นิตยสารผู้จัดการ (มิถุนายน 2543)
"เบี้ยกุดชุม"
"เบี้ยกุดชุม" ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วขณะที่เกิดขึ้นในกระแส"เศรษฐกิจพอเพียง"
แต่เป็นผลพวงความพยายามใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพึ่งตนเองมายาวนาน
ชุมชนตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ปัจจุบันกลายเป็นกรณีศึกษาธุรกิจชุมชน
เพื่อการพึ่งตนเอง ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะใน 5 หมู่บ้านนำร่องการใช้
"เบี้ยกุดชุม" เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนในชุมชน
โดยมีองค์กร ที่ชื่อ "ชมรมรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มเกษตรกร ทำนา นาโส่"
เป็นแกนกลางของการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ และมีพระสงฆ์เป็นแกนกลางการรวมตัว
พร้อมกับองค์กรพัฒนาเอกชนจากใน และต่างประเทศ เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้การจัดการสมัยใหม่
รากเหง้าชาวนาโส่
มั่น สามสี ผู้ใหญ่บ้านโสกขุมปูน และกรรมการบริหาร ชมรมรักษ์ธรรมชาติฯ กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า การรวมตัวของ ชาวบ้าน เพื่อทำธุรกิจแบบพึ่งตนเอง
มีจุดเริ่มเมื่อ 20 กว่าปี ก่อน ครั้งตำบลโสกขุมปูนยังไม่มีถนนตัดจากอำเภอเข้าหมู่บ้าน
มีเพียงทางเกวียน ซึ่งรถยนต์เข้าออกไม่ได้ ภายในตำบลมีร้านขายสินค้าของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันอยู่
3 ร้าน ของคนไทย เชื้อสายจีน ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ร้านเจ๊ก" ซึ่งผูกขาดการขายข้าวองเครื่องใช้ทุกอย่าง
ชาวบ้านจึงเริ่มคิดหารือ ที่จะรวมตัวกันทำร้านค้าของตนเองขึ้นมา จนปลายปี
2523 จึงได้มีการร่วมก่อตั้ง "ร้านค้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านโสกขุมปูน
ตำบลนาโส่" โดยมีพระครูสุภาจารวัฒน์ (หลวงพ่อสีหา สุภาจาโร) เจ้าอาวาสวัดบ้านท่าลาด
ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เป็นที่ปรึกษา เริ่มต้นจากการระดมหุ้นจากสมาชิก
57 คน ได้ 3,800 บาท ใช้จักรยานปั่นเข้าไปในเมืองซื้อน้ำปลา ผงซักฟอก สบู่
ยาสีฟันมาขายเหมือนร้านเถ้าแก่ โดยกั้นห้องเล็กๆ ใต้ถุนบ้านเป็นร้านค้า พร้อมกับตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาดูแลร้าน
ทำบัญชี และผลัดเวียนกันเข้าเวรขายสินค้าวันละ 2 คน ได้ตอบแทน ในช่วงสิ้นปีเป็นรางวัล
คือ ผงซักฟอกกล่องละ 5-7 บาท คน ละกล่อง หรือบางปีก็ได้สบู่ก้อนละ 5 บาท
คนละก้อน เป็นต้น
ร้านค้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ไม่มุ่งกำไรแต่เน้นการขายองราคาต่ำกว่าร้านเจ๊ก
เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ร้านค้ากองทุนฯ จึงยืนยงอยู่ได้มาจนปัจจุบัน สมาชิกมีทั้งหมด
200 กว่าราย จำนวน 1.3 หมื่นหุ้นเป็นเงิน 3 แสนบาท มีคณะกรรมการบริหาร 15
คน และฝ่ายตรวจสอบจำนวน 3 คน มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 2 ปี ผลการดำเนินงานปี
2542 ได้กำไรทั้งหมด 1.3 แสนบาท
คณะกรรมการบริหารมีส่วนแบ่งปันผลกำไรของแต่ละปี โดยปี 2542 หักเป็นค่าตอบแทน
45% ของกำไร นอกจากนี้ยังได้หักกำไรไว้เข้าเป็นส่วนสวัสดิการพัฒนาหมู่บ้าน
เช่น ซ่อมถนน วางท่อน้ำประปา เป็นต้น ร้านสหกรณ์จึงได้รับความ นิยมใช้บริการจากชาวบ้านจำนวนมาก
ทำให้มีเงินหมุนเวียนในรอบปีประมาณ 2.3 ล้านบาท
สินค้าของร้านค้า แบ่งเป็นสินค้าทั่วไป ปัจจัยพื้นฐานการผลิตทางด้านการเกษตร
และน้ำมัน ที่ขายผ่านปั๊มหลอด เน้นขายราคาถูกกว่าท้องตลาด ไม่หวังกำไรมาก
ชมรมหมอยาพื้นบ้าน
ความสำเร็จของร้านค้าชุมชน นำไปสู่การพึ่งตัวเองในด้านอื่นๆ เริ่มจาก ที่ชาวตำบลนาโส่
สามารถตั้ง "ชมรมหมอยาพื้นบ้าน และผู้สนใจสมุนไพรอำเภอกุดชุม"
ได้ในปี 2526 จากความคิดริเริ่มของชาวบ้าน ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค
ด้วยการหันมาพึ่งยาสมุนไพรพื้นบ้าน ที่ยังมีการใช้สืบทอดกันมานาน
การตั้งชมรมหมอยาฯ มีคณะแพทย์พยาบาลประจำโรงพยาบาลอำเภอกุดชุม และพระครูสุภาจารวัฒน์
ที่สนใจเรื่องสมุนไพร และพยายามจัดตั้งกลุ่มสมุนไพรในหมู่บ้านมา ระยะหนึ่งแล้วเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตี
พร้อมกับได้ชักชวน โครงการ สมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง องค์กรพัฒนาเอกชนในสังกัดมูลนิธิโกมลคีมทอง
ซึ่งทำงานรณรงค์การใช้สมุนไพรผ่านสื่อต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว เข้าร่วมรณรงค์อีกแรง
จาก ที่ช่วงแรกมีสมาชิก และผู้ร่วมก่อตั้ง 7-8 คน มีทั้งกลุ่มข้าราชการครู
ข้าราชการ เกษตร และกลุ่มแกนนำชาวบ้าน กลายเป็นเพิ่มขึ้น 30 คน และภายใน
1 ปี ก็ขยายสมาชิกในอำเภอกุดชุมได้เกือบ 100 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200
คน
วิจิตร บุญสูง ประธานกรรมการบริหารชมรมฯ กล่าว ว่า ชมรมหมอยาพื้นบ้านอำเภอกุดชุม
เป็นการรวบรวมภูมิปัญญาเกี่ยวกับหมอยาพื้นบ้าน และตำรับยาสมุนไพร ขึ้นเป็น
ครั้งแรกของจังหวัดยโสธร และเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปสื่อ ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งมีการส่งเสริม ฝึกอบรมความรู้ และแลก เปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิก และชาวบ้าน
จัดหาหมอพื้นบ้าน ผู้เชี่ยวชาญในท้อง ที่เป็นที่รู้จักมาให้ความรู้แก่สมาชิกถึงลักษณะ
ตัวยาสมุนไพร, สรรพคุณ, การจัดเก็บ, การต้ม, การอบ พร้อมวิธีการรักษาตามแผนโบราณ
รวมทั้งมีกิจกรรม "ขึ้นภูเขา" เป็น คณะ เพื่อศึกษาสมุนไพรโดยตรง
และเก็บตัวอย่างสมุนไพร ที่หายากมาขยายพันธุ์
ชมรมฯ ซึ่งตั้งอยู่ ที่โรงพยาบาลกุดชุม ทำหน้าที่เป็น ศูนย์รวมพันธุ์สมุนไพร
หรือ ที่เรียกว่า "สวนกลาง" ขยายพันธุ์สมุนไพร กระจายสู่ชุมชนหมู่บ้านต่างๆ
จึงเกิดการใช้ในชุมชน อย่างจริงจัง จนกลายเป็นสวนสมุนไพรสู่ครัวเรือนได้สำเร็จ
และมีการตั้งชมรมหมอยาสมุนไพรขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดยโสธร
ในปี 2533 ชาวบ้านตำบลนาโส่ ได้พัฒนายกระดับชมรม หมอยาสมุนไพรขึ้นเป็น "ศูนย์สุขภาพวัดท่าลาด"
ตั้งอยู่ ที่วัดบ้านท่าลาด ตำบลนาโส่ จัดเป็นองค์กรศูนย์กลาง เพื่อซื้อ และจัดจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพร
รวมทั้งแปรรูปสมุนไพรเป็นตำรับ ยาบางชนิดเป็นตัวอย่าง จ่ายแจก และจำหน่ายบ้างสู่ชุมชนอื่นๆ
ควบคู่กับการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์
การบริหารศูนย์สุขภาพวัดท่าลาด จัดเป็นองค์กรรูปแบบ ธุรกิจชุมชน ระดมหุ้นจากสมาชิกบริหารองค์กรในรูปของคณะ
กรรมการบริหาร และคณะกรรมการดำเนินงาน ที่เลือกตั้งจาก สมาชิก ซึ่งมีประมาณ
155 คน มีการจัดสรรกำไรสู่หหสมาชิกทุกปี
ในปี 2539 ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 11 หมู่บ้านทั่วประเทศ ที่ได้รับงบประมาณจากสถาบันแพทย์แผนไทย
กระทรวงสาธารณสุข จำนวนปีละ 5 แสนบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร
จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์พัฒนาวัตถุดิบ สมุนไพรวัดท่าลาด" และยังดำเนินถึงปัจจุบัน
โดยมีหลวงพ่อสีหา เป็นที่ปรึกษา และเป็นศูนย์กลางของสมาชิก
มีกิจกรรมการรักษาสุขภาพตามวิธีพื้นบ้าน ทั้งการอบ การประคบ การนวด และอบไอน้ำสมุนไพรทุกวันพระ
ภายใน ศูนย์ฯ ยังมีร้านจำหน่ายยาสมุนไพร ตู้อบสมุนไพร พันธุ์พืชสมุนไพรทั้งสำหรับจำหน่าย
และแจก
"จากความสำเร็จของชมรมหมอยาพื้นบ้านฯ ในพื้นที่ตำบลนาโส่ ได้ขยายออกไปยังหมู่บ้านต่างๆ
ทั้งใน และนอกเขต อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร อาจเป็นจังหวัดเดียว ที่มีเรื่องสมุนไพรเข้าไปมากมาย
และมีสถานบริการเกี่ยวกับสมุนไพรหลายแห่ง ในจังหวัดยโสธรมีโรงพยาบาลระดับอำเภอ
8 แห่ง มีการใช้สมุนไพรในการรักษาถึง 5 แห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลจังหวัด"
ชุจิรา มิทราวงศ์ อดีตพยาบาลโรงพยาบาลกุดชุม ผู้ มีส่วนก่อตั้งชมรมหมอยาพื้นบ้านฯ
กล่าวในตอนหนึ่งในการเป็นวิทยากร ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2542 หัวข้อ
"เหลียวหลังแลหน้างานพัฒนากุดชุม" ณ โรงละครเล็ก โรงละครแห่งชาติ
ชมรมเกษตรธรรมชาติ
มั่น สามสี เล่าว่า หลังจากทำงานสมุนไพรมานาน เริ่มมองเห็นว่า ยาไม่ใช่วิถีการพัฒนาเพียงตัวเดียว
ที่จะทำให้สุขภาพของคนดีขึ้นได้ เพราะแม้มีการใช้สมุนไพรอย่างได้ผล แต่ปรากฏว่าชาวบ้านยังเจ็บป่วยมากอยู่เช่นเดิม
มีโรคแปลกๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปี 2528-2529 เกิดปูปลาในนาข้าวตายจำนวนมาก
ในช่วงเดือน พ.ย. เมื่อนักวิชาการนำไปตรวจพบว่า เป็นโรคแพ้สารเคมี
จากการทำงานในชมรมหมอยาพื้นบ้านฯ ทำให้ชาวบ้าน และแกนนำหลายคนได้มีโอกาสไปสัมมนาในที่ต่างๆ
ได้รับความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแบบยั่งยืน แนวคิดเกษตรกรผสมผสานเข้ามา ทำให้มุ่งสู่เรื่องปัญหาการทำอยู่ทำกินของชุมชนเป็นพิเศษ
แต่ก็เกิดปัญหาคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีทุนทรัพย์มาใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนจากเกษตรแผนใหม่กลับไปเป็นเกษตร
กรรมผสมผสาน
ชมรมหมอยาพื้นบ้านร่วมกับโครงการสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง และหลวงพ่อสีหา
ได้จัด "โครงการผ้าป่าพันธุ์ไม้ สู่ชาวอีสาน" ขึ้นมาในปี 2532
มีพระภาวนาวิสุทธิคุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในฐานะประธานคณะกรรมการศาสนา
เพื่อการพัฒนา (ศพพ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีพระครูสุภาจารวัฒน์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำชาวบ้านดำเนินงาน
โดยมีโครงการสมุนไพรฯ และศพพ. องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เน้นบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาชนบท
เข้ามาร่วมสนับสนุน
ปรากฏว่า มีผู้ศรัทธาบริจาคพันธุ์ไม้กว่า 30 พันธุ์รวม ประมาณ 4,000 ต้นพร้อมทั้งเงิน
273,201.25 บาท และได้นำเงินนี้จัดตั้งเป็นกองทุนพันธุ์ไม้ และพัฒนาแหล่งน้ำในรูปของ
กองทุนหมุนเวียน เพื่อให้ชาวบ้าน ที่ไม่มีทุนได้กู้ยืมไปทำเกษตรผสมผสาน เช่น
ปรับคันคูนา ซื้อพันธุ์ไม้, ทำฝายหรือสระเก็บน้ำขนาดเล็ก อัตราดอกเบี้ย 4%
ต่อปี ดำเนินกิจการกองทุนฯอยู่ในความรับผิดชอบของหลวงพ่อ และคณะกรรมการกองทุน
15 คน มีเงินหมุนเวียนใช้จนถึงปัจจุบัน
ปัจจัยกระตุ้นเรื่องเกษตรธรรมชาติ ที่สำคัญต่อชุมชนในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ
โครงการสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง ได้พา มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ชาวนาญี่ปุ่น
(เจ้าของงานเขียน One Straw Revolution หรือ การปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว
แปลโดย รสนา โตสิตตระกูล) ผู้ทดลองทำเกษตรธรรมชาติจนประสบความสำเร็จ เข้าไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านโสกขุมปูน
พร้อม ได้บรรยายเรื่องเกษตรธรรมชาติ ประมาณช่วง ก.ค. ปี 2533
เกษตรธรรมชาติ เป็นการปลูกพืชหลายชนิดในบริเวณ เดียวโดยไม่มีการไถพรวน และปล่อยให้สภาพธรรมชาติควบคุมแมลง
และบำรุงดินเอง เมื่อฟูกูโอกะนำแนวคิดนี้มาเผยแพร่ สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน
ที่จะลดการใช้สารเคมี กลุ่มชุมชนตำบลนาโส่ จึงเริ่มลด ละ เลิก ใช้สารเคมี
ทำนา หันมาทำนาธรรมชาติ และเกษตรผสมผสานกันอย่างจริงจัง ก่อตัวจากมีสมาชิกในกลุ่มเป็นอาสาสมัครทดลอง
แบ่งเป็นทำนาเกษตรปลอดสารพิษ และนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหมายถึงการทำนาทั้งแปลงโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
และปุ๋ยเคมี แล้วขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ในเครือสมาชิก
โรงสีข้าวปลอดสารฯ
จากฐานการรวมตัวของกองทุนร้านค้าชุมชน ชมรมหมอยาพื้นบ้านฯ และพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพธุรกิจชุมชน
ด้านสมุนไพร กระแสการบริโภค เพื่อสุขภาพ และไม่ทำลายสิ่ง แวดล้อม ชาวบ้านในชุมชนนาโส่จึงตื่นตัว
และเกิดแรงบันดาล ใจ ที่ต้องการผลิตข้าวแบบเกษตรธรรมชาติ
จึงเริ่มจับกลุ่มทำนาแบบไม่ทำลายธรรมชาติขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากโครงการ
สมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง ซึ่งทำงานด้านสุขภาพอยู่แล้วในการเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพฯ
โดยได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน และวางแผนในการแปรรูปข้าวเปลือก ที่ได้จากนาธรรมชาติ
เป็นข้าวสารจำหน่ายสู่ผู้บริโภค
ปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอ และปัญหาการปนเปื้อนจากการนำข้าวไปสีโรงสีเอกชน ทำให้ความคิด
