Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2532
NON-LIFE ธุรกิจค้าความเสี่ยงที่บริหารแบบ "บอนไซ"             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 

 
Charts & Figures

ตารางการจัดอันดับบริษัทประกันวินาศภัยไทย


   
www resources

โฮมเพจ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) - ทีพีไอ

   
search resources

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย, บมจ.
Insurance




"ตลาดประกันภัยทุกวันนี้ถูกมองว่าเป็นตลาดทอง เพราะไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนของอุตสาหกรรมหลายประเภทคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท แต่ในจำนวนโครงการยักษ์ที่ผุดขึ้นมากมาย อาทิ ปิโตรเคมิคัล จะมีสักกี่โครงการที่ทำประกันกับบริษัทประกันภัยของไทย และเก็บเบี้ยประกันไว้ภายในประเทศ ส่วนมากมักจะส่งต่อโครงการให้กับบริษัทรับประกันต่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้ปีหนึ่ง ๆ ต้องส่งเบี้ยประกันออกไปต่างประเทศหลายพันล้านบาท ทั้งนี้และทั้งนั้นสาเหตุมาจากบริษัทประกันภัยไทยไม่มีความกล้าเสี่ยงมากพอ ชอบแต่จะทำธุรกิจแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ยึดติดกับความคิด และวัฒนธรรมการทำงานที่คับแคบ รักแต่จะกินค่าคอมมิชชั่นไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น !?!"

มีคำถาม ๆ หนึ่งที่มักจะถูกตั้งให้นักธุรกิจประกันภัยตอบอยู่เสมอ ๆ คือ เมื่อไหร่ธุรกิจประกันภัยไทยจะเติบโตเทียบเท่ากับของต่างประเทศ ซึ่งนั่นหมายความว่า จะต้องโตกว่าธนาคารเพราะบริษัทประกันภัยในต่างประเทศนั้น ถือเป็นแหล่งเงินกู้ที่มั่นคงของธนาคาร

คำถามประเภทนี้ เป็นคำถามที่ชวนยอกแสยงใจของนักธุรกิจประกันภัยไทย เพราะทุกคนล้วนแต่ตระหนักแก่ใจดีว่า กิจการธนาคารนั้นเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ เป็นกิจการเก่าแก่และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ เป็นกิจการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิต แต่โดยตัวมันเองแล้วไม่ได้ทำการผลิตแต่อย่างใด

ส่วนกิจกาประกันภัยก็คล้าย ๆ กับธนาคาร หากแต่มีพัฒนาการการเติบโตที่ด้อยกว่าในทุก ๆ ด้าน ถึงกระนั้นเมื่อพิจารณาโดยตัวของมันเองแล้ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดด้านการประกันภัยอุตสาหกรรมขยายใหญ่มากผู้คร่ำหวอดกับวงการมานานถึงกับกล่าวว่า "เป็นไปได้ที่ตลาดด้านอุตสาหกรรมประกันภัยจะโตแซงหน้าสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย"

แต่ประกันวินาศภัย (นอน-ไลฟ์) คงจะโตแซงแบงก์ยาก ประกันภัย (ไลฟ์) อาจจะแซงได้ ถ้าให้เวลาเขาสัก 10 ปีมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ โอกาสที่ไลฟ์จะแซงมีมาก เพราะเบี้ยประกัยเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกปี แต่ประกันวินาศภัยนี่โอกาสแซงได้ยาก เพราะเก็บเบี้ยประกันปีต่อปีเท่านั้น คงต้องใช้เวลานานหน่อย แต่อนาคตอุตสาหกรรมประกันภัยเราดีมาก"

ความเป็น "ตลาดทอง" ของธุรกิจประกันภัยไทยนั้น ดูได้จากปริมาณเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เห็นอย่างเด่นชัดว่า ล้ำหน้าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนได้เป็นปัจจัยดึงดูดให้นักธุรกิจเข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในโครงการใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ด ปิโตรเคมีแห่งชาติ ท่าเรือน้ำลึก คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ออฟฟิศบิลดิ้ง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นการขยายตลาดของธุรกิจประกันภัยให้กว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ขณะที่ตลาดประกันภัยขยายมากถึงเพียงนี้ แต่ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยที่เก่าแก่แห่งหนึ่งอย่างบัวหลวงประกันภัยประสบภาวะหนี้สินล้นพ้น มีเงินกองทุนติดลบ จนในที่สุดสำนักงานประกันภัยต้องถอนใบอนุญาตแล้วเปลี่ยนมือให้ผู้อื่นเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาและดำเนินการแทน

เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งสวนทางกับการขยายตัวของตลาดอย่างสิ้นเชิง !

