Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2532
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณถึงคราวต้องออกมาทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)

   
search resources

เอเซีย พลัส, บมจ.
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ
Stock Exchange




การเดินเข้าออกของมืออาชีพในตำแหน่งงานทุกวันนี้ เป็นเรื่องธรรมดาเสียเหลือเกิน กระทั่งการเดินออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่นั่งอยู่นานเป็นเวลา 11 ปีกับอีก 3 เดือนของ ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ แห่งบริษัทหลักทรัพย์เอเชีย มือค้าหุ้นตัวยงของชาตรี โสภณพนิช ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงการค้าหุ้นไทย

ทั้งนี้ก่อนหน้า ศิริวัฒน์ก็มีคนอื่น ๆ ที่เดินออกจากหลักทรัพย์เอเซียมาแล้ว เช่น คณิต เศรษฐนันท์ ซึ่งออกมาตั้งบริษัทฟันด์เทคอน บริการข้อมูล เพื่อการลงทุนในตลาดหุ้นให้กับนักลงทุนหรือในจังหวะที่ศิริวัฒน์ลาออกนี้ ก็มีพนักงานฝ่ายหลักทรัพย์ลาออกด้วยหลายคน พวกเขาล้วนแต่มีอายุการทำงานมาเป็นเวลานานเฉลี่ย 6 ปี ซึ่งก็ขึ้นชื่อว่า เป็นมืออาชีพได้แล้ว

เหตุผลง่าย ๆ ที่คนวงใน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ก็คือ ในเมื่อมีที่อื่นดีกว่า พวกเขาก็ย่อมไป เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้

แต่สำหรับศิริวัฒน์นั้น "ที่อื่น" ที่เขาจะไปในครั้งนี้ อาจจะพูดไม่ได้เต็มปากนักว่า ดีกว่าที่เดิมอย่างไร ทว่า เมื่อตัดสินใจว่า ได้ทำให้ที่เดิมมา "พอแล้ว" ได้ทำให้ "ผู้ถือหุ้น" สบายไปแล้ว ก็คงถึงเวลาที่เขาจะออกมาทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง

การเริ่มต้นลงทุนในวัย 40 ปีเต็มสำหรับวันนี้ของศิริวัฒน์ก็ยังไม่เป็นการสายเกินไป

ศิริวัฒน์คลุกคลีอยู่กับวงการค้าหุ้นไทยมานาน 15 ปีเต็ม โดยหลังจากจบปริญญาด้านการบริหารธุรกิจการเงินที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน เมื่อปี 2516 และฝึกงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขานิวยอร์กพักหนึ่ง เขาก็กลับมาเริ่มงานครั้งแรกกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่กรุงเทพธนาทร เป็นเวลา 3 ปีกว่า

จากนั้นก็ย้ายมาที่บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย นั่งประจำในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ต้นจนถึงวันลาออก

ศิริวัฒน์ กล่าวเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์มืออาชีพมานานแล้ว เขาก็จะเปลี่ยนไปเป็นนักลงทุนมืออาชีพบ้าง นั่นคือ บริหารพอร์ทที่พรรคพวกมาลงขันกันแล้วมอบความไว้วางใจให้เขาทำ

โดยสไตล์การบริหารพอร์ทที่จะทำนี้คงต้องแตกต่างจากการบริหารพอร์ทของหลักทรัพย์เเซีย เมื่อเขายังนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ เพราะมีวงเงินเป็นจำนวนที่ต่างกันมาก

ในการบริหารพอร์ทที่จะทำนั้น ศิริวัฒน์ กล่าวว่า เขาเป็นคนค่อนข้างระมัดระวังในการเล่นหุ้น คือ ศึกษาก่อน และกล้าซื้อกล้าขายจริง ๆ ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและการดูจังหวะการซื้อขายมากวก่าเรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค

ศิริวัฒน์ เป็นหนึ่งในนักเล่นหุ้นจำนวนน้อยรายที่เข้าร่วมในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่หลักทรัพย์เอเซียถือหุ้นอยู่ และแสดงบทบาทของผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่ โดยการซักถามแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เป็นเพียงนักเล่นหุ้นที่ถือหุ้นเพื่อหวังเงินปันผลหรือการเก็งกำไร

