|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ค่าเงินบาทร่วงแตะ 32.22 บาทต่อดอลล์ อ่อนสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง หลังหลุดแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 32.00 แบงก์ชาติชี้เป็นไปตามทิศทางค่าเงินภูมิภาค และบริษัทน้ำมันที่เร่งซื้อน้ำมันเข้ามามาก ระบุไม่น่าตกใจยันปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจยังดีอยู่ พร้อมจับตาเงินทุนไหลออกหลังมีเงินไหลเข้าช่วงยกเลิกมาตรการ 30% ด้านแบงก์ชี้บาทอ่อนเหตุนักลงทุนคาดกนง.-เฟดคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่จะถึงนี้
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อวานนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก โดยปัจจัยแรกเป็นไปตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้านี้ในภูมิภาคได้อ่อนค่าไปก่อนหน้าเราแล้วทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ จึงไม่อยากให้ดูเงินบาทแค่วันใดวันหนึ่ง ปัจจัยที่สอง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10-20 เหรียญในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทน้ำมันเริ่มมีการสั่งซื้อกันมากขึ้น
ปัจจัยสุดท้าย คือ หลังจากที่ธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศมีนักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และตลาดทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ถือว่าไม่มากนักต่างกับช่วงก่อนหน้าที่มีเงินทุนไหลเข้ามามากกว่านี้ เพราะนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยต่างคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยน่าจะลดลงตามทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัว จึงอาจจะทำให้มีเงินไหลออกไปบ้าง
"ขณะนี้เงินบาทเริ่มอ่อนลงไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว เพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังดีอยู่ ซึ่งต่างชาติเองก็ยังคงมองว่าเศรษฐกิจแถบเอเชียยังดีอยู่ แม้อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะเร่งตัวสูง แต่ประเทศอื่นๆ ก็สูงไปด้วย จึงไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน และคนในประเทศก็มีการปรับพฤติกรรมการบริโภคน้ำมันและอาหารแพงได้ดีมาก จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ค่าเงินบาทมีทั้งอ่อนและแข็งค่าช่วยให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าหาจังหวะในการทำธุรกิจที่ดีได้ เพราะขณะนี้มีทั้งเงินเข้ามาขายและซื้อเงินดอลลาร์กลับไป ถือเป็นพัฒนาการที่ดี”
ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้ห่วงเรื่องเงินทุนไหลเข้า-ออก ซึ่งหลังจากยกเลิกมาตรการกันสำรองก็ได้มีการติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาตลอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีเงินทุนไหลออกบ้าง จากก่อนหน้านี้มีเงินไหลเข้ามามากในทิศทางเดียว จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ธปท.ต้องมีมาตรการอะไรออกมาดูแลในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างก็ปรับตัวเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งธปท.จะดูแลเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดความผันผวนมากเกินไป
ด้านนักค้าเงินธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้(12 พ.ค.) ค่อนข้างอ่อนค่า โดยเกิดจากกองทุนต่างชาติเริ่มเข้ามาไล่ช้อนซื้อเงินดอลลาร์กลับประเทศมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าของวานนี้ อีกทั้งหลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตจะไม่ชะลอไปกว่านี้แล้ว และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจจะหยุดพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว ทำให้มีการหันมาซื้อดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าเริ่มมีการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันจากต่างประเทศ ส่วนผู้ส่งออกจะมีการขายไม่เยอะเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้คาดว่ายังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและมีการเคลื่อนไหวของค่าเงินมีโอกาสแตะที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทวานนี้ น่าจะมาจากการคาดการณ์ว่าธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่ทางนักลงทุนต่างชาติก็พักรบหลังจากประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อรอดูผลของการลดดอกเบี้ยครั้งก่อนๆ และมาตรการทางการคลังทั้งด้านการคืนภาษีและมาตรการจูงใจในการลงทุน
"แต่จากการสำรวจแล้วพบว่ามาตรการการคลังที่ออกมาคงไม่ค่อยเวิร์ค ประเมินว่านักลงทุนจะลงทุนเพิ่มจากมาตรการของรัฐไม่ถึง 20% ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าการอุปโภคบริโภคจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ทำให้คาดว่าเฟดน่าจะมีการปรับลดอัตราลงอีกครั้งในปีนี้"
สำหรับปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังคงไม่นิ่งนั้น ก็คงจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่กดดันค่าเงินบาทอยู่ แต่ก็เป็นส่วนน้อย นักลงทุนน่าจะติดตามปัจจัยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยทั้งในและนอกประเทศอยู่ รวมถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะแคบลงเนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง ขณะที่การนำเข้าเริ่มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการอ่อนค่าลงของเงินบาท น่าจะเป็นในระยะสั้นๆ เนื่องจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐฯยังไม่คลี่คลายมากนัก ทำให้แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวยังคงอ่อนค่าอยู่
บาทร่วงอ่อนสุดรอบ2เดือนครึ่ง
นักค้าเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (12 พ.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 32.17-32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเช้าเปิดตลาดที่ 32.08 -32.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 32.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการเก็งกำไร ทำให้มีการเทขายออกมา ส่วนค่าเงินในภูมิภาคแม้จะอยู่ในทิศทางเดียวกับเงินบาท แต่ยังถือว่าแข็งค่ากว่าค่าเงินบาท ส่วนกรอบค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 32.10-32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เงินบาทร่วงลงอย่างหนักหลังตลาดในประเทศเปิดทำการ และแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งใกล้ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเช้าของวันดังกล่าวนั้น ได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อคืนเงินดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนหลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ก่อนหน้า และจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่านักลงทุนจะยังไม่แน่ใจนักว่า วัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ยุติลงแล้วหรือไม่
ท่ามกลางการฟื้นตัวขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทร่วงลงผ่านแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 32.00 เข้าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ระดับประมาณ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นที่คาดว่าผู้นำเข้าโดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน ได้ส่งคำสั่งซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันในช่วง 6 วันทำการก่อนหน้า รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วยังได้กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตัดขาดทุนอีกด้วย
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค เนื่องจากการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าตลาด NYMEX ปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 30 ในปีนี้ กำลังส่งผลกดดันฐานะดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย
ทั้งนี้ประเด็นที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะถัดไป ประกอบด้วย ความมั่นใจในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังคงอาจจะผันผวนตามข่าวดีหรือร้ายในภาคการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดจนฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วงที่เหลือของปี ที่อาจฟื้นตัวขึ้นตามฐานะดุลการค้าและดุลบริการจากปัจจัยทางฤดูกาล
|
|
 |
|
|