สาเหตุที่ทำให้บริษัทบัวหลวงประกันภัยจำกัด ต้องถูกลบชื่อออกจากวงการประกันภัยไทยมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด และหากขุดให้ลึกเข้าไปอีกก็จะพบว่า ผู้บริหารเหล่านี้มีความคิดและวัฒนธรรมการทำงานที่คับแคบเลือกทำธุรกิจแต่เฉพาะที่ง่าย ๆ จ้องแต่จะรับเบี้ยประกัน โดยเฉพาะในส่วนแบ่งตลาดด้านประกันรถยนต์

แม้แต่ในส่วนแบ่งตลาดด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัยและเบ็ดเตล็ด บริษัทประกันภัยไทยส่วนใหญ่ ก็ยังเลือกที่จะใช้วิธีกินค่าคอมมิชชั่นจากการส่งภัยไปให้บริษัทรับประกันต่อต่างประเทศเป็นผู้รับช่วงต่อและเก็บเบี้ยประกัน แม้นี่จะเป็นวิธีหนึ่งในการทำประกันและช่วยลดอัตราเสี่ยงของบริษัทประกันภัย แต่วิธีการนี้ไม่ได้เป็นผลดีแก่ธุรกิจประกันภัยโดยรวม เพราะจะทำให้ธุรกิจประกันภัยไทยเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น และยังเป็นข้อจำกัดที่ทำให้บริษัทประกันภัยไทยไม่สามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดประกันภัยที่ขยายตัวอย่างมโหฬารในปัจจุบัน

นอกเหนือจากสไตล์การบริหารเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว บริษัทประกันภัยโดยส่วนมากของไทยยังมีปัญหาในเรื่องเงินทุนจดทะเบียนและเงินกองทุนที่มีจำนวนน้อย ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรับภัยปัญหาเรื่องการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในด้านวิศวกรรมและการรับประกัน (UNDERWRITE) อีกทั้งความคิด (MENTALITY) ของบรรดาผู้บริหารธุรกิจประกันภัยทั้งภาครัฐและเอกชน ยังคงยึดติดอยู่กับความเคยชินเก่า ๆ "ไม่กล้าเสี่ยง" ทั้งที่แก่นแท้ของธุรกิจประกันภัย คือ การกล้าเข้าไปรับความเสี่ยงภัยแทนลูกค้า !

ความโชติช่วงชัชวาลของเศรษฐกิจไทยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับความรุ่งโรจน์ในอีกหลายปีข้างหน้า นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่วงการประกันภัยไทย การแห่แหนกันลงทุนในโครงการต่าง ๆ ถือเป็นการขยายตลาดให้แก่ธุรกิจประกันภัยไทย

โครงการลงทุนที่น่าสนใจและถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ของธุรกิจประกันภัย ได้แก่ โครงการปิโตรเคมี (เอ็นพีซี 1 และ 2) อีสเทิร์นซีบอร์ด คอนโดมิเนียม ออฟฟิศบิลดิ้ง โรงแรม ฯลฯ ทั้งนี้มูลค่าการก่อสร้างของแต่ละโครงการเป็นวงเงินตั้งแต่สิบล้านบาทถึงหมื่นล้านบาท

โรงแรม คอนโดมิเนียม และออฟฟิศบิลดิ้ง ในวงการประกันภัยถือว่าเป็นภัยที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งและระบบความปลอดภัยด้วย ส่วนโครงการปิโตรเคมี อีสเทิร์นซีบอร์ด และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อนนั้น ถือเป็นภัยที่มีความเสี่ยงมากกว่า ต้องอาศัยความรู้เแพาะในการรับประกันภัยแต่ละโครงการ และกรมธรรม์ที่ใช้ในการประกันภัยประเภทนี้ คือ กรมธรรม์แบบ ALL RISHKS

