"กลางปีนี้ ถ้าไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค กรุงไทยก็จะเข้าตลาดหุ้นในกระดาน
1 ซึ่งมีความหมายถึงวาระการเปลี่ยนแปลงในบางส่วนของแบงก์แห่งนี้จะมาถึงในไม่ช้าไม่นานนี้
พนัส ภุชงค์และเธียรชัย ที่มีประวัติศาสตร์อยู่กับแบงก์แห่งนี้ในฐานะผู้บริหารและกรรมการระดับสูงมาระยะเวลาหนึ่ง
คงอยู่ในสถานะที่ไม่สบายนัก เนื่องจากระบบการบริหารและผลการดำเนินงานที่ตนบริหารอยู่ปรากฏออกมาในลักษณะเลวร้ายยิ่งนัก
ปัญหาหนี้เสียนับหมื่นล้านบาท ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ผู้บริหารระดับสูงจนแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า
การประสานงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เป็นอัมพาตล้วนแล้วแต่เป็นดอกผลจากประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายของแบงก์นี้ที่ติดตั้งมาตั้งแต่เกิดเมื่อปี
2509 ทั้งสิ้น… ซึ่งปัญหาที่หลากหลายเหล่านี้เป็นเชื้อที่ดีต่อการถูกประเมินไปในทางด้านลบจากประชาชนและผู้ลงทุนที่จะซื้อหุ้นกรุงไทยในอนาคตทั้งสิ้น
ตราบใดที่ผู้นำสูงสุดของแบงก์แห่งนี้ยังคงติดยึดอยู่กับวัตรปฏิบัติเก่าๆ
ที่เคยเป็นมา
สินทรัพย์ของแบงก์กรุงไทยเริ่มกระโดขึ้นมาเป็นที่ 2 รองจากแบงก์กรุงเทพ
เมื่อปี 2530 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มองจากขนาดของสินทรัพย์ที่สูงถึงเกือบ
180,000 ล้านบาท ในปี 2531 นับว่าใหญ่เอามากๆ ทั้งๆ ที่กำเนิดขึ้นมาได้เพียง
23 ปี (2509) ขณะที่แบงก์กสิกรไทยและกรุงเทพที่มีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่ไล่เลี่ยกันเกิดมาก่อนหน้าที่แล้วนับ
40 ปี
ความใหญ่จากขนาดของแบงก์มีผู้ชำนาญการในแวดวงนักบริหารธนาคารระดับมืออาชีพได้เคยพูดอยู่เสมอว่า
มันเป็นคนละเรื่องกับประสิทธิภาพหรือคุณภาพที่ดีของแบงก์เลย
นับว่าเป็นความจริงทีเดียว เมื่อนำมาวัดจากกรณีตัวอย่างของแบงก์กรุงไทยคือ
ปี 2531 แบงก์กรุงไทยมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์และเงินกองทุนอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกแบงก์
(ยกเว้นแหลมทอง) ตกจำนวนเพียง 0.08% และ 1.9% เท่านั้น (ดูตารางวัดผล-ประกอบ)
ขณะที่แบงก์นครธน ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์เล็กกว่าแบงก์กรุงไทยถึง 10 เท่าตัว
กลับมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์และเงินกองทุนสูงถึง 0.58% และ 11.53%
ตารางวัดผลประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจแบงก์กรุงไทย
|
ปี |
คุณภาพสินทรัพย์ (%)
Total Loan Reserves
Total Loan
|
ความเพียงพอของทุน(%)
|
ความสามารถทำกำไร (%)
|
Equity / Asset
|
Equity / Loan
|
ROA
|
ROE
|
2530 |
1.9 |
3.7 |
22.3 |
0.17 |
4.52 |
2531 |
2.0 |
3.9 |
32.6 |
0.08 |
1.97 |
ที่มา จากการคำนวณของ "ผู้จัดการ"
|
และหากว่านำแบงก์กรุงไทยไปเทียบกับแบงก์กสิกรไทยซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ไล่เลี่ยกัน
ผลตอบแทนจากสินทรัพย์และเงินกองทุนก็ต่างกันราวฟ้ากับดินเมื่อแบงก์กสิกรไทยมีผลออกมาสูงถึง
0.66% และ 10.56%
แหล่งข่าวในสถาบันการเงินชั้นนำแห่งหนึ่งได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า ตามมาตรฐานทั่วไปในการวัดประสิทธิภาพการบริหารธนาคารพาณิชย์เมื่อมองจากผลตอบแทนด้านสินทรัพย์ที่ดีควรอยู่ระหว่าง
0.5 ถึง 1.0% ส่วนด้านการเงินกองทุนควรสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำซึ่งเวลานี้ตก
9.5%ต่อปี
มองจากมาตรฐานเส้นวัดนี้ ประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์และเงินกองทุนของแบงก์กรุงไทยห่างจากมาตรฐานที่ดีมากเหลือเกิน
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประสิทธิภาพกาบริหารตกต่ำอย่างเลวร้ายมาก !
คำถามคือ ทำไมประสิทธิภาพการบริหารจึงตกต่ำมากเช่นนั้น? มองจากธุรกิจของแบงก์ก็มาจากการบริหารงานสินเชื่อไม่มีคุณภาพ
การที่ธุรกิจแบงก์หัวใจสำคัญอยู่ที่งานสินเชื่อ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของธนาคารที่มีสัดส่วนที่สุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ตัวอื่นๆ
ในกรณีของกรุงไทยมีสัดส่วนสูงถึง 63% เมื่อประสบปัญหาด้อยคุณภาพจากภาวะหนี้สูญและสงสัยจะสูญก็ย่อมมีผลฉุดรั้งประสิทธิภาพในผลตอบแทนตกต่ำลงอย่างเลวร้าย
ปี 2529 แบงก์กรุงไทยเจอคำสั่งแบงก์ชาติให้ตั้งหนี้สูญ 933 ล้านบาท นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญตามปกติของธนาคารที่จำนวน
395 ล้านบาท เมื่อรวมกันจะมีมูลค่า 1,328 ล้านบาท ปี 2530 การตั้งสำรองหนี้สูญจากคำสั่งแบงก์ชาติพุ่งสูงขึ้นเป็น
3,374 ล้านบาท รวมกับสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แบงก์ตั้งไว้ปกติอีก 1,046
ล้านบาท รวมเป็น 4,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2529 ถึง 233%
สำหรับปี 2531 แม้แบงก์ชาติจะยังไม่เปิดเผยผลการตรวจสอบหนี้สูญ เพื่อการตั้งสำรองแต่คนในกรุงไทยเองก็มีความเชื่อกันว่าจะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย
2,000 ล้านบาท จากหนี้ตั๋ว L/C และเงินกู้ปกติระดับ 50 ล้านบาทขึ้นไปอีกจำนวน
200 ราย "หนี้สงสัยยกเว้น 3 รายใหญ่ที่รู้กันอยู่ว่าผมมีจำนวนไม่น้อยกว่า
12,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าตรวจสอบกันจริงๆ ตามหลักการจัดชั้นหนี้ผมว่าตัดเป็นหนี้สูญเลยทันทีไม่น้อยกว่า
30% ตกราวๆ 3,600 ล้านบาทค่อนข้างแน่" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง
ดังนั้น การสำรองหนี้สูญในปี 2531 จะตกราวๆ ประมาณไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับเงินกองทุน ณ สิ้นปี 2531 ซึ่งมีอยู่ราวๆ 6,000 ล้านบาท
จะมีผลกระทบต่อฐานะเงินกองทุนลดค่าลงเหลือเพียงประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น
และแน่นอนว่าในความเป็นจริงฐานะเงินกองทุนเพียง 1,000 ล้านบาท ย่อมไม่สามารถรองรับขนาดสินทรัพย์ของแบงก์ที่ใหญ่ขนาดเกือบ
180,000 ล้านบาทได้แน่ (ดูงบดุลฯ ประกอบ)
การตกต่ำของประสิทธิภาพในผลตอบแทนของสินทรัพย์และเงินกองทุนอันเนื่องจากหนี้สูญ
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ "ผู้จัดการ" กล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานข้อมูลความจริงมีดังนี้
กรณีลูกหนี้รายใหญ่ 3 ราย คือ กลุ่มสุระ เสธ.พล และสว่าง เลาหทัย จากการปรับปรุงหนี้ล่าสุดตัดยอดสิ้นมีนาคม
2532 มีประมาณ 10,000 ล้านบาท เป็นของกลุ่มสุระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ
1,700 ล้านบาท "ของสุระยังมีหนี้อยู่ที่ บงล.สากล (IFCC) อีก 3,000
กว่าล้านบาท ซึ่งในสมัยรองเริงชัย มะระกานนท์ ต้องการแก้หนี้รายนี้โดยรวมเอาเข้าไปกับ
IFCC ด้วย แต่ก็ล้มเหลว เพราะสุระไม่เห็นด้วย" คนในกรุงไทยเล่าย้อยอดีตให้ฟัง
ที่เหลืออีกประมาณ 9,300 ล้านบาท เป็นเสธ.พลและสว่าง โดยเสธ.พล มีหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวมกัน
3,100 ล้านบาท ของสว่างอีกจำนวน 5,200 ล้านบาท
หนี้ใหญ่ 3 รายนี้เกิดมาตั้งแต่สมัยตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
จนกระทั่งปัจจุบันการแก้ปัญหาหนี้จำนวนมหึมาก้อนนี้ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขให้เรียบร้อยลงได้
ยกตัวอย่างกรณีหนี้เสธ.พล จำนวน 3,100 ล้านบาท "ผู้จัดการ" ได้สอบถามไปยังผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบคือ
ดร.ปัญญา ตันติยวรงค์ หรือแม้แต่กรรมการแบงก์กรุงไทยบางท่านว่าจะมีทางออกอย่างไรในการแก้ปัญหาหนี้รายนี้
แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดออกมาอย่างจริงจังและเด็ดขาด
เนื้อแท้คืออะไรต่อท่าทีเช่นนี้ของผู้ใหญ่ในแบงก์กรุงไทย? เมื่อ "ผู้จัดการ"
ลงไปสืบค้นที่มาของหนี้เสธ.พลก็พบว่า มาจากนโยบายระดับสูงของผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาล
(ชุดพลเอกเปรม) เมื่อปี 2526 ที่มีหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 17
ต.ค. 2526 แจ้งไปยังปลัดพนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลังซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแบงก์กรุงไทยเวลานั้น
ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เสธ.พลโดยมีความว่า "บ.ชะอำ ไพร์แอปเปิ้ล
แคนเนอรี่ และชะอำไพร์แอปเปิ้ล ทินเพลท เป็นบริษัทที่ทำโรงงานเกี่ยวกับอาหารกระป๋อง
เพื่อช่วยชาวไร่สับปะรดและผลไม้อีกหลายชนิด นำผลผลิตส่งออกขายต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชนให้สนับสนุนนโยบายรัฐบาล
เกี่ยวกับพืชไร่ราคาตกต่ำ เป็นโรงงานที่ควรให้การสนับสนุน"
หลักฐานตรงนี้มีหมายความถึงชัดเจนในการสร้างหนี้สูญของเสธ.พล และการยอมก้มหัวให้กับกลุ่มอิทธิพลภายนอกเข้ามาแทรกแซงการภายในแบงก์ของพนัส
แต่ที่แสดงเด่นชัดในการบริหารหนี้ของพนัสและผู้ใหญ่ในบอร์ดรูมของแบงก์กรุงไทยว่าเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็คือ
การละเลยติดตามแก้ปัญหาหนี้สินจำนวนมหึมานี้อย่างจริงจัง
จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ทราบว่า หนี้ของเสธ.พล ไม่เพียงแต่จะไม่มีการชำระทั้งต้นและดอกแม้แต่บาทเดียวแล้ว
ทางผู้บริหารระดับสูงในแบงก์กรุงไทยยังมีการอัดฉัดเงินให้อีก 60 ล้านบาท
เมื่อต้นปีนี้เอง โดยอ้างว่าเพื่อให้เสธ.พล นำเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่ง 10 ล้านบาทไปจ่ายหนี้ชาวไร่สับปะรดและเป็นทุนหมุนเวียนการผลิตสับปะรดกระป๋อง
ซึ่งในทางเป็นจริงเงินจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งประมาณ 50 ล้านบาท เสธ.พลนำไปชำระหนี้คืนแก่แมนทรัสต์
(MANUFACTURER HANOVER TRUST)
พูดง่ายๆ หนี้เสีย 3,100 ล้านบาทนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารชุดปัจจุบันคือ
พนัส เธียรชัย ร่วมกันอัดฉีดเงินเข้าไป 60 ล้านบาทด้วย
คำถามคือ ทำไมพนัส เธียรชัย จึงไม่ใช้ความเด็ดขาดเข้าดำเนินการฟ้องยึดหลักประกันของเสธ.พล
แล้วขายทอดตลาดเอารายได้เข้าแบงก์เสียหละ!
ในเมื่อเสธ.พล เบี้ยวข้อตกลงการประนีประนอมหนี้ที่ทำไว้ตั้งแต่ยุคเริงชัย
ซึ่งมีผลให้สัญญาข้อตกลงนี้เป็น DEFAULT ไปทุกข้อ
อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ถูกคิดไปได้อย่างไรเล่าว่า ทั้งพนัสและเธียรชัยไม่กล้าทำอะไรลงไปในการแก้ปัญหาลูกหนี้รายใหญ่นี้
เนื่องการหวั่นเกรงอิทธิพลทางการเมืองของเสธ.พลจะพัดเอาเก้าอี้ตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่หลุดกระเด็นไป
กรณีหนี้เสียรายอื่นๆ ที่เข้าข่ายปรับปรุงหนี้จำนวน 200 ราย มูลหนี้กว่า
12,000 ล้านบาทนี้ก็เช่นกัน กรณีนายอาทร รักษ์เกียรติวงศ์ ที่ร่วมมือกับประพันธ์หรือ
"เซียงกี" ปิตวิวัฒนานนท์ ผู้จัดการสาขาแบงก์กรุงไทยหาดใหญ่ หมุนเวียนแบงก์ออกไปเก็งกำไรค้าเงินตราต่างประเทศร่วม
1,000 ล้านบาท
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับ 24-30 เม.ย. 2532 ได้เปิดเผยกระบวนการบริหารสินเชื่อของแบงก์กรุงไทยไว้ว่า
"เรื่องนี้เกิดที่สาขาหาดใหญ่ ซึ่งมี ประพันธ์ ปิตวิวัฒนานนท์ หรือ
"เซียงกี" เป็นผู้จัดการสาขาอยู่ เซียงกีคนนี้ได้ชื่อว่ารักใคร่ขอบพอกับเธียรชัย
ศรีวิจิตรมาก
วิธีการนำเงินแบงก์กรุงไทยออกไปใช้ทุกวันตลอดทั้งวัน แล้วนำมาส่งในตอนเย็นๆ
ทุกวันนั้น เล่นกันง่ายมาก โดยใช้บัญชี O.D. 4 บัญชีเป็นเครื่องมือ
บัญชี O.D. 4 บัญชีนี้เป็นของอาทร รักษ์เกียรติวงศ์ กังเก็ก พงษ์เจริญ และอดิศร
รักษ์เกียรติวงศ์ แบ่งกันเล่นเป็น 2 วง จับกันเป็นคู่ละ 2 คนแรกกับ 2 คนสุดท้ายตื่นเช้ามา
อาทรก็จะเซ็นเช็คจากบัญชี O.D. ของเขา เอาเงินเข้าบัญชีของกังเก็ก แล้วกังเก็กก็สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินออกไปสดๆ
จำนวนเดียวกับที่อาทรฝากเข้าโดยเช็คเขานั่นเอง
เช่นเดียวกัน พงษ์เจริญ ก็จะสั่งจ่ายเช็คจากบัญชี O.D.ของเขาไปเข้าบัญชีของดิศร
แล้วอดิศรก็จะสั่งจ่ายเช็คนำเงินออกจากบัญชีของเขาไปในจำนวนเท่าๆ กับที่พงษ์เจริญฝากเข้า
ในเวลาเดียวกัน อาทรกับพงษ์เจริญก็จะออกเช็คของเขาที่เปิดไว้ในแบงก์อื่น
นำเงินฝากเข้าไปอุดเงินที่สั่งจ่ายออกไปในตอนเช้านั้นไว้เสีย เพื่อไม่ให้บัญชีที่แบงก์กรุงไทยเป็นตัวแดง
แล้วแบงก์กรุงไทยก็ลงบัญชีให้ปิดไว้ให้ ในขณะที่ยังไม่ทราบผลการเคลียริ่งเช็คที่เข้ามาอุดไว้นั้นก่อน
แค่นี้เองก็สามารถนำเงินแบงก์กรุงไทยสาขาหาดใหญ่ออกไปใช้โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยได้ทั้งวัน
เพียงแต่ว่าพอตกเย็นเงินก็จะไหลคืน โดยส่วนหนึ่งนำไปปิดบัญชีที่แบงก์อื่นเช็คนั้นก็ผ่านเข้าปิดบัญชีของอาทรและพงษ์เจริญที่กรุงไทยสบายๆ
เช้าวันรุ่งขึ้นก็ทำแบบเดิมอีก ตามรายงานการตรวจสอบภายในของธนาคารปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนอยู่เช่นนี้รวมกันทั้งหมดร่วม
1,000 ล้านบาท โดยที่แบงก์กรุงไทยไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย เงินที่ออกไปในตอนเช้านั้นจะถูกโอนไปตามแหล่งรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเกือบทั่วภาคใต้
เมื่อตกเย็นเงินก็จะถูกโอนเข้ามาตามแหล่งเดียวกัน หรือแม้แต่ถูกโอนไปจากย่านเยาวราชก็เคย"
ตัวอย่างกรณีนี้ แม้แบงก์กรุงไทยจะปล่อยสินเชื่อออกไปร่วม 1,000 ล้านบาท
โดยหนี้ไม่สูญ แต่ไม่มีผลตอบแทนกลับมาในรูปดอกเบี้ย ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าระบบการบริหารสินเชื่อไม่มีประสิทธิภาพมีการรั่วไหล
ซึ่งจากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" กรณีนี้ยังไม่มีการตรวจสอบจากแบงก์ชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น
เป็นแต่เพียงตรวจพบจากหน่วยงานภายในธนาคารเอง
อีกรายหนึ่งเป็นจำรัส ตันติวณิชย์ ซึ่งเป็นตัวแทนขายส่งบุหรี่แก่โรงงานยาสูบของกระทรวงการคลัง
เขาใช้สินเชื่อแบงก์กรุงไทยในการทำธุรกิจผ่านสาขาปทุมวัน
สัญญาลูกค้ารายนี้กับแบงก์มีอยู่ว่า จำรัสไปเอาบุหรี่จากโรงงานยาสูบออกมาขายโดยไม่ต้องจ่ายเงินเอง
แต่ให้โรงงานยาสูบเอาตั๋วตามราคาบุหรี่มาขึ้นเงินเอาที่ ส.น.ญ.แบงก์กรุงไทย
เมื่อ ส.น.ญ.ได้รับตั๋วตามราคาบุหรี่และได้จ่ายเงินให้โรงงานยาสูบไปแล้ว
แบงก์จะเอาสลิปไปเรียกเก็บเงินจากสาขาปทุมวัน เมื่อสาขาปทุมวันได้รับสลิปเรียกเก็บเงินแล้วก็จะต้องนำส่งเงินให้ส.น.ญ.แล้วนำสลิปนั้นไปหักเงินจากบัญชีเงินกู้ของจำรัสอีกที
เมื่อปฏิบัติอย่างนี้แล้ว บัญชีของจำรัสจะปรากฏเป็นตัวแดง ซึ่งหมายความว่า
เป็นตัวยอดดอกเบี้ยที่แบงก์จะได้รับ ความสูญเสียของหนี้รายนี้อยู่ที่สาขาปทุมวัน
นำสลิปไปตัดยอดบัญชีล่าช้า ดอกเบี้ยที่ควรจะได้ก็เลยไม่ได้รวมเวลาเกือบ 5
ปี เป็นเงินดอกเบี้ยสูงถึง 15 ล้านบาท และรวมกับยอดหนี้ที่จำรัสใช้เกินวงเงินอีก
35 ล้านบาท รวมเป็น 50 ล้านบาท
เรื่องนี้แดงขึ้นมา เนื่องจากการตรวจพบของธนาคาร ก็มีการสั่ง "แช่เย็น"
บัญชีของจำรัสทันที จำรัสจึงยื่นฟ้องศาลให้แบงก์ชดใช้ค่าเสียหายเกือบ 100
ล้านบาท
จากการติดตามของ "ผู้จัดการ" ทราบว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำรัสชนะคดีและให้แบงก์กรุงไทยจ่ายค่าเสียหายแก่จำรัส
5 ล้านบาท และคดีนี้แบงก์กรุงไทยก็อุทธรณ์ต่อศาลต่อไป
ยังไม่รู้ว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาว่าอย่างไร!
