ผมเขียนถึงแอพพลิเคชั่นบนเว็บ หรือที่เรียกว่า web-based applications ในคอลัมน์นี้ค่อนข้างบ่อยครั้ง สาเหตุหนึ่งเพราะผมเชื่อในเรื่องการสามารถทำงานจากที่ใดๆ ก็ได้เพียงแค่เราสามารถเชื่อมต่อเข้าอินเทอร์เน็ต และอีกสาเหตุหนึ่งเกี่ยวกับขบถในตัวเองที่ต้องการหลุดจากพันธนาการของซอฟต์แวร์ใดๆ ที่แทบจะผูกขาดตลาดเพียงเจ้าเดียว
ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากมายนับจากวันที่ผมเริ่มเขียนถึง อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นก็มีเรื่องให้พิจารณามากขึ้น หนึ่ง เน็ตเวิร์คยังไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอ โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรคมนาคมของประเทศไทยเรา นั่นหมายความว่า อยู่ดีๆ หลังจากคลิกส่งอีเมลออกไป เมลนั้นอาจจะไปตกหล่นกลางทางก็เป็นได้ ที่สำคัญเราไม่รู้ทันทีว่าเมลนั้นไปไม่ถึง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะหลายชั่วโมงผ่านไปเมื่อเราได้รับอีเมลตอบกลับอัตโนมัติจากระบบเมลว่า เมลของเราไปไม่ถึง ซึ่งต่างจากการใช้ระบบอนาล็อกทั่วๆ ไปที่เราจะรู้ทันทีทันใดถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของการส่งข้อมูลหรือการติดต่อสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ข้อดีของมันก็คือ เราไม่ต้องไปกังวลกับการคอยดูแลระบบ ติดต่อสารตลอดเวลา เพราะระบบจะคอยควบคุมตัวมันเอง มีการตรวจสอบสถานะของการติดต่อตลอดเวลา นั่นทำให้เราไม่ต้องกังวลมากมายนัก สอง แอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตทั้งหลายล้วนทำงานอยู่ภายในอีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งคือ เว็บบราวเซอร์ที่เราใช้งานนั่นเอง ไม่ว่า เราจะใช้อินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์, ไฟร์ฟ็อกซ์ หรือบราวเซอร์ใดก็ตาม นั่นเป็นสาเหตุที่สำคัญ ที่ทำให้การใช้งานแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ต เหล่านี้ช้าและเกิดข้อจำกัดของการแสดงอินเตอร์ เฟซหลายๆ อย่าง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับบราวเซอร์เป็นหลัก ตัวอย่างการใช้งาน Photoshop Express ซึ่งเป็น Photoshop บนอินเทอร์เน็ตแสดงถึงข้อด้อยตรงนี้อย่างชัดเจน ฟังก์ชันหลายๆ อย่างที่เคยใช้ได้บน Photoshop เวอร์ชั่น ในเครื่องปกติอย่างการจัดโครงหน้ามนุษย์หรือใช้ในการตกแต่งภาพหลายๆ อย่างก็ไม่มีบนอินเทอร์เน็ต
เช่นเดียวกับ Google Docs ที่มีหลายๆ ฟังก์ชันยังสามารถทำงานได้เท่าเทียม กับไมโครซอฟท์ออฟฟิศเวอร์ชั่นแรกๆ อยู่เลย ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่เจอกับแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตหลายๆ ตัว นี่เป็นปัญหาหลักๆ ที่ทำให้แอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตทั้งหลายยังคงไม่สามารถมาแทนที่แอพพลิเคชั่นในเครื่องได้ และปัญหานี้อาจทำให้ผู้ผลิตบราวเซอร์ทั้งหลายจะต้องเอาไปทำเป็นการบ้านเพื่อหาวิธีทำให้แอพพลิเคชั่นที่รันในซอฟต์แวร์ของพวกเขาสามารถทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และได้ตามความสามารถ ที่คนเขียนแอพพลิเคชั่นทำไว้จริง เมื่อพูดถึงเรื่องปัญหาของแอพพลิเคชั่น บนอินเทอร์เน็ต ต้องโยงเข้าถึงการแย่งชิงความเป็นใหญ่ในอินเทอร์เน็ต ผมเคยพูดถึงการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นเจ้าแห่งอินเทอร์เน็ต มาหลายต่อหลายหน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาอาจจะกล่าวได้ว่า กูเกิ้ลได้ก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูงมาก อย่างไรก็ดี จังหวะก้าวของยาฮู! และไมโครซอฟท์ โดยเฉพาะดีล การเข้าควบกิจการยาฮู! ของไมโครซอฟท์ ถือเป็นการเดินหน้าทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เป็นเรื่องยาวที่ต้องคุยกันอีกนาน
