Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2546
Confidence of being a Regional Leader             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

to be Professional
เราผูกขาดโดยธรรมชาติ
ปตท.สผ. ยุทธศาสตร์แห่งความโชติช่วงชัชวาล
NON-OIL BUSINESS รายได้หลักของธุรกิจน้ำมัน
Key to be High Performance Organization
New Culture Character Strategy
โครงสร้ายรายได้ของ ปตท.

   
www resources

โฮมเพจ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)

   
search resources

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปตท., บมจ.
ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.), บมจ.
วิเศษ จูภิบาล
Energy




แต่ก่อนเราอาจคุ้นเคยกับวลีที่ว่า "บริษัทน้ำมันแห่งชาติ" เมื่อมีการกล่าวถึง ปตท. แต่คำนิยามนี้ ดูเหมือนจะเล็กลงไปทันที เมื่อมองเห็นเป้าหมายที่ ปตท.ได้ตั้งใจไว้ว่าจะก้าวไปให้ถึง

วิสัยทัศน์ของปตท.ถูกกำหนดใหม่ไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนแปรรูปเพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ว่าเป้าหมายของ ปตท.ต้องเป็น "บริษัทพลังงานของไทยที่ทำธุรกิจครบวงจร และเป็นผู้นำในภูมิภาค" และต้องเป็น "องค์กรแห่งความเป็นเลิศในด้านผลประกอบการ"

หมายความว่านับแต่นี้ไป จุดมุ่งหมายหลักในการดำเนินงานของ ปตท.นอกจากการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานในภูมิภาคนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างผลตอบแทน ในรูปของกำไร คืนกลับให้กับผู้ถือหุ้น

บทบาท "บริษัทน้ำมันแห่งชาติ” ที่เป็นกลไกของรัฐในการควบคุมการเปลี่ยนแปลง ของราคาน้ำมันภายในประเทศ ตลอดจนการเป็นบริษัทนำร่องลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้อนาคตเช่นในอดีต จะไม่เกิดขึ้นกับ ปตท.อีก

"ตอนที่เราไป roadshow ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจมาก และตอนนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า หนึ่ง-ในเรื่องราคานั้นรัฐบาลจะไม่เข้ามาแทรกแซง และ สอง-รัฐบาลไม่สามารถมากำหนดให้เราไปลงทุนอะไรที่มันไม่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติออกมาแล้วว่าในการลงทุนให้เป็นไปตามหลักของ ปตท.เอง แต่ถ้ามีโครงการไหนที่รัฐบาลอยากให้เราไปลงทุนเป็นพิเศษ รัฐต้องช่วยสนับสนุน" วิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ยืนยันกับ "ผู้จัดการ"

ซึ่งมีความหมายถึงการลงทุนใดๆ ก็ตาม หลังจากนี้หากมีการประเมินแล้วว่าไม่คุ้ม ปตท.จะไม่เข้าไปลงทุนเด็ดขาด

ผลการดำเนินงานในปี 2545 ปตท.มียอดรายได้รวม 409,334.63 ล้านบาท กำไร สุทธิ 24,506.79 ล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของ "ผู้จัดการ 100" ทิ้งห่างปูนซิเมนต์ไทย และการบินไทย ที่เคยสลับกันขึ้นเป็นอันดับ 1 อยู่หลายช่วงตัว

 

ธุรกิจหลักของ ปตท.คือ กิจการก๊าซ ธรรมชาติ น้ำมัน และปิโตรเคมี

"ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันนั้น เราทำได้ครบวงจรแล้ว ส่วนปิโตรเคมีจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุน โดย ปตท.จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมนี้ทั้งระยะต้น ระยะกลาง แต่ก็มีข้อกำหนดชัดเจนว่าบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุนนั้น จะต้องเป็นกิจการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติของเราเองเป็นวัตถุดิบ" วิเศษอธิบาย

โครงสร้างรายได้และกำไรของ ปตท. มีความแตกต่างกัน โดยรายได้ส่วนใหญ่ 58.2% มาจากธุรกิจน้ำมัน รองลงไป 34.8% มาจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และอีก 7% เป็นรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมี

"รายได้จากปิโตรเคมี ก็คือ เงิน ปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่เราเข้าไปถือหุ้น"

แต่ในส่วนของกำไร หากวัดจาก EBITDA ในปี 2545 พบว่า 84.7% เป็นกำไรจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ส่วนธุรกิจน้ำมันทำกำไรได้เพียง 11.7% ส่วนที่เหลืออีก 3.6% เป็นกำไรจากธุรกิจปิโตรเคมี

ซึ่งโครงสร้างนี้มีสัดส่วนคงที่ในลักษณะใกล้เคียงกันมาตลอด

(ดูรายละเอียดจากตารางโครงสร้าง รายได้ของ ปตท.)

