|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2551
|
|
สำหรับคนกรุงเทพฯ ในวันเสาร์และอาทิตย์บางครอบครัวอาจเลือกที่จะนอนดูทีวีอยู่กับบ้าน บางบ้านอาจยกครอบครัวไปใช้เวลาอยู่ในห้างและเพลิดเพลินกับการชอปปิ้ง แต่จะดีแค่ไหนหากชาวกรุงเทพฯ จะมีอีกสถานที่ที่เป็นแหล่ง hang-out สำหรับครอบครัว ที่พ่อแม่จะได้จูงมือลูกหลานมาใช้เวลาว่างหาหนังสืออ่านและอ่านหนังสือร่วมกัน
มานั่งนึกถึงสถิติการอ่านหนังสือเทียบกับเพื่อนบ้านจากสำนักงานสถิติฯ ที่ระบุว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 2 เล่ม/คน/ปี ขณะที่คนสิงคโปร์อ่านหนังสือเฉลี่ยถึง 40-50 เล่ม/คน/ปี ส่วนคนเวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ยมากถึง 60 เล่ม/คน/ปี ... กับภาพที่เห็นคือ เด็กตัวเล็กตัวน้อยนั่งอ่านยืนอ่านนอนอ่านหนังสือแทรกตัวอยู่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวและผู้สูงวัยเต็มพื้นที่ออดิทอเรียมของศูนย์ประชุมสิริกิติ์ในเทศกาลสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา อาจพอเรียกได้ว่าเป็นภาพหนึ่งที่น่ายินดีไม่น้อยสำหรับสังคมไทย
แต่ก็ทำให้สงสัยว่าหลังจากงานสัปดาห์หนังสือฯ พวกเขาจะไปหาสถานที่เช่นนี้ได้ที่ไหนอีก!?!
ภาพคุณพ่อจูงมือลูกเล็กๆ พร้อมกับชี้ชวนดูหนังสือภาพ เด็กน้อยนอนเอกเขนกอ่านการ์ตูนบนเก้าอี้บุตัวใหญ่ ผู้ใหญ่บางคนยืนอ่านนิตยสารที่ชั้นวางหนังสือ กลุ่มวัยรุ่นนั่งล้อมวงดูตำราเรียนบนโต๊ะกลม ขาโจ๋เพลินอยู่กับการเลือกวรรณกรรมเล่มโปรด ขณะที่คุณแม่บางคนสาละวนอยู่กับตำราอาหารที่ถูกใจ
...ไม่ต้องรองานสัปดาห์หนังสือครั้งต่อไป ภาพ "หนอนหนังสือ" รวมตัวกันอย่างมีความสุขอย่างนี้เกิดขึ้นได้ทุกวันที่ "Double A Book Tower" ร้านหนังสือสแตนด์อะโลนของยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจกระดาษที่ชื่อ Double A
"เป้าหมายของเราในการเปิดร้านหนังสือขนาดใหญ่อย่างนี้ก็เพื่อสร้างไลฟ์สไตล์การอ่านให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ เป็นแหล่งที่ครอบครัว ได้มาใช้เวลาอ่านหนังสือร่วมกันแทนที่จะไปอยู่แต่ห้างหรือโรงหนัง" ชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง Double A บอกถึงเจตนารมณ์แรกเริ่มของตึกบุ๊กทาวเวอร์แห่งนี้
แน่นอนว่า ผลพลอยได้สำคัญที่ Double A จะได้เมื่อคนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น ก็ซื้อหนังสือกันมากขึ้น เมื่อหนังสือขายออกมากขึ้น การบริโภคกระดาษก็เพิ่มขึ้น... อาจเรียกว่าบุ๊กทาวเวอร์เป็นอีกช่องทางส่งเสริมการขายของ Double A แต่ก็เป็นช่องทางที่ทำให้สังคมมีผลประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกัน
ก่อนการเปิดตัวบุ๊กทาวเวอร์แห่งนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2549 ผู้คนที่คร่ำหวอดในแวดวงหนังสือและสำนักพิมพ์ถูกระดมมาเป็นที่ปรึกษาและใช้เวลาถกปัญหาในวงการและพูดคุยคอนเซ็ปต์กันอยู่นาน จนกลายเป็น "เมืองหนังสือ" ขนาดใหญ่ที่มีถึง 9 ชั้น เป็นพื้นที่ร่วม 6,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นส่วนที่สำนักพิมพ์เช่าพื้นที่ตกแต่งร้านเอง และส่วนที่สำนักพิมพ์ส่งหนังสือมาฝากขาย
จากตึกออฟฟิศเดิม Double A ลงทุนหลักร้อยล้านแปลงโฉมตึกให้ดูเป็นร้านหนังสือที่ดูทันสมัยและมีบรรยากาศสบายๆ เหมาะแก่การอ่านหนังสือ รวมถึงลงทุนติดตั้ง wi-fi เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ (ต้องใช้รหัสผ่าน แต่สมาชิกขอรหัสฟรีได้ที่เคาน์เตอร์)
แต่ละชั้นแบ่งเป็นโซนตามประเภทหนังสือ ชั้น 1 เป็น Top Hit Zone รวบรวมหนังสือขายดี หนังสือแนะนำจากทุกสำนักพิมพ์และนิตยสาร เหมาะกับคนที่มีเวลาจำกัด อีกชั้นที่ลูกค้าเยอะที่สุดคือ Kids Zone ชั้น 4 ซึ่งตกแต่งอย่างน่ารักสดใสสมกับเป็นชั้นเด็กเล็ก เป็นชั้น ที่รวบรวมหนังสือแม่และเด็ก พร้อมสื่อการเรียนการสอน และหนังสือสำหรับครอบครัว ส่วนหนังสือการ์ตูนและนวนิยายวัยรุ่นอยู่ที่ชั้น 6 Lively Zone หรืออยากจะหาหนังสือต่างประเทศก็ขึ้นไปชั้น 7 International Book Zone เป็นต้น
