|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ตลาดหลักทรัพย์ฯ โละทิ้งมาตรการ Net Settlement และ Margin Trading พร้อมดันเกณฑ์เทิร์นโอเวอร์ลิสต์ มาใช้ 1 ก.ค. 51 โดยหุ้นที่เข้าข่ายต้องซื้อโดยวางเงินล่วงหน้าเต็ม 100% เป็นระยะเวลา 3 รอบการประกาศ หวังให้นักลงทุนเห็นตัววัดที่ชัดเจนการการลงทุนหุ้นร้อน ด้านโบรกเกอร์ระบุไม่กระทบภาพตลาดหุ้นและบล. เหตุเกณฑ์ค่อนข้างสูง ทำให้มีหุ้นจำนวนน้อยที่จะติดเกณฑ์
นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติ โดยกำหนดให้หลักทรัพย์ที่มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนสูงที่เข้าข่ายรายชื่อหลักทรัพย์ตามเกณฑ์เทิร์นโอเวอร์ลิสต์ (Turnover List) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งครอบคลุมหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ และใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) และมีลักษณะเพิ่มเติมตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด แทนการใช้มาตรการห้ามซื้อขายแบบหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน Net Settlement และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ Margin Trading
สำหรับลักษณะเพิ่มเติมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด คือ 1. หุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเอ็มเอไอ ที่มี Turnover ratio มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 และ P/E ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 50 เท่าหรือขาดทุน และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาท
2. กรณีเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) ต้องมี Turnover ratio มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 100 และมี % Premium หรือมีอัตราความยากในการใช้สิทธิมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20 ของราคาหลักทรัพย์อ้างอิง และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาท
โดยหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายข้อกำหนดดังกล่าวนั้น บริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) ต้องให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนที่จะซื้อหลักทรัพย์นั้น (บัญชี Cash Balance) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 รอบการประกาศรายชื่อหรือจนกว่าหลักทรัพย์นั้นๆ จะพ้นจากรายชื่อหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากในรอบระยะเวลาที่ 3 ยังติดอยู่ในเกณฑ์ จะต้องให้มีผลต่อไปอีก 1 รอบการประกาศรายชื่อ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.51 เป็นต้นไป
ส่วนวัตถุประสงค์ของการประกาศใช้เกณฑ์เทิร์นโอเวอร์ลิสต์นั้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน รวมถึงเปิดเผยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ลงทุน และระบบการซื้อขายโดยรวม โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นรายสัปดาห์ในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์หรือวันศุกร์หลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศรายชื่อ Turnover List บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th แล้ว
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องซื้อขายในบัญชี Cash Balance หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดทำการซื้อขายผ่านระบบ SET smart โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันทำการถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
"การนำเกณฑ์เทิร์นโอเวอร์ลิสต์มาใช้แทนมาตรการห้ามเน็ตฯ และมาร์จิ้นฯ ที่ใช้มาแล้วกว่า 7 ปี เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายได้เห็นความชัดเจน มีเกณฑ์ที่เป็นนักลงทุนสามารถเห็นได้และสามารถประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุนหุ้นใดๆ รวมถึงเป็นการลดข้อครหาในการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจห้ามเน็ตฯ หรือมาร์จิ้นฯ เหมือนที่ผ่านมา ว่าเลือกปฎิบัติหรือไม่ด้วย อย่างไรก็ดีเมื่อเกณฑ์ดังกล่าวใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาประเมินผล รวมถึงความจำเป็นต้องแก้ไขจุดใดหรือไม่" นายสุภกิจ กล่าว
สำหรับบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) หมายถึง การที่ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อหลักทรัพย์ก่อนการซื้อหลักทรัพย์ หรือมีข้อตกลงให้สมาชิกหักเงินตามคำสั่งของสมาชิกในบัญชีเงินฝากของลูกค้าที่ฝากเงินไว้เต็มจำนวนที่จะซื้อหลักทรัพย์ก่อนการซื้อหลักทรัพย์ หรือโอนเงินค่าขายหลักทรัพย์เข้าบัญชีดังกล่าว
นายอภิสิทธิ์ ลิมศุภนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บีฟิท จำกัด กล่าวว่า การประกาศใช้เกณฑ์เทิร์นโอเวอร์ลิสต์ (Turnover List) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ เพราะเป็นเรื่องจากที่หลักทรัพย์ใดๆ จะเข้าข่ายหรือเงื่อนไขหุ้นเทิร์นโอเวอร์ลิสต์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้
ขณะเดียวกันเชื่อว่าเกณฑ์ดังกล่าวคงหยุดความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรได้ยาก เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่สูงเกินไป และในแง่ของนักลงทุนเองยังไม่แน่ว่าจะเป็นการปกป้องนักลงทุนได้ดีกว่าวิธี Net Settlement และ Margin Trading
|
|
 |
|
|