Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน26 พฤษภาคม 2551
ไทยกับเส้นทางสู่การผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำ             
 


   
search resources

Metal and Steel




ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก แต่อุตสาหกรรมที่นับว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญ คือ อุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากยังไม่มีอุตสาหกรรมถลุงเหล็กจากสินแร่เหล็กแต่อย่างใด แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ก่อตั้งกิจการมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวโน้มให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อีกครั้งหนึ่ง

อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำสมัยใหม่ของไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายส่งเสริมให้ก่อตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำจากสินแร่เหล็ก และส่งเสริมให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก่อสร้างเตาถลุงเหล็กขนาดเล็กแบบใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม โรงถลุงเหล็กของเครือซิเมนต์ไทยมีขนาดเล็กมาก มีกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ รัฐบาลจึงริเริ่มก่อตั้งโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าขนาดใหญ่ขึ้นภายในประเทศ แม้รัฐบาลจะทำการศึกษาในเรื่องนี้หลายครั้ง แต่รายงานการศึกษาถูกเก็บขึ้นหิ้งทั้งหมด โครงการไม่ได้รับความสนใจลงทุนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันโรงถลุงเหล็กของเครือซิเมนต์ไทย ได้ปิดตัวเองลงในเวลาต่อมา เนื่องจากกิจการมีขนาดเล็กมาก ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง จึงไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ดังนั้น การผลิตเหล็กทั้งหมดในประเทศไทยในปัจจุบันจึงเป็นการผลิตโดยใช้เตาหลอมไฟฟ้าจากเศษเหล็กเป็นหลัก ไม่ได้เป็นการผลิตขึ้นจากสินแร่เหล็กแต่อย่างใด

ต่อมาในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ระหว่างปี 2535 - 2539 จึงมีความพยายามรื้อฟื้นการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กขึ้นมาอีก โดยได้มีการอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 6 โครงการ เพื่อก่อตั้งโรงถลุงเหล็กขั้นต้นน้ำ กำลังการผลิตรวม 9.15 ล้านตัน/ปี โดยในจำนวนนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยี Blast Furnace เพียงรายเดียวเท่านั้น คือ กลุ่มทีพีไอ สำหรับโครงการที่เหลืออีก 5 โครงการ เป็นการผลิตเหล็กพรุน อย่างไรก็ตาม เมื่อไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ได้ส่งผลให้ทั้ง 6 โครงการ ต้องยกเลิกหรือชะลอโครงการลงทุนทั้งหมด

ต่อมาอุตสาหกรรมเหล็กของไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก หากเกิดปัญหาเป็นหนี้ NPLs แล้ว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยประเทศไทยได้รับบทเรียนครั้งสำคัญในเรื่องนี้เมื่อครั้งเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและนับเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงกำหนดกฎและกติกาสำหรับการลงทุนว่าโครงการจะต้องมีอัตราหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นไม่เกิน 2 ต่อ 1 การให้การส่งเสริมข้างต้นจะเป็นแบบเสรี จะไม่ระงับให้การส่งเสริมแก่รายอื่นๆ เพื่อให้ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งผูกขาดตัดตอนอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีผู้สนใจลงทุนในการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการแรก เป็นของบริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) เป็นการลงทุน 41,000 ล้านบาท ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2548 เป็นการผลิตแบบครบวงจร โดยในส่วนต้นน้ำจะประกอบด้วยเตาถลุงเหล็กแบบ Blast Furnace จำนวน 2 เตา กำลังการผลิตเหล็กถลุงรวมกัน 2.65 ล้านตัน/ปี กำหนดตั้งโรงงานที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

โครงการที่สอง เป็นของบริษัท สหวิริยาอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีแผนจะลงทุนตั้งโรงงานผลิตเหล็กแบบครบวงจรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจำแนกเป็น 5 เฟส กำลังการผลิตรวม 30 ล้านตัน/ปี เงินลงทุน 524,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 เฉพาะโครงการในเฟสแรกเท่านั้น ซึ่งลงทุนรวม 90,200 ล้านบาท โดยมีเตา Blast Furnace และ Basic Oxygen Furnace ขนาด 4.5 ล้านตัน/ปี

โครงการที่สาม เป็นของ Shougang Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 7 ของจีน ได้ยื่นข้อเสนอก่อสร้างโครงการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำ ขั้นกลางน้ำ และขั้นปลายน้ำ โดยมีเตา Blast Furnace และ Basic Oxygen Furnace ขนาดกำลังการผลิตรวม 4 ล้านตัน/ปี มูลค่าการลงทุน 108,552 ล้านบาท กำหนดตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

