"ผู้จัดการ 100" ฉบับนี้ ได้ focus มายังกลุ่มรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ซึ่งเป็นกิจการที่มีรูปแบบ การทำธุรกิจแปลกแยกไปจากธุรกิจเอกชนโดยทั่วไป
กิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ถูกครอบด้วยกฎระเบียบที่ล้าสมัยมาเป็นเวลานาน
จนหลายแห่งขาดความคล่องตัว ไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันได้
ขณะที่อีกหลายแห่งซึ่งมีโครงสร้างธุรกิจในลักษณะผูกขาด ทำให้ละเลย หรือขาดการพัฒนาการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ
รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์สำหรับ ผู้มีอำนาจในสังคม
โดยเฉพาะนักการเมือง
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการขาดประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้
เพราะจะทำให้มีกลุ่มนักลงทุนจากภายนอก เข้ามาช่วยตรวจสอบการทำงานเพิ่มขึ้น
ในจำนวนรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ที่ถูกแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว
มีเพียง 3 แห่ง ที่ถือว่ามีผลการดำเนินงานโดดเด่น จนติดอยู่ใน "ผู้จัดการ
100" ได้แก่ ปตท. การบินไทย และธนาคารกรุงไทย
และใน 3 แห่งนี้ ปตท. และธนาคารกรุงไทย เป็นเพียง 2 รัฐวิสาหกิจที่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
ครั้งใหญ่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
คณะกรรมการของทั้ง 2 กิจการ ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจที่ชัดเจนสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้า
ผู้บริหารได้วางยุทธศาสตร์ของธุรกิจให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้อย่างรัดกุม
ผลจากความพยายามในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรตลอดระยะเวลา 2 ปี ทำให้ความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการทำงานของ
ปตท. และธนาคารกรุงไทยขณะนี้ เปรียบไปแล้ว ไม่แตกต่างจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่
ที่มีรูปแบบการบริหารงานแบบมืออาชีพ
กลิ่นอายของความเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องติดยึดกับระบบระเบียบของทางราชการกำลังลดน้อยลงไปทุกที
วิสัยทัศน์ และพันธกิจที่ถูกวางไว้ มิได้กำหนดเพียงกรอบ แคบๆ ให้ทั้ง 2
องค์กรทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเช่นในอดีต
ตรงกันข้ามเป็นการวางเป้าหมาย และเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันให้กับทั้ง
2 องค์กรสามารถก้าวไกลขึ้นไปถึงการเป็นผู้เล่นในเวทีระดับโลก
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน ปตท.และธนาคารกรุงไทย จึงเป็นเรื่องราวที่มีสีสันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง