สมรภูมิค้าปลีกร้อนทะลุจุดเดือด เมื่อบิ๊กซี ย่อไซส์ ผุด มินิ บิ๊กซี เจาะตลาดชุมชน ปะทะ โลตัส เอ็กซ์เพรส และคอนวีเนียนสโตร์
ปัญหาการต่อต้านยักษ์ค้าปลีกจากผู้ประกอบการในชุมชน จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายควบคุมห้างใหญ่ทั้งในเรื่องของการจัดโซนนิ่ง การกำหนดเวลาเปิดปิด ซึ่งทำให้บรรดายักษ์ค้าปลีกขนาดใหญ่ต่างปรับตัว โดยเฉพาะเทสโก้ โลตัส ที่มีโมเดลธุรกิจมากมาย ตั้งแต่สาขาขนาดใหญ่ ที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ใช้พื้นที่ 8,000 ตารางเมตรขึ้นไป มีมากกว่า 70 สาขา ตลาดโลตัส ใช้พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร (เน้นสินค้าในแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต) มี 28 สาขา ร้านคุ้มค่า ใช้พื้นที่ 4,000-7,000 ตารางเมตร (เน้นสินค้าราคาถูกทั้งที่เป็นไฟติ้งโมเดล และเฮาส์แบรนด์ มีสาขาในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่) มี 27 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส ใช้พื้นที่ 300 ตารางเมตร มีมากกว่า 190 สาขา
ล่าสุดมีการขยายขาธุรกิจที่ 2 ในรูปแบบให้เช่าพื้นที่เพื่อลดข้อขัดแย้งกับชุมชน โดยให้ผู้ประกอบการมาเช่าพื้นที่ขายในห้างได้ ซึ่งมี 2 รูปแบบคือที่เป็นไลฟ์สไตล์ ชอปปิ้ง มอลล์ คือพื้นที่ว่างในเทสโก้ โลตัส ที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งครอบคลุมประชากร 200,000 ครัวเรือน มีพื้นที่ระหว่าง 6,000-20,000 ตารางเมตร ส่วนอีกรูปแบบเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ ซึ่งมีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ครอบคลุมประชากร 30,000-50,000 ครัวเรือน โดยจะใช้ตลาดโลตัส หรือ โลตัส เอ็กซ์เพรส อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายในท้องถิ่นนั้นๆว่าอนุญาตให้ใช้พื้นที่สร้างเท่าไร ถ้าให้ 300 ตารางเมตร ก็จะทำเป็น โลตัส เอ็กซ์เพรส แต่ถ้าให้ 1,000 ตารางเมตร ก็จะทำเป็น ตลาดโลตัส
เทสโก้ โลตัส ใช้งบ 60-80 ล้านบาทต่อการขยายสาขาที่เป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ 1 แห่ง โดยแบ่งย่อยเป็น 3 ประเภท คือ Oasis เป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ ที่จับตลาดระดับ A ส่วนประเภทที่ 2 คือ The Park จับตลาดระดับ B และสุดท้ายเป็น The Garden จับตลาดระดับ C โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายสาขาคอมมูนิตี้มอลล์ได้ปีละ 5-8 สาขา
ความเคลื่อนไหวต่างๆของเทสโก้ โลตัส ทำให้บิ๊กซี ต้องพยายามหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆเข้าสู่ตลาด เนื่องจากปัจจุบันการจะขยายสาขาใหญ่ทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งทางบิ๊กซีเองก็มีการแบ่งรูปแบบสาขาเป็น ไฮเปอร์มาร์เกตซึ่งใช้พื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือสาขาคอมแพก ที่ใช้พื้นที่ 4,000-6,000 ตารางเมตรแล้ว บิ๊กซีก็ยังมีการพัฒนาสาขาที่เป็นมินิคอมแพกซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าสาขาคอมแพก เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆในการขยายสาขาภายใต้พื้นที่ที่จำกัด ตลอดจนข้อกฎหมายในแต่ละท้องถิ่นที่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป โดยปีนี้บิ๊กซีใช้งบกว่า 6,200 ล้านบาท ในการพัฒนาสาขาใหม่อีก 8 สาขา ซึ่งจะทำให้บริษัทมีสาขาเพิ่มเป็น 62 สาขา ในขณะที่ปีก่อนมีเพียง 54 สาขา ซึ่งยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเทสโก้ โลตัส
