กาลครั้งหนึ่ง…รัฐวิสาหกิจ ISTITUTO PER LA RICOSTRUZIONE INDUSTRIALE หรือ
ไออาร์ไอ ของอิตาลี ได้ชื่อว่า ผลิตสินค้าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ คือ
ไล่ดะไปแล้วเกือบครบทุกประเภทสินค้า ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ ซอสมะเขือเทศ ถนนแบบเก็บค่าผ่านทาง
รายการทีวี เรือเหล็กกล้า เครื่องป้องกันขโมย จรวดแบบยิงจากอากาศสู่อากาศ
ฯลฯ
มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่ไออาร์ไอทำไม่ได้…เงิน !
แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของอิตาลี เริ่มพลิกสถานการณ์ขึ้นมาทำกำไรได้ยุคอยู่ภายใต้การบริหารของ
"โรมาโน โพรดิ" ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรษัทอุตสาหกรรม จากที่เคยขาดทุนปีละกว่า
7,000 ล้านลีร์ ช่วงปี 1982 - 1985 ก็ลกับมามีกำไรกว่า 300,000 ล้านลีร์ในปี
1986 และนับเป็นการทำกำไรครั้งแรกนับจากปี 1973 เป็นต้นมาด้วย
ต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องราวที่เขียนโดยศาสตราจารย์โพรดิ กล่าวถึงข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุแห่งความล้มเหลวของไออาร์ไอ
ตามด้วยยุทธวิธีที่เขานำมาฟื้นฟูกิจการไออาร์ไอในช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนพ้นจากภาวะขาดทุนมาได้
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 1929 ส่งผลกระทบรุนแรงมากต่อระบบการธนาคารอิตาเลียน
ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญควบคุมอุตสาหกรรมของประเทศทั้งระบบอีกต่อหนึ่ง
หลังจากรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือการธนาคารทั้งระบบแล้ว 4 ปีเต็ม เบนิโต มุสโสลินี
ผู้นำจอมเผด็จการยุคนั้นก็ก่อตั้งไออาร์ไอขึ้นเมื่อปี 1933 เพื่อเข้ามารับผิดชอบภาระหนี้ของแบงก์ไว้ทั้หงมด
ไออาร์ไอจึงมีสภาพเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีของรัฐที่ควบคุมทั้งระบบแบงก์ อุตสาหกรรม
และบริการ รวมทั้งเชื่อมประสานอำนาจและอิทธิพลเข้าด้วยกัน
อัลเบอร์โต เบเนดิวซ์ ประธานคนแรกของไออาร์ไอดูเหมือนจะรู้ซื้อถึงความจำเป็นในการก่อตั้งบริษัทนี้ดีว่า
ต้องการใช้เป็นเครื่องมือเข้าแทรกแซงกิจการของรัฐที่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
ทำให้ไออาร์ไอเป็นองค์กรแปลกกว่าชาวบ้าน คือ เป็นทั้งโฮลดิ้งคัมปะนี และรัฐวิสาหกิจ
แต่บริหารและควบคุมภายใต้กรอบของกฎหมายเอกชน
ลักษณะการผสมผสานภาครัฐ-เอกชนเข้าด้วยกันนี้ เพื่อให้ผู้บริหารมีอิสระเต็มที่ในการดำเนินงาน
คือ เมื่ออยู่ในตลาดที่มีสภาพการแข่งขันสูงก็กระโจนลงต่อกรได้เต็มที่ หรือเมื่อตลาดมีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติก็ยังต้องดำเนินงานด้วยประสิทธิภาพและเพื่อผลกำไร
เพราะยังมีนักลงทุนภาคเอกชนเป็นผู้ถือหุ้นค้ำคออยู่ พวกเขาล้วนมีสิทธิเต็มในเงินปันผลของบริษัท
ระหว่างไม่กี่ปีแรกหลังการก่อตั้ง คือ 1933 - 1936 ไออาร์ไอเข้าไปมีส่วนในกิจกรรมทางธุรกิจทุกอย่างที่อยู่ในความควบคุม
แต่พอถึงปี 1936 ที่มีการประกาศใช้กฎหมายการธนาคารฉบับใหม่ กิจการแบงก์ถูกลดบทบาทลงเหลือแค่มีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อตามปกติเท่านั้น
แต่หลังปี 1945 ไออาร์ไอเข้าไปมีบทบาทสำคัญในงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหลังสงครามโลกด้วยการติดตั้งระบบโทรศัพท์แห่งชาติ
