2 ปีที่วิโรจน์ นวลแข เข้ามาอยู่ในธนาคารกรุงไทย
เขากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนเก่าๆไม่เคยคิดว่าจะทำได้
หรือแม้แค่มีความคิดว่าจะทำมาก่อน
คนที่เคยประเมินวิโรจน์ นวลแข ไว้เมื่อคราวที่เขาได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงไทย เมื่อ 2 ปีก่อน ว่าเป็นเพียงการเข้ามาเพื่อทำ ตามใบสั่งของรัฐบาล
เนื่องจากสายสัมพันธ์ อันดีที่เขามีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น มาถึงวันนี้
น่าจะได้ข้อสรุปแล้วว่าสิ่งที่เคยคิดเคย ประเมินไว้นั้น ผิดโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่วิโรจน์ได้กระทำกับธนาคารกรุงไทยนั้น ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าจะเรียกแค่ว่าปรับปรุงการบริหารงานของธนาคารธรรมดา
เขากำลังสร้างบุคลิกใหม่ให้กับธนาคารกรุงไทย ให้กลายเป็นผู้นำในระบบ ธนาคารพาณิชย์ที่แท้จริง
"มันเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม วิธีการทำงาน ระบบ ระเบียบทุกอย่างที่ล้าหลัง
แล้วสร้างบุคลิกใหม่ แนวคิดการทำงานใหม่ๆ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ธนาคารแห่งนี้สามารถก้าวเดินไปข้างหน้า
ด้วยความเป็นผู้นำได้อย่างยั่งยืน" เป็นข้อสรุปที่วิโรจน์บอกกับ "ผู้จัดการ"
ถึงสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอด 2 ปี
ฐานะของธนาคารกรุงไทย ในช่วงที่วิโรจน์เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ นั้น ไม่ถึงขั้นย่ำแย่
เพราะเพิ่งโอนหนี้เสียก้อนใหญกว่า 5 แสนล้านบาท ไปไว้ยังบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท
สินทรัพย์ของธนาคารขณะนั้นมีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยมีเงินกองทุน อยู่
5 หมื่นล้านบาทเศษ
ภารกิจหลักของเขา จึงไม่ใช่การเข้าไปแก้ไขฐานะการเงินของธนาคาร แต่เข้าไปเพื่อกำหนดทิศทางเดินที่ถูกต้องของธนาคารซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ
2 ของประเทศแห่งนี้มิให้เข้ารกเข้าพง
วิโรจน์ไม่ได้คิดเหมือนกับหลายคนที่เคยมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยในอดีต
ที่มองว่าธนาคารแห่งนี้คือรัฐวิสาหกิจที่ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล และการรับตำแหน่งนั้นมีวาระ
จึงไม่ดิ้นรนที่จะวางรากฐานใดๆ ไว้ให้กับธนาคารแห่งนี้
แต่วิโรจน์ตั้งใจเข้ามาเป็นเบอร์ 1 ที่นี่ ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ธนาคารแห่งนี้สามารถดำรงสภาพการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่แท้จริง
สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดได้ แม้ว่าจะมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่การทำงานทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบที่ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่มีการบริหารงานเป็นแบบมืออาชีพพึงปฏิบัติ
บุคลิกของวิโรจน์ เขามีความเป็นตัวของตัวเอง และมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
เขาพยายามทลายสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธนาคาร ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความแข็งแกร่งในจุดที่คิดว่าต้องเป็นจุดขายของธนาคารในอนาคต
ความพยายามในการปรับเปลี่ยนธนาคารกรุงไทย วิโรจน์พยายามทำให้เป็นลำดับขั้น
สิ่งแรกเลยที่เขาทำ คือการปลุกเร้า รวมพลัง สร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน
จุดอ่อนของธนาคารกรุงไทยขณะนั้น คือการเป็นธนาคารที่รวมเอาคนที่เคยอยู่ในธนาคารอื่นๆ
ที่ถูกรัฐบาลสั่งปิดกิจการไปแล้วมาอยู่ด้วยกัน ละการบริหารงานขาดความ ต่อเนื่อง
เพราะตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ในอดีต มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยตามวาระ
"แบงก์กรุงไทยที่ผ่านมา มีสภาพเหมือนคนหัวขาด" เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบ
"ผมพยายามบอกตลอดว่าให้เลิกคิดได้แล้วว่าคนนั้นมาจากธนาคารสยาม คนนั้นมาจากบีบีซี
คนนี้มาจากแบงก์มหานคร เพราะตอนนี้เราอยู่ด้วยกันที่นี่ ที่แบงก์กรุงไทย
เพราะฉะนั้นเราคือคนกรุงไทย"
หลังจากนั้น เขาได้รื้อกฎระเบียบทุกอย่างที่ล้าหลัง
"สัปดาห์แรกที่ผมเข้ามาทำงาน ผม ออกเป็นนโยบายเลยว่าในวันศุกร์ขอให้แต่งตัวตามสบายมาทำงาน
เพื่อให้พนักงานของธนาคารมีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น"
รวมทั้งการลดต้นทุน โดยตัดธุรกิจปลีกย่อยที่ธนาคารเคยทำมา แต่ไม่สามารถสร้างรายได้
และหันมาเน้นลงไปยังการทำธุรกิจหลัก คือการรับเงินฝาก ปล่อยสินเชื่อ และสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม
เป็นสิ่งที่เขาทำเป็นหลักในปีแรกของการเข้ารับตำแหน่ง
ปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่ 2 การเปลี่ยนแปลงในธนาคารกรุงไทยที่เขาได้ปูพื้นไว้
เริ่มมองเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในด้านของฐานะการดำเนินงาน เขาได้สร้างปรากฏการณ์ซึ่งที่ฮือฮาอย่างมาก
ด้วยการประกาศลดทุนจดทะเบียนของธนาคารลง ด้วยการลดราคาพาร์หุ้นจากหุ้นละ
10 บาท เหลือเพียง 5.15 บาท
ก่อนหน้านั้นทุนจดทะเบียนของธนาคารกรุงไทยมีอยู่ 1 แสนล้านบาท เมื่อลดราคาพาร์ลงไปแล้ว
ทุนจดทะเบียนจะเหลือ 57,664 ล้านบาท แต่ตัวเลขทางบัญชีของทุนที่ลดไป เมื่อนำไปรวมกับเงินสำรองแล้ว
สามารถตัดขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 76,988 ล้าน บาท ลงเหลือเพียง 84 ล้านบาท ทำให้ฐานเงินทุนของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นอย่างทันตาเห็น
เมื่อฐานเงินทุนแข็งแกร่ง สิ่งที่วิโรจน์มองเป็นหลักไมล์ต่อไป คือการรุกทางธุรกิจ
ด้วยการปล่อยสินเชื่อ
แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้น จะต้องมีการวางระบบป้องกันความเสี่ยงให้รัดกุมเสียก่อน
กิตติยา โตธนะเกษม รองกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบงานบริหารความเสี่ยง เล่าว่า
ระบบการบริหารเพื่อป้องกันความเสี่ยงถูกให้ความสำคัญมากในยุคนี้ โดยเฉพาะกระบวนการและขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
ระบบการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยในยุคก่อนที่วิโรจน์จะเข้ามา ไม่แตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ
โดยผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้จัดการสาขาขึ้นไป มีอำนาจลงชื่ออนุมัติสินเชื่อได้
โดยวงเงินจะเพิ่มสูงขึ้นไปตามตำแหน่ง
แต่ระบบใหม่ ใช้การพิจารณาสินเชื่อร่วมกันเป็นทีม 3 คน และทั้ง 3 คนต้องเห็นพ้องต้องกัน
ไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่ง จะสามารถลงชื่ออนุมัติได้เพียงคนเดียวเหมือน ในอดีต
ระบบนี้กำหนดไว้ว่าวงเงินขั้นต่ำสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ต้องมีผู้จัดการสาขาตั้งแต่
2 คนขึ้นไป รวมกับผู้จัดการเขต 1 คน จึงจะอนุมัติได้ ส่วนวงเงินที่สูงขึ้นไป
