|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2551
|
|
หลังจากชนะเลิศการประกวดออกแบบวางผังให้กับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศภูฏาน "ปฤษฐ" สถาปนิกวัย 30 ต้นๆ ที่หลายคนรู้จักในนาม "ดีเจเหวิ่น" กลายเป็นดาวรุ่งในวงการที่หลายคนพากันจับตามอง ยิ่งพอได้รู้ที่มาว่าเขาคนนี้เป็นสายเลือดแท้ๆ ของผู้นำยุคบุกเบิกวงการสถาปัตยกรรมบ้านเราอย่าง "ศ.ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา" ตัวตนของปฤษฐก็ยิ่งน่าค้นหา...
ในซอยสุขุมวิท 53 บนผืนดินเดียวกันกับบริษัทออกแบบ SJA-3D ของ ศ.ดร.สุเมธ ยังมีตึกขนาดกะทัดรัดรูปทรงแปลกตาซึ่งสถาปนิกใหญ่เคยออกแบบเพื่อเป็นโรงพิมพ์ ของพ่อ ม.ล.มานิจ ชุมสาย นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ และนักการศึกษาคนสำคัญของประเทศไทย เมื่อเลิกกิจการโรงพิมพ์ ตึกนี้ก็กลายเป็นห้องเก็บของเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2547 "ลูกไม้ใต้ต้น" ของสุเมธ ก็ลุกขึ้นมาแปลงโฉมตึกนี้เป็นออฟฟิศเล็กๆ ที่ตั้งบริษัทออกแบบของเขาเอง ใช้ชื่อว่า "Dymaxion Studio"
ที่มาของชื่อบริษัท นอกจากจะมาจากการสมาสของสองคำที่ปฤษฐถือเป็นหัวใจงานออกแบบของเขา ได้แก่คำว่า "dynamic" และ "maximum" ผู้คิดคำนี้ยังเป็นบุคคลที่มีความหมายกับเขาและพ่ออย่างมาก นั่นคือ R.Buckminster Fuller สถาปนิกชาวอเมริกันชื่อเสียงระดับโลก ผู้เป็นอาจารย์ ของพ่อและยังเป็นพ่อบุญธรรมของเขาด้วย
ท่ามกลางผลงานกว่า 200 ชิ้นของสถาปนิกผู้พ่อ ปฤษฐถูกใจในความคลาสสิกและความเป็นอมตะของดีไซน์ตึกที่เป็นออฟฟิศของเขามากที่สุด เพราะแม้จะผ่านมาร่วม 30 ปีเขาก็ยังรู้สึกว่าตึกนี้ยังไม่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา
ภายในออฟฟิศ พื้นที่ทำงานเปิดโล่งถึงกัน ไม่มีคอกกั้น มีชั้นหนังสือและโต๊ะยาวสำหรับระดมสมองอยู่กลางห้อง บรรยากาศจึงดูสบายเข้ากับสไตล์การแต่งตัวของคนทำงานที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่สวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์และรองเท้าผ้าใบ ดูผิวเผินพวกเขาอาจจะเหมือนทีมครีเอทีฟโฆษณามากกว่าสถาปนิก
"คนไทยมักติดว่าสถาปนิกต้องใส่สูทผูกไท ดูเครียด เป็นทางการ อาจจะเป็นเพราะมันดีลกับเงินจำนวนมาก แต่จริงๆ มันใช้จินตนาการค่อนข้างเยอะ" ปฤษฐออกตัว
