วันที่ 29 มีนาคม 2532 ซึ่งเป็นวันประชุมของกรรมการ กนอ. เพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่จะต้องเลือกระหว่างฮุนไดฯ
กับอิตาเลียนไทยฯ นั้น มีตัวแทนของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเข้าชี้แจงด้วย 4
คน คือ รชฎ กาญจนะวณิชย์ สินธุ พูนศิริวงศ์ สหัส รัตนกุล (สต๊าฟทีมศึกษา)
โรเจอร์ อาชเบอร์นเนอร์ และโยชิกิ คามิย่า จากนิปปอนโคเอะ
ตัวแทนบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาได้ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่กรรมการ กนอ. ทั้งสองข้างซักถาม
มีจุดที่น่าสนใจในการโต้ตอบอยู่คือ
ประการที่หนึ่ง - บริษัทที่ปรึกษาได้เสนอ PRELIMINARY REPORT อย่างเป็นทางการต่อกรรมการเปิดซองเมื่อปลายเดือนธันวาคม
2531 ซึ่งได้ตัดผู้เสนอราคาไป 5 ราย เหลือ 3 ราย และยังชี้ถึงปัญหาที่ยังกระจ่างของฮุนไดฯ
ซึ่งอาจจะเป็น NON CONFORMING ได้ ซึ่งกรรมการเปิดซองขอให้ผู้ประมูลทั้ง
3 รายชี้แจงเพิ่มเติม
บริษัทที่ปรึกษาส่งรายงานฉบับ FINAL REPORT ให้กรรมการเปิดซองเมื่อ 15 กุมภาพันธ์
ยืนยันว่า ควรตัดฮุนไดฯ ออกไป เพราะเป็นการเสี่ยง ทั้งนี้เป็นผลจากการศึกษาและวิเคราะห์ของบริษัททางญี่ปุ่น
และย้ำว่า ความจริงแล้วควรตัดฮุนไดฯ แต่ต้น แต่ที่ให้พิจารณามาตลอดเพราะกรรมการเปิดซองเห็นว่าควรพิจารณาและบริษัทที่ปรึกษาก็เห็นด้วย
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาเลี่ยงที่จะกล่าวถึงรายงานฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์
2532 ที่มีคิชิดะมาชี้แจงเองบริษัทที่ปรึกษาย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ข้อเสนอแนะจะต้องยึดถือตาม
FINAL REPORT ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์เท่านั้น
ประการที่สอง - บริษัทที่ปรึกษายอมรับว่า การเสนอว่าอิตาเลียนไทยฯ เป็น
RECOMMENDED SUCCESSFUL BIDDER นั้นเป็นการเสนอข้ามขั้นตอน แต่บริษัทที่ปรึกษาอ้างว่าเป็นเพียง
"คำเสนอแนะ" เท่านั้น ขั้นตอนต่อไปคือการเจรจากับ กนอ.
ประการที่สาม - เรื่องการสร้างและเคลื่อนย้ายเคซอง ซึ่งจำนงค์ขอให้ทางบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเสนอรายละเอียดและวิธีการคำนวณว่า
มีความเสี่ยงที่จะล้มคว่ำหรือเกิดความเสียหายอย่างไร บริษัทที่ปรึกษาให้คำตอบที่น่าสนใจมากคือ
"ในการคำนวณเรื่องวิธีการก่อสร้างและเคลื่อนย้ายเคซองนั้น ได้จัดทำที่ประเทศญี่ปุ่นมิได้ส่งรายละเอียดมา
และได้เคยรายงานในขั้นตอนการประเมินผลการเปิดจองแล้วว่า หากต้องการรายละเอียดจริงก็จะแสดง
บริษัทที่ปรึกษายินดีจะร่วมมือ แต่ต้องให้เวลาในการนำเจ้าหน้าที่มาจากญี่ปุ่น
โดยขออนุมัติงบประมาณในการนี้ด้วย ถ้าจำเป็นต้องดำเนินการจริง"
เป็นการให้เหตุผลที่ตลกมาก เพราะต่อไปคงไม่ใช้เหตุผลใด ๆ ในการพิจารณา นอกจากอ้างว่า
"เหตุผลอยู่ที่ญี่ปุ่น" เท่านั้น เรื่องก็จบลงได้ นับเป็นการชี้แจงที่ขาดซึ่งข้อมูลประกอบการพิจารณาที่แจ้งชัดอย่างสิ้นเชิง
ส่วนกรรมการคนอื่นที่เห็นด้วยกับบริษัทที่ปรึกษาให้เหตุผลว่า เงื่อนไขและกฎเกณฑ์การประกวดราคาเป็นสิ่งสำคัญ
หากมีการกระทำผิดเงื่อนไข จะเป็นการกระทำผิดที่ผู้ประมูลรายอื่นอาจร้องเรียนได้
ส่วนบริษัทที่ปรึกษาก็เป็นบริษัทที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และแหล่งเงินกู้โออีซีก็รับรองแล้ว
อีกทั้งก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชาการเต็มความสามารถอีกด้วย ส่วนเรื่องสัดส่วนเงินตราต่างประเทศนั้น
ผู้แทนกระทรวงการคลังชี้ว่า การที่ฮุนไดฯ ใช้เงินบาทมากกว่าอาจทำให้รัฐต้องมีภาระในการหาเงินบาทมาสมทบ
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูง ดังนั้น ข้อเสนอของฮุนไดฯ ที่เสนอราคาต่ำกว่าจึงไม่เป็นจริง
ซึ่งจุดนี้ จำนงค์ตีว่า บริษัทที่ปรึกษากำหนดว่า สัดส่วนเงินตราต่างประเทศควรไม่เกิน
65% ซึ่งจะเป็นเท่าไรนั้น อยู่ที่การเจรจาต่อรองที่จะเป็นประโยชน์แก่รัฐมากที่สุด
เมื่อตกลงกันไม่ได้หลังจากที่ถกเถียงกันประมาณ 4 ชั่วโมง พลเอกบุลฤทธิ์ก็ใช้วิธีการโหวต
ทั้งที่ยังมีคำถามค้างคาต่อบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาอีกมากมาย ซึ่งอย่างน้อยบริษัทที่ปรึกษาก็รอดตัวไปไม่ต้องบินไปญี่ปุ่น
ไปเอาข้อมูลที่อ้างว่าเคซองของฮุนไดฯ จะล้มนั่นแหละ