เพียงใจ หาญพาณิชย์
เจ้าของที่ดินรายใหญ่คนหนึ่ง
ของเมืองไทย ร่ำรวยขึ้นมา
จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เป็นคนสำคัญในการก่อตั้ง
บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด
(มหาชน) บริษัทพัฒนาที่ดิน
ซึ่งมียอดขายกว่า
15,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากโฉนดที่ดินจำนวนมากในตู้เซฟแล้ว ยังเป็นเจ้าของห้องชุดขนาด 285 ตารางเมตร
บนตึกรัตนโกสินทร์วิว คอนโดหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห้องชุดในปทุมวันรีสอร์ท
บ้านย่านฝั่งธนฯ บ้านจัดสรรที่สุขุมวิท 18 และบ้านในต่างจังหวัดอีกหลายหลัง
แต่ในวัยที่ย่างเข้า 80 ปีนี้ เธอมีความสุขกับความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายเพียงลำพังในห้องชุดบนชั้น
7 ของโรงแรมแมนดาริน
หลังจากบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี
พ.ศ.2532 การบริหารงานทั้งหมดถูกปล่อยให้อยู่ในมือของอนันต์ อัศวโภคิน ลูกชายคนที่สอง
ส่วนเธอเข้าไปรับตำแหน่งนายกสมาคมการค้าที่ดินและก่อสร้าง (ปัจจุบันคือสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์)
อีกหลายสมัย จากนั้นเรื่องราวของเพียงใจก็ห่างหายไป แทบจะไม่มีบทสัมภาษณ์ของเธอให้เห็นตามสื่อต่างๆ
อีกเลย
เพียงใจ หาญพาณิชย์ เรียนหนังสือเพียงแค่ชั้น ป.4 จากโรงเรียนย่านลาดกระบัง
แต่เป็นวิทยากรพิเศษสอนนักศึกษาระดับมินิเอ็มบีเอ ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยาวนานต่อเนื่องถึง
10 ปี
"ผู้จัดการ" มีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์พิเศษ ในยามบ่ายวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม
บนห้องชุดของโรงแรมแมนดาริน แวบแรกที่ได้เห็นหลังจากที่ไม่เจอกันนานมาก พบว่าเธอยังแข็งแรงหน้าตาอ่อนกว่าวัย
และที่สำคัญในวันนี้ดูเธอมีความสุขกับชีวิต เสียงหัวเราะจึงมีอย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า
2 ชั่วโมงในการพูดคุย
หลังจากบุญทรง อัศวโภคิน คู่ชีวิตเสียชีวิตไป กิจวัตรประจำวันในวันที่ไม่มีนัดที่ไหนก็คือ
ตื่นแต่เช้า ทำผม แต่งหน้า ก่อนที่จะนั่งรถไปพบเพื่อนที่สวนลุมพินี พูดคุยกันด้วยเรื่องจิปาถะ
และทานข้าวเช้าด้วยกันที่นั่น สายหน่อยก็เดินชอปปิ้งที่ตลาดในสวนลุมฯ ตกเย็นก็ดูทีวี
อ่านหนังสือพิมพ์ ประมาณ 4 ทุ่มเข้านอน ไม่ค่อยออกงานสังคมที่ไหนนอกจากงานที่จำเป็นจริงๆ
"นี่กางเกงตัวนี้ราคา 200 บาทใส่สบายดีออก กระเป๋าใบนี้ก็ 199 บาท สวยจะตาย"
เธอชี้ไปที่กระเป๋าใบหนึ่งบนโต๊ะ และเล่าต่อว่า "วันก่อนไปงานแต่งงานใส่เพชรเม็ดเขื่องเชียวนะ
แต่ถือกระเป๋าใบละ 199 บาท ไม่เห็นเป็นอะไร"
ตลาดสวนลุม เป็นที่มาของข้าวของเครื่องแต่งกายของเพียงใจ แทนที่จะเป็นห้างหรู
หรือข้าวของแบรนด์เนมต่างๆ นิสัยเหล่านี้กลายเป็นแบบอย่างที่ลูกทุกคนซึมซับรับไป
โดยไม่ต้องเสียเวลาสอน อนันต์ และอนุพงษ์ ลูกชาย 2 คนที่ "ผู้จัดการ" เคยสัมภาษณ์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ก็ล้วนแต่มีเรื่องเล่าอย่างภูมิใจ
เกี่ยวกับเครื่องใช้ส่วนตัวราคาไม่แพง และความเป็นอยู่ที่ธรรมดามากๆ
เรื่องฟุ่มเฟือยของผู้หญิงในวัยนี้ มักหนีไม่พ้นเรื่องเครื่องเพชร เพียงใจก็เช่นกัน
เพียงแต่เธอไม่ได้เป็นลูกค้าของร้านเพชรชื่อดัง เพชรน้ำดีมีประวัติหลายวงที่เธอใส่ติดนิ้ว
เป็นของที่ซื้อต่อมาจากโรงรับจำนำนั่นเอง
ความสุขทางใจอีกเรื่องหนึ่งคือการได้พกเงินไปคราวละมากๆ เพื่อไปเลือกซื้อผอบลายไทย
