Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน3 มิถุนายน 2551
ปท.เอเชียเผชิญปัญหาเงินเฟ้อหนัก แม้รบ.ตรึงแต่คงอั้นไม่อยู่ต้องขึ้นด/บ             
 


   
search resources

Economics
Banking and Finance




ประเทศแถบเอเชียกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อหนักหน่วง โดยเกาหลีใต้ขึ้นสู่อัตราสูงที่สุดในรอบ 7 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคม ส่วนไทยก็อยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบสิบปี ขณะที่อินโดนีเซียขึ้นไปเป็นตัวเลขสองหลักแล้ว นับเป็นการทดสอบครั้งหนักหน่วงที่สุดสำหรับบรรดาผู้วางนโยบายทางการเงินของภูมิภาคนี้ ตั้งแต่วิกฤตทางการเงิน "ต้มยำกุ้ง" ปี 1997-98

ทั่วทั้งเอเชีย บรรดาธนาคารกลางกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ต้องเข้มงวดนโยบายการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันดิบระดับ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งพุ่งละลิ่ว ลุกลามเข้าไปถึงเรื่องอัตราค่าจ้างตลอดจนต้นทุนอื่นๆ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ทางฝ่ายรัฐบาลก็หวั่นวิตกว่าหากแบงก์ชาติขยับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไปเช่นนี้ ก็อาจฉุดให้การเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลงมา

คำพูดของนายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ แห่งอินเดีย ดูจะสะท้อนความรู้สึกของบรรดาผู้วางนโยบายในแถบเอเชียได้เป็นอย่างดี เมื่อเขากล่าวแสดงความหวังว่า เศรษฐกิจแดนภารตะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย น่าจะสามารถทำได้ทั้งสองด้าน นั่นคือสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อ พร้อมกันนั้นก็สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่มีชนวนจากวิกฤตสินเชื่อในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายกันว่า ผู้บริโภคในอินเดียก็คงประสบชะตากรรมไม่แตกต่างจากชาติเอเชียอื่นๆ นั่นคือ ในเร็ววันนี้จะต้องรับภาระน้ำมันเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นอีกมาก เนื่องจากรัฐบาลทำท่าจะแบกรับภาระในการอุดหนุนต่อไปไม่ไหว

"พวกธนาคารกลางในเอเชียไม่ได้เผชิญกับภาพสถานการณ์ทำนองนี้มานานแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเอเชียคราวก่อน" ฮิว แมคคาย นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารเวสต์แพค ของออสเตรเลีย ให้ความเห็น พร้อมกับชี้ต่อไปว่า การที่ช่วงห่างระหว่างผลผลิตกับอุปสงค์ความต้องการใช้กำลังหดแคบลงเรื่อยๆ ในเวลานี้ จะทำให้เป็นเรื่องลำบากมากขึ้นอีกที่ประเทศแถบเอเชียจะเติบโตต่อไปโดยรวดเร็ว หากไม่ยอมปรับราคาให้ขยับสูงขึ้น

"มันเป็นการท้าทายอันใหญ่โตมากสำหรับพวกเขา เพราะการเดินนโยบายทางการเงินในเวลาที่เศรษฐกิจกำลังวิ่งไปด้วยระดับใกล้เต็มศักยภาพแล้ว ย่อมเป็นงานที่เรียกร้องความเชี่ยวชาญพลิกแพลง มากกว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินเมื่อคุณยังคงมีศักยภาพเหลือใช้อยู่อีกเยอะแยะ" เขากล่าว

ในบรรดาชาติเอเชียด้วยกัน คงไม่มีที่ไหนซึ่งการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องจะสู้เงินเฟ้อหรือจะกระตุ้นอัตราเติบโต อยู่ในสภาพขมขื่นมากเท่ากับในเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลที่เพิ่งขึ้นครองอำนาจหมาดๆ กำลังกดดันธนาคารกลางให้ตัดลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาในเรื่องเศรษฐกิจตามที่รณรงค์หาเสียงเอาไว้

ฝ่ายธนาคารกลางโสมขาวดูจะเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้นเมื่อวานนี้(2) จากข้อมูลเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้น 4.9% ในเดือนพฤษภาคม นับเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2001 และอยู่เหนือระดับที่ทางแบงก์ชาติรู้สึกว่ายังปลอดภัยพอนอนใจได้

"ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีจะต้องพลาดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตัวเองกำหนดไว้อย่างแน่นอน ถ้าหากราคาน้ำมันยังไม่ไหลรูดลงมา" เป็นความเห็นของ โอซุกเต นักเศรษฐศาสตร์แห่งค่ายซิตี้แบงก์ "ดังนั้นตลาดจึงต่างคาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า รัฐบาลต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ"

การทะยานแรงของเงินเฟ้อก็ทำให้รัฐบาลรู้สึกวิตกอยู่เหมือนกัน ดังที่รัฐมนตรีคลังกล่าวไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่า ค่าเงินวอนอาจจะตกลงมารวดเร็วเกินไป และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบก็ได้เข้าไปแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนเงินตราโสมขาวแล้ว

ไม่เฉพาะเกาหลีใต้ ทางด้านอินโดนีเซีย ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งประกาศกันออกมา ก็ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 10.38% อัตราขนาดนี้ยังสูงกว่าเมื่อเดือนเมษายนที่เท่ากับ 8.96% อีกทั้งถือว่าเป็นอัตราทะยานแรงที่สุดในรอบ 20 เดือนด้วย

ประเทศไทยก็เช่นกัน อัตราเงินเฟ้อที่ดูจากราคาผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม อยู่ในระดับเท่ากับปีละ 7.6% ซึ่งสูงที่สุดในรอบเกือบสิบปี และทะยานขึ้นมากจากระดับ 6.2% เมื่อเดือนเมษายน

ตัวเลขของประเทศเหล่านี้ล้วนแต่สูงกว่าที่ทำนายกันไว้ และทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าน่าจะต้องมีการขยับดอกเบี้ย อันต้องถือเป็นยาขมมากในช่วงเวลาที่อุปสงค์ความต้องการของโลกที่ย่ำแย่ลง ก็กำลังคุกคามเศรษฐกิจหลายๆ แห่งในเอเชียอยู่แล้ว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us