Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2532
ประมูลอื้อฉาว 1,782 ล้าน ท่าเรือมาบตาพุด"คำสั่งเหนือเมฆ" ชัยยุทธ-บุลฤทธิ์-บรรหาร             
โดย นพ นรนารถ
 

 
Charts & Figures

โครงการก่อสร้างที่สำคัญตามโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก


   
www resources

โฮมเพจ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
โฮมเพจ นิคมอุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุด

   
search resources

อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์, บมจ.
ฮุนได เอนจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น
นิคมอุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุด
คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม
Auctions




ฮุนไดฯ นั้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างของโลก เพิ่งเคลื่อนย้ายทัพมาตีเมืองไทยไม่นานมานี้ แต่เพราะความที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้ คลำทางไม่ถูก รายการ "จัดฉาก" จึงเกิดขึ้น ยักษ์ที่ว่าแน่อย่างฮุนไดฯ จึงคลำลึกโดยกระบวนการที่เล่นเกมตามกันอย่างมีระบบ ความหมายของมันก็คือ ธุรกิจก่อสร้างในไทยผูกขาดโดยญี่ปุ่น ออกแบบโดยญี่ปุ่น เงินกู้ญี่ปุ่น บวกกับบารมีของหมอชัยยุทธ กรรณสูต "คนที่ไม่เคยยอมแพ้ใคร" และข้าราชการการเมืองที่ประสานเสียงขานรับอย่างพร้อมเพรียง การประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของกระบวนการดังกล่าวตอกย้ำถึงความเป็นจริงที่ว่า "แผ่นดินนี้มีคนจอง อย่ามาสะเออะเสียให้ยาก" !

แผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเริ่มลงมือวางแผนและปฏิบัติกันอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2524 โดยมุ่งพัฒนาพื้นที่แถบนี้เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ กระจายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคอย่างมีระบบ

การพัฒนาตามโครงการดังกล่าว แบ่งเขตการพัฒนาเป็นสองส่วน คือ พื้นที่บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ กำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย และเป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่สำคัญและเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีการนำเข้าวัตถุดิบและส่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออก ด้วยเหตุนี้ บริเวณมาบตาพุดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหลักดังกล่าว

ส่วนที่สอง คือ พื้นที่บริเวณแหลมฉบัง เนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ กำหนดให้เป็นแหล่งที่ตั้งท่าเรือพาณิชย์และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในบริเวณมาบตาพุดและแหลมฉบังรวมแล้วมีทั้งสิ้น 16 โครงการที่สำคัญ ๆ ก็คือ นิคมอุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุด ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ท่อส่งน้ำดอกราย - มาบตาพุด ทางรถไฟสายมาบตาพุด - สัตหีบ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบัง ทางรถไฟศรีราชา - แหลมฉบัง เป็นต้น นอกจากนั้น เป็นโครงการสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า และถนนสายใหม่ชลบุรี - พัทยา

โครงการและแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมดมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (สพอ.) ซึ่งมี สาวิตต์ โพธิวิหค เป็นผู้อำนวยการ เป็นฝ่ายปฏิบัติประสานนโยบาย กรรมการชุดนี้มีนายกฯ เป็นประธาน และเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง แต่โดยลักษณะการดำเนินงานแล้ว ทั้ง 16 โครงการจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแยกย่อยกันออกไปตามบทบาทและหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทยรับผิดชอบท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง กรมโยธาธิการรับผิดชอบโครงการท่อส่งน้ำหนงอค้อ - แหลมฉบัง กรมชลประทานรับผิดชอบโครงการท่อส่งน้ำดอกราย - มาบตาพุด และโครงการท่อส่งน้ำมาบตาพุด - สัตหีบ การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบโครงการทางรถไฟสายศรีราชา - แหลมฉบัง และมาบตาพุด - สัตหีบ หน่วยงานเหล่านี้จะรับผิดชอบดูแลในการจัดหาบริษัทวิศวกรผู้ออกแบบ ดำเนินการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ควบคุมงานก่อสร้าง โดยจะต้องรายงานความคืบหน้าและมติต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานต่อ สพอ.

ในบรรดา 16 โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกมีอยู่ 4 โครงการที่จัดว่าเป็นหัวใจหลักของแผนการทั้งหมด โครงการแรก คือ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ซึ่งการท่าเรือฯ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบไปแล้ว ส่วนอีก 3 โครงการที่เหลือ คือ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งรวมมูลค่าเฉพาะค่าก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ เกือบ 4,000 ล้านบาท อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานเดียว คือ "การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย"

สองโครงการแรก คือ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุดนั้น การนิคมอุตสาหกรรมหรือ กนอ. ได้คัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างไปเรียบร้อยแล้ว จึงยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างทั้งคู่ ที่มาบตาพุดมีกำหนดเสร็จในเดือนธันวาคม 2532 ที่แหลมฉบังกำหนดเสร็จกันยายน 2533

แต่โครงการที่โยกโย้และอื้อฉาวเอามาก ๆ และกลายเป็นเรื่องที่วุ่นไม่จบใน กนอ. ก็คือ การประมูลคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมูลค่า 2,000 ล้านบาท และระหว่างเดินเรื่อง "ผู้ใหญ่" ใน กนอ. หลายคนก็มีแผลฝากกันไว้แต่ละฝ่ายไม่น้อยเลย

ยิ่งกว่านั้น ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดกลายเป็นสมรภูมิศักดิ์ศรีข้ามชาติระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และการเจรจาต่อรองที่เกิดขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพลิกโผอย่างน่าเกลียด !

การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดเริ่มล่าช้ามา ตั้งแต่เมื่อรัฐบาลลังเลในโครงการปุ๋ยแห่งชาติที่ยึกยักจนโครงการเกือบจะกลายเป็นปุ๋ยตามชื่อการตัดสินที่จะลงทุนสร้างท่เารือมาบตาพุดจึงล่าช้าตามไปด้วย เพราะโครงการปุ๋ยแห่งชาติถูกวางว่าจะเป็นลูกค้ารายใหญ่และมีความจำเป็นในการใช้ท่าเรือมากที่สุด การขาดโครงการปุ๋ยแห่งชาตไปอาจทำให้การก่อสร้างท่าเรือไม่คุ้มค่าในการลงทุน

แต่ในที่สุด รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมีประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตีอุตสาหกรรมขณะนั้น ก็ยืนยันที่จะก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดต่อไป เพราะแม้จะขาดโครงการปุ๋ยแห่งชาติไป แต่ก็มีบริษัทและโรงงานประเภทอื่นกระตือรือร้นที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ในบริเวณนิคมมาบตาพุด ซึ่งล้วนแต่มีความจำเป็นต้องใช้ท่าเรือน้ำลึกทั้งสิ้น คือ บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ บริษัทไทยแลนด์แทนทาลัม บริษัททุนเท็กซ์ บริษัทไทยชิพเพลท โครงการอู่ต่อเรือจากไต้หวัน และโครงการปิโตรเคมีขั้นที่ 2

ทั้งนี้ แบบของท่าเรือมาบตาพุดได้ลดขนาดลงมาตามความจำเป็นในขณะนี้ คือ มีท่าสินค้าทั่วไป (ท่าสินค้าเกษตร-สินแร่) จำนวน 1 ท่า ความยาวหน้าท่า 330 เมตร รองรับเรือขนาด 20,000 ตัน และท่าสินค้าเหลว (ปิโตรเคมีและก๊าซ) จำนวน 2 ท่า ความยาวหน้าท่า 320 เมตร รองรับเรือขนาด 8,000 ตัน ประมาณการลงทุนค่าก่อสร้างไว้ 1,714 ล้านบาท แต่ตั้งราคากลางในการคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาไว้ในราคา 2,205,199,840 ล้านบาท

ฉากที่หนึ่งของโครงการประมูลทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2531 อันเป็นวันยื่นซองประกวดราคา ความฮือฮาปรากฏขึ้นเมือ่สองคู่แค้นคู่ปรับจากกรณีประมูลก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังกลับมาเจอกันอีก คือ บริษัทอิตาเลียนไทยดีเวลล็อปเม้นท์ของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูตร กับบริษัทฮุนไดเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ในครั้งนั้น อิตาลเยนไทยฯ ชนะการประมูลไปด้วยราคา 2,049.91 ล้านบาท ทั้งที่เสนอราคาสูงกว่าฮุนไดฯ ซึ่งเสนอในราคา 1,985.26 ล้านบาท ต่ำกว่าอิตาเลียนไทยฯ 46.65 ล้านบาท แต่ฮุนไดฯ ก็ถูกตัดสิทธิ์ด้วยปัญหาทางเทคนิค บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเห็นว่า การเคลื่อนย้ายเคซอง (CAISSON) หรือฐานรากบริเวณหน้าท่าความเสี่ยงอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ (กรณีประมูลก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังนี้ศึกษาได้จาก "ชัยยุทธ กรรณสูต ปีทองของอิตัลไทยกรุ๊ป สูงสุดคืนสู่สามัญ" จาก "ผู้จัดการ" เดือนธันวาคม 2530 โดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ)

กรณีท่าเรือมาบตาพุด บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาประเมินราคากลางสำหรับการประมูลไว้ที่ 2,205,199,840 บาท มีผู้ยื่นซองประกวดราคา 8 ราย บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด คือ บริษัทฮุนได เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ราคา 1,667 ล้านบาท อันดับสอง บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล้อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น เสนอราคา 1,782 ล้านบาท อันดับสาม บริษัทโอบายาชิ คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น เสนอราคา 1,860.8 ล้านบาท