ที่จะก่อตั้งโรงสีเองจึงเกิดขึ้น คณะทำงานจึงได้ตระเวนหาความรู้เรื่องการบริหาร
จัดการโรงสี จากนั้น ได้เริ่มระดมเงินจากชาวบ้านในชุมชน และใกล้เคียง พร้อมระดมหุ้นจากกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพฯ
โดยการประสานงานของโครงการสมุนไพรฯ สามารถระดมทุนได้ ประมาณ 3 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นทุนจากผู้บริโภคในกรุงเทพฯ
ประมาณ 2 แสนบาท พร้อมได้รับการสนับสนุนซื้อข้าวสารล่วงหน้าจากมูลนิธิเด็ก
จึงมีเงินเพียงพอ ที่จะดำเนินการตั้ง โรงสีข้าวขนาด 12 ตัน/วัน และเปิดดำเนินกิจการโรงสีได้ในเดือนสิงหาคม
2534 โดยตั้งอยู่ในหมู่บ้านโสกขุมปูน
ปัจจุบันได้ปรับปรุงคุณภาพ และขยายกำลังผลิตเป็น 24 ตัน/วัน ตามความต้องการของตลาด
และกำลังผลิตของชาวบ้าน ที่ปลูกข้าวปลอดสารพิษ และข้าวอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ
ชมรมรักษ์ธรรมชาติ
กลุ่มสมาชิกพร้อมแกนนำได้ร่วมหารือ และมีมติตั้งองค์กรให้ชื่อโรงสีว่า "ชมรมรักษ์ธรรมชาติ"
เพื่อเป็นองค์กรแม่ รวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการผ่านมาทั้งหมดรวมเป็นองค์กรเครือข่ายสังกัดชมรมฯ
เพื่อให้เป็นเอกภาพ และใช้คณะกรรมการบริหารชมรมฯ บริหารจัดการโรงสีข้าวโดยตรง
พร้อมได้ร่วมกับ "กลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่" ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
และคณะกรรมการทั้งหมดก็คือ แกนนำชาวบ้านกลุ่มเดียวกัน ที่ร่วมก่อตั้งโรงสี
จึงใช้ชื่อโรงสีว่า "โรงสีข้าว ชมรมรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มเกษตรกร ทำนา
นาโส่" ตั้งแต่นั้น มา
ในปี 2539-40 ชมรมรักษ์ธรรมชาติได้ตกลงสร้างโรงสี แห่ง ที่ 2 มูลค่าประมาณ
2.8 ล้านบาทตั้งอยู่นอกหมู่บ้าน และ ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานศูนย์กลางเครือข่ายต่างๆ
ของชมรมรักษ์ธรรมชาติ
การสร้างโรงสีแห่ง ที่ 2 ได้ดัดแปลงเครื่องอบลดความ ชื้น บางส่วนให้ต่อเชื่อมเป็นโรงสีข้าว
เผอิญประสบภาวะวิกฤติ เศรษฐกิจทำให้การก่อสร้างเสร็จแค่การสีข้าวกล้องเท่านั้น
แต่มีผู้สนใจ และจำหน่ายได้ค่อนข้างมากจึงไม่กระทบโรงสี แห่ง ที่ 2 นี้ มีกำลังสีข้าวกล้องได้
60 เกวียนต่อวัน
ต่อมาภาครัฐเข้าไปสนับสนุนเงินทุน สำหรับสร้างฉางข้าวเปลือกขนาด 500 ตัน
มูลค่า 2 ล้านบาท ลานตาก 2 ลานขนาดรวม 5,000 ตารางเมตร มูลค่า 2 ล้านบาท
จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โรงอบลดความชื้น 2 ล้านบาท จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และตาชั่งขนาด
40 ตัน
นอกจากนี้ได้เงินจากกองทุน เพื่อสังคม (SIF) 1.2 ล้าน บาท สร้างอาคารอเนกประสงค์ขนาดชั้นครึ่งกว้าง
18 เมตร ยาว 30 เมตร เพื่อใช้ฝึกอบรมสัมมนา และเป็นศูนย์เครือข่าย ร้านค้าชุมชน
กิจการโรงสีกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้หลักของชมรมฯ ทำการรับซื้อ และผลิตข้าวสารหอมมะลิเป็นหลัก
แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวขาว และข้าวกล้อง แยกเป็นข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษ
ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และข้าวหอมมะลิทั่วไป ซึ่งยังมีสัดส่วน ที่ชมรมผลิตมากกว่า
2 ตัวแรก
ในส่วนข้าวปลอดสารพิษ และข้าวอินทรีย์ เป็นผลผลิตของสมาชิก ที่ได้รับการส่งเสริม
และให้ความรู้จากชมรมฯ และต้องผ่านตรวจสอบพร้อมได้มาตรฐานรับรองจากสำนักงานมาตรฐาน
เกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานระดับสากลจาก สมาพันธ์ขบวนการเกษตรอินทรีย์นานาชาติ
(IFOAM)
ล่าสุดชมรมรักษ์ธรรมชาติ มีสมาชิกทั้งหมด 1,041 คน กระจายในพื้นที่ 5 อำเภอ
ประกอบด้วยอำเภอกุดชุม เลิงนกทา ทรายมูล ป่าติ้ว และอำเภอเมือง ครอบคลุมประมาณ
70 หมู่บ้าน ชมรมฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกร และสมาชิกหันมา ทำนาปลอดสารพิษแล้วจำนวน
240 คน เป็นพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ปี 2542 มีผลผลิต 280 ตัน ทำนาเกษตรอินทรีย์แล้วจำนวน
34 คน เป็นพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ผลผลิตประมาณ 140 ตัน เพื่อป้อนโรงสีชมรมฯ