สำหรับโครงการปิโตรเคมี 1 ที่กำลังก่อรูปร่างและมีโรงปิโตรเคมีหลายโรงที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เปิดดำเนินการผลิตได้ในปีนี้นั้น ปรากฏว่าได้เริ่มเปิดให้บริษัทประกันภัยและนายหน้าประกันภัยหลายรายยื่นข้อเสนอประกันภัย (PROPOSAL) แล้ว เช่น นิวแฮมเชอร์ กรุงเทพประกันภัย ทิพยประกันภัย เทเวศประกันภัย

คาดว่า เมื่อขั้นตอนการเสนอประกันภัยผ่านการพิจารณาเรียบร้อยและเปิดให้มีการประมูลแล้ว โครงการนี้ต้องได้รับความสนใจจากคนหลายวงการเป็นแน่

พิชัย จุฬาโรจน์มนตรี กรรมการผู้จัดการบริษัทนิวแฮมเชอร์อินชัวรันซ์ จำกัด เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "นิวแฮมเชอร์ก็มีส่วนเข้าไปรับเอ็นพีซี 1 ด้วย เนื่องจากนิวแฮมเชอร์และเอไอจีเป็นบริษัทใหญ่อันหนึ่งในระดับโลกที่มีความสามารถในการรับภัยปิโตรเคมีนี่มากพอสมควร บางโครงการเราอาจจะเป็นดีล บางโครงการอาจจะไม่ใช่ เข้าใจว่าในระดับต้น ๆ นี่อาจจะเป็น 5-10% ซึ่งก็นับว่ามากทีเดียว เพราะบางโครงการนั้นมีทุนประกันเป็นหมื่นล้านบาท"

โครงการที่พิชัยกล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ โรงโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นโรงสำคัญในปิโตรเคมีขั้นต้น นอกจากนี้ก็มีโรงกลั่นน้ำมันดิบโรงแยกก๊าซ ส่วนในเอ็นพีซี 2 นั้น เป็นโรงอะโรแมติกส์ คือ ปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่องซึ่งจะมีอยู่หลายโรง ทำการผลิตเม็ดพลาสติกประเภทต่าง ๆ และยังมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือ คลังเก็บผลิตภัณฑ์ คลังเก็บวัตถุดิบ และโรงแยกอากาศอีกด้วย

นอกจากนิวแฮมเชอร์ที่ทำข้อเสนอประกันภัยให้โครงการเอ็นพีซี 1 แล้ว ยังมีเทเวศประกันภัย ซึ่งกำลังศึกษาข้อมูล เพื่อเสนอการประกันภัยโครงการนี้ด้วยเช่นกัน มนตรี มงคลสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการเทเวศฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า บริษัทได้ส่ง ธีรพงษ์ พณิชย์วงศ์การ ผู้จัดการฝ่ายประกันเบ็ดเตล็ด ไปศึกษาข้อมูลและติดต่อกับบริษัทรับประกันต่อในต่างประเทศ ทั้งที่ลอนดอนและสหรัฐฯ

เทเวศฯ เพิ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในส่วนแบ่งการตลาดประกันวินาศภัยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นับแต่มนตรีข้าราชการชั้นพิเศษแห่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกขอให้มารับงานบริหารที่นี่เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง

หลังจากนั้นเรื่อยมา เทเวศฯ ซึ่งมีสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็เริ่มเข้ามาร่วมประมูลการประกันภัยโครงการใหญ่ ๆ ผลงานที่สร้างความฮือฮาให้แก่วงการ คือ กรณีเครื่องบินเอฟ 16 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ประกันการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ซึ่งมนตรีเป็นกรรมการบริหารคนหนึ่งในบอร์ดบริหารเอราวัณ