ตัวอย่างนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่แบงก์ชาติยังไม่ได้ตรวจสอบพบและอยู่ในข่ายหนี้สงสัยจะสูญจำนวน
50 ล้านบาท ที่แบงก์กรุงไทยยังไม่ได้ตั้งสำรองไว้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
กรณี เกรต เอนเตอร์ไพร์ส และบริษัท สยามเกณส์ อินเตอร์เทรด เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แบงก์กรุงไทยต้องประสบปัญหาหนี้เสียจากวงเงินปล่อยกู้
PACKING CREDIT จำนวน 55 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอีก 11 ล้านบาท)
เกรต เอนเตอร์ไพร์ส และสยาม เกณส์ฯ ต่างเป็นของชัยโรจน์ ตั้งธีรพงศ์ ตั้งธุรกิจขึ้นมาเพื่อส่งออกพืชผลเกษตรไปยังบริษัทแห่งหนึ่งในมาเลเซียโดยใช้ชื่อว่า
สยามเกณส์ฯ โดยนายชัยโรจน์ มีหุ้นส่วนอยู่กับบริษัทนี้ด้วย
ปัจจุบัน บริษัทสยาม เกณส์ฯ เลิกกิจการไปแล้ว ทำให้วงเงินสินเชื่อ PACKING
CREDIT ที่แบงก์กรุงไทยปล่อยให้แก่เกรต เอนเตอร์ไพร์ส จำนวน 53.5 ล้านบาท
(ณ สิ้นมกราคม 2531) กลายเป็นหนี้ที่ถูกจัดชั้นเผื่อสงสัยเป็นหนี้สูญไป เนื่องจากขาดการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น
ด้วยมีการหลบหนีของกรรมการบริษัทบางคนที่ค้ำประกันมูลหนี้ไว้ ตัวนายชัยโรจน์เองรับจะชดใช้ความเสียหายแก่ธนาคารให้เพียงเดือนละ
10,000 - 20,000 บาทเท่านั้น ถ้าธนาคารต้องการมากกว่านี้ก็ต้องไปฟ้องร้องศาลเอาเอง
หนี้เสียจำนวนนี้ ก็ยังไม่ถึงมือแบงก์ชาติ!
ปัญหาหนี้เสียของแบงก์กรุงไทยเป็นปัญหา ที่เกี่ยวกันเชื่อมโยงมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของกรรมการแต่ละยุคสมัย
ที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นยุคตามใจ ขำภโต และพนัส สิมะเสถียร ในขณะที่ยุคเธียรชัย
ศรีวิจิตร กลับมุ่งแต่งาน "พ่อบ้าน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามวางสายใยอำนาจเหล่าผู้บริหารระดับฝ่าย
จนเป็นปัญหาปะทุขึ้นด้วยความร้าวฉานในปัจจุบัน ว่ากันว่าการที่เธียรชัยมุ่งแต่บริหารงานอำนาจของตน
ก็เลยละเลยงานพัฒนาหรือปรับปรุงหนี้เสียของแบงก์อย่างจริงจัง
"การจัดการหนี้เสียอย่างเป็นระบบและมีแผนการ เพื่อนำมาซึ่งรายได้แก่แบงก์มันไม่มีเลย
เมื่อผู้ใหญ่ไม่มีนโยบายหรือคำสั่งอะไรออกมา ข้างล่างก็ไม่มีใครกล้าขยับทำอะไร"
คนในแบงก์กรุงไทยพูดถึงการละเลยแก้ปัญหาหนี้เสียในสมัยเธียรชัยให้ฟัง
พนัส ตามใจ ภุชงค์ เธียรชัย พวกเขาทั้ง 4 คนอยู่ในบอร์ดรูมตลอดย่อมมีส่วนรับรู้เรื่องราวการกำเนินดของหนี้เสียนับหมื่นล้านบาท
แต่ละยุคของพวกเขาในประวัติศาสตร์ของแบงก์แห่งนี้ ถ้าจะพูดว่าเป็นยุคของฮ่องเต้นั่งบัลลังก์
ขันทีเรืองอำนาจก็ไม่ผิดแตกต่างจากความจริงเท่าไรนัก
ทำให้นึกถึงย้อนในอดีตสมัย จำรัส จตุรภัทร และเกื้อ สวามิภักดิ์ เป็นผู้นำในแบงก์กรุงไทยที่ว่ากันว่าได้วางรากฐานอย่างมีศักดิ์ศรีให้กับสถาบันแห่งนี้
โดยไม่หวั่นเกรงอิทธิพลกดดันภายนอกไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือนักการเมือง
ก็ทำให้รู้สึกสลดใจที่ผู้นำยุคหลังของพวกเขาได้ทำลายเกียรติภูมินี้อย่างน่าเสียดาย
ประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยกรุงไทยเป็นเช่นไร!
ประเทศไทยในห้วงเวลาแห่งเดือนมีนาคมปี 2509 ไม่มีสถานการณ์ที่ดูโดดเด่นเป็นพิเศษมากไปกว่าความมั่นคงทางเสถียรภาพของรัฐบาลจอมพลถนอม
กิตติขจร ที่ก้าวขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลย่างขึ้นปีที่ 3 บ้านเมืองเต็มไปด้วยทหารอเมริกันและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามอย่างออกหน้าออกตา
ภาวะการณ์เศรษฐกิจแม้ไม่ใช้ยุคเฟื่องฟูสุดขีด แต่กระแสหมุนเวียนของดอลลาร์สหรัฐฯ
ก็ดูเหมือนจะเริ่มแพร่สะพัดอย่างหนักแล้ว
มันเป็นยุคที่ประชาชนส่วนใหญ่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน ไม่มีใครอยากใส่ใจว่าผู้ปกครองกำลังทำอะไร
ไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นจะผิดหรือถูกหรือไม่อย่างไรทั้งสิ้น
การตัดสินใจของรัฐบาลจอมพลถนอม โดยมี ดร.เสริม วินิจฉัยกุล รัฐมนตรีคลังในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องการควบธนาคารเกษตรกับธนาคารมณฑลเข้าด้วยกันและเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น
"ธนาคารกรุงไทย จำกัด" เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2509 ก็นับเป็นเหตุการณ์เล็กๆ
ธรรมดาอีกเหตุการณ์หนึ่งในห้วงเวลานั้น
เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ธรรมดาที่ไม่มีใครไปให้ความสนใจว่าทำไมถึงต้องควบหรือควบแล้วจะก่อให้เกิดผลดีผลเสียอย่างไรในอนาคต
ซึ่งถ้าเป็นยุคปัจจุบันแล้วก็คงจะเป็นคนละเรื่องทีเดียว เพราะก็คงจะไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ง่ายดายอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่
14 มีนาคม 2509 นั้นเป็นแน่นอน
กำเนิดของธนาคารกรุงไทยนั้น แม้นว่าจะเป็นการทำคลอดที่ง่ายดายก็จริง แต่ถ้าพิจารณากันอย่างถ้วนถี่แล้วก็เหมือนการให้กำเนิดลูกไม่มีพ่อ
เพราะว่าพ่อก็คือรัฐบาลชุดก่อนๆ เรื่องจึงกลายเป็นว่ารัฐบาลชุดต่อๆ มาก็ต้องผลักใสให้มันเกิด
จากนั้นก็เลี้ยงดูกันแบบขอไปทีทุกยุคทุกสมัย
ว่าไปแล้วก็คล้ายนิยายเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างจะเน่าสนิททีเดียว
ธนาคารมณฑลและธนาคารเกษตรก่อตั้งขึ้นในยุคใกล้ๆ กันและก่อนหน้าปี 2509 ไม่กี่ปีก็ล้วนเป็นธนาคารของรัฐด้วยกันทั้งคู่
เพียงแต่เริ่มต้นต่างกันเท่านั้น
ธนาคารมณฑลนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2484 ในยุครัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม
และได้เปิดทำการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2485 แรกทีเดียวใช้ชื่อว่าธนาคารไทยจำกัดตั้งสำนักงานอยู่ที่ตึกบริษัทบัตเลอร์
แอนด์ เว็บสเตอร์ เลขที่ 130 ถนนเฟื่องนคร
ถ้ากล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลจอมพลป.ตัดสินใจตั้งธนาคารนี้ก็คงจะเนื่องด้วยเหตุผลใหญ่ๆ
2 ข้อ
- ข้อแรก ก็เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองแผ่นดินส่วนเอเชีย-แปซิฟิกเอาไว้แทบทุกย่อมหญ้า
บรรดาธนาคารต่างชาติโดยเฉพาะธนาคารสัญชาติอังกฤษในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
แบงก์ เมอร์แคนไทล์ และชาร์เตอร์ (ปัจจุบันคือสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ แบงก์)
ล้วนปิดกิจการกันหมดสิ้น ก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งแบงก์ขึ้นมาทดแทนส่วนที่ปิดไป
ซึ่งก็เห็นได้ชัดจากการที่พนักงานชุดแรกจำนวน 25 รายของธนาคารไทย (ธนาคารมณฑลในเวลาต่อมา)
นั้นก็คือพนักงานเดิมของฮ่องกง แอนด์ เซี่ยงไฮ้ เมอร์แคนไทล์และชาร์เตอร์ด
นั่นเอง
-
- ส่วนข้อสอง ก็คงเป็นอื่นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นความสอดคล้องกับนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลจอมพลป.
เหมือนๆ กับอีกหลายกรณีที่จอมพลป. กระทำขึ้น โดยทิศทางก็คือ การสร้างกิจการที่เป็นของคนไทยขึ้นมาขับเบียดกิจการของคนต่างด้าวโดยเฉพาะกิจการสำคัญอยู่แล้ว
"รัฐบาลก็จะเข้าไปดำเนินการเสียเองในรูปรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทจำกัดที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
-
ในปี 2488 ยุคจอมพลป.อีกเช่นกัน ธนาคารนี้เคยเข้าไปตั้งสาขาถึงพระตะบองซึ่งเปิดดำเนินการได้พักเดียวก็ต้องยุบเพราะไทยเสียดินแดนส่วนนี้ไปให้กับฝรั่งเศส
และปีเดียวกันนี้เองที่มีการเปลี่ยนชื่อธนาคารไทยเป็นธนาคารมณฑลหรือ (THE
PROVINCIAL BANK) นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการเป็นกิจการธนาคารที่ให้การสนับสนุนบริษัทจังหวัดพาณิชย์ที่รัฐบาลไปตั้งค้าขายแข่งกับพ่อค้าชาวจีนตามต่างจังหวัด
ยุคนั้นเป็นยุคที่ธนาคารต้องทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนนโยบายของชาตินิยมของจอมพลป.
อย่างเต็มเหยียด ก็ไม่ต้องดูอื่นไกลตัวสำนักงานใหญ่ยังต้องย้ายจากที่เดิมซึ่งเป็นอาคารของบริษัทต่างชาติมาอยู่ยังที่ใหม่ที่เรียกกันว่า
"ตึกไทยนิยม" ด้วยซ้ำไป
"บทบาทของธนาคารมณฑลดูเผินๆ ก็ดูดีอยู่หรอก โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยที่มีเลือดไทยไหลแรงทั้งหลาย
แต่เผอิญรัฐบาลจอมพลป. เองก็ใช่ว่าจะเข้มแข็งตลอด ต้องอาศัยยุทธวิธีผูกมัดนักการเมืองและทหารคุมกำลังเอาไว้เป็นฐาน
ไปๆ มาๆ ธนาคารมณฑลก็เลยต้องมีหน้าที่ปล่อยเงินกู้ให้กับบรรดาคนไทยแท้ๆ ที่มีอาชีพเป็นนักการเมืองหรือเป็นนายทหาร
กู้แล้วก็ไม่ค่อยมีใครคิดจะใช้คืน ฐานะก็เลยมีแต่ทรงกับทรุดมาเรื่อยๆ"
คนเก่าในยุคจอมพลป. เล่าให้ฟัง
ซึ่งก็นับว่ายังโชคดีสามารถหยุดการสูญเสียจากการปล่อยเงินให้กับนักการเมืองได้เมื่อเข้าสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์
เพราะการรัฐประหารโค่นจอมพลป. ลงในปี 2500 นั้น ก็เท่ากับเป็นการโค่นฐานอำนาจของจอมพลป.
และนโยบายชาตินิยมแบบไม่ลืมหูลืมตาไปพร้อมๆ กัน
เพียงแต่เนื้อร้ายก็ยังติดตัวธนาคารมณฑลมาเรื่อยๆ กระทั่งกว่าจะรู้ว่าเยียวยากันไม่ไหวก็ล่วงเลยจนเข้าปี
2509 ในยุครัฐบาลจอมพลถนอมแล้ว
คิดอย่างคนมองโลกในแง่ดีก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจรัฐบาลจอมพลถนอม และ ดร.เสริม
วินิจฉัยกุล รัฐมนตรีคลังในขณะนั้นอยู่พอสมควร เนื่องจากนอกจากจะไม่ใช่เป็นผู้ก่อเหตุแล้วยังจะต้องมานั่งในหน้าที่ผู้ดับเหตุเสียอีก
!
ส่วนว่าถ้าจะคิดในฐานะสปิริตของผู้นำแล้วจะเป็นคนละเรื่องหรือไม่ก็ช่างเถอะ!
แต่ที่แน่ๆ ก็คือในขณะนั้นผู้นำประเทศก็คิดกันง่ายๆ เพียงผลักเนื้อร้ายชิ้นนี้ไปให้ธนาคารของรัฐอีกแห่งหนึ่งรับไปเยียวยาเป็นอันจบ
ธนาคารที่ว่านั่นก็คือ ธนาคารเกษตร
ธนาคารเกษตรถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2493 เดิมนั้นเป้นของสุริยน ไรว่า "บิสิเนส
ไทคูน" ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคพุทธกาลซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับจอมพลป.
