หลังจากตัดทิ้งธุรกิจเคเบิลทีวีออกไป เป็นเรื่องที่จะคาดเดากันได้ยากว่า
บทเรียนความล้มเหลวครั้งที่แล้วจะทำให้ชินคอร์ปจะกระโดดเข้ามาในธุรกิจบรอดคาสติ้งอีกครั้ง
กระทั่งเมื่อดีลการซื้อหุ้นของไอทีวี จากธนาคารไทยพาณิชย์เกิดขึ้นจริง
ความแตกต่างของโมเดลธุรกิจ คือ คำตอบของบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร
ชิน คอร์ปอเรชั่น บอกกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวเข้าซื้อหุ้นในไอทีวี
"ถ้าวันนี้เรายังถือหุ้นไอบีซีอยู่ ผมก็ต้องขาดทุนเละเหมือนกัน" บุญคลี
บอก
เคเบิลทีวี และฟรีทีวี จะเป็นธุรกิจบรอดคาสติ้ง เป็น "สื่อ" ที่ให้ภาพ และเสียงเหมือนกัน
แต่โมเดลของธุรกิจทั้งสองกลับแตกต่างกันราวฟ้าดิน
หากขยายความต่อไป ก็จะพบว่าแหล่งที่มาของรายได้ของเคเบิลทีวี จะมาจากค่าสมาชิกรายเดือน
และการที่ผู้ดูที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน ฐานลูกค้าของเคเบิลทีวีย่อมถูกจำกัด
ไม่เหมือนกับฟรีทีวี ที่เป็นตลาดระดับ mass ที่สามารถทำรายได้จำนวนมากจากค่าโฆษณา
แหล่งที่มาของ content ก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่การผลิตรายการท้องถิ่น
ยังเป็นจุดอ่อนที่เคเบิลทีวียังไม่สามารถผลิตขึ้นเองได้ ต้องซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รายการมาจากต่างประเทศ
เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างความแตกต่างไปจากฟรีทีวี ต้นทุนมากกว่าครึ่งของธุรกิจเคเบิลทีวี
ก็มาจากค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ที่จะผูกพันกับค่าเงินบาท
ไอทีวี จะเป็น content ที่สำคัญ ไม่เพียงแค่การป้อนให้กับธุรกิจทีวีเองแล้ว
จะสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ในเรื่องของ content ที่จะนำไปใช้ร่วมกับ อินเทอร์เน็ต
และโทรศัพท์มือถือ
"ถ้าเราจะต้องสร้างสตูดิโอ เพื่อผลิตรายการป้อนให้อินเทอร์เน็ตอย่างเดียว
ก็คงไม่คุ้มแน่ แต่ถ้าเรามีไอทีวี content ที่อยู่ในไอทีวี ก็มาใส่ที่อินเทอร์เน็ต
ขณะที่ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็มาใส่ทีวี"
อย่างที่รู้ว่า โลกของโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่การสื่อสารด้วยเสียงเพียงอย่างเดียว
แต่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นโลกของการสื่อสารข้อมูล การต่อเชื่อมเข้าสู่โครงข่ายอินเทอร์เน็ต
ดาวเทียมที่เป็นบรอดแบนด์ ก็เกิดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ในเรื่องของอินเทอร์เน็ต
ชินนี่ และเอดีเวนเจอร์ก็เกิดขึ้นมาด้วยสาเหตุเหล่านี้
ทุกวันนี้ชินคอร์ป ก็มีแข็งในทุกๆ ด้าน โดยในเรื่องเครือข่าย และเงินทุน
ขาดอยู่อย่างเดียวก็คือ content ก็ยังเป็นประสบการณ์ที่ชินคอร์ปไม่มี เป็นจุดอ่อนที่ชินคอร์ปยังขาดอยู่
"พอร์ตการลงทุนของชินคอร์ปเวลานี้ เรายังต้องการลงทุนในเรื่องของ content
อีกมาก"คำยืนยันของบุญคลี
บุญคลี มองว่า โมเดลธุรกิจของทีวีไม่แตกต่างกับธุรกิจอินเทอร์เน็ต ที่สามารถลงทุนแค่เครือข่าย
สร้าง Infrastructure เพียงครั้งเดียวก็ให้บริการได้ไม่จำกัด ยุทธศาสตร์ของอินเทอร์เน็ตก็เช่นเดียวกัน
ไม่เหมือนกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่แม้จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น เอไอเอสก็ยิ่งต้องควักเงินลงทุนเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาททุกปี
"แม้จะเทียบหนังสือพิมพ์กับทีวี ถ้ามีคนซื้อหนังสือพิมพ์เยอะ คนต้องเพิ่มยอดพิมพ์
ต้นทุนก็สูงขึ้น ทีวีคนดูมากขึ้นไม่ต้องเพิ่มยอดพิมพ์ โฆษณาจะเข้ามาเอง"
ผลพวงที่เกิดขึ้น ยอดผู้ชมทีวีที่เพิ่มขึ้น ก็คือ ผลประโยชน์ในเรื่องของรายได้โฆษณา
เพราะยิ่งคนดูมากค่าโฆษณาก็ยิ่งเพิ่มตามไปด้วย
ความยืดหยุ่นในเรื่องของรายได้จากค่าโฆษณาทีวี ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ไม่ต้องมีรัฐบาลมาควบคุม
ไม่เหมือนกับค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ที่นอกจากจะไม่สามารถขึ้นราคาได้แล้ว
วันดีคืนดีก็โดนการเมืองถล่มให้ลดราคาลงเหมือนอย่างที่เอไอเอสโดนเล่นงานอยู่ในเวลานี้
ทุกวันนี้ โทรทัศน์ ยังเป็นสัมปทานที่ถูกผูกขาดอย่างแน่นหนา มีเพียงแค่เอกชน
2 รายเท่านั้น และโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะอนุมัติง่ายๆ กว่าไอทีวีจะเกิดขึ้นก็เลือดตาแทบกระเด็น
ไม่เหมือนกับธุรกิจสื่อสาร โอกาสที่จะเปิดสัมปทานให้กับรายใหม่มีมากกว่า
และสิ่งที่บุญคลีมองลึกลงไปกว่านั้นก็คือ ชื่อของ ไอทีวี เป็นแบรนด์เนม
ที่ติดหูติดตาคนดูแล้ว ช่อง 3 และช่อง 7 ก็ยังไม่ได้สร้างแบรนด์ เหมือนกับไอทีวี
ผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในไอทีวี ก็คือ จะทำให้พอร์ตการลงทุนของชินคอร์ปดูดีขึ้น
ต้องไม่ลืมว่า ชินคอร์ปอเรชั่น อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแดค
การลงทุนในไอทีวี จึงเท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน ไม่มุ่งเน้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
หรือธุรกิจสื่อสารเท่านั้น แน่นอนว่า ย่อมส่งผลถึงราคาหุ้นของชินคอร์ปด้วย
ชินคอร์ป รู้ดีว่า โอกาสที่จะได้สถานีโทรทัศน์มาด้วยเงินลงทุนเท่านี้คงไม่มีอีกแล้ว
หากจะรอจนถึงเปิดเสรีในปี 2006
"ลงทุนถูกวันนี้ใช้เงินแค่ 25 บาทต่อดอลลาร์ แต่อนาคตมัน 40 บาท ถ้าเราต้องรอจนถึงปี
2006 รอให้ถึงวันเปิดเสรี"
ชินคอร์ป ได้ไอทีวีมาด้วยราคาถูกมาก เงินจำนวน 1,600 ล้านบาท แลกกับหุ้น
39% ที่ทำให้ชินคอร์ปกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสถานีโทรทัศน์ ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งเครือข่าย
และ content
เป็นที่รู้กันดีว่า ไอทีวี มีฐานะการเงินย่ำแย่ เป็นปัญหาหนักอกของธนาคารไทยพาณิชย์
ที่อยู่ในฐานะของผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ อยากแก้ไขมาตลอด และนอกเหนือจากปัญหาขาดทุนสะสมอยู่กว่า
2,000 ล้านบาท และยังมีค่าสัมปทานที่ต้องรออยู่อีก 500 ล้านบาทเดือนกรกฎาคมนี้
เป็นเรื่องยากที่ธนาคารไทยพาณิชย์อัดฉีดเงินมาอุ้มไอทีวีต่อไปได้อีก
ธนาคารเองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องหาผู้ลงทุนใหม่เข้ามา เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้กับธนาคารล้างขาดทุนให้กับไอทีวี
การแก้ปัญหา ด้วยการเพิ่มทุนในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องทำได้ยาก ทางออกเฉพาะหน้าของธนาคารก็คือ
แปลงหนี้เป็นทุน และนำหุ้นออกขายให้กับนักลงทุนรายใหม่
