Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2551
เทพเจ้าและสนิมสังคมในภาพเขียนกาลีกัต             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Art




ภาพเขียนกาลีกัตแม้จะมีต้นกำเนิดจากศิลปะพื้นบ้าน วาดโดยช่างฝีมือท้องถิ่น วางขายตามซอกซอยละแวกวัดกาลีกัต ทั้งสืบทอดฝีไม้ลายมืออยู่เพียงศตวรรษเศษ แต่ด้วยความที่มีเส้นสายเฉพาะตัว มีเรื่องราวที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนสังคมของเมืองกัลกัตตาครั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ศิลปะข้างถนนที่เทียบค่าได้กับโปสต์การ์ดในปัจจุบัน จึงกลายเป็นของสะสมเป็นความภาคภูมิใจของเมือง ทั้งเป็นแรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นใหม่ อะไรคือเสน่ห์ในภาพเขียนเหล่านี้

อินเดียนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง กระทั่งในหมู่ชาวฮินดูต่างรัฐต่างภาค ก็ศรัทธารักใคร่เทพต่างองค์กันไป ในกรณีของรัฐเบงกอลตะวันตกเทพสำคัญที่นิยมบูชาคือเจ้าแม่กาลี ซึ่งวัดที่สำคัญและขึ้นชื่อที่สุดคือวัดกาลีกัต (Kalighat) ในเมืองกัลกัตตา วัดนี้สร้างขึ้นราวปี 1809 และกลายเป็นที่นิยมดังมีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมากราบไหว้ ทำให้ร้านรวงผุดขึ้นโดยรอบ ส่วนใหญ่ขายเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ขนม น้ำมัน รวมถึงร้านขายของที่ระลึกสำหรับซื้อติดมือกลับไปประดับหิ้งบูชา อาทิ รูปปั้นจำลองเจ้าแม่กาลีและเทพองค์ต่างๆ สายประคำ กำไลโลหะ พานใส่เครื่องสักการะชุดเล็กชุดน้อย ฯลฯ ทำให้ศิลปินและช่างฝีมือพื้นบ้านจากปริมณฑลทยอยเข้ามารับจ้างและผลิตของที่ระลึกเหล่านี้ โดยเฉพาะช่างปั้นสกุลกูมาร์มารับงานปั้นหุ่นเจ้าแม่กาลีสำหรับใช้ในเทศกาลบูชาใหญ่ที่เรียกว่า Kali Puja ราวช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี

กลุ่มสำคัญอีกกลุ่มคือ "ปัตตัว" ช่างเขียนพื้นบ้านซึ่งเดิมจะเขียนจิตรกรรมพื้นบ้านที่เรียกว่า "ป็อต" ภาพเขียนป็อตนี้มี 2 แบบ คือแบบที่เป็นภาพเดียวทรงสี่เหลี่ยม และเป็นม้วนภาพเขียนแบ่งเป็นช่องตามแนวดิ่ง ซึ่งนักเล่านิทานพื้นบ้านจะใช้ประกอบการขับลำนำเล่าตำนานความเชื่อและเรื่องราวการรบทัพปราบมารของเหล่าทวยเทพ

ช่างเขียนกลุ่มนี้เริ่มหันมาวาดรูปขายคนที่มาวัดสำหรับนำกลับไปประดับบ้านหรือขึ้นหิ้งบูชา โดยปรับสไตล์ให้สอดคล้องกับลักษณะของตลาด จากเดิมที่วาดเป็นม้วนผ้าก็หันมาวาดบนกระดาษราคาถูก ชนิดที่ไม่ตัดขอบหรือลงเคลือบกาว ขนาดประมาณ 45 x 27 เซนติเมตร ในยุคแรกนิยมวาดภาพเทพองค์สำคัญๆ เช่น เจ้าแม่กาลี พระศิวะ พระกฤษณะ หนุมาน ทั้งในลักษณะของภาพเดี่ยว และฉากการสู้รบกับมารซึ่งขมวดองค์ประกอบเป็นฉากหรือตอนเดียวจบในภาพ สไตล์การเขียนก็ต่างไปจากภาพเขียนป็อตดั้งเดิมซึ่งประณีตบรรจง มีรายละเอียดของฉากเหตุการณ์และเรื่องราว ทั้งใช้สีฝุ่นทึบแสง ส่วนภาพที่วาดขายนี้อาจเป็นด้วยเหตุที่ต้องผลิตจำนวนมากเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถตั้งราคาได้สูง เพราะคนซื้อมีตั้งแต่คนจนถึงเศรษฐี ศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้ปรับมาเขียนในสไตล์การตวัดฝีแปรงรวดเร็ว โดยจับบุคลิกและสัญลักษณ์เด่นของเทพแต่ละองค์ขึ้นรูปด้วยฝีแปรงน้อยเส้น ไม่เน้นการวาดเหมือนจริง บางสไตล์จะเขียนตัวด้วยสีพื้นแล้วใช้เส้นสีตัดเส้นเน้นโครงร่างและเครื่องประดับ ส่วนใหญ่จะเน้นการเก็บรายละเอียดเฉพาะใบหน้า ทั้งโครงร่างและรูปหน้ามักมีลักษณะโค้งกลมกลึง ซึ่งคาดว่าได้อิทธิพลมาจากสไตล์การปั้นหุ่นดินที่ทำอยู่ในย่านเดียวกัน และช่างเขียนหลายคนก็รับงานปั้นมาก่อน ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะกึ่งแอ็บสแตร็คท์และมินิมัลอยู่ในตัว จุดเด่นอีกข้อคือการแรเงาที่เกิดจากการปาดพู่กันหรือเศษผ้าชุบสีผ่อนน้ำหนักอ่อนแก่เพื่อเสริมมิติในภาพ

