"ผมเคยฝัน และคิดว่าความฝันนั้นจะเป็นจริง
คือในอนาคตต่อไป ผู้ใช้บริการของเรา จะเป็น 1 คน 1 บัญชี
คือมี 1 บัญชีพอ ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้หรือเงินฝาก ใช้เบอร์บัญชีเดียวกัน
หากวันนี้เอาเงินออกไปมาก ก็เป็นเงินกู้
ถ้าเอาเงินมาเข้าก็เป็นเงินฝาก"
ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก
ทำให้สิ่งที่วิโรจน์เคยฝันเอาไว้ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม
โดยเฉพาะที่ธนาคารกรุงไทย
ปีนี้เป็นปีที่ธนาคารกรุงไทยทุ่มงบประมาณจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา
ระบบเทคโนโลยี
ธนาคารกำลังมีโครงการย้ายศูนย์คอมพิวเตอร์ที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ และถนนศรีอยุธยาออกไป
โดยจะก่อสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น 3 แห่ง กระจายไปตามย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ
เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วย backup ให้กันและกัน
นอกจากนี้ ธนาคารกำลังพัฒนาเพื่อนำระบบ Core Banking System : CBS เข้ามาใช้กับงานในธนาคาร
"งบประมาณที่เราจะใช้ครั้งนี้ตกประมาณ 4,000 ล้านบาท" ฉายฉาน กังวานพงศ์
รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาระบบเทคโนโลยีของธนาคารกรุงไทยบอก
CBS คือเทคโนโลยีที่จะใช้เชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และข้อมูลที่เคยกระจัด
กระจายอยู่ตามฝ่ายงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และให้สามารถทำงานร่วมกันได้ในระบบ
real time
ข้อมูลที่จะถูกนำมาจัดให้เป็นระบบใหม่ จะช่วยให้ฝ่ายการตลาดสามารถสร้างสรรค์
ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ได้อย่างใกล้ชิด
ธนาคารกรุงไทย กำลังจะพัฒนาบทบาทของธนาคาร จากที่เป็นเพียงผู้รับเงินฝาก
ปล่อยเงินกู้ให้เป็นเสมือนที่ปรึกษาของลูกค้าในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงิน
โดยอาศัยฐานข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่
"ลูกค้าสามารถมาขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารได้ตลอดเวลาว่า เขากำลังต้องการอะไร
และธนาคารจะสามารถช่วยเขาตรงไหน ซึ่งธนาคารก็จะอาศัยฐานข้อมูลนี้ในการให้คำแนะนำ
เช่น ลูกค้าบอกต้องการจะทำประกัน เราก็จะดูในไฟล์ว่าลูกค้าคนนี้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนแต่ละเดือนอย่างไร
แล้วเราก็จะเลือกกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับภาระค่าใช้จ่ายให้กับเขา"
ซึ่งบทบาทนี้ ต่อไปจะขยายไปถึงการที่จะกำหนดให้ลูกค้า 1 คน มีบัญชีกับ
ธนาคารเพียง 1 บัญชีก็เพียงพอ
การลดจำนวนบัญชีลงมา จะมีผลต่อต้นทุนของธนาคารที่จะลดลง และการจัดการภายใน
จะทำได้สะดวกมากขึ้น
"ต่อไปถ้ามีบัญชีเดียว หากลูกค้านำเงินมาฝากเป็นรายวัน เราก็จะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตรา
call money rate หรือถ้าฝากเกิน 7 วัน เราก็ให้ saving rate พอฝากถึง 1 เดือน
เราก็ให้ monthly rate เราก็ทำอย่างนี้ไล่ขึ้นไปจนถึงปี ถ้าเงินยังทิ้งไว้
แล้วเราจะมีกระบวนการจัดการที่แฟร์ว่าเงินก้อนไหนเขาเข้ามาแล้วแช่กี่วัน
หรือเอาเข้าๆ ออกๆ เราจะจัดกระบวนการ ให้ลูกค้ารู้สึกว่าเรายุติธรรมกับเขา
ในการจัดการเรื่องบัญชีเหล่านี้ เพราะฉะนั้นลูกค้า จะสบายใจได้ว่าเมื่อเอาเงินเข้า-ออกบัญชีนี้
แล้วเดี๋ยวแบงก์จะตัดไปจ่ายเป็นค่าผ่อนบ้าน เอง ตัดไปจ่ายโอดีเอง พูดง่ายๆ
คือเราจะทำหน้าที่ cash management ให้" วิโรจน์ อธิบายคอนเซ็ปต์
ระบบ CBS ของธนาคารกรุงไทย ได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Profile ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทซาสเชส
จากสหรัฐอเมริกา การลงทุนเฉพาะในส่วนนี้ คิดเป็นเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท
ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ในสำนักงานใหญ่และสาขา
ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จะเริ่มทดลองระบบโดยการเดินคู่ขนานไปกับระบบปัจจุบัน
ก่อนที่จะเริ่มใช้อย่างจริงจังประมาณปลายปี