ตั้งสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ก่อตั้งสายการบินแห่งชาติ (ปี 1957) ควบคุมการสร้างเครือข่ายทางหลวงแบบเก็บค่าผ่านทาง
(ปี 1961) รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมเดินเรือและเหล็กกล้าของอิตาลี
เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่ออิตาลีทั้งประเทศอีกครั้งในปี
1974 ไออาร์ไอต้องเข้ามามีบทบาทอีกในฐานะสถาบันที่มีหน้าที่โอบอุ้มและกู้สถานการณ์ให้กิจการที่ประสบปัญหามากมาย
ทำให้ไออาร์ไอเองมียอดขาดทุนบานเบอะ จากที่ต้องเข้าไปโอบอุ้มกิจการมีปัญหาหลายแห่งเอาไว้
เพื่อช่วยพยุงให้ชาวอิตาลเยนมีงานทำกันต่อไป
ต้นทศวรรษ 1980 ไออาร์ไอจึงกลายสภาพเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศ
มีกิจการในเครือถึง 1,000 บริษัท รวมทั้งบริษัทผลิตเหล็กกล้ายักษ์ใหญ่หมายเลข
1 ของยุโรป กิจการแบงก์ราว 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ สถานีโทรทัศน์ของรัฐ บริษัทผลิตรถอัลฟ่า
โรมิโอ สายการบินแห่งชาติอลิทาเลีย และกิจการอาหารแปรรูปที่มีกำลังผลิตรวมกันได้
20% ของกำลังผลิตทั้งประเทศ จึงมีพนักงานในความควบคุมถึง 535,000 คน หรือกว่า
3% ของการจ้างงานทั้งประเทศ
ทั้ง ๆ ที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์มหึมาอย่างนี้ ไออาร์ไอกลับมียอดขาดทุนสุทธิสูงถึง
8% ของยอดขายรวมยอดหนี้ที่สร้างขึ้นมาก็สูงกว่ายอดขายประจำ คือ สูงถึง 27,000,000
ล้านลีร์ ไออาร์ไอมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อสุทธิคิดเป็น 12% ของสินเชื่อทั้งระบบที่ปล่อยให้ลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจ
สมมุติว่า ไออาร์ไอล้มครืนลง เศรษฐกิจของอิตาลีจะมีสภาพอย่างไร ?
ผมจึงรับงานอันหนักอึ้ง คือ พยายามฉุดดึงให้ไออาร์ไอพ้นขึ้นมาจากปากเหวแห่งวิกฤตตั้งแต่ปี
1981 หลังจากนี้ 2 ปี ผมใช้แผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปีพร้อมคำขวัญว่า "กิจการต้องอยู่ในสภาพแข่งขันได้"
แล้วเริ่มหานักบริหารจากบริษัทเอกชนเข้ามาแทนพวกอยู่ก่อนที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามา
เพราะการเมืองและใช้มาตรการปลดพนักงานส่วนเกินออก จนถึงทุกวันนี้ ไออาร์ไอมีสต๊าฟน้อยลงถึง
60,000 คน แต่ก็ยังรั้งตำแหน่งบริษัทที่มีพนักงานมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
รองจากเจเนอรัล มอเตอร์ของอเมริกาอยู่ดี
พนักงานระดับบริหารที่จะร่วมงานกับผมได้ต้องยอมเดินตามนโยบายที่ผมวางไว้
ไม่งั้นก็ต้องลาออกเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน กรณีนี้มีถึง 70%
ของผู้บริหารทั้งหมดที่ไม่ได้มาตรฐานของผม จากนั้นผมก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในหมู่นักการเมืองอิตาเลียน
เมื่อเริ่มมาตรการแบ่งขายสินทรัพย์ของไออาร์ไอ และเป็นช่วงที่ยุโรปทั้งทวีปกำลังเห่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจพอดี
มาถึงตอนนี้ เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปีของไออาร์ไอสิ้นสุดลงก็เห็นผลทันตา
เมื่อกิจการก้าวสู่จุดคุ้มทุน โดยไออาร์ไอ ทำยอดขายรวมปี 1986 ราว 47,600,000
ล้านลีร์ เทียบกับ 32,900,000 ล้านลีร์ในปี 1982 ทำให้ติดอันดับบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ
