "แซ่ตั้ง" เคยเรียนหนังสือจีนหลายปี และเป็นนักกฎหมายอีกทั้งมีหัวเซ้งลี้
กล่าวได้ว่า เขามีคุณสมบัติที่เหมาะมากสำหรับบรรดานักธุรกิจโอเวอร์ซีไชนีสทั้งหลายจะคบค้าสมาคมด้วย
กลุ่มอื้อจือเหลียง ซึ่งผูกพันกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อจึงเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่วรรณเข้าไปเกี่ยวข้องเพียงแต่ในรุ่นลูก
ๆ ของอื้อจือเหลียงกิจการไม่ได้ขยายตัวมากมายก็เลยค่อนข้างจำกัด
กลุ่ม "เตชะไพบูลย์" ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่แนบแน่นกับวรรณ ชันซื่อมาก
นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มทุนญี่ปุ่น อย่างมิตซูบิชิ ซึ่งวรรณเข้าไปโดยผ่านทางสายของตระกูลบุญสูงและสารสิน
รวมทั้งเชาว์ เชาว์ขวัญยืน อดีตเจ้าของ "ไทยออยล์" ซึ่งเดิมเป็นคนจีนไต้หวันก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่วรรณร่วมงานธุรกิจด้วย
และยังมีอีกมาก
ก่อนหน้านี้ เล็กน้อยภาพของวรรณ จึงเป็นภาพของนักธุรกิจใหญ่ผู้มีตำแหน่งเป็นกรรมการของกิจการนับร้อยแห่ง
และที่เป็นประธานกรรมการก็ไม่ต่ำกว่าสิบแห่ง โดยเฉพาะในเครือของกิจการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยกับญี่ปุ่นในสายอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์
การมองว่า วรรณ ชันซื่อ เป็นนักธุรกิจจึงมีความถูกต้อง
วรรณ ชันซื่อนั้นอีกด้านหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับแวดวงการเมืองโดยอ้อมมานานแล้ว
เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยหนุ่มแห่งอายุ 30 กว่า ๆ วรรณเป็นคนที่เข้านอกออกในบ้านจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ เป็นว่าเล่น
ยุคถนอม ประภาส เขาก็ได้ชื่อว่าใกล้ชิดจอมพลประภาสไม่น้อย
โดยเฉพาะพรรคชาติไทยนั้น วรรณ ชันซื่อ ได้ชื่อว่าเป็น "หัวเบี้ย"
มาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค
อีกทั้งยังสนิทเสน่หาเป็นอย่างดีราวกับเครือญาติกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ตั้งแต่พลเอกชวลิตเพิ่งจะติดยศพลตรีได้หมาด ๆ และก็คบหากันมาตลอด
การมองว่า วรรณ ชันซื่อ เล่นการเมืองมานานแล้วจึงไม่ผิด
เมื่อเป็นนักธุรกิจก็ใช่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ไม่ผิด !!
แล้วอะไรคือความลงตัวของวรรณ ชันซื่อ
"ก็นักประสานผลประโยชน์นั่นไง…" คนที่รู้จักวรรณ ช่วยไข ซึ่งดูเหมือนจะเป็นบทบาทที่สมเหตุสมผลที่สุด
วรรณนั้นเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับ "ไทยออยล์" ของเชาว์ เชาว์ขวัญยืน
ก็โดยฐานะผู้เดินงานประสานประโยชน์ระหว่างนักลงทุนเชื้อสายไต้หวันอย่างเชาว์กับผู้มีอำนาจอย่างจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์
ประสานประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนอีกหลายกลุ่มที่เขาสัมพันธ์ด้วยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมิตซูบิชิ
กลุ่มเตชะไพบูลย์ ฯลฯ กับกลไกรัฐและผู้มีอำนาจแต่ละยุค
โดยอาศัย CONNECTION ที่มีอยู่มากมายของเขา
หรือแม้แต่การประสานประโยชน์ภายในกลุ่มธุรกิจด้วยกัน วรรณก็ทำสำเร็จมาแล้ว
ตัวอย่างเด่นชัดก็เห็นจะเป็นการรวมกิจการเหล้าแม่โขงกับหงส์ทองเข้าด้วยกัน
เพื่อยุติศึกที่บานปลายนั่นเอง
บรรดาเงินทองที่ใช้สนับสนุนพรรคการเมือง ก็เป็นวรรณ ชันซื่ออีกนั่นแหละที่รวบรวมจากบรรดาธุรกิจใหญ่น้อยทั้งหลาย
การเป็นนักประสานประโยชน์ของวรรณ ซึ่งเป็นมานานแล้ว ถ้าพิจารณาควบคู่ไปกับสถานภาพปัจจุบันก็จะยิ่งเห็นความสำคัญของเขามาก
กลุ่มธุรกิจภาคเอกชนเติบโตขึ้น กระทั่งปัจจุบันจัดเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงในสังคม
เช่นเดียวกันพัฒนาการของพรรคการเมืองที่มีอำนาจต่อรองสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันบทบาทของทหารก็ยังดำรงอยู่อย่างที่จะมองข้ามไม่ได้นั้น
ได้ก่อรูปเป็นพลังอำนาจ 3 ส่วนที่มีบทบาทกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศนี้
วรรณ ชันซื่อ เป็นคนที่วงการธุรกิจยอมรับ เขามีสายสัมพันธ์กับวงการธุรกิจกว้างขวาง
ในขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ และก็สนิทสนมอย่างลึกซึ้งกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
และผู้บัญชาการทหารบกก็แล้วตำแหน่งประธานสภา ซึ่งเป็นดุลอำนาจดุลหนึ่งจะไปตกอยู่กับใครเล่า
นอกจากชายวัย 66 ที่ชื่อ วรรณ ชันชื่อผู้นี้ ทั้ง ๆ ที่คู่แข่งประธานสภาของเขา
คือ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หรือโค้วตงหมงนั่นเอง !
ใช่ ! วรรณเขาเป็นอะไรกันแน่ ?