ก่อนหน้านี้บิ๊กซีมีการพัฒนาโมเดลที่เป็นร้านค้าสำหรับสินค้าเฮาส์แบรนด์ภายใต้ชื่อ “ลีดเดอร์ไพรซ์” ใช้พื้นที่ต่อสาขาประมาณ 500-700 ตารางเมตร เพื่อตอกย้ำความคุ้มค่าคุ้มราคาให้กับบิ๊กซี ทว่ารูปแบบดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทย แม้ว่าบิ๊กซีจะทุ่มงบโฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้ในเฮาส์แบรนด์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสำหรับการทำตลาดสินค้าเฮาส์แบรนด์ที่ต้องการบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อนำเสนอในราคาที่จูงใจผู้บริโภค
ตลอดจนมีการต่อท้ายชื่อร้านว่า ลีดเดอร์ไพรซ์ บาย บิ๊กซี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แต่ก็ยังคงไม่มีกระแสตอบรับที่ดี จนกระทั่งต้องมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินค้า จากเดิมที่เน้นสินค้าเฮาส์แบรนด์ ต้องเพิ่มสินค้าแบรนด์เนมของซัปพลายเออร์ให้มีสัดส่วนที่เท่ากับสินค้าเฮาส์แบรนด์ คือ 50:50 จนในท้ายที่สุด บริษัทได้ตัดสินใจเลิกแบรนด์ ลีดเดอร์ไพรซ์ ทั้งในส่วนของตัวร้านค้า และตัวสินค้าเฮาส์แบรนด์ ที่ทำตลาดมาก่อนหน้านี้ถึง 7 ปี
โดยบิ๊กซีได้นำโมเดลใหม่ที่ทดลองตลาดมาเกือบ 2 ปี ภายใต้ชื่อ “มินิ บิ๊กซี” ซึ่งเริ่มที่แรกในซอยสุขุมวิท 101 (อุดมสุข) โดยในปีที่ผ่านมาได้ทยอยนำรูปแบบดังกล่าวมาปรับเปลี่ยนแทนที่ร้านลีดเดอร์ไพรซ์ ทำให้ มินิ บิ๊กซี มีสาขาเพิ่มที่ เสนานิคม สุขุมวิท (อโศก) และวงเวียนใหญ่ ซึ่งทั้ง 3 แห่งเดิมเป็นลีดเดอร์ไพรซ์ ซึ่งยังเหลืออีก 2 สาขาคือที่ประชาสงเคราะห์ และ นวนคร ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นมินิ บิ๊กซี ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะเปลี่ยนมาเป็นมินิ บิ๊กซี
ทว่ามินิ บิ๊กซี มิได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแทนที่ร้านลีดเดอร์ไพรซ์เท่านั้น ล่าสุดบิ๊กซี ได้ผุด มินิ บิ๊กซี ที่ย่านบางกะปิ ซึ่งเป็นห้องแถว 2 คูหา และมิได้เป็นพื้นที่เดิมของร้านลีดเดอร์ไพรซ์ แต่เป็นทำเลใหม่ที่ขยายมินิ บิ๊กซี ในรูปแบบเหมือนคอนวีเนียนสโตร์ ใช้พื้นที่ไม่มากนัก อยู่หน้าปากซอยตัดหน้าเซเว่นอีเลฟเว่นที่อยู่กลางซอย เป็นเสมือนการลั่นกลองรบในสมรภูมิค้าปลีกขนาดเล็กโดยยักษ์ใหญ่ที่มีทั้ง โลตัส เอ็กซ์เพรส และเมื่อเจาะตลาดมาถึงชุมชนแล้ว แน่นอนว่าร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นตลอดจนร้านโชวห่วยย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย
ทั้งนี้คาดการณ์กันว่า มินิ บิ๊กซี จะเป็นหัวหอกสำคัญในการกรุยทางไปสู่ผู้บริโภคได้มากที่สุด ท่ามกลางวิกฤติปัญหาราคาน้ำมันส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อของใกล้บ้านมากขึ้น เข้าห้างน้อยลง แต่จะซื้อคราวละมากๆเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งการขยายสาขาในรูปแบบดังกล่าวสามารถทำได้ง่าย ใช้งบน้อย คืนทุนเร็ว เข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า
โดยร้านมินิ บิ๊กซี จะเน้นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยมีทั้งสินค้าแบรนด์เนม และเฮาส์แบรนด์ของบิ๊กซี นอกจากนี้ยังมี อาหารแช่แข็ง เบเกอร์รี่ เหมือนที่ โลตัส เอ็กซ์เพรส มี แต่มีมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยมินิ บิ๊กซี ถูกวางโพสิชันนิ่งให้เป็นร้านค้ารูปแบบใหม่ที่ตอบสนองไลฟ์ไตล์ผู้บริโภคตามชุมชนต่างๆที่ต้องการความสะดวกในการซื้อสินค้า โดยไม่ต้องการเดินทางไกลๆเพื่อไปซื้อของในห้างใหญ่เพียงไม่กี่ชิ้น
