ปฏิวัติวิถีชีวิตจากเส้นตรงสู่วงจร
นักพัฒนาผลิตภัณฑ์และนักการตลาดเคยสามารถบอกได้ว่า กิจกรรมใดบ้างที่คนจะทำ
โดยเพียงแต่รู้อายุของคนคนนั้นเท่านั้น แต่ทัศนะเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ดำเนินไปเหมือนเส้นตรงแบบเก่าเช่นนี้
ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว Maddy Dychtwald ผู้เชี่ยวชาญการตลาดแบบ generational
marketing กล่าวใน Cycles
Dychtwald ชี้ว่า ช่วงอายุขัยของคนเราในขณะนี้ยืนยาวถึง 77 ปี ส่งผลให้วิถีชีวิตและช่วงอายุของคนเราเกิดการเปลี่ยนแปลง
อิสรภาพและความรับผิดชอบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น กำลังส่งผลเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิต
การทำงาน และการซื้อสินค้าของคน อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงตลาด สถานที่ทำงาน
และชีวิตของผู้บริโภค Dychtwald เรียกการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ว่า การปฏิวัติวิถีชีวิตจากแบบเส้นตรงสู่แบบวงจร
(LifeCycle Revolution)
คนอเมริกันเคยมีวิถีชีวิตดั้งเดิมซึ่งเป็นแบบเส้นตรงกล่าวคือ ออกจากโรงเรียน
แต่งงาน มีลูก และเกษียณ แต่ขณะนี้ พวกเขากลับเข้าโรงเรียนอีกครั้งในวัย
30 มีลูกในวัย 40 เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 50 และแต่งงานใหม่ในวัย 70 ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและมีสุขภาพดีขึ้น
ทำให้อายุไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกกิจกรรมของผู้บริโภคอีกต่อไป การที่คนมีความรู้สูงขึ้น
รวมทั้งมีอิสระมากขึ้น ทำให้ผู้คนทุกช่วงอายุต่างแสวงหาความท้าทาย การผจญภัย
ความสัมพันธ์ และเป้าหมาย โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุของตน และนี่คือโอกาสใหม่ๆ
ของนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และนักการตลาด
เส้นทางชีวิตแบบวงจร
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนอเมริกันอันสะท้อนให้เห็นการละทิ้งจากการมีเส้นทางชีวิตเป็นเส้นตรงแบบเก่า
ก็อย่างเช่นการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์อย่างการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ
สถาบันครอบครัวและการแต่งงานฉบับปรับปรุงใหม่ กิจกรรมด้านสันทนาการใหม่ๆ
ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย และการมีอายุยืนยาวขึ้นและชีวิตหลังเกษียณที่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง
นี่คือโอกาสที่บริษัทต่างๆ จะตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของ ผู้ที่เลือกมีวิถีชีวิตแบบวงจร
หาวิธีที่จะสามารถสร้างความพึงพอใจ และเสนอประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มใหม่นี้
การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งสามารถตอบสนองทั้งคนหนุ่มสาวและคนมีอายุ และได้สร้างกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่มีความรู้สูงมาก
เป็นองค์ประกอบสำคัญประการแรกของวิถีชีวิตแบบวงจร องค์ประกอบต่อไปคือการเปลี่ยนจากการทำงานในบริษัทเดียวตลอดชีวิต
เป็นการเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ทั้งโดยสมัครใจและถูกปลดออกจากงาน องค์ประกอบถัดมาคือเรื่องความรัก
ที่ผู้คนยุคนี้นิยมเปลี่ยนคนรักหลายคน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนสร้างโอกาสทางการค้ามากมายให้แก่ธุรกิจ
สถาบันครอบครัวฉบับปรับปรุงใหม่
Dychtwald กล่าวว่า สถาบันครอบครัวของอเมริกันเปลี่ยนแปลงลักษณะไปจากเดิมมากมาย
ถ้าธุรกิจในปัจจุบันคิดจะจับครอบครัวเป็นกลุ่มเป้าหมายแล้วล่ะก็ สิ่งที่พวกเขาจะต้องคิดถึงคือครอบครัวที่พ่อแม่มีลูกช้าลงโดยมีลูกเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว
ครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง เพื่อนสนิทของครอบครัวที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
และยังมีส่วนที่แตกแขนงแยกย่อยออกมาจากครอบครัวสมัยใหม่อีก ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความหมายของคำว่าครอบครัวด้วย
ส่วนการเล่นและกิจกรรมสันทนาการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มายในขณะนี้ก็เป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้แก่ธุรกิจ
สำหรับการให้ความสำคัญกับสุขภาพ เป็นโอกาสของธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและความงามรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยคืนความเป็นหนุ่มเป็นสาว
นอกจากนี้ Dychtwald ยังกล่าวถึงความจำเป็นที่โลกธุรกิจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการวางแผนการเงิน
สวัสดิการพนักงาน และการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพื่อสนองความต้องการของผู้เกษียณอายุที่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว
สุดท้าย Dychtwald เสนอคำแนะนำ 7 ข้อที่จะช่วยให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ในยุคที่วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป
1. อ้าแขนต้อนรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ไม่ยึดติดกับอายุ
2. ให้ความสำคัญกับวิถีการใช้ชีวิตและวิถีชีวิตแบบวงจรไม่ใช่อายุ
3. การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตแบบวงจร
4. เพิ่มพลังอำนาจแก่ผู้บริโภค
5. ผู้บริโภคต้องการแนวทางชี้นำการใช้ชีวิต
6. ให้ความสำคัญกับอิสรภาพและความมั่นคง
7. ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จากกลุ่มคนที่นิยมเปลี่ยนงาน