|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2551
|
|
รัฐบาลพม่ายอมรับความช่วยเหลือมากขึ้นเล็กน้อย แต่ยังน้อยกว่าที่เหยื่อพายุไซโคลนต้องการ
แม้ว่าจะทั้งอดอยาก ไร้ที่อยู่และเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคติดเชื้อ แต่ดูเหมือนว่า ผู้รอดชีวิต 2.5 ล้านคน ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิรวดีในพม่าจะยังเผชิญสิ่งเลวร้ายไม่พอ เกือบ 2 สัปดาห์หลังจากพายุไซโคลน Nargis ถล่มเขตอิรวดีของพม่า ซึ่งทำให้อาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสน 3 หมื่นคน แต่รัฐบาลทหารพม่ายังคงยอมให้ความช่วยเหลือ จากต่างประเทศเข้าไปเพียงน้อยนิด และยังคงห้ามส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างชาติรวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการแจกจ่ายสิ่งของไม่ให้เข้าไปในพม่า ในขณะที่การแจกจ่ายหรือไม่แจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของนายทหารจากกองทัพพม่าที่ควบคุมเขตแต่ละเขต
ใช่แต่เท่านั้น ฝนที่ตกกระหน่ำอย่างหนักในเขตประสบภัยพิบัติ ยิ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางปฏิบัติการช่วยเหลือในอิรวดีซึ่งก็มีเพียงน้อยนิดอยู่แล้ว ในขณะที่โลกภายนอกกลับหันไปสนใจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในจีนแทน ทีมกู้ภัยของรัสเซียถึงกับออกจาก พม่าเพื่อไปช่วยจีน ซึ่งยินดีต้อนรับพวกเขามากกว่า
เพื่อนของพม่าอย่างจีน อินเดีย บังกลาเทศ และไทย ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าช้าเกินไป ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เพียงจำนวนจำกัดเข้าไปในพม่า สหรัฐฯ ศัตรูตัวฉกาจของพม่า เพิ่งได้รับอนุญาตให้นำเครื่องบินขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ร่อนลงจอดที่ย่างกุ้งได้ ส่วนโครงการอาหารโลก (World Food Programme) ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินที่ใหญ่ที่สุดในโลกระบุว่า สามารถแจกจ่ายอาหารได้น้อยกว่า 1 ใน 5 ของอาหาร จำนวน 375 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่องค์กรดังกล่าวคาดว่า ผู้ประสบภัยชาวพม่าจำเป็นต้องได้รับในแต่ละวัน
พลเอกอาวุโส Than Shwe ผู้นำรัฐบาล ทหารพม่าไม่ยอมรับโทรศัพท์ของ Ban Ki-moon เลขาธิการสหประชาชาติครั้งแล้วครั้งเล่า พลเรือเอก Timothy Keating ผู้บัญชา การภาคพื้นแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางเยือนพม่าเพื่อ พยายามชักจูงรัฐบาลพม่า ให้ยอมปล่อยทีมกู้ภัยนานาชาติขนาดใหญ่ เท่ากับเมื่อครั้งที่เคยเข้าไปช่วยประเทศต่างๆ ที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ 4 ปีก่อน ให้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพม่า แต่ทั้งสองไม่สามารถ เกลี้ยกล่อมรัฐบาลพม่าได้สำเร็จ
สื่อทางการพม่าพยายามประโคมความ ช่วยเหลือเพียงน้อยนิดที่รัฐบาลให้แก่ผู้ประสบ ภัย ในขณะที่มีข่าวลือว่ากองทัพพม่าติดป้ายที่มีการระบุชื่อของคณะนายพลระดับสูงสุดของพม่า ลงบนสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ส่งไปจาก ไทย แต่สหประชาชาติซึ่งวิตกว่าสิ่งของบรรเทา ทุกข์จะถูกยักย้ายถ่ายเทโดยรัฐบาลพม่า ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันข่าวดังกล่าว รัฐบาลพม่ายังส่งทหารไปประจำตามด่านตรวจต่างๆ เพื่อ ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าไปในเขตอิรวดี ชาว พม่าบางคนถึงกับขับรถส่วนตัวออกจากย่างกุ้ง เพื่อไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติเท่าที่พอจะช่วยได้ตามมีตามเกิด ในวันที่ 10 พฤษภาคม รัฐบาลพม่าจัดการลงประชามติทั่วประเทศยกเว้นเขตที่ประสบภัยพายุไซโคลน เพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างโดยรัฐบาลเพื่อปกป้องการปกครองของตนเอง รัฐบาลพม่าประกาศชัยชนะโดยระบุว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ อย่างล้นหลาม แม้ว่าการข่มขู่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้พวกเขา ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ และห้ามการเรียกร้องให้ประชาชนออกเสียงไม่รับร่าง จะทำให้ผลการลงประชามติ ซึ่งรัฐบาลอ้างว่า มีผู้ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญถึง 93% ไม่น่าเชื่อถือก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลพม่ายังยืนยันจะจัดการลงประชามติในเขตประสบภัยพิบัติในวันที่ 24 พฤษภาคมด้วย นักการทูตที่ใกล้ชิดรัฐบาลทหารพม่าเปิดเผยว่า ดูเหมือนจะเกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่มหัวแข็งนำโดยพลเอกอาวุโส Than Shwe เชื่อว่าการเข้ามาของต่างชาติจะคุกคามอำนาจของรัฐบาลกับกลุ่มที่หัวอ่อนกว่า ผู้อาวุโสที่สุดของกลุ่มนี้คือ Thura Shwe Mann แกนนำอันดับ 3 ในรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งตระหนักถึงความหนักหน่วงของวิกฤติการณ์ครั้งนี้ รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ และพูดถึงการนำความช่วยเหลือเข้าไปสู่พม่าให้ได้ด้วยวิธีการใดก็ได้ที่จำเป็น แต่ก็ไม่คิดที่จะสนับสนุนความคิดของ Bernard Kouchner รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ที่เสนอให้เริ่มนำหลักการ "ความรับผิดชอบในการคุ้มครอง" (respon-sibility to protect) ของสหประชาชาติมาใช้ อันเป็นแนวคิดที่เริ่มมีขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 และสหประชาชาติให้การรับรองในปี 2005 หลักการดังกล่าวระบุว่า อธิปไตยของชาติใดๆ อาจถูกละเมิดได้ในกรณีที่เกิด สถานการณ์ขั้นรุนแรงในชาตินั้นๆ มีข่าวว่า อังกฤษและเยอรมนีสนับสนุนความคิดของฝรั่งเศสเหมือนกัน แต่ข้อเสนอใดๆ เกี่ยวกับหลักการนี้อาจถูกขัดขวางโดยจีนซึ่งเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง Oxfam องค์การกุศลของอังกฤษ แสดงความสงสัยว่า การทิ้งสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางอากาศลงไปในเขตอิรวดีโดยพลการ โดยที่ไม่รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่า จะได้ผลจริงหรือในเมื่อในอดีตการทิ้งสิ่งของบรรเทา ทุกข์ทางอากาศมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมักล้มเหลวโดยไปไม่ถึงมือผู้ประสบภัยที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตมากที่สุด
นอกจากความพยายามของนายกรัฐมนตรีไทยแล้ว การตอบสนองจากชาติเพื่อนบ้านพม่าในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ยังมีน้อยมาก อาเซียนรับพม่าเป็นสมาชิกในปี 1997 โดยบอกกับตะวันตกว่า การใช้มาตรการลงโทษพม่าไม่ได้ผล และ "การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์" จะได้ผลกว่าแต่ภัยพิบัติในพม่าครั้งนี้ ชี้ชัดว่า นโยบายดังกล่าวของอาเซียนก็ไม่ได้ผลเช่นกัน อาเซียน ประชุมเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินในพม่า เมื่อ 19 พฤษภาคม และสัญญาจะร่วมมือกันช่วยเหลือพม่า แต่นั่นอาจจะน้อยและสายเกินไป ชาติผู้นำในเอเชียอย่างเช่นจีน กลัวว่าการแทรกแซงใดๆ ในพม่าจะกลายเป็นตัวอย่าง ที่จะทำให้คนนอกเข้าแทรกแซงกิจการภายในของตนบ้างในอนาคต บางชาติก็ไม่ต้องการให้เกิดอันตรายต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลที่ตนมีอยู่ในพม่า จำนวนเงิน 200 ล้านดอลลาร์ที่สหประชาชาติขอบริจาคเพื่อช่วยพม่า เป็นเพียงเศษเสี้ยวของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ ที่ชาติสมาชิกอาเซียนสะสมอยู่ ถ้าหากผู้นำชาติอาเซียนประกาศให้เงินช่วยเหลือพม่าเป็นจำนวนมากแต่เนิ่นๆ แม้ว่าพม่าอาจจะยังไม่ยอมรับในทันที แต่ก็อาจสร้างความละอายใจให้แก่รัฐบาลพม่าได้บ้าง และอาจทำให้รัฐบาลพม่าลงมือช่วยประชาชนของตนมากกว่าที่เป็นอยู่ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างชาติที่ติดอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่กำลังขอให้สถานทูตพม่าในไทยออกวีซ่าให้กล่าวว่า การทิ้งให้ผู้ประสบภัยต้อง ตายอย่างไร้การเหลียวแลนั้น เท่ากับรัฐบาลพม่ากำลังก่ออาชญากรรม ต่อมวลมนุษยชาติ และหากเป็นเช่นนั้น ชาติเพื่อนบ้านพม่าที่สนใจแต่ตัวเองก็ไม่พ้นที่จะต้องตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ดิอีโคโนมิสต์ 15 พฤษภาคม 2551
|
|
|
|
|