14 ของโลก และติดอันดับ 3 ในบรรดาบริษัทที่ไม่ใช่อเมริกัน นอกจากนี้ ภาระหนี้ที่เคยสูงถึง
16% ของยอดขายรวมเมื่อปี 1982 ก็ยังสามารถลดลงครึ่งหนึ่งในปัจจุบัน ที่สำคัญสถานการณ์ทุกอย่างกำลังกระเตื้องขึ้นเรื่อย
ๆ
ไอออาร์ไอทุกวันนี้ยังความเป็นองค์กรซับซ้อนที่มีลักษณะเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีอยู่ตรงศูนย์กลาง
แล้วควบคุมแบงก์ต่าง ๆ อาทิ แบงก้า คอมเมอร์เชียลี่ อิทาเลียน่า, เครดิโต
อิทาเลียโน, แบงกโก ดิ โรมา, แบงโก เดอ ซานโต สปิริโต, เมดิโอเบงก้า นอกจากนี้
ยังมีกิจการที่ถือหุ้นใหญ่ เช่น ฟินเมคคานิก้า, สเตท, ฟินซิเออร์, อิตัลสตัท,
ฟินแคนทิเอรี่, ฟินมารี่, ฟินซีล และสายการบินอลิทาเลีย ซึ่งถ้ามองในแง่การบริหารแล้ว
ครอบคลุมอุตสาหกรรม 3 แขนงด้วยกัน คือ บริการ, การผลิต และวิศวกรรม
หรือถ้ามองในแง่ความครอบคลุมของบริการที่บริษัทในเครือไออาร์ไอมีอยู่จะเห็นเด่นชัดว่า
"เอสไอพี" คุมด้านโทรคมนาคมของอิตาลี 82%, "อลิทาเลีย"
คุมด้านการจราจรทางอากาศ 91%, "ฟินมารี" คุมการขนส่งทางน้ำ 21%
และ "ออโตส์เทรด" คุมธุรกิจทางหลวง 45%
หรือมองในแง่การผลิตแล้ว "ฟินซิเดอร์" สร้างผลผลิตเหล็กกล้าได้
55% ของทั้งประเทศ, "ฟินเคนทิเอรี่" คุมอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ 70%,
"แอนซัลโด" ป้อนชิ้นส่วนสำหรับโรงไฟฟ้า 60%, "แซเลเนีย"
และ "แอริทาเลีย" คุมด้านอวกาศ 55% : "อิตัลเทล" คุมส่วนแบ่งตลาดสวิทช์ทีแอลซี
50% และ "เอสจีเอส" ครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 98%
ด้านวิศวกรรมมี "แอนซัลโด" ครองส่วนแบ่งตลาดภาคการพลังงาน 65%,
"อิตาลิมปิอันติ" คุมภาคอุตสาหกรรม 25% และกลุ่มบริษัท "อิตัลสตัท"
คุมภาคโครงสร้างพื้นฐานและการป้องกันสภาพแวดล้อม 17%
ยุทธวิธีฟื้นฟูกิจการกลุ่มที่มีการขยายแนวธุรกิจกว้างขวางครอบคลุมขนาดนี้จึงเน้นที่
- ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม
- ปรับโครงสร้างทางการเงิน
- แปรรูปรัฐวิสาหกิจ
- หุ้นส่วน
- สู่ความเป็นสากล
ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม…ปัจจุบันอุตสาหกรรมสำคัญหลายแขนง เช่น อวกาศและวิศวกรรมทีแอลซี
อาทิ กิจการบริษัทแอนซัลโด, แอริทาเลีย, เซเลเนีย, อิตัลเทล ซึ่งเคยขาดทุนในปี
1982 กลับฟื้นตัวขึ้นมามีกำไรแล้ว แม้จะยังมีกิจการที่ขาดทุนหลงเหลืออยู่
แต่ส่วนใหญ่จะกำจัดวงอยู่ในแขนงอุตสาหกรรมที่ประสบภาวะวิกฤตทั่วยุโรป เช่น
เหล็กกล้า ต่อเรือ
เราใช้วิธีเปลี่ยนแปลงการบริหารและต้องเจ็บปวดเพราะการลดจำนวนจ้างงานอย่างหนัก
เราตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ผู้จัดการระดับอาวุโสที่ไม่สามารถทำกำไรให้เข้าเป้าต้องถูกปลดออกแล้วหาคนใหม่มาแทน
ซึ่งมีอยู่ราว 70% ของทั้งหมด แต่วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาได้ราบรื่นพอสมควร ไม่ก่อให้เกิดคดีฟ้องร้องใหญ่โตอะไร
ส่วนหนึ่งเพราะความช่ำชองในการเจรจาต่อรอง และการที่ฝ่ายสหภาพแรงงานมีสัญญาคุมความประพฤติกับเราที่เรียกว่า
PROTOCOLLO IRI ทำให้สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในไออาร์ไอดีกว่าของบริษัทอื่น
เป็นต้นว่า ถ้าเกิดกรณีพิพาททั้งฝ่ายพนักงานและบริหารต้องเข้าพบปะเจรจากันหลายครั้งก่อนที่ฝ่ายสหภาพจะดำเนินการขั้นสไตร๊ค์ได้
ทำให้เราไม่เกิดปัญหาเสียเวลาทำงานเพราะการสไตร๊ค์
ปรับโครงสร้างทางการเงิน…ไออาร์ไอเจอวิกฤตทางการเงินอย่างรุนแรงในปี 1980