ก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการตามลำดับขั้น
"คือเราไม่ใช้ individual decision เราต้องใช้ group decision กระบวนการทั้งหมดที่เปลี่ยนก็คืออะไรก็ตามที่ต้องกระทบกระเทือนต่อฐานะเงินทุน
หรือกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงของธนาคาร ขอให้ใช้ระบบคณะบุคคลในการพิจารณา"
เป็นนโยบายที่วิโรจน์ให้ไว้อย่างแจ่มชัด
การนำระบบนี้มาใช้ อาจดูเหมือนเป็นการเพิ่มขั้นตอนการทำงาน ทำให้ระยะเวลาการพิจารณาคำขอสินเชื่อต้องกินเวลานานขึ้น
แต่จากเทคโนโลยีใหม่ที่ธนาคารได้เริ่มปรับเปลี่ยน ปรากฏว่าการพิจารณาสินเชื่อใช้เวลารวดเร็ว
ไม่แพ้ระบบเดิมที่ขั้นตอนการพิจารณาก่อนจะอนุมัติอยู่ที่คนเพียงคนเดียว
กิตติยาเล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธนาคารกำลังนำซอฟต์แวร์ใหม่เข้ามาใช้กับงานบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะ
ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ได้ประมาณปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้การควบคุมความเสี่ยงของธนาคารมีความรัดกุมขึ้น
ช่วงครึ่งหลังของปี 2545 ธนาคารกรุงไทยเริ่มรุกด้านการปล่อยสินเชื่อเข้าไปในระบบ
ด้วยการออกโครงการสินเชื่อเพื่อ refinance เงินกู้ให้กับกลุ่มคน หรือกิจการที่เป็น
NPL
"เรามองว่าในหน่วยเศรษฐกิจใหญ่นั้น ไม่มีใครหรอกที่อยากจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างต่อเนื่อง
แล้วเจ้าหนี้เองก็ไม่อยากจะมีลูกหนี้ที่ต้องพัวพันกันไปไม่รู้จบ" วิโรจน์บอกเหตุผลของการออกโครงการนี้
สินเชื่อเพื่อ refinance เงินกู้ให้กับ NPL ของธนาคารกรุงไทยได้รับความนิยมอย่างมาก
ส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อรวมของธนาคารในปี 2545 เพิ่มสูงขึ้นถึง 14% คิดเป็นเม็ดเงินใหม่ที่ปล่อยเข้าไปสู่ระบบโดยรวมประมาณ
1.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนั้น
"ปี 2545 สินเชื่อในระบบเฉพาะในส่วนของแบงก์ใหญ่ 5 อันดับแรก โตประมาณ
3% ในจำนวนนี้ ถ้าไม่นับรวมเม็ดเงินที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ใหม่เข้าไป สินเชื่อทั้งระบบจะไม่โตเลย"
พงศธร สิริโยธิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เปรียบเทียบให้เห็นภาพ
ความสนใจมาใช้บริการสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย ยังคงมีต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี
2546 โดยในช่วงนี้ธนาคารยังสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ออกไปได้อีกถึง 3.8 หมื่นล้านบาท
พงศธรบอกว่าปี 2545 ถือเป็นปีแห่งการ turn around ของธนาคารกรุงไทย ดูได้จากผลการดำเนินงานซึ่งมีรายได้รวม
48,096.44 ล้านบาท และมีกำไร 8,009.16 ล้าน บาท โดยกำไรที่ได้รับเป็นกำไรจากการดำเนินงานที่แท้จริง
มิใช่กำไรทางบัญชีเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากการที่ธนาคารกล้าประกาศลดพาร์
เพื่อตัดยอดขาดทุนสะสม ก่อนที่จะรุกตลาดสินเชื่อใหม่ๆ
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี 2545 ว่าไปแล้ว ยังไม่โดดเด่นเท่ากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับธนาคารกรุงไทยในปี
2546
ปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของวิโรจน์ในธนาคารกรุงไทย เขาต้องเผชิญกับแรงบีบหลายประการ
ทำให้เขาต้องเร่งทำงานที่เขาตั้งใจเอาไว้ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว
แรงบีบสำคัญที่สุดคือเรื่องสัญญาว่าจ้าง ซึ่งกำหนดอายุงานของเขาไว้เพียง
3 ปี เขาจึงมีเวลาเหลือสำหรับการทำงานในธนาคารกรุงไทยตามสัญญาเดิมอีกเพียงไม่ถึง
1 ปีเท่านั้น
งานที่เขาตั้งใจไว้ว่าจะต้องสร้างให้เสร็จในปีนี้ คือการวางรากฐานสำหรับอนาคตให้กับธนาคารแห่งนี้
รากฐานที่เขามองคือเรื่องของคน เทคโนโลยี และธุรกิจ
ในเรื่องของคน ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีพนักงานอยู่รวมกันทั้งสิ้น 14,976
คน อายุเฉลี่ยของพนักงานทุกคนอยู่ที่ 41 ปี
"กรุงไทยไม่ได้รับคนเพิ่มมา 6-7 ปีแล้ว ฉะนั้นการที่เรามีอายุเฉลี่ยของพนักงานที่
41 ปีนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดี เพราะหมายความว่าในจำนวนพนักงานที่มีอยู่ปัจจุบัน
อีก 10 ปีข้างหน้า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องเกษียณอายุออกไป ฉะนั้นในเวลานี้เราจะต้องเพิ่มคนใหม่เข้ามา
เป็นคนที่มีความหนุ่มสาว และเฉลียวฉลาดกว่าพวกเรา เก่งกว่าพวกเรา แล้วก็มีความคิดก้าวหน้ากว่าพวกเรา
คนใหม่กลุ่มนี้เราจะฝึกฝนเขาอย่างหนักเพื่อให้สามารถ ทำธุรกิจธนาคารได้อย่างเป็นมืออาชีพ"
เป็นแผนการที่วิโรจน์วางไว้
"ที่สำคัญคือคนกลุ่มใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามานี้ จะถือเป็นเลือดใหม่ที่จะมาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับธนาคารกรุงไทย
ให้เป็นแบบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ของเอกชน คือเป็นวัฒนธรรมของการเป็นผู้นำ
การแข่งขัน และการเรียนรู้"
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้ลงโฆษณาประกาศรับสมัครงานเป็นครั้งแรก
ในรอบหลายปี เน้นกลุ่มคนที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาใหม่ๆ โดยกำหนดให้ผู้ที่สนใจสมัคร
จะต้องกรอกรายละเอียดประวัติ ผ่านทางแบบฟอร์มที่อยู่ในเว็บไซต์ของธนาคารเท่านั้น
มีผู้สนใจกรอกใบสมัครเข้ามากว่า 3,000 คน ธนาคารได้ขอความร่วมมือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งมาช่วยออกข้อสอบข้อเขียนเพื่อกรองก่อนในขั้นแรก
ส่วนคนที่สอบผ่าน ผู้บริหารธนาคารที่มีอยู่ประมาณ 30 คน จะช่วยกันเป็นคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์
วิโรจน์ได้ลงมาร่วมสัมภาษณ์ผู้สมัครงานใหม่ทุกคนด้วยตัวเอง
จากผู้สมัคร 3,000 คน ธนาคารคัดมาเหลือเพียง 70 คน
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา พนักงานใหม่ทั้ง 70 คนนี้ได้เริ่มต้นทำงาน
กับธนาคารกรุงไทย ในตำแหน่ง Manage-ment Trainee และทั้ง 70 คน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการฝึกอบรมในห้องเรียน
และดูงาน ซึ่งธนาคารได้กำหนดหัวข้อใหญ่สำหรับใช้ในการฝึกอบรมไว้ 5 หัวข้อ
ได้แก่ 1-รอบรู้ธนาคารกรุงไทย 2-กฎหมายและพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ 3-การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน
4-ยุทธวิธีในการแข่งขันการตลาดธนาคาร และ 5-การเสริมสร้างทัศนคติ
การอบรมจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง และดูงานอีก 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นทุกคนจะถูกส่งกระจายไปฝึกงานตามสาขา
และฝ่ายงานต่างๆ อีก 2 เดือน ครึ่ง ก่อนจะเริ่มต้นทำงานอย่างจริงจัง
วิโรจน์กล่าวว่าพนักงานใหม่ 70 คน นี้ถือเป็นเพียงชุดแรก เขายังจะต้องรับคนหนุ่มสาวเลือดใหม่ให้เข้ามาทำงานกับธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้นอีก
