|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2551
|
|
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส เอ่ยปากจะพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า "3G" ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น แต่ยังให้ความเร็วในการติดต่อสื่อสารทั้งทางเสียงและข้อมูลที่เร็วกว่าเดิม
ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยปัญหาการให้สิทธิ์ในการพัฒนาเครือข่ายที่ยังอยู่ในมือของหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ทำให้ทั้งเอไอเอสและอีกหลายค่ายผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ
แม้ผู้บริหารหลายค่ายจะพยายามออกมากดดันฝ่ายกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอยู่เนืองๆ แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เป็นผล ถึงขนาดวิกรม ศรีประทักษ์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของเอไอเอส เอ่ยในงานแถลงข่าววันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ว่า "ถ้าจะให้รอก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ใบอนุญาต"
ในวันแถลงข่าวที่ว่านั้น วิกรมและผู้บริหารอีกหลายชีวิตจึงตัดสินใจเปิดตัวบริการใหม่ที่ชื่อว่า "3GSM" ซึ่งเป็นบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เขายอมรับว่าเปิดตัวมาเพื่อ "ขัดตาทัพ" ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางให้บริการ 3G ที่ควรจะพัฒนาบนคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิรตซ์ จึงจะได้ประสิทธิผลมากที่สุด
ผู้ใช้จะสามารถรับและส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายของบริการใหม่ด้วยความเร็วสูงขนาด 7,200 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งแตกต่างจาก GPRS หรือ EDGE ปัจจุบันที่ให้ความเร็วเพียง 160 กิโลบิตต่อวินาที หรือต่างกันถึง 45 เท่า
ผู้บริหารทำการทดสอบระบบโทรศัพท์แบบเห็นหน้า (Video Call) และบริการดาวน์โหลดข้อมูลขนาดใหญ่ในลักษณะของวิดีโอคลิป หรือแม้แต่ดาวน์โหลดเพลง เพื่อให้ผู้คนได้เห็นประสิทธิภาพของเครือข่ายที่ดียิ่งขึ้นนี้ และเป็นการบอกทางอ้อมว่าหากเขาเปลี่ยนมาใช้ 3G แล้วชีวิตเขาจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างไรบ้าง
เอไอเอสใช้เงิน 600 ล้านบาท จากงบประมาณพัฒนาเครือข่าย 16,000 ล้านบาทในปีนี้ ไปกับการติดตั้งอุปกรณ์และทำการตลาดโปรโมตบริการใหม่ และตัดสินใจจะเปิดให้บริการในเชียงใหม่เป็นที่แรกในวันที่ 6 พฤษภาคม ในฐานะเป็นจังหวัดที่มีอัตราการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านมือถือเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ก่อนให้บริการในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนมิถุนายน และจะเปิดให้บริการ 3GSM เพียง 20 จังหวัดเท่านั้น
หลายคนมองว่าเอไอเอสไม่เพียงแต่จะตัดสินใจเปิดตัวบริการใหม่เพื่อขัดตาทัพระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตให้บริการ 3G เท่านั้น แต่ยังขัดตาทัพแบบที่ทำให้ฝั่งตรงกันข้ามที่จนป่านนี้ก็ยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องเดียวกันได้เห็นด้วยว่า เอไอเอสกำลังนำพวกเขาอยู่หนึ่งก้าว เพราะเอไอเอสหวังผลด้วยว่าหากมีความชัดเจนขึ้นมาเมื่อไร ส่วนที่ได้รับอนุญาตเพิ่มก็เพียงแต่รองรับจังหวัดที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการ แต่ 20 จังหวัดที่เคยได้รับบริการอยู่แล้วก็ยังคงใช้เครือข่ายเดิมที่เปิดบริการอยู่
นี่จึงเป็นรูปแบบของการขัดตาทัพแบบหวังผลในระยะยาวของเอไอเอส
|
|
|
|
|