ต่อจากนี้ไป มนตรีได้ประกาศนโยบายออกมาอย่างเด่นชัดว่า เทเวศฯ มีเป้าหมายที่จะรับประกันโครงการใหญ่ ๆ ที่มีทุนประกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากเอ็นพีซี 1 แล้วยังจะมีโครงการทางด่วนขนานคลองประปาตามมาอีก

ในส่วนของนิวแฮมเชอร์นั้น อาศัยที่เป็นบริษัทในเครือของเอไอจีซึ่งมีเครดิตเป็นที่เชื่อถือทั่วโลก ประกอบกับพิชัยก็เป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการมาเป็นเวลานาน ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้บริหารระดับนำในวงการ ดังนั้น แม้นิวแฮมเชอร์จะไม่อาจเปรียบกับเทเวศฯ ได้ในบางแง่ แต่ในแง่มุมอื่น นิวแฮมเชอร์ก็มีข้อได้เปรียบกว่า

ตัวอย่างเช่น มีขีดความสามารถที่จะรับประกันโครงการที่มีทุนประกันสูง ๆ ได้ โดยอาศัยการส่งประกันต่อไปให้บริษัทรับประกันต่อในเครือ มีช่องทางศึกษาลู่ทางการตลาดประกันภัยในระดับสากล มีโอกาสที่จะพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญการประกันภัยที่ซับซ้อนจากบริษัทในเครือ เป็นต้น ซึ่งโอกาสเหล่านี้มีอยู่น้อยมากในบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ในไทย

อย่างไรก็ดี ในส่วนของโรงอะโรแมติกส์นั้น บริษัทประกันภัยอื่น ๆ คงมีส่วนร่วมได้บ้าง เพราะเป็นโรงของเอกชนโดยตรง อย่างโรงของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) ซึ่งเปิดดำเนินการผลิตมาเป็นเวลานานแล้วนั้น ก็ได้ทำประกันไว้กับบริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (บียูไอ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และเชื่อได้ว่า ลักษณะเช่นนี้จะปรากฏให้เห็นในการประกันโรงอื่น ๆ ด้วยเป็นแน่

พิชัยให้ความเห็นเกี่ยวกับการประกันโครงการปิโตรเคมีว่า "บริษัทที่มีความสามารถในการรับภัยปิโตรเคมีในเมืองไทยมีอยู่ไม่เกิน 10 บริษัทที่เป็นท้อปเทน ส่วนบริษัทเล็ก ๆ นี่ ส่วนมากใน TREATY เขาจะเขียน EXCLUSION ภัยพวกนี้เป็นภัยอันตราย เขาจะไม่ให้รับ"

แต่ใช่ว่า 10 บริษัทท้อปเทนจะสามารถเข้าไปแข่งขันการประมูลโครงการปิโตรเคมีได้อย่างเสรี ทั้งนี้นักธุรกิจประกันภัยชั้นนำต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประมูลโครงการใหญ่ ๆ นั้น ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปได้ง่าย ๆ มันขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ (CONNECTION)

นายกหญิงแห่งสมาคมประกันวินาศภัย และกรรมการผู้จัดการบียูไอ มาลินี เลี่ยวไพรัตน์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เอ็นพีซี 1 นั้น คุณก็รู้ว่า บริษัทที่ได้รับประกันในโครงการนี้เป็นบริษัทที่ "เส้นแข็งปั๋ง" ทั้งนั้น มันไม่ใช่งานประกันภัยทั่วไป มันเป็นงานที่เดินด้วยเส้น เป็นการเลือกเอง ไม่ใช่การประมูล"

ส่วนสุรินทร์ ตันติสุวรรณากุล กรรมการผู้จัดการบริษัทซิกน่า ปรอปเปอร์ตี้ แอนด์ แคสชวลตี้ อินชัวรันซ์ จำกัด กล่าวว่า "บริษัทที่ไม่มี LINK หรือ CONNECTION ก็ไม่มีโอกาส ทุกวันนี้ บริษัทประกันภัยในเมืองไทยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมากกว่า ไม่ได้ขึ้นกับคนเก่ง ไม่เหมือนต่างประเทศ ซึ่งหากมีโครงการใหญ่ ๆ จะต้องมีการแต่งตั้งบริษัทนายหน้าที่เขาเชื่อถือและนายหน้าคนนั้นก็เอาประกันภัยไปให้เขาเลือก"

