10 ปี วิบากกรรมคดีความ "ทีทีแอนด์ที" ถึงจุดสิ้นสุด หลังอนุญาโตตุลาการชี้ขาด "ทีโอที" ต้องจ่าย 23,778 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยตามอายุสัมปทาน หลังเพิกเฉยไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการนำบริการอื่นใช้ผ่านโครงข่ายทีทีแอนด์ที ด้านทีโอทีเฉยเตรียมยื่นศาลปกครองสูงสุดช่วยปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของสัมปทานกับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับสัมปทานจนต้องให้คนกลางอย่างคณะอนุญาโตตุลาการเข้ามาช่วยพิจารณาหาข้อสรุปว่า ใครถูกใครผิดนั้น มีให้เห็นบ่อยครั้งขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่ทางบริษัท ทีทีแอนด์ จำกัด (มหาชน) ได้รับเอกสารที่เป็นคำตัดสินชี้ขาดคำเสนอข้อพิพาทจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมที่ยื่นไปตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2548 ที่เรียกร้องให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชำระผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่บริษัท ทีโอที นำหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นนำบริการพิเศษมาใช้ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานของบริษัทฯ ตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนฯ ที่กำหนดให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ทีทีแอนด์ทีไปจนกว่าจะสิ้นอายุสัญญาร่วมการงานฯ โดยในเบื้องต้นให้ชำระเงินที่ค้างจ่ายจำนวน 23,778 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนจนถึงเดือนมีนาคม 2548 พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตรา MLR+1 จนกว่าจะชำหนี้ครบถ้วน
"การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องตามสิทธิที่บริษัทฯ พึงปฏิบัติ หลังจากที่ได้มีความพยายามขอเจรจากับทีโอทีในช่วงปี 2538-2547 แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งบริษัทได้กระทำตามขั้นตอนของสัญญาฯ อย่างถูกต้องทุกประการ" ประจวบ ตันตินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) กล่าว
ทางด้าน ประสิทธิชัย กฤษณยรรยง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือทีทีแอนด์ที กล่าวเสริมว่า ทางทีทีแอนด์ทีได้เข้าร่วมการงานตามสัญญาสร้างโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน 72 จังหวัดในส่วนภูมิภาคกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2535 จนปัจจุบันทีทีแอนด์ทีมีลูกค้าโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัดประมาณ 1,500,000 เลขหมาย โดยใช้งบในการลงทุนโครงข่ายประมาณ 57,000 ล้านบาท กระทั่งปี 2536 ทีโอทีเปิดให้โทรศัพท์มือถือสามารถเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายโทรศัพท์บ้านเพื่อขยายพื้นที่การให้บริการ และเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายแบบแอกเซสชาร์จ หรือเอซี จากผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอัตรา 200 บาทต่อเลขหมาย ซึ่งเป็นบริการที่อยู่นอกเหนือสัญญา
"ทีทีแอนด์ทีได้พยายามเข้าพบทีโอทีเพื่อเจรจาขอส่วนแบ่งรายได้จากผลประโยชน์จากการให้บริการอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือสัญญา แต่ไม่ยอมจ่ายส่วนแบ่งให้กับทีทีแอนด์ทีในฐานะเป็นคู่สัญญาร่วมการงานตั้งแต่ปี 2536 โดยวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ทางอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำชี้ขาดให้ทางทีโอทีต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับทีทีแอนด์ทีเป็นจำนวนเงิน 23,778 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา MLR+1
สำหรับวงเงินผลประโยชน์ค่าตอบแทนดังกล่าว ทางทีทีแอนด์ทีได้ประมาณการค่าตอบแทนที่ทีโอทีได้รับค่าเอซีตั้งแต่ปี 2536 จนถึง 30 มีนาคม 2548 จากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แลบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ซึ่งทีโอทีได้รับผลตอบแทนประมาณ 43,502 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส อีกจำนวน 81,296 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งสองรายการเป็นจำนวน 124,798 ล้านบาท จากจำนวนดังกล่าวทีทีแอนด์ทีจะต้องได้รับเงินส่วนแบ่งประมาณ 23,778 ล้านบาท
"ทีโอทีเป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ในสัญญาร่วมการงานก็ได้ระบุว่าจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับทีทีแอนด์ทีหากเกิดการใช้บริการพิเศษผ่านโครงข่ายของทีทีแอนด์ที ซึ่งคดีนี้เป็นคดีแรกที่ทีทีแอนด์ทีชนะ"
ส่วนท่าทีของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ได้รับทราบข่าวคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ทางสำนักกฎหมายของทีโอทีเตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางต่อไป และหากแพ้ทางทีโอทีก็จะอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งกว่าเรื่องนี้จะได้ข้อยุติคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกนานถึงจะได้ข้อสรุป
|