พิบูลสงคราม
และก็มาในทำนองที่ไม่ต่างกันกับธนาคารมณฑล ธนาคารเกษตรในยุคที่ยังรุ่งเรืองนั้น
ก็คือฐานสนับสนุนทางด้านการเงินฐานหนึ่งของพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพลป. ที่ร่วมมือกับกลุ่มราชครู
( จอมพลผิน ชุณหะวัณ - พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ) ต่อสู้หักโค่นกับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนโดยพลเอกสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น
การก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจของจอมพลสฤษดิ์แทนจอมพลป. พร้อมๆ กับการลี้ภัยไปต่างประเทศของพลตำรวจเอกเผ่า
จึงก่อผลกระทบอย่างแรงกับธนาคารเกษตร
เผอิญก็เป็นช่วงที่สุริยน ไรวา ขยายงานมาจนหมุนเงินไม่ทันด้วย
ปี 2502 ขณะที่จอมพลสฤษดิ์เพิ่งจะนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประเดี๋ยวเดียว
ธนาคารเกษตรก็มีอันกลับกลายเป็นธนาคารของรัฐไปในที่สุด (กรุณาอ่านเพิ่มเติมจากเรื่อง
สุริยน ไรว่า "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 43 เดือนตุลาคม 2530)
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐมนตรีคลังคือ สุนทร หงส์ลดารมณ์ !
เมื่อมีการโอนกิจการเข้าไปเป็นของรัฐโดยให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นแทนสุริยน
ไรวา แล้ว จอมพลสฤษดิ์ก็ได้สั่งการให้ สุนทร หงส์ลดารมณ์ จัดหาคนเข้าไปดูแลรับผิดชอบ
ซึ่งสุนทรก็ได้เลือกคนจากธนาคารแห่งประเทศไทย 2 คน เข้าไปบริหารธนาคารเกษตร
ทั้ง 2 เป็นนายและลูกน้องที่ทำงานเข้าขากันมากเมื่ออยู่แบงก์ชาติ และก็จัดอยู่ในระดับผู้มีฝีมือเฉียบขาดทั้งคู่
คนที่เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ชื่อ จำรัส จตุรภัทร
ส่วนอีกคนชื่อ เกื้อ สวามิภักดิ์ เข้ามาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
จำรัส จตุรภัทร นั้นปัจจุบันอายุ 76 ปี เป็นอดีตนักเรียนมัธยม 8 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ
เคยผ่านงานธุรกิจมาหลายแขนงก่อนที่จะเข้าไปเป็นกลุ่มผู้บุกเบิกก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคที่ยังใช้ชื่อว่า
สำนักงานธนาคารชาติ จำรัสผ่านวานที่ธนาคารชาติมาหลายหน้าที่ ทั้งในฝ่ายการธนาคารและฝ่ายการธนาคารต่างประเทศ
ก่อนถูกส่งตัวเข้ามาในธนาคารเกษตร จำรัสมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารต่างประเทศ
และสำหรับเกื้อ สวามิภักดิ์ เขาเป็นศิษย์เก่าคณะบัญชีธรรมศาสตร์ สำเร็จประกาศนียบัตรการบัญชีชั้นสูง
จบแล้วเข้าทำงานแบงก์ชาติ 5 ปี ต่อมาสอบชิงทุนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ไปเรียนต่อทางด้านการบัญชีที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม
ประเทศอังกฤษ และสอบได้ประกาศนียบัตรการบัญชีชั้นสูงซึ่ง กพ.เทียบเท่าปริญญาโทรจาก
ASSOCIATE OF THE INSTITUTE OF CHARTERED ACCOUNT IN ENGLAND AND WALES (A.C.A.)
ธนาคารเกษตรภายหลังการโอนกิจการจากสุริยน ไรวา มาเป็นของรัฐพร้อมกับส่งจำรัสกับเกื้อเข้าไปนั้น
เป็นช่วงภาวะที่หนักหนาสาหัสเอาเรื่องทีเดียว โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องและมีหนี้เสียเป็นจำนวนมาก
แต่ด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐ ธนาคารเกษตรก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอยได้ในที่สุด
"มันก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง รัฐบาลช่วงนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวางแผนแก้ไขทั้งระยะเฉพาะหน้าเรื่องสภาพคล่องก็เอาเงินจากหน่วยงานรัฐและธนาคารออมสินเข้ามาช่วย
และตัวคุณจำรัสกับคุณเกื้อก็เป็นผู้มีความสามารถและเด็ดขาด นอกจากนี้จอมพลสฤษดิ์เองก็ประกาศชัดเจนว่า
ห้ามเด็ดขาดที่จะให้พวกนักการเมืองหรือใครมาใช้อภิสิทธิ์กู้เงินจากแบงก์นี้อีก
กิจการก็เลยเดินหน้าได้.." นายธนาคารรุ่นเก่าคนหนึ่งเล่า
จากปี 2502 ธนาคารเกษตรจากสถานภาพที่มีเงินฝากอยู่เพียง 300 ล้านบาท ในปี
2507 สามารถเพิ่มเงินฝากขึ้นมาได้ถึง 1,300 ล้านบาท และก่อนที่จะถูกสั่งควบกิจการกับธนาคารมณฑลก่อตั้งเป็นธนาคารกรุงไทยนั้น
ธนาคารเกษตรภายใต้การบริหารของจำรัสและเกื้อมีเงินทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 75
ล้านบาท สินทรัพย์เท่ากับ 3,295.64 ล้านบาท มีสาขารวมทั้งสำนักงานใหญ่ 60
แห่ง มีพนักงาน 677 คน และมีกำไรขึ้นมาบ้างแล้วนิดหน่อย
และเมื่อมีการควบกิจการ 2 ธนาคารเข้าด้วยกัน ยอดสินทรัพย์ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น
4,582.13 ล้านบาท มีจำนวนสาขารวมแล้ว 81 แห่ง (รวมสำนักงานใหญ่ด้วย) และเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นเป็น
893 คน
เมื่อกลายเป็นกรุงไทยในช่วงปี 2509 จำรัส จตุภัทร ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และเกื้อก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเช่นเดิม
"พูดก็พูดเถอะ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล ตัดสินใจเอาธนาคารเกษตรควบกับมณฑลนั้น
ก็เพราะเห็นฝีมือของจำรัสกับเกื้อที่ทำสำเร็จมาจากธนาคารเกษตรด้วยนั่นแหละ"
อดีตผู้บริหารรุ่นเก่าของแบงก์กรุงไทยให้ข้อคิดเห็น
จำรัส จตุรภัทร รับหน้าที่ต่อมาในยุคที่ธนาคารกลายเป็นกรุงไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
2509 (ก่อนหน้าที่จะควบเป็นกรุงไทยได้เสร็จสิ้นลงตัวเกือบ 1 เดือน) และพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่
1 มกราคม 2518 ขณะเมื่ออายุ 62 ปี ยุคของเขานั้น ถือกันว่าเป็นยุคที่ราบเรียบสุขุมนุ่มลึก
จากบทเรียนในอดีตที่วิกฤติทั้งของแบงก์เกษตรและแบงก์มณฑลเกิดจากการมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อหยิบฉวยผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อของใครต่อใครนั้น
ทำให้จำรัสแสดงทัศนะต่อผู้นำในคณะรัฐบาลแต่ละยุคอย่างชัดเจนว่า กิจการธนาคารนั้นแม้ว่าจะมีเจ้าของเป็นรัฐ
ก็มีความจำเป็นอย่างสูงที่จะต้องดำเนินการอย่างเป็นเอกเทศปลอดจากการกดดันที่ไม่ชอบมาพากลจากเบื้องบน
เช่นเดียวกับที่เขาเคยได้รับจากจอมพลสฤษดิ์ในยุคที่ยังเป็นธนาคารเกษตร ซึ่งก็นับว่าเป็นความโชคดีที่ทัศนะของเขาเป็นที่ยอมรับได้
นับว่าช่วยคลี่คลายปัญหาไปได้เปลาะใหญ่
แต่ก็ยังมีบ้างพอกระสาย อย่างเช่น ช่วงหนึ่งไอสกรีมป๊อปมากู้เงินกรุงไทย
แล้วแบงก์จับได้ว่ามีการผ่องถ่ายใช้เงินผิดประเภท กรุงไทยก็เตรียมจะเล่นงาน
เจ้าของกิจการก็วิ่งเข้าหาพันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายนายกฯ พันเอกณรงค์ฟังความแล้วขอให้จำรัสเข้าพบ
เผอิญจำรัสต้องเดินทางไปต่างประเทศกะทันหัน อีกฝ่ายคิดว่าจำรัสหนีหน้าโกรธจัดขึ้นมาก็สั่งทหารตามล่าประกาศจะไม่ให้เข้าประเทศ
ร้อนถึงต้องมีคนไปชี้แจงกับจอมพลถนอม เรื่องจึงได้ยุติ เป็นที่เข้าใจกันได้
อย่างนี้เป็นต้น
จำรัส ได้ชื่อว่าเป็นนายแบงก์ที่ทำงานเข้าแข็งเด็ดขาดมาก ประสบการณ์เมื่อครั้งที่ยังคร่ำหวอดอยู่กับวงการธุรกิจหลายแขนงก่อนเข้าทำงานแบงก์ชาติ
ทำให้เขามีสายสัมพันธ์กับพ่อค้นักธุรกิจพอตัว "วันๆ ท่านจะมีนัดพบปะเจรจากับพ่อค้านักธุรกิจดูวุ่นวายไปหมด
ซึ่งก็ทำให้แบงก์สามารถเปิดธุรกิจใหม่ๆ ได้มาก" อดีตลูกน้องเก่าคนหนึ่งของจำรัสย้อนความหลัง
โดยเฉพาะเรื่องความเด็ดขาดตรงไปตรงมาแล้ว จำรัสจัดว่าเป็นนายแบงก์ที่อยู่หัวแถวในเรื่องนี้ชนิดที่หาคนทาบยากมาก
เล่ากันว่า มีผู้บริหารคนหนึ่งเป็นเพื่อนเก่าจากอัสสัมชัญกับจำรัสซึ่รักกันมาก
จำรัสเป็นคนดึงเพื่อนคนนี้มาทำงานที่กรุงไทย ต่อมาเพื่อนเกิดทำงานชิ้นหนึ่งผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย
จำรัสก็ไม่รีรอแม้สักนิด เขาเรียกเพื่อนมาสอบถาม เมื่อได้ความว่าทำผิดจริงเขาพูดหน้าตาเฉยให้เพื่อนเขาเขียนใบลาออกเดี๋ยวนั้น
พลตรีเฉลิม พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนจอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นคนหนึ่งที่จำรัสสั่งปลดออกจากตำแหน่งผู้จัดการสาขาลพบุรี
เมื่อตรวจพบว่าปล่อยหนี้เสียไว้มาก
และอีกหลายเรื่องที่บ่งบอกถึงความเด็ดขาดของเขา !
"ทั้งที่ท่านเคยบ่อนให้ผมฟังว่าแท้จริงท่านไม่ใช่คนดุ เป็นคนใจอ่อน
เวลาตัดสินใจต้องปลดหรือไล่ใครออก ท่านทำแล้วก็จะซึมเป็นครึ่งค่อนวัน กว่าจะปลงตก
ทุกครั้งเลย" อดีตผู้ใกล้ชิดกับจำรัสเปิดเผย
กรุงไทยในยุคจำรัสนั้น เป็นยุคที่ขยายสาขาในต่างจังหวัดกันอย่างเด่นชัด
"เข้าทำนองดำเนินยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองนั้นแหละ" แหล่งข่าวผู้หนึ่งระบุ
เพราะฉะนั้นจากจุดเริ่มต้นที่กรุงไทยมีจำนวนสาขา 81 แห่ง ถึงปี 2516 ก็สามารถขยายสาขาเพิ่มเป็น
112 สาขา และถือกันว่าเป็นปีแห่งการบรรลุวัตถุประสงค์ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของไทยแห่งแรกที่มีสาขาครบทั้ง
72 จังหวัด
ถือกันว่าเป็นผลงานเด่นอีกด้านหนึ่งในยุคของจำรัส
อย่างไรก็ตาม ก็ในยุคของจำรัสอีกเช่นกันที่กรุงไทยถูกธนาคารกรุงเทพแซงขึ้นมาเป็นอันดับ
1 แทนตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่เมื่อเริ่มก่อนตั้งเป็นกรุงไทยนั้น
กรุงไทยจัดว่าเป็นแบงก์พาณิชย์ที่ใหญ่โตเป็นอันดับ 1 และครองมาตลอดก่อนหน้าปี
2513
ลูกน้องคนสนิทคนหนึ่งเคยนำความเรื่องการถูกแบงก์กรุงเทพแซงขึ้นหน้า ไปหารือกับจำรัส
ซึ่งจำรัสก็ชี้แจงเพียงสั้นๆ ว่า อันตัวเขานั้น ถึงจะอย่างไรก็ยังเป็นข้าราชการที่ถูกยืมตัวมาทำงานที่นี่
เพราะฉะนั้น ประโยคที่หลวงวิจิตรท่านว่าไว้ เขาจำขึ้นใจเสมอ ประโยคนั้นบอกว่า
"จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย"
ปี 2518 อันเป็นปีที่จำรัสพ้นตำแหน่งที่เขานั่งติดต่อกัน10 ปีในธนาคารกรุงไท
ยนั้นเป็นยุครัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท รัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังเหตุการณ์มหาวิปโยค
14 ตุลาคม 2516 และบุญชู โรจนเสถียร รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง
ในฐานะ "มืออาชีพ" ผู้เติบโตมาจากสายเอกชน จากตำแหน่งล่าสุดรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
(ชิน โสภณพานิช ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่) การเข้ามาเล่นการเมืองของบุญชูเป็นการเข้ามาพร้อมๆ
กับนโยบายใหม่ๆ
โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกรัฐซึ่งบุญชูมองว่าเฉื่อยแฉะเทียบขั้นไม่ได้กับกลไกธุรกิจภาคเอกชนก็เป็นนโยบายหนึ่ง
การตัดสินใจของบุญชูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกรุงไทย ด้านหนึ่งก็น่าจะมองได้ว่าเป็นเจตนาดีที่เขาต้องการให้แบงก์นี้พัฒนาประสิทธิภาพขึ้น
แน่นอนในอีกด้านหนึ่งก็มีหลายคนที่เชื่อว่าเขามีเจตนาต้องการใช้กรุงไทยเป็นฐานสำหรับอนาคตทางการเมืองของเขาและพลพรรค
นับว่าเป็นปริศนาที่ยากคลี่คลายอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จวบจนวันนี้ของธนาคารกรุงไทยนั้น
ถ้าเป็นความผิดพลาด ความผิดพลาดนี้ก็ได้เริ่มต้นจากบุญชู โรจนเสถียร !
เพราะก็บุญชูนี้เองที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือก ตามใจ ขำภโต เข้ามาในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย
กรุงไทยนั้น เมื่อหมดยุคของจำรัสจริงๆ แล้วผู้ที่ขึ้นมารับตำแหน่งต่อมาก็คือ
เกื้อ สวามิภักดิ์ "คู่บุญ" ของจำรัส แต่เผอิญเกื้ออยู่ได้ยังไม่ทันครบปีก็ชิงลาออกไปเสียก่อน
บุญชูจึงได้ตั้งตามใจเข้ามานั้งต่อจากเกื้อ
เบื้องหลังการลาดออกของเกื้อ ว่ากันว่าก็มาจากบุญชูเหมือนกัน
"เรื่องมันมีอยู่ว่า การรถไฟมาขอกู้เงินจากกรุงไทย ทางเกื้อก็แจ้งว่าไม่ขัดข้องหากรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน
เพราะกิจการรถไฟขาดทุนมาตลอด รัฐบาลไม่ค้ำเกื้อมองว่าเสี่ยงมาก ก็เผอิญบุญชูสั่งโครมว่า
รัฐบาลไม่ค้ำให้และให้กรุงไทยหาทางช่วยรถไฟด้วย เกื้อก็เลยลาออก" แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุ
"คุณเกื้อก็ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า เขาไม่อยากให้แบงก์นี้เน่าคามือเขา"
แหล่งข่าวคนเดียวกันนี้กล่าวเสริม
แต่ก็มีหลายเสียงเหมือนกันที่บอกว่า เบื้องหลังแท้จริงเป็นเรื่องของโลกทัศน์ที่ต่างกัน
เกื้อนั้นยังติดอยู่กับวิธีการทำงานแบบเก่าที่ต้องทำงานอย่างระมัดระวัง อยู่ในกรอบทุกกระเบียดนิ้ว
เป็นทัศนะแบบข้าราชการทั่วๆ ไป ซึ่งผลที่ออกมาก็คือสภาพของแบงก์ในยุคที่เขาทำงานร่วมกับจำรัส
มีลักษณะที่ไม่มีอะไรหวือหวาค่อยๆ โตอย่างช้าๆ ภายใต้การค้ำจุนอย่างใกล้ชิดของรัฐ
ในขณะที่ทัศนะทางด้านบุญชูเป็นทัศนะที่ต้องการให้แบงก์เป็นโปรเฟสชั่นนัล
การให้กู้ ถ้าวิเคราะห์ว่าคุ้มค่า ควรตัดสินใจได้ทันที โดยไม่จำเป็นที่รัฐจะต้องรับประกันความเสี่ยงให้
"ก็คือโลกทัศน์ที่คุณบุญชูร่วมสร้างแบงก์กรุงเทพจนเติบโตมากับคุณชินนั้นแหละ.."
