|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2551
|
|
หากการได้รับสิทธิในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอล Euro 2008 ของ RS ได้รับการอธิบายในฐานะที่เป็นการขยายบริบทธุรกิจไปสู่ sports entertainment
การเปิดตัวสนามฟุตบอลหญ้าเทียมในร่ม ในนาม S-ONE เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ RS ที่สอดคล้องกับท่วงทำนองของ Euro 2008 ที่กำลังคืบใกล้เข้ามา
เพียงแต่โครงการนี้มีวินิจ เลิศรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส เฟรชแอร์ เป็นต้นเรื่องและผู้รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง "ผมฝันไว้นานแล้วว่า อยากมีสนามฟุตบอลที่สามารถเล่นได้ทั้งกลางวันกลางคืน โดยไม่ต้องติดปัญหาเรื่องฝนตกแดดออก หรือกลัวว่าพื้นสนามหญ้าจะพัง" เป็นมูลเหตุง่ายๆ ที่วินิจพยายามอธิบาย ถึงความเป็นมาและเป็นไป
S-ONE ในทัศนะของวินิจ จึงมีนัยความหมายที่เกี่ยวเนื่องถึง Soccer One ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอักษร S ที่มีนัยไปสู่สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ นายใหญ่ของอาร์เอสแต่อย่างใด
จากพื้นที่รกร้างบนถนนบางนา-ตราด ปากซอย 48 ขนาด 8 ไร่ ถูกแปลงโฉมให้เป็นสนามสำหรับฟุตบอล 7 คน (7-a side soccer) จำนวน 4 สนาม ภายใต้เงินลงทุนที่วินิจระบุว่ามีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
ฟุตบอลอาจเป็นกีฬาที่สังคมไทยคุ้นเคยและให้ความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่การลงทุนสร้างสนามด้วยงบประมาณดังกล่าว โดยหวังจะได้ผลตอบแทนจากค่าเช่าพื้นที่รายชั่วโมงที่ 1,500 บาท ดูจะเป็นการนำเงินใหญ่มาแตกเป็นเงินเล็ก ซึ่งสุ่มเสี่ยงไม่น้อย และไม่น่าจะมีความน่าสนใจลงทุนเท่าใด
แต่สำหรับวินิจ โครงการ S-ONE ของเขาอุดมด้วยแผนการตลาดที่พร้อมจะดูดซับเม็ดเงินจากผู้สนับสนุนแต่ละรายได้เป็นอย่างดี
"เรื่องนี้เป็นการตลาดล้วนๆ โดยขณะนี้มีผู้สนับสนุนหลักแล้ว 5 ราย และจะมีผู้สนับสนุนรองที่กำลังเจรจาอีก 2-3 ราย ตามประเภทของธุรกิจ"
ผู้สนับสนุนหลักของ S-ONE ขณะนี้ประกอบด้วย I-Mobile, Yamaha, M-150, Nescafe และ PANASONIC โดยแต่ละแห่งจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนปีละ 5 ล้านบาทต่อเนื่องในสัญญาสองปี
ขณะที่ผู้สนับสนุนรองจะต้องจ่ายประมาณปีละ 2.5 ล้านบาท สำหรับการใช้พื้นที่ S-ONE ในการดำเนินกิจกรรมการตลาดของแต่ละผลิตภัณฑ์
รายได้ที่วินิจประเมินว่าจะได้รับจากโครงการ S-ONE ในช่วงสองปีแรกจึงสูงถึง 60 ล้านบาท และทำให้ โครงการนี้มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจขึ้นมา
แม้วินิจจะเน้นย้ำว่า S-ONE เกิดขึ้นจากความนิยม ในกีฬาฟุตบอลของเขา ทั้งในฐานะผู้เล่นและผู้ชม แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ใน S-ONE สะท้อนให้เห็นอีกมิติหนึ่งของวินิจ ในฐานะนักธุรกิจและนักการตลาดอย่างชัดเจน
"ที่นี่เป็น multipurpose arena ซึ่งพร้อมรองรับกิจกรรมหลากหลายของทั้งผู้สนับสนุนและลูกค้าทั่วไป เพราะการหวังพึ่งรายได้จากการเช่าสนามเพียงลำพังคงเป็นไปไม่ได้"
จำนวนผู้ใช้บริการที่ประมาณการไว้ถึง 1 ล้านคนในปีแรก จึงเกิดจากฐานการคำนวณที่มิได้ผูกพันอยู่กับจำนวนผู้เช่าสนามเพื่อเล่นฟุตบอลเท่านั้น หากน่าจะรวมถึงการเข้าใช้สนามในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมในมิติอื่นๆ มากกว่า
หากกล่าวสำหรับผู้สนับสนุนแต่ละราย นอกจากการได้พื้นที่สำหรับ brand's banner เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แล้ว นี่คือการทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อกิจกรรมองค์กรของแต่ละรายด้วย
ความเป็นไปของสนามฟุตบอลในฝันของวินิจ อาจอยู่ห่างไกล เกินกว่าที่จะจารึกบทสรุปของความสำเร็จหรือล้มเหลว
แต่สนามฟุตบอลเจ็ดคนของวินิจ คงส่งผลให้ใครต้องเจ็บไปแล้ว ไม่มากก็น้อย
|
|
|
|
|