|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2551
|
|
"ผมได้รับคำถามตั้งแต่วันแรกที่ทำงานจนถึงทุกวันนี้ คุณจะอยู่รอดได้อย่างไร แม้คนแบงก์ชาติก็ยังถามผมเลยว่า คุณรอดมาได้อย่างไร ผมบอก ก็เดินไปเฉยๆ เรื่อยๆ เหมือนพนักงานก็จะเดินมาถาม เราจะรอดมั้ย ผมบอกว่าถ้าทั้งวันเราคุยกันแต่คำนี้ ไม่รอดแน่ ฉะนั้นกลับไปทำงานเถอะ ทำดีมันก็รอด ทำไม่ดีมันก็ไม่รอด"
สุพล วัธนเวคิน ตั้งใจไว้ว่าเขาจะเกษียณตอนอายุ 55 ปี นับจากนี้ไปเหลือเวลาอีก 3 ปีในธนาคารเกียรตินาคิน เขามองว่าไม่ต้องการทำงานจนทำไม่ไหว ปัจจุบันสุพลอายุ 52 ปี ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารที่อยู่ในวงการทางด้านการเงินมานานกว่า 36 ปี เขาได้พบเห็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจไทยมาตลอดชีวิตการทำงาน เขาเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ ควบคู่กับการเรียนหนังสือในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเป็นพนักงานคนแรกเมื่อก่อตั้งบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด เมื่อปี 2514 โดยทำงานร่วมกับเลขานุการ กันเพียง 2 คนเท่านั้น สุพลเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน ที่ได้เห็นและได้อยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินของไทยตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เขาเข้ามาในวงการรุ่นใกล้เคียงกับปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) บรรยง พงษ์พานิช ประธานธรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร และศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต รวมทั้งบันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ ธนาคารธนชาต
สุพลเป็นรุ่นน้องของบันเทิงที่โรงเรียนวชิราวุธ แต่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับบรรยงในโรงเรียนเดียวกัน
กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นบุคลากรที่มากประสบการณ์เข้าใจธรรมชาติการทำธุรกิจการเงินของ ไทยอย่างลึกซึ้ง ต่างจากนักบริหารการเงินปัจจุบันที่ยึดเนื้อหาความรู้จากห้องเรียน MBA เป็นหลัก
สุพลเป็นผู้บริหารที่มีบุคลิกสุขุม วิธีการทำงานของเขาจะยึดหลักบนพื้นฐานของความเป็นจริง (realistic) โดยใช้เหตุและผลอ้างอิงเสมอมา
หลักวิธีการทำงานที่เขายึดปฏิบัติตลอดมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารเกียรตินาคินรอดพ้น จากวิกฤติทางด้านการเงิน และวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตหลายครั้ง
วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นหนักๆ มีอยู่ 3 ครั้งที่สุพลพบเห็นและเจอทางสองแพร่งมาตลอดชีวิต!!! วิกฤติแรก ในช่วงปี 2521-2522 ยุคของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ปั่นหุ้นให้มีการซื้อขายในราคาสูง ทำให้บริษัทและประชาชนไปซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากเพื่อเก็งกำไร แต่ท้ายที่สุดเมื่อหุ้นตกจนไม่สามารถแก้ไขได้ บริษัทก็ถูกภาครัฐสั่งปิด ซึ่งเสรี ทรัพย์เจริญ ในฐานะผู้บริหารในบริษัทราชาเงินทุนในตอนนั้น นักการเงินแทบทุกคนรู้จักเขาเป็นอย่างดี