ฝ่ายที่ติงเรื่องการลาออกของเกื้อเสริม ซึ่งเขาเชื่อว่าการลาออกของเกื้อนั้น
ก็เป็นเพราะเกื้อตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะมาถึง และเผอิญมันเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เขาพิจารณาแล้วว่า
เขาเดินไปด้วยยากเสียมากกว่า
เกื้อ สวามิภักดิ์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกรุงไทยวันที่
15 กันยายน 2518 ตามใจ ขำภโต เข้ารับตำแหน่งแทนตั้งแต่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน
ช่วงเวลาที่เป็นช่องว่าง 3 เดือนนั้นผู้ที่รักษาการก็ไม่ใช่ใครที่ไหน มือวางอันดับสามในยุคจำรัสผู้เลื่อนขึ้นเป็นอันดับสองในยุคเกื้อที่ชื่อ
เธียรชัย ศรีวิจิตร นั่นเอง
ตามใจ ขำภโต นั้นนับว่าเป็นผู้บริหารหนุ่มผู้มีประวัติโดดเด่นมาก เขามีอดีตเป็นนักเรียนผู้สอบมัธยม
8 ได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทย จบปริญญาตรีและโททางด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยโตเกียว
ประเทศญี่ปุ่น เคยทำงานที่สำนักงานการพลังงานแห่งชาติและก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งใหญ่โตในกรุงไทย
เขาเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทกระจกไทยอาซาฮี กิจการร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่นกับตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง
แต่กระนั้นก็ยังมีผู้บริหารกรุงไทยบางคนค่อนแคะว่า ตามใจช่วงแรกๆ เข้ามาอย่างคนไม่ประสีประสาจริงๆ
ซึ่งก็คงจะมีส่วนถูกอยู่มาก เพราะก็เป็นการเข้าไปอย่างหัวเดียวกระเทียมลับโดยแท้
"่ส่วนในด้านความตั้งใจไม่ต้องพูดถึง คุณตามใจยุคแรกก่อนที่จะไปเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์นั้นมีความตั้งใจจริงและทำงานอย่างหนัก
โอ.เค.ก็คงต้องการสร้างชื่อเพื่อก้าวขึ้นไปด้วยก็เป็นได้" อดีตผู้ร่วมงานกับตามใจในกรุงไทยเปิดเผย
กรุงไทยในยุคแรกๆ ที่ตามใจ ขำภโต เข้าไปนั้น แม้ว่าเขาจะมีอำนาจอันชอบธรรมอยู่ในมือในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็จริง
แต่ก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธบารมีของคนอีกคนหนึ่งซึ่งเล่นบทเหมือนผู้ชักใยอยู่ข้างหลัง
เขาชื่อ สุเทพ วสันต์ติวงศ์ มีตำแหน่งในยุคนั้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในยุคของเกื้อ
สวามิภักดิ์
สุเทพ นั้นแม้ว่าแท้จริงจะมีฐานะศักดิ์ศรีรองจากเธียรชัย ศรีวิจิตร แต่ในขณะที่เธียรชัย
เป็นคนเงียบๆ ทำงานเฉพาะในกรอบที่เป็นอำนาจหน้าที่ มีเวลาว่างก็ออกไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย
สุเทพกลับดูเหมือนว่าจะตรงกันข้าม
ด้วยพื้นฐานการศึกษาเพียงมัธยม 6 และอดีตครูประชาบาล สุเทพคือคนที่พนักงานทั้งกรุงไทยโดยเฉพาะในสายสาขาและสินเชื่อ
ซึ่งสุเทพคุมเองโดยตรงยำเกรงกันจนหัวหดไปหมด เขาเริ่มบทบาทด้วยการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจแทบทุกโครงการที่มีกรุงไทยเข้าร่วม
ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อการเกษตรที่ร่วมมือกับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท หรือแม้แต่โครงการพระราชดำริ
อีกทั้งยังแสดงตัวสม่ำเสมอว่าเป็นผู้อยู่ใกล้ชิด ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ ตลอดจนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอีกหลายคน
"ยุคนั้นคุณสุเทพแกจะเล่นงานใคร แกเสนอถึงคุณตามใจ เป็นไม่รอดสักราย
กรุงไทยช่วงนั้นก็เลยเป็นอาณาจักรแห่งความกลัว ซึ่งมีคนอ่อนหัดอย่างตามใจเป็นหุ่นในสุเทพเชิด"
ลูกหม้อกรุงไทยเล่าให้ฟัง
สุเทพเกษียณจากกรุงไทยในปี 2524 ก่อนหน้านั้นอำนาจที่เขามีอยู่อย่างล้นพ้นทำให้บรรดาสาขาทั้งหลายต้องยอมสยบ
และมีผลให้มีการปล่อยเงินตามคำสั่งของผู้มีอำนาจแท้จริงกลายเป็นหนี้เสียเกือบ
2,000 ล้านบาท เชื่อกันว่าในจำนวนนี้หายหกตกหล่นเข้ากระเป๋าใครต่อใครไปไม่น้อยกว่า
50-60 ล้านบาททีเดียว
ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า ตามใจ ขำภโต นั้นจากนายแบงก์ผู้ไม่รู้เดียงสา ตั้งใจเสริมสร้างแบงก์อย่างเด็ดเดี่ยว
ได้รับวิทยายุทธ์อย่างไม่ตั้งใจจากสุเทพไว้ไม่น้อย
ยุคของตามใจ ขำภโต ในกรุงไทยเป็นยุคที่ทอดระยะเวลา 10 ปีเท่าๆ กับยุคของจำรัส
ซึ่งก็เป็นยุคที่เขาทั้งมีส่วนเสริมสร้างและก่อปัญหาทิ้งไว้เป็นสองด้านที่ไม่ยิ่งหย่อยกว่ากัน
มีหลายเสียงโดยเฉพาะเสียงจากคนกรุงไทยด้วยกันเองกล่าวยืนยันว่าหัวเลี้ยวหัวต่อของบทบาทตามใจในแบงก์กรุงไทยนั้น
ก็คือก่อนและหลังการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ในยุครัฐบาลเปรม 1
ช่วงที่ตามใจเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ซึ่งบุญชูก็กลับเข้าสู่วงการเมืองในตำแหน่งรองนายกฯ
ฝ่ายเศรษฐกิจคือช่วงปี 2523 ตามใจเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ไม่ทันครบปีก็ต้องถูกขอร้องให้ลาออกเนื่องจากถูกโจมตีอย่างหนักจากกรณีน้ำตาทรายราคาสูงขาดตลาด
และการนั่งควบ 2 ตำแหน่ง
"การกลับมาคราวนี้ แทบจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย พูดจาเปรี้ยงปราง สั่งการเด็ดขาด
โครมคราม ผิดกับช่วงก่อนเป็นรัฐมนตรี ซึ่งสุภาพเรียบร้อยและฟังความคิดเห็นลูกน้องมาก"
อดีตผู้ร่วมงานใกล้ชิดวิจารณ์
นอกจากนี้ก็เป็นช่วงที่ตามใจ ขำภโตมีอำนาจอย่างแท้จริงด้วย เพราะก็เป็นช่วงที่สุเทพ
วสันต์ติวงศ์เกษียณอายุพอเหมาะพอเจาะ
ยังไม่นับถึงประสบการณ์และความเจ็บปวดบางประการที่ตามใจเริ่มเรียนรู้จากการเป็นนักการเมือง
และก็ยังไม่รวมถึงปราการอันแข็งแกร่งจากการที่เขาได้รับการต่ออายุอีก 5
ปีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่กรุงไทย เป็นโบนัสตอบแทนความเสียสละด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ของเขา
ว่าไปแล้วก็เป็นความลงตัวในหลาย ๆ ด้านที่ทำให้ตามใจคิดอะไรบางสิ่งบางอย่างสำหรับกรุงไทยและอนาคตของเขา
ตามใจ ขำภโต นั้น ถ้าจะระบุถึงสิ่งที่เขาด้ริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับกรุงไทยแล้วก็มีอยู่หลายเรื่อง
เขาเป็นผู้นำระบบสมองกลเข้ามาใช้งานกับกรุงไทย ทำให้งานหลายอย่างสะดวกรวดเร็ว
และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
เป็นคนที่บุกเบิกเรื่อง "เอ็ม บี โอ" (MANAGEMENT BY OJECTIVE)
ซึ่งเป็นเรื่องที่มนัส รัตนรุกข์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
เป็นเจ้าของโครงการอย่างจริงจัง
เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกที่ขยายกิจการออกไปตั้งสาขาต่างประเทศ คือ
สาขาที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
และก็เป็นผู้ริเริ่มปรับทิศทางการทำธุรกิจของแบงก์จากปล่อยกู้รายเล็กรายน้อยมาเป็นการใหกู้สำหรับกิจการขนาดใหญ่หรือ
"โฮลเซล แบงกิ้ง" เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ซึ่งประการหลังสุด หากจะระบุว่า เป็นผลงานเด่นในเชิงสร้างสรรค์ก็คงจะไม่ถนัดปากนัก
เพราะลูกค้ารายใหญ่ 3 รายที่ตามใจอนุมัติวงเงินปล่อยกู้ไปรายละหลายพันล้านบาทนั้น
เผอิญ คือ กลุ่มเสธ.พล สุระ จันทรศรีชวาลา และสว่าง เลาหทัย เสียด้วย ให้ถูกต้องก็คงจะต้องเรียกว่า
ชนักที่ติดหลังตามใจก็คงจะเหมาะสมกว่า
ตามใจในยุคที่กลับจากตำแหน่งการเมือง เป็นตามใจที่ดูจะจัดเจนและคล่องแคล่วขึ้นมาก
งานประจำที่มีลักษณะเป็น "รูทีน เวิร์ค" เขาแทบจะไม่แตะต้อง คงปล่อยให้เป็นภาระของเธียรชัย
ศรีวิจิตร เขาจะให้ความสนใจเป็นพิเศษก็เฉพาะงานบุกเบิกใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อก้อนโต
ๆ และก็เลือกใช้คนเพียงไม่กี่คน
ซึ่งในจำนวนคนที่ถูกใช้สอยมาก ๆ 2 คนก็ได้แก่ บุญเลิศ สดตระกูล กับ ดร.วรุณ
กาญจนกุญชร
ดูเหมือนอาณาจักรส่วนตัวน้อย ๆ แต่ยิ่งใหญ่คับแบงก์ได้ก่อตัวขึ้นแล้วอย่างเงียบเชียบ
โดยมีคนกรุงไทยจำนวนมากได้แต่มองตาปริบ ๆ
บารมีของตามใจในช่วงหลังนั้น แม้แต่ตัวประธานบอร์ดอย่าง พนัส สิมะเสถียร
ก็ยังต้องแสดงความนับถืออยู่ห่าง ๆ เพราะก็มีช่วงหนึ่งที่พนัสไปจัดการปัญหาข้ามหน้าข้ามตาตามใจเข้า
ผลปรากฏว่า จากประธานกรุงไทย พนัส ต้องไปนั่งเป็นประธานออมสินอยู่พักใหญ่
แม้จะเคยมีผู้บริหารบางคนนำข้อมูล เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของตามใจมาให้พนัส
ปฏิกิริยาของพนัสก็ออกมาเพียงการรับทราบด้วยความเป็นห่วงสถานเดียว!!
"ซึ่งก็น่าเห็นใจข้าราชการประจำอย่างพนัสหรือบรรดาบอร์ดทั้งหลายก็ตาใจแกวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยตลอด
และแต่ละสายที่แกจับก็แน่นบึ๊ก ใครเขาจะไปเสี่ยงกับอนาคตของเขา" แหล่งข่าวรายหนึ่งแสดงความเห็นใจ
แต่ก็คงจะไม่มีอะไรหรอกที่เป็นนิรันดร !
ตามใจ ขำภโต ต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระไปเมื่อเดือนธันวาคม 2529
ทิ้งความเสียหายไว้ข้างหลังมากมายและร้ายลึกกว่าอื่นใดก็คือ เงื่อนไขที่บรรดาลูกหม้อภายในแบงก์ผู้ต้องการขึ้นมาเป็นใหญ่ทั้งหลาย
สามารถอ้างได้อย่างมีน้ำหนักว่า มันเป็นหายนะที่เกิดขึ้นจากการนำคนภายนอกเข้ามาใหญ่ในแบงก์
ไม่แต่บรรดาผู้บริหารลูกหม้อเท่านั้น แม้แต่บรรดาบอร์ดที่เป็นข้าราชการประจำทั้งหลายก็เชื่อกันเช่นนั้นด้วย
ก็เลยเป็นยุคที่ลูกหม้ออย่างเธียรชัย ศรีวิจิตร ต้องขึ้นรับตำแหน่งต่อจากตามใจ
และก็ต้องถือว่าเป็นยุคที่มีการเมืองภายในมากที่สุด แตกแยกกันเป็นเสี่ยง
ๆ ในขณะที่ปัญหาเก่าในยุคที่ตามใจสร้างไว้ยังแก้ไขกันไม่ตก !!!