วิธีการของเขาได้ฝากผลงานอันน่าประทับใจไว้ที่หลักทรัพย์เอเซียเมื่อปี 2530 ปีที่เกิด "ตุลาอาถรรพณ์" ซึ่งทำให้ใครต่อใครขาดทุนกันอย่างมโหฬาร มีแต่ศิริวัฒน์เท่านั้นที่ทำกำไรให้หลักทรัพย์เอเซีย 150 ล้านบาท

ศิริวัฒน์ ย้อนผลงานให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างถ่อมตนว่า "เผอิญผมโชคดี ผมขายหุ้นจนเหลือประมาณ 5 - 10% ของพอร์ทที่ดัชนี 450 ซึ่งพวกเทคนิคัลพากันพูดว่า ดัชนีจะขึ้นไปถึง 500 แต่ผมก็ชอบฝืนอยู่เรื่อย ดัชนีขึ้นไปถึง 472 แล้วก็ค่อย ๆ ร่วงติดพื้นทุกวัน"

"คนที่สบายที่สุด คือ ผม ผมจะซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ในเมื่อเห็นแนวโน้มว่ามันร่วงลงทุกวัน ๆ ผมปล่อยให้มันลงมาจนดัชนีประมาณ 300 ผมก็เริ่มเข้ามาซื้อ จนดัชนีมันแตก 250 ผมก็ซื้อหนักขึ้น ซึ่งตอนนี้พวกเทคนิคัลก็พูดเหมือนกันว่ามันคงลงมาที่ 230 บางคนก็ว่าถึง 200 ทีเดียว แต่ในที่สุดจุดต่ำสุดของมันอยู่ที่ 243"

อย่างไรก็ดี ความเป็น "เซียน" ของศิริวัฒน์ ใช่ว่าจะเกิดจากความชำนาญช่ำชองแต่อย่างเดียวหาได้ไม่ เพราะการบริหารพอร์ทของหลักทรัพย์เอเซียที่มีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาทขึ้นไปนั้น จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงจากการตัดสินใจรวมหมู่ในคณะกรรมการฝ่ายจัดการ

เสียงหลาย ๆ เสียงในคณะกรรมการฝ่ายจัดการที่ตัดสินให้ขายหุ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2531 ก็เป็นผลทำให้หลักทรัพย์เอเซียต้องประสบการขาดทุนในพอร์ทของตัวเองถึง 80 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2531 นั้น

ศิริวัฒน์ กล่าวอย่างสุขุมว่า "พอร์ทขาดทุนนั้น ผมยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของผม ผมยอมรับว่า ผมทำเกินอำนาจไป และเผอิญจังหวะไม่ดี ผมซื้อในเดือนสิงหาคมและหุ้นมันก็ตกเรื่อย ๆ แต่หุ้นที่ผมซื้อ ซึ่งเป็นหุ้นแบงก์นั้น ส่วนใหญ่ก็โอเค ใช้ได้"

"เผอิญหลายฝ่ายในบริษัทมองว่า หุ้นยังคงจะตกต่อไป คณะกรรมการฝ่ายจัดการก็บอกให้ขาย ขายขาดทุนนะ แต่ผมเองผมก็ไม่ได้บอกว่า หุ้นมันจะขึ้น แต่ผมคิดว่า หุ้นมันคงไม่ลงไปกว่านั้นแล้ว และหุ้นส่วนใหญ่ที่เราถืออยู่ก็เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีทั้งนั้น แต่ในเมื่อผมเสียงเดียว หลายเสียงก็ชนะ ผมต้องขาย และก็เลยขาดทุนมากอย่างนั้น"

"เมื่อผมซื้อหุ้นเหล่านี้ โดยซื้อที่ราคาสูงสุดแล้วราคาก็ค่อย ๆ ตกฮวบลงมาเรื่อย ๆ นั้น ผมมีความรู้สึกเฉย ๆ แต่ผมไม่คิดมาก่อนเลยว่า ฝ่ายจัดการจะไม่ยอมให้ผมถือไว้ ซึ่งต่อมาเวลาก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ถ้าหุ้นที่ผมซื้อไว้ไม่ดีจริง ราคาคงไม่ฟื้นกลับขึ้นมาได้"