จากโครงสร้างกำไรที่แสดงออกมาดังกล่าว ได้เป็นตัวกำหนดทิศทางการทำธุรกิจในอนาคตของ ปตท.

เป้าหมายของ ปตท.หลังจากนี้ จะมุ่งเน้นทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ส่วน ธุรกิจน้ำมัน จะเป็นการบริหารสินทรัพย์ที่ได้มีการลงทุนไปแล้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมมากนัก

"น้ำมันเป็นธุรกิจที่ได้กำไรน้อย แต่มีการแข่งขันสูง"

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่ทำให้มีการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี 2521 ก่อนที่จะแปรสภาพมาเป็นบริษัท ปตท.ในปัจจุบัน

"ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานที่สะอาด และได้เปรียบพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรือแม้แต่น้ำมันด้วยซ้ำ เพราะมันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก และเป็นเชื้อเพลิง ธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปเป็นประโยชน์อื่นได้อีก เช่น ก๊าซหุงต้ม หรือปิโตรเคมี" วิเศษให้เหตุผล

ตลอดเวลากว่า 25 ปี ปตท.เป็นผู้ผูกขาดทำธุรกิจนี้เพียงรายเดียวในประเทศไทย

วิเศษได้นิยามความหมายของคำว่า "ผูกขาด" ในที่นี้ว่าเป็นการ "ผูกขาดโดยธรรมชาติ"

แต่การเป็นผู้ผูกขาดนั้น มิได้หมายความว่าก๊าซธรรมชาติไม่มีคู่แข่ง "เราต้องแข่งขันกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น"

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ปัจจุบันทำได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจหา การผลิต การขนส่งผ่านท่อมาถึงโรงแยกก๊าซ การนำก๊าซที่แยกแล้วส่งต่อไปยังกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานผลิตวัตถุดิบขั้นต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

จุดขายของก๊าซธรรมชาติอยู่ที่การกำหนดราคาให้ต่ำกว่าน้ำมันเตา "เราจะต้องทำ อย่างไรให้ต้นทุนต่ำ เพราะต้องขายให้ได้ในราคาต่ำกว่าน้ำมันเตา ซึ่งถือเป็นคู่แข่ง และหากน้ำมันเตาลดลง เราก็จะต้องทำราคาก๊าซลดลงตามไปด้วย"

ปตท.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอัตราการขยายตัวของผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ระดับ 6% ต่อปี

ตามเป้าหมายนี้ ปตท.จะต้องลงทุนวางโครงข่ายท่อส่งก๊าซให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม ผู้ใช้หลักทุกกลุ่ม และโครงข่ายเหล่านี้ จะต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เผื่อว่าหากท่อใดมีปัญหา ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ท่ออื่นทดแทนได้ทันที

"ท่อก๊าซจึงเป็นเหมือนทางด่วน เพราะไม่ว่าเราจะสำรวจเจอก๊าซ มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีท่อ เราก็ไม่สามารถนำก๊าซนั้นขึ้นมาใช้ได้"

ปัจจุบันโครงข่ายท่อส่งก๊าซของ ปตท.ทั้งบนบก และในทะเล มีความยาวรวม 2,600 กิโลเมตร มีการส่งก๊าซผ่านท่อ 2,500 ลูกบาศก์ ฟุตต่อวัน ตามเป้าหมายในอีก 5 ปี จะมีการขยายโครงข่ายของท่อให้สามารถส่งก๊าซได้ 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

การขยายโครงข่ายท่อก๊าซของปตท.จึงถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในช่วงนับแต่นี้ โดยโครงข่ายที่อยู่ในแผนแม่บทที่จะขยายใหม่ ประกอบด้วยท่อส่งก๊าซจากไทรน้อยมายังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โครงการท่อประธานเส้นที่ 3 และโครงการท่อส่งก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ ต้องใช้เงินลงทุนอีกนับหมื่นล้านบาท

(ดูโครงข่ายท่อก๊าซของ ปตท.)

