Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2546
Odious Debt             
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
 





สังฆนายกแห่งนครเคปทาวน์ (Archbishop of Cape Town) และคณะกรรมาธิการแสวงสัจจะและความปรองดองแห่งแอฟริกาใต้ (South Africa's Truth and Reconcilation Commission) เรียกร้องให้รัฐบาลแอฟริกาใต้หลังยุคการเหยียดผิวบอกเลิก หรืออีกนัยหนึ่ง 'ชักดาบ' หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลก่อนหน้านั้น แต่รัฐบาลแอฟริกาใต้ยุคผู้นำผิวดำไม่ยอมรับข้อเรียกร้องนี้ และยังรับสภาพหนี้ ตลอดจนทยอยชำระหนี้ที่รับเป็นภาระผูกพัน ทั้งๆ ที่หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลยุคผู้นำผิวขาวจำนวนมากใช้ไปในด้านการทหารและการตำรวจ อันเป็นกลไกที่ใช้ในการกดขี่ ข่มเหง และปราบปรามชนผิวดำ

ประเทศที่รัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือมีการปกครองระบอบเผด็จการจำนวนมาก ก่อหนี้ต่างประเทศ โดยที่มิได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หากแต่ใช้ไปในการเสพสุขในหมู่ผู้นำ ผู้นำประเทศเหล่านี้สามารถสะสมความมั่งคั่งโดยมิชอบ ท่ามกลางความยากจนของประชาชนในระดับรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็น อนาสตาซิโอ โซโมซา (Anastasio Somosa) แห่งนิการากัว จัง-คล็อด ดูวาลิเยร์ (Jean-Claude Duvalier) แห่งไฮติ เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส (Ferdinand Marcos) แห่งฟิลิปปินส์ โมบูตู เซเซ เซโก (Mobutu Sese Seko) แห่งคองโก ซานิ อบาชา (Sani : Abacha) แห่งไนจีเรีย เป็นต้น

เมื่อผู้นำเผด็จการที่สะสมความมั่งคั่งโดยมิชอบเหล่านี้สิ้นอำนาจ บางคนถูกยึดทรัพย์ ดังกรณีที่รัฐบาลไนจีเรียยึดทรัพย์ครอบครัว ซานิ อบาชา แต่บางคนยังคงธำรงความมั่งคั่งไว้ได้ในระดับเดิม ดังกรณีเฟอร์ดินันด์ มาร์คอส การยึดทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินที่ฝากไว้นอกประเทศ มีกระบวนการอันยุ่งยากและซับซ้อนยิ่ง

ประเทศที่มีภาระหนี้ต่างประเทศ ย่อมมิอาจเร่งรัดกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้มากเท่าที่ควร เพราะทรัพยากรส่วนหนึ่งของชาติต้องกันไว้สำหรับการชำระหนี้ มิอาจใช้ไปในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่ หากหนี้ต่างประเทศที่ก่อไว้ในเบื้องต้น มิได้ใช้ไปในทางเพิ่มพูนศักยภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจ แต่ผู้นำเผด็จการนำไปใช้เสพสุขส่วนบุคคล ประเทศดังกล่าวต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายสองชั้น ชั้นแรกมิได้ประโยชน์จากหนี้ต่างประเทศที่ก่อขึ้น ชั้นที่สองต้องมีภาระในการชำระหนี้ต่างประเทศนั้น หนี้เหม็นดังกล่าว เรียกกันในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ว่า Odious Debt

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีธรรมาภิบาลสมควรรับภาระหนี้ต่างประเทศที่ก่อโดยรัฐบาลเผด็จการหรือไม่?

วิวาทะว่าด้วย Odious Debt ก่อเกิดในปี พ.ศ.2441 เมื่อสงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกายุติลง โดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายมีชัย และได้ครอบครองคิวบาเป็นอาณานิคม สหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับภาระหนี้ต่างประเทศของคิวบาที่ก่อโดยรัฐบาลภายใต้การปกครองของสเปน โดยอ้างว่า การก่อหนี้ต่างประเทศดังกล่าว มิได้ผ่านกระบวนการขอความเห็นชอบจากประชาชนคิวบา และมิได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์สุขของคนคิวบา แม้ว่าสเปนจะมิได้ยอมรับข้ออ้างของรัฐบาลอเมริกัน ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า รัฐบาลอเมริกันมิได้ชำระหนี้ต่างประเทศของคิวบาดังกล่าวนี้ และรัฐบาลสเปนเป็นผู้ชำระแทน