ขณะที่ชั้นที่ 9 เป็นห้องประชุมและห้องออดิทอเรียมสำหรับจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เปิดตัวหนังสือ งานเสวนา และอีเวนต์ต่างๆ อีกทั้งยังเปิดให้นักธุรกิจเช่าพื้นที่ประชุม ส่วนชั้น 8 เตรียมจะเปิดเป็น Education Zone สำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ
ระหว่างเลือกหาหรือนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ หากท้องหิวขึ้นมา ก็มีมุมอาหารให้ได้รองท้อง หรือพักสายตาด้วยการจิบกาแฟแกล้มขนม ก็ได้ที่ชั้น 1 และชั้น 7 (กำลังจะแบ่งพื้นที่เปิดเป็นร้านอาหารเร็วๆ นี้)
ด้วยจำนวนหนังสือวางขายที่มีมากกว่าล้านเล่ม อีกทั้งยังมีสำนักพิมพ์มารวมตัวกันมากกว่าพันแห่ง เมืองหนังสือแห่งนี้จึงเลือกใช้สโลแกนที่เป็นประหนึ่งสัญญาประชาคมว่า "อยากรู้ ได้รู้" มาพร้อมกับโลโกของผู้ใฝ่รู้อย่าง "นกฮูก"
ถึงแม้จะมีหนังสือจำนวนมากบนพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่การค้นหาหนังสือที่ร้านหนังสือนี้ก็ไม่ได้ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร เพราะที่นี่มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับค้นหาหนังสือ (search engine) ไว้ให้ลูกค้าอยู่ทุกชั้น โดยข้อมูลที่ได้จากการค้นหาไม่ใช่เพียงชั้น โซน และตำแหน่งบนชั้นวาง แต่เครื่องยังแสดงพิกัดบนแผนที่ให้ดูได้ด้วย
แต่ถ้ายังหาไม่เจออีกหรือหนังสือขาด ก็ยังสามารถฝากชื่อหนังสือให้เจ้าหน้าที่ช่วยค้นหาและเก็บไว้ให้ก็ได้ โดยเมื่อหนังสือเข้าหรือหาเจอแล้ว เจ้าหน้าที่ก็โทรแจ้งวันนัดมารับสินค้า
ชาญวิทย์เชื่อว่า ที่นี่น่าจะเป็นเมืองหนังสือที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวนหนังสือฝากขายและสำนักพิมพ์มากที่สุดในประเทศ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความภูมิใจให้แก่ผู้บริหาร Double A ได้มากเท่ากับโอกาสที่ได้ต่อลมหายใจให้กับหนังสือดีๆ และสำนักพิมพ์เล็กๆ ให้ "มีชีวิต" อยู่บนชั้นหนังสือได้นานขึ้น
"ร้านหนังสือตามห้างส่วนใหญ่จะมีพื้นที่จำกัด แต่ทุกวันนี้มีหนังสือใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ ทางร้านก็ต้องเปลี่ยนหนังสือเก่าออกไปเร็ว ทำให้หนังสือดีๆ บางเล่มโชว์ได้แค่สันปกและได้อยู่บนชั้นหนังสือแค่ระยะสั้นๆ เหมือนกับหนังดีๆ แต่เข้าฉายได้แค่อาทิตย์เดียวก็ต้องออกแล้ว คนก็ไม่ทันได้ดู แต่ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ หนังสือดีๆ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ ก็เลยพอจะมีช่องทางหายใจที่นี่" สีหน้าของเขาแสดงออกถึงความภูมิใจอย่างชัดเจน
กว่า 1 ปี ร้านหนังสือแห่งนี้มีฐานสมาชิกที่ทำบัตรกับทางร้านมากกว่า 65,000 คน ส่วนหนึ่งอาจเป็นสมาชิกของ Double A Rewards บางส่วนเป็นกลุ่มนักเรียนที่มาเยี่ยมชมในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ
แต่ก็มีจำนวนอีกไม่น้อยเป็นลูกค้าที่บังเอิญเดินเข้ามารอรับบุตรหลานจากโรงเรียนฝรั่งบนถนนสาทรและสีลม บ้างก็เป็นนักเรียนมารอ
ผู้ปกครองที่ทำงานออฟฟิศย่านสาทรรับกลับบ้าน แล้วเกิดติดใจจนต้องสมัครเป็นสมาชิก และแวะเวียนจนเป็นกิจวัตรทุกเช้าเย็น โดยร้านหนังสือ แห่งนี้เปิดบริการตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม
สำหรับชาญวิทย์ ยอดขายไม่ได้สำคัญไปกว่าจำนวนลูกค้าที่เข้ามาอ่านหนังสือ และใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งสังสรรค์ช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกเรียนของครอบครัวและกลุ่มเพื่อนฝูง โดยทุกวันนี้ จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่นี่เฉลี่ยสูงกว่าพันคนในวันธรรมดา และมากถึงสองพันคน ในวันเสาร์และวันอาทิตย์
แต่ดูเหมือนยังห่างไกลจากความฝันของเขาที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากมาเข้าคิวแน่นอยู่หน้าประตูเพื่อรอร้านหนังสือแห่งนี้เปิด... แทนที่จะเป็นภาพเด็กนักเรียนและวัยรุ่นยืนออรอห้างเปิดอย่างทุกวันนี้
|
|
|
|
|