เธียรชัย ศรีวิจิตร ปัจจุบันอายุ 57 เกิดที่นครศรีธรรมราช ครอบครัวมีฐานะมั่งคั่ง
เขาเรียนจบชั้นมัธยมที่เบญจมราชูทิศ และมหาวชิราวุธ สงขลา จากนั้นก็ไปเรียนต่อระดับมัธยมปลายที่มาเลเซียแล้วไปอยู่อังกฤษ
7 ปี ได้ประกาศนียบัตรการบัญชีชั้นสูงจาก ASSOCIATE OF THE INSTITUTE OF
CHARTERED ACCOUNT IN ENGLAND AND WALES (A.C.A.) รุ่นเดียวกับ ศ.สังเวียน
อินทรวิชัย อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของธรรมศาสตร์
เข้าร่วมงานกับกรุงไทยตั้งแต่ยุคยังเป็นธนาคารเกษตรด้วยการชักนำของจำรัส
จตุรภัทร
ว่ากันว่าที่จำรัสชวนเธียรชัยลาออกจากอดีตพนักงานในฝ่ายวิชาการแบงก์ชาติมาอยู่ธนาคารเกษตรนั้น
ก็เพราะเกื้อ สวามิภักดิ์ "เผอิญคุณเธียรชัยจบเอซีเอจากอังกฤษเหมือนคุณเกื้อ
คุณจำรัสก็ประทับใจด้วยการวัดจากคนที่จบมาก่อนอย่างคุณเกื้อเป็นบรรทัดฐาน"
และถ้าจะว่าไป ก็จำรัสอีกเช่นกันที่เป็นผู้วางเธียรชัยไว้ในอันดับสามรองจากเกื้อในยุคของเขา
คล้าย ๆ กับเป็นสัญญาณว่า ถ้าหมดยุคจำรัสก็จะเป็นยุคของเกื้อและเมื่อหมดเกื้อ
เธียรชัยก็ควรจะต้องขึ้นมาแทน
เพียงแต่มันก็ไม่สามารถจะดำเนินไปได้เช่นนั้น เพราะคนชื่อบุญชูมาจัดการเปลี่ยนแปลงด้วยการเอาตามใจ
ขำภโต เข้ามานั่งและด้วยความชาญฉลาดของตามใจในการรักษาเก้าอี้ ก็ปล่อยให้เธียรชัยต้องแช่อยู่ในตำแหน่งรองกรมการผู้จัดการใหญ่นานถึง
10 ปี
ซึ่งสำหรับเธียรชัยแล้วก็ดูเหมือนว่าจะเป็น 10 ปีที่แห้งแล้งมาก เขาไม่ได้มีส่วนตัดสินใจในเรื่องสำคัญของแบงก์แม้แต่น้อยนิด
ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงที่แบงก์เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน
นอกจากน้ำอดน้ำทนแล้ว เธียรชัยไม่ได้แสดงความโดดเด่นเลยแม้แต่น้อย
เมื่อต้องพิจารณาตัวเธียรชัยในความเป็นเขาไปพร้อม ๆ กับสถานภาพของแบงก์
ซึ่งในช่วงยุค 3 - 4 ปีสุดท้ายของตามใจเขาได้สร้างหนี้เสียเอาไว้ก้อนมหึมาอีกทั้งหยุดการพัฒนาคนและองค์กรไปในทิศทางที่ควรเป็น
สำหรับสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลังในขณะนั้นแล้วก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เขาหนักใจมากถ้าจะให้เธียรชัยขึ้น
สมหมาย ฮุนตระกูล นั้นเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังตั้งแต่ 2524 ในคณะรัฐบาลเปรม
2 และก็อยู่ยืนยาวกระทั่งรัฐบาลเปรม 4 (2529) ความเหลวแหลกเละเทะในกรุงไทย
จริง ๆ แล้วสมหมายก็ได้มีโอกาสรับรู้มาโดยตลอด
ซึ่งก็มีหลายครั้งที่เจ้าของฉายาซามูไรทมิฬอย่างเขาแสดงริ้วรอยฮึ่มฮั่มจะฟาดฟันตามใจให้ตกเก้าอี้
เพียงแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำสักทีเท่านั้น
"ก็จะไปฟันตามใจได้อย่างไร ตอนถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นเสธ.พลญาติตามใจและก็ลูกหนี้รายใหญ่นี่แหละที่ยกมือขอให้สมหมายอยู่ต่อไป
และก็มีหลายครั้งที่ป๋าเปรมไม่เปิดไฟเขียวให้ เพราะ เสธ.พลก็ยังเป็นลูกป๋าสม่ำเสมอ"
นักการเมืองผู้หนึ่งให้เหตุผล
เมื่อหมดยุคตามใจด้วยการไม่ต่ออายุให้อีกนั้น สมหมาย ฮุนตระกูล เที่ยวมองหาคนข้างนอกที่เขาคิดว่าฝีมือพอที่จะแก้ไขผ่าตัดปัญหาของกรุงไทยเอาไว้หลายคน
ศุกรีย์ แก้วเจริญ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับสมหมายที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมก็เป็นคนหนึ่ง
ครั้น ศุกรีย์ ปฏิเสธเนื่องจากอยู่ไอเอฟซีทีก็สบายอยู่แล้ว เริงชัย มะระกานนท์
หลานรักปู่สมหมายก็เป็นคนต่อมา อย่างไรก็ตาม การผนึกกำลังต้านทานโดยกรรมการบอร์ดกับบรรดาลูกหม้อกรุงไทยมีความเหนียวแน่นมาก
ทิ้งเวลาให้เก้าอี้กรรมการผู้จัดการว่างเว้นในช่วงใหญ่ ๆ สมหมาย ฮุนตระกูล
ก็ตัดสินใจเดินทางสายกลาง ยินยอมแต่งตั้งเธียรชัย ศรีวิจิตร พร้อมกับสอดเริงชัย
มะระกานนท์ เข้าไปในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยหมายมั่นปั้นมือที่จะให้เริงชัยเป็นผู้แก้ปัญหาทั้งหลายที่หมักหมมมาตั้งแต่ยุคตามใจ
ขำภโต ให้หมดสิ้นโดยเฉพาะปัญหาลูกหนี้รายใหญ่ 3 รายนั้น และก็ยังอีกหลายเรื่องที่ต้องให้เริงชัยช่วย
ซึ่งเริงชัยก็เข้าไปพร้อม ๆ กับกลยุทธ์การแก้ปัญหาเต็มกระเป๋า
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริงชัย ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาบรรดาหนี้สินที่สุร จันทร์ศรีชวาลา
กู้ยืมไปโดยมีที่ดินหลายผืนค้ำประกันด้วยการตั้งบริษัทกรุงไทยแลนด์แอนด์เฮ้าส์ขึ้น
เป็นบริษัทที่ทำหน้าที่พัฒนาที่ดิน เขาคิดว่าที่ดินหลายผืนของสุระอยู่ในทำเลที่ดี
หากยินยอมเสียเงินอีกสักก้อนพัฒนาขึ้นมาแล้ว เมื่อขายหมดก็คงพอจะล้างหนี้ของสุระได้หมดสิ้น
อีกทั้งยังสามารถเป็นช่องทางธุรกิจแขนงใหม่ของแบงก์ได้อีกด้วย
"เพราะตอนนั้นก็มีบรรดาทรัพย์สินหลายตัวที่ติดค้างหนี้อยู่กับกรุงไทย
ทั้งตัวอาคารที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จด้วย เริงชัยก็เห็นว่า สามารถโยนงานประเภทนี้มาให้กรุงไทยแลนด์แอนด์เฮ้าส์รับผิดชอบได้อีกด้วย"
คนที่ทราบเรื่องเล่า
นอกจากนี้ ก็คิดจะตั้งกิจการส่งออกพืชผลเพื่อล้างหนี้กลุ่มสว่าง เลาหทัย
โดยตัดโควตาบางส่วนที่กลุ่มสว่างมีพันธะต้องส่งสินค้าพืชผลไปต่างประเทศมาให้บริษัทนี้พร้อมกับหักหนี้กันไปเรื่อย
ๆ จนหมด ซึ่งก็คืบหน้าโดยสว่างยินยอมตัดส่วนที่เขาต้องส่งสินค้าเข้าโซเวียตมาให้
กลยุทธ์ของเริงชัยนั้นเป็นกลยุทธ์ที่เขาดูจะมั่นอกมั่นใจมาก แต่ถ้าจะมีที่ไม่ค่อยจะมั่นใจบ้างก็เห็นจะได้แก่
ลูกหนี้รายเสธ.พล เริงประเสริฐวิทย์ นักการเมืองเจ้าของโรงงานสับปะรดกระป๋องที่ชะอำเท่านั้น
ซึ่งก็เป็นรายที่แก้ไขได้ยุ่งยากที่สุดจวบจนปัจจุบัน
กรุงไทยในยุคที่เริงชัยนั่งทำงานคู่กับเธียรชัยั้นก็นับว่าพิลึกพิลั่นมาก
เข้าทำนองคนทำไม่มีอำนาจ ส่วนคนมีอำนาจไม่ทำอะไร
และก็เป็นยุคที่บทบาทของเริงชัยโดดเด่นมากในสายตาคนภายนอก ในขณะที่เธียรชัยกลับถูกมองว่าไม่มีอะไร
และก็ไม่มีใครรู้ถึงความรู้สึกและความคิดของเธียรชัยภายใต้ภาวะเช่นนั้นเลย
ในท้ายที่สุดเริงชัยก็อยู่กรุงไทยไม่ได้
"เรื่องมันก็มีอยู่ว่าเริงชัยไม่ได้นั่งเป็นกรรมการบอร์ด ภายในบอร์ดมีผู้บริหารคนเดียวที่เข้าไปนั่งคือ
เธียรชัย ครั้นเรื่องของเริงชัยต้องการขออนุมัติจากบอร์ด ก็ต้องส่งให้เธียรชัยเข้าไปชี้แจง
เธียรชัยก็พูดคลุม ๆ เคลือเหมือนคนไม่รู้เรื่อง จะตั้งใจไม่รู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องจริง
ๆ ก็ไม่ทราบ บอร์ดก็ไม่อนุมัติ งานของเริงชัยก็ชะงัก เริงชัยก็นั่งเซ็งไป
บางเรื่องเธียรชัยก็ปล่อยให้เริงชัยปะทะกับพนัสโดยตรง พนัสก็ดูเหมือนจะยอมรับความคิดที่ออกจะก้าวหน้าของเริงชัยได้ยาก
บวกกับบุคลิกที่ค่อนข้างแข็งกร้าวของเริงชัยตอนหลังก็เลยเป็นการทะเลาะกันไป"
แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผย
ในยุครัฐบาลเปรม 5 ก่อนหน้าที่เริงชัยจะถูกส่งตัวกลับต้นสังกัด คือ แบงก์ชาตินั้น
ก็เผอิญสมหมาย ฮุนตระกูล ล้างมือในอ่างทองคำไปแล้วด้วย
เริงชัยก็ยิ่งเซ็งหนัก เนื่องจากสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังที่มาแทนสมหมายก็เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเสี่ยงเป็นนิสัย
"ยิ่งกลยุทธ์ของเริงชัยมันใหม่และมีความเสี่ยงอยู่ รัฐมนตรีสุธีท่านก็เลยทำเฉย
ๆ ไม่หนุนเหมือนกับที่สมหมายพยายามหนุน" ผู้ที่รู้จักสุธี สิงห์เสน่ห์
บอกกับ "ผู้จัดการ"
ว่ากันว่า เป็นเรื่องที่เริงชัยช้ำใจอยู่ไม่น้อย และดูเหมือนยิ่งช้ำใจหนักเข้าไปอีกเมื่อเธียรชัย
ศรีวิจิตร ไปดึงตัว ดร.ปัญญา ตันติยวรงค์ จากเมืองไทยประกันชีวิตมานั่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายพิเศษ
ซึ่งตั้งกันขึ้นใหม่ หน้าที่ก็คือ การแก้ปัญหาหนี้ 3 รายใหญ่อันเป็นงานที่เริงชัยกำลังพยายามทำนั่นเอง
นอกจากกลับแบงก์ชาติแล้ว ก็แทบจะไม่ทางเลือกให้เริงชัยเลยก็ว่าได้ !
การลดบทบาทของเริงชัยและสามารถทำให้เริงชัยพ้นไปจากกรุงไทยนั้น สำหรับคนกรุงไทยหลาย
ๆ คนก็คงจะเป็นเรื่องน่ายินดี "เพราะเขาก็มองว่า เริงชัยพยายามจะใช้กรุงไทยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการเงินทั้งมวล
ซึ่งสมหมายกำลังแบกรับอยู่ เรื่องแบงก์สยามที่เป็นหอกข้างแคร่ของกรุทรวงคลังและแบงก์ชาติก็โยนมาให้กรุงไทยรับโครงการทรัสต์
4 เมษาฯ ก็โยนเข้ามา วันข้างหน้าก็ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรอีก อย่างนี้แบงก์ก็อ่วมน่ะสิ"
คนกรุงไทยวิจารณ์
ซึ่งถ้ามองทางด้านเริงชัยและบรรดามือไม้ที่สมหมาย ฮุนตระกูล ใช้สอยอยู่แล้วก็คงจะเป็นอีกด้าน
"เขาไม่คิดว่า เอาปัญหามาให้เลย เขากลับคิดว่านอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้กับระบบ
ซึ่งควรจะเป็นบทบาทที่ควรเป็นของกรุงไทยแล้ว กรุงไทยก็จะอยู่ในฐานะลีดแบงก์อีกด้วย"
แน่นอนทีเดียวสิ่งที่เริงชัยผลักดันเอาเข้ามาในแบงก์ไม่ว่าจะเป็นโครงการ
4 เมษาฯ หรือแบงก์สยามนั้น ก็คือ การรับขยะดี ๆ นี่เอง และเขาก็ไม่ได้อยู่ทำหน้าที่แปรขยะนี้ให้กลายเป็นสิ่งที่มีค่าตามที่ตั้งเป้าไว้เสียด้วย
นับรวมกับขยะกองเก่าที่กองกันไว้ตั้งแต่ยุคตามใจบวกกับขยะอย่างน้อยอีก 2
กองใหญ่นี้ ก็นับว่าเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับผู้บริหารชุดปัจจุบันของกรุงไทยอยู่ไม่น้อย
แต่จะโทษใครได้เล่า "ก็ไม่ยอมให้โอกาสเริงชัยเขาอยู่แก้กันให้จบนี่"
คนแบงก์ชาติปรารภ
คำถามนั้นก็มีอยู่ว่าผู้บริหารชุดปัจจุบันของกรุงไทยตลอดจนโครงสร้างที่เป็นอยู่นั้นมีศักยภาพพอเพียงที่จะรับมือกับบรรดาขยะทั้งหลายหรือไม่
กรุงไทยในยุคเธียรชัยนั้น นับว่าเป็นยุคที่มีผู้นำก็เสมือนไม่มี !!!
เป็นยุคที่ทำงานกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีการสร้างขวัญกำลังใจ ไม่มีการริเริ่มอะไรใหม่
ๆ อย่างเด่นชัดและสามารถลงมือปฏิบัติได้ผลและก็แทบจะไม่มีการตัดสินใจอะไรที่ชัดเจนจากเธียรชัยเลยแม้แต่น้อยนิด
เป็นยุคที่บทบาทและอำนาจของบอร์ดได้รับการเชิดชูไว้สูงเด่น ทุกปัญหาที่ต้องการให้มีการตัดสินใจเธียรชัยก็จะนำเข้าบอร์ด
ซึ่งบอร์ดก็ประกอบไปด้วยบรรดาข้าราชการประจำผู้ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในกิจการธนาคารพาณิชย์กันมากมายนัก
"กรรมการท่านหนึ่ง คือ ภุชงค์ เพ่งศรี ซึ่งเกษียณแล้ว และไม่ได้เป็นบอร์ด
แต่มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารตอนนี้ก็แทบจะเรียกได้กลายเป็นผู้บริหารประจำไปแล้ว
มีห้องทำงานให้ และมีงานให้ทำวุ่นวายทีเดียว ยิ่งเป็นคู่บุญกับปลัดพนัส ซึ่งเป็นประธานบอร์ดด้วยแล้ว
ทุกอย่างก็ยิ่งมารวมไว้ที่ภุชงค์มากมาย จนจะกลายเป็นผู้จัดการใหญ่ตัวจริงอยู่แล้ว"
คนกรุงไทยวิจารณ์ให้ฟัง
และดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมทุกยุคทุกสมัย เมื่อองค์กรขาดผู้นำที่เด็ดขาดกล้าตัดสินใจ
ความแตกแยกด้วยการแตกตัวเป็นก๊กเป็นเหล่าต่อสู้ฟาดฟันกันก็จะกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
เธียรชัย นั้นกำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 3 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผ่านการโยกย้ายใหญ่ภายในกรุงไทยมาแล้ว
2 ครั้ง แต่ละครั้งสร้างรอยแตกร้าวเอาไว้คณานัป โดยเฉพาะครั้งล่าสุดต้นปีที่ผ่านมานี้ยุ่งเหยิงมาก
ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ปล่อยว่างไว้ตั้งแต่เริงชัยกลับแบงก์ชาติ
เขาเสนอตั้งปัญญา ตันติยวรงค์ ขึ้นมานั่งคู่กับประยูร ภู่พัฒน์ ซึ่งเป็นคนแบงก์ชาติที่เข้ามาในกรุงไทยพร้อม
ๆ กับเริงชัย
ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยที่ว่าง 2 ตำแหน่งทั้งที่จริง ๆ แล้วควรจะพิจารณาจากผู้จัดการฝ่ายอาวุโสที่มีอยู่
3 คน คือ พงศ์เศวตศิลา ไพบูลย์ ปุสสเด็จ และวินัย ศิริชุมแสง ก็กลับเป็นว่ามีการตั้งม้ามืดที่ชื่อบุญชู
คุ้มพวงเพชร เข้าไปคู่กับ อรรณพ พิทักษ์อรรณพ เพื่อนสนิทของ ดร.ปัญญา ซึ่ดึงตัวมาจากแบกง์มหานคร
พงศ์ เศวตศิลา ที่ไม่ถูกพิจารณาขึ้นเป็นผู้ช่วยนั้นก็ด้วยข้อหาที่ว่ากันอย่างเลื่อนลอยว่า
เขาเคยเป็นคนของตามใจ เช่นเดียวกับไพบูลย์
นอกจากนี้ ในระดับฝ่ายก็มีการย้ายล้างบางกันอุตลุด
อิสสระ คล้ายมาก จากฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งมีบารมีเหลือล้นถูกย้ายไปนั่งที่ฝ่ายสินเชื่อพาณิชยกรรม
ซึ่งถ้าพูดกันในภาษาบู้ลิ้มก็เหมือนกับเจตนาส่งไปถูกฆ่าโดยเฉพาะ เพียงเพราะอิสรระเริ่มจะกลายเป็นผู้มีบารมีเทียมหน้าเทียมตาขึ้นมาบ้างเท่านั้น
ไพบูลย์ ปุสสเด็จ นอกจากจะไม่ขึ้นตำแหน่งผู้ช่วยก็ยังแถมถูกย้ายจากฝ่ายการพนักงานอันยิ่งใหญ่ให้ไปนั่งตบยุงที่ฝ่ายธุรการ
กริช อัมโภชน์ จากฝ่ายวิชาการและวางแผน ได้นั่งควบที่ฝ่ายการพนักงานแทนไพบูลย์
ผลจากการโยกย้ายครั้งนี้ก็เลยทำให้ไพบูลย์ ปุสสเด็จตัดสินใจยื่นใบลาออกพร้อม
ๆ กับ รื่น อินตะนก และประสิทธิ ถาวราวุธ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเจ็บปวดจากการไม่ได้ขึ้นเป็นรองฯ
ทั้ง ๆ ที่ถือว่าตนอาวุโสสูงกว่า ดร.ปัญญา และประยูร มาก
ส่วนอิสสระก็ "เฮิร์ต" จนต้องไปนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเมโย
ดร.ปัญญา ตันติยวรงค์ นั้น เป็นคนที่เธียรชัยไปดึงเข้ามาโดยพยายามอ้างว่าเป็นความต้องการของพนัส
สิมะเสถียร และมีการปล่อยข่าวอีกด้วยว่า ดร.ปัญญา เป็นหลานของพนัส
แรกทีเดียวนั้นก็เชื่อกันว่า เป็นการดึงเพื่อเอามา "กั๊ก" เริงชัย
ในยุรแรก ๆ ดร.ปัญญา ใกล้ชิดกับเธียรชัยมาก แต่จากนิสัยไม่เด็ดขาดอืดอาดล่าช้าของเธียรชัย
ช่วงหลัง ๆ ดร.ปัญญา ก็เริ่มแสดงท่าไม่พอใจวิธีทำงานแบบเธียรชัยบ้างแล้ว
ยิ่งได้ขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ดร.ปัญญาก็ยังเริ่มมีสมัครพรรคพวกมากขึ้น
ดร.ปัญญา ปัจจุบันอายุ 49 จบปริญญาตรีทางด้านบัญชีจากจุฬา จบโทการจัดการทั่วไปจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์
ออสเตรเลียและได้ปริญญาเอกด้านการเงินแะลการธนาคารจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
สหรัฐฯ
เคยเป็นอาจารย์สอนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เคยเป็นกรรมการรองกรรมการผู้จัดการที่ภัทรธนกิจ
และก่อนหน้าที่จะมาอยู่กรุงไทยก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต
เวียนว่ายอยู่ในกิจการของตระกูลล่ำซำมาโดยตลอด
เมื่อเข้ากรุงไทยใหม่ ๆ นั้น ดร.ปัญญา เคยฝากผลงานไว้ชิ้นหนึ่งเรื่องการจับสุระ
จันทร์ศรีชวาลา มาเซ็นรับสภาพหนี้ที่มีอยู่กับกรุงไทย ซึ่งถูกวิพากษ์หั่นแหลกว่า
กรุงไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก
"ทีมแก้ปัญหาของ ดร.ปัญญา ไม่ทันลูกหนี้ทั้ง 3 รายนี้เลย อย่างบอร์ดประชุมบอกว่า
เจรจาเที่ยวนี้ต้องเรียกเงินคืนมา 150 ล้าน ไปเจรจา ลูกหนี้ใช้ลูกเล่น บอก
30 ล้าน เอาไหม ก็วิ่งมาขออนุมัติบอร์ด เรื่องก็กลายเป็นว่าบอร์ดเองต้องมาเหนื่อยกับการกำกับกันอย่างใกล้ชิด"
แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดียกตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังเป็นผู้ช่วยฯ และตำแหน่งรองฯ ที่เคยเป็นของเริงชัยถูกปล่อยให้ว่างไว้เฉย
ๆ นั้น ดร.ปัญญา แสดงตัวค่อนข้างชัดว่า เขาคือคนที่รองจากเธียรชัย ศรีวิจิตร
ดร.ปัญญา นั้นเป็นคนที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ที่ชอบส่วนหนึ่งนอกจากมองเห็นความสามารถแล้วก็คงจะมองเห็นถึงอนาคตข้างหน้าของเขาด้วย
ส่วนที่ไม่ชอบก็คงเป็นเพราะความเป็นคนนอกที่เข้ามาใหญ่ชั่วข้ามคืนและแสดงท่าทีที่จะสร้างฐานอำนาจอย่างสุดเหวี่ยง
การดึงอรรณพ พิทักษ์อรรณพ จากแบงก์มหานครเข้ามาเป็นผู้ช่วยฯ ในสายงานเดิมที่
ดร.ปัญญา เคยรับผิดชอบ เป็นตราบาปที่หลายคนไม่ยอมให้อภัย
แต่ทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบดูเหมือนว่าก็จะทำในสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือพยายามอาศัยการเริ่มไม่พอใจกันเล็ก
ๆ น้อย ๆ ระหว่างเธียรชัยกับ ดร.ปัญญา ทำให้มันขยายงกลายเป็นความขัดแย้งที่ต้องโค่นกันไปข้างหนึ่งให้จงได้
ทั้งนี้ เพราะคนที่ชอบ ดร.ปัญญานั้นส่วนใหญ่ก็คือ คนที่เบื่อเธียรชัย ส่วนคนที่ไม่ชอบจำนวนไม่น้อยก็ไม่ชอบเธียรชัยด้วย
จึงอยากเห็นทั้งคู่ฆ่ากันให้บาดเจ็บล้มตายจากกันไปจะได้สมแค้น !!