เก็บไว้เป็นของสะสม ซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายร้อยชิ้นเก็บไว้ในบ้านแต่ละหลัง
มีทั้งของเก่าและของใหม่ ปะปนกันไป ส่วนใหญ่ได้มาจากตลาดสวนลุมฯ เช่นกัน
นั่นคือมิติด้านหนึ่งของชีวิตที่เรียบง่าย แต่เมื่อพลิกไปอีกด้านหนึ่งจะพบว่า
วันเวลาที่ผ่านเลยไปนั้น
ผู้หญิงคนนี้ไม่เคยหยุดนิ่งในการทำธุรกิจ ประสบการณ์ที่แก่กล้ายิ่งทำให้เธอทำงานด้วยความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างเงียบๆ
ทุกวันนี้นอกจากตำแหน่งประธานบริหารโรงแรมแมนดารินแล้ว ยังเป็นเจ้าของโรงรับจำนำอีก
3 แห่งคือ มั่งหลีบนถนนเพชรบุรี มั่งเชียงย่านสะพานควาย และมั่งเฮง ซอยอารีย์
ถนนพหลโยธิน รวมทั้งกิจการร้านขายผ้า และบริษัทเกี่ยวกับซื้อขายที่ดิน และพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อีกหลายบริษัท
ตลอดระยะเวลาที่นั่งพูดคุยกันในวันนั้นโทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง ไม่รวมโทรศัพท์ในห้องอีก
1 เครื่องส่งเสียงดังตลอด ส่วนใหญ่จะเป็นการนัดหมายเรื่องงาน และมีแม้กระทั่งเพื่อนฝูงโทรมาให้ช่วยเจรจาขอลดราคาบ้านในโครงการที่ลูกชายเธอเป็นเจ้าของ
ในแต่ละสัปดาห์ เธอต้องไปดูโครงการศูนย์การค้าให้เช่าที่พัทยาเหนือ และโรงแรมที่หาดนาจอมเทียน
(ในโครงการสมประสงค์พลาซ่าเดิม) บางวันไปจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้ซื้อที่ดินไว้ใกล้ๆ
กับถ้ำกระแซ มากมายนับหมื่นไร่ และกำลังวางแผนทำเป็นโครงการรีสอร์ต ที่ดินเหล่านี้ส่วนหนึ่งเตรียมไว้ลงต้นมะม่วงหิมพานต์
ส่วนอีกแปลงหนึ่งใกล้ๆ กับผึ้งหวานรีสอร์ท ปลูกมะม่วงไว้หลายร้อยต้น การได้ไปสอยเองกับมือเพื่อเอามาแจกลูกหลานและคนรู้จัก
กลายเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งได้ทำเป็นประจำเมื่อหน้ามะม่วงผลิผล
"พรุ่งนี้เช้า ต้องไปรัฐสภา 9 โมงเช้า ไปชี้แจงเรื่อง พ.ร.บ.โรงรับจำนำ
บ่ายมีนัดเรื่องที่ดินที่กาญจนบุรี" เธอเล่าแผนงานในวันรุ่งขึ้นให้ฟัง ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า
อายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น แต่ไฟในการทำงานไม่เคยมอด
ในสมัยเป็นนายกสมาคมการค้าที่ดินเคหะและก่อสร้าง เธอพยายามผลักดันขอแก้ไขในเรื่อง
ปว.286 เป็นคนหนึ่งที่แม่นในเรื่องกฎหมายที่ดินอย่างมาก และยังชอบอ่านและศึกษาเป็นประจำ
วันที่พบกันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งยังวางค้างอยู่บนโต๊ะทำงาน รวมทั้งหนังสือเล่มโตที่ชื่อ
"รวมคดี ลูกหนี้ชนะธนาคาร"
ชีวิตจริงๆ ส่วนใหญ่จึงอยู่กับคนขับรถและเลขาส่วนตัว รถหรูอย่างเบนซ์ 500
จอดทิ้งเอาไว้เพราะไม่อยากเปลืองน้ำมัน ในขณะที่รถปิกอัพ หรือจี๊ป CRV จะใช้ได้สมบุกสมบันมากกว่า
และที่สำคัญสามารถบรรทุกมะม่วงกลับมาคราวละมากๆ ได้ด้วย
ความขยันในการทำงาน สู้ชีวิต และไม่ยอมคน ได้สะท้อนไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ในวัยเด็ก
ซึ่งมาจากครอบครัวชาวจีนที่เปิดร้านขายของโชวห่วย แถวย่านลาดกระบัง และยังเป็นลูกคนโตที่ต้องดูแลน้องจำนวนมาก
ทำให้เธอกล้าและแกร่งตั้งแต่เล็ก วีรกรรมของเด็กหญิงเพียงใจ เรื่องทะเลาะกับครูสอนภาษาจีน
จนเกือบจะเอาไม้ตีครู ได้กลายเป็นเรื่องเล่าในครอบครัวที่ลูกๆ ทุกคนจำได้
โตขึ้นหน่อย ก็ต้องแจวเรือไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้าน พอย่างเข้าวัยสาว
หลังสงครามบูรพา เธอยังใจกล้าเดินทางไปขายเสื้อผ้าถึงเมืองพระตะบอง ชีวิตที่ได้คลุกคลีกับชาวไร่ชาวนา