การก่อหนี้ต่างประเทศในลักษณะ Odious Debt ยังคงมีต่อมา รัฐบาลที่ต้องรับภาระในการชำระคืน Odious Debt มักจะไม่กล้า 'ชักดาบ' ทั้งๆ ที่มีเหตุผลนานัปการที่สามารถหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนการ 'ชักดาบ' ดังเช่นที่รัฐบาลอเมริกัน 'ชักดาบ' หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลคิวบาภายใต้การปกครองของสเปน เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ไม่กล้า 'ชักดาบ' ก็คือ การ 'ชักดาบ' อาจทำลายความเชื่อมั่นของตลาดการเงินระหว่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลประเทศเหล่านั้น ซึ่งยังคงต้องการระดมทรัพยากรทางการเงิน ด้วยการก่อหนี้ต่างประเทศเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ การเริ่มต้น 'ชักดาบ' มีผลในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล (Credit Rating Agency) ย่อมลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว เพราะการ 'ชักดาบ' ส่งสัญญาณเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการสูญหนี้ที่มีมากขึ้น ดังนั้น ตลาดอาจไม่จัดสรรเงินให้กู้ หรือหากให้เงินกู้ ก็ต้องคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราตลาดโดยทั่วไป เนื่องจากต้องคำนึงถึงภาวะความเสี่ยงที่มีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ประเทศที่ 'ชักดาบ' ยังอาจถูกประเทศเจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศเจ้าหนี้ด้วย ดังนี้ การ 'ชักดาบ' แม้ในกรณีของ Odious Debt ต้องเผชิญกับผลกระทบนานัปการ จนการ 'ชักดาบ' มิอาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย

วิวาทะว่าด้วย Odious Debt ปะทุขึ้นใหม่ เมื่อขบวนการ Jubilee 2000 Coalition รณรงค์ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์การระหว่างประเทศยกหนี้ให้ประเทศยากจนในโลกที่สาม (Debt Write-off) Jubilee 2000 Coalition ก่อตั้งในปี 2540 โดย Bono ศิลปินร็อกผู้ยิ่งใหญ่ในทศวรรษ 2510 เป้าหมายของ Jubilee 2000 Coalition ก็คือ การกำหนดให้ ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) เป็นปีที่มีการยกหนี้ให้แก่ประเทศที่ยากจน ขบวนการ Jubilee 2000 Coalition เติบโตอย่างรวดเร็ว และจัดให้มีการชุมนุมทุกครั้งที่มีการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 จนท้ายที่สุด ทั้ง G7 ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศต้องให้ข้อพิจารณาข้อเรียกร้องของ Jubilee 2000 Coalition อย่างจริงจัง

Jubilee 2000 Coalition อ้างเหตุผลว่า ประเทศยากจนจำนวนมากมีภาระหนี้ต่างประเทศอันหนักอึ้ง บางประเทศมีหนี้ต่างประเทศสูงกว่า 100% ของรายได้ประชาชาติ ภาระการชำระหนี้ต่างประเทศอันหนักอึ้งนี้ ทำให้ประเทศเหล่านี้ยากจะหลุดพ้นจากภาวะความยากจนได้ เพราะขาดแคลนทรัพยากรทางการเงิน เนื่องจากทรัพยากรส่วนสำคัญต้องนำไปชำระหนี้ต่างประเทศ การขาดแคลนทรัพยากรทำให้รัฐบาลมิอาจจัดสรรสวัสดิการสังคมระดับพื้นฐานให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนในหลายต่อหลายประเทศอดอยากหิวโหย หลายประเทศมีปัญหาทุพโภชนาการในหมู่ทารกและเด็กเล็กในประการสำคัญ หนี้ต่างประเทศที่ก่อโดยรัฐบาลเผด็จการมิได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ในทศวรรษ 2520 ซาอีร์ (Zaire) ได้รับเงินกู้ต่างประเทศจำนวน 8,500 ล้านดอลลาร์อเมริกัน แต่ถูกประธานาธิบดีโมบูตู (Mobutu) ผันไปใช้เสพสุขส่วนตัว โดยที่ประชาชนต้องรับภาระการชำระหนี้

การยกหนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น Odious Debt แก่ประเทศที่ยากจนในโลกที่สาม จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบระหว่างประเทศ มิฉะนั้นประเทศลูกหนี้ไม่กล้าบอกเลิกรับภาระการชำระหนี้ เพราะเกรงผลกระทบที่จะได้รับจากตลาดการเงินระหว่างประเทศ การให้ประเทศที่ยากจนบอกเลิกการรับภาระการชำระหนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น Odious Debt นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศเหล่านั้นในการหลุดพ้นจากบ่วงแห่งความยากจนแล้ว ยังเป็นการให้สัญญาณที่ชัดเจนแก่ตลาดการเงินระหว่างประเทศ ในการระมัดระวังการจัดสรรเงินให้กู้แก่รัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่ปราศจากธรรมาภิบาล อย่างน้อยที่สุดต้องเข้มงวดในการพิจารณาโครงการเงินกู้และการใช้เงินกู้ หากมีระเบียบระหว่างประเทศที่ยินยอมให้มีการ 'ชักดาบ' หนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น Odious Debt ได้ การให้กู้แก่รัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่ปราศจากธรรมาภิบาล จะมีความเสี่ยงมากกว่าเดิม หากสถาบันการเงินจะยังให้กู้แก่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ต่อไป ด้านหนึ่งก็ต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้นเพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยงที่มีมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ต้องดำเนินการปกป้องตนเองในปัญหาการสูญหนี้

เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ไร้อำนาจต่อรอง ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลประเทศมหาอำนาจ และสถาบันการเงินเอกชน มิควรจัดสรรเงินกู้แก่รัฐบาลประเทศเผด็จการและรัฐบาลที่ปราศจากธรรมาภิบาล หากทุกฝ่ายยอมรับหลักการดังกล่าวนี้ ปัญหา Odious Debt ย่อมลดทอนลง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us