แน่นอนถึงวันนั้นอย่างน้อยคนที่จะต้องนั่งยิ้มเยาะอยู่ข้างนอกก็คงไม่พ้น
รื่นอินตะนก ประสิทธิถาวราวุธ และไพบูลย์ ปุสสเด็จ ที่ลาออกไปแล้วรวมอยู่ด้วย
เธียรชัย ศรีวิจิตร นั้น บ่มเพาะคนใกล้ชิดเอาไว้จำนวนหนึ่ง อย่างเช่น มนัส
พาหิระ ครรชิต กันตังกุล วรวุฒิ อรรถปรีดี สุชิน สมุทรวนิช โสมนัส ชุติมา
สมหมาย เดชารัตน์ และสุนีย์ ปองทอง เป็นอาทิ
มนัส พาหิระ อายุ 40 ติดตามเธียรชัยตั้งแต่ยังอยู่ฝ่ายตรวจสอบด้วยกัน เป็นคนทราบเรื่องส่วนตัวเธียรชัยดีมาก
แม้กระทั่งเรื่องลับเฉพาะ มนัสเดิมเป็นผู้จัดการสาขานนทบุรี เธียรชัยดึงให้มานั่งเป็นผู้จัดการสำนักนโยบายและประสานงาน
เขาเป็นคนทำงานแทนเธียรชัยในการติดต่อประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ทุกหน่วยในแบงก์
และคีย์แมนให้เธียรชัยแทบทุกเรื่อง และเป็นคนที่เธียรชัยแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะกรรมการบอร์ดแทนวินัย
ศิริชุมแสง
ครรชิต กันตังกุล เป็นคนตรังภาคเดียวกับเธียรชัย เป็นคนมีพรรคพวกเป็นนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์หลายคน
เธียรชัยดึงตัวให้เข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการสำนักงบประมาณและแผน
วรวุฒิ อรรถปรีดี เป็นรองครรชิต เคยเป็นผู้จัดการสาขาท่าเตียน วรวุฒิ นอกจากจะเป็นคนหนึ่งที่ใกล้ขิดเธียรชัยแล้วก็ยังมีศักดิ์เป็นน้องเขยของมนัส
พาหิระ อีกด้วย
สุชิน สมุทรวนิช ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ เป็นคนปักษ์ใต้ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ
รื่น อินตะก สุชิน มีภรรยาและลูกชายทำงานที่แบงก์กรุงไทยด้วยกันอีกด้วยเรียกว่ายกครัวทีเดียว
โสมมนัส ชุติมา มีศักดิ์เป็นหลานห่าง ๆ ของพนัส (ภรรยาของพนัสเดิมนามสกุลชุติมา)
สมหมาย เดชารัตน์ ตำแหน่งผู้จัดการสาขาปทุมวัน เป็นคนรับใช้ใกล้ชิดเธียรชัยมาก
เวลาว่างก็จะขับรถรับส่งลูกเมียของเธียรชัยให้ ครั้งหนึ่งสมหมายเคยถูกสั่งสอบเรื่องไม่ชอบมาพากลบางเรื่อง
โดยผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบในขณะนั้น คือ อิสระ คล้ายมาก ป้อนข้อมูลเต็มที่
แต่สุดท้ายด้วยความช่วยเหลือจากเธียรชัย สมหมายถูกลงโทษเพียงลดขั้นเงินเดือน
2 ขั้น ว่ากันว่าคนนี้เธียรชัยเตรียมจะให้ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการ ซึ่งยังว่างอยู่ภายหลังไพบูลย์
ปุสสเด็จลาออก
สุนีย์ ปองทอง คุมด้านสินเชื่อต่างประเทศ ไม่เคยโยกย้ายไปสายอื่นเลย และเวลาต้องการขออนุมัติก็จะเดินตรงเข้าพบเธียรชัยได้ทันที
ถ้าจะว่าไปแล้วก็คงต้องนับว่าคนของเธียรชัยนั้นยุบยับกว่าคนของก๊กอื่นมากโดยเฉพาะก๊กรื่น
ประสิทธิและไพบูลย์ลาออกไปแล้ว และพงศ์ เศวตศิลา ก็คงจะต้องนั่งอยู่ บงล.ธนานันต์จนเกษียณด้วย
ใครจะหาญขึ้นมาทาบเธียรชัยนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันง่ายนัก
กรุงไทยนั้น จริง ๆ แล้วก็ยังมีคนหนึ่งที่โตขึ้นมาอย่างน่าจับตามองมาก นั่นก็คือ
กริช อัมโภชน์ อดีตอาจารย์นิด้า
กริชเข้ากรุงไทยในตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายการพนักงาน จากนั้นย้ายไปเป็นรองในฝ่ายวิชาการและวางแผน
และขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายนี้แทนมนัส รัตนรุกข์ และปัจจุบันกริชนั่งควบ 2
ตำแหน่ง โดยไปแทนตำแหน่งในฝ่ายการพนักงานที่ไพบูลย์เคยนั่งอีกด้วย
ปัจจุบัน กริชอายุ 40 เมื่อครั้งที่ ดร.ปัญญา วางแผนที่จะปรับโครงสร้างการบริหารงานแบงก์นั้น
กริชเป็นผู้ที่รับอาสาทำงานชิ้นนี้ ก็เลยมีการตั้งภุชงค์ เพ่งศรี ซึ่งเกษียณออกมาอยู่ว่าง
ๆ ให้เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงองค์กร มีกริชเป็นเลขานุการคณะกรรมการ
กริชนั้นไม่มีใครทราบจุดยืนแน่ชัดว่า เขาต้องการใกล้ชิดกับใครระหว่างเธียรชัย
กับ ดร.ปัญญา
นอกจากนี้ เขาก็ยังเป็นคนที่ไปดึงสหัส ตรีทิพยบุตร เข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่าคอมพิวเตอร์ของแบงก์
ไม่แน่นักแท้จริงจุดยืนของกริชอาจจะอยู่ที่ตัวเขาเองก็เป็นได้
การปรับโครงสร้างการบริหารแบงก์ซึ่งเพิ่งจะลงมือทำกันไปพักหนึ่งแล้วนั้น
ก็เป็นของใหม่ที่ก่อปัญหาวุ่นวายไม่แพ้เรื่องผู้บริหารแบ่งกันเป็นก๊กเป็นพวก
ความแตกต่างขององค์กรใหม่และเก่าก็คือ องค์กรเก่านั้นเน้นความสำคัญของการให้บริการลูกค้าตามสภาพภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ
เช่น ฝ่ายงานด้านสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ฝ่ายสินเชื่อภูมิภาค 1 ฝ่ายสินเชื่อภูมิภาค
2 ฝ่ายสินเชื่อภูมิภาค 3 และฝ่ายการธนาคารต่างประเทศ ซึ่งให้สินเชื่อด้านต่างประเทศด้วย
แต่องค์กรใหม่ยึดการแบ่งฝ่ายงานโดยดูจากลูกค้าเป็นสำคัญแบบ CUSTOMER ORIENTED
โดยแบ่งเป็นสินเชื่อนโยบายรัฐ ฝ่ายสินเชื่ออุตสาหกรรม ฝ่ายสินเชื่อพาณิชยกรรม
ฝ่ายสินเชื่อเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ฝ่ายสินเชื่อก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน
เป็นการจัดองค์กรเลียนแบบธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยความเชื่อว่า จะสนองตอบลูกค้าได้ดีกว่า
ฝ่ายบริหาร กล่าวว่า การปรับโครงสร้างองค์กร (REORGANIZATION) ครั้งนี้เป็นการปรับครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของกรุงไทย
ซึ่งแทบที่จะไม่ได้ปรับกันเลยนัยว่าเป็นยุคใหม่ของกรุงไทย
แต่หลังจากนั้นไม่นาน กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมขององค์กรใหม่กับคนของกรุงไทย
ซึ่งถูกฝึกมาแบบให้มีความรู้ทั่วไป (GENERALIZE) ในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่องค์กรใหม่ผู้ปฎิบัติงานจะต้องมีความรู้เฉพาะด้านมาก
และการแบ่งสินเชื่อเป็นประเภทลูกค้าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการทำงานในภาคปฏิบัติ
และข้อกล่าวหาที่ดูฉกรรจ์กว่านั้นก็คือ การจัดคนลงผังใหม่ไม่เหมาะสม จัดวางคนไม่ตรงกับความชำาญ
เพราะเป็นการแต่งตั้งโดยเล่นพรรคพวกกันมาก ทำให้ผู้ปฏิบัติงานหลายส่วนไม่พอใจ
ส่งผลให้การปฏิบัติงานกลับยิ่งมีอุปสรรคล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย !!!
"แต่เดิมนั้นเรามีการตั้งเป้าหมายสินเชื่อในระดับสาขา ระดับเขต ระดับภาค
แล้วก็มีการตั้งเป้าหมายรวมเอาไว้กว้าง ๆ ทุกคนก็ช่วยกันดี แต่การจัดแบบใหม่นี้มีการตั้งเป้าให้กับสายธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย
แต่ละสายจะต้องมีลูกค้าของตัวเองเท่าไหร่ แต่โดยระบบงานแล้ว ลูกค้าที่ติดต่อสาขาเกินวงเงินที่ผู้จัดการสาขาจะอนุมัติได้
ก็จะต้องส่งเรื่องมาให้ฝ่ายธุรกิจขนาดใหญ่ที่กรุงเทพช่วยวิเคราะห์และพิจารณาอนุมัติ
ซึ่งนั่นถือเป็นเป้าของสาขามิใช่ของสายธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ทางสายธุรกิจขนาดใหญ่ก็มีภารกิจที่ต้องหาของตัวเองให้ครบตามเป้า
โดยที่พนักงานก็มีจำกัดสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีเรื่องของลูกค้าที่สาขาส่งเข้ามาถูกดองไว้ที่ฝ่ายฯ
เป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้การพิจารณาสินเชื่อล่าช้าไปมาก บางรายถึง 7 - 8 เดือน
ระบบอย่างนี้ถ้าบางฝ่ายไม่มีสปิริตแล้ว ฝ่ายก็จะไม่สนใจงานของสาขา เพราะต้องเร่งงานของตัวเองก่อน
มีการกั๊กงานกัน บางฝ่ายถึงขนาดมีการแย่งลูกค้ากันแล้ว คือ ทีแรกวิเคราะห์ว่าไม่ผ่าน
แต่ตอนหลังก็ไปเอาลูกค้ารายนั้นมาเสียเอง ทำให้เกิดเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งกัน
ปีที่แล้วมีฝ่ายที่เข้าเป้าเพียงสองฝ่าย คือ ฝ่ายธุรกิจบริการและฝ่ายอุตสาหกรรม
นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีกหลายเรื่อง เช่น การแบ่งว่าลูกค้าที่อยู่ในสายธุรกิจบริการก็ต้องไปหาฝ่ายนี้
ส่วนถ้าทำฝ่ายพาณิชยกรรมก็ต้องไปอีกฝ่าย ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่จำนวนไม่น้อยที่เขามีธุรกิจในหลายประเภทการที่เขาต้องมาติดต่อหลายฝ่ายนำความยุ่งยากมาให้แก่เขาไม่น้อย
บางรายก็เลิกเป็นลูกค้าแบงก์ไป" ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของกรุงไทยที่มองเห็นข้ออ่อนของการจัดองค์กรแบบนี้ให้
"ผู้จัดการ" ฟังอย่างยาวเหยียด
สำหรับ กริชคนที่เป็นตัวหลักในการจัดองค์กรนั้นแสดงความเห็นว่า "การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งต้องมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
บางทีอาจจะเกิดปัญหาในบางจุดซึ่งเราก็พยายามปรับกันอยู่ตลอด ผมว่าต้องให้เวลาผ่านไปอีก
2 - 3 ปี ถึงจะเห็นผลว่ามันดีขึ้นอย่างไร"
ปัญหาของกรุงไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านฐานะการประกอบการที่ตกต่ำลงเรื่อย
ๆ ปัญหาหนี้เสียและปัญหาความระส่ำระสายภายใน ผู้บริหารเอาแต่สร้างก๊วนปัดแข้งปัดขากัน
ถ้าไม่เรียกว่าเป็นวิกฤติก็คงจะต้องหาคำอีกบางคำที่ส่อแสดงถึงความเลวร้ายยิ่งกว่านั้นแล้ว
เรียกได้ว่า เป็นห้วงเวลาที่กรุงไทยกำลังต้องการผู้นำที่เก่งกล้าสามารถอย่างมากโอกาสคลี่คลายจึงจะมีหวัง
แต่เผอิญสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งด้วย !!!
เธียรชัย ศรีวิจิตร นั้นเป็นนายแบงก์ที่ทำตัวเหมือนไม่ใช่นายแบงก์ เขาไม่ชอบการคบค้าสมาคมกับพ่อค้านักธุรกิจ
มีบางคนถามว่าเป็นนายแบงก์ทำอย่างนั้นได้อย่างไร เธียรชัยยังตอบหน้าตายว่า
"พวกนี้เอาแต่ประโยชน์ คบไปเสียเวลา"
ซึ่งเวลาอันมีค่านั้น มากต่อมากเธียรชัยต้องการใช้ให้หมดไปกับการสอนหนังสือ
คนที่รู้จักเขาดีถึงกับยืนยันด้วยซ้ำไปว่า ถ้าให้เลือกระหว่างตำแหน่งนายธนาคารดีเด่นกับตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว
เธียรชัยก็จะเลือกอย่างหลังโดยไม่ต้องเสียเวลาคิด !
การทำงานของเธียรชัยนั้น เขายึดถือประโยคทองอยู่ 3 ประโยค อันเป็นเรื่องที่ทราบกันทั่วไปทุกครั้งที่มีเรื่องเสนอให้เขาตัดสินใจ
ประโยคแรก คือ "อนุมัติตามเสนอ"
อีกประโยคหนึ่ง "ดำเนินการตามเสนอ"
และ "เสนอคณะกรรมการพิจารณา" เป็นประโยคสุดท้าย
"ก็ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอก เพียงแค่ตั้งใครไปดูแลไอเอฟซีซี ซึ่งก็มีใบอนุญาตเป็นโบรกเกอร์เบอร์
7 ซึ่งเป็นเบอร์ที่ไม่ค่อยจะมีการเคลื่อนไหวในตลาด ทั้ง ๆ ที่ใครก็แย่งกันอยากจะได้ที่นั่งถึงกับประมูลกันในสนนราคาถึง
60 ล้าน ใส่เงินเข้าไปให้แล้วเป็นพันล้าน ก็ยังไม่มีการตัดสินใจตั้งใครเข้าไปบริหารจริงจังเสียที
ปล่อยโอกาสหลุดลอยไปวัน ๆ ผมก็ไม่เข้าใจความคิดเขาเหมือนกัน" นายแบงก์รุ่นไล่
ๆ กับเธียรชัยสาธยาย
แต่ถ้าเป็นเรื่องการรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว เธียรชัยจะเคร่งครัดมาก
เมื่อครั้งมีการประชุมบอร์ดไม่นานมานี้ การพิจารณาตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
เธียรชัยเที่ยวพูดไปทั่วว่า เขาเสนอ พงศ์ เศวตศิลา เข้าไปด้วย เพราะเห็นว่าพงศ์เหมาะสมมาก
แต่ปรากฏว่า เมื่อเข้าที่ประชุมจริง ๆ เธียรชัยกลับพูดแบบไม่ให้น้ำหนักเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภุชงค์
เพ่งศรี กล่าวว่า พงศ์เป็นคนของตามใจ เขาเห็นพฤติกรรมมาแล้วที่นิวยอร์ก เธียรชัยแทนที่จะชี้แจงตามข้อเท็จจริงว่าเป็นการทำตามหน้าที่ในฐานะผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ
ก็กลับสงบปากเงียบเชียบ พงศ์ก็เลยตกสำรวจไปในที่สุด
บางเสียงกล่าวว่า ที่เธียรชัยเงียบก็เพราะไม่อยากถูกดึงเข้าไปเกี่ยวกับตามใจด้วย
ส่วนบางเสียงกลับว่า เป็นนิสัยของเธียรชัยที่พูดอย่างสามารถทำได้อีกอย่างเสมอ
ถ้าเขาจะสามารถรักษาเก้าอี้ของเขาไว้ได้
เพราะก็มีตัวอย่างที่ถ้าเป็นคนของเขาแล้ว เธียรชัยก็จะหาทางช่วยทุกทางเหมือนกัน
สำหรับกรุงไทยจะมีสถานการณ์ใดนำความสลดหดหู่มาให้มากกว่านี้เล่า
หนำซ้ำ กำลังจะเข้าตลาดหุ้นด้วย !!