อันดับสี่ บริษัท PHILIPP HOLZAMAN AKTICNGESELISCHAFT ซึ่งเป็นบริษัทจากเยอรมนี เสนอราคา 2,022.3 ล้านบาท อันดับห้า HOLLANDSCHE AANNEMING MAATSCHAPPIT B.V. จากเนเธอร์แลนด์ เสนอราคา 2,117.06 ล้านบาท อันดับหก บริษัทอาร์ชิโรดอนคอนสตรัคชั่น (โอเวอร์ซี) จากญี่ปุ่น เสนอราคา 2,149.05 ล้านบาท อันดับเจ็ด บริษัทชิมูซู คอนสตรัคชั่น จากญี่ปุ่น เสนอราคา 2,830.8 ล้านบาท อันดับแปด บริษัทคาวาซากิ สตีล คอร์ปอเรชั่น เสนอราคา 3,241.2 ล้านบาท

ในช่วงเวลานั้น หลังจากเปิดซอง ทุกคนคาดหมายว่า ฮุนไดฯ จะเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนี้อย่างแน่นอน เพราะเสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่งขันอันดับสอง คือ อิตาเลียนไทยฯ ถึง 115 ล้านบาท ขณะที่กรณีท่าเรือแหลมฉบังราคาต่างกันเพียง 46.65 ล้านบาท โอกาสเปลี่ยนแปลงพอมีได้

แต่สำหรับบางคนเงิน 115 ล้านนั้น ไม่มีค่า มองข้ามไปได้ ถ้าจะพลิกโผกันเสียอย่าง !

บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ประกอบด้วย บริษัทนิปปอนโคเอะ บริษัทสินธุ พูนศิริวงศ์ คอนซัลแตนท์ และบริษัทอาร์เควี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ ของ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ ทั้งสามบริษัทได้ร่วมกันออกแบบและวางหลักเกณฑ์การก่อสร้างมาแต่เริ่ม จนถึงขั้นพิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งพิจารณาจากผู้ยื่นซองประมูลตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2531 รวมเวลาในการพิจารณาจนถึงวันสรุปเกือบ 2 เดือน

ทีมงานของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับผิดชอบการประมูลผลบริษัทผู้รับเหมานั้น ประกอบด้วย เค.คิชิดะ เป็น PROJECT MANAGER ดูแลด้านเทคนิค โรเจอร์ อาชเบอร์นเนอร์ สต๊าฟฝ่ายบริษัทสินธุ เป็น CONTRACTS ENGINEER ด้านกฎหมาย เอส.โควี่ เป็น CONTRACTS ENGINEER ดูแลด้านกฎหมาย อาร์.นิชิมูระ เป็น MARINE DESIGN ENGINEER ดูแลด้านเทคนิค โอ.โอกูโบ เป็น BACKUP SUPPORT ดูแลเรื่องทั่วไป นอกนั้นเป็นคนไทยอีก 3 คนซึ่งดูแลเรื่องกฎหมายและไฟฟ้า/เครื่องกล

ดูชื่อแล้ว ทีมงานที่ชี้เป็นชี้ตายโครงการนี้ เป็นญี่ปุ่นเสีย 3 ใน 8 คน แต่เป็น 3 คนที่ควบคุมจุดสำคัญ คือ ด้านเทคนิคเสียด้วย !

บริษัทที่ปรึกษาได้ส่งรายงาน BID EVALUATION REPORT ประทับตรา PRELIMINARY ให้คณะกรรมการเปิดซองของ กนอ. ซึ่งมี จำนง พนัสจุฑาบูลย์ เป็นประธานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และยังได้ส่ง คิชิดะ เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการเปิดซองอีก 2 ครั้งด้วย คือ การประชุมครั้งที่ 3/2532 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 และครั้งที่ 4/2532 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532

บทสรุปของรายงานดังกล่าว สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า "หลังจากที่ได้วิเคราะห์ในรายละเอียด รวมถึง CLARIFICATION RESPONSES แล้ว คณะที่ปรึกษาสรุปว่า อันดับของผู้ประมูลเป็นดังนี้ อันดับ 1 ฮุนไดฯ (LOWEST EVALUATED BID) อันดับ 2 อิตาเลียนไทยฯ อันดับ 3 โอบายาชิฯ"

แม้แต่บทสรุปสุดท้ายของรายงานจำนวนหน้า 300 หน้ากว่านี้ก็ยังย้ำยืนยันอีกครั้งว่า

"หลังจากการตรวจสอบอย่างระมัดระวังและประเมินในรายละเอียดของข้อเสนอโดยผู้ประมูลทั้ง 3 รายแล้ว คณะที่ปรึกษาสรุปว่า อันดับของผู้ประมูลเป็นดังนี้ อันดับหนึ่ง ฮุนไดฯ (LOWEST EVALUATED BID) อันดับสอง อิตาเลียนไทยฯ อับดับสาม โอบายาชิฯ"

อีกทั้งในที่ประชุมคณะกรรมการเปิดซอง ก็ดูท่าทีไม่มีปัญหามากนัก กรรมการท่านหนึ่งถามเรื่องการก่อสร้างเคซองของฮุนไดฯ ว่า หากไม่ชอบวิธีการจะขอเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ จะผิดระเบียบของโออีซีเอฟหรือไม่ ซึ่งคิชิดะยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร และวิธีการก่อสร้างเคซองเป็นเพียงส่วนน้อยมากของงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด แต่ผู้แทนกระทรวงการคลังตีความว่า จะขอเอกสารรับรองเรื่องนี้จากโออีซีเอฟ ซึ่งคิชิดะ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของเจ้าของโครงการจะตีความ ซึ่งโออีซีเอฟจะไม่ออกเอกสารหรือให้ความเห็นว่า อะไรเปลี่ยนได้หรือไม่ได้

"เรื่องนี้มันจบไปแล้ว ตั้งแต่วันนั้น สรุปง่าย ๆ ทางบริษัทที่ปรึกษาให้ข้อมูลมาครบถ้วน ชี้แจงข้อดีข้อเสีย จัดอันดับผู้ประมูล ที่ทาง กนอ. จะต้องเรียกมาเจรจา แล้วยังมี PROJECT MANAGER ผู้รับผิดชอบโดยตรงมาชี้แจงอีก เพียงแต่เขาต้องตีตรา เพราะเขาต้องเอาไปเย็บเล่มเข้าปกให้เรียบร้อย แล้วนำส่งเป็นทางการเท่านั้น" แหล่งข่าว กล่าว

แต่การเย็บเล่มรายงานฉบับดังกล่าว ใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ และหลังจากการส่งรายงานครั้งแรก คิชิดะ PROJECT MANAGER ก็ได้เดินทางกลับญี่ปุ่น รายงานส่งกลับคืนมายังคณะกรรมการเปิดซองอีกครั้ง พร้อมจดหมายนำส่ง ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532

ไม่เพียงแต่จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ ประธานกรรมการเปิดซองจะมึนไปกับบทสรุปของรายงานชุดที่สองนี้ ใครมาอ่านก็ต้องมึนตามไปด้วยแน่ ๆ เพราะบทสรุปของรายงานฉบับที่สอง ซึ่งก็น่าจะเหมือนกับชุดที่ส่งมาครั้งแรกกลับเสนอในสิ่งที่แตกต่างกันอย่างกลับตาลปัตร

รายงานฉบับที่สอง สรุปว่า "…บริษัทที่ปรึกษาขอให้ความเห็นว่า ควรตัด ฮุนไดฯ ออกไป และผลสรุปการจัดอันดับผู้ประมูลควรเป็นดังนี้ อันดับ 1. อิตาเลียนไทยฯ (RECOMMENDED SUCCESSFUL BIDDER) อันดับ 2. โอบายาชิฯ"

รายงานทั้งสองฉบับ ฉบับแรกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประทับตรา "PRELIMINARY" ทุกหน้า ฉบับที่สอง วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เย็บเล่มเรียบร้อย แต่ความสรุปพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ "ผู้จัดการ" อ่านด้วยควาพินิจพิเคราะห์แล้วงงจริง ๆ

"คุณคิดดูนะ รายละเอียดของผู้ประมูลคงที่ คือ ทั้งข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณ ข้อมูลชี้แจงของผู้ประมูลล้วนไม่เปลี่ยนแปลง ท่าเรือมันก็ที่เดียวกัน ชั้นดินมันก็เหมือนเดิม แต่ระยะเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ บริษัทที่ปรึกษาสามารถหามุมมองใหม่ในการเสนอข้อสรุปที่เอาคนแพ้มาเป็นคนชนะได้" แหล่งข่าวให้ข้อสังเกต

สินธุ พูนศิริวงศ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทสินธุ พูนศิริวงศ์ คอนซัลแตนท์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เราเป็นนักวิชาการ เราทำทุกอย่างอย่างขาวสะอาด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ"

สินธุ ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงรายงานที่มีถึง 2 ฉบับ แต่สิ่งที่สินธุต้องรู้แน่นอน คือ การพลิกผันบทสรุปเช่นว่านี้ ได้ก่อให้เพิ่มงบรายจ่ายขึ้นอีกถึง 115 ล้านบาทในการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด และเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความเห็นแตกเป็นสองฝ่ายในที่ประชุมกรรมการเปิดซอง

