ส.อ.ท.ระบุน้ำมันพุ่งภาคการผลิตกระอักเลือด ทั้ง“ต้นทุน-ขนส่ง-ค่าครองชีพ”ที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัว ชี้ผู้ประกอบการเริ่มถอดใจ “ปิดกิจการ-ลอยแพ”คนงานบ้างแล้ว ขณะที่ “โลจิสติกส์” ซึมยาวเพิ่มค่าขนส่งสูงปรี๊ด! ขณะที่ “เรือโดยสาร-ขสมก.-รถร่วม” จ่อขึ้นค่าโดยสารอีก ยืนยันแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวแล้ว ด้าน “ประชาชน” รับกรรมของแพง-ค่าโดยสารเพิ่ม รอสินค้า “ธงฟ้า” จากภาครัฐเท่านั่น.!
ในสภาวะที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกทะลุ 120 เหรียญ/บาร์เรลโดยราคาหน้าปั๊ม ณ วันที่ 12 พ.ค. 2551 ราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 (ULG 95 RON) ขายลิตรละ 37.09 บาทขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (HSD, 0.05%S) ขายที่ลิตรละ 34.44 บาทแน่นอนจากสภาวะการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน –การขนส่ง(โลจิสติกส์)หรือทุกๆธุรกิจที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ขณะที่ประชาชนก็ได้รับผลกระทบตามมาเป็นลูกระนาดไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวของที่แพงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ถีบตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัว
ทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ว่าระบบขนส่งมวลชน หรือ เรือโดยสาร ก็จ่อจะขึ้นอีกตามมาในระยะอันใกล้นี้ แต่ค่าจ้างแรงงาน รายได้กลับเท่าเดิมนี่คือวิบากกรรมของคนไทยที่ต้องแบกรับ เมื่อเหลียวมองไปทางฝั่งรัฐบาลก็เห็นแต่เรื่องการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนคนไทยจึงได้แต่ก้มหน้ารับกรรมไม่มีทางหลีกเหลี่ยงได้
ต้นทุนพุ่งภาคการผลิตเจ๊ง.!
ปิดโรงงาน –ลอยแพแรงงาน
รายงานของอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้ราคาน้ำมันไม่น่าจะมีโอกาสปรับตัวต่ำลงได้เนื่องจากความต้องการใช้มีมากกว่าการผลิตประมาณ 1% รวมทั้งสถานการณ์ของค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงทำให้มีการขึ้นราคาน้ำมัน โดยส.อ.ท.เชื่อว่าราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นต่อไปอย่าง
แน่นอน
อย่างไรก็ดีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันที่ได้ปรับขึ้นประมาณ 25% ส่งผลให้ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่โดยมาจากหลายสาเหตุ อาทิ 1.)ต้นทุนการผลิตที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น 2.)ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ หรือการขนส่งทั้งทางน้ำและอากาศได้รับผลกระทบมาก โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ต้นทุนค่าขนส่งจากเดิมอยู่ที่ 35% ของต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50-55% ของต้นทุนทั้งหมดและ 3.)ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้รายได้ของแรงงานต่ำลง ส่วนเจ้าของโรงงานเองก็ประสบปัญหาทางด้านการเงินทำให้ต้องเลิกจ้างแรงงานส่วนหนึ่งทำให้แรงงานตกงาน
"ผลกระทบจากราคาน้ำมันทำให้หลายอุตสาหกรรมท้อใจและมีการปิดตัวลง เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มราคาไม่ได้ ตอนนี้มีรายงานว่าหลายกิจการเริ่มปิดตัวเองลงไปแล้วอาทิ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า อาหารเกษตรและแปรรูป" นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุ
โลจิสติกส์อ่วมน้ำมันพุ่ง.!