25 เมษายน 2532 บนห้องประชุมใหญ่ แบงก์กรุงไทย พนัส สิมะเสถียร และบรรดากรรมการแบงก์กรุงไทย
ได้เปิดประชุมวิสามัญต่อหน้าผู้ถือหุ้น ที่พากันมาฟังพอประมาณเพื่อรับทราบในวาระเรื่องการขอเพิ่มทุนอีก
2,000 ล้านบาท จากเดิม 5,000 ล้านบาท และเรื่องการขอแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิบางข้อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่พนัสได้แถลงหนักแน่นในที่ประชุมว่า
หุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท จะขายแก่บุคคลภายนอกทั่วไป และจำนวน 1,000
ล้านบาทขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในราคาพาร์ 100 บาท/หุ้น ในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ
1 หุ้นใหม่
ที่ประชุมวันนั้น ดูจะมีบรรยากาศคึกคัดขึ้นเมื่อมีผู้ถือหุ้นได้แสดงความไม่พอใจในผลงานของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันที่มี
พนัส สิมะเสถียร และเธียรชัย ศรีวิจิตร เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้วยเหตุผลการที่แบงก์ไม่สามารถจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ในรอบบัญชีปี
2531 นี้ และในอีก 2 ปีข้างหน้าก็จะงดปันผลต่อไป แม้จะเข้าตลาดหุ้นแล้วก็ตาม
เหตุผลสำคัญที่แบงก์งดจ่ายปันผล เธียรชัย ศรีวิจิตร และมนัส พาหิระ เฝ้าเพียรพยายามพูดชี้แจงแก่ผู้ถือหุ้นก็ด้วยประเด็นที่ว่า
ต้องการกันกำไรเข้าไว้เป็นกำไรสะสมในเงินกองทุน เพื่อสร้างฐานะเงินกองทุนให้ใหญ่โตขึ้น
ซึ่งจะมีผลส่งให้แบงก์สามารถขยายปริมาณเงินในการทำธุรกิจให้สินเชื่อได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็พยายามชี้ช่องให้ผู้ถือหุ้นสามารถแสวงหากำไร (CAPITAL GAIN)
จากการขายหุ้นออกไป เมื่อเข้าตลาดหุ้นแล้ว แม้วันนั้นเธียรชัยและพนัสจะยังไม่สามารถบอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบว่า
ราคาหุ้นเข้าตลาดจะเป็นเท่าไร
"ราคาหุ้นตามบัญชี (BOOK VALUE) ที่ผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจาก
ส.ต.ง. ตกประมาณ 130 บาท/หุ้น" เธียรชัยกล่าวในที่ประชุม
ขณะ "ผู้จัดการ" กำลังปิดต้นฉบับราคาหุ้นเข้าตลาดที่บอร์ดกรุงไทยกับบริษัทภัทรธนกิจที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาและ
UNDER WRITER จะยังอยู่ในระหว่างการเจรจากันอยู่ ซึ่งคงจะตกลงกันได้ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่
11 พ.ค. ศกนี้เป็นแน่
"ราคาหุ้นที่จะขายแก่ประชาชน มันจะเป็นตัวสะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้
และกำไรของผู้บริหาร ดังนั้น ราคาจะเป็นเท่าไรก็ต้องให้ผู้บริหารกรุงไทยยอมรับด้วย
เพราะเป็นผู้ผูกมัดกับประชาชน ไม่ใช่เรา" วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการใหญ่ภัทรธนกิจ
เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงขั้นตอนการตกลงด้านราคาหุ้น
เป็นที่เชื่อกันว่า ราคาหุ้นของกรุงไทยในการขายแก่ประชาชน (PUBLIC OFFERING)
จำนวนมูลค่า 1,000 ล้านบาท คงตกในราว ๆ 125 - 135 บาท/หุ้น คงไม่สูงกว่า
135 บาทแน่ เพราะถ้ายิ่งสูง ภาระของบอร์ดกรุงไทยในการหารายได้และทำกำไรก็ยิ่งจะมากขึ้นตาม
"ผู้จัดการ" พยายามสืบค้นข้อมูลจากหลายแห่ง พอจะประมวลได้ว่า
การที่บอร์ดกรุงไทยจะพยายามผลักดันให้แบงก์ฟื้นตัวจากปัญหาหนี้สินและกำไรต่อสินทรัพย์และเงินกองทุนต่ำกว่ามาตรฐานให้ได้ภายในไม่เกินสิ้นปี
2536 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าได้นั้น บอร์ดกรุงไทยจะต้องทำกำไรสุทธิให้ได้ ณ
สิ้นปี 2536 จำนวนสูงถึง 2,000 ล้านบาท (ดูตารางเป้าหมายกำไรสุทธิ) โดย 2
ปีแรก (2532 - 2533) จะต้องทำกำไรสุทธิให้ได้ปีละ 700 ล้านบาท และค่อย ๆ
ขยับขึ้นไปอีกเป็น 1,000 ล้านบาทในปีถัด ๆ ไป
"ตามแผนงาน 5 ปีของธนาคารจะงดจ่ายปันผล 3 ปี (2531 - 33) หลังจากนั้นจึงจะมีความสามารถจ่ายปันผลได้
แม้จะไม่เท่าแบงก์ชั้นนำอื่น ๆ แต่พอสิ้นปี 2536 จะสามารถจ่ายปันผลได้เท่าเทียมกับแบงก์ชั้นนำ
คือ 11 - 14%" แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงความใฝ่ฝันของบอร์ดกรุงไทย
จะเป็นความฝันในก้อนเมฆของพนัส สิมะเสถียร และกรรมการคนอื่น ๆ ในบอร์ดกรุงไทยหรือเปล่า
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นฐานของแบงก์ที่สะสมมายาวนาน
ซึ่งมีดังนี้
หนึ่ง - เรื่องหนี้เสีย 3 รายใหญ่ จำนวน 10,000 ล้านบาท และหนี้เสียรายใหญ่
50 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 200 ราย ซึ่งตกประมาณ 3,600 ล้านบาท (เฉพาะหนี้สงสัยจะเสียในฝ่ายต่างประเทศจำนวน
2,000 ล้านบาท) รวมหนี้เสียรายใหญ่ 3 ราย และถูกจัดชั้นว่า จะเสียเอาเฉพาะจากสั่งของแบงก์ชาติที่เห็นผิดสังเกตก็ตกประมาณ
12,000 ล้านบาทแล้ว
เฉพาะ3 รายใหญ่ คือ สุระ สว่าง และ เสธ.พล ทางบอร์ดแบงก์กรุงไทยตั้งเป้าว่า
จะสามารถแก้ไขเสร็จเรียบร้อยภายในไม่เกินปี 2533 แหล่งข่าวในกรุงไทยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า อย่างมากแบงก์คงได้คืนไม่เกิน 60% ของจำนวนหนี้
(ยกเว้น เสธ.พล ซึ่งได้คืนคงยาก) ตกประมาณ 3,000 ล้านบาท
"ดร.ปัญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นตัวหลักในการจัดเก็บหนี้รายใหญ่นี้
ทางบอร์ดก็ฝากความหวังไว้ที่แก เพราะเธียรชัยเองคงไม่มีความสามารถพอ ขนาดสุระเอาเงินมาล่อเพียงแค่
50 ล้านบาท เพื่อขอยืดเวลาชำระหนี้ตามาข้อตกลงที่ทำไว้กับ ดร.ปัญญาว่า จะไถ่ถอนที่ดินแถว
ๆ รัชดามาชำระจำนวน 900 ล้านบาท ในเดือนเมษายนนี้ คุณเธียรชัยก็ตื่นเต้นทำท่าจะยอมตามสุระ
ดีที่บอร์ดไม่เห็นด้วยและให้เล่นเกมหนักกับสุระต่อไป" แหล่งข่าวในกรุงไทย
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
จากการติดตามสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ทำให้ทราบว่า การตั้งความหวังจัดเก็บหนี้รายใหญ่
คือ สุระ สว่าง และ เสธ.พล ให้เสร็จสิ้นภายในไม่เกินปี 2533 เป็นเรื่องฝันค้างและเสี่ยงต่อความล้มเหลวเอามาก
ๆ
กรณีสว่าง ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะต้องนำเงินมาชำระแบงก์เป็นเงินสด 1,000 ล้านบาทตามข้อตกลง
"ผู้จัดการ" ทราบว่า เสี่ยงหว่างได้นำหลักประกันที่เป็นแปลงที่ดินแถวพระประแดงอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นคลังสินค้าไปให้กลุ่ม UNITHAI เช่าทำเป็นคลังสินค้านอกท่าหรือ
CONTAINER YARD แล้วจะขอถอนหลักประกันเป็นที่ดินอยู่ติด ๆ กันอีกแปลงหนึ่งไปขายให้นักธุรกิจฮ่องกง
ทำโรงแรมริมน้ำเจ้าพระยา โดยสว่างกะว่า จะขายได้ประมาณ 900 กว่าล้านบาท โดยสว่างจะได้เงินสด
700 ล้านบาท ที่เหลือ 200 กว่าล้านบาทจะแปลงเป็นหุ้นให้กับกลุ่มศรีกรุงแทน
แต่แบงก์กรุงไทยต้องการเงินสด 1,000 ล้านบาท จึงจะให้การไถ่ถอนได้ ทางสว่างรับข้อเสนอนี้ไม่ได้
เพราะเขาจะเอาเงินสดจำนวน 300 ล้านบาทที่ขาดอยู่มาจากไหน
การเจรจาที่ยังไม่ลงตัวนี้ จนปัจจุบันก็ยังไม่รู้จะลงเอยกันในรูปแบบใด !
คำถามคือว่า ถ้าสว่างไม่สามารถนำเงินมาชำระ 1,000 ล้านบาทนี้ได้ ทางแบงก์จะกล้า
"แช่เย็น" วงเงินหมุนเวียนพวก L/C และ PACKING CREDIT จำนวน 1/3
ของหนี้ที่แบงก์ปล่อยให้แก่สว่างเพื่อเดินธุรกิจต่อไปหรือไม่ ? และจะกล้าฟ้องยึดหลักประกันที่ดินที่สว่างติดจำนอง
เพื่อนำขายทดตลาดเอารายได้เข้าแบงก์หรือไม่ ?
คำถามเหล่านี้เป็นปมที่บอร์ดแบงก์กรุงไทยจะต้องแก้อย่างมีแผนการและมีเป้าหมายเวลาที่ชัดเจน
ซึ่งเท่าที่ "ผู้จัดการ" ทราบมา บอร์ดกรุงไทยยังไม่มีทางออกเลยต่อกรณีสว่างที่ไม่อาจปฏิเสธตามข้อตกลงดังกล่าว
กรณี เสธ.พล ก็เช่นกัน แม้ตอนนี้แบงก์กรุงไทยจะ "แช่เย็น" เงินหมุนเวียนแล้วก็ตาม
เพราะ เสธ.พล ยังไม่ได้ชำระหนี้เลยแม้แต่บาทเดียว แต่คนอย่าง เสธ.พล ไม่ใช่กระจอก
ลูกเล่นแพรวพราวยิ่งนัก เมื่อแบงก์กรุงไทย "แช่เย็น" เงินหมุนเวียน
เขาก็วิ่งติดต่อหน่วยงานราชการบางแห่งที่พอจะช่วยค้ำชูธุรกิจของเขาได้ เท่าที่
"ผู้จัดการ" ทราบมาล่าสุด เมื่อกลางเดือนเมษายนนี้เอง มีเจ้าหน้าที่จากองค์การคลังสินค้า
ได้ขอเข้าไปตรวจสอบฐานะหนี้ เสธ.พล จากแบงก์เพื่อนำมาประมวลพิจารณาช่วยเหลืออัดฉีดเงินให้
เสธ.พล จำนวน 200 ล้านบาท
ส่วนเงินจำนวนนี้จะเอาไปใช้จ่ายอะไรนั้น ไม่มีใครรู้ แม้แต่บอร์ดกรุงไทย
ก็ไม่รู้ !
"ผู้จัดการ" สืบค้นประเด็นการแก้ไขหนี้ เสธ.พล จะเอายังไงต่อไป
แต่ก็ไม่มีผู้ใหญ่ในแบงก์กรุงไทยคนใดกล้าพูดถึงประเด็นนี้
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ บอร์ดกรุงไทยยังไม่มีมาตรการอะไรในการแก้ไขหนี้เสียของ
เสธ.พล นั่นเอง !
จะมีก็แต่ของกรณีสุระเท่านั้น ที่แบงก์กรุงไทยพอจะได้หนี้คืนคุ้มมูลหนี้ได้บ้าง
แต่ก็เฉพาะมูลหนี้ที่ติดกับแบงก์กรุงไทยเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงหนี้ที่สุระผ่องถ่ายไปไว้ที่
IFCC ตั้งแต่สมัยตามใจ ซึ่งมีอยู่จำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาท มูลหนี้ประมาณ
1,700 ล้านบาทที่อยู่กับกรุงไทย หลักทรัพย์ที่ค้ำเป็นพวกที่ดินแถวรัชดา ที่นับวันมูลค่าจะกลายเป็นทองคำ
ซึ่งเวลานี้ทางสุระกำลังวิ่งเต้นขายให้แก่นักธุรกิจพัฒนาที่ดินกลุ่มศรีวรา
แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ของนายพัฒนา สุวรรณไพรพัฒนะ ในราคา 900 ล้านบาท จำนวน 100
ไร่เศษ
และอีกแปลงหนึ่งอยู่แถวรัชดา เป็นหมู่บ้านเจ้าหน้าที่สถานฑูตอเมริกัน ชื่อ
รัชดาวิลล่า ที่สุระกำลังเตรียมจะขายพร้อมตึกโชคชัยที่สุขุมวิทที่ซื้อมาจากบริษัทของชำนาญ
เพ็ญชาติ ให้แก่กลุ่มนักลงทุนชาวอินโดนีเซีย มูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท
"แปลงที่ว่านี้ ยังสับสน เพราะตัวคนซื้อยังไม่รู้แน่ว่า เป็นชาวอินโดฯ
หรือไต้หวันกันแน่ และจริง ๆ ที่ว่าจะขายประมาณ 1,200 ล้านบาท ก็ยังไม่เห็นชัดเจนก็ได้แต่เห็นสุระมาบอกแบงก์อย่างนี้หลายครั้งแล้ว"
แหล่งข่าวในกรุงไทยเล่าถึงปัญหาการเก็บหนี้สุระให้ฟัง
การแก้ปัญหาหนี้ 3 รายใหญ่นี้ เป็นเป้าหมายสูงสุดของแบงก์ใน 2 ปีข้างหน้าในการหารายได้หลักจากแหล่งหนี้เสียนี้
"เราวิเคราะห์ดูแล้ว ฐานะของแบงก์ใน 2 ปีข้างหน้าจะฟื้นตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบอร์ดในการตามเก็บหนี้เสียนี้ให้ได้ตามเป้าเป็นสำคัญ
ถ้าไม่สำเร็จก็คงจะลำบาก" กรรมการแบงก์กรุงไทยคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
ถึงยุทธศาสตร์หลักของแบงก์
ตรงนี้ สอดคล้องกับข้อวิเคราะห์ของวิโรจน์ นวลแข จากภัทรธนกิจที่เล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังว่า เป้าหมายการหารายได้แบงก์กรุงไทย 2 ปีข้างหน้า
จุดหนักจะอยู่ที่การตามเก็บหนี้ 3 รายใหญ่นี้เป็นสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ดูเป้าหมายนี้จะบรรลุได้ลำบากมาก
แม้ราคาหลักทรัพย์ติดจำนองจะดูมีราคาสูงขึ้นตามภาวะตลาด แต่ลูกหนี้ 3 รายนี้เป็นกลุ่มอิทธิพลที่เกี่ยวโยงกับพลังทางการเมืองภายนอกกรุงไทย
ที่จำกัดทางเลือกในการแก้ไขให้บอร์ดกรุงไทยมีน้อยลง ๆ เหลือเพียงแต่ความเด็ดขาด
ซึ่งอาจจะต้องแลกกับเก้าอี้ขงกรรมการบางคนในแบงก์ เช่น ของพนัส และเธียรชัย
ปัญหา คือ ทั้งพนัส และเธียรชัย จะกล้าหาญหรือไม่ ?
