|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2551
|
 |

หลังเกิดโศกนาฏกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ.2001) จากกลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิม หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็เกิดกระแส Islamophobia ขึ้น
Islamophobia ซึ่งมีผู้ถอดความเป็นภาษาไทยไว้ว่า "ความหวาดกลัวมุสลิม" หรือ "โรคหวาดกลัวอิสลาม" คือหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันสามารถทำสงครามในอัฟกานิสถาน อิรัก และกับโลกมุสลิมได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน กอปรกับภาวะของการก่อการร้ายโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมที่ได้แผ่ขยาย วงกว้างไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก
ตรงกันข้าม หลังเหตุการณ์ 9/11 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สองชาติยักษ์ใหญ่จากคนละซีกโลกกลับมีความมั่นคงและแน่นแฟ้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ ที่โลกานุวัตรได้บีบรัดให้ทั้งสองประเทศต้องพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักการทูตสายเหยี่ยวของชาติตะวันตกแล้ว ความสัมพันธ์อันราบรื่นของสหรัฐฯ และจีน กลับเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ค่อยอยากเห็นนัก เพราะการผงาดขึ้นมาของจีนนั้น อีกนัยหนึ่งกลับมีความหมายว่า ขั้วอำนาจของโลกกำลังมีการเคลื่อนตัวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตสิ้นสุดลง
ขณะเดียวกัน ในหมู่นักวิเคราะห์การต่างประเทศของจีนก็มองว่า บรรดานักการทูตสายเหยี่ยวของตะวันตกกลุ่มนี้นี่เอง ที่เป็นผู้ที่ปั่นกระแสให้เกิดความเชื่อและทฤษฎีในแง่ลบต่างๆ เกี่ยวกับประเทศจีน เริ่มต้นด้วยทฤษฎีความล่มสลายของจีน (The Theory of China Collapse) ที่ถูกปลุกขึ้นมาในช่วงหลังการเสียชีวิตของเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำรุ่นที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ทั้งนี้ทฤษฎีดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อหลายแขนง โดยหลักฐานที่พอพบเห็นได้ในปัจจุบันก็อย่างเช่น หนังสือ The Coming Collapse of China เขียนโดย Gordon G. Chang ที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2544 โดยสำนักพิมพ์ Random House
โดยในท่อนหนึ่งของ The Coming Collapse of China ผู้เขียนระบุถึงความเชื่อว่า รัฐบาลจีนมีเวลาเพียง 5 ปีในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ก่อนที่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้จะเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเงิน โดยในตอนนั้น Chang ได้ชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและไม่สามารถที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเท่าเทียมกับระดับโลกได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็ไม่มีความเด็ดขาดในการจัดการกับรัฐวิสาหกิจ ที่ไร้ความสามารถในการแข่งขันและก่อให้เกิดหนี้เสียกองอยู่ในธนาคารของรัฐเต็มไปหมด ซึ่ง Chang มองว่า เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็จะล้มครืน ซึ่งนั่นหมายความว่า สังคมจีนจะเกิดภาวะการว่างงานครั้งใหญ่ อันเป็นผลมาจากการเลิกจ้างของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง มากกว่านั้น Chang ยังทำนายไว้ด้วยว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็จะเกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นขึ้นอย่างกว้างขวาง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะสูญเสียอำนาจในการนำและปกครองประชาชน
ณ วันนี้ หลังจากเติ้ง เสี่ยวผิง เสียชีวิต ไปได้สิบกว่าปี (เติ้งถึงแก่มรณกรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2540) หลังจากที่ The Coming Collapse of China ตีพิมพ์ได้ 7 ปี จีนก็ยังคงมีผู้นำที่มีความเข้มแข็งติดต่อกันมาอีกสองรุ่นคือ ผู้นำรุ่นที่ 3 รุ่นของเจียง เจ๋อหมิน และผู้นำรุ่นที่ 4 รุ่นของหู จิ่นเทา ขณะที่เศรษฐกิจของจีนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการเจริญเติบโต แม้ช่วงการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพารัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชนจะประสบปัญหาบ้าง แต่ก็ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่มีการคาดเดาว่าจะก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงจนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสูญเสียอำนาจในการปกครอง
การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีน ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงหลายปีหลังมานี้ ทำให้ทฤษฎีความล่มสลายของจีนถูกลืมเลือนไปอย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ที่ปลุกปั่นทฤษฎีดังกล่าวก็เงียบเสียงไปเกือบหมด อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสังเกตได้ว่า ในหมู่นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักธุรกิจ รวมไปถึงสื่อมวลชนตะวันตก โดยเฉพาะชาวอเมริกันได้มีการหยิบยกเอาทฤษฎีอื่นขึ้นมาโจมตีจีนต่ออีก นั่นคือ ทฤษฎีภัยจีน (China threat theory)
