ไทยเสรีห้องเย็นเคยเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในด้านการส่งออกอาหารทะเล เป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมานาน
ไพโรจน์ ไชยพร ไพเราะ พูลเกษ เป็นสองพี่น้องซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในยุทธจักรแต่หลังจากประสบวิกฤติการณ์อย่างหนักหน่วงในช่วง
4-5 ปีที่ผ่านมา ความยิ่งใหญ่ของไทยเสรีนั้นเหลือแต่เพียงตำนานไปเสียแล้ว
(อ่านเรื่องไทยเสรีห้องเย็นจากผจก.ฉบับที่ 43 ปี 2530)
ย้อนหลังไป 12 ปีที่แล้วขณะที่ไทยเสรีกำลังรุ่งเรือง ลูกน้องมือขวาของไพโรจน์ชื่อสุรพล ว่องวัฒน์โรจน์
ซึ่งเป็นเลขาของไพโรจน์ เคยเป็นผู้จัดการส่งออก เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป
หลังจากสุรพลบ่มเพาะวิทยายุทธ์ด้านนี้ที่ไทยเสรีถึง 12 ปีเต็ม เขาตัดสินใจว่าต้องการออกไปทำธุรกิจของตัวเองซึ่งเป็นความใฝ่ฝันแต่เยาว์วัยว่า
"สักวันหนึ่งจะเป็น ENTREPRENEUR ให้ได้"
สุรพลเป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งบริษัทสุรพลซีฟู้ดส์ โดยมีเพื่อนที่ออกจากไทยเสรีอีกสองคนร่วมทุนด้วยคือโชคชัย
เจียงวลีวงศ์, สิทธิชัย ไกรสิทธิศิรินทร์ แต่ที่ตัดสินใจตั้งชื่อสุรพลซีฟู้ดส์เพราะสุรพลอยู่ในวงการนี้มานานเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ลูกค้าต่างประเทศ
ข้อดีคือทำให้ไม่ต้องเสียเวลาโปรโมทบริษัทใหม่
สุรพลซีฟู้ดส์เริ่มจากบริษัทเล็ก ๆ เริ่มต้นด้วยการเช่นห้องเย็นแถวสาธุประดิษฐ์ในช่วง
3 ปีแรกธุรกิจมีแนวโน้มไปได้ดีมาก สุรพลเริ่มขยับขยายโดยไปซื้อที่ดิน 10
กว่าไร่แถบถนนเทพารักษ์สมุทรปราการ โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากไอเอฟซีที ซึ่งพอใจโครงการที่สุรพลนำไปเสนอ
ทำให้สุรพลซีฟู้ดส์ได้แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ประกอบกับได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ
ที่ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลและผู้ถือหุ้น ตามนโยบายส่งเสริมการส่งออก
นั่นเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตของสุรพลซีฟู้ดส์ในช่วงแรกอย่างมาก
แต่ประการสำคัญที่สุดคือสุรพลและเพื่อนของเขารู้จักธุรกิจนี้อย่างดี โดยเฉพาะสุรพลเป็นมือการตลาดที่คร่ำหวอดมานาน
ทำให้สุรพลซีฟู้ดส์เติบโตอย่างรวดเร็วมาก อีกสองปีหลังจากมีห้องเย็นของตัวเองแล้ว
เขาตั้งบริษัทสุราษฎร์ซีฟู้ดส์ เป็นห้องเย็นที่อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น
สุรพลเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มอยู่ตลอดเวลา เขาคิดเสมอว่าจะขยายธุรกิจไปทางไหนได้อีกสุรพลนิชิเรฟู้ด
เป็นบริษัทใหม่ที่ร่วมทุนกับบริษัทนิชิเรคอร์เปอเรชั่นจากญี่ปุ่น ซึ่งค้าขายกันมานาน
ผลิตสินค้าประเภทแช่แข็งกึ่งสำเร็จรูป เช่นการนำกุ้งมาปรุงชุปแป้งให้อยู่ในสภาพที่เอาไปทอดรับประทานได้เลย
ซึ่งตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ญี่ปุ่น นับเป็นการพัฒนาให้สินค้าส่งออกมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งนับว่าสุรพลนิชิเรเป็นรายแรกที่ริเริ่มธุรกิจนี้
ขณะเดียวกันสุรพลก็ต้องการกุมสภาพแหล่งวัตถุดิบให้ได้แน่นอนมากขึ้น จึงมีความคิดว่าจะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเองโดยเฉพาะกุ้ง
เขาซื้อที่บนเนื้อที่ 500 ไร่ที่อำเภอแหลมสิงห์ จันทบุรี โดยตั้งบริษัทสุรพลอควาคัลเจอร์เป็นผู้บริหาร