โดยเฉพาะสภาพเงินสดหมุนเวียนที่เริ่มฝืดเคืองมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 นั้น
ยิ่งเลวร้ายลงจนเกือบติดลบในช่วงปี 1978 - 1981 เพราะไออาร์ไอขาดแคลนแหล่งเงินทุนภายใน
ในส่วนที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการก็ไม่เพียงพอ จึงต้องดิ้นรนหาแหล่งเงินกู้จากภายนอก
ซึ่งโดยมากอยู่ในรูปเงินสกุลดอลลาร์มูลค่ามหาศาล และจะรีรออีกต่อไปไม่ได้
ต้องใช้มาตรการพื้นฐาน 3 อย่างเข้ามาเยียวยาปรับปรุงฐานะการเงินอย่างเร่งด่วนที่สุด
คือ
1. ขอเงินสนับสนุนก้อนโตจากรัฐบาลและรับเงินนั้นในรูปของการวางแผนฟื้นฟูกิจการที่ทำให้สามารถใช้กระบวนการเพิ่มทุนได้
ปัจจุบันเงินช่วยเหลือในส่วนนี้ลดลงไปมากแล้ว
2. ไออาร์ไอพยายามลดยอดหนี้ลงตามเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย และหันมาพึ่งแหล่งเงินในประเทศมากกว่าต่างประเทศ
3. หาแหล่งเงินเข้ามาอีกทางหนึ่งด้วยการขายกิจการในเครือที่ไม่ถือว่าอยู่ในยุทธวิธีหลักของไออาร์ไอ
รวมทั้งการออกหุ้นของบริษัทในเครือขายในตลาดหลักทรัพย์เพราะหวังว่า นักลงทุนจะสนใจ
แปรรูปรัฐวิสาหกิจ…ในที่นี้การขายบริษัทในเครือออกไปก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั่นเอง
เรามีหลักพิจารณาว่า กิจการที่ต้องขายทิ้งต้องอยู่ใน 3 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกเป็นกิจการที่ทำแล้วแทบไม่คุ้มทุน
แถมยังไม่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ต้องขายทิ้งต้องอยู่ใน 3 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกเป็นกิจการที่ทำแล้วแทบไม่คุ้มทุนแถมยังไม่เกี่ยวข้องกับกิจการในเครือเดียวกัน
และไม่อยู่ในข่ายแผนงานสำคัญของไออาร์ไอ
ประเภทที่สอง เป็นบริษัทที่ประสบปัญหาขาดทุน แต่ยังสามารถฟื้นฟูใหม่ได้
ถ้าขายให้คนอื่นดำเนินงาน
และประเภทสุดท้ายเป็นบริษัทที่มีแววทำกำไรได้ แต่เผอิญดูท่าไปได้ไม่สวยนัก
ถ้าพิจารณาในแง่วัตถุประสงค์ระยะยาวของไออาร์ไอ
ผมจึงตั้งเป้าหมายต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ถ้าต้องการให้ไออาร์ไอฟื้นตัวขึ้นมาก็ควรบริหารในลักษณะของบริษัทเอกชน
เริ่มจากปี 1983 จนถึงปัจจุบัน ไออาร์ไอจึงขยายบริษัทในเครือขนาดต่าง ๆ
ออกไปแล้ว 23 บริษัท นับตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง "อัลฟ่า โรมิโอ"
ไปจนถึงกิจการเล็ก ๆ อย่าง "อัลฟ่า โรมิโอ" ไปจนถึงกิจการเล็ก
ๆ อย่าง "ดูคาติ" หรือแบงก์และบริษัทผู้ผลิตแว่นตาหรือเครื่องซักผ้า
โดยกระบวนการขายกิจการในเครือเริ่มชะลอตัวลงในช่วงปลายปี 1985 แต่มาคึกคักอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม
1986 เมื่อการเมืองสนับสนุนให้ขาย "อัลฟ่า โรมิโอ" อย่างกว้างขวาง
เพราะบริษัทนี้ประสบปัญหากำลังผลิตไม่คงที่ และไม่สามารถทำกำไรมากกว่า 10
ปีแล้ว ในที่สุด ไออาร์ไอจึงตกลงขายบริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตให้เฟียตไปเมื่อ
1 มกราคม 1987 ในราคาประมาณ 1,600,000 ล้านลีร์ และถ้าไม่นับเงินจากการขายอัลฟ่า
โรมิโอ แล้วไออาร์ไอสามารถหาเงินทุนจากการขายกิจการในเครือนับจากปี 1983
เป็นต้นมาราว 1,000,000 ล้านลีร์
จาก 23 บริษัทที่ขายออกไปมีถึง 18 บริษัทรวมทั้งสายการบินอลิทาเลียและองค์การโทรศัพท์เอสไอพีที่กลายเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์มิลาน
