Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2546
เบรุตวันนี้ฉายแววปารีสแห่งตะวันออก             
โดย ธานี ลิ้ม
 


   
search resources

กระทรวงพาณิชย์
ปิยะบุตร ชลวิจารณ์




แผนการเดินทางไปเปิดตลาดการค้ายังกลุ่มประเทศอาหรับของรัฐบาลไทยผุดขึ้นเป็นนโยบายของรัฐบาล ในช่วงสงครามสหรัฐฯ ถล่มอิรักกำลังคุกรุ่น เมื่อเหตุการณ์สงครามยุติเพียงไม่กี่วันก็สั่งเดินหน้าทันที

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออกน้อมรับแผนดังกล่าวมาลงมือปฏิบัติชนิดสายฟ้าแลบจริงๆ เพราะใช้เวลาไม่ถึง 7 วันในการติดต่อประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเยือนประเทศแถบตะวันออกกลางจำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ เลบานอน เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ในระหว่างวันที่ 1-8 พฤษภาคม 2546 จนกระทั่งสำเร็จผลตามที่คาดหมาย

ถือเป็นครั้งแรกของหลายๆ เหตุการณ์ที่มาบรรจบกันพอดี

เพราะจะเป็นผลงานครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของคนสองคน กล่าวคือเป็นครั้งแรกของปิยะบุตร ชลวิจารณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ สหธนาคาร กับตำแหน่งใหม่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นครั้งสุดท้ายกับเก้าอี้อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกของบรรพต หงษ์ทอง ก่อนคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ไปนั่งซี 11 กินตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การเยือนครั้งนี้มีความหมายระหว่างประเทศไม่น้อย เพราะคณะการค้าไทยที่นำโดยปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กับกลุ่มผู้นำส่งออกจำนวน 10 ชีวิต ประเทศไทยถือเป็นคณะแรกในการเปิดตลาดการค้ากับประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งสงครามสหรัฐฯ ถล่มอิรักเพิ่งสงบไม่นาน

กรุงเบรุต (Beirut) ประเทศเลบานอน คือเป้าหมายแรกของการเยือน และเป็นการเปิดตลาดการค้าครั้งแรกกับเลบานอนอย่างเป็นทางการของไทยเช่นกัน

ย่างเหยียบกรุงเบรุต หลายคนคงคิดเหมือนๆ กันถึงสงครามกลางเมืองและความไม่สงบ ภาพเหตุการณ์นองเลือดอย่างที่สื่อตะวันตกนิยมเผยแพร่ข่าวจนจดจำติดตาคือ ภาพอาทิตย์ยามเช้าสดใสสอดส่องร้านกาแฟริมถนนย่านการค้า มีหญิงชายจำนวนมากนั่งจิบกาแฟและอ่านหนังสือกลางแดดอันอบอุ่นอย่างมีความสุข แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นพร้อมด้วยเสียงโอดครวญด้วยความเจ็บปวดตามมา

แต่นั่นเป็นภาพในอดีตไปแล้ว เพราะกรุงเบรุตวันนี้ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ

กรุงเบรุตเจ้าของฉายาปารีสแห่งตะวันออกกำลังฉายแววให้เห็นว่าเป็นปารีสแห่งตะวันออกจริงๆ เสียทีก็วันนี้ แววที่นักธุรกิจคนไทยเห็นก็คือ กำลังซื้ออันมหาศาลของผู้คนชาวเบรุต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะบอกกับตนเองว่า พวกเขาไม่ใช่ "แขกอาหรับ" เหมือนหลายๆ ประเทศที่รายล้อม ไม่ว่าจะเป็นซีเรีย จอร์แดน หรืออียิปต์ พวกเขาคือคนตะวันตก มีวัฒนธรรมใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบตะวันออก ที่สำคัญพวกเขานิยมแบรนด์เนมเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็น CHANEL, Bvlgari, Bobbi Brown, La Mer เป็นต้น

ย่านดาวน์ทาวน์ของเบรุต คือสถานท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ซึ่งอดีตนั้นเลบานอน ถูกปกครองโดยฝรั่งเศส