กรรมการเปิดซองมีด้วยกัน 7 คน 2 เสียงทำบันทึกถึงประธานกรรมการ กนอ. เห็นว่า คณะกรรมการเปิดซองน่าจะต้องพิจารณาหลักฐานการคัดเลือกผู้ชนะการประกวด "อย่างอิสระ" มากขึ้น มากกว่าเห็นชอบตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา "โดยสิ้นเชิง" ทั้งนี้ ต้องพิจารณาข้อมูลพื้นฐาน กติกา และข้อเท็จจริงของเอกสารประกวดราคา ตลอดจนเอกสารของฮุนไดฯ ซึ่งถูกตัดออก แต่มีราคาถูกกว่าถึง 15 ล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพบว่า รายงานฉบับที่สอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุผลสนับสนุนที่สร้างขึ้นในรายการเทคนิคเดียวกัน

2 เสียงที่ว่านี้ คนแรก คือ จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นประธานกรรมการเปิดซอง อีกเสียง คือ ประทีป จันทรเขตต์ รองผู้ว่าการ กนอ. ฝ่ายพัฒนา และรักษาผู้ว่า อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยการโครงการนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องและเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด

2 เสียงนี้ซึ่งเป็นทั้งประธานกรรมการเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นเจ้าของเรื่องโดยตรง ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลโครงการกันต่อไป กลับเป็นเสียงที่ไม่หนักแน่นพอที่จะคัดง้างกรรมการอีก 4 คนได้ ซึ่งปักใจเชื่อตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาฉบับที่สอง

กรรมการคนหนึ่ง คือ ศักดิ์สิทธิ์ ศุขสุเมฆ เดินทางไปต่างประเทศตลอดรายการ กรรมการอีก 4 คนที่คัดง้างกับจำนงค์ และประทีป คือ อานันต์ สุขะอาจิณ ซึ่งเป็นกรรมการ กนอ. และเคยเป็นผู้จัดการบริษัทในเครือของธุรกิจของ บรรหาร ศิลปอาชา มาก่อน คนที่สอง คือ เมธินี ธรรมรังสี เป็นผู้แทนการท่าเรือ คนที่สาม คือ วันทนีย์ วนาพรรณ์ เศรษฐกรระดับ 5 เป็นผู้แทนกระทรวงการคลัง คนที่ 4 คือ สุขุม โกศัยเสวี วิศวกรจาก กนอ.

ความเห็นของกรรมการ 4 คนนี้เห็นด้วยกับรายงานของบริษัทที่ปรึกษาฉบับที่สองที่สรุปว่า ซองประกวดราคาของฮุนไดฯ ไม่สามารถยอมรับได้ในเรื่องเทคนิคและการเงินหลายประการ

เมื่อตกลงกันไม่ได้ว่า จะลงเอยกันอย่างไรระหว่าง 2 เสียง ซึ่งเป็นประธานเปิดซองและเจ้าของเรื่องโดยตรง กับ 4 เสียงซึ่งถือเป็นเสียงข้างมาก กรรมการเปิดซองจึงโยนเรื่องนี้ไปให้คณะกรรมการ กนอ. ที่มีพลเอกบุลฤทธิ์ ทรรทรานนท์ เป็นประธานเพื่อตัดสิน

เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่า ความสับสนที่เกิดขึ้น ผลจะลงเอยอย่างไร ทั้งจำนงค์และประทีป จึงทำบันทึก "ปกป้องตนเอง" ไว้เสียก่อน รวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมที่วิเคราะห์ถึงความแตกต่างของรายงานทั้ง 2 ฉบับของบริษัทที่ปรึกษา อีกทั้งการตระเตรียมข้อมูลผลวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งตรงข้ามกับความเห็นของบริษัทที่ปรึกษาโดยสิ้นเชิง ประกอบเข้าไปด้วยเพื่อให้กรรมการ กนอ. ชุดใหญ่พิจารณา

จำนงค์ กล่าวว่า "ข้อเสนอของผู้เสนอราคาต่ำสุดนี้ (หมายถึงฮุนไดฯ) ไม่สามารถกล่าวได้เลยว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่ถูกต้องปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้น การที่จะเสนอให้ผู้ประมูลที่เสนอราคาสูงกว่าได้รับการพิจารณาก่อนนั้น จึงอาจเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่า ประพฤติมิชอบได้"

ส่วนประทีปให้ความเห็นในเรื่องรายงาน 2 ฉบับของบริษัทที่ปรึกษาว่า "แตกต่างกันมาก และขัดแย้งกันเองอย่างไม่น่าเป็นไปได้"

บันทึกผลการเปิดซองพร้อมเอกสารอีก 1 กล่องถูกเสนอต่อพลเอกบุลฤทธิ์เมื่อ 22 มีนาคม 2532 ก่อนการประชุมกรรมการ กนอ. 7 วัน

29 มีนาคม 2532 คือ ช่วงเวลาสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมติของกรรมการ กนอ.ในวันนั้น คือ ให้อิตาเลียนไทยฯ ชนะตัด ฮุนไดฯ ออกไปตามคำแนะนำของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ หนึ่ง - ปัจจัยอะไรที่ทำให้ฮุนไดฯ แพ้ สอง - กระบวนการตัดสินใจของกรรมการที่เกี่ยวข้องบนผลประโยชน์ของประเทศชาติ 115 ล้านเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

คำแนะนำจากที่ปรึกษาที่เป็นบรรทัดฐานสำหรับกรรมการ กนอ. บางคนและพลเอกบุลฤทธิ์ในการแถลงต่อสื่อมวลชนจนทำให้ฮุนไดฯ พ่ายแพ้ไปนั้น มีสาระสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

หนึ่ง - วิธีการก่อสร้างและเคลื่อนย้ายเคซอง (CAISSON) โดยเสนอวิธีการหล่อเคซอง ซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง 14.00 เมตร ยาว 16.50 เมตร สูง 13.60 เมตร บนพื้นดินที่ใช้การถมทะเลออกไป (เป็นดินจากการขุดลอกร่องน้ำ) เมื่อหล่อเสร็จแล้วก็จะเคลื่อนเคซองจำนวนทั้งหมด 20 ตัวไปยังสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งห่างกัน 1 กิโลเมตร โดยการเคลื่อนย้ายนั้นก็จะใช้เรือขุดขุดดินให้พังทลาย เพื่อให้เคซองลื่นไถลและลอยตัวในทะเล ซึ่งวิธีการเคลื่อนย้ายแบบนี้เองที่บริษัทวิศวกรที่ปรึกษา (ตามรายงานฉบับที่ 2) อ้างว่าตรวจสอบแล้ว มีความเห็นว่า ดินบริเวณดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะใช้วิธีการนี้ เพราะจะทำให้เคซองพลิกคว่ำได้ อาจจะเป็นอันตรายต่อเรือขุด นอกจากนั้น เคซองที่อยู่แถวในก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายได้ งานก่อสร้างจะเกิดความล่าช้าไม่เสร็จทันตามเป้าหมาย

ประเด็นนี้อีกเช่นกันที่บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่แหลมฉบังซึ่งมีบริษัทแปซิฟิก คอนซัลแตนท์ สัญชาติญี่ปุ่นเป็นตัวนำ เอาเรื่องการเคลื่อนย้ายเคซองเป็นข้ออ้างจนทำให้ฮุนไดฯ พ่ายแพ้ต่ออิตาเลียนไทยเช่นกัน คราวนี้ก็กลายเป็นการซ้ำรอยประวัติศาสตร์เข้าไปอีกครั้ง ตอนกรณีการประมูลก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง

สอง - การขุดลอกร่องน้ำและถมทะเล วิธีการขุดลอกร่องน้ำและถมทะเลที่ฮุนไดฯ เสนอมานั้นไม่เป็นไปตามข้อกำหนดการประกวดราคาครั้งนี้ (ตามความเห็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาฉบับที่สอง) เพราะไม่ได้นำทรายที่ขุดได้และมีคุณภาพดีไปถมบริเวณที่กำหนด และที่สำคัญที่สุด คือ เรือขุด (DREDGER) ของฮุนไดฯ มีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งจากข้อมูลที่เสนอมานั้น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาตรวจสอบแล้วสรุปว่า เรือขุดจะไม่สามารถขุดลอกร่องน้ำและนำวัสดุจากการขุดลอกไปถมทะเลได้แล้วเสร็จตามเวลาที่ กนอ. กำหนด

สาม - การแบ่งอัตราส่วนเงินตราต่างประเทศต่อเงินบาทไทยนั้น ผู้ประมูลจะต้องระบุความต้องการอัตราส่วนเงินตราต่างประเทศที่ กนอ. จะต้องจ่าย ซึ่งทางฮุนไดฯ เสนออัตราเงินเยน 48.2% เงินบาท 51.8% ขณะที่อิตาเลียนไทยเสนอ เงินเยน 59.5% เงินบาท 40.5% จากการตรวจสอบของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา (ฉบับที่สอง) พบว่า การแบ่งอัตราส่วนเงินตราต่างประเทศดังกล่าวไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การปรับพื้นที่และก่อสร้างรั้ว ซึ่งใช้วัสดุภายในประเทศเกือบทั้งสิ้น แต่กลับใช้เงินไทยเพียง 0.02% เท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้ที่ประชุม กนอ. อ้างว่า กนอ.มีสิทธิ์ไม่รับพิจารณาซองประกวดราคาของฮุนไดฯ มาแต่ต้น