ซึ่งปัจจุบันบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าหุ้นคิดเป็น 22% ของทั้งตลาด และคิดเป็น
11% ของจำนวนบริษัทสมาชิกในตลาดทั้งหมด แต่เมื่อดูในแง่เงินปันผลคิดเป็น
35% ของยอดเงินปันผลทั้งตลาด
การที่ไออาร์ไอทำอย่างนี้เพราะมีเป้าหมายหลัก เพื่อกระจายความเป็นเจ้าของบริษัทเหล่านั้นในกรณีที่หุ้นอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวมากเกินไป
ไออาร์ไอมีวิธีออกหุ้นขายในตลาดหลักทรัพย์ 3 วิธีด้วยกัน…วิธีแรก คือ นำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์เป็นสมาชิกรายใหม่
ซึ่งเริ่มเมื่อปี 1985 ที่ฝ่ายบริหารใช้วิธีการนี้ค่อนข้างช้า ทั้ง ๆ ที่รู้สึกว่า
มีบริษัทในเครือมากมายอยู่ในฐานะพร้อมจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะสภาพตลาดหุ้นในประเทศช่วงก่อนหน้านั้นค่อนข้างซบเซาไม่เหมาะกับการเสนอขายหุ้นครั้งแรก
จนกระทั่งถึงกรกฎาคม 1985 สถานการณ์จึงกระเตื้องขึ้นและเหมาะกับการนำบริษัทในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์
5 บริษัทด้วยกัน คือ บริษัทโทรคมนาคม "เซอร์ติ", บริษัทวิจัยด้านอวกาศ
"แอริทาเลีย", สถาบันการเงิน "เครดิโต โฟเนียริโอ",
บริษัทสร้างทางหลวง "ออโตส์เทรด" และบริษัทวิศวกรรมจักรกล "แอนซัลโด
ทราสปอร์ติ"
วิธีที่สอง ด้วยการออกหุ้นเพิ่มในกิจการที่เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว
คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100,000 ล้านลีร์ในปี 1985 และเพิ่มอีกกว่า 800,000
ล้านลีร์ในปีถัดมา โดยเน้นขายที่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นของ
"แบงก้า คอมเมอร์เชียลี่ อิทาเลียน่า" มูลค่า 230,000 ล้านลีร์
และ "สเตท" มูลค่า 180,000 ล้านลีร์ ที่เสนอขายกับตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศเมื่อปี
1985
การทำตามวิธีการที่สองนี้ ทำให้ลักษณะความเป็นเจ้าของหุ้นของไออาร์ไอ และบริษัทในเครือเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง
โดยเฉพาะในส่วนของกิจการในเครืออย่างเอสไอพี, อิตัลเคเบิ้ล หรือซิเมนเทียร์
ซึ่งไออาร์ไอลดปริมาณการครอบครองหุ้นลงอยู่ที่ระดับให้เพียงพอกับการคงไว้ซึ่งเสียงข้างมากในการตัดสินใจเท่านั้น
นอกเหนือจากนี้แล้วก็ออกหุ้นขายหมด
และวิธีสุดท้ายด้วยการออกพันธบัตรแปลงสภาพได้ และหุ้นกู้พร้อมตราสาร ซึ่งเป็นวิธีออกหุ้นขายแก่มหาชนทางอ้อมคิดเป็นมูลค่า
600,000 ล้านลีร์
จากข้อมูลง่าย ๆ พวกนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นธรรมชาติของหุ้นไออาร์ไออย่างเด่นชัดว่า
ไม่ได้เป็นประเภทน่าซื้อไว้เก็งกำไร เพราะไม่มีวันราคาพุ่งปรู๊ดปร๊าดเด็ดขาด
แต่ที่ประสบความสำเร็จในหมู่นักลงทุน เพราะผลประโยชน์ระยะยาวที่พวกนี้เชื่อมั่นว่า
ต้องได้เงินปันผลงานแน่ ไออาร์ไอจึงทำเงินจากการขายหุ้นกิจการในเครือได้กว่า
4,400,000 ล้านลีร์ และยังสามาถคุมอำนาจการบริหารในทุกบริษัทด้วย
หุ้นส่วน…ตัวผมเองรู้สึกวิตกเรื่องการแข่งขันทั่วโลกที่อยู่ในสภาพเข้มข้นมาก
โดยเฉพาะในธุรกิจด้านไฮ-เทค ผมจึงบรรจุหนทางแก้ปัญหาที่ว่านี้ลงอยู่ในส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูกิจการด้วย
โดยใช้วิธีแสวงหาและเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือเข้าร่วมทุนในธุรกิจเหล่านี้ เพื่อให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการจะเข้าตลาดหรือรักษาตลาดที่มีอยู่เดิมเอาไว้
