|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ราคาน้ำมันแพงทำกระแสพลังงานหมุนเวียนเดินหน้าต่อเนื่อง น่าสนใจยกแผงทั้งกลุ่มพืชทำไบโอดีเซล-เอทานอล-พลังงานแสงอาทิตย์ บล.นครหลวงไทย มองมีผลผลิตออกมาต่อเนื่อง ได้พลังงานสะอาด ทำให้ความมั่นคงในระยะยาว
จากแนวโน้มพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มสัดส่วนขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบยังคงยืนเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลอย่างแข็งแกร่ง ทำให้พืช 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ,ถั่วเหลือง ,ข้าวโพด และอ้อย ได้ประโยชน์จากราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการเอทานอลในประเทศผลประกอบการก็จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ประกอบการเกี่ยวกับเซลล์แสงอาทิตย์ธุรกิจต้นน้ำ และ บางจาก ปิโตรเลียม ก็ได้อานิสงค์จากการปรับรับกระแสมาใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน
บริษัทหลักทรัพย์(บล.)นครหลวงไทย มองว่า กระแสการใช้พลังงานหมุนเวียนในส่วนของไบโอดีเซลนี้ ซึ่งยุคแรกยังคงใช้วัตถุดิบจากวัตถุดิบเมล็ด รวมถึงผลพืชที่ให้น้ำมันหรือความหวานจะส่งผลบวกต่อกลุ่ม ผู้ผลิตปาล์ม คือ บมจ. สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (UPOIC), บมจ.ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม (UVAN), บมจ.ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (CPI) ส่วนน้ำมันถั่วเหลือง คือ บมจ.น้ำมันพืชไทย (TVO) นอกจากนี้ยังมี ข้าวโพด และ อ้อย ซึ่งในระยะสั้นและระยะกลางเชื่อว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นจากการนำไปใช้ ในการผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลได้
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การพัฒนาไบโอดีเซลเข้าสู่ยุคที่ 2 ซึ่งสามารถใช้ผลผลิตจากส่วนของพืช ชนิดอื่นได้ อาทิ เซลลูโลส จึงคาดว่าจะทำให้แรงกดดันด้านความต้องการนำไปผลิตไบโอดีเซลต่อพืชให้น้ำมันที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเหล่านี้ลดลง
ขณะที่ ผู้ประกอบการซึ่งเกี่ยวข้องกับเอทานอลซึ่งน่าสนใจก็มี บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) และ บมจ. ลานนา รีซอสเซส(LANNA)โดยประเมินว่าผลงานจะดีขึ้นต่อเนื่องจากนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยการลดภาษีให้รถยนต์ที่สามารถ ใช้น้ำมัน E20 บวกกับความเชื่อมั่นและการยอมรับแก๊สโซฮอล์ที่สูงโดดเด่นขึ้นในปีนี้ ทำให้คาดว่าสถานการณ์การผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนผู้ประกอบการเซลล์แสงอาทิตย์ จากความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์โลก ทำให้คาดแนวโน้มความ ตึงตัวของธุรกิจต้นน้ำ(ซิลิคอนถึงเซลล์แสงอาทิตย์) ยังคงสูง ทำให้ประเมินว่า อำนาจต่อรองและอัตรากำไรในกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ ยังคงสูง ขณะที่ธุรกิจปลายน้ำ (ตั้งแต่ผลิตแผงเซลล์) จะยังมีแรงกดดันด้านต้นทุน
ดังนั้น จึงคาดว่า บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม (AKR) จะได้ดีจากเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการผลักต้นทุนเพื่อเพิ่มอัตรากำไรได้ ขณะที่ บมจ. โซลาร์ตรอน (SOLAR) โรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันด้านต้นทุนในส่วนของธุรกิจผลิตแผงเซลล์
ด้าน บมจ.บางจากปิโตเลียม (BCP) ซึ่งมีการชูกลยุทธ์ผู้นำในการค้าไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ทำให้ชิงส่วนแบ่งการตลาดในตลาดค้าปลีกเพิ่มเป็น 12.5% และครองส่วนตลาดในผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล ได้สูงถึง 76.8% ส่วนต่างจากค่าการตลาด ของน้ำมันก๊าซโซฮอล์และไบโอดีเซลที่ดีกว่าน้ำมันปกติ ทำให้ธุรกิจการตลาดของ BCP มีความสามารถในการต้านทานการแข่งขันที่รุนแรงดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งมองว่าเป็นการดำเนินกลยุทธ์ที่ถูกทาง ทิศทางธุรกิจของ BCP น่าจะสดใสในปี 2552 จากทั้งโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน และจากส่วนแบ่งการตลาด ที่ดีขึ้นในธุรกิจสถานีน้ำมัน
ทั้งนี้ พลังงานหมุนเวียนจะได้เปรียบพลังงานทดแทนจำพวกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในอนาคต เนื่องมาจากมีข้อได้เปรียบในเรื่อง ความมั่นคงในระยะยาวในการใช้พลังงาน, ความจำเป็นที่ต้องมีพลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะผลกระทบจากโลกร้อน และ ข้อจำกัดเรื่องต้นทุนจากพลังงานในปัจจุบันที่สูงขึ้นจะทำให้ความแตกต่างด้านต้นทุนพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียนเริ่มลดลง
โดยคาดว่าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และสินค้าเกษตรจะมีข้อได้เปรียบจากการเป็นพลังงานและวัตถุดิบที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา รวมถึงแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงในอนาคต ในขณะที่พลังงานทดแทนจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถผลิตขึ้นใหม่ได้
สำหรับพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยนั้น มีความชัดเจนด้านการขนส่ง เพราะรัฐบาลมีนโยบายบังคับและสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มจาก B2 เป็น B5 แต่จะผ่อนคลายหลังปี 2555 จากการขยายพื้นที่การเพาะปลูก
ขณะที่เอทานอลจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากการยอมรับการใช้แก๊สโซฮอล์และการเปลี่ยนรุ่น รถเป็นรถ E20 ทั้งนี้ บล.นครหลวงไทย ประเมินว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตเอทานอลได้จากความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีความต้องการรองรับ สำหรับการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาครัฐมีนโยบายกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืนที่มีส่วนเพิ่มให้ผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเติบโตน้อยกว่าภาคขนส่ง
|
|
|
|
|