"ถ้าคณะกรรมการฝ่ายจัดการให้ผมถือหุ้นต่อไป โดยที่จริง ๆ ขณะนั้นเงินเราก็ไม่ได้ตึง เรายังมีวงเงินอยู่ ถ้าให้ผมทำในสิ่งที่ผมเคยทำให้หลักทรัพย์เอเซียมา ก็อาจจะไม่ขาดทุนมากขนาดนี้ เพราะผมเคยซื้อที่ราคาสูงสุดมาแล้ว เมื่อผมขายไม่ทัน ผมจะไม่ทำอะไรเลย ปล่อยไว้ เนื่องจากเวลาผมเล่นหุ้นนี่ ผมจะเตรียมกำลังไว้เสมอ ผมจะไม่ลงหมด"

ประสบการณ์ครั้งนี้คงจะให้ข้อคิดอะไรหลาย ๆ อย่างกับศิริวัฒน์ และในเดือนธันวาคม 2531 นั้นเอง เขาก็ยื่นหนังสือลาออกกับชาลี โสภณพนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหลักทรัพย์เอเซีย ซึ่งจะมีผลให้เขาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม 2532

หนังสือลาออกของเขาถูกยับยั้งชั่วคราว เนื่องจากชาตรี โสภณพนิช ซึ่งอยู่ระหว่างการผ่าตัดและพักฟื้นที่สหรัฐฯ บอกให้เขาอยู่ต่อไปก่อน ครั้นชาตรีเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม ศิริวัฒน์ก็ได้คุยเรื่องการลาออกของเขาอีกหลายคราว "จนท่านเข้าใจผม ผมจึงขอลาออกได้"

ศิริวัฒน์ กล่าวอย่างตริตรองด้วยเหตุผลแล้วว่า "สาเหตุเรื่องการขาดทุนของบริษัทนี้ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ผมลาออก การซื้อขายหุ้น มันก็มีกำไรขาดทุน ผมขอบอกว่า ผมเสียใจที่มีส่วนทำให้บริษัทขาดทุน ก็เหมือน ๆ กับความรู้สึกที่ผมมีส่วนทำให้บริษัทมีกำไรมากมายเมื่อปี 2530 นั่นแหละ"

ผมคิดว่า ที่ผมตัดสินใจลาออกก็คือ ผมทำให้หลักทรัพย์เอเซียมานาน ทำให้ผู้ถือหุ้นมาเยอะ ที่สำคัญคือ ผู้ถือหุ้นสามารถขายหุ้นของเขาได้ 16 - 19 บาทจากราคาพาร์ 10 บาท เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้ตอบแทนผู้ถือหุ้น ถึงแม้ว่ามันอาจจะขาดทุนกำไรไปนิดหน่อย ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไร"

"ตอนนี้ ฐานะบริษัทก็ดีทุกอย่าง เริ่มมีกำไร หนี้สินก็มีเหลืออยู่น้อยมาก ดังนั้นก็เป็นจังหวะเวลาที่ควรจะไป และอีกอย่างเจ้านายทั้งสองก็เข้าใจผม ศิริวัฒน์ทำได้แค่นี้ รับใช้ได้แค่นี้ครับ"

หลังจาก 16 มิถุนายน 2532 ศิริวัฒน์ก็จะสลับคราบนายหน้าค้าหุ้นไปเป็นนักเล่นหุ้นเต็มตัว โดยประจำตามห้องค้าหลักทรัพย์ชั้นนำทั้งหลาย

เขาเริ่มเล็งหุ้น 2 - 3 ตัวเพื่อการลงทุนไว้แล้ว ปัจจัยพื้นฐานดี ขนาดของทุนปานกลาง ราคาพอสมควร ราคาพอสมควร ถ้ากำลังเงินพอเขาอาจจะซื้อยึดเลยก็ได้

คราวนี้เขาทำเพื่อตัวเองบ้างแล้ว !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us