รัฐบาลไทยเริ่มกู้เงินจากญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2512 โดยผ่านองค์กรของรัฐบาล
2 องค์กร คือ หนึ่ง - กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น หรือ
โออีซีเอฟ (OVERSEAS ECONOMIC COOPERATION FUND OF JAPAN) สอง - ธนาคารส่งออก
- นำเข้าของญี่ปุ่น หรือ EXIM BANK (EXPORT - IMPORT BANK OF JAPAN)
จากการศึกษาของปราณี ทินกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พบว่า เงื่อนไขเงินกู้จากญี่ปุ่นมีความน่ากู้มากกว่าแหล่งเงินกู้แห่งอื่น
และเมื่อเทียบแหล่งเงินกู้ของญี่ปุ่นด้วยกันเองแล้ว โออีซีเอฟมีเงื่อนไขการกี่น่าสนใจที่สุด
เพราะเงื่อนไขเงินกู้ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ย ระยะไถ่ถอน ระยะปลอดหนี้มีลักษณะผ่อนปรนกว่าทุกแห่ง
เช่น ระยะเวลาใช้คืนนาน 30 ปี มีระยะปลอดหนี้ถึง 10 ปี ดอกเบี้ยอยู่ในระดับ
3.0 - 3.5% ซึ่งต่ำกว่าธนาคารโลก นอกจากนี้โออีซีเอฟก็ยังไม่มีค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ที่ผู้กู้ต้องจ่ายเพื่อผูกพันเงินกู้ไว้
แม้จะยังไม่ได้เบิกใช้เงินกู้ก็ตาม ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้เคยทำให้ไทยมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นถึง
310 ล้านบาทในปี 2526
แต่ประเด็นสำคัญ คือ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งแหล่งเงินกู้หลายแหล่ง
เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชียจะไม่มีการผูกมัดในเรื่องการจัดซื้อหรือจ้างเพียงแต่ต้องเป็นการเปิดประมูลโดยทั่วไป
(INTERNATIONAL BIDDING) เท่านั้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แก่บริษัทที่ปรึกษาและผู้รับเหมาทั่วไป
ส่วนโออีซีเอฟมีข้อผูกมัดในเรื่องการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งจะต้องเป็นบริษัทในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
ซึ่งเท่านี้ก็มากพอที่จะเข้ามายึดกุมธุรกิจหรืองานก่อสร้างของไทย เพราะบริษัทไทยยังมีศักยภาพไม่เพียงพอในโครงการก่อสร้างใหญ่
ๆ จึงต้องยกให้บริษัทญี่ปุ่นไปและในความรู้สึกของคนไทย บริษัทที่ปรึกษามีบทบาทและอำนาจมากพอที่จะชี้เป็นชี้ตายโครงการต่าง
ๆ ได้ทันใด เช่น การคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาดังที่ปรากฏในโครงการท่าเรือมาบตาพุด
จากข้อมูลผลการวิจัยเรื่อง "ธุรกิจก่อสร้างญี่ปุ่นในไทย" ของสถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า โครงการก่อสร้างที่ได้จากญี่ปุ่นโดยเฉพาะโออีซีเอฟในช่วงปี
2512 - 2530 มี 56 โครงการเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณเกินกว่าหมื่นล้านเยนถึง
26 โครงการ
ในจำนวน 56 โครงการนี้ บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นเป็นผู้รับงานไปเสีย 26 โครงการ
เป็นของอิตาเลียนไทยฯ ซึ่งหลายโครงการก็เป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่นอีก 13 โครงการ
อีก 4 - 5 โครงการรับเหมาโดยบริษัทคนไทยและประเทศตะวันตก ที่เหลือเป็นโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนปฏิบัติการด้านอื่น
ๆ
โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกทุกโครงการเป็นเงินที่กู้มาจากโออีซีเอฟเป็นเงินกว่า
47,500 ล้านเยน ซึ่งโครงการสำคัญที่ปรกาฏชัดแล้วเป็นฝีมือรับเหมาโดยอิตาเลียนไทยฯ
ร่วมกับญี่ปุ่นเกือบทั้งสิ้น
โดยอำนาจเงินกู้จากญี่ปุ่น บริษัทที่ปรึกษาก็ญี่ปุ่น และความเปราะบางของความสามารถของบริษัทผู้รับเหมาไทยที่อ่อนแอเกินกว่าจะไปสู้บริษัทรับเหมาญี่ปุ่น
องค์ประกอบเหล่านี้คือจุดชี้ขาดที่ทำให้บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นหรือบริษัทไทยร่วมทุนญี่ปุ่นครอบงำธุรกิจก่อสร้างไทย
นั่นคือ ความชาญฉลาดของหมอชัยยุทธที่เลือกสหายถูกข้าง แต่เป็นความซวยของฮุนไดฯ
ที่ดันมาช้าไปเกือบ 30 ปี !