เมื่อธุรกิจประกันภัยไทยมีพื้นฐานและพัฒนาการหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ที่เป็นฝ่ายร่างกรมธรรม์ และกำหนดอัตราเบี้ยประกันจึงไม่ใช่นายหน้าประกันภัย (BROKERAGE HOUSE) ดังที่ทำอยู่ในต่างประเทศ แต่กลับเป็นบริษัทประกันภัยและสำนักงานประกันภัย

บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้ร่างกรมธรรม์และกำหนดอัตราเบี้ยประกัน เสนอให้สำนักงานฯ อนุมัติ และสำนักงานฯ ก็มีนโยบายในการอนุมัติกรมธรรม์ต่าง ๆ 2 ประการ คือ

1) กรมธรรม์ที่เป็น DAY TO DAY หรือ COMMON LAYMAN เกี่ยวกับการปฏิบัติกันทั่วไป เช่น กรมธรรม์รถยนต์ กรมธรรม์อุบัติเหตุ ฯลฯ ต้องมีการแปลเป็นภาษาไทย และใช้เวลาตรวจสอบนาน 6 เดือน จึงจะอนุมัติ

2) กรมธรรม์ที่เป็นกรณีพิเศษ คือ เขียนขึ้นเฉพาะราย ไม่เหมือนกัน หรือที่เรียกว่า TAILOR MADE เช่น กรมธรรม์ของการปิโตรเลียม กรมธรรม์ปิโตรเคมี ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทย และใช้เวลาอนุมัติเร็วมาก
3)
กรมธรรม์ประเภท 2 ที่ใช้อยู่ในเมืองไทย คือ กรมธรรม์ประเภท ALL RISK ซึ่งใช้กับภัยพิเศษทั้งหลาย รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างกรณีการประกันเครื่องบินเอฟ 16 ของเทเวศประกันภัย ก็ใช้กรมธรรม์ประเภทนี้ โดยทำเรื่องเสนอตอนเช้าและสำนักงานฯ อนุมัติให้เสร้จภายในวันเดียวกันเวลาเย็น

สำหรับกรมธรรม์ปิโตรเคมีนั้น แน่นอนว่าต้องเป็นกรมธรรม์พิเศษแบบ SPECIAL ALL RISKS ซึ่งบริษัทประกันภัยไทยยังไม่มีความเชี่ยวชาญโครงการปิโตรเคมีที่มีการประกันภัยเป็นโครงการแรก คือ ของทีพีไอก็ยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากตลาดลอนดอนเป็นผู้ร่างกรมธรรม์โดยผ่านบริษัทนายหน้าประกันภัยเก่าแก่ที่ชื่อ ฮีทฮิวดิก แลงเวล (ประเทศไทย) จำกัด

พิชัย เปิดเผยถึงที่มาของกรมธรรม์ปิโตรเคมีว่า จำเป็นที่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากเมืองนอก "แน่นอนต้องก็อปปี้มาจากเมืองนอก เพราะประเทศเขาพัฒนามาก่อนเรา ส่วนมากเราก็อปปี้มาจากอังกฤษมีซินดิเคทอันหนึ่งในลอยด์ที่เก่ามากและเชี่ยวชาญจากเมืองนอก "แน่นอนต้องก็อปปี้มาจากเมืองนอก เพราะประเทศเขาพัฒนามาก่อนเรา ส่วนมากเราก็อปปี้มาจากอังกฤษมีซินดิเคทอันหนึ่งในลอยด์ที่เก่ามากและเชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมี เป็นออยล์พูล ดูเหมือนจะชื่อปิโตรเลียม คัมปานี ลิมิเตด"

กรมธรรม์ประกันภัยโดยทั่วไปก็มีพื้นฐานมาจากไฟ หรือ "อัคคีภัย" แต่กรมธรรม์ปิโตรเคมีนั้น มีความเสี่ยงภัยที่มากกว่า และนี่แหละคือจุดที่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ เพื่อที่จะดูว่าควรเขียนเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแต่อย่างใด และอย่างใดที่ไม่ให้ความคุ้มครอง เงื่อนไขตัวนี้เองคือเงื่อนไขที่ทำให้กรมธรรม์ปิโตรเคมีแตกต่างจากกรมธรรม์ประกันไฟทั่วไป