โครงการที่สี่ ดำเนินการโดยบริษัท ทาทาสตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในเครือตาต้าสตีลของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2550 ลงทุนจำนวน 3,600 ล้านบาท (จากการประมาณการเงินลงทุนล่าสุดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาท) เพื่อก่อสร้างเตาถลุงเหล็กขนาดเล็กแบบ Mini Blast Furnace กำลังการผลิต 500,000 ตัน/ปี ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี

โครงการที่ห้า เป็นโครงการเดิมของบริษัท นครไทยสติปมิล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตเหล็กพรุน กำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน/ปี ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี โดยได้นำเข้าเครื่องจักรมาแล้วบางส่วนตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงสนใจที่จะรื้อฟื้นโครงการนี้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากจะซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติมอีกไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับ 5 โครงการข้างต้น เกือบทั้งหมดได้ยกเลิกโครงการหรือมิฉะนั้นก็ชะลอโครงการอย่างไม่มีกำหนด ยกเว้นโครงการถลุงเหล็กขนาดเล็กโดยใช้ Mini Blast Furnace ของบริษัทตาต้าสตีลเท่านั้น ซึ่งกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จของโครงการนี้ได้เลื่อนออกไป กล่าวคือ จากเดิมกำหนดไว้ที่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ได้เลื่อนออกไปเป็นไตรมาสที่ 2 ของปี 2552

ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 ประกาศแนวทางส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวเพื่อใช้งานเฉพาะเจาะจง เช่น เหล็ก Ultra High Tension Steel ฯลฯ เพื่อยกระดับจากเหล็ก Commodity Grade ซึ่งมีราคาต่ำและการแข่งขันในด้านราคาสูง โดยเฉพาะการแข่งขันจากผู้ผลิตของประเทศจีน

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศลงวันที่ 7 ธันวาคม 2550 กำหนดเงื่อนไขหลายประการ เป็นต้นว่า

ประการแรก เป็นโครงการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่มีเทคโนโลยีทันสมัยในทุกขั้นตอนการผลิต โดยจะต้องผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่มีความบริสุทธิ์สูง มีธาตุมลทินต่ำ มีสิ่งเจือปนต่ำ และต้องมีปริมาณการผลิตเหล็กคุณภาพสูงไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน/ปี

ประการที่สอง ต้องมีการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสามารถพัฒนางานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรือหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต

ประการที่สาม ต้องมีระบบควบคุมและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ประการที่สี่ เป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลและบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) และต้องเสนอแผนงานที่แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน ท้องถิ่น และสังคม

พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดให้ผู้สนใจลงทุนยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงพร้อมข้อเสนอเบื้องต้นภายในวันที่ 31 มกราคม 2551 ซึ่งเมื่อครบกำหนด มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย คือ บริษัทอาร์เซลอร์-มิตตัล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก บริษัทนิปปอนสตีลของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก บริษัท JFE ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และบริษัทเซี่ยงไฮ้เป่าสตีลซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก โดยแต่ละรายกำหนดจะลงทุนนับแสนล้านบาท

ทั้ง 4 โครงการ ได้กำหนดจะใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน คือ Blast Furnace และ Basic Oxygen Furnace ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานสำหรับกิจการถลุงเหล็กที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าก่อตั้งโรงถลุงเหล็กข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ประการแรก แต่ละโครงการต้องการพื้นที่กว้างขวางถึง 5,000 - 6,000 ไร่ และต้องตั้งอยู่ใกล้ทะเลที่มีน้ำลึก เพื่อลดต้นทุนในด้านลอจิสติกส์ เนื่องจากต้องก่อสร้างท่าเรือที่มีความลึกหน้าท่าไม่ต่ำกว่า 20 เมตร

ประการที่สอง โครงการต้องการปริมาณน้ำเป็นปริมาณมากถึง 100,000 ลบ.ม./วัน ดังนั้น จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมายังโรงถลุงเหล็ก

ประการที่สาม ต้องสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของบรรดา NGOs

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลมีนโยบายปีแห่งการลงทุน 2551 - 2552 โดยกำหนด 8 มาตรการ โดย 1 ใน 8 มาตรการข้างต้น คือ การเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ หากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันเพื่อผลักดันมาตรการนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการก่อตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำในประเทศไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ 6 อันดับแรกของโลก มีเฉพาะบริษัทพอสโก้ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เท่านั้น ที่ไม่สนใจตั้งฐานการผลิตเหล็กต้นน้ำในประเทศไทย เนื่องจากกำหนดจะลงทุนโครงการขนาดยักษ์ที่อ่าว Van Phong ในจังหวัด Khanh Hoa ของเวียดนาม

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us