"เราต้องเติมเต็มคนเหล่านี้ เพื่อทำให้ธนาคารกรุงไทยเป็น younger organization"
ในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งในอดีตธนาคารกรุงไทยมีการวางระบบกันไว้อย่าง กระจัดกระจาย
ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งกันและกัน
"ฝ่ายเงินฝากก็เป็นระบบหนึ่ง ฝ่ายสินเชื่อก็เป็นอีกระบบหนึ่ง เวลาจะเรียกข้อมูลอะไรมาดูแต่ละทีต้องใช้เวลา
เพราะต้องไปหาจากคอมพิวเตอร์ถึง 2-3 เครื่อง"
วิโรจน์เล่าว่าธนาคารกรุงไทย มีพนักงาน 14,976 คน แต่มีเครื่องคอมพิว เตอร์ส่วนบุคคลอยู่ถึงกว่า
19,000 เครื่อง มีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เกินกว่าจำนวนพนักงานอยู่ถึงเกือบ
5,000 เครื่อง เขาจึงมีนโยบายว่าต้องปรับปรุงระบบเทคโน โลยีของธนาคารเสียใหม่
เพื่อเชื่อมโยงระบบทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้พนักงานแต่ละคน ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าดูข้อมูลของแต่ละฝ่ายได้ทั้งหมด
จากนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ธนาคารต้องนำระบบ Core Banking System : CBS
เข้ามาใช้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ใหม่
คาดว่าระบบดังกล่าวจะเริ่มเดินหน้าเต็มที่ได้ในช่วงปลายปี
ด้วยเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว วิโรจน์ ได้ตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อนำมาใช้
จะทำให้ธนาคารกรุงไทย ก้าวล้ำหน้าเกินกว่าธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ
"ไม่ใช่ก้าวไปทันเขา แต่เราจะก้าวล่วงหน้าเขาไปอีก"
(รายละเอียดอ่าน CBS โครงการที่จะทำให้ฝันของวิโรจน์เป็นจริง)
ส่วนเรื่องธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่วิโรจน์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมีผลต่ออนาคตที่แท้จริงของธนาคารกรุงไทย
การตัดธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นของธนาคารทิ้งไป เพื่อลดต้นทุนการทำงาน
ในช่วงที่เขาเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการวางรากฐานทางธุรกิจในอนาคต
การมุ่งเน้นทำธุรกิจเพียง 3 อย่าง คือรับเงินฝาก ปล่อยกู้ และหารายได้จากค่าธรรมเนียม
ฟังแล้วอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของธนาคารพาณิชย์ แต่แนวทางที่วิโรจน์วางไว้
โดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อ และการหารายได้จากค่าธรรมเนียม เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นคิดทำมาก่อน
ที่สำคัญทุกโครงการมียุทธศาสตร์ของการดำเนินการ และเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน
โครงการธนาคารชุมชน เป็นโครงการที่วิโรจน์เคยประกาศไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง
เป็นปีแรก แต่คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมือง ยังไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะมองไม่เห็นภาพ
ปัจจุบัน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางไปเปิดธนาคารชุมชน
ที่ชุมชนบ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นธนาคารชุมชนต้นแบบของ
ธนาคารกรุงไทย ที่ได้ร่วมกับมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ที่พารณ อิศรเสนา อดีตกรรมการผู้จัดการ
ใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
รูปแบบการดำเนินการธนาคารชุมชนบ้านสามขา ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านการวางระบบงาน
