บลจ.บัวหลวงมองอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าอนาคตสดใสจาก 2 พระเอกการลงทุนและบริโภคภายใน เปิดกองทุน RMF ใหม่รับอานิสงส์เศรษฐกิจไทยขยายตัวแข็งแกร่ง
วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง กล่าวว่า บริษัทได้เปิดตัว "กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ" เพื่อให้เป็นทางเลือกกับผู้ลงทุนที่ต้องการสิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนตามเงื่อนไขของ RMF ซึ่งกองทุนใหม่ที่เปิดตัวนี้จะเน้นไปที่ลงทุนระยะยาวในหุ้นเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ช่วงต่อจากนี้ไปถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนที่เน้นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะไทยไม่ได้มีการขยายกำลังการผลิตอย่างจริงจังต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว จนกำลังการผลิตและการบริโภคใกล้เคียงกันมาก และปัจจุบันก็ได้มีสัญญาณของการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตมาแล้ว โดยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อจากนี้ไปจากทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องและโตอย่างมั่นคง ซึ่งการเริ่มต้นมักจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลิตภาพในระยะยาว
นอกจากนี้ธุรกิจกลุ่มดังกล่าวยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐไม่มากนัก เพราะเป็นการพึ่งพาการลงทุนและบริโภคภายในประเทศเป็นแกนหลัก
"เดิมเรามีกองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนเป็นอย่างมากและสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 366.30% และ 1 ปีอยู่ที่ 47% บริษัทจึงนำนโยบายการลงทุนในธุรกิจกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานมาปรับใช้กับกองทุน RMF ที่ต้องลงทุนระยะยาว โดยปรับเปลี่ยนนโยบายบางส่วนให้สอดคล้องกับภาวะในปัจจุบัน"
สำหรับพอร์ตของกองทุนนี้จะลงทุนหุ้น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ พลังงาน, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, วัสดุก่อสร้าง, ขนส่งและโลจิสติกส์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กองทุนนี้มีมูลค่าโครงการ 5 พันล้านบาท เปิดให้จองซื้อเป็นครั้งแรกถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 หน่วยละ 10 บาท จองซื้อขั้นต่ำ 5 พันบาท
ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง มีกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพอยู่แล้ว 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ,กองทุนเปิดบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ ,กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้น 25% เพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ สำหรับกอง RMF โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังอยู่ในช่วงการเปิดตัวอยู่นี้ถือได้ว่ามีระดับความเสี่ยงที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนเดิมทั้ง 4 เนื่องจากมีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเช่นกัน
|