หาก กนอ.ยังคงพิจารณาและรับซองประกวดราคาของฮุนไดฯ ต่อไป จะต้องให้ฮุนไดฯ เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญข้างต้นทั้งหมด คือ วิธีการก่อสร้างและเคลื่อนย้ายเคซอง วิธีการขุดลอกร่องน้ำและถมทะเล และอัตราส่วนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้กรรมการเปิดซอง 4 คนเห็นสอดคล้องกับบริษัทที่ปรึกษาว่า ไม่สามารถกระทำได้เพราะขัดกับระเบียบในการจัดจ้างตามเงื่อนไขแหล่งเงินกู้ คือ โออีซีเอฟ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อ การจ้าง และการจ้างที่ปรึกษาภายใต้โครงการที่ดำเนินการด้วยเงินกู้ต่างประเทศ พ.ศ.2527

เหตุผลทั้งหมดฟังดูก็เข้าท่าดี แต่ถ้าใครมาอ่านเอกสารอีก 2 ฉบับอาจจะต้องข้องใจเป็นอย่างมาก เอกสาร 2 ฉบับที่ว่านี้ ฉบับหนึ่ง คือ รายงานของบริษัทที่ปรึกษาฉบับที่หนึ่ง เอกสารอีกฉบับ คือ บันทึกลับ "ตัวจริง" ที่จำนงค์และประทีปเสนอต่อประธานกรรมการ กนอ. คือ พลเอกบุลฤทธิ์ เมื่อ 22 มีนาคม 2532

"ผู้จัดการ" มีโอกาสได้อ่านทั้ง 2 ฉบับ !

รายงานผลการประเมินของบริษัทที่ปรึกษาฉบับที่ 1 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ระบุถึงวิะการก่อสร้างเคซองของท่าสินค้าทั่วไปของฮุนไดฯ ในหน้า 8 - 2 ว่า "สำหรับความเห็นของคณะที่ปรึกษาในกรณีนี้โดยรวมแล้ว ไม่มีสิ่งใดผิดพลาด และไมี่เหตุใดที่จะส่งผลต่อการเลือกวิธีการก่อสร้างนี้ของผู้ประมูลราคาต่ำสุด (ฮุนไดฯ)…" และหน้า 8.3 ยังระบุว่า "ดังนั้น ไม่ว่าด้วยวิธีการใดที่เสนอมาในการประมูล ไม่ว่าวิธีการก่อสร้าง วิธีขุดลอก และวิธีติดตั้ง ไม่ถือเป็นสาระสำคัญในการประมูล (SUBSTANCE OF THE BID) และยังสามารถที่จะนำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงใหม่เมื่อใดก็ได้…"

แต่ในรายงานฉบับที่สอง วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ในหน้า 7.7 กลับระบุว่า วิธีการก่อสร้างเคซองนั้น "NOT O.K." ด้วยเหตุผลตามที่กรรมการเปิดซอง 4 คนใช้มาอ้างแล้ว

ในเรื่องการขุดลอกร่องน้ำและการถมทะเลนั้น รายงานฉบับที่หนึ่งระบุในหน้า 7.4 ว่า "SATISFIED" โดยเฉพาะประสิทธิภาพของเรือขุดนั้นก็ให้ความเห็นในหน้าเดียวกันว่า "ACCEPTABLE"

แต่พอมารายงานฉบับที่สอง เรื่องดังกล่าวกลับถูกสรุปว่า "NOT O.K."

บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาได้ระบุเอกสารและกติกาที่ใช้ในการพิจารณาซองประกวดราคา ประกอบด้วย หนึ่ง - INSTRUCTIONS TO BIDDERS หรือ ไอทีบี สอง - ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อ การจ้าง สาม - เงื่อนไขตามแหล่งเงินกู้ คือ โออีซีเอฟ

ทั้งหมดดูเหมือนว่า บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจะเข้าใจดี เพราะในรายงานฉบับที่หนึ่ง บริษัทที่ปรึกษายกให้ฮุนไดฯ เป็น "LOWEST EVALUATED BID" หรือ "LOWEST RESPONSIVE BIDDER" ซึ่งถูกต้องตามกติกาไอทีบี กล่าวคือ ฮุนไดฯ ได้ผ่านขั้นตอนทั้ง "การประเมินขั้นตอน" และ "การประเมินขั้นรายละเอียด" แล้วอย่างแน่ชัด และยังได้รับการประเมินให้อยู่ในสภาพ "CONFORMING" และ "RESPONSIVE" มาโดยตลอดทุกบทของรายงาน "ทั้ง 2 ฉบับ"

ตามกติกาแล้ว เมื่อได้ LOWEST RESPONSIVE BIDDER ขั้นต่อไป คือ การเชิญมาเจรจาต่อรองในรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อเป็นที่พอใจแล้วก็จึงสามารถยอมรับเป็น SUCCESSFUL BIDDER ได้ ทั้งนี้เพราะกติกาไอทีบีมีจุดประสงค์ต้องการที่จะเอื้อให้ กนอ. ต่อรองจนเกิดประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุด ซึ่งในรายงานฉบับที่หนึ่งก็เป็นไปตามนี้ทุกประการ

พอรายงานฉบับที่สอง จะด้วยความรีบร้อนกลัวไม่ได้หรืออย่างไรก็ตามแต่ บริษัทที่ปรึกษายกตำแหน่ง SUCCESSFUL BIDDER ไปโดยทันทีโดยไม่ผ่านขั้นตอนการต่อรองมาก่อน

เรื่องแบบนี้กรรมการ กนอ.บางคนกลับถือเป็นเรื่อง "ไม่ใช่สาระสำคัญ" ไว้ไปเปลี่ยนแปลงกันที่หลังได้ และกลับไม่ฉุกใจไตร่ตรองอะไรเลยเออออห่อหมกไปตามความรีบร้อนของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา !

ด้านการวิเคราะห์ทางการเงินในประเด็นที่ว่า สัดส่วนการกู้ยืมเงิน 7.2% ของฮุนไดฯ นั้น รายงานฉบับที่สองตีความว่า "ไม่เป็นจริง" และ "ผิดปกติ" เพราะสัดส่วนการกู้เงินเยนต่ำไป สำหรับฮุนไดฯ นั้น ถ้าศึกษาจากประสบการณ์ของ กนอ.ในโครงการอื่น ๆ แล้ว จะถือเป็นเรื่องธรรมดา มีการขอสัดส่วนเงินตราต่างประเทศต่ำกว่าเงินในประเทศมาหลายโครงการ แต่ต่ำกว่าอย่างมากด้วย เช่น การประมูลก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุด อิตาเลียนไทยซึ่งชนะการประมูลครั้งนั้นใช้เงินเยนเพียง 32.5% นิชิมัตสึ ซึ่งชนะคราวแรกแต่มาแพ้เพราะไปขอเปลี่ยนระบบกรองน้ำก็ขอใช้เงินเยนเพียง 14.5% เท่านั้นเอง

กนอ.ไม่เคยถือเรื่องสัดส่วนเงินตราเป็นสาระ หรือเป็นประเด็นสำคัญในการปฏิเสธผู้ประมูล เพราะในเชิงปฏิบัติแล้ว สัดส่วนนี้เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นมากและขึ้นอยู่กับความต้องการของ กนอ.ร่วมกับผู้ประมูล ซึ่งเรื่องนี้ ทางโออีซีเอฟก็ให้ความเห็นชอบที่ กนอ.จะทำการเจรจาเพื่อประโยชน์ของ กนอ.เอง เช่น คราวก่อสร้างนิคมมาบตาพุด เวลาทำสัญญา อิตาเลียนไทยฯ ก็ยังเปลี่ยนสัดส่วนเงินเยนจาก 32.5% เป็น 54% ซึ่งไม่เห็นมีใครทักท้วงว่าผิดกติกา

นอกจากนั้น สัดส่วนเงินเยน 48.2% ที่ฮุนไดฯ เสนอมานี้ ถ้าวิเคราะห์คำนวณแล้วจะพบว่ากลับเป็นประโยชน์ต่อประเทศ คือ ประการที่หนึ่ง ทำให้ราคาประมูลของฮุนไดฯ ถูกกว่าผู้ประมูลรายอื่นในทุกกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือก่อนคืนเงินกู้ก็ตาม เพราะแนวโน้มของเงินเยนมีแต่จะแข็งขึ้น มูลค่าการก่อสร้างย่อมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นเงินบาท ซึ่งตามคำนวณที่ปรากฏในเอกสาร "บันทึกลับ" นั้นคาดการณ์ว่า สัดส่วนเงินที่ฮุนไดฯ ใช้อาจช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 170 ล้านบาท และที่สำคัญความข้อนี้ก็ยังมีหลักฐานว่า บริษัทที่ปรึกษายอมรับแล้วด้วย !

