|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำยังไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยตามเฟด เหตุเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี จี้ทางการสร้างความมั่นใจในการดูแลเงินเฟ้อระยะปานกลางให้ดีไม่เช่นนั้นจะเกิดการกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้นและลามไปยังการบริโภค การลงทุนและการส่งออกให้เกิดปัญหาได้ ด้านพาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่เป็น 5-5.5% หลังน้ำมันพุ่งไม่หยุด แถมเจอวิกฤตด้านราคาอาหารกระหน่ำซ้ำ
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศต่างนั้น มีทิศทางที่แตกต่างกันไป โดยอย่างสหรัฐเองเมื่อเศรษฐกิจที่ชะลอลึก ทำให้ความต้องการลดลง ปัญหาแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อก็ไม่มากจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมสหรัฐต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างเช่นในปัจจุบัน ขณะที่ในส่วนของไทยความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อมีมากกว่า ทำให้ต้องหันมาดูแลด้านนี้แทน ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยต้องไปในแนวทางทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เป็นสำคัญมากกว่า
"อัตราดอกเบี้ยของไทยในระดับ 3.25% ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว ซึ่งในอดีตเราก็เคยอยู่ในระดับเดียวกับไต้หวัน แต่ตอนนี้ทางการไต้หวันได้ปรับขึ้นไปแล้ว ส่วนระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือไม่นั้นเท่าที่เปรียบเทียบดูผลตอบแทนจากตราสารหนี้ของประเทศอื่นก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าบ้านเรา ทำให้การตัดสินใจด้วยเหตุผลนี้น้อยลง"
โดยหากพิจารณาในแง่ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 3 และ 4 ของปีก่อนก็เริ่มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง
นางธาริษากล่าวอีกว่า ธปท.ยังคงดูแลทั้งภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงมากกว่าจากราคาน้ำมันและพืชผลที่สูงขึ้น และสูงกว่าที่ธปท.มองไว้ในตอนแรก ทำให้ธปท.ต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้กระทบถึงต้นทุนสินค้าและค่าครองชีพที่สูงเกินไปของประชาชนได้ เพราะหากประชาชนไม่มั่นใจว่าทางการมีการดูแลเงินเฟ้อที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงระยะปานกลาง ก็อาจจะทำให้เร่งกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบให้ทั้งต้นทุน และราคาสินค้าแพงขึ้นไปไม่หยุด
"หากปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมาก จะกระทบทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ยกตัวอย่างประเทศจีน ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของเขาสูงถึง 8% ทำให้ข้าวของแพงขึ้นทั้งประเทศ ทั้งราคาที่ส่งออก จึงต้องหันกลับไปดูแลเงินเฟ้อเป็นสำคัญ"
สำหรับประเด็นที่ว่าราคาน้ำมันและอาหารที่แพงขึ้นอาจไม่สะท้อนต้นทุนในการดำเนินชีวิตที่แท้จริงของประชาชนได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะปรับเปลี่ยนไปใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นเป้าหมายในการกำหนดนโยบายการเงินแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาทั้งข้อดีข้อเสียของทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ
พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี5-5.5%
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยในปี 2551 ใหม่ จากเดิม 3-3.5% เป็น 5-5.5% เพราะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบที่จากเดิมประเมินไว้ว่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาเฉลี่ยเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปแล้ว และราคาล่าสุดใกล้แตะระดับ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลด้วย
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าไทยยังมีแรงกดดันจากภาวะราคาสินค้าอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นการปรับให้เป็นไปตามสถานการณ์ และไม่ได้รุนแรง โดยยังเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหาร
|
|
|
|
|