|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2551
|
|
ราคาอาหารที่แพงลิบลิ่วกำลังสร้างความอดอยากยากแค้นและความปั่นป่วนไปทั่วโลก และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างถึงราก
วิกฤติความอดอยากในอดีตมักเกิดจากการเก็บเกี่ยวพืชผลตกต่ำเนื่องจากสงครามหรือความรุนแรง และมักจำกัดอยู่เพียงที่ใดที่หนึ่ง โดยจะส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อคนที่ยากจนที่สุดเท่านั้น แต่ภาพของความหิวโหยในวันนี้แตกต่างไป โครงการอาหารโลก (WFP) หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติชี้ว่า นี่คือ "สึนามิเงียบ" เพราะคลื่นแห่งปัญหาราคาอาหารแพงได้โหมกระหน่ำไปทั่วโลก ก่อให้เกิดการจลาจลและถึงขั้นสั่นสะเทือนรัฐบาล นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่การประท้วงราคาอาหารแพงเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศพร้อมกัน
ในอดีตความอดอยากหมายถึงการไม่มีอาหารกิน แต่มาตรวัดความอดอยากของวิกฤตอาหารในวันนี้ คือ ความเดือดร้อน และการได้รับอาหารไม่ครบโภชนาการ ชนชั้นกลางในประเทศยากจนกำลังตัดรายจ่ายด้านสุขภาพและอาหารเนื้อสัตว์ เพื่อจะให้มีกินครบ 3 มื้อเช่นเดิม คนจนปานกลาง คือผู้ที่มีรายได้ 2 ดอลลาร์ต่อวัน ต้องเอาลูกออกจากโรงเรียนและเลิกซื้อผัก เพื่อให้มีเงินพอซื้อข้าว ส่วนคนจนกว่าคือมีรายได้ 1 ดอลลาร์ต่อวัน ต้องตัดทั้งเนื้อ ผัก หรือแม้กระทั่งอาหารอีกหนึ่งหรือสองมื้อ เพียงเพื่อจะให้มีข้าวกินวันละชาม แต่คนที่จนที่สุดคือมีรายได้เพียง 50 เซ็นต์ต่อวัน กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
มีคนประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก ที่มีรายได้เพียงวันละ 1 ดอลลาร์ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคนที่ยากจนโดยสิ้นเชิง หากค่าอาหารเพิ่มขึ้น 20% คนจนกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 100 ล้านคน หลายประเทศพยายามลดความยากจนมานานหลายสิบปี แต่วิกฤติราคาอาหารแพงในครั้งนี้กลับทำให้ความสำเร็จนั้นหายไปในชั่วพริบตา ตลาดอาหารที่ปั่นป่วนวุ่นวาย การก่อจลาจลของชาวบ้านที่เดือดร้อน และการเปิดเสรีการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบ ทำให้วิกฤติอาหารโลกในปีนี้อาจส่งผลกระทบไปถึงโลกาภิวัตน์ด้วย
ประเทศร่ำรวยต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาอาหารแพงเท่าๆ กับการแก้ปัญหาวิกฤติสินเชื่อโลก ธนาคารโลกและสหประชาชาติ เริ่มเรียกร้องให้มี "ข้อตกลงใหม่" ด้านอาหาร แต่การหาทางช่วยเหลือปัญหาวิกฤติอาหารให้ถูกจุดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาหารไม่ใช่ปัญหาที่สามารถจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการเดียว และความช่วยเหลือบางอย่างที่จำเป็นในขณะนี้ อาจเสี่ยงต่อการทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้นในระยะยาว
ราคาอาหารแพงส่งผลกระทบหนักในบางแห่ง ประเทศส่งออกอาหารและประเทศที่เกษตรกรพึ่งตนเองได้ หรือเป็นผู้ขายสุทธิ กลับได้รับประโยชน์จากวิกฤติราคาอาหารครั้งนี้ แต่ประเทศที่อยู่ในแอฟริกาตะวันตกซึ่งนำเข้าอาหาร หรือประเทศอย่างบังกลาเทศ ซึ่งชาวนาไร้ที่ดินทำกิน คือผู้ที่เดือดร้อนหนัก และเสี่ยงต่อการเกิดจลาจล
การช่วยเหลือขั้นแรกจึงควรต้องปะชุนรูโหว่ของตาข่ายความปลอดภัยของโลก ได้แก่ การบริจาคเงินให้แก่โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (WFP) ซึ่งเป็นผู้แจกจ่ายอาหารช่วยเหลือคนจนรายใหญ่ที่สุดในโลก และนับเป็นปราการที่สำคัญที่สุด ที่ช่วยสกัดกั้นความหิวโหยไม่ให้ลุกลามกลายเป็นความอดอยาก สภาพของ WFP ขณะนี้ไม่ต่างกับครอบครัวที่มีรายได้เพียงวันละ 1 ดอลลาร์ในชาติกำลังพัฒนา นั่นคือ อำนาจซื้อลดลงเนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้น ในการจะสามารถแจกจ่ายอาหารช่วยคนจนทั่วโลกให้ได้เท่ากับปีที่แล้วนั้น WFP ต้องการเงินเพิ่มขึ้นอีก 700 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
นอกจากนี้ WFP ควรขยายบทบาทจากการเป็นเพียงผู้แจกอาหาร ซึ่งแม้เป็นเรื่องจำเป็นในการช่วยเหลือฉุกเฉิน แต่ในระยะยาวกลับจะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ตลาด ทางแก้ที่ดีกว่าน่าจะเป็นการช่วยทำให้ราคาอาหารลดลง โดยที่ไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อเกษตรกร WFP จึงควรเพิ่มบทบาทในการแจกจ่ายเงินด้วย โดยการสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการคุ้มครองสังคมและโครงการทำงานแลกอาหารสำหรับคนยากจน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีหน้าที่หลักในการให้เงินทุนสนับสนุนโครงการช่วยเหลือคนจนเหล่านั้นต้องเป็นรัฐบาลของแต่ละประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ WFP เพียงแต่ช่วยเสริมเท่านั้น
วิกฤติอาหารโลกในปีนี้ยังเผยให้เห็นความล้มเหลวของตลาดในทุกข้อต่อของห่วงโซ่อาหาร "ข้อตกลงใหม่" ด้านอาหาร ที่กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาถกในขณะนี้ ควรจะหาทางแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งกำลังถ่วงเกษตรกรให้ก้าวถอยหลังด้วย กล่าวคือ ต่อไปนี้รัฐบาลควรจะเปิดเสรีให้แก่ตลาด ไม่ใช่พยายามจะแทรกแซงตลาดต่อไปอีก ที่ผ่านมา ตลาดอาหารถูกรัฐบาลแทรกแซงแทบทุกจุด ตั้งแต่การให้เงินอุดหนุนแก่โรงสีเพื่อรักษาราคาขนมปังให้ถูก จนถึงการติดสินบนเกษตรกรให้ปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่า ผลของการกำหนดโควต้า เงินอุดหนุนและการควบคุมอาหารของภาครัฐ เป็นการผลักความไม่สมดุลต่างๆ เหล่านั้น ให้เป็นภาระต่อส่วนของห่วงโซ่อาหารที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ นั่นคือ ตลาดโลก
ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การบิดเบือนตลาดอาหารของรัฐบาลกดให้ราคาอาหารในโลกอยู่ในระดับต่ำ และทำให้เกษตรกรที่ยากจนขาดแรงจูงใจที่จะเพิ่มผลผลิต แต่การบิดเบือนตลาดของภาครัฐครั้งล่าสุดกลับให้ผลตรงข้ามกับที่กล่าวมา การอุดหนุนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในชาติร่ำรวย กลับดันให้ราคาอาหารสูงทะลุเพดาน รัฐบาลหลายชาติยังซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้นอีก ด้วยการกำหนดโควตาส่งออกและตั้งข้อจำกัดทางการค้า ทำให้ราคาอาหารยิ่งทะยานสูงขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาภาครัฐมักอ้างว่า การเปิดเสรีการเกษตรจะทำให้ราคาอาหารแพง แต่ขณะนี้ราคาอาหารกำลังแพงลิบลิ่ว จึงกลายเป็นว่าการเปิดเสรีการเกษตรกลับจะลดราคาอาหารลง และทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น
แม้ภาครัฐจะไม่ควรแทรกแซงตลาดเกษตร แต่ควรมีหน้าที่ในการให้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานแก่เกษตรกร ด้วยการเข้ารับภาระในการจัดทำโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่เกินกำลังของเกษตรกรรายย่อยที่ยากจนจะดำเนินการเองได้ และสนับสนุนทางการเงินแก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อช่วยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่า
ภาคเกษตรกรรมในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง โลกที่อาหารมีราคาถูกได้ผ่านไปแล้ว และกำลังจะเข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่ แต่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงจากดุลยภาพเก่าเข้าสู่ดุลยภาพใหม่นั้นกำลังสร้างความเจ็บปวดอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไปถึง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นและรัฐบาลควรหาทางผ่อนคลายความเจ็บปวดของการเปลี่ยนแปลงนั้น มากกว่าจะคิดหยุดยั้งกระบวนการดังกล่าว
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ดิ อีโคโนมิสต์ 17 เมษายน 2551
|
|
|
|
|