ตัวอย่างน่าสนใจในกรณี คือ บริษัท "SEIAF" ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างไอบีเอ็ม
- เอลเอสเอจี เพื่อผลิตอุปกรณ์อัตโนมัติสำหรับใช้ในโรงงานและในสายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์
จากนโยบายหาหุ้นส่วนนี้เองที่นำมาสู่ยุทธวิธีด้านการขอลิขสิทธิ์ โครงการร่วมทุนและการรับเหมาช่วงโดยแอริทาเลียเข้าไปร่วมมือกับบริษัทผลิตเครื่องบินอเมริกัน
คือ ทั้งแม็คดอนเนล ดักกลาส และโบอิ้ง ขณะที่บริษัทในเครือของสเตท ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีด้านโทรคมนาคมของไออาร์ไอก็มีโครงการร่วมทุนผลิตอุปกรณ์อัตโนมัติสำหรับใช้ในโรงงานกับ
"ยักษ์สีฟ้า" ไอบีเอ็ม
ธันวาคม 1986 เอสจีเอสผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ของไออาร์ไอ และทอมสันยักษ์ใหญ่แห่งฝรั่งเศสตกลงในโครงการร่วมทุนมูลค่า
500,000 ล้านลีร์ผลิตหน่วยความจำประสิทธิภาพสูง และยังมีโครงการผนวกอิตัลเทลผู้ผลิตโทรศัพท์และอุปกรณ์โทรคมนาคมอันดับ
1 ของอิตาลีกับเทเลตตร้า บริษัทในเครือเฟียต ซึ่งมีกิจการในแขนงเดียวกัน
เป็นโครงการที่อยู่ในระหว่างพิจารณา และถ้าทุกอย่างตกลงด้วยดีจะได้บริษัทใหม่
ชื่อ "เทลิท" ซึ่งจะได้ชื่อว่า ยักษ์ใหญ่ในวงการผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยุโรปรายหนึ่ง
สู่ความเป็นสากล…เป็นหนึ่งในยุทธวิธีฟื้นฟูกิจการของไออาร์ไอ เห็นได้จากปี
1985 ที่ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 26% ของยอดขายทั้งหมด แต่มีข้อน่าสังเกตอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงของทำเลตลาดที่รองรับสินค้าไออาร์ไอ
จากปี 1981 ที่ 50% ของสินค้าส่งออกไปลงแถบประเทศกำลังพัฒนา และอีก 42% สู่ประเทศพัฒนาแล้ว
พอถึงปี 1985 ยอดส่งออกกลับพลิกผันสู่ประเทศพัฒนา 54% ขณะที่การส่งออกสู่ประเทศกำลังพัฒนาลดลงเหลือเพียง
35% ของทั้งหมด เฉพาะในตลาดแถบยุดรปตะวันออกและจีนสามารถเพิ่มยอดส่งออกรวมกันจาก
8% เป็น 11%
ซึ่งระดับการก้าวสู่ความเป็นสากลอย่างที่ไออาร์ไอเป็นอยู่ทุกวันนี้สามารถสรุปได้จาก
- ถ้านำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหมดมาพิจารณาด้วย (ยกเว้นเครือข่ายโทรศัพท์และทางหลวงแห่งชาติ)
ไออาร์ไอจะทำรายได้จากต่างประเทศราว 40% ของยอดขายทั้งหมด
- รายได้เหล่านี้มาจาก 120 บริษัทในเครือ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในอิตาลี โดยทำยอดส่งออกราว
10,000,000 ล้านลีร์และจาก 90 บริษัทที่มีสำนักงานในต่างประเทศ ซึ่งทำยอดขาย
2,000,000 ล้านลีร์
- ไออาร์ไอเข้าไปถือหุ้นส่วนน้อยใน 30 บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ
จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศจะสำคัญกับไออาร์ไอขนาดไหน
และเราก็ทำงานกันอย่างหนักเพื่อความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราตระหนักดีว่า
โดยขนาดของบริษัทเพื่อการผลิตในเครือไออาร์ไอเท่าที่เป็นอยู่นั้น ไม่อาจอยู่รอดหรือพัฒนาขึ้นมาได้ยกเว้นแต่จะมีขนาดและความซับซ้อนเท่าบริษัทคู่แข่ง
และเมื่อนั้นถึงจะสามารถเข้าไปสร้างส่วนแบ่งตลาดที่สูสีได้
เราจึงมีงานใหญ่รอให้สะสาง เป็นต้นว่าแม้โครงการผนวกกิจการอิตัลเทลกับเทเลตตร้าจะสำเร็จลง