ระบบไอที ซึ่งจำลองแบบไปจากระบบของธนาคาร โดยภายในระบบจะประกอบด้วยการฝาก-ถอน
ระบบบัญชี ระบบฐานข้อมูล และระบบประเมินผล ให้กับคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้บริหาร
ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านชุดนี้จะทำงานสอดประสานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย
ในการประเมินหาลูกบ้านที่ต้องการ การสนับสนุนทางการเงิน และธนาคารกรุงไทย
จะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้
ในขั้นต้นนี้ ธนาคารกรุงไทยได้ปล่อยสินเชื่อผ่านคณะกรรมการชุมชนหมู่บ้านสามขาไปแล้วเป็นจำนวน
3 ล้านบาท
แต่เนื่องจากโครงการนี้ไปคล้ายคลึงกับนโยบายของรัฐบาล ทำให้หลายคนมองว่าเป็นการตอบสนองเพื่อหวังผลทางการเมือง
"เรามองเชิงธุรกิจเป็นหลัก แต่รูปแบบและจังหวะมันอาจสอดคล้องกับนโยบายรัฐ
สิ่งที่ธนาคารต้องการคือการขยายฐานลูกค้า จากเดิมที่ส่วน มากเป็นลูกค้ารายใหญ่
แต่เราต้องการ ให้ขยายลงไปถึงรายย่อยระดับรากหญ้า จริงๆ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นฐานที่กว้างมาก
แต่ที่ผ่านมายังไม่มีธนาคารใดสามารถเข้าไปให้บริการได้อย่างทั่วถึง" วิโรจน์ให้เหตุผล
ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีบัญชีของลูกค้าสินเชื่ออยู่ประมาณ 1 ล้านบัญชี
ในจำนวนนี้เป็นบัญชีที่มีวงเงินกู้เกินระดับ 5 ล้านบาทขึ้นไปเพียง 11,000
บัญชี ขณะที่บัญชีเงินฝากจากที่มีอยู่ทั้งหมด 12 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีเงินฝากเกิน
10 ล้านบาท เพียง 5,000 กว่าบัญชีเท่านั้น
"สัดส่วนมันแคบมาก เพราะบัญชีเงินกู้ที่มากกว่า 5 ล้านบาท มันเป็นถึง 60-70%
ของ portfolio ขณะที่มีบัญชีอยู่เพียง 1 หมื่นบัญชี ดังนั้นอนาคตฐานะการ
ดำเนินงานของธนาคารจึงต้องผูกอยู่กับคน 1 หมื่นคนนี้ แต่ถ้าธนาคารสามารถกระจาย
ความเสี่ยงออกไปได้ ก็จะเป็นผลดีต่อธนาคารเอง และที่สำคัญผู้กู้รายย่อยส่วนใหญ่มีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้กู้รายใหญ่"
สถิต จูพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานโครงการพิเศษ ซึ่งดูแลโครงการธนาคารชุมชนโดยเฉพาะบอกว่า
หลังจากธนาคารชุมชนต้นแบบที่หมู่บ้านสามขาเริ่มดำเนินการแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังจะขยายบทบาทธนาคารชุมชน
เข้ามายังชุมชนในเขตเมือง โดยความร่วมมือกับเทศบาลในอำเภอ หรือตำบลต่างๆ
ในการคัดเลือกพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ที่เทศบาลแต่ละแห่งให้คำรับรอง มาให้ธนาคารเป็นผู้สนับสนุนเงินกู้เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ
นอกจากธนาคารชุมชนแล้ว การเปิดดำเนินการธนาคารอิสลาม ก็ถือเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งในการขยายบทบาททางธุรกิจของธนาคารกรุงไทย
และเป็นยุทธศาสตร์ที่วิโรจน์มองได้ไกลกว่าที่หลายคนคิด
โครงการธนาคารอิสลาม เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่นับถืออิสลาม ซึ่งตามหลักของศาสนาถือว่าเรื่องการจ่าย
หรือรับดอกเบี้ยเป็นบาป มีโอกาสได้นำเงินเข้ามาสู่ระบบธนาคารพาณิชย์
ธนาคารกรุงไทยได้เปิดธนาคารอิสลามสาขาแรกไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2545
ปัจจุบันจำนวนสาขาได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 15 แห่ง โดยมีแผนจะเปิดให้ได้ครบ
40 แห่งภายในปีนี้
(รายละเอียดอ่าน Dual Banking System ยุทธศาสตร์ระดับโลก)