ประการที่สอง การใช้สัดส่วนเงินบาทสูงกว่านั้น สอดคล้องกับกติกาไอทีบี ข้อ 15 ที่ว่า "…ถ้าเป็นไปได้ ผู้ประมูลสมควรใช้ทรัพยากรที่หาได้ภายในประเทศมากที่สุด"

ประการที่สาม การใช้สัดส่วนเงินเยนของฮุนไดฯ มีส่วนช่วยประหยัดผลต่างในการชำระคืนเงินกู้ในปีแรกถึง 200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระหว่างฮุนไดฯ กับอิตาเลียนไทย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย

แม้แต่ประเด็นที่บริษัทที่ปรึกษายกตัวอย่างการปรับพื้นที่และการก่อสร้างรั้ว ซึ่งต้องใช้วัสดุในประเทศ แต่ใช้เงินไทยเพียง 0.02% นั้นถ้าจะพิจารณากันจริง ๆ ก็จะพบว่า รายการเหล่านี้ "ไม่ใช่สาระสำคัญ" เพราะมีมูลค่าเพียง 1.3% ของโครงการทั้งหมด อีกทั้ง กนอ.ก็สามารถเจรจาเรื่องนี้สัดส่วนเงินตราได้อยู่แล้ว

ในขณะเดียวกัน ถ้าหันมามองที่อิตาเลียนไทยก็จะพบว่า สิ่งที่สามารถระบุว่า อิตาเลียนไทยผิดคุณสมบัติในการประมูลครั้งนี้ได้ทันที คือ การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย (UNIT PRICE) ในรายการที่ต้องจ้างเพิ่มเติมหรืองานเกี่ยวเนื่องที่ไม่อยู่ในสัญญา อัตราค่าจ้างต้องใส่เป็น "บาทต่อชั่วโมง" แต่อิตาเลียนไทยกลับใส่เป็น "บาทต่อวัน" ซึ่งทำให้ค่าจ้างตรงนี้ของอิตาเลียนไทยจะแพงขึ้นกว่าฮุนไดฯ ถึง 8 เท่า เพราะใน 1 วันมีชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมง ฮุนไดฯ ทำงาน 1 ชั่วโมงก็จะได้ค่าจ้าง 1 ชั่วโมง แต่ในเวลาทำงานเท่ากับ คือ 1 ชั่วโมง อิตาเลียนไทยจะได้ค่าจ้างเท่ากับ 1 วันหรือ 8 ชั่วโมง อีกทั้งยัดขัดกับความต้องการ "จำเพาะ" ของกติกาไอทีบีที่ต้องการให้ใส่รายการนี้เป็น "บาทต่อชั่วโมง" อีกด้วย

อิตาเลียนไทยและกรรมการ กนอ. ก็คงจะยอมรับในความผิดพลาดข้อนี้ เพราะในการเจรจาหลังวันที่ 29 มีนาคม ทั้งคู่ก็ขอเปลี่ยนความในข้อนี้เป็นไปตามที่กติกาไอทีบีกำหนด และเขียนเสริมว่า ประเด็นนี้ "ไม่ใช่สาระสำคัญ" แต่ขณะที่ ทางฮุนไดฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย โดยใช้คำว่า "ผิดกติกา" และ "เป็นสาระสำคัญ" กับเรื่องที่จะต้องแก้ไขมาอ้าง !

มามองกันที่เรื่องเทคนิคการก่อสร้าง ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 จุด จุดแรก คือ เรื่องการขุดลอกร่องน้ำและการถมทะเลนั้น การกลับไปกลับมาของบริษัทที่ปรึกษา ทำให้จำนงค์ในฐานะประธานกรรมการเปิดซองต้องทำหนังสือลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ขอให้บริษัทที่ปรึกษาชี้แจงโดยเฉพาะเรื่องตารางเปรียบเทียบประสิทธิภาพเรือขุดของฮุนไดฯ นั้น แต่เดิมบริษัทที่ปรึกษาให้ไว้ว่า เรือขุดของฮุนไดฯ มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่เมื่อบริษัทที่ปรึกษาตอบมา กลับตอบว่า ตารางที่ทำเปรียบไว้ในรายงานฉบับที่หนึ่งนั้น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ คือ พูดง่าย ๆ ตารางที่ทำมา มันใช้ไม่ได้ทั้งที่ใช้เวลาการคำนวณเป็นเดือน ๆ !

อีกทั้งบริษัทที่ปรึกษายังได้แสดงรายการคำนวณความสามารถในการขุดของเรือขุดให้ใหม่ โดยตั้งสมมุติฐานประสิทธิภาพของเรือขุดของฮุนไดฯ ที่ 15% ของประสิทธิภาพเต็มที่ของเรือขุด (ในกรณีดินแข็ง) และ 65% (ในกรณีดินอ่อน) ซึ่งตัวเลขนี้ขัดกับปัจจัยความเป็นไปได้ เพราะฮุนไดฯ เสนอการทำงานเพียง 540 ชั่วโมงต่อเดือน หรือวันละ 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 27 วัน ใน 1 เดือน โดยให้เวลาเผื่อสำหรับการซ่อมแซมแล้ว แต่ขณะเดียวกันกลับตั้งสมมุติฐานให้ประสิทธิภาพของเรือขุดอิตาเลียนไทยสูงถึง 45% ทั้งที่ทำงานเดือนละ 30 วัน วันละ 24 ชั่วโมง รวม 720 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งหมายความว่า เครื่องจะต้องทำงานโดยไม่หยุดพักหรือซ่อมแซมเลย และเป็นเรื่องธรรมดาที่เครื่องจักรที่ทำงานต่อเนื่องย่อมมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเครื่องจักรที่ทำงานน้อยชั่วโมงและมีเวลาพักมากกว่า

ความคิดที่สวนทางกับความคิดชาวบ้านของบริษัทที่ปรึกษา (เฉพาะในรายงานฉบับที่ 2) นี่เองที่นำไปสู่การอ้างว่าเรือขุดของฮุนไดฯ จะไม่สามารถขุดลอกร่องน้ำและถมทะเลได้เสร็จตามกำหนด

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ามองในมุมประสิทธิภาพของอิตาเลียนไทยในทำนองเดียวกันก็จะพบว่าในเรื่องการถมทะเลในส่วน "TANK FARM" หรือคลังสินค้าเหลวนั้น ฮุนไดฯ เสนอถมโดยใช้ทราย 1,089,000 ลบ.ม. จากแหล่งทราย 2 แห่ง ขณะที่อิตาเลียนไทยเสนอถมเพียง 840,000 ลบ.ม. จากแหล่งทรายเพียงแห่งเดียว ซึ่งมีปริมาณทรายแท้จริง 730,000 ลบ.ม. ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า อิตาเลียนไทยไม่มีวัตถุดิบที่เพียงพออย่างชัดเจน แต่บริษัทที่ปรึกษากลับชี้แจงว่า อิตาเลียนไทยจะสามารถถมได้เต็มพื้นที่ตามปริมาณที่ต้องการ เพราะจะเกิดการขยายตัวของพื้นดินเข้าช่วย แต่ด้วยความรีบร้อนไปหนอ่ย วิธีการคำนวณสนับสนุนจึงไม่ปรากฏ

จุดที่สอง คือ วิธีการก่อสร้างและเคลื่อนย้ายเคซองเป็นเรื่องที่กลายเป็น "ไม้เด็ด" ปลิดชีพฮุนไดฯ จนพ่ายแพ้ไป กรณีคล้ายกับที่แหลมฉบัง แต่ที่ฮุนไดฯ กล้าเสนอวิธีการสร้างเคซองแบบเดิมในมาบตาพุดเข้าไปอีก เพราะฮุนไดฯ เชื่อมั่นในวิธีการเช่นนี้ อีกทั้งเคซองที่มาบตาพุดก็มีขนาดเล็กกว่าที่แหลมฉบังเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ตัวเคซองที่เล็กกว่าน้ำหนักเคซองมาบตาพุด 1,461 ตัน แต่ที่แหลมฉบังหนัก 2,265 ตัน จำนวนเคซองมาบตาพุด 20 ตัว ที่แหลมฉบัง 50 ตัว และสภาพดินที่จะขุด ฮุนไดฯ ก็เชื่อว่า มีความเหมาะสมมากกว่าที่แหลมฉบัง

เคซองที่กล่าวถึงนี้เป็นฐานรากขนาดมหึมา คือ สูงพอ ๆ กับตึก 4 ชั้น ใช้เฉพาะหน้าท่าสินค้าทั่วไปจำนวน 20 ตัว

วิธีการก่อสร้างเคซองถูกกล่าวโดยบริษัทที่ปรึกษาว่า มีความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ และเป็นอันตรายต่อเรือขุด ทั้งที่โดยความจริง "บันทึกลับ" กล่าวว่า วิธีการสร้างเคซองไม่ได้ถูกกำหนดเป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงอย่างใด กล่าวคือ ผู้ประมูลจะสร้างด้วยวิธีการใดก็ได้ และถ้าหากมีการคำนวณพบว่า วิธีการก่อสร้างมีความเสี่ยงก็สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการได้ เพราะไม่ได้ไปเปลี่ยน "ตัวเคซอง" เพราะตัวเคซองยังคงไว้ซึ่งวัสดุประกอบคงเดิม และตัวเคซองทั้ง 20 ตัว มีมูลค่าน้อยกว่า 5% ของราคาก่อสร้างทั้งหมด

ส่วนเฉพาะ "วิธีการก่อสร้าง" เคซองซึ่งเป็นข้อถกเถียง และถือเป็นสาระสำคัญอย่างมากจนปัดฮุนไดฯ พ้นทางไปนั้น มีมูลค่าไม่ถึง 1% ของราคาทั้งหมด

เรื่องการเคลื่อนย้ายเคซองโดยวิธีของฮุนไดฯ ได้รับการตรวจสอบอีกครั้งโดยสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการ กนอ. โดยใช้ข้อมูลเรื่องดินจากที่ปรึกษา ซึ่งสมเจตน์ยืนยันว่า "ดูจะไม่มีโอกาสที่เคซองจะพลิกคว่ำตีลังกาอย่างที่พูดกันด้วยวาจา"