ปัจจุบันมีชาวตะวันออกกลางขนเงินเข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อความสุขทั้งสินค้าและบริการจากที่นี่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากไปเสวยสุขที่ดูไบและอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมของเบรุตคือศิลปกรรมจากฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากเกิดสงครามกลางเมือง ทำให้กลายเป็นซากปรักหักพัง ศิลปกรรมจึงสูญหายไปมากพอสมควร ยกเว้นแต่เขตดาวน์ทาวน์กลางกรุงเบรุต ซึ่งรัฐบาลได้ตกแต่งและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ร้านอาหารเปิดให้บริการจำนวนมาก โดยมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายติดตั้งในหกทางแยก มีทหารคอยอารักขาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวซึ่งช่วงนั้นสงครามสหรัฐฯ ถล่มอิรักยังไม่จางเท่าไร

นอกเหนือจากนี้ยังมีร้านอาหารแถบริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทอดยาวจำนวนมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะทานอาหารไปพร้อมกับการอาบแดด นอกจากนี้ภาพที่เห็นกันจนชินก็คือ การดูดยาสูบจากตะเกียงทรงยาวคล้ายตะเกียงอาละดิน หรือที่เรียกว่า "มอระกู่"

ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแถบเบรุตนับว่าสวยงามไม่แพ้ที่ไหนๆ พอตกเย็นอากาศเริ่มอุ่นอุณหภูมิช่วงที่เราไปอยู่ที่ 17-20 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่ฤดูหนาวกำลังลาจากไป มีผู้คนเดินไปมาจำนวนมาก โดยไม่สะทกสะท้านกับเรื่องความไม่สงบแต่อย่างใด ด้วยภูมิทัศน์ที่เป็นเนินเขาไม่สูงนักอยู่ติดริมทะเล เมื่อมองขึ้นไปตามเนินเขาลูกเล็กๆ ที่เรียงรายซ้อนกันอันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเบรุต ตกกลางคืนจะเห็นแสงไฟสว่างจากบ้านแต่ละหลังสวยงามดูเหมือนงานศิลปะจากธรรมชาติเลยทีเดียว

สำหรับประเทศเลบานอนนั้นมีพื้นที่เล็กๆ เพียง 1 หมื่นตารางกิโลเมตรแทรกตัวอยู่ระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย มีชายฝั่งทะเลยาว 225 กม. มีพื้นที่ราบลุ่มแค่ 23% ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและทะเลทราย มีประชากร 3.7 ล้านคน เป็นผู้ใช้แรงงานถึง 1.5 ล้านคนเป็นแรงงานต่างชาติเสีย 1 ล้านคน เท่ากับว่าคนเลบานอนเองมีแค่ 1 ล้านคน สาเหตุเกิดจากสงครามกลางเมืองซึ่งยาวนานถึง 16 ปี (เพิ่งเลิกไปเมื่อปี 2534) ทำให้คนเลบานอนต้องยกครอบครัวไปพำนักแถบประเทศยุโรปจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกำลังอพยพกลับถิ่นฐานเดิมแล้ว พร้อมกับธุรกิจและเงินทองที่ตนเองไปแสวงหา

ชาวเลบานอนมีความพิเศษตรงที่สามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอารบิก จึงติดต่อสื่อสารกับคนได้ทั่วโลก

ธุรกิจในเลบานอนที่กำลังเติบโตก็คือ อุตสาหกรรมโรงแรม ท่องเที่ยว ธนาคาร และการสื่อสารคมนาคม ปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 5.8 แสนคน

สินค้าทุกชนิดเสียภาษีนำเข้าเพียง 3.5% ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหรับด้วยกันก็ไม่ต้องเสียภาษี เมืองท่าที่เป็น Free Trade Zone ของเลบานอน มี 3 แห่งคือ ท่าเบรุต ซีลาต้า และทริโปลี สินค้าที่นำเข้าจากไทยคืออัญมณี และเครื่องประดับ อาหารกระป๋อง เม็ดพลาสติก ขณะที่สินค้าจากเลบานอนส่งออกได้แก่ อาหาร ยาสูบ เหล็ก และกระดาษ เป็นต้น

ประเทศไทยยังไม่เคยมีนักธุรกิจกลุ่มใดเข้าไปสัมผัสเลบานอนอย่างจริงจังมานาน การไปเยืยนชาติอาหรับของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนำโดยปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการเปิดประตูการค้าอันยิ่งใหญ่ให้กับนักธุรกิจไทย เพราะอนาคตคาดกันว่า เลบานอนจะถูกวางตัวเป็นศูนย์กลางเชื่อมธุรกิจการค้าระหว่างโลกอาหรับกับโลกตะวันตกอย่างน่าสนใจ...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us