และคนยากจน ทำให้เด็กสาวคนนี้มุ่งมั่นว่า หากมีครอบครัวจะไม่ปล่อยให้ลูกต้องลำบากเด็ดขาด
และนั่นคือพลังผลักดันอย่างหนึ่งทำให้ตัดสินใจรับรักบุญทรง อัศวโภคิน เจ้าของร้านขายผ้า
"โมวฉ่าง" ย่านสะพานหัน เพื่อหนีไปจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ
จากเด็กสาวบ้านนอกผมดำตาโต ที่มีบุคลิกไม่กลัวเกรงใคร เข้ามาเป็นสะใภ้ชาวจีนที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่อย่างอัศวโภคิน
ก็แทบคาดเดาได้ไม่ยากนักว่าชีวิตช่วงนั้นไม่ได้สุขสบายนัก
ความลำบาก ทำให้คนขยัน แม้โดนแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมรอบตัว แต่เธอก็ไม่ยอมย่อท้อ
ช่วยกันกับบุญทรงต่อยอดธุรกิจ จากห้างขายผ้าโมวฉ่างเพียงร้านเดียว ก็มีร้านสีวลี
และมีกิจการโรงรับจำนำไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับการเริ่มทำธุรกิจที่ดิน ซื้อมาขายไป
การทำตึกแถวย่านหลังวังบูรพา และคิดการใหญ่ทำโรงแรมแมนดาริน ในปี 2508 เพื่อรองรับทหารจีไอที่เข้ามาในเมืองไทยในสมัยนั้น
โดยเข้าหุ้นกับเพื่อนๆ หลายคนและกว่าจะสร้างโรงแรมนี้เสร็จ เธอต้องขายที่ดินหมดไปหลายแปลง
ในขณะที่ธุรกิจจัดสรรที่ดินกำลังไปได้ดี อนันต์ ลูกชายคนที่สอง ซึ่งจบการศึกษาะดับปริญญาโทมาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก
สหรัฐอเมริกา และมีความฝันว่าจะเข้าทำงานับบริษัทไอบีเอ็ม องค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น
ก็ถูกผู้เป็นแม่ขอร้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้คนเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ที่ดินไม่มีวันงอกเพิ่มขึ้น
ธุรกิจที่ดินต่างหากที่น่าทำ จนในที่สุดอนันต์ได้ตัดสินใจเข้ามาช่วยผู้เป็นแม่
ทำโครงการหมู่บ้าน "ศรีรับสุข" ย่านบางเขนเป็นโครงการแรก
ประสบการณ์จากผู้เป็นแม่ ผนวกกับความคิดและการบริหารจัดการสมัยใหม่ของหนุ่มนักเรียนนอกกลายเป็นรากแก้วที่แข็งแรง
ส่งผลให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์ กลายเป็นบริษัทที่เติบใหญ่อย่างมั่นคง และมียอดขายบ้านจัดสรรสูงที่สุดในเมืองไทย
ปัจจุบันเธอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ในบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง
ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานบริหาร นั่งรับแต่เงินปันผลปีหนึ่งหลายสิบล้านบาทแทน
ลูก 4 คนคือ ทรงพล ลูกชายคนโต สุดา ลูกสาวคนเดียว ต่างช่วยกันบริหารงานในโรงแรม
แมนดาริน อนันต์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์
จำกัด (มหาชน) และอนุพงษ์ คนสุดท้อง เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้มีหลานยายหลานย่าทั้งหมด
10 คน ทุกคนล้วนมีชีวิตความเป็นอยู่ในแบบอย่างที่เธอคาดหวัง ความสุขของลูกหลาน
และทรัพย์สมบัติที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงเป็นกำลังใจให้เธอยังสนุกกับชีวิตการทำงาน
และเคล็ดลับอย่างหนึ่งก็คือ
"รักตัวเองให้มาก เรื่องอะไร ที่เรารู้ว่าฟังแล้วไม่มีความสุข ก็อย่าไปสนใจ
ฟังได้ แต่อย่ารับมาคิด ไม่งั้นใจเราจะเป็นทุกข์"
"ไม่ต้องถ่ายรูปครอบครัวไปหรอก" เสียงเธอร้องบอกช่างภาพที่กำลังก๊อบปี้รูปครอบครัวที่ติดบนผนัง
"ก็ฉันยังใช้คำนำหน้าว่านางสาวอยู่เลยนะ" พร้อมกับหัวเราะร่วนอีกแล้วอย่างอารมณ์ดี
"ว่างๆ แวะมาหากันใหม่นะ มาทานอาหารญี่ปุ่นกัน" เธอบอกเป็นคำสุดท้าย ก่อนที่จะลาจากกันจริงๆ
อีกครั้งในวันนั้น