ความเห็นของทั้งสองฝ่ายถูกรวบรวม เพื่อให้คณะกรรมการ กนอ. พิจารณา ว่ากันว่าเอกสารและข้อมูลทั้งหมดที่จำนงค์และประทีปเตรียมไว้มีเป็นกล่องใหญ่ ทั้งความเห็นของทั้งสองฝ่าย รายงานทั้งสองฉบับของบริษัทที่ปรึกษา บันทึกถามตอบคำปรึกษาเพิ่มเติม กติกาและเอกสารอ้างอิง

การประชุมคณะกรรมการบริหาร กนอ. ซึ่งมีพลเอกบุลฤทธิ์ ทรรทรานท์ เป็นประธานในวันที่ 29 มีนาคมนั้น แต่เดิมคาดว่าจะยืดเยื้อ และยากที่จะตัดสินใจจนอาจต้องถึงขั้นส่งไปให้คณะรัฐมนตรีตัดสิน แต่ทุกอย่างก็จบได้อย่างรวดเร็วเหนือคาดหมายภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

พลเอกบุลฤทธิ์ ทรรทรานนท์ นั่งเป็นประธานในที่ประชุมกรรมการ กนอ. ให้กรรมการที่เห็นแย้งกันถกเถียงและซักถามบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาในรายละเอียด แล้วในที่สุดเมื่อคุยกันไม่ลงตัว เพราะทางฝ่ายที่เห็นตามบริษัทที่ปรึกษาฉบับที่สองก็ไม่สามารถหาเหตุผลมาหักล้างข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายได้ชัดเจน พลเอกบุลฤทะก็ใช้วิธีโหวตโดยอ้างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อ การจ้าง และการจ้างที่ปรึกษาภายใต้โครงการที่ดำเนินการด้วยเงินกู้จากต่างประเทศ พ.ศ. 2527 ข้อ 27 ที่ว่า "การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก…"

พลเอกบุลฤทธิ์ตัดสินใจใช้วิธีโหวตเสียง โดยถามที่ประชุมในทำนองว่า ใครเห็นค้านมติของกรรมการเปิดซองบ้าง ซึ่งมติของกรรมการเปิดซองนั้น คือ ให้อิตาเลียนไทยฯ ชนะ 4 ต่อ 2 เสียง

มี 3 เสียงที่คัดค้านและยืนหลักการที่ว่า ให้เชิญผู้เสนอต่ำสุดมาเจรจาก่อน คือ ฮุนไดฯ ทั้ง 3 เสียงนั้นประกอบด้วย จำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ สมเจตน์ ทิณพงษ์ และเลื่อน กฤษณกรี รองผู้ว่าการการปิโตรเลียม ซึ่งสองคนหลังจบมาทางวิศวะ คนแรกมีส่วนในการศึกษาข้อมูลเรื่องเคซอง อีกคนได้ศึกษาข้อมูลที่จำนงค์ ประทีปเตรียมไว้อย่างละเอียด และก็ยังมีหนังสือบันทึกเห็นแย้งกับบริษัทที่ปรึกษาตามมาภายหลังด้วย

มี 5 เสียงถือตามบริษัทที่ปรึกษา คือ อานันต์ สุขะอาจิณ ยิ่งยง ศรีทอง อธิบดีกรมโรงงาน มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งมาแทน ม.ร.ว.จัตถุมงคล โสณกุล มนัส สงวนดีกุล ผู้แทนสภาพัฒน์ จักก์ชัย พานิชพัฒน์ ผู้แทนบีโอไอ

อีก 3 เสียงที่ไม่ออกเสียง คือ พลเอกบุลฤทธิ์ในฐานะประธาน ประทีป เพราะยังอยู่ในฐานะรักษาการผู้ว่า ยังไม่มีสิทธิออกเสียง ส่วนโชคชัย อักษรนันท์ ไม่เข้าประชุม

กุญแจของเรื่องเลื่อนไหลจากบริษัทที่ปรึกษามาอยู่ที่พลเอกบุลฤทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการประท้วงขอความเป็นธรรมจากฮุนไดฯ ต่อรัฐมนตรีอุตสาหกรรม คือ บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งบรรหารเอง "ก็ดูเหมือนว่า" จะเห็นอกเห็นใจฮุนไดฯ มากและทำบันทึกขอให้กรรมการ กนอ. ทบทวนใหม่ โดยส่งบันทึกเมื่อวันที่ 7 เมษายน มายัง กนอ. แต่ในวันเดียวกัน กรรมการ กนอ. ก็มีการประชุมเพื่อรับทราบผลการเจรจากับอิตาเลียนไทยในนรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งก็มีการแก้ไขรายละเอียดของสัญญาบางข้ออีกด้วย แน่นอนที่อิตาเลียนไทยฯ จะผ่านความเห็นชอบไปอย่างเลยตามเลยตามความรู้สึกของกรรมการที่เห็นแย้งบางคน

14 เมษายน กรรมการ กนอ. ประชุมกันอีกครั้งเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของความเป็นธรรมจากฮุนไดฯ ตามบันทึกของบรรหารข้อร้องเรียนของฮุนไดฯ ประกอบด้วย 3 ข้อใหญ่ และอีก 7 ข้อย่อย

"การกล่าวอ้างว่าดินที่มาบตาพุดไม่เหมือนที่อื่น (เรื่องจริง) และอาจไม่เหมาะสมกับประสบการณ์ที่บริษัทมีมาจากที่อื่น โดยดินที่มาบตาพุดจะทำให้เคซองล้มแล้วชนกันบ้าง หรือทับแขนเรือขุดบ้าง ทำงานไม่ทันจะพาโครงการเสียหายบ้าง ล้วนเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น การกล่าวอ้างเช่นนั้นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการกล่าวอ้างเช่นนั้นมักจะมาจากผู้ไม่รู้จริง มักเป็นผู้ไม่เคยทำมักเป็นผู้ไม่มีประสบการณ์หรือฐานันดรทางวิชาการ แล้วนอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่ไม่สามารถให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ได้ด้วย" ฮุนไดฯ ร้องเรียน

เอกสารร้องเรียนของฮุนไดฯ ส่งผ่านมือบรรหารโดยตรง แต่เอกสารดังกล่าวที่แจกแก่กรรมการกลับมีรอยปิดข้อความส่วนที่บรรหารเขียนบันทึกแนบท้าย ก็เลยไม่รู้ว่า โดยแท้จริงบรรหารมีคำสั่งว่าอย่างไร

การประชุมวันที่ 14 เมษายน กรรมการทุกคนมาครบไม่มีการส่งตัวแทน แต่ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะในที่ประชุมพลเอกบุลฤทธิ์ "ร่ายเดี่ยว" เป็นเวลานาน โดยต่อว่า ต่อขานฮุนไดฯ อย่างขุ่นเคืองว่า เป็นบริษัทต่างชาติแต่มาต่อว่าดูหมิ่นกรรมการ กนอ. หลังจากนั้นก็ถาม "ความเห็น" กรรมการรายตัว

"ถ้าไม่ลงลึกในรายละเอียด มติก็คงเป็นไปตามเดิม" แหล่งข่าวให้ข้อสังเกตในการประชุมวันนั้น

1 ชั่วโมงของการประชุมจึงไม่มีความหมายอะไร เพราะประธานที่ประชุมไม่ "กำกับ" ที่ประชุมเพื่อนำไปสู่รายละเอียดของการโต้แย้ง เหมือนกับจะบอกว่า ทุกอย่างจบลงตามที่วางไว้แล้ว

"ผมถามคำเดียว รองปลัดจำนงค์นี่จบอะไร ท่านเป็นวิศวกรท่าเรือหรือเปล่า ไม่ใช่ท่านจบเศรษฐศาสตร์ คุณต้องเชื่อบริษัทที่ปรึกษาสิ คุณไปเชื่อที่ปรึกษานอกกฎหมายได้หรือ รองผู้ว่าฯ ประทีปเป็นสถาปนิก แล้วใครเป็นวิศวกร ผมไม่ได้ว่า แต่ผมเคารพนับถือท่าน ผมก็ไม่ได้เป็นวิศวกร แต่ผมต้องฟังที่ปรึกษาที่ชอบด้วยกฎหมายของผม คือ บริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ถามว่าผมผิดหรือ ผมก็จำฝีปากเขามาพูด แต่ท่านทั้งสองล่ะเอาใครมาพูดท่านจะไปเอาอาจารย์ที่อื่นมาพูด นั่นไม่ใช่ที่ปรึกษา นั่นเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวท่าน แล้วกรรมการเปิดซองนั่นก็เป็นวิศวกรทั้ง 3 คน ยกเว้นผู้แทนกระทรวงการคลัง วิศวกรตั้ง 3 คน คุณจะเอาตำแหน่งมาขู่หรือ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องตั้งกรรมการก็ได้" พลเอกบุลฤทธิ์กล่าวตอบกับ "ผู้จัดการ"

กรณีการถกเถียงเรื่องข้อเสนอในการประมูลของฮุนไดฯ ในจุดที่บริษัทที่ปรึกษาชี้ว่าเป็น "สาระสำคัญ" แต่ถูกค้านว่า "ไม่เป็นสาระสำคัญ" และกรณีการก่อสร้างเคซองเป็นวิธีการที่ "เสี่ยง" นั้น พลเอกบุลฤทธิ์ย้ำหนักแน่นว่า