ไออาร์ไอก็ยังได้ชื่อว่า "กระจอก" ในธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างประเทศอยู่ดี
เช่นเดียวกับที่เอาเอสจีเอสไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์อย่างอเมริกัน
ยุโรป หรือญี่ปุ่น ก็เหมือนมวยคนละรุ่นยังไงยังงั้น
แม้ว่ายักษ์ใหญ่ไออาร์ไอซึ่งถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปบางส่วนแล้วจะแข็งแกร่งและมีอิสระมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด
แต่ก็ยังไม่วายถูกมรสุมการเมืองกระหน่ำอยู่ดี เพราะยังมีนักการเมืองอิตาเลียนอีกมากที่ยังหัวชนฝาอยากให้ออาร์ไอเป็นรัฐวิสาหกิจในความควบคุมของรัฐ
100%
การเามืองจึงเข้าไปมีผลกระทบต่อยอดขายของบางบริษัทในเครือไออาร์ไอ อาทิ
เมื่อครั้งรัฐบาลไม่อนุมัติให้ขายบริษัท เอสเอ็มอีให้ "เดอ เบเนเด็ตตี้"
จอมอิทธิพลแห่งยักษ์คอมพิวเตอร์โอลิเว็ตตี้ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีแคร็กซี่ของอิตาลี
อยากขายให้คนอื่นที่สนับสนุนพรรคโซเชียลิสต์ของเขามากกว่า
แม้ว่าความพยายามของเราที่มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับโครงการบริหารไออาร์ไอเหมือนบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
จะพบแต่อุปสรรคและความยุ่งยากมาตลอด แต่ทุกคนก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผลประกอบการของไออาร์ไอในช่วงนี้ดีขึ้นผิดตา
และเราเชื่อว่า ความสำเร็จต้องยืนอยู่ข้างเรามากกว่านี้ด้วย เพราะแม้แต่ธนาคารโลกยังร่วมมือกับการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้เต็มที
ด้วยการหยิบยกกรณีของไออาร์ไอให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่พยายามกู้สถานภาพรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนป่นปี้
มันจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เรากำหนดอนาคตของไออาร์ไอที่ได้รับการวางรากฐานมาแล้วเมื่อ
3 ปีก่อน จนถึงเดี๋ยวนี้ อนาคตของไออาร์ไอยิ่งเด่นชัดขึ้น ว่าต้องพัฒนาไปใน
3 แนวทาง คือ พัฒนาในแง่เครือข่ายขนาดใหญ่ วิศวกรรม และการผลิตด้วยระบบไฮ-เทค
เรามีตัวอย่างเป็นตุ๊กตาให้เห็นกันจะจะถึงพันธะสัญญาที่รร่วมกันกำหนดขึ้น
อาทิ ในอีก 4 ปีข้างหน้า "แอนซัลโด" ต้องมีอัตราการเติบโตปีละ
13% หรือในด้านไฮ-เทค ก็ตั้งเป้าให้บริษัทวิจัยอวกาศอย่าง "แอริทาเลีย"
และ "เซเลเนีย" ขยายตัว 20% ต่อปี และ "เอสจีเอส" ที่เน้นไมโครอิเล็กทรอนิกส์
หรือ "อิตัลเทล" ซึ่งเน้นการผลิตสวิทช์ควรขยายตัวปีละ 14%
หรือถ้าจะมองในแง่การเน้นให้ความสำคัญกับกิจกรรมของบริษัทในเครือแล้ว จะเห็นว่า
ในปี 1981 ไออาร์ไอให้ความสำคัญด้านไฮ-เทคเพียง 28% เทียบกับ 52% ในปี 1985
และปัจจุบันไออาร์ไอยังมีโครงการกระโจนสู่อุตสาหกรรมผลิตวัสดุที่ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่
ๆ ด้วย
ปี 1986 บริษัทในเครือไออาร์ไอทุ่มงบกว่า 1,400,000 ล้านลีร์ให้กับงานวิจัยและพัฒนา
(สูงกว่าปี 1985 ราว 20%) และแม้จะเพิ่มการจ้างงานในส่วนนี้ราว 12,000 คน
แต่เมื่อเทียบกับสภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่ทั้งเข้มข้นดุเดือดแล้ว ต้องถือว่ากำลังคนขนาดนี้ยังจิ๊บจ๊อยมาก
ข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เราต้องหวนกลับไปหากลยุทธ์ "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ"
อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ในแง่มุมใหม่ คือ ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศสูงมาก
เพราะเรารู้สึกว่า คงก้าวไปข้างหน้าพร้อมประสบความสำเร็จสวยหรูในอนาคตอันใกล้นี้ไม่ได้แน่
ถ้าเรายังเก็บตัวและขังตัวเองอยู่แต่ในโลกแคบ ๆ อย่างนี้
ขณะเดียวกัน เราก็เห็นอุปสรรคสำคัญขวางกั้นอยู่ข้างหน้าด้วย อย่างแรกคือปัญหาคนว่างงาน
แม้ที่เป็นอยู่จะสูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศยุโรปอื่น ๆ ไม่มากนัก แต่ปัญหาของอิตาลีหนักหน่วงตรงคนว่างงาน
โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวจะเทไปทางตอนใต้ของประเทศเป็นส่วนใหญ่
อย่างที่สอง เป็นปัญหาที่เกิดจากภาคใต้ของประเทศทั้งแถบ ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการใหม่
ๆ หลายอย่างเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้บริเวณนี้ให้ได้ รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่าง
ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาความเป็นอุตสาหกรรม การประกอบการ ท่องเที่ยว และการศึกษา
จึงเป็นความท้าทายและโอกาสให้บริษัทในเครือไออาร์ไอหลายแห่งที่มีกิจการตรงกับที่รัฐสนับสนุน
และจุดบอดประการสำคัญอยู่ที่ตัวรัฐบาลเอง ซึ่งยังมีปัญหาขาดดุลงบประมาณมหาศาล
ต้องดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐบาลกันอุตลุด
จะอย่างไรก็แล้วแต่ เรายังเชื่อมั่นว่า ต้องสามารถพัฒนาความก้าวหน้าต่อไปได้
เพราะความแข็งแกร่งภายในผนวกกับบรรยากาศทางเศรษฐกิจของประเทศเองก็เริ่มกระเตื้องขึ้นโดยทั่วไป
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อมั่นในอนาคตของไออาร์ไอเอามาก ๆ เพราะ
- อิตาลีสามารถวบคุมปัญหาร้ายแรงจากลัทธิก่อการร้ายได้แล้ว
- อิตาลีลดปัญหาเงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ระดับควบคุมได้
- ปัญหาแรงงานที่เคยหนักหน่วงก็บรรเทาเบาบางลง เห็นได้จากจำนวนชั่วโมงสไตร๊ค์โดยเฉลี่ยของคนงานแต่ละคนลดลงเหลือแค่
1 ใน 4 ของปี 1982
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างสกุลลีร์ของอิตาลีกับเงินยุโรปสกุลอื่น
ๆ อยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว
- นับจากปี 1985 เป็นต้นมา ตลาดเงินทั้งประเทศของอิตาลีมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างมาก
หรือถ้าจะพูดให้ครอบคลุมแล้ว ผมเชื่อมั่นทั้งอนาคตของไออาร์ไอและประเทศอิตาลี
และเห็นว่าบริษัทในเครือจะสามารถขยายกิจการ รวมทั้งพัฒนาความก้าวหน้าก็ด้วยการขยายขอบข่ายในระดับระหว่างประเทศ
ซึ่งเท่าที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในอิตาลีเสมอ เห็นได้จากปี
1985 ที่มีต่างชาติเข้าลงทุนในกิจการอิตาเลียนกว่า 1,200 บริษัท ทำให้มียอดจ้างงาน
500,000 คน และทำยอดขายราว 72,000,00 ล้านลีร์ หรือเกือบ 7% ของยอดขายทั้งประเทศ
จึงไม่น่าแปลกที่สื่อมวลชนระหว่างประเทศจะหยิบยกเอา "ความมหัศจรรย์"
ของอิตาลีขึ้นมาตีแผ่ให้ทั่วโลกรับรู้ โดยเฉพาะในแง่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้ว
เรามองแค่ว่า มันเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อยุติแห่งการแก้ปัญหาแน่
และเรื่องราวของไออาร์ไอนี้ คงเป็นข้อพิสูจน์ถึงกำลังใจของคนอิตาเลียนว่า
แกร่งพอที่จะชุบชีวิตใหม่ให้รัฐวิสาหกิจขนาดมหึมาแต่งุ่มง่ามและเน่าเฟะนี้ได้
!