แต่การที่จะระบุลงไปว่า กรมธรรม์ปิโตรเคมีต้องมีเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองอย่างไรบ้างนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงซึ่งขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งโรงงาน เงื่อนไขสภาพแวดล้อม แปลนโรงงาน ระบบการป้องกันภัย ฯลฯ

ยกตัวอย่างว่า ในบางประเทศต้องดูเรื่องภัยธรรมชาติเป็นสำคัญ เช่น หากอยู่ในโซนที่มีแผ่นดินไหวบ่อย ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องเขียนให้ความคุ้มครองตัวนี้มาก ๆ "แผ่นดินไหวที่นี่จะทำให้ท่อปิโตรเคมีหักได้ มันจะระเบิดทันที และเรื่องวัตถุที่ใช้ในโรงปิโตรเคมีของแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น มันจึงเป็นลักษณะเฉพาะที่ผู้เอาประกันกับบริษัทประกันภัยต้องเจรจาตกลงกัน โดยอาศัยข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านวิศวกรรมและด้านประกันภัย ?"

กรมธรรม์ประกันภัยประเภท SPECIAL ALL RISKS ที่นำมาใช้เป็นกรมธรรม์ปิโตรเคมีนี้ โดยพื้นฐานก็คือ กรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองในเรื่องไฟทุกประเภท รวมทั้งภัยธรรมชาติอื่น ๆ เช่น แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า พายุ เป็นต้น กรมธรรม์ประเภทนี้ให้ความคุ้มครองที่กว้างมาก เพราะผู้เอาประกันทุกรายต้องการป้องกันอย่างดีที่สุด

โดยเฉพาะเงื่อนไขความคุ้มครองบางอย่างต้องมีการระบุลงไปอย่าชัดเจน เช่น เรื่องการให้ความคุ้มครองเมื่อธุรกิจหยุดชะงัก (BUSINESS INTERRUPTION) โปรดสังเกตว่า ในกรณีของทีพีไอ มีการซื้อความคุ้มครองตัวนี้นานถึง 15 เดือน

ส่วนในเรื่องของการยกเว้นไม่ให้ความคุ้มครองนั้น ได้แก่ เรื่องการจลาจล การก่อการร้าย เป็นต้น กรณีตัวอย่างกรณีแรกของไทย คือ การเกิดไฟไหม้โรงงานไทยแลนด์แทนทาลัมที่ภูเก็ตเมื่อปี 2529 ซึ่งมีบริษัทกรุงเทพกรุงเทพประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันและขณะนี้กำลังเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่ เนื่องจากทางผู้เอาประกันอ้างว่า สาเหตุของเพลิงไหม้มาจากมีผู้ลอบวาง แต่ทางบริษัทประกันอ้างว่ามาจากการจลาจล ซึ่งผู้เอาประกันไม่ได้ซื้อความคุ้มครองไว้ ดังนั้นบริษัทจึงไม่ต้องรับชดใช้ค่าสินไหม

ผู้รู้ในวงการประกันภัย กล่าวว่า คดีนี้คงต้องสืบพยานกันพอสมควร แต่ดูแล้วทางผู้เอาประกันอาจจะเสียเปรียบ เพราะไม่ได้ซื้อความคุ้มครองเรื่องการจลาจลไว้ ซึ่งเป็นเรื่องของศาลจะพิจารณาตัดสิน

แต่กรณีไทยแลนด์ แทนทาลัม คงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับผู้เอาประกันในการเลือกซื้อความคุ้มครอง เพราะเงื่อนไขบางอย่างเป็นเรื่องที่คาดไม่ได้เลย

สำหรับเงื่อนไขความคุ้มครองที่สามารถระบุไปได้อย่างแน่นอนนั้น ก็ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญจากวิศวกร ซึ่งเรื่องนี้ต้องปรึกษาฝ่ายที่เรียกกันว่า ENGINEERING DEPARTMENT หรือฝ่ายวิศวกร