ช่วงปี 2526-2528 ถือเป็นวิกฤติรอบสอง เกิดจากบริษัทเงินทุนพัฒนาเงินทุน จำกัด หรือกลุ่มตึกดำ ที่มีสุธี นพคุณ ประธานกรรมการ นำเงินไปลงทุนในบริษัทในเครือ จนทำให้บริษัทล้มละลายเพราะมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ปัญหาไม่ได้เกิดเฉพาะกลุ่มตึกดำเท่านั้น แต่ได้ลามไปถึงบริษัทเงินทุนอื่นๆ ทำให้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวบริษัทเงินทุนถูกปิด 20 แห่ง นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์แชร์ล้ม ซึ่งเป็นธุรกิจนอกระบบ และคดีที่โด่งดังที่สุดในตอนนั้นคือ แชร์แม่ชม้อย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทเงินทุนเกียรตินาคินได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเงินทุนไม่เป็นที่น่าเชื่อถือสายตาของประชาชนอีกต่อไป
รัฐได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการ "life boat" ยุทธวิธีเรือช่วยชีวิต โดยมีเงื่อนไขโอนหุ้นให้รัฐและส่งข้าราชการเข้าไปทำงานในสถาบันการเงิน และบริษัทเงินทุน 19 แห่ง ยอมรับข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่เรียกกันว่า "โครงการ 4 เมษา"
ในตอนแรก สุพลมองว่าเป็นมาตรการ ที่ดี แต่เขากลับตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการไม่เข้าร่วม เพราะมองว่ายังสามารถช่วยเหลือ ตัวเองได้ เนื่องจากบริษัทมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป ผู้ถือหุ้นได้เข้ามาช่วยเหลือ ส่วนบริษัทเงินทุนทั้ง 19 แห่ง หลังจากที่ได้รับความช่วย เหลือจากรัฐก็ไม่ได้กลับออกมาอีกเลย เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกียรตินาคิน ไม่เข้าแผน เรือช่วยชีวิต อาจพิจารณาเห็นว่า เมื่อโอนหุ้นให้ภาครัฐ และมีคณะทำงานเป็นคนของรัฐ ย่อมมีความรู้และประสบการณ์ในการทำธุรกิจน้อย อาจส่งผลทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดั่งที่ตั้งใจ และยังมองว่าเป็นวิธีการที่ง่ายจนเกินไป
สถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ถือว่าเป็น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่สุดท้ายเกียรตินาคิน ก็รอดพ้นจากหน่วยงานรัฐที่จะเข้ามาถือหุ้น โดยการตัดสินใจของสุพล
สุพลเล่าว่า บริษัทฯ ทำธุรกิจแบบล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด!!!
หลังจากนั้นอีก 20 ปี ก็เกิดค่าเงินบาท ลอยตัว วิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 บริษัทเกือบทุกแห่งในประเทศไทย ไม่เฉพาะบริษัทเงินทุนเท่านั้น ล้มละลายเป็นจำนวนมาก
ผลกระทบในภาวะนั้นทำให้หนี้สินที่มีอยู่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว สุพลแก้ไขสถานการณ์โดยขอกู้เงินกองทุนฟื้นฟู 2-3 พันล้านบาท แต่ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็ปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง เพราะแบก รับภาระไม่ไหว
ซึ่งบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน เป็น 1 ใน 58 แห่งที่ถูกปิด สุพลยอมรับว่าตกใจมากในภาวะนั้น