"ก็ผิดทั้งนั้นไงล่ะ รายละเอียดในการขุดลอกร่องน้ำก็ไม่ทำเสนอมา ผิดสเป็ก แต่ถ้าถามว่าทำไมเราถึงไม่ตัดตั้งแต่ตอนต้นที่เขาเสนอประมูลมา ก็อย่างที่ว่าเราเป็นห่วงเรื่องเงิน เราอยากให้มันถูกเราจะได้ประหยัดไป 115 ล้าน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันผิด เขาก็บอกโอเคแก้ไขได้ เคซองจะไม่ทำแบบนี้ก็จะแก้ไขเป็นวิธีอื่น ไอ้เรื่องขุดร่องน้ำ ไม่พอใจ จะทำแบบอื่นก็ได้ เรื่องสัดส่วนเงินตราจะเปลี่ยนก็ได้ ยังไงก็เอา ถามว่าแก้ได้ไหม คุณจะยอมให้แก้ไหม แก้ได้แต่เจ้าอื่นจะยอมหรือเปล่า ถ้าฮุนไดฯ แก้ได้คนอื่นก็แก้ไขได้ แล้วเมื่อไรจะสิ้นสุด แล้วที่กติกาบอกว่ายอมให้ปรับวันละ 1 ล้าน ถ้างานช้า คุณจะเอาค่าปรับหรือ คุณต้องการเอางาน คุณอยากจะเสี่ยงหรือ โอเคว่าเสี่ยง บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาบอกอย่าเสี่ยง กรรมการกับพลเอกบุลฤทธิ์บอกจะเอา ถามว่าบริษัทที่ปรึกษารับผิดชอบหรือพลเอกบุลฤทธิ์รับผิดชอบ บริษัทที่ปรึกษาบอกผมไม่รู้นะ เราไม่เชื่อที่ปรึกษาแต่เสร็จแล้วมีปัญหา พลเอกบุลฤทธิ์ไม่รับผิดชอบนะ ผมไม่มีปัญญามาใช้หนี้รัฐร้อยล้าน ล้านหนึ่งผมก็ไม่มี ความรับผิดชอบของที่ปรึกษาเขาหมดลงเท่านี้ แต่เขารับทรัพย์นะครับ 5 ล้าน ใครมันจะมานั่งรับผิดชอบ ผมมิต้องนอนไม่หลับไปอีก 880 วัน คอยดูว่าจะล้มหรือไม่ล้ม มันขึ้นอยู่กับว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะเสี่ยงก็เอา"

ข้อสังเกตต่อคำกล่าวและบทบาทของพลเอกบุลฤทธิ์รวมไปถึงกรรมการ กนอ. บางคน คือ หนึ่ง - ดูเหมือนว่าพลเอกบุลฤทธิ์จะไม่สนใจว่ามีรายงานของบริษัทที่ปรึกษาถึง 2 ฉบับซึ่งแตกต่างกันมาก ซึ่งน่าจะเป็นมาตรวัดต่อมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือของการศึกษาและประเมินโครงการทั้งหมด แต่พลเอกบุลฤทธิ์ "เลือก" ที่จะเชื่อรายงานฉบับใดฉบับหนึ่งมากกว่า เมื่อพลเอกบุลฤทธิ์และกรรมการบางคน "เลือก" ที่จะเชื่อรายงานฉบับที่ 1 สมมุติฐานและความเชื่ออื่นจึงไปตามกันหมด

สอง - พลเอกบุลฤทธิ์ไม่สนใจต่อการตั้งข้อสังเกตของจำนงค์และประทีป ซึ่งถ้าพลเอกบุลฤทธิ์คิดว่า ทั้งสองคนไม่มีความรู้แท้จริงในการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ก็ไม่ควรแต่งตั้งทั้งสองเป็นประธานและกรรมการแต่ต้นเสียเลย จะได้ไม่มีการอ้างเหตุมาปรามาสกันที่หลัง

สาม - พลเอกบุลฤทธิ์ประเมินเรื่องการแก้ไขข้อเสนอเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และเป็น "สาระสำคัญ" ที่ห้ามแก้ไขใด ๆ ทั้งที่ในขั้นตอนการทำงานที่แท้จริงนั้น คือ ถ้าฮุนไดฯ ได้รับเลือกเป็น LOWEST RESPONSIVE BIDDER อันดับ 1 เสียก่อนจึงค่อยเรียกมาเจรจาและต่อรงอในรายละเอียดการขอแก้ไขหรือไม่ยินยอมใดในข้อเสนอจะอยู่ในขั้นตอนนี้ แต่มติของกรรมการ กนอ. เป็นเหมือนการปิดประตูไม่ยอมรับฟังเสียงจากฮุนไดฯ ทั้งสิ้น ถ้าการเจรจาไม่สำเร็จหรือ กนอ. ไม่พอใจก็ย่อมที่จะเรียกอันดับ 2 มาเจรจาได้ การไม่สนใจที่จะเรียกฮุนไดฯ เหมือนกับว่า กรรมการ กนอ.บางคนไม่สนใจผลประโยชน์ของชาติ 115 ล้านเลยแม้แต่น้อย ยินดีที่ะจน้อมรับแต่คำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาและยึดติดกับระเบียบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เชื่อกันว่า "เป็นสาระสำคัญ"

สี่ - พลเอกบุลฤทธิ์และกรรมการ กนอ. และกรรมการเปิดซองบางคนกลัวกับคำว่า "เสี่ยง" มากมาย กลัวที่จะต้องรับผิดชอบกับความเสี่ยงที่ถูกบริษัทที่ปรึกษาวาดขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้ว ในกติกาก็กำหนดอยู่แล้วว่า วิธีการใดวิธีการหนึ่งในการก่อสร้าง หากมีความเสี่ยง ผู้ที่รับผิดชอบ คือ ผู้รับเหมา ซึ่งความรับผิดชอบนี้กินความไปถึงความปลอดภัยในช่วงก่อสร้าง เป้าหมายเวลากำหนดเสร็จ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้า การค้ำประกันผลงาน ซึ่งแน่นอนที่โอกาสที่ใครจะกล่าวหาให้พลเอกบุลฤทธิ์และกรรมการ กนอ. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบนั้นยากเต็มที และในสัญญาว่าจ้างนั้น คงไม่มีใครเขียนให้ผู้ว่าจ้างต้องซวยมารับเคราะห์กรรมขนาดนั้น แล้วทำไมพลเอกบุลฤทธิ์ถึงกลัวที่จะต้องมา "เสี่ยง" ถึงขนาดนั้น ผลประโยชน์ของชาติ 115 ล้านถูกกลบโดยความกลัวในสิ่งที่ยังมิอาจพิสูจน์ได้ในแง่วิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า "เสี่ยง" ในอนาคต

ห้า - วิธีการโหวตเสียงซึ่งพลเอกบุลฤทธิ์นำออกมาใช้ในภาวะที่ไม่รู้ว่าเรื่องจะต้องจบลงอย่างไรนั้น อาจเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์หนึ่ง ๆ แต่ในกรณีนี้ คะแนนเสียงจัดว่าก้ำกึ่งกันมาก คือ 5 ต่อ 3 ซึ่งเรื่องของผลประโยชน์ของชาติ 115 ล้าน คงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าดีใจว่า ใครแพ้ - ใครชนะ แต่ควรเป็นเรื่องที่น่าจะชนะด้วยเหตุผลที่เข้าใจกันทุกฝ่ายและสามารถทำความเข้าใจต่อสาธารณชนได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นและข้อสงสัยต่อบทบาทและวิธีการให้คำแนะนำของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา

สถานการณ์หลังวันประชุมกรรมการ กนอ. เมื่อ 14 เมษายน อันเป็นการตอกย้ำมติของ กนอ. คือ การรอดูท่าทีของบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าจะทักท้วงหรือส่งเรื่องต่อไปอย่างไร เพราะตัวบรรหารเองก็พยายามเคลียร์มติของ กนอ. ให้ชัดเจนมาครั้งหนึ่ง โดยการกำชับให้กรรมการ กนอ. ตัวจริงเข้าประชุมเมื่อวันที่ 14 เมษายน และพูดหลายครั้งว่าอยากให้ผู้ประมูลต่ำสุดเป็นผู้ชนะ

ไม่ใช่ว่าบรรหารไม่รู้เรื่องอะไรตั้งแต่ต้น กรรมการเปิดซอง และกรรมการ กนอ.บางคนก็เป็นคนของบรรหาร หมอชัยยุทธก็เคยดอดไปพบบรรหารที่กระทรวง เมื่อ 31 มกราคม หลาย ๆ อย่างมันชี้ให้เห็นว่า มีไฟเขียวมาแต่ต้นแล้ว แต่ที่บรรหารต้องทักท้วงนั้น มันก็เป็นไปตามเกมเมื่อฮุนไดฯ ร้องเรียนมามีบันทึกเป็นทางการ ก็ต้องทำบันทึกส่งต่อไปตามระเบียบ แล้วทุกอย่างก็ดูปกป้องตัวเองได้อย่างดี บรรหารจัดการเรื่องนี้อย่างลอยตัวมาก ทุกอย่างชอบธรรมโดยมติของ กนอ. ทั้งสิ้น ข้อครหากับบัญญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ดูจะเบาไป" แหล่งข่าวในวงการเมืองให้ความเห็นถึงท่าทีของบรรหาร

ดังนั้น เมื่อมติกรรมการ กนอ. ออกมาเช่นนั้น เรื่องก็ถูกส่งผ่านไปยังคณะกรรมการชายฝั่งทะเลตะวันออก และเสนอต่อโออีซีเอฟให้ความเห็นชอบ เป็นอันเสร็จพิธี รอแต่วันลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการเท่านั้น โอกาสที่ปัจจัยทางการเมืองจะมายุ่งเกี่ยวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกคงเป็นไปได้น้อยเต็มที