แม้จะมีสถาปนิกเพียง 6 คน แต่ที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้ก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อย เช่น มูลนิธิดวงประทีป พระราชวังสวนผักกาด หรือลูกค้าคนดังอย่างประวิทย์ มาลีนนท์ อรุณี ศรีเฟื่องฟุ้ง โดยเฉพาะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เริ่มต้นจากให้ออกแบบพื้นที่หลังบ้าน ต่อมาก็ให้ปรับปรุงวังเก่าของท่านพ่อ และไม่นานนี้ก็เพิ่งเสนอโปรเจ็กต์โรงแรมที่หัวหินมาให้ เป็นต้น อีกทั้งยังมีงานออกแบบอีเวนต์และนิทรรศการที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงโครงการออกแบบ "Institute for Language and Culture Studies" ซึ่งจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งแรกของภูฏาน ที่ปฤษฐและทีมได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศในการประกวดออกแบบนี้ โดยรัฐบาลภูฏานยังวางแผนจะใช้ผังเมืองที่ชนะเลิศนี้เป็นต้นแบบในการวางผังเมืองต่างๆ ของประเทศอีกด้วย
จุดเด่นของผังที่ทำให้พวกเขาเอาชนะใจกรรมการชาวภูฏานมาได้ เกิดจากการผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ให้เข้ากับ "ซอง (Dzongs)" สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน เป็นกลุ่มอาคารที่มีสถานะเป็นได้ทั้งป้อมปราการ อารามหลวง และสำนักบริหารราชการเมือง โดยมีสนามหลวงเชื่อมโยงกลุ่มอาคารเข้าด้วยกัน สำหรับชาวภูฏาน "ซอง" ถือเป็นจิตวิญญาณของพวกเขา อีกทั้งผังเมืองของพวกเขายังใช้พื้นที่ได้คุ้มค่าอีกด้วย
เบื้องหลังชัยชนะครั้งนี้ สถาปนิกผู้พ่อไม่ใช่เพียงแค่ให้คำปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมาแล้วหลายแห่ง และแบ็กอัพข้อมูลประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศภูฏาน แต่ยังส่งสถาปนิก "มือดี" ที่เคยร่วมงานด้วยอย่าง ดร.ธนะ จีระ พิวัฒน์ และพรเทพ สุวรรณวีรกุล มาเป็น "พี่เลี้ยง" ร่วมอยู่ในบริษัทของลูก ที่สำคัญสุเมธยังเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสครั้งนี้ ให้ลูกได้สร้างชื่อบนสังเวียนนอกบ้าน
"ตอนแรกบริษัทวิศวกรรมที่เขามีพาร์ตเนอร์อยู่ในภูฏานมาคุยกับคุณพ่อ เพราะกฎข้อหนึ่งบอกว่าบริษัทที่จะร่วมประกวดผังเมืองครั้งนี้ต้องมีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทภูฏาน แต่พ่อเกษียณแล้วก็เลยแนะนำให้มาคุยกับผม"
อาจเรียกได้ว่า ศ.ดร.สุเมธ ทั้งวางแผน ปลูกฝัง และผลักดันให้ปฤษฐกระโจนเข้าสู่เส้นทางสถาปนิกสายนี้มาตั้งแต่เขายังเล็ก เพราะสมัยเด็ก บ้านของปฤษฐก็ตั้งอยู่บนออฟฟิศของพ่อ ขณะที่เด็กคนอื่นเล่นเลโก้ เขากลับได้เล่นโมเดลของพ่อ ขณะที่พ่อลูกคู่อื่นพากันเที่ยวเล่นตามห้างหรือ สวนสนุก แต่กิจกรรมของพ่อลูกคู่นี้คือการเข้าวัดเที่ยววังชมโบสถ์และดูงานที่ไซต์ก่อสร้าง เพื่อไปศึกษาสถาปัตยกรรมตามที่ต่างๆ
