Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน3 มิถุนายน 2551
เงินเฟ้อพ.ค.พุ่ง7.6%สูงสุดรอบ 10ปี กกร.จี้สมัครร่วมถกแก้ปัญหาปากท้อง             
 


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงพาณิชย์

   
search resources

กระทรวงพาณิชย์
Economics




ตายแล้วคนไทย! เงินเฟ้อพ.ค.พุ่ง 7.6% สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี “พาณิชย์” ให้เหตุผลง่ายๆ น้ำมันตัวการหลัก ทำให้ต้นทุนสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้นจนราคาพุ่งตาม “ศิริพล”ยันคงเป้าทั้งปีไว้ที่ 5-5.5% แม้ยอดรวม 5 เดือนขยับ 5.8% ไปแล้ว ขอดูสถานการณ์น้ำมันต่ออีก 2-3 เดือนค่อยว่ากันใหม่ สั่งเจ้าหน้าที่เร่งดูแลสินค้าทั้งระบบ หวังช่วยลดเงินเฟ้อ พิลึกแถลงเงินเฟ้องวดนี้ นัดบ่ายสอง แถลง 5 โมงเย็น ส่อแววปั้นตัวเลขใหม่ ด้านภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ร่อนหนังสือถึงนายกฯวันนี้ ขอเวลาว่างนั่งหัวโต๊ะเวทีกรอ. เพื่อถกร่วมเอกชนและครม.ศก.ในการเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านจากสินค้าราคาแพง ผวาน้ำมันฉุดขาดดุลฯการค้าต่อเนื่องอาจทำศก.ชะลอยาวถึงสิ้นปี แนะใช้มาตรการทุกด้านเยียวยา ขณะที่ปัญหาการเมืองหากมีความรุนแรงยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ "เลี้ยบ"เตรียมหามาตรการเพิ่มรายได้ไม่ให้กระทบเงินเฟ้อ แบงก์ชาติเล็งทบทวนเงินเฟ้อใหม่อีกรอบ

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.2551 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2550 สูงขึ้น 7.6% ซึ่งยอมรับว่าเป็นเงินเฟ้อที่สูงมาก และเทียบเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงขึ้น 5.8%

“อย่าไปพูดเรื่องสูงสุดเลย แค่นี้ผมก็เครียดแล้ว ปี 2541 เงินเฟ้อเคยขึ้นไปถึง 10% เพราะตอนนั้นมีเรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และลอยตัวค่าเงินบาท แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของน้ำมันล้วนๆ”

ทั้งนี้ เงินเฟ้อในเดือนพ.ค.นี้ ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 9 ปี 11 เดือน นับจากเดือนมิ.ย.2541

นายศิริพล กล่าวว่า สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 2.1% สาเหตุหลักยังคงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายของสินค้าต่างๆ สูงขึ้น โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.7% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า ทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวสด ราคาสูงขึ้นตาม ผักสดราคาสูงขึ้นจากฝนตกชุก ค่าขนส่งสูงขึ้น นมประเภทต่างๆ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูปก็ปรับตัวสูงขึ้น แต่เนื้อสุกร ไข่และผลไม้ ราคาลดลง

ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.7% สูงขึ้นค่อนข้างมาก สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเช่นเดียวกัน โดยมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 9% ส่วนหมวดการศึกษา ก็เพิ่มขึ้น 1.1% เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม การปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะเฉพาะบขส. กิโลเมตรละ 3 สตางค์ และยังมีการเพิ่มขึ้นของสินค้ารายการอื่นๆ บ้าง

ส่วนเงินเฟ้อเดือนพ.ค.เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ที่สูงขึ้น 7.6% เป็นการสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ส่งผลให้หมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 11.8% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น ข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ไก่สด ไข่และผลิตภัณฑ์นม และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 5.1% ปัจจัยหลักยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน 31.2%

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพ.ค.ที่หักรายการกลุ่มอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิงออก เทียบกับเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบกับพ.ค.2551 สูงขึ้น 2.8% เฉลี่ย 5 เดือน เพิ่มขึ้น 1.9%

นายศิริพลกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังติดตามเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยยังคงยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 5-5.5% เช่นเดิมก่อน แต่จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำมันต่อไปอีก 2-3 เดือน เพราะสมมติฐานเดิมราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงมาก และสถานการณ์ไม่ปกติ ก็จะมาพิจารณาเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง

ส่วนการดูแลภาวะเงินเฟ้อไม่ให้สูงมากจนกระทบกับผู้บริโภคนั้น กระทรวงพาณิชย์จะมีการติดตามรายการสินค้าที่อยู่ในความดูแลในการคำนวณเงินเฟ้อทั้ง 373 รายการอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาอย่างละเอียดว่ารายการไหนบ้างที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ก็จะเข้าไปดูแลมากขึ้น แต่หากเป็นรายการที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น ก็จะมีการประสานหารือกันมากขึ้น