นอกจากการวางท่อก๊าซแล้ว การขยายตลาดผู้ใช้ก๊าซก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาก๊าซธรรมชาติของ ปตท.กว่า 50% ขายให้กับกฟผ. ส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ และโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันเตามาใช้เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีประมาณ 80 แห่ง ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้เป็นตลาดเป้าหมายต่อไปที่ ปตท. จะต้องขยายครอบคลุมไปให้ทั่วถึง

"เราเป็นผู้จัดหาก๊าซ แม้ว่าอาจไม่มีคู่แข่ง แต่เราก็แข่งกับตัวเอง เราคงไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมชาติของดีมานด์ ซัปพลาย แต่เราต้อง พยายามที่จะสร้างตลาดขึ้นมาเองด้วย ต้องวิ่งเข้าหาตลาด ไปในที่มีความต้องการใช้ อย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเขาอาจอยากเปลี่ยนเชื้อเพลิง แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนหรือยัง เราก็ให้บริการพวกนี้"

วิเศษมองว่า จากกระแสการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม จะทำโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ซึ่งกำลังจะมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ต้องหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก

"ถ่านหินนั้นผู้ต่อต้าน เขาต่อต้านตัวเชื้อเพลิง แต่ของ ปตท.เจอต่อต้านในเรื่องท่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของขั้นตอนเรื่องของการศึกษาสิ่งแวดล้อม คือถ้าเรารู้ปัญหา เราก็ทำแต่เนิ่นๆ แล้วเราก็อาจวางแนวท่อให้ไม่ต้องไปเจอแหล่งชุมชนมากนัก ผมก็ว่ามันเสี่ยงน้อยกว่า นอกจากนี้เรายังต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนที่แนวท่อก๊าซผ่านได้เกิดประโยชน์ อาจเป็นเรื่องของภาษี หรือเงินชดเชยที่จะให้กับชุมชน ซึ่งถ้าทำเรื่องนี้ได้ ต่อไปชุมชนอาจจะอยากให้ท่อก๊าซผ่าน และที่ผ่านมาก็พิสูจน์มาแล้วว่ามันไม่ได้อันตรายอย่างที่ว่ากัน เราใช้ก๊าซมา 20 กว่าปีแล้ว ถนนที่จะไปชลบุรี ระยอง มีท่อผ่านมาตั้ง 10-20 ปีแล้ว ก๊าซธรรมชาติ นี่มันอันตรายน้อยกว่าแก๊สหุงต้มเสียอีก แต่คนกลัวกันไปเอง"

การสนับสนุนให้รถยนต์เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมัน มาใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ ปตท. กำลังนำมาใช้ในการขยายตลาดก๊าซธรรมชาติ แต่โครงการนี้ จะต้องเดินหน้าสัมพันธ์กับการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซ ดังนั้นจึงถือเป็นโครงการระยะยาว

"มันเหมือนไก่กับไข่ เราต้องสร้างสถานีก๊าซก่อน คนถึงจะสะดวกในการใช้ แม้ว่า เราจะมีสถานีน้ำมันและแก๊สอยู่ด้วยกัน แต่การลงทุนสถานีแก๊สต้นทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าขนส่ง ซึ่งหากจะทำให้ถูกคือต้องมีท่อผ่าน แต่ตอนนี้ท่อยังไม่ได้ผ่านชุมชนเท่าไรนัก"

ปลายปีนี้ วิเศษ จูภิบาล จะเกษียณอายุการทำงานใน ปตท.เขาก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ ปตท.กำลังมีการปรับเปลี่ยน โครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อเตรียมการแปรรูปเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

วิเศษทำงานอยู่กับปตท.มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ตลอดเวลากว่า 25 ปี เขาได้เห็นความ เปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นใน ปตท.มากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่มีผลต่อก้าวย่างในอนาคตของ ปตท.นั้นเกิดขึ้น 2 ครั้ง

ครั้งแรก คือเมื่อ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการ (operator) เต็มรูปแบบในโครงการบงกช ในอ่าวไทย เมื่อกลางปี 2541 และครั้งที่ 2 เมื่อ ปตท.ได้เข้าไประดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ ในปลายปี 2544

การเป็น operator แหล่งปิโตรเลียมด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติ ทำให้กระบวนการทำธุรกิจพลังงานของ ปตท.มีความครบวงจรสมบูรณ์ ส่วนการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ฐานเงินทุนของ ปตท.มีความแข็งแกร่ง

"เราสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน จากเดิม 3 เท่า ลงมาเหลือเพียง 1 เท่าเท่านั้นในตอนนี้"

ดังนั้นเมื่อเป้าหมายของ ปตท.อยู่ที่การมุ่งเน้นทำแต่ธุรกิจหลักที่มีความชำนาญ จะยิ่งเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับ ปตท.มากยิ่งขึ้น

ในวันนี้ วิเศษโล่งใจแล้วว่า ปตท.กำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องที่สุด

เขาเชื่อมั่นว่า ปตท.จะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นในธุรกิจพลังงาน ที่มีความสามารถทัดเทียมกับบริษัทใหญ่ๆ ในระดับโลกได้ในอีกไม่นานนัก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us