Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2546
Waseda Education วิสัยทัศน์ที่ลุ่มลึก             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 


   
search resources

สหพัฒนพิบูล, บมจ.
มหาวิทยาลัยวาเซดะ
Waseda Education Thailand
บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล
Shuichi Takahashi
Education




แม้พื้นที่โดยรวมของห้องเลขที่ 1511-1512 บนชั้นที่ 15 อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ จะดูไม่ยิ่งใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับชื่อเสียง และเกียรติประวัติกว่า 120 ปีของมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสถาบันแห่งนี้ และเล็กน้อยเหลือเกิน หากพิจารณาจากสถานะของเครือสหพัฒน์ ที่เป็นต้นทางของแนวคิด ในการร่วมมือจัดตั้งสถาบันภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ หากแต่วิสัยทัศน์ที่ถูกผลักให้หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว กลับดำเนินไปท่ามกลางมิติที่น่าสนใจยิ่ง

เนื่องเพราะแผนงานในการเปิดบริการด้านการศึกษาของเครือสหพัฒน์ มิได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงข้ามคืน ภายใต้กระแสการขยายตัวทางธุรกิจโรงเรียนนานาชาติของภาคเอกชนที่ดำเนินต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากแต่เป็นกรณีที่มีพัฒนาการและวิสัยทัศน์ เจาะลึกลงไปในกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน

แนวความคิดที่จะสร้างสถาบันการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษา และระดับวิทยาลัยสำหรับบุตรหลานนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามาประกอบสัมมาชีพในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มนักเรียนไทยที่ต้องการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นตามระบบการศึกษาของญี่ปุ่น เป็นแรงผลักดันให้เครือสหพัฒน์กำหนดเป้าหมาย และเตรียมการที่จะลงทุนครั้งใหญ่ในพื้นที่บางส่วนภายในสวนอุตสาหกรรมของเครือสหพัฒน์ ที่ศรีราชา มาตั้งแต่ช่วงปี 2538 แล้ว

"ที่ผ่านมาบุตรหลานของนักธุรกิจญี่ปุ่นที่มาทำงานในประเทศไทย มักต้องส่งบุตรหลานกลับเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมต้น เพราะไม่มีโรงเรียนญี่ปุ่นในประเทศไทยรองรับ ในระดับที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน นักเรียนเหล่านี้ต้องการหลักประกันในมาตรฐานสำหรับการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นเอง" ศ.ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล กรรมการและอาจารย์ใหญ่ สถาบันภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ บอก "ผู้จัดการ"

ช่องว่างในเรื่องบริการด้านการศึกษา ย่อมเป็นโอกาสในการประกอบธุรกิจ แต่สำหรับบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ในฐานะที่เป็นหัวเรือใหญ่ของเครือสหพัฒน์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้ากับประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวความคิดที่จะเปิดโรงเรียน High School ที่มีมาตรฐานแบบญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน ก่อนที่จะสำรวจเตรียมการอย่างจริงจังในช่วงปี 2538 นี่มิใช่เพียง การ diversify เพื่อขยายฐานทางธุรกิจอย่างดาดๆ หากแต่สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของชาติในระยะยาว อีกด้วย

เพราะท่ามกลางการผลักดันให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ชุมชนชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว กลายเป็นประชาคมที่มีขนาดใหญ่และทวีความสำคัญขึ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพลเมืองท้องถิ่น และเฉพาะชุมชนชาวญี่ปุ่นในเขตอำเภอศรีราชาในปัจจุบัน ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 6 ของชาวญี่ปุ่นที่พำนักในประเทศไทยเลยทีเดียว

เครือสหพัฒน์ ได้หารือและศึกษาความเป็นไปได้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยวาเซดะอย่างต่อเนื่อง โดยวาเซดะเองก็มีความมุ่งหมายที่จะขยายตัวเป็นสถาบัน การศึกษาสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย

ซึ่งหากไม่เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 บางทีความร่วมมือของภาคธุรกิจไทยและมหาวิทยาลัยเอกชนจากญี่ปุ่นแห่งนี้ อาจเป็นตัวอย่างของการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากกรณีหนึ่ง

และสังคมการศึกษาไทยอาจมีโอกาสได้ต้อนรับสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติแห่งใหม่ ในท่วงทำนอง ที่อลังการกว่าที่เป็นอยู่นี้

การย่นย่อเป้าหมายให้หดเล็กลงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาทดแทนโครงการขนาดใหญ่ที่เคยกำหนดไว้ .จากเงินลงทุนกว่าพันล้านบาทถูกปรับลดให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เป็นจริงสำหรับโครงการใหม่ ที่กลับมามุ่งเน้นที่กลุ่มเป้าหมายนักเรียนนักศึกษาชาวไทย ที่สนใจ ไปศึกษาต่อยังประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มคนในวัยทำงานที่ต้องการเพิ่มโอกาสในวิชาชีพ ให้สามารถใช้งานภาษาญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแทน

"แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องไม่เปลี่ยนอยู่ที่มาตรฐานของ การเรียนการสอน ซึ่งนอกจากจะมีอาจารย์ชาวญี่ปุ่นจาก มหาวิทยาลัยวาเซดะ มาเป็นผู้สอนแล้ว การลงทุนเกี่ยวกับอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นห้อง sound lab และระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการฝึกทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสาร ก็เป็นไปท่ามกลางมาตรฐานเดียวกันกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยวาเซดะด้วย" Shuichi Takahashi ผู้ประสานงานโครงการและหลักสูตรของ Waseda Education ย้ำ

มาตรฐานและคุณภาพทางการศึกษาที่กล่าวถึงนี้ ย่อมหมายถึงหลักสูตร Intensive Japanese Language Program ซึ่งนักศึกษาชาวต่างประเทศส่วนใหญ่จำเป็นต้องเรียนเพื่อเป็นการปูพื้นฐานด้านภาษา ก่อนที่จะเข้าเรียนในสาขาวิชาอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยในลำดับต่อไป

ข้อได้เปรียบประการสำคัญของสถาบันภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ อยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการ เดินทางไปเรียนภาษาในประเทศญี่ปุ่นกว่า 5-6 เท่า แม้ว่าในปัจจุบัน ค่าเรียนในหลักสูตรแบบเต็มเวลา ที่ต้องใช้เวลารวม 1 ปี จะอยู่ในระดับ 200,000 บาทต่อหลักสูตรก็ตาม

ขณะที่ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา ที่ระบุว่าต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือ 6 และมีผลการเรียน (GPA) ในระดับ 3.0 ขึ้นไป เป็นประหนึ่งข้อบ่งชี้ในเรื่องกลุ่มเป้าหมายของสถาบันแห่งนี้อย่างชัดเจน

"ผู้ที่เข้ามาเรียนในสถาบันฯ ส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว บริการที่สถาบันฯ จัดเตรียมให้จึงมิได้อยู่ที่การเรียนการสอนด้านภาษาเท่านั้น หากยังให้บริการด้านการแนะแนวการศึกษา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นที่มหาวิทยาลัยวาเซดะเท่านั้น แต่พิจารณาจากสาขาวิชาที่นักเรียนแต่ละรายสนใจ รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทุนการศึกษาด้วย"

นอกจากการจัดหลักสูตร Pre-University Japanese Studies Program ซึ่งเป็นหลักสูตรเข้มข้น 1-2 ปี สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นในพื้นที่ของสถาบันฯ บนชั้นที่ 15 อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์แล้ว หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน สำหรับบุคลากรในวัยทำงาน ที่เปิดสอนในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม เครือสหพัฒน์ ศรีราชา ก็เป็นการสานต่อเป้าหมายดั้งเดิมที่จะให้บริการด้านการศึกษาในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้อีกทางหนึ่ง

ความแตกต่างอย่างสำคัญอีกประการหนึ่งของสถาบันภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันสอนภาษาแห่งอื่นๆ อยู่ที่หลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันแห่งนี้ มิได้จำกัดบทบาทอยู่เพียงการพัฒนาขีดความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาญี่ปุ่นเพื่อการนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

หากยังผนวกวิชาว่าด้วย ญี่ปุ่นศึกษา เพื่อขยายความเข้าใจเกี่ยวกับระบบวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินชีวิตแบบญี่ปุ่น ซึ่งย่อมเป็นการส่งผ่านรูปแบบของพฤติกรรมและคุณค่าทางสังคมแบบญี่ปุ่นที่ทรงพลานุภาพยิ่ง

แม้ว่า "ลมตะวันออก" ที่พัดแรงในห้วงหลายปีที่ผ่านมา จะได้รับการกำหนดนิยามในลักษณะที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่กระแส "จีนศึกษา" หรือแม้กระทั่งความพยายามที่จะบัญญัติให้ยุคสมัยปัจจุบันเป็นประหนึ่ง "จีนาภิวัตน์" ที่ติดตามมาด้วยความนิยมในการเรียนภาษาจีนอย่างกว้างขวางก็ตาม

แต่คงเป็นกรณีที่ปฏิเสธได้ยากว่า บทบาทและสถานะของญี่ปุ่นในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมไทย ยังดำเนินไปอย่างโดดเด่น อีกทั้งภายใต้บริบทของ "โลกาภิวัตน์" ที่มิได้มีความหมายตีบแคบเฉพาะเพียงเรื่องราวของการเคลื่อนย้ายเงินทุนหรือแรงงาน หากยังขยายไปสู่การไหลเทของมิติทางวัฒนธรรมนั้น ดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นยังดำรงสถานะเป็น "ผู้ส่งออก" ที่อุดมไปด้วยยุทธศาสตร์ และกุศโลบายแยบคายที่สุดรายหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

และท่ามกลางกระแสธารของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่หลั่งไหลแทรกซึมไปทั่วทุกอณูของสังคมไทย การปรากฏตัวขึ้นของสถาบันภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ กำลังเป็นอีกกลไกหนึ่งที่เชื่อมประสานทัศนะของผู้คน จากดินแดนที่ห่างไกลให้เบียดใกล้เข้ามาอย่างน่าสนใจติดตามยิ่ง

อยู่ที่ว่าวิสัยทัศน์ของ Waseda Education Thailand ในฐานะผู้ดำเนินการสถาบันภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแห่งนี้ จะมีความลุ่มลึกและหยั่งรากเข้าสู่การรับรู้ของสังคมไทยในระดับใด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us