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มโครงการธงฟ้าให้เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น ทั้งธงฟ้าในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค และร้านค้าอิ่มทั่วฟ้าราคาเดียว โดยจะเพิ่มจุดจำหน่ายเข้าไปยังห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนด้านค่าครองชีพให้กับประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การแถลงเงินเฟ้อเดือนพ.ค.วานนี้ (2 มิ.ย.) นายศิริพลได้กำหนดการแถลงข่าวในเวลา 14.00 น. แต่เมื่อถึงเวลาได้ขอเลื่อนการแถลงข่าวเป็น 15.00 น. และพอถึงเวลาได้เดินทางมาแถลง โดยระบุว่าติดประชุมทำให้ต้องเลื่อนการแถลงข่าว และขอแถลงเรื่องอื่นก่อน คือ เรื่องข้าว และเมื่อถามว่าทำไมถึงไม่แถลงเงินเฟ้อเลย ก็ให้เหตุผลว่ายังทำตัวเลขไม่เสร็จ เพราะระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปกติการแถลงตัวเลขเงินเฟ้อจะมีการจัดทำเอกสารประกอบการแถลงข่าวเสร็จสิ้นก่อนวันแถลงข่าวทุกครั้ง และพร้อมที่แจก มาครั้งนี้กลับอ้างว่าระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา แต่เมื่อดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ๆ จัดเตรียมเอกสาร เห็นได้ว่ามีการจัดเตรียมเอกสารสำหรับแจกไว้พร้อมแล้ว และมีการแยกเอกสารบางส่วนออกไป ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะมีการปรับแต่งตัวเลขเงินเฟ้อหรือไม่ จึงต้องทำเอกสารกันใหม่

กกร.ยื่นหนังสือถึงนายกฯวันนี้

ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประกอบด้วย สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย) วานนี้(2มิ.ย.) ว่า กกร.เห็นชอบร่วมกันที่จะทำหนังสือถึงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในวันนี้(3มิ.ย.)เพื่อขอเวลาในการพบนายกฯในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ที่มีนายกฯเป็นประธานร่วมกับครม.เศรษฐกิจเพื่อที่จะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ร่วมกันโดยเฉพาะปัญหาปากท้องชาวบ้านที่ราคาสินค้าแพงขึ้นจากราคาน้ำมันถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

“ เอกชนพบนายกฯไปแล้ว แต่เวทีกรอ.ยังไม่เคยมี หากนัดเวลาได้ก็ถือเป็นครั้งแรกซึ่งเรื่องเร่งด่วนคือปัญหาปากท้องชาวบ้านเราจะทำอย่างไรเพราะเวลานี้ที่ราคาน้ำมันแพงมากแล้วกระทบกับแรงซื้อที่เริ่มลดต่ำขณะที่สินค้าเองก็ขึ้นราคาไม่ได้และยังไม่รู้แนวโน้มน้ำมันจะเป็นอย่างไรต่อไปเพราะเวลานี้สิ่งที่ห่วงคือเรานำเข้าน้ำมันจนขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ12 เดือนที่ผ่านมาซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ตลอดทั้งปีจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องมาหารือร่วมกันว่าจะช่วยกันอย่างไรในการรับภาระเพราะปัญหาบางอย่างคงไม่สามารถผลักความรับผิดชอบให้คนใดคนหนึ่งได้” นายประมนต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองนั้นก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทบต่อความเชื่อมั่น การประท้วงของเครือข่ายพันธมิตรที่เกิดขึ้นถือเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแต่สิ่งที่กังวลคือไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง เพราะจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นทั้งการลงทุนและการบริโภคได้มากขึ้นอีกจากปัจจุบันน้ำมันแพงได้กระทบพอสมควรแล้ว

ทั้งนี้ มาตรการที่จะเสนอแนะในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นสำคัญเช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ขณะนี้ได้ล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส รวมไปถึงความชัดเจนในเรื่องของพลังงานทดแทนที่จะต้องชัดเจนในเรื่องของแผนการส่งเสริมพืชเกษตรในการผลิตพลังงานกับอาหารเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาได้ในระยะกลางและยาว ส่วนมาตรการทางภาษีนั้นก็มีภาษีเฉพาะทางที่ควรจะหยิบยกมาพิจารณาเช่นกันเช่น ภาษีอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีศุลกากรในบางรายการเพื่อลดต้นทุนการผลิตเช่น เหล็ก วัตถุดิบบางประเภท เป็นต้น

หวั่นศก.ซึมลากยาวสิ้นปีนี้

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า เอกชนมีความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวเพราะผลกระทบจากวิกฤติน้ำมันแพงและยังมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาอีกในช่วงนี้ซึ่งเกรงว่าจะกระทบให้ปัญหาลากยาวไปถึงสิ้นปีได้ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งหามาตรการเร่งด่วนมาดูแลเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยระยะสั้นคงจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาภาวะของแพงที่กระทบให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นและเกิดปัญหาเงินเฟ้อ