ตลาดส่งขายทั้งภายใน และต่างประเทศภายใต้ชื่อทาง การค้า "ทุ่งรวงทอง"
หรือระบุตราตามความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้การทำตลาดยังได้ประสานกับภาคเอกชน
และรัฐ เช่น ข้าวกล้องเบอร์ 5 ของ กฟผ. โครงการตลาดบาทเดียว วางขายในเซเว่น-อีเลฟเว่น
บิ๊กซี จัสโก้ และขายให้กลุ่ม OS3
ผลประกอบการปี 2542 ที่ผ่านมามีรายได้จากการขายรวมรายได้อื่น และรายได้ดอกเบี้ยจากการนำเงินฝากธนาคารพาณิชย์
จำนวน 30,130,361.58 บาท กำไรขั้นต้น 4,897,170.53 บาท เมื่อหักค่าดำเนินการ
และค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินได้กำไรสุทธิ 1,562,663.95 บาท
ธนาคารชุมชน
โรงสีชุมชนชมรมรักษ์ธรรมชาติ มีขีดจำกัดกระแสเงินสดหมุนเวียนโดยเฉพาะในช่วงต้นปี
ในช่วง 5-6 ปีแรกของการเริ่มก่อตั้ง ต้องค้างชำระค่าข้าวเปลือกของเกษตรกร
และ สมาชิกเป็นจำนวนมาก บางรายต้องรอรับเงินเป็นแรมเดือน ผู้ที่นำข้าวมาขายส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นโรงสีด้วย
โรงสีจึงให้ดอกเบี้ยแก่คนที่ได้รับค่าข้าวช้าในอัตราสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
1%
เป็นที่มาของธนาคารชุมชน เมื่อต้นปี 2537 เพื่อระดมเงินฝากไปหมุนเวียนรับซื้อข้าวเปลือก
นอกจากนั้น ธนาคารฯยังมีแผนกออมทรัพย์สะสมของพนักงาน กรรมการ และสมาชิก ในรูปของสัจจะออมทรัพย์สะสม
มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มพัฒนาอื่นหรือชาวบ้านก็ได้นำเงินมาฝากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากเป็นการช่วยชุมชน และได้ดอกเบี้ยสูงกว่าท้องตลาด แต่จะไม่ให้บริการเงินกู้
ปัจจุบันเปิดรับฝากเงินสดทั้ง บัญชีฝากประจำ 1 ปี, 6 เดือน, 3 เดือน และฝากเผื่อเรียก
มียอดเงินฝาก 4.6 ล้านบาท มีลูกค้าหรือสมาชิก 338 ราย
"เงินตราชุมชน"
เบี้ยชุมชน เป็นวิวัฒนาการล่าสุดของชาวบ้านกุดชุม มีจุดเริ่มต้นจากต้นปี
2541 บัวทอง บุญศรี ราษฎรบ้านสันติสุข ตำบลนาโส่ ในฐานะผู้แทนธนาคารเบี้ยกุดชุม
เล่าว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพถีบตัวขึ้นสูง จึงรวมกลุ่ม
เพื่อนบ้านได้ 16 คน ตั้งกลุ่ม "เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน" โดยสมาชิกในกลุ่มลงขันกันคนละ
1,000 บาท เป็นเงินกองกลาง ที่หมุน เวียนให้สมาชิกยืมไปใช้เป็นทุน ซึ่งมีข้อตกลงว่าจะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรเท่านั้น
เงินได้ไม่เกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี กำหนดใช้คืนภายใน 1 ปี
เช่น นำไปเป็นค่าใช้จ่ายขุดสระ ขุดบ่อเก็บน้ำในที่นา ปรับสภาพดินในนาข้าว
หรือยกร่องปลูกพืชผัก ไม้ผลในที่นา
พระครูสุภาจารวัฒน์ เจ้าคณะตำบลนาโส่ และเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าลาดก็เห็นด้วย
พร้อมรับเป็นที่ปรึกษากลุ่ม และอนุญาตให้ใช้วัดท่าลาดเป็นศูนย์กลางการประสานระหว่างสมาชิกในกลุ่ม
หลังจากตั้งกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินขึ้นมาแล้ว บัวทอง ยืนยันว่า สามารถช่วยแก้ปัญหาความขัดสนเรื่องเงิน
ที่จะนำไปใช้ทำนาได้มาก เกณฑ์การพิจารณาว่าสมาชิกรายใดจะยืมไปใช้ก่อนนั้น
จะต้องนำความเดือดร้อนของผู้จะยืมเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกลุ่ม ซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิกจำนวน
7 คน หลังจากยืมเงินไปใช้แล้ว คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีอยู่ 2 คนจะติดตามผลการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
เมื่อตั้งกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินมาได้เกือบปี สมาชิกในกลุ่มรวมถึงพระครูด้วยก็ได้นัดประชุมประเมินผลดำเนินงานของกลุ่ม
ต่างเห็นพ้องกันว่าเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกมาก สามารถแก้ปัญหาความขัดสนในการทำนาได้ดี
จึงหารือกันต่อว่า ควรจะทำกิจกรรมอะไรขึ้นมาอีกสักโครงการที่สามารถขยายผลต่อคนในชุมชนในวงกว้างมากกว่าเดิม
ในราวเดือนมีนาคม 2542 Mr.Jeff Power ชาวแคนาดา และ Mr.Menno Salveroa ชาวเนเธอร์แลนด์
อาสาสมัครของกิจการโพ้นทะเลมหาวิทยาลัยแคนาดา (Canadian University Service
