|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.25% ตามคาด ปัจจัยยังอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อกัดกร่อนกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ แย้มแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) สิ้นปี มองอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจหลุดเป้าที่ระดับ 0-3.5% ขณะที่ล่าสุดดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบ 4.54% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 3 ปี และการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 16 ก.ค.นี้เล็งปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อและเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจ บิ๊ก บสก.เตือนภัยขึ้นดอกเบี้ยละเอียดอ่อน ระวังกระทบต้นทุนซ้ำเติมปัญหา
นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ (21พ.ค.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ระดับเดิม คือ 3.25%ต่อปี เนื่องจากมองว่าความเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมีมากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นมากจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่เร่งตัวขึ้นมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ เพราะการส่งผ่านต้นทุนมีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) สูงขึ้นไปอีก
“กนง.มองว่าในช่วงสิ้นปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะหลุดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ใช้เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินในระดับ 0-3.5% ประกอบกับขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบ 4.54% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 35 เดือน หรือประมาณ 3 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงบวก 0.68% จึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่เข้มงวดขึ้น หลังจากสิ้นปีนี้ไปแล้ว”
ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการฯ ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เนื่องจากมองเห็นความเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง แม้ว่าอุปสงค์ยังขยายตัวได้ดีแต่ก็เริ่มแผ่ว เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่มีต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าบริโภคและสินค้าทุนที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม การส่งออกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
“นโยบายการเงินที่ธปท.ใช้ปัจจุบันเป็นกรอบในการดูแลอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการมองภาพเศรษฐกิจในอนาคตมากกว่าระยะสั้น จึงต้องพยายามดูแลอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงมาก จนกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ” นางสาวดวงมณี กล่าว
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ทาง กนง.ได้ประเมินสถานการณ์น้ำมันใหม่ให้เป็นไปตามความจริงมากขึ้น โดยกรณีเลวร้ายราคาน้ำมันดูไบในช่วงไตรมาสแรกที่ระดับ 91 และไตรมาสถัดไปเป็น 126 138 และ 143 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ระดับ 140 เหรียญต่อบาร์เรล และปีหน้าเพิ่มเป็น 149 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนกรณีฐานราคาน้ำมันดูไบในไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 91 เหรียญต่อบาร์เรล ไตรมาสสองเป็น 112 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนไตรมาส 3 และ4 อยู่ที่ระดับ 118 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 109.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าและราคาน้ำมันต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยปัจจัยดังกล่าวมาจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งทางธปท.จะทบทวนและประเมินสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อใหม่ ในการประชุมกนง. ครั้งต่อไปอีกครั้ง ในวันที่ 16 กรกฎาคม นี้
“ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างสูง ซึ่งในเดือนที่ผ่านมาสูงถึง 2.1% จากการประเมินสถานการณ์ของกนง. ในระยะยาวอัตราเงินเฟ้อจะไปกัดกร่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ในฐานะที่เราเป็นธนาคารกลางก็ต้องดูแลการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับเสถียรภาพด้านราคา โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเป็นเรื่องของซัพพลาย เกิดจากต้นทุนมากกว่าดีมานต์” ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของประเทศต่างๆ ในแถบภูมิภาคเดียวกันยังมีหลายประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าประเทศไทย โดยประเทศเวียดนามเร่งตัวสูงถึง 21% อินโดนีเซีย 9% จีน 8.5% ฟิลิปปินส์ 8.3% อินเดีย 7.4% สิงคโปร์ 6.7% แต่ก็ยังมีบางประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าไทย คือ ไต้หวัน 4% มาเลเซีย 2.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนเม.ย.ของประเทศไทยอยู่ที่ 6.2%
บสก.คาด ธปท.คงดอกเบี้ยอีกระยะ
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) กล่าวว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ไม่น่าจะมีการปรับลดลงแล้ว โดยนักเคราะห์หลายแห่งได้ประเมินว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่อจากนี้น่าจะมีการปรับขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าธปท.จะมีการพิจาณาและดูแลในทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลจากตัดสินใจดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในขณะนี้ เพราะปัจจัยโดยรวมยังไม่เอื้ออำนวย
หาก ธปท.มองเรื่องของอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวก็อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แต่เชื่อว่า ธปท.ก็คงจะดูถึงเรื่องต้นทุนการผลิต ทั้งราคาน้ำมัน ราคาสินค้า ที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกก็คงจะยิ่งส่งผลกระทบมากไปกว่าเดิม ดังนั้นจึงต้องดูแลให้เหมาะสม เพราะเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดทำให้เชื่อว่า ธปท.คงจะทรงอัตราดอกเบี้ยไประยะหนึ่งก่อนจะพิจารณาสถานการณ์โดยรวมอีกครั้งในระยะต่อไป
"การจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องดูให้รอบคอบ ซึ่งเชื่อว่าทางธปท.ดูแลอยู่แล้ว เพราะถ้าจะให้เลือกทำตั้งกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อคงทำพร้อมกันทุกอย่างไม่ได้ แต่มุมมองของผู้ทำธุรกิจก็ยังไม่อยากเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในภาวะแบบนี้ อีกทั้งจากที่รมว.คลังกำลังระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยิ่งทำให้ต้องดูแลนโยบายดอกเบี้ยให้สอดคล้องกันทั้งภาคการคลังและการเงิน"
นักวิชาการเห็นพ้อง ธปท.คงดอกเบี้ย
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การคงอัตราดอกเบี้ยของกนง.ในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ เนื่องจากต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ
“อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้คาดว่า จะอยู่ในระดับ 5.5-6% แม้ว่าจะถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของจีน ซึ่งอยู่ที่ 8% หรืออย่างประเทศซิมบับเว ที่เงินเฟ้อสูงถึง 120,000% แต่ก็ต้องยอมรับว่า เงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ ทำให้ ธปท.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม” รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรีกล่าว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจนใกล้ระดับ 130 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น หลังจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ ธปท.จะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด คือ การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ซึ่งหากยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อไป ก็เชื่อว่า ธปท.จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ เชื่อว่าการคงอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. จะไม่ส่งผลกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เติบโตได้ในระดับ 6% เนื่องจากแบงก์ชาติมีหน้าที่ที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยดูแลเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่กระทรวงการคลังทำหน้าที่ในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เชื่อว่า หากดูแลได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่น่าพอใจ โดยมีเสถียรภาพควบคู่กันไปด้วย
ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 31.89-31.92
นักค้าเงินจาก ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (21 พ.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 31.89-31.92 บาทต่อดอลลาร์ จากในช่วงเช้าได้เปิดตลาดที่ระดับ 31.88-31.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 31.84 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยหลักๆที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้มาจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดหุ้น เพื่อไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ส่วนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ (22 พ.ค.) คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 31.80-32.00 บาทต่อดอลลาร์ หากราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดอลลาร์สหรัฐก็มีการอ่อนค่าได้อีก
|
|
|
|
|