สุรพลซีฟู้ดส์เริ่มจากทุนจดทะเบียน 3 ล้าน เมื่อปี 2520 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน
60 ล้านยอดขายของทุกบริษัทในเครือปี 2531 คือ 2 พันล้านบาท คาดว่าปี 2532
จะมียอมดขายรวม 2.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาด 10% ของผู้ส่งออกสินค้าประเภทนี้ทั้งหมด
จัดอยู่ในระดับ 1 ใน 5 ของรายที่ใหญ่ที่สุด
สุรพลซีฟู้ดส์ก้าวล้ำบริษัทอื่น ๆ ในอีกขั้นหนึ่งแล้วด้วยการยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ
ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมประเภทนี้ที่เข้าตลาดหุ้น
"เนื่องจากเรามีโครงการอีกมามายที่จะขยายงานออกไปซึ่งเราเน้นที่จะทำธุรกิจที่เรารู้ดีก็คือทางด้านอาหาร
เช่นอาหารสำเร็จรูป ซึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้านเรามีให้เลือกน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ตอนนี้เราทำอาหารกึ่งสำเร็จส่งตลาดต่างประเทศ ในบ้านเราก็มีส่งให้ครัวของการบินไทย
ซึ่งต่อไปเราจะให้ความสนใจกับตลาดในประเทศด้วย การเข้าตลาดจะช่วยเราได้มากทั้งในแง่ของทุน
ภาพพจน์และชื่อเสียงของบริษัทด้วยที่สำคัญผมอยากให้เป็นบริษัทมหาชนที่มืออาชีพเข้ามาบริหารตลอดไป
วันข้างหน้าลูก ๆ ผมอาจไม่อยากทำก็ได้"
สุรพล วันนี้เขาอายุ 43 ปี เป็นตัวอย่างของการเป็นเถ้าแก่ระดับมืออาชีพที่ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
กล่าวกันว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ติดอันดับเสียภาษีมากที่สุด 250 คนแรกของประเทศ
สุรพลเป็นคน LOW PROFILE ที่ตั้งอกตั้งใจทำงาน ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปเมื่อเขาก้าวขึ้นมาเป็นนายกสมาคมผู้ค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารแช่เยือกแข็งไทย
ซึ่งเขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันให้กระทรวงการคลังยกาเลิกการเก็บภาษีส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง
1.5% จนสำเร็จ และนั่นคงจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกสมาคมต่อเป็นสมัยที่สอง
"การยกเลิกภาษี 1.5% มีหลาย ๆ ท่านช่วยกันไม่ใช่ผมคนเดียว พยายามอธิบายว่าสินค้าส่งออกของเรามีการแปรรูปแล้วซึ่งตามกม.สินค้าที่มีการแปรรูปไม่ต้องเสียภาษี
ขึ้นอยู่กับการตีความสินค้าเราว่าเป็นอย่างไรเราซื้อกุ้งมาไม่ใช่ส่งออกทั้งตัวเลย
ต้องปอกเปลือก เด็ดหัวผ่าหลัง ทำรีฟอร์ม บางอย่างต้องทำให้สุกหรือทำเป็นชิ้น
ๆ สำหรับเรื่องที่กำลังขอร้องกับทางคลังอยู่ในขณะนี้ก็คือเรื่องภาษีเครื่องจักร
หรือเครื่องมือ เราต้องอัพเกรดอยู่เรื่อย ๆ ไม่งั้นมันล้าสมัยเพราะเทคโนโลยีมันใหม่อยู่เรื่อย
ๆ ถ้าภาษีที่ต้องเสีย ในการสั่งเครื่องจักรเข้ามา 40-60% ซึ่งเป็นภาษีที่ค่อนข้างสูง
ซึ่งความจริงเราไม่ได้สั่งเอาเข้ามาขายต่อเอามาใช้ควรจะสนับสนุนคือช่วยลดภาษีลงมาบ้าง
จะทำให้ธุรกิจนี้ยิ่งก้าวไปข้างหน้าให้มากกว่านี้ ซึ่งเราคิดว่าเราไม่ได้ขออย่างไม่มีเหตุผลก็ต้องแล้วแต่ทางกระทรวงการคลั่งจะพิจารณา"
สุรพลพูดถึงงานสำคัญของสมาคมในสมัยที่เขาเป็นนายก
ความสำเร็จของสุรพลซีฟู้ดส์ในวันนี้ ปัจจัยหลักมาจากความสามารถของสุรพล
และทีมงานที่บริหารงานาแบบสมัยใหม่การมองการณ์ไกลที่ต้องการทำให้ธุรกิจครบวงจร
และนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น เป็นก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมประเภทนี้ ซึ่งเป็นย่างก้าวที่รอบคอบระมัดระวังเพราะเขาก็คงไม่ต้องกาเรดินซ้ำรอย
ปัญหาของไทยเสรีในที่สุด