Overseas) หรือ CUSO ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศ ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ตำบลกุดชุม
ได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินด้วย การประชุมครั้งนั้น ก็ได้มีการหารือถึงทางออกการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน
และอาสาสมัครทั้งคู่ก็ได้เสนอแนวคิดการสร้างระบบแลกเปลี่ยนในชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการ
The Thai Community Currency System Project (TCCS)
ปรากฏว่าสมาชิกในกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินสนใจในแนวคิด ที่อาสาสมัครนำเสนอ พระครูสุภาจารวัฒน์ก็เห็นดีด้วย
จึงแนะ ให้สมาชิกในกลุ่มศึกษาหารือคิดหารูปแบบวิธีการใช้เบี้ยชุมชน ศึกษาผลกระทบจากการใช้เบี้ย
ทั้งด้านสังคม ข้อกฎหมาย ซึ่งต่างก็เห็นว่าไม่น่าจะขัดกับพระราชบัญญัติเงินตรา
เพราะเป็นเพียงแค่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในชุมชนเท่านั้น
ในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2542 จึงนัดรวมตัวสมาชิก ที่วัดท่าลาดทดลองวิธีการใช้เบี้ยจากการกำหนดบทบาทสมมุติว่าใครเป็นผู้ซื้อ-ผู้ขาย
ทำการทดลองศึกษาในเรื่องการใช้เบี้ยกุดชุมนานกว่า 1 ปี จึงตัดสินใจ ที่จะทดลองใช้เบี้ยกุดชุม
ซึ่งเงินทุน ที่ใช้พิมพ์เบี้ยได้มาจากการสนับสนุนของ Japan Foundation Asia
Center จำนวน 3 หมื่นบาท พิมพ์ทั้งหมด 1 หมื่นใบ มูลค่า 3 หมื่นเบี้ย
เบี้ยกุดชุม ที่ทำขึ้นนี้มีเจตนารมณ์หลัก เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนลดการพึ่งพาภายนอก
มีการจำกัดการใช้เฉพาะแลกเปลี่ยนสินค้า ที่ผลิตขึ้นในชุมชน คือ ผลผลิตทางการเกษตร
อาหารแปรรูป ผลผลิตจากโรงสีข้าว รักษ์ธรรมชาติ สินค้าหัตถกรรมหรือยาสมุนไพรต่างๆ
เท่านั้น
การใช้เบี้ยกุดชุมนั้น จะใช้วิธีการแบบผสม ใช้ควบคู่กับเงินบาท สัดส่วนจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับการตกลงหรือความ
พอใจของสมาชิกผู้ใช้เบี้ย คือ ซื้อของแทน ที่จะใช้เงินบาทหมดก็จ่ายเป็นเบี้ยแทนบางส่วน
เงินบาท ที่เหลือก็เก็บออมไว้หรือนำ ไปซื้อสิ่งของจากชุมชนภายนอก ที่จำเป็นแต่ผลิตในชุมชนไม่ได้
ทั้งนี้สมาชิกในกลุ่มผู้ใช้เบี้ยได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันว่าการกำหนดราคา
และคุณภาพของสินค้า ที่จะแลกด้วยเบี้ย อยู่ในอำนาจตัดสินใจของสมาชิกทั้งหมด
สมาชิกสามารถเบิกเบี้ยจากธนาคารเบี้ยได้ไม่เกิน 500 เบี้ย และสมาชิก ที่เคยเบิกไปแล้วต้องจ่ายส่วนหนึ่งของยอด
500 เบี้ย ที่เคยเบิกก่อน จึงมีสิทธิเบิกใหม่
เมื่อสมาชิกเบิกเบี้ยไปแล้ว จะต้องนำเบี้ยมาคืนให้ครบ ตามจำนวน ที่เบิกเมื่อครบกำหนด
1 ปี หากไม่สามารถนำมาคืนได้ก็ขอต่อระยะเวลาออกไปอีก เพื่อหาเบี้ยมาคืนให้ได้
ที่กำหนดให้นำมาคืนเช่นนี้ เพื่อต้องการกระตุ้นให้สมาชิกเกิดความกระตือรือร้น
ที่จะต้องขยันทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชผักสวนครัวในบ้าน ป้องกันการใช้เบี้ยแลกซื้อจากสมาชิกรายอื่นเพียงฝ่ายเดียว
โดยไม่มีผลผลิตไว้แลกเปลี่ยนรับเบี้ยเข้ามา
จุดมุ่งหมายสูงสุดของการจัดตั้งโครงการธนาคารเบี้ยกุดชุมก็ เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางการเกษตรภายในชุมชนไว้แลกเปลี่ยนกันเอง
ที่หลากหลาย ลดการไปซื้อผลผลิตเหล่านี้จากตลาดภายนอก เงินบาท ที่มีอยู่สมาชิกจะได้เก็บออมไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น
นี่เป็นวิวัฒนาการลาสุดของรูปแบบการพึ่งตนเองของชาวอำเภอกุดชุม ที่รวมตัวกันจากระบบความสัมพันธ์ในหมู่บ้าน
โดยมีพระสงฆ์เป็นตัวกลาง และมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการสมัยใหม่
พึ่งตัวเองน่าพอใจ
รสนา โตสิตตระกูล ผู้จัดการมูลนิธิศูนย์สุขภาพไทย ซึ่งเปลี่ยนฐานะมาจากโครงการสมุนไพร
เพื่อการพึ่งตนเอง กล่าวว่า ชาวบ้านกุดชุม ถือว่าพึ่งตนเองได้มากพอสมควรแล้ว
แต่ยังไม่ได้ 100% ยังประมาณ 50-60% แต่ชาวบ้านก็พยายาม พึ่งตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ
"อย่างเบี้ยกุดชุม ก็เป็นอุบาย ที่จะให้มีการพึ่งตนเองมากขึ้น ให้มีการซื้อขายสินค้ากันภายใน
ไม่ให้เงินรั่วไหล เขาทดลองทำตรงนี้แล้ว จะเห็นชัด ถ้าเราซื้อของตรงนี้แล้วเงินมันจะออกไปอย่างไร