ไม่ว่า "ความเป็นสถาปนิก" จะถูกถ่ายทอดผ่านทางสายเลือดหรือถูกหล่อหลอมผ่านความสัมพันธ์กับพ่อตั้งแต่วัยเด็ก ปฤษฐยอมรับว่าบน "รอยทางของพ่อ" ทำให้เขาสบายกว่าเพื่อนหลายคนตั้งแต่ที่เขาเริ่มก้าวเข้าสู่ "ถนนสายนี้" เมื่อเปรียบเทียบผู้เป็นพ่อ ดูเหมือนว่าเส้นทางสถาปนิกของปฤษฐจะมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกันอยู่ไม่น้อย
ศ.ดร.สุเมธจากเมืองไทยไปใช้ชีวิตในปารีสในวัยเพียง 11 ปี อยู่ที่ฝรั่งเศสเพียง 3 ปีก็ไปใช้ชีวิตในอังกฤษอีก 14 ปี ขณะที่ปฤษฐบินไปอังกฤษตอนอายุราว 13 ปี และใช้เวลาเรียนอยู่นั่นนานถึง 14 ปี จนกระทั่งได้รับปริญญาโทใบที่สอง สาขา Architecture and the Moving Image จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งพ่อของเขาจบปริญญาเอกที่นี่ และเขาเองก็ตั้งใจจะเป็น "ดร." ให้ได้เหมือนพ่อ
สำหรับแนวทางและสไตล์การออกแบบ ผลงานของสถาปนิกพ่อลูกคู่นี้มีกลิ่นอายบางอย่างที่คล้ายกัน นั่นคือความแปลกใหม่ที่เกิดจากการนำเอาศิลปะมาผสมกับงานสถาปัตย์ที่ตอบสนองต่อฟังก์ชันใช้สอยและสิ่งแวดล้อมความโดดเด่นของผลงานของ ศ.ดร.สุเมธ ทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี 2541
"ผมมองว่าพ่อเป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมของประเทศไทย เป็นคนแรกๆ ที่ทำให้มีสถาปัตยกรรม สมัยใหม่ในบ้านเรา และทำให้เมืองนอกรับรู้ว่าเมืองไทยก็มีตรงนี้เหมือนกัน ผมเองก็อยากออกแบบอะไรที่ทำให้ทั่วโลกยอมรับและหันกลับมามองประเทศเรา ได้อย่างพ่อเหมือนกัน" แววตาของเขาแสดงถึงความปรารถนาที่แรงกล้า
แม้ปฤษฐจะภูมิใจและชื่นชมความเป็นมืออาชีพของพ่อ แต่เขาก็เลือกที่จะออกมาตั้งบริษัทของเขาเอง ด้วยเหตุผลว่า ไม่ต้องการถอดแบบหรือเติบโตภายใต้เบ้าหลอมของ "สถาปนิกคนอื่น" (แม้ว่าหนึ่งในนั้นจะเป็นพ่อของเขาเองก็ตาม) แต่อยากสร้าง "คาแรกเตอร์" ในงานของตัวเองและ ทำให้คนยอมรับใน "ตัวตน" ในแบบของเขามากกว่า เพราะอย่างน้อยปฤษฐก็ยังมีบางมุมที่ต่างจากพ่ออย่างสิ้นเชิง
ขณะที่พ่อชอบฟังเพลงคลาสสิก เขากลับลุ่มหลงกับดนตรีแนวเทคโนอย่างมาก กล่าวได้ว่าเขาอยู่ในยุคบุกเบิกดนตรีแนว "ดรัมแอนด์เบส" ที่มีทั้ง hiphop, breakbeat, electro, funky ฯลฯ ให้ขาโจ๋ชาวไทยได้รู้จัก โดยเริ่มต้นจากการเป็นดีเจเปิดแผ่นในงานปาร์ตี้ตามผับตั้งแต่ 10 ปีก่อน
จากช่วงแรกที่มักโดนไล่ออกจากผับหลายแห่ง ความพยายาม แนะนำดนตรีแนวนี้สู่นักปาร์ตี้ชาวกรุงเทพฯ ทำให้ 3 ปีต่อมา ผู้บริหารค่าย "Click Radio" ให้เขาเข้าไปเปิดเพลงแนวนี้บนหน้าปัดวิทยุ สถานภาพดีเจของเขาจึงเป็นที่รู้จักก่อนสถาปนิกนานหลายปี ถึงแม้วันนี้เขาจะ "เฟด" ตัวเองออกจากวงการเพื่อทุ่มเทเวลามาให้กับงานสถาปนิกอย่างเต็มตัว ... แต่ก็คงใช้เวลาสร้างชื่ออีกสักพักใหญ่ กว่าที่ภาพความเป็นสถาปนิกของเขาจะโดดเด่นชัดเจนเท่ากับภาพดีเจเปิดแผ่น