สุพลเล่าถึงการดิ้นรนเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ก่อนที่ทางการจะปิดบริษัทของเขาให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ในตอนนั้น บริษัทมีกำไร และยังได้ทำ securitization ขณะนั้นได้ทำไปถึงขั้นสุดท้าย เบิกเงินไป 5 พันล้านบาท ในตอนนั้นมีสินทรัพย์เพียง 2 หมื่นล้านบาท
"เหลือขั้นตอนสุดท้ายต้องเปลี่ยนเป็นดอลลาร์ เพราะกู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์ และบอกกับแบงก์ชาติว่า กระบวนการจะแล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ ตอนนั้นแบงก์ชาติอยากได้เงินดอลลาร์ก็โอเค แต่บังเอิญมีการปิดเสีย ก่อน ถ้าไม่ปิดภายใน 1 อาทิตย์เงินก็เข้า" ในขณะนั้นการทำงานของแบงก์ชาติจะพิจารณาปิดสถาบันการเงินพร้อมกันทั้งหมด โดยไม่มีการแยกพิจารณาเป็นรายๆ และมีเหตุผลเดียวที่เป็นเงื่อนไขในการปิดสถาบันการเงิน คือ "เป็นสถาบันการเงินที่กู้เงินจากกองทุนฟื้นฟู" วิกฤติรอบปี 2540 ภาครัฐได้เสนอให้สถาบันเงินทุนหาพันธมิตรร่วมทุนเพื่อช่วยฟื้นฟูกิจการ ซึ่งในตอนแรกบริษัทก็เห็นด้วยและคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อที่จะต่อสู้ ให้ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการกลับคืนมา
เขาเริ่มดินทางไปต่างประเทศหลายแห่ง แต่เมื่อสุพลกลับมาคิดทบทวนอีกครั้ง และตั้งคำถามกับตัวเองว่า "สวยก็ไม่สวย รวยก็ไม่รวย เก่งก็ไม่เก่ง กำลังมีปัญหาหนัก อยากได้พาร์ตเนอร์ดีๆ คิดได้ยังไง คุยซะเหนื่อย คุยเป็น 10 เจ้า" สุพลล้มเลิกเดินสายหาพันธมิตรทันที กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เริ่มจากพิจารณาโจทย์ของแผนฟื้นฟู 3 ข้อ คือ 1. จะจัดการสภาพคล่องอย่างไร 2. ถ้าไม่มีปัญหาสภาพคล่องจะทำธุรกิจอย่างไรต่อไป 3. ทีมผู้บริหาร เชื่อถือได้หรือไม่ โจทย์ข้อแรก เขาเรียกประชุมเจ้าหนี้ และผู้ฝากทุกคน และทำตัวเลขให้เห็นชัดเจน กรณีปิดสถาบันการเงิน หรือหากไม่ปิด เขาขอระยะเวลา 5 ปี ดอกเบี้ยคืนหมด ส่วนเจ้าหนี้รายใหญ่ขอปรับหนี้ให้เป็นหุ้น 1 ใน 3 รวมถึงเจ้าหนี้ต่างประเทศ อย่างเช่น ธนาคารมิตซุย
โจทย์ข้อสอง กำหนดแผนธุรกิจให้บริการธุรกิจเช่าซื้อ และมีแผนกู้เงินจากต่างประเทศ โดยทำซิเคียวริไทเซซั่น ส่วนโจทย์ข้อสาม เรื่องผู้บริหาร ก็ส่งผู้บริหารชุดเดิม โดยมีสุพลเป็นแม่ทัพ และวิเชียร เจียกเจิม เป็นผู้บริหารมืออาชีพ
ในตอนนั้นสุพลมั่นใจว่า แผนที่เขาเสนอไปได้ตอบโจทย์ภาครัฐไปแล้วและเป็นแผนที่อยู่ได้ มีกำไร
"ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราแก้ปัญหา หรือทำอะไรได้ไม่ออกไปจากที่ควรจะเป็นมากนัก คือ realistic"
แผนฟื้นฟูดังกล่าวทำให้บริษัทได้ใบอนุญาตเพื่อดำเนินกิจการอีกครั้ง จนกระทั่งเมื่อปี 2548 บริษัทได้ขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี สุพลเชื่อว่าวิกฤติจะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง แต่วิกฤติจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะคัดเลือกผู้อยู่รอด ที่สามารถปรับตัวให้อยู่กับเหตุการณ์ในแต่ละครั้งเพื่อให้เกิดความสมดุล สุพลมองว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินไทยที่ผ่านมา ปี 2540 