ส่วนการหารายได้จากค่าธรรมเนียม วิโรจน์ได้วาง concept ให้กับธนาคารกรุงไทยเสียใหม่
ด้วยการเป็น Convenience Bank
"Convenience Bank มีความหมายถึงความสะดวกสบาย คือ ถ้าลูกค้ามาแล้วจะได้รับบริการที่ครบถ้วน
ในราคาที่เหมาะสม ตลอดเวลา" พงศธร สิริโยธินอธิบาย
หลักการของ Convenience Bank คือนอกจากธนาคารกรุงไทย จะมีบริการรับเงินฝาก
ปล่อยสินเชื่อแล้ว ธนาคารยังจะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการ clearing และชำระราคาให้กับธุรกิจทุกประเภท
รวมถึงบริการทางการเงินทุกอย่างที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีไว้บริการ
ปัจจุบันนอกจากการรับชำระค่าสาธารณูปโภคแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังได้ร่วมมือกับบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ในการเป็นผู้รับเงิน
และจ่ายเงินค่าซื้อ-ขายหุ้นให้กับลูกค้า นอกจากนี้ยังจะเข้าไปมีบทบาทในการชำระราคาให้กับธุรกิจท่องเที่ยว
และค้าปลีก
"เราถือว่าฐานลูกค้าของเรากว้าง มีบัญชีเงินฝากถึง 12 ล้านบัญชี เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้"
แต่บทบาท Convenience Bank ที่ทำให้กับภาคเอกชนนั้น อาจจะดูไม่ใหญ่เท่ากับที่ธนาคารกรุงไทยกำลังเตรียมจะทำให้กับภาครัฐ
(รายละเอียด อ่าน GFMIS : The Big Project)
เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกของการต้องเข้ามาเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ในวัยที่วิโรจน์เคยวางแผนไว้ว่าจะเกษียณจากงานในภาคเอกชน
เพื่อออกไปมีบทบาทสนับสนุนกิจการกีฬา เขาตอบสั้นๆ เพียงว่าเหมือนกับต้องลงไปทำงานสมัยเมื่อเขาเพิ่งจะมีอายุได้
30 ปีใหม่ๆ
เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตอนที่วิโรจน์อายุได้ 30 ปี เขาคือ 1 ในทีมงานผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหาร
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ในเครือธนาคารกสิกรไทย
ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ วิโรจน์ได้สร้างผู้บริหารชั้นหัวกะทิใหม่ๆ
ให้เข้ามาสู่วงการสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก รวมถึงทำให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจได้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทเงินทุนชั้นแนวหน้าของประเทศไทย
ที่ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งจากนักลงทุนชาวต่างประเทศ ก่อนจะตัดสินใจคืนใบอนุญาตกับทางการ
เนื่องจาก สถานการณ์ทางการเงินของประเทศเกิดความพลิกผัน
ช่วงที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจเริ่มเฟื่องฟู สำนักงานใหญ่ของบริษัทนี้อยู่บนถนนสุขุมวิท
ห่างจากสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงไทยแค่ช่วงข้ามจากถนนนานาไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร
ถ้าวิโรจน์เป็นคนเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย เขาคงต้องมั่นใจได้ว่า ณ พื้นที่บริเวณนี้
ถูกโฉลก กับตัวเขาเป็นอย่างยิ่ง
โอกาสที่เขาจะทำให้ธนาคารกรุงไทยยิ่งใหญ่จนได้รับการยอมรับ เหมือนกับที่เคยทำไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจน่าจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก
สิ่งที่เขาเป็นห่วงมีเพียงเรื่องเดียว คือความต่อเนื่องของงานที่เขาได้วางรากฐานเอาไว้
หากเขาต้องหมดวาระไปจากการเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งนี้