อันที่จริง ก่อนหน้าที่จะเป็นดีเจ ปฤษฐเคยเข้าวงการ บันเทิงด้วยการไปฝึกงานเป็นพิธีกรรายการเพลงในช่องทีวีของ Sky TV มาก่อนแล้ว และบุคคลที่เป็นผู้ผลักดันให้เขาเข้าสู่วงการนี้ก็คือ สถาปนิกชั้นบรมครูผู้พ่อของเขานี่เอง
ขณะที่ ศ.ดร.สุเมธชื่นชอบแนวทางศิลปะของศิลปินชาวสเปนอย่าง Pablao Picasso และมักนำแรงบันดาลใจจากปิกัสโสมาใช้ในงานออกแบบ จนได้รับฉายา "Tropical Picasso" แต่ดูเหมือนว่า "role model" ทางด้านศิลปะของปฤษฐจะเป็นศิลปินแนวป๊อบอาร์ตชาวอเมริกัน ผู้ที่ได้รับ ยกย่องเป็นผู้นำแห่งโลกศิลปะยุคใหม่อย่าง Andy Warhol โดยวอร์ฮอลน่าจะเป็นต้นแบบในเรื่อง "ความกล้า" ที่จะฉีกกรอบจารีตเดิมของสังคมยุคนั้น และยังกล้าที่จะข้ามผ่านพรมแดนศิลปะจากแขนงหนึ่งที่ถนัดไปสู่อีกแขนงเพื่อผลิตสิ่งที่เรียกว่า "ศิลปะใหม่" ซึ่งในยุคนั้นอาจหาผู้กล้าอย่างนี้ไม่ได้ง่ายนัก
แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ที่ศิลปินมักข้ามพรมแดนศิลปะที่ตนถนัดไปยังศิลปะอื่นๆ เช่น ศิลปินกราฟิตี้ชื่อดังอย่าง Gajin Fujita ที่กระโดดคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนสีสันจัดหน้าตากวนกับรองเท้าไนกี้รุ่นลิมิตเต็ด ลูกเล่นของลวดลายดูแปลกตา หรือ Takeshi Murakami ศิลปินผู้ออกแบบ Cherry Blossom Collection ของกระเป๋าหลุยส์วิตตอง ที่เล่นสนุกลุกมาออกแบบสเกตบอร์ด ลายเส้นการ์ตูนน่ารัก เป็นต้น
ด้วยความลุ่มหลงในศิลปะใหม่นี้ของปฤษฐ ภายในห้องพักของเขาจึงเต็มไปด้วยของสะสมแนวนี้อยู่หลายชิ้น เพื่อชื่นชมกับความงามของศิลปะประเภทใหม่และค้นหาวัฒนธรรมใหม่ที่แฝงอยู่ในของแต่ละชิ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคอนเซ็ปต์การออกแบบและผลงานดีไซน์ของเขาไม่มากก็น้อย
"ผมอยากให้คนไทยเข้าใจว่า งานสถาปัตย์ก็เป็นศิลปะอีกแขนง เป็นงานประติมากรรมเพื่อการอยู่อาศัย ไม่เหมือนกับงานวิศวกรรมที่ต้องเป็นสูตรตายตัว และเมื่อมันเป็นงานศิลปะก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องคิดอะไรใหม่ๆ" แนวคิดของปฤษฐจึงเริ่มได้รับการยอมรับและถูกใจของเหล่าลูกค้าหนุ่มสาวยุคดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ
ปฤษฐยอมรับว่า ความเป็นศิลปินและความเป็นสถาปนิกในตัวเขา ส่วนหนึ่งได้รับมาจากพ่อของเขา แต่ก็มีอีกส่วนที่มาจากแนวทางของเขาเอง ซึ่งอาจจะมากกว่าส่วนแรกด้วยซ้ำ เพียงแต่ส่วนหลังที่ถือเป็น "ตัวตน" ของเขา อาจต้องใช้เวลาค่อยแสดงออกมาเพื่อพิสูจน์และทำให้คนยอมรับว่า บนความเหมือน เขาเองก็มีบางอย่างที่ต่าง และบนความต่าง เขาเองก็มีจุดดีบางอย่างที่เหมือนกับพ่อ... ทั้งสองส่วนนี้จึงจะเรียกว่าเป็นตัวตนของ "ปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา"
|
|
|
|
|