แท็กติกใหม่ของไมโครซอฟท์ที่น่าสนใจในช่วงนี้น่าจะเป็นการสร้างโปรโมชั่นใหม่ๆในเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์เอง โดยเฉพาะการพยายามแย่งส่วนแบ่งตลาดของกูเกิ้ลโดยจะจ่ายเงินคืนให้กับผู้ซื้อที่ซื้อสินค้า ผ่านเว็บไซต์ที่เกิดจากการเสิร์ช หาผ่านเว็บของไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์ได้นำเสนอบริการใหม่ซึ่งจะจ่ายเงินให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าใดๆ ก็ตามที่หาผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นของไมโครซอฟท์ โดยไมโครซอฟท์เองก็คาดหวังว่าบริการใหม่นี้จะทำให้พวกเขาสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากกูเกิ้ลบางส่วนได้
บริการใหม่นี้เรียกว่า Live Search Cashback ซึ่งจะทำให้ลูกค้าที่หาข้อมูลผ่านเว็บ Live.com ของไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นของไมโครซอฟท์เอง และเมื่อซื้อสินค้าที่หาผ่านเว็บนี้ก็จะได้รับเงินคืนส่วนหนึ่งในลักษณะของส่วนลดพิเศษ ไมโครซอฟท์มองว่าบริการใหม่นี้จะทำให้ลูกค้าสนใจที่จะใช้งานเสิร์ชเอ็นจิ้นของพวกเขามากขึ้น ที่สำคัญจะทำให้พวกเขาสามารถแข่งกับกูเกิ้ลได้สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น โดยปัจจุบันกูเกิ้ลเป็นผู้ให้บริการด้านเสิร์ชเอ็นจิ้น อันดับหนึ่งและสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากโฆษณาต่างๆ ที่ผูกติดเข้ากับระบบการค้นหาข้อมูลของพวกเขา
แท็กติกใหม่นี้ถือเป็นมาตรการใหม่ที่ไมโครซอฟท์ทำหลังจากความพยายามในการซื้อยาฮูให้ได้เพื่อจะทำให้พวกเขาสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้นและโฆษณาออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตให้ได้ แม้ล่าสุดไมโคร ซอฟท์จะถูกปฏิเสธราคาที่ขอเสนอซื้อยาฮู! อีกครั้งก็ตามที โดยปัจจุบันยาฮู! ถือเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นอันดับสองในตลาดโดยเป็นรองแค่กูเกิ้ลเท่านั้น ส่วนไมโครซอฟท์ก็ตามมาห่างๆ
ไมโครซอฟท์ยังได้เสนอขอซื้อแผนกธุรกิจโฆษณาผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น ของยาฮู! แต่ก็ยังไม่มีการรับรองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน สำหรับ Live Search Cashback ซึ่งเป็นบริการใหม่ของไมโครซอฟท์นั้น ไมโครซอฟท์วางแผนเปิดตัวบริการนี้อย่างเป็นทางการในงานนิทรรศการประจำปีของพวกเขาที่จัดให้กับผู้ลงโฆษณาออนไลน์ทั้งหลายที่เรียกว่า advance08 โดยมีพันธมิตรซึ่งเป็นร้านขายของปลีกบนอินเทอร์ เน็ตยักษ์ใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น eBay, Barnes & Noble.com, Overstock.com, Sears, Zappos.com และ WPP นี่อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า "การเปลี่ยนเกม" ครั้งสำคัญของไมโครซอฟท์ โดยกลยุทธ์นี้อาจจะทำให้ไมโครซอฟท์สามารถปฏิวัติวงการ เสิร์ชและโฆษณาออนไลน์ครั้งใหญ่ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายๆ คนก็มองข้ามกลยุทธ์ใหม่นี้ โดยมองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะ กูเกิ้ลก็มี Google Checkout หรือ DoubleClick Performics ที่มีให้บริการอยู่แล้ว ในเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์เองก็ได้อธิบายถึงบริการนี้ว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้ลูกค้าอาศัยใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูล หรือเสิร์ช ในการลดราคาสินค้าที่ขายบนอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น นอกจากนี้ ราคาที่ได้ลดจะเป็น จำนวนเปอร์เซ็นต์แน่นอนจากราคาที่ขายบนเว็บและไมโครซอฟท์จะจ่ายคืนโดยการฝากเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจเช็กได้ตลอดเวลา หรืออาจจะฝากผ่านบัญชีของ PayPal ซึ่งเป็นบริการจ่ายเงินผ่านอินเทอร์เน็ตของ eBay สำหรับการใช้บริการนั้น ลูกค้าจะต้องมีแอคเคาน์ ซึ่งสามารถเปิด ใช้ได้ฟรี โดยจะต้องกรอกข้อมูลรายละเอียดส่วนตัวของลูกค้าไว้ ยกตัวอย่าง เช่น รายละเอียดการส่งใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังได้กล่าวถึงรายละเอียดกลุ่มสินค้าที่จะได้รับประโยชน์จากบริการนี้ เช่น รองเท้าที่ใช้ใส่วิ่ง น้ำหอม กล้องดิจิตอลยี่ห้อแคนนอน นาฬิกาข้อมือ และ แว่นกันแดด เป็นต้น นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังได้กล่าวถึงแบรนด์หรือร้านค้า บางร้านที่เป็นพันธมิตรกัน เช่น Barnes & Noble ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่วงการ ขายหนังสือ, Circuit City Stores และ Home Depot เป็นต้น
ปัจจุบันมีผู้ค้าประมาณ 700 ราย ขายสินค้ากว่า 10 ล้านชนิดโดย 13 จาก 40 ร้านค้าปลีกอันดับต้นๆ ของอเมริกาเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย
บิลล์ เกตต์ กล่าวในสปีชของเขาในงาน advance08 ถึงวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจเสิร์ช เอ็นจิ้นของพวกเขาว่าให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน ด้วยกัน คือ
หนึ่ง นำเสนอระบบเสิร์ชที่มีประสิทธิภาพ
สอง เพิ่มบทบาทของระบบเสิร์ชเอ็นจิ้น ไปยังกลุ่มงานที่ผลของการค้นหามักจะถูกนำไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการค้าความบันเทิง การค้นหา และการอ้างอิง โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ของระบบเสิร์ชเอ็นจิ้น เครื่องมือที่สามารถใช้งานได้ดี รวมถึงการสามารถเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ
สาม การสร้างโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ ใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจเสิร์ชเอ็นจิ้นโดยสร้างผลตอบแทนให้กับทั้งผู้ลง โฆษณารวมถึงลูกค้าและคนใช้งานทั่วไป
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์จะมีบริการที่เรียกว่า Live Search Farecast ซึ่งเป็นบริการ ที่ช่วยให้สามารถค้นหาแพ็กเกจหรือดีลเกี่ยวกับ การท่องเที่ยวที่ดีที่สุดที่มีบนอินเทอร์เน็ต
การเดินเกมในลักษณะคืนกำไรให้ลูกค้า ของไมโครซอฟท์อาจจะเป็นตัวปั่นเกมการแย่งชิงเจ้าแห่งอินเทอร์เน็ตครั้งใหม่ หลังจากไมโครซอฟท์ทำให้ทะเลกระเพื่อมด้วยขอเสนอซื้อยาฮูมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เกมจะเปลี่ยนหรือจะเกิดการล้มโต๊ะ เราก็คงต้องตามดูกันต่อไป พร้อมๆ กับเฝ้าชมยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และยุทธการใหม่ๆ จากไมโครซอฟท์และเจ้าพ่อ เจ้าแม่อินเทอร์เน็ตรายอื่นๆ ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
1. Wilson, C. (2008), "Get Off of My Cloud," Slate, http://www.slate.com/id/2183418/
2. McCracken, H. (2008), "The Best Way to Do Work Online," Slate, http://www.slate.com/id/2161519/
3. Heisler, K. (2008), "Microsoft Launches Live Search Cashback and Live Search Farecast," http://blog.searchenginewatch.com/blog/080521-125409
|