ข้อเสนอของชินคอร์ป ก็ดูดีที่สุดสำหรับธนาคารในเวลานี้ เพราะไม่มีเงื่อนไขเหมือนกับคนอื่น
ที่ธนาคารลดหนี้ลง และต้องแก้ไขเรื่องการจ่ายสัมปทานให้รัฐก่อน ซึ่งธนาคารเองก็รอไม่ได้
และจากการที่ชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์เอง ก็ประกาศแล้วว่า
ธนาคารจะไม่ลงทุนในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคารอีกแล้ว เป็นไปได้สูงมากว่า
ชินคอร์ปเองจะเข้ามาซื้อหุ้นต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
หลังจากที่ไอทีวีนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
นั่นเพราะ "จิ๊กซอว์" ที่จะทำให้ภาพธุรกิจด้าน "สื่อ" ของชินคอร์ปสมบูรณ์แบบ
เป็นvision ในอนาคต
บุญคลีเชื่อในเรื่อง digital convergent หรือการรวมกันระหว่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
โทรศัพท์มือถือและทีวี ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเมื่อถึงเวลานั้น
ทุกอย่างจะแยกกันไม่ออก พรมแดนในเรื่องของเทคโนโลยีก็จะหายไป โทรศัพท์มือถือ
จะเห็นภาพดูทีวีได้ ในขณะที่โทรทัศน์จะต่อเชื่อมเข้าอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องมีอุปกรณ์
set tob box คอมพิวเตอร์จะสื่อสารได้ด้วยเสียง
ธุรกิจโทรทัศน์ เป็น "จิ๊กซอว์" ตัวเดียว ที่ยังขาดอยู่ เพราะเวลานี้ชินคอร์ปเองมีทั้งธุรกิจสื่อสาร
ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และการพัฒนาของเทคโนโลยีของ "ดิจิตอล" ที่จะทำให้เกิดการรวมกันของอุปกรณ์เหล่านี้
โทรศัพท์ที่ต่อเชื่อมเข้าอินเทอร์เน็ต ทีวีจะต่อเชื่อมเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง
ไม่ต้องมี set top box ให้เกะกะอีกต่อไป
"ต่อไปเราคงไม่เรียกว่า โทรศัพท์มือถือ แต่เราจะเรียกว่า ดิจิตอล 2 วัตต์
เพราะทุกอย่างมันจะเบลอไปหมด โทรศัพท์มือถือ จะเป็นได้ทั้งทีวี ต่อเข้าอินเทอร์เน็ต
เครือข่ายโทรคมนาคม จากบริการโทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ที่มีทั้งบรอดแบนด์narrow
band จะเป็น platform ที่จะนำมาใช้กับไอทีวี เหมือนอย่างที่ใช้ประโยชน์ในอินเทอร์เน็ตมาแล้ว
ที่สำคัญ การที่ไอทีวี คือ "สื่อ" ที่สมบูรณ์แบบที่สุด network และ content
พร้อมกันในเวลาเดียว ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจอินเทอร์เน็ต ดาวเทียมที่จะพัฒนาไปสู่บรอดแบนด์เทคโนโลยี
จะเหมาะสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์มือถือที่จะต่อเชื่อมเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
"ต่อไปคนออกจากบ้านจะใช้มือถือของชิน อยู่บ้านดูทีวี อยู่ทำงานก็เล่นอินเทอร์เน็ต"
vision ของบุญคลีกับอนาคตของชินคอร์ปที่จะเกิดในอนาคต
และนี่คือสาเหตุที่เอไอเอสไม่สามารถภูมิใจกับการเป็น big player ในประเทศได้อีกแล้ว
แต่จะต้องวางบทบาทสำหรับการแข่งขันในระดับภูมิภาค และชินคอร์ปอเรชั่น จะทำหน้าที่เป็น
Investment company ที่กำหนดนโยบายรวม สร้าง content ใหม่ๆ มาป้อนให้กับโครงข่าย
ที่มีทั้งโทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม บรอดแบนด์ narrow band และที่สำคัญเอไอเอส
จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน เพื่อเชื่อมเข้าสู่การเป็น content
provider ให้ภาพสมบูรณ์นี้เกิดขึ้นได้จริง