“ ราคาสินค้าที่ต้องปรับขึ้นก็คงจะต้องมาดูว่าอะไรที่ชะลอได้และพอรับภาระไหวก็คงจะรับกันไปแต่จะให้เอกชนรับภาระฝ่ายเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ก็ต้องมาดูกันว่าแล้วรัฐจะหามาตรการดูแลได้ไหมบางสาขาก็อาจจะต้องมาดูเรื่องน้ำมันว่าจะช่วยเขาอย่างไร เช่น ขนส่ง ประมง คงต้องหารือภาพรวมแม้ว่าที่ผ่านมามาตรการรัฐจะออกมาบ้างแล้วและถือว่าดีแต่ก็ยังกังวลในทางปฏิบัติ”นายสันติกล่าว

สำหรับมาตรการเบื้องต้นที่จะเสนอได้แก่ พระราชบัญญัติงบประมาณปี 2550 ที่ล่าช้าไป 1 ไตรมาสดังนั้นส่วนราชการต่งๆ จะต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าและเห็นควรเร่งปรับราคากลางของโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ,เร่งการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่มีอยุ่อยู่แล้ว เช่นระบบราง ,การปรับปรุงภาษีศุลกากรที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต,เร่งฟื้นฟูและพัฒนาภาคเกษตรในการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ในระยะยาว และสนับสนุนให้กกร.และรัฐมีการหารือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องเศรษฐกิจ เป็นต้น

ชี้ขาดดุลการค้ามากทำบาทอ่อน

นายธวัธชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐและเอกชนจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด เพราะการขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นอาจลุกลามได้ตลอดปีเมื่อประเทศขาดดุลฯมากขึ้นก็จะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินจะทำให้ค่าเงินบาทผันผวนไปในทางอ่อนค่าได้ และการที่เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะหลีกเลี่ยงปัญหาการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ยากดังนั้นก็จะต้องพิจารณาให้เกิดสมดุลทุกส่วน

“เราเป็นห่วงปากท้องชาวบ้านเพราะหากแรงซื้อลดต่ำเกิดปัญหาขึ้นจะลุกลามไปทุกส่วนได้ซึ่งโชคดีที่ผ่านมาส่งออกยังพอช่วยได้ และราคาสินค้าเกษตรก็มีราคาดี แต่ราคาน้ำมันต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังตอบไม่ได้และสินค้าเกษตรก็เริ่มลดลงจึงต้องเร่งหาทางดูแลไว้ก่อน กรณีสินค้าเกษตรนั้นที่ผ่านมารัฐแทบไม่ได้ปรับปรุงอะไรเพราะเกษตรไทยยังไม่มีการเพิ่มผลการผลิตต่อไร่แต่อย่างใด”นายธวัธชัยกล่าว

เลี้ยบเล็งเสนอมาตรการเพิ่มรายได้ ปชช.

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมช.คลัง กล่าวว่า เตรียมเสนอมาตรการปรับฐานรายได้ของประชาชนรวมถึงค่าครองชีพ และค่าแรงขั้นต่ำ ของผู้ใช้แรงงานให้มีความเหมาะสม กับสภาวะเศรษฐกิจ โดยไม่ให้มีผลกระทบกับเงินเฟ้อ

"อัตราเงินเฟ้อปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 5 ประชาชนควรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 - 6 เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของราคาอาหาร และราคาพลังงาน" นพ.สุรพงษ์กล่าวพร้อมยืนยันว่า จะยังไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นอกเหนือจากค่าครองชีพที่รัฐบาลได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนนั้น ทางกระทรวงการคลัง เตรียมหารือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้ประชาชนมีอาชีพเสริม พร้อมนำผลิตภัณฑ์ของโอทอป และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อจัดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ จัดพื้นที่ราชพัสดุที่เหมาะสมเป็นตลาดกลางในการซื้อขาย

ธปท.เล็งทบทวนเงินเฟ้อใหม่

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ธปท.จะมีการทบทวนประมาณการอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือนพ.ค.ขยายตัวสูงถึง 7.6% ซึ่งเร่งตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาในอัตรา 4-5% โดยเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงมากอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทะลุ 3.5% ถือเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินหรือไม่นั้นถ้าพิจารณาเทียบเป็นเดือนต่อเดือนหรือในช่วง 7 เดือนก่อนหน้าก็ไม่ได้เร่งตัวสูงเท่ากับในช่วงเดือนเม.ย. ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 2.8%นั้นยังอยู่ในอัตราที่เรามองอยู่ ส่วนทิศทางนโยบายการเงินในระยะต่อไป ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)”นางอมรากล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ยอมรับว่ามีความกังวลอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่าจะมีเหตุการณ์บานปลายหรือไม่ ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวยังคงเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามธปท.มองว่าควรให้อุปสงค์ภายในประเทศมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นการช่วยชดเชยการส่งออกที่จะชะลอตัวด้วย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us