แต่บริษัทประกันภัยในเมืองไทยยังไม่มีการตั้งฝ่ายงานนี้ขึ้นมาอย่างจริงจังที่นิวแฮมเชอร์ ซึ่งรับประกันโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ยอมรับว่า ใช้บริการด้านนี้จากบริษัทในเครือที่สิงคโปร์

วิศวกรที่นิวแฮมเชอร์จ้างมานั้นมาจากบริษัท SINGAPORE INSURANCE CONSULTANT CO., LTD. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ AMERICAN INTERNATIONAL GROUP อันเป็นบริษัทแม่ของนิวแฮมเชอร์

การว่าจ้างจะเป็นครั้งคราวซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายถูกมากกว่าการว่าจ้างประจำ ทั้งนี้เพราะในเมืองไทยมีภัยอยู่ไม่กี่อันที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถของคนพวกนี้ เนื่องจากตลาดยังแคบ

แต่ในอนาคต ก็เป็นของไม่แน่ ถ้าตลาดมันโตพอ นิวแฮมเชอร์อาจต้องเป็นบริษัทแรกที่ตั้งเอนจิเนียริ่ง ดีพาร์ทเม้นท์ขึ้นมา เพื่อสนองตอบความต้องการของตลาดก็เป็นได้

พวกวิศวกรในฝ่ายนี้เรียกว่า "เซฟตี้ เอนจิเนีย" ต้องจบการศึกษาวิศวกรรม และมีความรู้ด้านการประกันภัย ปีหนึ่ง ๆ บริษัทประกันที่มีทีมงานเซฟตี้ เอนจิเนีย จะส่งทีมเซฟตี้ เอนจิเนีย ออกมาสำรวจเพื่อช่วยผู้เอาประกัน ไปตรวจงานและให้คำแนะนำว่า ควรจะมีการเพิ่มเซฟตี้อย่างไร ตรงจุดไหน

การขายบริการเช่นนี้ จะแนบติดอยู่พร้อมกับการขายประกัน โดยบริษัทประกันจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของทีมเซฟตี้ เอสจิเนีย (ในกรณีที่ว่าจ้างมา) แต่การปรับปรุงทางโรงงานต้องรับผิดชอบ และหากไม่ทำการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

นอกจากการสำรวจและให้คำแนะนำแก่โรงงานแล้ว เอนจิเนียริ่ง ดีพาร์ทเม้นท์ ยังเป็นฝ่ายจัดทำตัวเลขเอ็มพีแอล (MAXIMUM OF PROPERTY LOSS) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ให้ผู้บริหารได้พิจารณาว่า ภัยตัวนี้ควรจะเก็บการเสี่ยงภัยไว้เองกี่เปอร์เซ็นต์ และควรจะส่งให้บริษัทรับประกันต่อ (REINSURER) กี่เปอร์เซ็นต์

นี่เป็นเรื่องของเครื่องมือทางหลักวิชาการในการพิจารณารับประกัน

ความจริงยังมีเครื่องมือที่สำคัญมากยิ่งกว่า นั่นคือประสบการณ์ที่สั่งสมเป็นความรู้ของผู้รับประกัน (UNDERWRITER) !

"การอันเดอไรต์เก่ง ๆ นี่ต้องอาศัยประสบการณ์ ผ่านการสำรวจ อันเดอไรเตอร์ที่ดีจริ ๆ ต้องออกไปสำรวจ ต้องเห็นด้วยตาของตัวเอง และใช้อิมเมจิเนชั่นหรือจินตนาการประกอบด้วย"

แต่ในเมืองไทยนั้น ยังขาดทั้งทีมเซฟตี้เอนจิเนีย และอันเดอไรเตอร์ที่ดีแลเก่งระดับมืออาชีพ