จะเสียอะไรไป แต่ถ้าซื้อกันภายในชุมชน มันก็หมุนเวียนภายใน"
รสนาเล่าถึงบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน ในการเข้าไปส่งเสริมชาวบ้านว่า การเข้าไปของโครงการสมุนไพร
ในพื้นที่กุดชุมเริ่มตั้งแต่ ปี 2526 จากภาระหน้าที่ของโครงการที่รณรงค์เผยแพร่การใช้สมุนไพรอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว
ขณะที่ ชาวบ้านก็มีความพยายามรวมกลุ่มหมอยาพื้นบ้าน ร่วมกับโรงพยาบาลอำเภอกุดชุม
และอยากจะพัฒนา ต่อมาอ่านพบ หนังสือ ที่โครงการฯ ทำเผยแพร่ จึงติดต่อให้เข้าไปช้วยให้ความรู้
"กุดชุมถือว่าประสบความสำเร็จมาก ชาวบ้านสามารถลดค่าใช้จ่ายการซื้อยาจากปีละ
1.2 หมื่นบาท เหลือปีละ 3 พัน บาท" รสนากล่าว
จากนั้น โครงการสมุนไพรฯ ก็มีกิจกรรมต่อเนื่อง เพราะ การพึ่งตนเองไม่ใช่เรื่องยาอย่างเดียว
มีการส่งเสริมเรื่องป่าชุมชนด้วย โดยการจัดผ้าป่าพันธุ์ไม้เป็นยุคแรกๆ ที่มีการทำกิจกรรมนี้
เพื่อระดมเงินทุน และพันธุ์ไม้ มาตั้งเป็นกองทุนพัฒนาแหล่งน้ำ เสริมสร้างป่าชุมชน
และมีกิจกรรมอนุรักษ์ ป่าชุมชน ซึ่งมีอยู่ 4 แห่ง ก็เอาไม้ไปปลูกเสริม วางระเบียบการใช้ป่า
เช่น เห็ดให้เก็บได้ แต่ไม้ใหญ่ห้ามตัด เป็นต้น
ปี 2533 โครงการสมุนไพรฯ เชิญมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ มาเมืองไทย ในช่วง ที่คนเริ่มตื่นตัวกับการลดการใช้สารเคมี
จึง ให้ไปเยี่ยมชาวบ้าน ที่กุดชุมด้วย เพราะในช่วงเกือบ 10 ปีที่ทำงาน ที่กุดชุม
เห็นปัญหาผลกระทบจากการใช้สารเคมีการ เกษตรมาก "เห็นชาวบ้านเป็นมะเร็งตายไปหลายคน"
จึงขยาย แนวคิดว่าการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ยาสมุนไพรอย่างเดียว
ถ้าลดการใช้สารเคมีก็จะได้ผลผลิต ที่มีความปลอดภัยในการบริโภค และลดของเสีย
ที่จะออกสู่สภาพ แวดล้อมด้วย
รสนาชี้ว่า ประสบการณ์ ที่ทำโครงการสมุนไพร เห็นว่า ถ้าทำกิจกรรม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชาวบ้านจะทำได้ไม่นานก็เลิก
เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นแรงบีบคั้น ทางโครงการ จึงหันมาเน้นกิจกรรม ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งหมายถึงต้องมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย จึงร่วมกับชาวบ้านตั้งชมรมรักษ์ธรรมชาติขึ้นมา
เพื่อทำโรงสีข้าว และหาตลาด จำหน่ายให้ด้วย ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความสนใจเรื่องเกษตรธรรมชาติ
ขณะที่ทางโครงการสมุนไพรฯ เอง เริ่มหาทางพึ่งตนเอง ในด้านงบประมาณ เพราะเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ
ที่ให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนไทยมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
"เราจึงตั้งชมรม เพื่อนธรรมชาติขึ้นมา ที่สำนักงานของโครงการที่กรุงเทพฯ
เพื่อเป็นจุดให้สินค้าจากชุมชนได้เข้ามาสู่เมือง ทั้งข้าว และสมุนไพร ขณะเดียวกันเราก็ปรับกลยุทธ์การทำงานมาสู้คนเมือง
เป็นผู้ประสานระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับกลุ่มผู้บริโภค ที่สนใจสินค้าแนวธรรมชาติ"
ประมาณปี 2534 ชาวบ้านเริ่มทำโรงสีเอง ทางโครงการฯ ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนโรงสี
ในฐานเป็นผู้ทำตลาดเริ่มต้นให้ ทั้งข้าวปลอดสารพิษ ข้าวอินทรีย์ พร้อมช่วยระดมทุนก่อตั้งโรงสีแบบรวมหุ้น
มีคนจากในเมืองไปร่วมหุ้นด้วย แต่การ บริหารปล่อยให้ชาวบ้านบริหาร แต่ทางโครงการฯ
มีทุนบางส่วนจ้างผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำเรื่องการทำบัญชีก่อนจะให้ทำกิจกรรมได้ด้วยตนเอง
มีองค์กรอื่นๆ มากช่วยในเรื่องการตลาด เช่นมูลนิธิเด็ก มาช่วยซื้อข้าวล่วงหน้า
เพื่อให้มีเงินไปซื้อข้าวเปลือกมาสี แล้ว ส่งมอบให้ทีหลัง จนอยู่ได้ด้วยตนเอง
และมีกำไร
แหล่งรายได้ชุมชน
รสนาเล่าว่า ขณะนี้รายได้หลักๆ ของชาวบ้าน มาจากข้าว ที่ได้จากโรงสี เป็นข้าวปลอดยาฆ่าแมลง
ข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้าว ที่ควบคุมการผลิต โดยองค์กรจากยุโรป ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง
ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และพื้นที่ปลูกทั้งหมดต้องไม่ใช้สารเคมี