ในการด้านการขนส่งหรือโลจิสติกส์นั้นก็ลำบากไม่แพ้กันเพราะต้นทุนจากราคาน้ำมันทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น “ว่าที่ร.ต.ธเนศร์ โสรัตน์ ” รองประธานกรรมการ และบริษัทในเครือ V-SERVE GROUP (บริษัทผู้ให้บริการ Logistics ครบวงจร) มองว่า ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญคือ ปัญหา ปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศที่เกิดจากปัญหาซับไพรม์, ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะจากปัจจัยภาวะน้ำมัน, ปัญหาการการแข่งขันทางด้านราคาและการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ SMEs และการเปิดการค้าเสรี ทำให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสากลมากขึ้น
ขณะที่ต้นโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้น 19 -21% ส่วนตุ้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 12-15 % ซึ่งปัญหาของโลจิสติกส์ในภาคธุรกิจไทยนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกันคือ 1. การขาดบูรณาการโซ่อุปทาน เนื่องจากขาดการจัดการโซ่อุปทานระหว่าง ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต และผู้บริโภคของสินค้า 2.ไม่สามารถนำองค์ความรู้เรื่องโลจิสติกส์ไปปฏิบัติได้จริงในเรื่องการทำธุรกิจ 3. ต้นทุนขนส่งกระจุกตัวอยู่ที่การขนส่งทางถนนถึงร้อยละ 86 เนื่องจากขาดโครสร้างทางรางและทางน้ำที่ดี และสุดท้าย 4.ต้นทุนสินค้าคงคลังซึ่งเป็นร้อยละ 47% ของต้นทุนโลจิสติกส์ที่ไม่สามารถส่งมอบของได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ระบบขนส่งทั่วประเทศที่ใช้ถนนกว่าร้อยละ 86% ที่ต้องใช้น้ำมันหากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งผู้ประกอบการขนส่งต่างๆในประเทศก็ต้องเพิ่มค่าขนส่ง ผู้ผลิตก็เพิ่มราคาสินค้า พ่อค้าก็เพิ่มราคาขาย ผลสุดท้ายประชาชนผู้บริโภคคือผู้แบกรับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นคือสิ่งที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้
BOI เผยลงทุน 4 เดือนแรกยังไปได้สวย
แม้ว่าภาพรวมของภาคการผลิตจะมีผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะปิดกิจการและลอยแพคนงานตามมา ตามที่รองประธานสภาอุตฯ ระบุไว้ แต่ในด้านภาคการลงทุนนั้น มีตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนล่าสุดจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นทุกตัวโดยหากเปรียบเทียบตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2550 กับปี2551 ในช่วงเดียวกันพบว่า ในส่วนของจำนวนรายมีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นจากจากช่วงม.ค.-เม.ย.2550ที่ 408 เพิ่มขึ้นเป็น 449 ราย ส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นจากม.ค.-เม.ย.2550 ที่ 145.6 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีนี้เป็น 159.9 พันล้านบาท โดยเฉพาะนักลงต่างชาติยังให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เช่น นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ครองอันดับหนึ่งต่อเนื่องและจากกลุ่มยุโรปที่กำลังมาแรงในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่จำนวนโครงการของนักลงทุนต่างชาติลงทุนในไทยสูงสุด 6 อันดับแรกได้แก่ ญี่ปุ่น , ยุโรป,ไต้หวัน,อเมริกา,ฮ่องกง และสิงคโปร์ที่เพิ่มจำนวนโครงการผลิตเพิ่มขึ้นทุกประเทศ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นของต่างชาติ 100% เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.- เม.ย.2550 ที่ 130 โครงการเป็น 181โครงการในช่วงเดียวกันของปีนี้โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ชาวต่างชาติสนใจลงทุนมากที่สุด อาทิ เคมี, กระดาษและพลาสติก,บริการและสาธารณูปโภค, เหมืองแร่ เซรามิกส์ และ โลหะพื้นฐาน เป็น ต้น สิ่งเหล่านี้พอจะทำให้ใจชื้นขึ้นว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศน่าลงทุนในสายตาของชาวต่างชาติ
สั่งทบทวนต้นทุน 373 รายสินค้า
เมื่อภาคการผลิตของประเทศ การขนส่ง การลงทุน รวมถึงการจ้างงานมีปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้นั่นคือประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือ รายได้ประจำต้องลำบากในสถานการณ์อย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้
โดยรัฐบาลพยายามควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ด้วยการควบราคาสินค้าให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง แม้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะมาจากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ 373 ราย การว่ามีต้นทุนเปลี่ยนแปลงเช่นไร หากสินค้ารายการใดมีต้นทุนผลิตที่ลดลงก็ต้องปรับลดราคา แม้สินค้าบางรายการที่ขอปรับขึ้นราคามาแล้ว หากต้นทุนวัตถุดิบลดลงก็ต้องปรับลดด้วย เพื่อไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค และควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไป
ขณะเดียวกันกำลังศึกษาผลต่อการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงทบทวนต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศที่ได้ผลดีจากอัตราแลกเปลี่ยนที่บาทแข็งค่าขึ้น
“ รถ-เรือ” เอาแน่ขอขึ้นค่าโดยสาร
ไม่เพียงเท่านั้นที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวของที่แพงขึ้นการเดินทางบริการสาธาณะทั้งทางรถ-เรือก็จ่อรอเพิ่มราคาในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยสมาคมเรือไทย ได้ทวงสัญญารัฐบาลว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน 3 บาทจะต้องอนุมัติให้ผู้ประกอบการขึ้นค่าโดยสารอีก 2 บาท โดยการปรับราคาครั้งที่ผ่านมาได้ปรับไปเมื่อราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในช่วงราคา 29-31 บาทต่อลิตรแต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลปรับไปเกิน 33 บาทต่อลิตรแล้ว ทำให้ต้นทุนน้ำมันของการเดินเรือสูงขึ้น กว่าร้อยละ 32 มาแตะที่ระดับร้อยละ 50 แล้ว โดยเบื้องต้นราคาเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือคลองแสนแสบจะขอขึ้นราคาค่าโดยสารระยะละ 2 บาท
ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็อ้างว่าต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ลิตรละ 24 บาทจนขณะนี้มาอยู่ที่ลิตรละกว่า 33 บาททำให้ ขสมก. มีต้นทุนการเดินรถสูงขึ้นกว่าวันละ 2 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนรถร่วมบริการของ ขสมก.ก็มีภาระหนักเช่นเดียวกัน เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าเมื่อราคาน้ำมันขึ้นไปครบ 3 บาทจะต้องอนุมัติให้ผู้ประกอบการขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาท เพราะราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นจากฐานเดิมถึง 6 บาทแต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาอนุมัติให้ผู้ประกอบการปรับราคาไปแค่ 50 สตางค์เท่านั้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ ขสมก.และรถร่วมบริการมีภาระสูงขึ้นทั้งค่าน้ำมันและมีปัญหาการจัดการเกี่ยวกับเศษสตางค์ด้วย
ด้านสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารแห่งประเทศไทย นาง สุจินดา เชิดชัย หรือ “เจ๊เกียว” นายกสมาคมฯก็ออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่า ผู้ประกอบการเอกชนขอขึ้นค่าโดยสารอีก 9 สตางค์ต่อกิโลเมตรเพื่อชดเชยค่าน้ำมันค่าอะไหล่และค่าต้นทุนอื่นที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก
แนะ “รัฐ” เพิ่มเงินให้ประชาชน
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย กล่าวว่า การดูแลราคาสินค้าทุกคนเห็นด้วยแต่ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงโดยเบื้องต้นเห็นว่าควรจะทำ 3-4 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องเพิ่มเงินในมือประชาชนเพราะเมื่อประชาชนมีเงินมากขึ้น ราคาสินค้าขึ้นก็คงไม่มีปัญหา ส่วนการแก้ปัญหาที่แท้จริงรัฐบาลจะต้องยอมใช้เงินของตัวเองเข้ามาแทรกแซง เช่น การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การลดภาษีรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพราะหากช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้ เชื่อว่าสินค้าจะไม่แพงขึ้นมาก
ส่วนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อเพราะรัฐบาลนำเงินตัวเองมาเพิ่มให้กับข้าราชการ แต่หากลูกจ้างจะมีการเรียกร้องขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างด้วยเป็นการเพิ่มกำลังซื้อก็จริง แต่กลับเป็นภาระของผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจให้ดีก่อนดำเนินนโยบาย
ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าภาครัฐจะมีนโยบายอะไรออกมาอีกหรือไม่ เพราะในสภาวะที่ไม่แตกต่างจากคำว่า “ยุคข้าวยากหมากแพง” ประชาชนที่มีรายได้น้อยๆอยู่อย่างไรในเมื่อทุกอย่างรอบตัวขึ้นราคาไปหมด หรือจะให้ประชาชนพึ่งแต่สินค้า “ธงฟ้า” ของภาครัฐเพียงอย่างเดียวประชาชนคงได้แต่รอชะตากรรมของตัวเองไปวันๆเท่านั้นเอง..!
|