แท้จริงแล้ว "ทฤษฎีภัยจีน" นั้นกินความกว้างมาก ตั้งแต่ในเรื่องการเมือง การทหาร เศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่ประเด็นทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดของโลกไปแล้ว ทำให้ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจจากจีนนั้นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยที่สุด
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Financial Times (FT) ระบุว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของชาว ยุโรป 5 ประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2551 โดย FT/Harris พบว่า ในสายตาชาวยุโรปแล้ว ณ วันนี้ประเทศจีนได้แซงหน้าสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของโลก โดยชาวยุโรปราวร้อยละ 35 มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ที่สำคัญที่สุดต่อเสถียรภาพของโลก เหนือสหรัฐฯ อิหร่าน รวมไปถึงเกาหลีเหนือ [1]
ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ทำให้ชาวยุโรปมองจีนในแง่ลบได้แก่ การที่รัฐบาลจีนเข้าไปมีเอี่ยวในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน การใช้ความรุนแรงเพื่อการยุติการเรียกร้องขอแยกตัวเป็นอิสระของชาวทิเบต รวมไปถึงประเด็นทางการค้าและการตรึงค่าเงินหยวนไว้ในระดับต่ำกว่าที่ควร โดยที่ผ่านมาชาติตะวันตกมองว่า การที่รัฐบาลจีนตรึงค่าเงินหยวนให้อ่อน สินค้าและแรงงานราคาถูกจากจีน ถือเป็นส่วนสำคัญ ทำให้คนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตกงาน
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวของ FT ก็ได้สัมภาษณ์ทัศนะของ Mark Leonard ผู้เขียนหนังสือเรื่อง จีนคิดอะไร? (What Does China Think?) ถึงผลการสำรวจดังกล่าวว่า เหตุใดจีนถึงแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นประเทศที่ชาวยุโรป คิดว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อเสถียรภาพของโลกได้ ซึ่ง Leonard ก็ตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับชาวยุโรปที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชาวอเมริกันมามาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวยุโรปส่วนใหญ่รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจีนในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหกเดือนหลังมานี้ ข่าวคราวเกี่ยวกับจีน ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างต่อเนื่องนั้น กลับเป็นข่าวในเชิงลบ เช่น จีนกับปัญหาดาร์ฟูร์ จีนกับปัญหาทิเบต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่ไม่น่าพิสมัยทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผู้นำสหรัฐฯ อย่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ชาวยุโรปเหม็นขี้หน้าก็ใกล้หมดวาระแล้ว โดยสองปัจจัยนี้น่าจะส่งผลสำคัญต่อผลการสำรวจ
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลและข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องจากสื่อ (โดยเฉพาะสื่อตะวันตกที่ครอบโลกอยู่ในปัจจุบัน) ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 แจ็ค แคฟเฟอร์ตี (Jack Cafferty) นักวิเคราะห์ข่าวชั้นครูแห่งรายการ The Situation Room ทางสถานีโทรทัศน์เอียงข้างรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างซีเอ็นเอ็น จะหลุดปากพูดออกอากาศด่าสินค้าจีนว่าเป็น "ขยะ (Junk)" พร้อมกับดูหมิ่นรัฐบาลจีน (และอาจจะรวมถึงชาวจีน) ด้วยว่าเป็น "อันธพาลกวนเมือง (Goons and Thugs)" จนก่อให้เกิดการประท้วงจากชาวจีนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และยุโรปที่กดดันให้ผู้บริหารซีเอ็นเอ็น ไล่แคฟเฟอร์ตีออก [2]
ในประเทศไทยเอง แม้ว่ากระแสการพูดถึง "ภัยจีน" จะยังอยู่ในภาวะที่เงียบเชียบ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการพัฒนาของจีนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเปิดเสรีทางการค้าที่ทำให้เกษตรกรไทยต้องสูญเสียอาชีพ การไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีน รวมไปถึงประเด็นใหญ่ๆ อย่างเช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตจากการแย่งกันใช้ทรัพยากรจากลำน้ำโขง ที่ในช่วงหลังกลายเป็นเรื่องใหญ่จนผู้นำในภูมิภาคนี้ต้องจัดประชุมสุดยอดกันทุกปี
จริงๆ แล้วประเด็นและเรื่องราวเกี่ยวกับภัยจีนและการปั่นกระแสทฤษฎีภัยจีนที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงนั้นมีอีกมาก แม้ที่ผ่านมาผมก็เคยกล่าวถึงมาบ้างแล้วผ่านคอลัมน์นี้ ทว่าด้วยสถานการณ์โลกและสถานการณ์ข่าวสารในปัจจุบัน ผมคิดว่าโอกาสต่อๆ ไปน่าจะมีประเด็นให้พูดถึงเรื่องนี้บ่อยครั้งขึ้น
อ่านเพิ่มเติม
[1] Financial Times, China seen as biggest threat to stability, 14 เมษายน 2551
[2] ผู้จัดการออนไลน์, มังกรเค้นคำขอโทษจาก CNN กรณีหมิ่นจีนมีแต่สินค้าขยะ, อันธพาล, 16 เมษายน 2551
|
|
 |
|
|