สินค้าเหล่านี้มช่องทางระบายออกทางชมรม เพื่อนธรรมชาติ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นใช้ตรา
เพื่อนธรรมชาติ หลังๆ ชาวบ้านก็ทำตราขึ้นมาเอง เช่น ทุ่งรวงทอง และบางครั้ง
ก็ขายให้ปั้มบางจากในช่วง ที่โปรโมชั่นเรื่องแจกข้าว บางส่วนได้ขายให้กับองค์กร
OS3 ซึ่งเป็นกลุ่ม ที่ซื้อสินค้าจากโลก ที่ 3 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในระดับชุมชน
มีเครือข่ายศูนย์กลาง อยู่ ที่สวิตเซอร์แลนด์
ส่วนสมุนไพร นอกเหนือจากการแปรรูปใช้เอง ก็ขายเป็นวัตถุดิบให้ชมรม เพื่อนธรรมชาติ
นำไปแปรรูปต่อ และขาย ให้กับโรงพยาบาลบางแห่งในจังหวัดยโสธร และมีโครงการต่อเนื่อง
จากการที่ศูนย์สุขภาพไทยได้ทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการอย่างยั่งยืน
จึงนำมาทำวิจัยว่าสมุนไพรในพื้นที่อำเภอกุดชุม โดยมีเป้าหมาย จัดทำโซนนิ่งเขตสมุนไพร
และสำรวจปริมาณว่ามีเหลือมากน้อยเพียงใด เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
หรือไม่ ถ้าต้องปลูกเพิ่ม จะมีวิธีปลูกอย่างไร รวมทั้งคิดค้นไป ถึงวิธีการแปรรูป
เพื่อให้ตัวยาคงประสิทธิภาพได้นานที่สุด
"ในช่วงนี้ เราจะโฟกัสในเรื่องของสมุนไพร ทรัพยากร ที่อยู่ในป่าธรรมชาติ
เราได้ทุนจากสิ่งแวดล้อมมา เริ่มต้นศึกษา เมื่อ 9 เดือนที่แล้ว เป็นโครงการ
3 ปี เราตั้งใจว่าจะเป็นผู้เริ่มต้นแล้วให้ชาวบ้านรับลูกไปศึกษาต่อ"
รสนาชี้ว่า ความต้องการสมุนไพรในอนาคตจะมีมากขึ้น แต่ความรู้เรื่องสมุนไพรในบ้านเรามีน้อยมาก
ไม่มีการเก็บข้อมูลตัวยา ปริมาณการใช้ กรมกองต่างๆ ไม่มีข้อมูลลงลึกว่า มีอะไรเท่าไหร่
กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลการ ส่งออกมีแต่ข้อมูลรวมๆ อยู่ในหมวดเครื่องเทศ
"อย่างไรก็ตาม เราก็ทำได้จำกัด แต่จะทำเป็นตัวอย่าง ถ้าได้ผลก็สามารถไปทำซ้ำกับกลุ่มอื่นๆ
ในรูปแบบเดียวกันได้ แต่ต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย" โดยในช่วงนี้กำลังมีการรวมตัวของหมอยาพื้นบ้านในภาคอีสาน
เป็นการรักษาสืบทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าขาดวัตถุดิบ
เราต้องมีวัตถุดิบ มีการอนุรักษ์พืชสมุนไพร
อย่าตื่น "เบี้ยกุดชุม"
รสนา ให้อุทาหรณ์ว่า ความตื่นตระหนกของภาครัฐต่อ การใช้เบี้ยกุดชุม โดยยกเหตุผลเรื่องความมั่นคง
เป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่า ข้อจำกัดของการพึ่งตนเองในระดับชุมชนนั้น อยู่ ที่รัฐนี่เอง
เพราะหลังจากชาวบ้านกุดชุมนำเบี้ยออกมาใช้เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2543 ก็ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หน่วยงานความมั่นคง และธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าตรวจสอบว่า การใช้เบี้ยผิด
พ.ร.บ.เงินตราหรือไม่ จนชาวบ้านเริ่มหวาดกลัว ที่จะใช้เบี้ย ทำให้การทดลองใช้เบี้ยยังไม่ทันมีการฟักตัว
ก็มีอุปสรรคเสียก่อน
รสนาอธิบายว่า เงินตราชุมชนเป็นแนวคิดจากต่างชาติ จาก CUSO มาทดลองทำในลักษณะของการวิจัยว่าจะประยุกต์
ใช้กับชุมชนได้หรือไม่ เพราะต่างประเทศมีการใช้กัน แต่เป็น การใช้นชุมชนเมือง
ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา
"ความคิดเรื่องการพึ่งตนเอง เป็นเรื่อง ที่เอ็นจีโอคิดกันมานาน ทำกันมานานแต่กระแสมันยังไม่ขึ้น
กระแสมันขึ้นมาตอนนี้เพราะมีวิกฤติ แต่การจะให้กลับไปพึ่งตนเองทั้งหมดมันก็เป็นเรื่องยากเสียแล้ว
เพราะสังคมมันเปลี่ยน เราถูกเชื่อม เข้าระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ค่าเงินบาทถูกควบคุมโดยต่างชาติ
และราคาผันผวน"
เบี้ยกุดชุมเป็นจุดเริ่มต้น ที่แทรกตัวขึ้นมา ท่ามกลางปัญหาวิกฤติเงินบาท
แต่พอเกิดขึ้นมารัฐก็หวั่นวิตก เพราะรัฐไม่เข้าใจว่า เศรษฐกิจชุมชน ที่แท้จริงคือ
อะไร
"เบี้ยกุดชุมเป็นจุดหนึ่ง ที่เป็นปฏิบัติการทางสังคมให้คนเรียนรู้
เป็นการดึงมาสู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง เราต้องพึ่งตนเองตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นระดับภาค
ระดับประเทศ และอาจถึงระดับภูมิภาค เราพูดว่าพึ่งตนเองกันมาในช่วงนี้ แต่มันเป็นนามธรรมกันเป็นส่วนใหญ่
เราต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นเครื่องมือให้พึ่งตนเองได้ เธอกล่าวย้ำ