มินิ บิ๊กซี นอกจากจะเจาะเข้าถึงชุมชนแล้ว ยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการแข่งขันกับโลตัส เอ็กซ์เพรส และเซเว่นอีเลฟเว่น โดยตรง เพียงแต่ยังตามหลัง ในเรื่องของจำนวนสาขา ที่แตกต่างกันอยู่มาก ในขณะที่บรรดาร้านโชวห่วยก็จะต้องปรับตัวอย่างหนัก เมื่อเจอคู่แข่งตัวจริง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ออกมารวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องของการกำหนดโซนนิ่ง การจำกัดขนาดพื้นที่ และการกำหนดเวลาเปิดปิดของบรรดาห้างใหญ่
อย่างไรก็ดี ยังมีบรรดาซัปพลายเออร์คอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่ร้านโชวห่วยเพื่อคานอำนาจของดิสเคานต์สโตร์ที่มักต่อรองราคาเมื่อสั่งซื้อปริมาณมากๆ ประกอบกับค่าการตลาดในในช่องทางดิสเคานต์สโตร์ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรกเข้า ค่าหัวเชลฟ์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ห้างต่างๆขอความร่วมมือมายังซัปพลายเออร์เวลามีการทำโปรโมชั่นต่างๆ ทำให้มาร์จิ้นหรือสัดส่วนกำไรลดลง ดังนั้นซัปพลายเออร์จึงพยายามรักษาช่องทางที่เป็นร้านค้ารายย่อยให้อยู่รอด เพื่อรักษาสมดุล เพราะหากผู้ค่ารายย่อยตายไปจากตลาด จะยิ่งเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับดิสเคานต์สโตร์ ซึ่งจะทำให้ซัปพลายเออร์เสียเปรียบ
นอกจากการปะลองขุมกำลังของ 2 ยักษ์เขียวทั้งบิ๊กซีและโลตัสแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวของคาร์ฟูร์ที่มีข่าวจากคนในวงการค้าปลีกระบุว่าคาร์ฟูร์กำลังเตรียมแผนที่จะทำซูเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้าย่านงามวงศ์วาน คล้ายๆในต่างประเทศ ที่คาร์ฟูร์มีการทำซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้ชื่อว่า Dia store ซึ่งมีสาขามากถึง 2,500 แห่งทั่วโลก ใช้พื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร เท่ากับโลตัสเอ็กซ์เพรส ในขณะที่คาร์ฟูร์ในมาเลเซีย ก็เตรียมแผนทำร้านสะดวกซื้อโดยใช้ชื่อว่า คาร์ฟูร์ เอ็กซ์เพรส ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็อาจมีการนำโมเดลดังกล่าวเข้าสู่ตลาดเมืองไทย เพราะที่ผ่านมาคาร์ฟูร์มีปัญหาในเรื่องของการขยายสาขาที่น้อยกว่าคู่แข่ง ส่งผลให้ทำเลดีๆถูกยึดไป
คาร์ฟูร์พยายามเข้าถึงความเป็นชุมชนโดยมีการขยายสาขาไซส์เล็กเป็น สมอลล์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยแทรกไปกับคอมมูนิตี้มอลล์ เช่นที่โครงการเวลท์ พร็อพเพอร์ตี้ หน้าหมู่บ้าน กรีนเวลท์ ทาวน์ เซ็นเตอร์ ย่านพระราม 2 ทั้งนี้ สมอลล์ ไฮเปอร์มาร์เก็ตของคาร์ฟูร์ต้องใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท ต่อสาขา บนพื้นที่กว่า 4,000-6,000 ตารางเมตร ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 6 เดือนเท่านั้นก็สามารถเปิดให้บริการได้ ในขณะที่รูปแบบสาขาที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตต้องใช้งบลงทุน 800-1,000 ล้านบาทต่อสาขา และใช้เวลาในการก่อสร้างนาน 8 เดือนถึง 1 ปี โดยสาขาที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีการพิจารณาถึงรัศมีการให้บริการที่ครอบคลุมผู้บริโภคกว่า 150,000 ครัวเรือน ขณะที่สมอลล์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต แค่ครอบคลุมประชากรเพียง 50,000 ครัวเรือนก็สามารถสร้างสาขาได้แล้ว
|