|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สศค.ฟุ้งภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายนยังขยายตัวได้ดี แต่ยอมรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับลดลง ห่วง 3 ปัจจัยหลัก น้ำมัน เงินเฟ้อและการเมืองจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ คาดเดือนหน้าหลังสรุปทิศทางราคาน้ำมันโลกเสร็จจะปรับเป้าจีดีพีใหม่อีกครั้ง หวั่นหากราคาไม่นิ่งอาจดันเงินเฟ้อไตรมาสสองทะลุหลัก 10% ได้ ขณะที่หมอเลี้ยบยังหวังเศรษฐกิจโตกว่าเงินเฟ้อ
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2551 ยังคงขยายตัวได้ดีโดยมีปัจจัยมาจากแรงขับเคลื่อนสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นมาก ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายตัว 12.2%
โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2550 ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สามที่ 7.6% นอกจากนั้นปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนเมษายนขยายตัวในระดับสูงที่ 34.0% สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคด้านสินค้าคงทนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ 13.7% ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีสัญญาณปรับลดลงในเดือนเมษายน ตามปัจจัยเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง
“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายนลดลงมาอยู่ที่ 73.0 จากเดือนที่แล้วที่อยู่ในระดับ 73.8 นั้นปัจจัยหลักเรามองว่ามาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและปัญหาทางการเมืองเป็นหลัง ซึ่งการที่ความเชื่อมั่นลงลงดังกล่าวนั้นไม่ได้บ่งชี้ว่าจะมีผลกระทบในระยะสั้น 1-2 เดือนแต่อย่างใด แต่ต้องติดตามในระยะยาวว่าการลดลงของความเชื่อมั่นจะมีความต่อเนื่องแต่ไหนเมื่อนั้นจึงจะเริ่มส่งผลกระทบ” นางพรรณีกล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สศค.มีความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจหลักๆ มีอยู่ 3 ประการคือ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังไม่ทราบว่าจะหยุดลงที่จุดใด สองคือเรื่องของเงินเฟ้อที่ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์ที่มีราคาสูงในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 6.2% นั้นเป็นแนวโน้มของการปรับขึ้นตามทิศทางของภูมิภาคและของโลกเนื่องจากต้นทุนทางพลังงานสูงขึ้น ซึ่งยอมรับว่าหากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อพุ่งไปถึงเลข 2 หลักหรือเกิน 10% ขึ้นไปได้ แต่ในระดับนโยบายรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามผลักดันให้ใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวเพื่อลดปัญหานี้
“การนำเข้าน้ำมันในเดือนเมษายนเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการนำเข้าเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วจะเห็นว่ามูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงถึง 88.1% แต่เมื่อดูจากปริมาณการนำเข้าที่แล้วจะพบว่าเพิ่มขึ้นเพียง 26.4% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่การนำเข้าทั้งหมดนั้นก็มีการส่งออกถึง 30% ไม่ใช่เป็นการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” นางพรรณีกล่าว
ปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายที่ต้องเฝ้าจับตาคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ในขณะนี้มองว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่มีการชุมนุมและกำลังขยายตัวไปยังจุดต่างๆ ซึ่งหากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนี้สามารถจบลงได้ในระยะเวลาอันสั้นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อเป็นปีเหมือนในปี 2549 เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชุมนุมจะคิดได้แค่ไหน
ในส่วนของการปรับประมาณการเศรษฐกิจของทั้งปี 2551 นั้น สศค.จะสรุปทิศทางของราคาน้ำมันว่าจุดสิ้นสุดจะอยู่ที่ระดับใด ซึ่งเดิมสศค.เคยกำหนดไว้ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะไปถึงเท่าไร โดยในเดือนหน้าหลังจากคาดการณ์ตัวเลขทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วจะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการปรับปัจจัยต่างๆ ออกมาอีกครั้ง
“เมื่อดูตัวเลขของเดือนเมษายนก็พบว่าหลายๆ ปัจจัยก็ยังดีอยู่เศรษฐกิจก็ยังพอไปได้ยังไม่มีตัวเลขใดที่จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ยังห่วงอยู่หนึ่งเรื่องคือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงนี้ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความเชื่อมั่นและภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวลงในระยะยาวได้” นางพรรณีกล่าว
เลี้ยบคาด ศก.ไตรมาส 2 โต 6%
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้จะอยู่ที่ 6% ได้ แต่ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมากปัญหาราคาน้ำมันยังส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่เต็มที่นัก อย่างไรก็ตามหลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หากระดับราคาน้ำมันไม่พุ่งสูงถึง 200 เหรียญ/บาร์เรล ก็ยังเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจทั้งปีเติบโตได้เต็มที่ โดยภาครัฐคาดหวังจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 5%
"มีโอกาสชี้แจงกับทูตนานาประเทศให้เข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งทูตต่างประเทศให้ความสนใจการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะผลักดันให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศหรือผู้รับเหมาสามารถขอข้อมูล เพื่อเตรียมเข้ามาประกวดราคาได้" รมว.คลังกล่าวและว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมมีผลให้เกิดการชะงักงันของการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว.
|
|
|
|
|