สอง - สถานะของแบงก์กรุงไทย ที่ปัจจุบันหลังการปรับปรุงโครงสร้างภายในเมื่อปลายปี
2530 ก็ยังคงย้ำถึงสถานะของแบงก์อย่างชัดเจนว่า "ประกอบธุรกิจแบงก์พาณิชย์ทุกประเภท
เพื่อผลกำไร และความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงแสวงหาช่องทาง หรือโอกาสในการเพิ่มพูนธุรกิจภาคเอกชน
มุ่งพัฒนาและรักษาคุณภาพของบริการเพื่อดำรงความเป็นแบงก์พาณิชย์ชั้นนำ มีความพร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ
มีบทบาทในการสนองตอบต่อนโยบายทางเศรษฐกิจการเงิน และการคลังของประเทศ"
ความจริงความข้างต้นก็ไม่ได้เป็นนัยยะที่บ่งบอกถึงสถานะของแบงก์กรุงทไยที่แตกต่างจากอดีต
ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงและกลางในแบงก์เลยว่า "มันนำมาซึ่งความกลัวในความผิดพลาด"
แต่อย่างใด
พูดให้ชัดก็คือ สถานะแบงก์กรุงไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นองค์กร "อกแตก"
ที่ด้านหนึ่งพยายามแข่งกับเอกชนให้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นลักษณะองค์กรรัฐวิสาหกิจที่
ต้อง (อย่างปฏิเสธไม่ได้) ปฏิบัติตามคำสั่งและนโยบายของกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี
ความสำคัญในการเป็นเครื่องมือการเงินของรัฐ (กระทรวงการคลัง) ดูจะเป็นกลไกที่แบงก์กรุงไทยให้ความหมายสูงสุดจะเห็นได้จาก
มีหน่วยงานระดับฝ่ายด้าน สินเชื่อนโยบายรัฐ ปรากฏอยู่ในแบงก์อย่างถาวร มีสนธยา
วิมลจิตร เป็นผู้รับผิดชอบฝ่าย
การปล่อยสินเชื่อให้หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ตาม แม้จะมีหลักประกัน
แต่ PROFIT MARGIN ต่ำ เพราะไม่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามราคาตลาด และการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยก็อาจไม่เป็นไปตามข้อตกลงได้
กรณี ขสมก. เป็นตัวอย่างชัดที่สุด ที่ยังคงค้างชำระดอกเบี้ยอยู่ร่วม 800
ล้านบาท
นอกจากนี้ การตกเป็นเครื่องมือของคลังอย่างถอนตัวไม่ได้ก็มีผลถึงให้แบงก์กรุงไทยใช้เงินทุนจากแหล่งเงินฝากไปในลักษณะให้ผลตอบแทนต่ำ
และไร้ประสิทธิภาพ กรณีการลงทุนใน IFCC จำนวน 2,149.6 ล้านบาท (ณ สิ้นปี
2531) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เพราะปรากฏว่า จนปัจจุบันยังไม่มีผลตอบแทนกลับคืนมาเลย
หนำซ้ำกลับสร้างความเสียหายแก่เงินลงทุนของแบงก์ไปทั้งหมด 727.19 ล้านบาท
(ณ สิ้นปี 2531) แล้ว ซึ่งในจำนวนความเสียหาย 727 ล้านบาทนี้ แบงก์กรุงไทยได้ตัดเป็นขาดทุนไปแล้ว
309.8 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งของผลร้ายที่ตกต่ำกับแบงก์กรุงไทยในการเป็นแบงก์รัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือการเงินของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง
สาม - โครงสร้างอำนาจและระบบบริหาร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แบงก์กรุงทไยอยู่ในภาวะทรุดโทรม
พนัส สิมะเสถียร เป็นประธานบอร์ดบริหารและบอร์ดกรรมการมา 2 สมัยแล้ว เขาสวมหมวก
2 ใบ ในแบงก์กรุงไทย ใบหนึ่งเป็นประธานแบงก์และเป็นผู้แทนคลังที่ถือหุ้นใหญ่อยู่ประมาณ
43% (ดูตารางเปอร์เซ็นต์ผู้ถือหุ้นของแบงก์) อีกใบหนึ่ง เป็นประธานเพราะเป็นเจ้านายโดยตรง
ในฐานะเป็นปลัดกระทรวงการคลัง
แต่พนัสนำเอาหมวกใบในฐานะเป็นเจ้านายฯ เข้ามาครอบงำ ปัญหาการบริหารสินเชื่อไร้ประสิทธิภาพที่มาจากกลุ่มผลประโยชน์ภายนอกแบงก์
เช่น กรณี เสธ.พล ก็เลยเกิดขึ้นจากเหตุผลนี้ด้วย
"เวลาประชุมบอร์ด ถ้าปลัดพนัสหรือคนของคลังจะเสนออะไร เพื่อพิจารณาข้อสรุปอะไร
ทั้งเธียรชัยและคนอื่น ๆ ก็ไม่มีใครกล้าคัดง้างด้วยเพราะทุกคนมีสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า
คลังเป็นเจ้านายของตัว" แหล่งข่าวระดับสูงในแบงก์กรุงไทยเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังถึงการครอบงำของคนกระทรวงการคลัง
จุดนี้สอดคล้องกับคำสัมภาษ์ของเธียรชัย ศรีวิจิตร แก่นิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปีที่แล้วว่า
"ผมไม่จำเป็นต้องพูดจาอะไรมากมายแก่สื่อมวลชนถึงเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงานของแบงก์กรุงไทย
เพราะพับลิค (PUBLIC) ไม่ใช่นายผม ผมต้องรายงานให้เขาทราบ ผมเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ
สังกัดแบงก์กรุงไทย ไม่ใช่เป็นนายแบงก์เอกชนนี่"
นอกจากนี้ เมื่อมองจากระบบบริหารแบงก์กรุงไทย แม้การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายในเมื่อปลายปี
2530 ที่ภุชงค์ เพ่งศรี และกฤช อัมโภชน์ ในฐานะอนุกรรมการปรับปรุงโครงสร้างเป็นคณะทำงานที่เอาจริงเอาจังมากที่สุด
จะเสนอรูปแบบโครงสร้างระบบการบริหารระดับฝ่ายงานต่าง ๆ แลดูทันสมัยขึ้น แต่ก็เป็นเพียงรูปแบบเท่านั้นเพราะแบงก์
หัวใจสำคัญของระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่อยู่ที่ผังว่าหน่วยงานใดจะขึ้นตรงต่อสายงานใด
แต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่ถูกจัดวางลงไปต่างหากว่าเหมาะสมแค่ไหน
"เอาคุณภักดีจากฝ่ายสินเชื่อมาคุมสายปรับปรุงหนี้ เอาคุณอิสระจากฝ่ายตรวจสอบไปคุมสินเชื่อรายใหญ่สายพาณิชยกรรม
คนที่ถูกโยกย้ายก็เลยจับต้นชนปลายไม่ถูก กุมสภาพงานไม่ได้เพราะพื้นฐานไม่มีความชำนาญพอในสายงานใหม่และอีกอย่างนึ่ง
เครื่องมือ (METHOD) สนับสนุนจากบอร์ดไม่ว่าจะเป็นระเบียบพิธีการปฏิบัติก็ยังไม่ลงตัว
มีแต่เป้าหมายให้ อย่างคุณภักดีเจอเข้าไปปีนี้ประมาณ 400 ล้านบาท คุณอิสระก็ร่วม
1,000 ล้านบาท แล้วจะไม่ให้เขาสับสนวุ่นวายหรือ" คนในแบงก์กรุงไทยที่วางตัวเป็นกลางวิจารณ์การโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงเมื่อเร็ว
ๆ นี้ให้ฟัง
ว่ากันว่า ปัญหาความล้าหลังของระเบียบพิธีการปฏิบัติของแบงก์โดยเฉาพะด้านสินเชื่อ
เล่นเอาเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการทุกคน "ปลดลอย" ไม่กล้าใช้วิจารณญาณตนเองในการปฏิบัติงาน
"ขนาดเปิด L/C ต้องให้ฝ่ายกฎหมายเค้าพิจารณาด้วยว่าถ้อยคำที่ปรากฏใน
L/C เป็นไปตามถ้อยคำที่บอร์ดระบุลงมาเป็นระเบียบพิธีการปฏิบัติหรือเปล่า
ถ้าตรงกันก็สั่งให้เธียรชัยเซ็น กว่าจะเสร็จบางทีเกือบเดือน ลูกค้าก็หนีหมด
เพราะช้าไม่ทันกิน พวกพนักงานก็ถือว่าเรื่องอะไรจะเอาตัวไปเสี่ยงซี้ซั้วตีความเอง"
เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการคนหนึ่งในแบงก์กรุงทไยยกตัวอย่างภาวะความกลัวของเจ้าหน้าที่แบงก์กรุงไทยให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ว่ากันแล้ว จริง ๆ เรื่องความกลัวนี้ไม่ใช่จะเฉพาะเจาะจงเกิดกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างเท่านั้น
แม้แต่เธียรชัย ศรีวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่เองก็กลัวด้วย ขนาดจะเสนอเพิ่มวงเงินอำนาจอนุมัติให้แก่เขาจาก
30 ล้านบาทเป็น 50 ล้านบาท เธียรชัยยังไม่เอาเลย
"แกฉลาดรู้จักตอบปฏิเสธไปว่า เพราะผมไม่อยากมีอำนาจมาก แต่จริง ๆ แกกลัวว่าจะพลาด
ซึ่งถ้าพลาดแล้วมีสิทธิ์ติดคุกตามระเบียบรัฐวิสาหกิจ" แหล่งข่าวกล่าวให้ฟังอย่างหนักแน่น
ตัวอย่างเหล่านี้ คือ ภาพสะท้อนถึงภาวะวิกฤติในระบบบริหารแบงก์กรุงไทยที่มีผลเชื่อมโยงต่อความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจของแบงก์กรุงไทยอย่างช่วยไม่ได้
!
ทุบทิ้ง แบงก์กรุงไทยเสีย ! เพื่อสถาปนาระบบใหม่ สถานะใหม่ ผู้บริหารใหม่
ให้กับกรุงไทยดีไหม ?…
คำถามที่ท้าทายต่อผู้บริหารระดับสูงอย่าง พนัส ภุชงค์ เธียรชัย และคนอื่น
ๆ ในแบงก์เช่นนี้ "ผู้จัดการ" คงไม่ได้หมายถึง การทำลายทิ้งแบงก์กรุงไทยในลักษณะลบออกไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเหมือนทุบตึกศาลาเฉลิมไทยทิ้ง
และปล่อยให้ลบออกไปจากสมรภูมิธุรกิจโรงภาพยนตร์ใน กทม.
หากแต่ "ผู้จัดการ" หมายถึง ควรบูรณะพัฒนาการแบงก์กรุงไทยขึ้นมาใหม่จากประวัติศาสตร์ที่เลวร้าย
เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของนักการเมืองบางคนที่ปรารถนาใช้แบงก์แห่งนี้เป็นฐานหาผลประโยชน์ทางการเมือง
ให้กับพวกกลุ่มตนหรือแม้แต่เป็นแหล่งให้บรรดานายธนาคารในคราบข้าราชการบางคน
ใช้เป็นฐานสร้างเกียรติภูมิในตำแหน่งจนก่อกระแสวัฒนธรรมการเกาะเกี่ยวเก้าอี้อย่างไร้จริยธรรมปทั่วองคาพยพขององค์กรในสถาบันการเงินแห่งนี้
คำถามมีอยู่ว่า สถานะการเป็นเครื่องมือของรัฐของแบงก์กรุงไทยที่แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงบางคนในแบงก์กรุงไทยยังเรียกว่า
เปรียบเสมือนเป็น "กรมหนึ่งของกระทรวงการคลังไป" ยังมีความจำเป็นหรือไม่
?
การพัฒนาอุตสาหกรรมตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาล บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเงินของกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว การพัฒนาธุรกิจเกษตรกรรมชาวไร่ชาวนา
ก็มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ทำหน้าที่เป็น เครื่องมือของรัฐและคลังเรียบร้อยแล้ว
การพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยก็มีแบงก์อาคารสงเคราะห์
(ธ.อ.ส.) ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรัฐอยู่แล้ว
การพัฒนากิจการสาธารณูปโภค แนวโน้มรัฐบาลจะถอยออกมาเป็นผู้ควบคุม แทนที่จะลงไปลงทุนเสียเองเหมือนอดีต
เพื่อปล่อยให้เอกชนเข้ามาลงทุนก็เป็นแนวโน้มหลักของรัฐ เช่น กรณีทางด่วนบางโคล่-แจ้งวัฒนะ
หรือแม้แต่รถไฟฟ้าก็มีธนาคารเอกชนทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นกลไกทางการเงิน
ปลุกปั้นโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้เอง
ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า (EGAT) ประปา (ก.ป.น.) โทรศัพท์
(ท.อ.ท.) การสื่อสาร (ก.ส.ท.) ปิโตรเลียมและน้ำมัน (ป.ต.ท.) ปัจจุบันนี้ก็สามารถบริหารเงินทุนดำเนินการตามนโยบายของรัฐได้เอง
โดยไม่จำเป็นต้องมีกระทรวงการคลังเป็น "พี่เลี้ยง" เหมือนอย่างแต่ก่อน
"CREDIT RATING ของรัฐวิสาหกิจไทยเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมาก จนผมว่าไม่จำเป็นต้องง้อแบงก์ขอเงินกู้อีกต่อไปแล้ว
มีแต่แบงก์วิ่งมาให้กู้เอง" ณรงค์ ศรีสะอ้าน กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสแบงก์กสิกรไทย
กล่าวถึงฐานะการเงินรัฐวิสาหกิจไทยให้ "ผู้จัดการ" ฟัง เหตุผลข้างต้นนี้สะท้อนถึงความจำเป็นว่า
กระทรวงการคลังมีเหตุผลเพียงไรต่อการปรารถนาที่จะยึดครองแบงก์นี้อยู่
"การเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม 1,000 ล้านบาท ครั้งนี้กระทรวงการคลังก็จะยังคงลงทุนซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนคงเดิมไว้ต่อไป"
พนัส สิมะเสถียร ชี้แจงในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน
ที่เพิ่งพ้นมานี้
นักการธนาคารเอกชนรายหนึ่ง ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า กระทรวงการคลังอาจเห็นความจำเป็นต้องมีแบงก์กรุงไทยไว้อย่างน้อย
เพื่อสามารถหยิบใช้ได้ในยามที่เสถียรภาพความมั่นคงของสถาบันการเงินเกิดสั่นคลอนเหมือนตอนตลาดหุ้นล้มปี
2522 และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกิดล้มละลายเป็นทิวแถวเมื่อปี 2526-2527
ที่กระทรวงการคลังใช้แบงก์กรุงไทยเป็น "VEHICLE" เข้าโอบอุ้มเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงิน
แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาความไร้เสถียรภาพของบริษัทเงินทุนฯ
เริ่มลดลงไป จนดึงดูดความสนใจของสถาบันการเงินต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนซื้อกิจการบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาเหล่านี้
เพื่อนำไปปรุงแต่งให้มั่นคงประกอบธุรกิจการเงินต่อไป หรือแม้แต่สัญญาณบ่งบอกถึงกระบวนการ
PRIVATIZATION ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปลดปล่อยภาวะการเงินการคลังของรัฐก็ล้วนแต่ชี้ชัดถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในสถานภาพของระบบรัฐวิสาหกิจไทยอย่างแจ่มชัด
แบงก์กรุงไทยเข้าตลาดหุ้นในปริมาณสัดส่วนของทุน 26% เป็นแนวโน้มที่ดีที่กระทรวงการคลังควรจะถอยออกไปจากแบงก์แห่งนี้
โดยลดทอนสัดส่วนหุ้นของตนลงไป ไม่ใช่เท่าเดิม และปลดปล่อยกระบวนการครอบงำแบบรัฐวิสาหกิจที่ใช้กับแบงก์แห่งนี้มานานนับ
23 ปีเต็ม
ให้แบงก์กรุงไทยบริหาร โดยกติกาของธุรกิจเอกชนที่คณะบริหารทุกคน ต้องมีสายตากว้างไกลในการทำธุรกิจแบงก์
ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับงานบริหารปกติประจำวัน อย่างที่เธียรชัย ศรีวิจิตร ประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำ
นักการธนาคารเอกชน ให้ข้อคิดเชิงสรุปถึงสถานะของแบงก์กรุงไทยว่า มีทางเลือก
2 ทาง คือ อันแรก คลังลดบทบาททั้งในระดับบอร์ดและการควบคุมระเบียบปฏิบัติปล่อยให้แบงก์บริหารโดยวัฒนธรรมแบบเอกชน
โดยมีเป้าหมายผลกำไรระดับมาตรฐานแบงก์ชั้นนำ และอันที่สอง - PRIVATIZE ทั้งทุนและการบริหารทั้งหมดให้เอกชนไปเลย
100% เมื่อหุ้นแบงก์กรุงไทยในตลาดหุ้นพุ่งขีดสุดระดับเท่าแบงก์ชั้นนำ โดยขายหุ้น
43% ออกไปให้หมด เพื่อเอาผลกำไรเข้ากระทรวงการคลัง
ด้วยข้อสรุปตรงนี้ "ผู้จัดการ" อยากจะเน้นว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและบริหารกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้บริหารแบงก์กรุงไทยไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็คิดว่า ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ
ไม่ใช่แบงเกอร์มืออาชีพ ควรจะพิจารณาตนเองได้แล้ว เพราะการดำรงอยู่ต่อไปก็มีแต่จะฉุดรั้งให้แบงก์แห่งนี้เสื่อมถอยลงไปทุกวัน
ด้วยเหตุผลดังที่ MICHEL BAUER ผู้เขียน THE 200 : HOW TO BECOME A BIG BOSS
ได้กล่าวว่า…
"THE PEOPLE WHO RULE THIS COUNTRY THINK ANYONE WITH A GOVERNMENT
FINANCE BACKGROUND CAN RUN A BANK. THIS IS A MISTAKE. BANKING IS BUSINESS
JUST LIKE ELECTRONICS. THERE ARE MARKETS. THERE ARE RAW MATERIALS. THERE
IS A NEED FOR EXPERT MANAGEMENT…"