กลุ่ม ปตท. รวยเละจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไตรมาสแรกกำไรสุทธิรวมทั้งกลุ่มเฉียด 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 4 พันล้านบาท นำโดยปตท. กำไรสุทธิกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่บางจากฯ พลิกสถานการณ์จากขาดทุนเป็นกำไรสุทธิ 852 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนกว่า 2 พันเปอร์เซ็นต์
จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่าน ล่าสุดได้ทะลุ 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลไปเรียบร้อยแล้ว ได้ส่งผลกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงทั่วโลก แต่กลับเป็นปัจจัยบวกต่อผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานใหญ่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ ผู้จัดการรายวันได้รวบรวมผลการดำเนินงานกลุ่มปตท. ไตรมาส 1/51 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 51 รวมทั้งสิ้น 7 บริษัท พบว่า มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 48,595.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 44,742.47 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3,852.56 ล้านบาท คิดเป็น 8.61% (ตารางประกอบข่าว)
โดยบริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ที่สามารถพลิกสถานการณ์จากการขาดทุนในปีก่อนหน้ามาเป็นกำไรสุทธิที่ 852.81 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 41.90 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 894.71 ล้านบาท คิดเป็น 2135.35%
ขณะที่บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือ PTTAR เป็นบริษัทมีกำไรสุทธิลดลงมากที่สุดถึง 63.40% คือ กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,487.63 ล้านบาท ลดลงจาก 4,065.00 ล้านบาทในปีก่อน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ไตรมาสแรกปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิ 26,132.56 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 9.27 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 22,573.04 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.05 บาท หรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 3,559.52 ล้านบาท คิดเป็น 15.77%
โดยบริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการ 489,889.94 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 7,594.14 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียม 958.98 ล้านบาท ต้นทุนค่าใช้จ่ายและบริการ 454,250.35 ล้านบาท และกำไรขั้นต้น 35,639.59 ล้านบาท
บางจากพลิกสถานการณ์กำไร 852 ล.
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า บริษัทกำไรสุทธิ 852.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 894.71 ล้านบาท คิดเป็น 2135.35% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 41.90 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมี EBITDA 1,559 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 277 ล้านบาท อยู่ 1,282 ล้านบาท
ทั้งนี้ EBITDA ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงกลั่น 1,457 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 86 ล้านบาท โดยไตรมาส 1/51 บริษัทมีค่าการกลั่นรวม 10.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีการใช้กำลังการผลิตที่ 60.6 พันบาร์เรลต่อวัน สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าการกลั่นรวม 2.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 52.3 พันบาร์เรลต่อวัน
นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH กล่าวว่า บริษัทกำไรสุทธิ 5,715.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,040.69 ล้านบาท คิดเป็น 113.69% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 2,674.53 ล้านบาท เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของปริมาณการผลิตและราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP แจ้งว่าบริษัทกำไรสุทธิ 8,904.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,133.35 ล้านบาท คิดเป็น 31.51% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,771.36 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมในไตรมาส 1/51 ที่ 28,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,104 ล้านบาท หรือ 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 21,270 ล้านบาท
สำหรับรายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น 6,556 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 48.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เทียบกับปีก่อนที่ 35.43 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการขายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 182,431 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เทียบกับปริมาณการขายไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 171,170 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
กำไรร่วงหนักสุดกว่า 2.5 พันล้าน
นางนิธิมา เทพวนังกูร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บมจ. ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือ PTTAR กล่าวว่าบริษัทกำไรสุทธิ 1,487.63 ล้านบาท ลดลง 2,577.37 ล้านบาท คิดเป็น 63.40% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/50 ที่ 4,065 ล้านบาท (เป็นการรวมงบของ ATC กับ RRC) โดยบริษัทมี EBITDA ในไตรมาส 1/51 จำนวน 2,760 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,934 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52% เนื่องจาก EBITDA ของธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลง
โดยในไตรมาส 1/51 ราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/50 จากการที่อุปทานในเอเชียตึงตัวเล็กน้อยจากการหยุดเดินเครื่องของโรงงานอะโรเมติกส์ในประเทศและการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานประจำปีในภูมิภาค SE Asia และ North Asia ทำให้กำลังการผลิตเบนซีนและพาราไซลีนลดลง ประกอบกับอุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้นโดยผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย (Polyester, PET และPolystyrene) และผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง(PTA และ Styrene Monomer) ที่ใช้ Paraxylene และ Benzene เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ปรับปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล
นางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานแผนและพัฒนาธุรกิจ บมจ. ไออาร์พีซี หรือ IRPC แจ้งว่ าบริษัทกำไรสุทธิ 1,628.13 ล้านบาท ลดลง 1,129.50 ล้านบาท คิดเป็น 40.96% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 2,757.63 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายและต้นทุนขายในไตรมาส 1/51 จำนวน 61,257.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,707.40 ล้านบาท คิดเป็น 21% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 50,550.39 ล้านบาท และมีต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 11,451.01 ล้านบาท คิดเป็น 24%
นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการอำนวยการ บมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP กล่าวว่า บริษัทกำไรสุทธิ 3,873.97 ล้านบาท ลดลง 2,068.84 ล้านบาท คิดเป็น 34.81% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,942.81 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายรวม 96,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,886 ล้านบาท คิดเป็น 49% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (Integrated Margin) อยู่ที่ 7.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เปรียบเทียบกับ 10.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 1/50 ส่งผลให้มี EBITDA 5,805 ล้านบาท ลดลง 2,567 ล้านบาท
|