สถานการณ์เป็นการบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะกับบริษัทเงินทุนเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่ได้ลามไปถึงแบงก์ทำให้รัฐไม่สามารถหยุดยั้งได้ จนก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก "ผมว่ามันเป็นวัฏจักร เหมือนงูลอกคราบ ถ้าจะโตไปอีกขั้นหนึ่งก็ต้องลอกคราบ แล้วก็คิดว่า โดยระบบเศรษฐกิจเสรีมีการ พัฒนาเติบโตอยู่ตลอดเวลา มีส่วนเกิน ส่วนบกพร่องอยู่เสมอ วิกฤติเป็นตัวล้างสิ่งพวกนี้ออกไป ไม่งั้นคุณจะมีวิธีไหนที่จะเอากิจการ ของผู้ประกอบการที่ไม่มีความสามารถ ด้อยประสิทธิภาพออกไปจริงๆ ผมคิดว่ามองในเชิง ไต้ฝุ่นมา เพื่อชะล้าง ชักลอกออกไป"
เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าสุพลมีเลือดของ "นักสู้" แต่เขาสู้ในฐานะความเป็นเจ้าของที่ต้องการรักษาธนาคารเกียรตินาคิน โดยมี "เกียรติ" ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ก่อตั้ง
บุคลิกการทำงานของสุพลที่ทุ่มเททำงานอย่างหนัก น่าจะเกิดจากอิทธิพลทางความคิดจากบิดา "เกียรติ" และ "จรรย์สมร" ผู้เป็นมารดา
ทั้งสองเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ทุ่มเทให้กับการทำงานเมื่อสมัยยังเป็นหนุ่มสาว เริ่มต้นตั้งแต่ไม่มีอะไร จนปัจจุบันตระกูล "วัธนเวคิน" มีธุรกิจหลากหลาย อาทิ ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจการเงิน เกียรติทำงานหนัก โดยมีปรัชญาการดำเนินชีวิตว่า "ความสำเร็จไม่ได้สร้างในวันเดียว ต้องทำไปเรื่อยๆ แบบกัดไม่ปล่อย งานใหญ่ถึงจะสำเร็จ" หรือ "อย่าได้พึ่งพิงคนอื่น พยายามพึ่งตนเองจะดีกว่า" เป็นคำพูดที่กล่าวไว้ในหนังสือสู้ชีวิต พลิกชะตา ในวันครบรอบวันเกิดอายุ 94 ปี ในปี 2547
เหมือนเช่นจรรย์สมร ผู้เป็นมารดา แม้จะเป็นผู้หญิงแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค จนก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารแนวหน้าทำงานเคียงคู่เกียรติ
ตระกูลวัธนเวคินสืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลคู ที่มีบรรพบุรุษชื่อว่า เกียงไทกง เป็นทหาร รับใช้พระเจ้าโจวอู่หวัง สมัยราชวงศ์หยวนสื้อ นอกเหนือจากที่เขามีบิดาและมารดา เป็นแบบอย่างในการทำงานแล้ว สุพลได้ใช้ประสบการณ์ของตนเองในการทำงานและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักการทำงาน อ้างอิงความเป็นจริง ความเป็นไปได้ มากกว่า สิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ เขาเชื่อว่า ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ซึ่งเป็นคำสอนของเกียรติ
พื้นฐานการศึกษาช่วยต่อยอดความคิดให้มีระบบมากขึ้น อย่างเมื่อเขาเรียนปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นศาสตร์ทางด้านกฎหมาย เขาได้นำหลักการเรียนมาใช้ในการทำงาน อาทิ วางหลัก วินิจฉัยและสรุป
การเรียนต่อปริญญาโท สถาบันบัณฑิต บริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ช่วยขยายวิธีการบริหารงานให้มีความรู้รอบ ด้านเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่ท้าทายสำหรับสุพลคือ เขาจะรักษาธนาคารแห่งนี้ได้ยาวนานแค่ไหน เพื่อให้ตระกูล "วัธนเวคิน " ยังครองความเป็นเจ้าของ ในขณะที่การแข่งขันเสรีทางด้านการเงินเริ่มเปิดกว้างขึ้นทุกวัน
|
|
|
|
|