อาจิต โกช นักสะสมและนักวิจารณ์งานศิลปะมีชื่อของกัลกัตตากล่าวว่า "ภาพเขียนเหล่านี้สด ฉับพลัน ทั้งในเรื่องราวและฝีแปรง เขียนในลักษณะการตวัดลากฝีแปรงแบบม้วนเดียวจบ เส้นนั้นมั่นคง เนียน ไม่มีลังเล แทบดูไม่รู้ว่าขึ้นต้นหรือจบที่ไหน" ภาพที่เขียนกันมีทั้งภาพสี และภาพเขียนลายเส้น พื้นหลังมีทั้งแบบปล่อยโล่งเป็นพื้นขาว และแบบที่ลงสีผืนแต้มเสริมด้วยผ้าม่านหรือพื้นหญ้าตามแต่ลักษณะฉาก ระดับความประณีตและสีที่ใช้มี 2 ระดับ ได้แก่ "rasi" แบบที่จัดองค์ประกอบง่ายๆ ไม่ลงรายละเอียดมาก และแบบ "raja" ที่องค์ประกอบอาจซับซ้อนขึ้น ทั้งมีการใช้สีเงินและทองมาเสริมความขรึมขลัง

เมื่อเปรียบเทียบกับภาพเขียนป็อตและภาพเขียนประเพณีอื่นๆ ของอินเดีย ซึ่งนิยมวาดใบหน้าตัวละครจากมุมด้านข้าง ภาพเขียนกาลีกัตมักวาดหน้าตรง หรือหันข้างสามในสี่ส่วน ผู้รู้บางคนชี้ว่าเป็นอิทธิพลจากสไตล์ภาพเขียนตะวันตกที่แพร่เข้ามาในยุคนั้น แต่บางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะภาพเขียนยุคแรกๆ เป็นภาพเทพเจ้าสำหรับนำไปบูชา ผู้ซื้อย่อมต้องการได้ภาพหน้าตรง ทำให้ต่อมาแม้จะเขียนเรื่องราวอื่นๆ ก็คงสไตล์ดังกล่าวไว้

สำหรับสีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีพื้นบ้านที่ช่างเขียนผสมเองตามตำราที่ตกทอดมาแต่โบราณ เช่นสีดำนิยมใช้เขม่า พู่กันก็เช่นกัน มักทำขึ้นเองจากขนแกะ ขนกระรอก หรือหางแพะ ภาพเขียนกาลีกัตยุคถัดมา นอกจากภาพเทพเจ้ายังเริ่มมีภาพประเภทล้อเลียนเสียดสี ที่ถือเป็นการ์ตูนล้อ (caricature) รุ่นบุกเบิกของอินเดีย คนที่ตกเป็นเป้าล้อกลุ่มหลักคือบรรดา "บาบู" หรือหนุ่มผู้ดีชาวอินเดียที่ฟุ้งเฟ้อกับไลฟ์สไตล์ตะวันตกแบบผู้ดีอังกฤษ ทั้งชอบเข้าสังคม ร่ำสุราหานางโลม จนถือกันว่าหากวันไหนหนุ่มผู้ดีพวกนี้ไม่ได้ออกบ้านหาหญิงยามค่ำ แสดงว่า เขาต้องป่วยหนักถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ช่างเขียนกาลีกัตมักวาดล้อ บรรดาบาบูเป็นรูปหนุ่มแขกนุ่งโดตี (ผ้านุ่งของชาวอินเดียกึ่งโจงกระเบนกึ่งโสร่ง) แต่ใส่รองเท้าบู๊ต และบ่อยครั้งจะเห็นหนุ่มผู้ดีมีการศึกษาเหล่านี้เป็นฝ่ายโดนหยอกเอินหรือช่วงใช้โดยบรรดานางโลมของตน เช่น ภาพนางโลมจูงแกะ (แกะหรือแพะเป็นสัตว์ที่นิยมใช้บูชายัญเจ้าแม่กาลี) เศรษฐีหนุ่มนวดเท้าให้นางโลม หรือภาพที่เขียนจากสุภาษิตยอดฮิตในยุคนั้นที่ว่า "อยู่บ้านเป็นหนูตัวสาบ ออกบ้านกรุยกรายยกชายกระเบน" ที่เหน็บแนมผู้ชายกระเป๋าแห้งที่หมดเงินไปกับชีวิตฟุ้งเฟ้อ เป้าการล้อยอดฮิตอีกกลุ่มคือบรรดาสนิมสังคมที่มือถือสากปากถือศีล ซึ่งมีข่าวคาวมาให้ซุบซิบนินทาในวงน้ำชารอบวัดอยู่ไม่ขาด สนิมสังคมที่ว่าคือบรรดาพราหมณ์หรือนักพรตที่เปลือกนอกเป็นคนทรงศีลกินเจ แต่เนื้อในเจ้าชู้ไก่แจ้ชอบหาเศษหาเลยกับบรรดาสานุศิษย์ผู้หญิง

ราวช่วงทศวรรษ 1870 เป็นต้นมา ภาพเขียนกาลีกัตกลายเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะ ทั้งชาวอินเดียและชาวยุโรป ดังที่ภาพเขียนจำนวนมากถูกกว้านซื้อและส่งกลับไปยุโรป ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัลกัตตาก็เริ่มเห็นความสำคัญของศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้และเก็บสะสมงานดังกล่าว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ ขณะที่แวดวงศิลปะกระแสหลักเริ่มรับอิทธิพลตะวันตกทั้งในแง่เทคนิคและสไตล์ ด้วยเหตุที่ศิลปินจำนวนมากอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์หรือว่าจ้างโดยบริษัทอีสต์ อินเดีย จำกัด และชาวยุโรปที่เข้ามาทำการค้า จนเกิดเป็นงานศิลปะที่เรียกกันว่า Company School ส่วนภาพเขียนกาลีกัต ที่แม้จะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งเป็นชาวตะวันตก แต่มิได้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของลูกค้ากลุ่มใดโดยตรง ทำให้มีอิสระในการสร้างสไตล์เฉพาะตัว พร้อมกับคงความเป็นศิลปะพื้นถิ่นทั้งในแง่เทคนิค สไตล์ และเนื้อหา

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เทคนิคการพิมพ์จากแม่พิมพ์แกะไม้และแม่พิมพ์หินได้รับการพัฒนา และเป็นที่นิยมมากขึ้น ผลทำให้พิมพ์ภาพได้เป็นจำนวนมากและมีราคาถูก ภาพเทพเจ้าราคาถูกจากกระบวนการพิมพ์ดังกล่าวจึงเริ่มออกมาตีตลาด ทั้งเป็นของใหม่ที่ผู้คนพากันนิยมเมื่อเทียบกับภาพเขียนที่กลายเป็นของโบราณราคาสูง ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ศิลปินภาพเขียนกาลีกัตจำนวนมากหันไปประกอบอาชีพอื่น บ้างไปรับจ้างวาดบล็อกภาพพิมพ์ บ้างกลับไปรับงานปั้น จนถึงราวทศวรรษ 1930 ภาพเขียนกาลีกัตก็หมดยุค และไม่มีผู้สืบทอด

ทุกวันนี้ ยามดูภาพเขียนกาลีกัต นอกจากจะเห็นภาพสะท้อนของชาวเมืองกัลกัตตาในศตวรรษที่ 19 เรายังเห็นถึงรากศิลปะวัฒนธรรมอันหลากหลายและแข็งแกร่งของอินเดีย ที่แฝงอยู่ในฝีแปรงของศิลปินพื้นบ้าน และทวนกระแสอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ลามไหลมาพร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us