ดังนั้น ปัจจัยที่เป็นกระบวนการนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของฮุนไดฯ นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ

ประการแรก - บริษัท วิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย 3 บริษัทใหญ่ บริษัทนิปปอนโคเอะ ถือได้ว่าเป็นบริษัทวิศวกรที่จัดได้ว่าใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งของญี่ปุ่นและใหญ่ 1 ใน 10 ของโลก มีเครือข่ายสาขาทั่วโลก และมีสาขาในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2524

บริษัทอาร์เควี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2512 มีผลงานในอดีตมากมาย เช่น พระราชวังไกลกังวล โรงละครแห่งชาติ ศาลฎีกา ศาลแพ่ง บูรณะพระที่นั่งอนันต์ วัดพระแก้ว พระธาตุพนม ศูนย์การค้ามาบุญครอง เป็นต้น ตัว ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ ก็เคยเป็นถึงนายกฯ และผู้กอตั้งสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย

ส่วนบริษัทสินธุ พูนศิริวงศ์ คอนซัลแตนท์ ก็เป็นบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง มีผลงานหลายโครงการ ในโครงการชายฝั่งทะเลตะวันออก

แต่ถ้าถามถึงรายงานที่มีถึง 2 ฉบับ บริษัทที่ปรึกษาทั้งสามก็อาจจะปฏิเสธที่จะกล่าวถึง ตัวสินธุเองก็หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ เมื่อ "ผู้จัดการ" ซักถาม

แต่ผู้อยู่เบื้องหลังฉากี่มิอาจละเลยที่จะกล่าวถึงได้เลย คือ โออีซีเอฟ ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของโครงการชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมด เงื่อนไขของโออีซีเอฟผูกมัดว่า ผู้กู้จะต้องจ้างที่ปรึกษาเฉพาะประเทศ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้เป็นญี่ปุ่น บริษัทที่ปรึกษาก็เป็นญี่ปุ่น ความหมายของมันก็คือ โอกาสที่ผู้รับเหมาที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นหรือบริษัทที่คุ้นเคยกับญี่ปุ่นจึงมีน้อยเต็มที่ การเข้ามาของฮุนไดฯ ในครั้งนี้เปรียบเสมือนการท้าทายต่อยุทธศาสตร์แห่งอำนาจของสถาบันเงินกู้และธุรกิจก่อสร้างของญี่ปุ่นโดยตรง !

ประการที่สอง - ใคร ๆ ย่อมรู้ถึงความเก่งฉกาจนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ในวงการธุรกิจก่อสร้าง โครงการสำคัญในโครงการชายทั่งทะเลตะวันออก ล้วนเป็นฝีมือของหมอชัยยุทธเกือบทั้งสิ้น แม้แต่โครงการที่อิตาเลียนไทยแพ้แน่นอนแล้ว หมอชัยยุทธยังพลิกจนเป็นฝ่ายชนะได้ เช่น การประมูลที่นิคมอุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุดและท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง

เชื่อกันว่า การเข้าถึงเส้นสายของหมอชัยยุทธนั้น ฉกรรจ์ยิ่งนัก และก็ยังครบถ้วนทุกหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะระดับประธานกรรมการหรือรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ระดับโนเนมก็เข้าถึง อยู่ที่ว่ามีสิทธิ์มีเสียงหรือไม่ ดังนั้นการประมูลหลาย ๆ ครั้งที่มีการโหวตผลงานของหมอชัยยุทธจึงรับประกันว่าเป็นเลิศเกือบจะทุกครั้ง

"หมอชัยยุทธเป็นผู้ใหญ่ที่ดื้อร้ายกาจต่อให้แกประมูลแพ้สักพันล้าน แกก็อาจจะสู้จนถึงที่สุด แกสู้จนตายนั่นแหละ แต่คนอื่นที่สู้กับแกต้องตายไปด้วย" แลห่งข่าวในวงการก่อสร้างให้ความเห็น

แท้จริงความเก่งกาจของหมอชัยยุทธมิใช่อยู่ที่การมีความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ระดับสูงอย่างดีมาก หรือ "ล็อบบี้" เก่ง เพราะนันเป็นเพียงด้านเดียว ความเก่งของหมอชัยยุทธอยู่ที่ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ โดยเฉพาะวงการธุรกิจก่อสร้าง ที่หมอชัยยุทธสามารถผสมผสานผลประโยชน์กับกลุ่มยักษ์ใหญ่ธุรกิจก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่นได้อย่างแนบแน่นและรวดเร็วเกินกว่าใครจะตามทัน

กรณีโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดนี้ บริษัทที่ออกหน้าออกตาว่าร่วมกับอิตาเลียนไทยในการก่อสร้าง คือ บริษัทเดรดจิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งเบลเยียม กับบริษัทคอมปานีเดอเอนเตอร์ไพรซ์ จากฝรั่งเศส บทบาทของอิตาเลียนไทย คือ ผู้ประสานงานทำสัญญาหาแหล่งวัสดุในประเทศ และก่อสร้างตัวอาคารที่ทำการท่าเรือ แต่ยังมีบริษัทก่อสร้างอีกแห่งที่แทรกแซมเป็น SUBCONTRACTOR อยู่ด้วย เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมงานกับอิตาเลียนไทยมาหลายครั้ง โดยเฉพาะที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง บริษัทญี่ปุ่นนั้น ชื่อ "ไดไฮคอนสตรัคชั่น" และที่สำคัญ บริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้รับผิดชอบในการก่อสร้าง "เคซอง" ซึ่งเป็นปมเงื่อนที่ฮุนไดฯ พ่ายแพ้นั่นเอง !

ประการที่สาม - โดยเงื่อนไขข้อผูกมัดของโออีซีเอฟ อาจกำหนดคุณสมบัติของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่า คำปรึกษาของที่ปรึกษาจะเป็นคำตัดสินชี้ขาดจนไม่สามารถแปรเปลี่ยนหรือตั้งข้อสังเกตคัดค้านไม่ได้ อีกทั้งการเจรจาต่อรองและการตัดสินของผู้ว่าจ้างก็ควรอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประเทศมากที่สุด

กรณีการนิคมอุตสาหกรรมในเรื่องท่าเรือมาตาพุดนี้เป็นปรากฎการณ์ชัดเจนที่สุดของความไม่ "พยายาม" เป็นอิสระในการเลือกและตัดสินใจในโครงการ คำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษากลายเป็น "คำสาป" ที่จะต้องปฏิบัติ แม้จะมีการตั้งข้อสงสัยมากมายกับคำแนะนำดังกล่าว

"แล้วมาตรฐานในการรับซองประกวดราคาของผู้ประมูลมันอยู่ที่ตรงไหน โดยเฉพาะเรื่องกฎเกณฑ์ระเบียบหยุมหยิมทั้งหลาย เมื่อแรกรับซองก็ให้ผ่าน แต่พอมาขั้นชี้เป็นชี้ตายกลับเอามาอ้างเป็นเรื่องตัดสิน แต่กับอีกข้างกลับอนุโลมกันได้" แหล่งข่าววงการก่อสร้างตั้งคำถาม

ผู้ว่าจ้างอย่าง กนอ. จึงเป็นปมเงื่อนสำคัญในขั้นตอนหนึ่งของความพ่ายแพ้ของ ฮุนไดฯ

"ผู้จัดการ" ไม่ได้ยืนอยู่ข้างฮุนไดฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดแสดงถึงความลับลมคมในในการประมูล แต่การประมูลนั้นถ้าสามารถแสดงได้ถึงความเป็นอิสระในการตัดสิน ความชัดเจนในการพิจารณา มีมาตรฐานทุกขั้นตอน สามารถตอบคำถามที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นั่นต่างหากคือสิ่งที่ "ผู้จัดการ" อยากเห็น ซึ่งใครจะชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ

อย่าลืมการประมูลครั้งนี้ เป็นการประมูลนานาชาติที่ความสกปรกถ้าหากเกิดขึ้นแล้วมันน่าขายหน้าชาวโลกยิ่งนัก

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเริ่มต้นด้วยความลังเลในอนาคต และกลิ่นอายของการครอบงำจากญี่ปุ่นโดยผ่านสถาบันเงินกู้และบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา อีกทั้งการประมูลอย่างมีเงื่อนงำก็ดูจะเป็นวัฒนธรรมที่ก่อรากในปริมณฑลแถบนี้อย่างแน่นหนา

ยังมีโครงการอีกหลายโครงการในพื้นที่แถบนี้ที่ต้องมีการก่อสร้างและเปิดประมูลหาผู้รับเหมา ใครบางคนบอกว่า ถ้าทางญี่ปุ่นอยากจะได้ใครเป็นผู้รับเหมาก็ควรจะบอกมาล่วงหน้าเสียเลยดีกว่า คนอื่นจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลา เสียเงินเสียทอง เตรียมข้อมูลมาประมูลแข่ง เหมือนอย่างที่ฮุนไดฯ ต้องชอกช้ำมาแล้ว

"ทุกสิ่งในงานก่อสร้างที่ EASTERN SEABOARD นั้นแตะต้องไม่ได้ เพราะมันมีเจ้าของตั้งนานแล้ว"

หรือจะให้ "ผู้จัดการ" สรุปไว้เช่นนั้น !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us