พิชัย กล่าวว่า "มืออันเดอไรต์ในบริษัทประกันภัยทุกแห่งต้องมีอยู่แล้วที่คอยรับภัยทั่ว ๆ ไป แต่โครงการพิเศษนี่ต้องรอคนรุ่นใหม่" ซึ่งในบริษัทประกันภัยใหญ่ ๆ หลายแห่งเริ่มมีการส่งคนไปอบรมในบริษัทประกันภัยต่างประเทศบ้างแล้ว โดยเฉพาะกับบริษัทประกันภัยต่อที่เข้ามารับงานในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก เช่น มิวนิค รี, สวิส รี ฯลฯ

"ผู้จัดการ" ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ตรงบรรทัดนี้ว่า การขาดความรู้ในทั้งสองด้านที่กล่าวมานี้ นับเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการขยายการรับประกันภัยของบริษัทประกันภัยไทย ข้ออ่อนประการนี้นับเป็นช่องทางอย่างดีให้บริษัทนายหน้าประกันภัย บริษัทสำรวจและประเมินความเสียหาย (LOSS ADJUSTER & SURVEYOR) ที่มีเครือข่ายในระดับสากลแทรกตัวลงมาได้

นอกจากนี้ การขาดแคลนความรู้ดังกล่าว ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า เมื่อระดับของภัยขยายตัวและมีความซับซ้อนมากขึ้นนั้น บริษัทประกันภัยไทยยังไม่ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะนำไปใช้กับตลาดดังกล่าวอย่างเป็นระบบ มีโครงการที่ชัดเจนที่จะเสริมหรือแก้ปัญหาจุดอ่อนตรงนี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด

"ผู้จัดการ" ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีความรู้ความชำนาญอีกหลายประการที่วงการประกันภัยไทยต้องเรียนรู้จากต่างประเทศ เช่น ในเร็ว ๆ นี้จะมีผู้ชำนาญการหาสถิติเกี่ยวกับการประกันภัยประเภทต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า ACTUARY เดินทางมาจากนิวยอร์ก เพื่อมาถ่ายทอดความรู้วิชาการด้านสถิติประกันภัยให้แก่กองประกันวินาศภัย สำนักงานประกันภัย เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญในวงการประกันภัยไทยให้ความเห็นว่า ความรู้ความชำนาญที่สลับซับซ้อนเช่นนี้กว่าจะนำมาถ่ายทอดให้ยอมรับกันเป็นภาษาไทยได้นั้น ต้องใช้เวลานานพอควร แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ ทว่า ต้องใช้เวลาในการพัฒนาให้อันเดอไรเตอร์เข้าใจ หรืออย่างเรื่องการเขียนกรมธรรม์ใหม่ ๆ แปลก ๆ ก็ต้องให้เวลาอันเดอไรเตอร์ศึกษาทำความเข้าใจกับคำ (WORDING) และเจตนาของผู้ให้ความคุ้มครอง คือ บริษัทประกันภัยก่อน มิฉะนั้น จะเสียเวลาถกเถียงในเรื่องของการตีความอีกมาก

ตัวอย่างของ KNOW-HOW เหล่านี้ เป็นสิ่งที่บริษัทประกันภัย จะต้องตระหนักให้มากกว่าอดีตที่ผ่านมา เพราะตลาดขยายตัวไปเร็วมากกว่าความสามารถของบริษัทประกันภัยจะตามทันได้

การที่บริษัทประกันภัยไทยมีข้ออ่อนหลายประการดังกล่าวมานี้ ทำให้ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องพึ่งพิงความรู้ความเชี่ยวชาญเหล่านั้นจากต่างประเทศ อย่างเช่น กรณีการรับประกันภัยโครงการปิโตรเคมีของบริษัทปิโตรเคมีคัลไทย !

ว่าไปแล้ว เริ่มตั้งแต่การจัดทำข้อเสนอประกันภัยให้โครงการปิโตรเคมีของทีพีไอ ก็มีการเรียกโบรกเกอร์อินชัวรันซ์จากต่างประเทศหลายรายให้เข้ามาเสนอ ได้แก่ เอ แอนด์ เอ (ALEXANDER & ALEXANDER) ซี.ที.บาวริง (C. T. BOWRING & CO. (INSURANCE) LTD.) SEDGWICK (LONDON) รวมทั้ง เอไอจี (AMERICAN INTERNATIONAL GROUP) ด้วย

เมื่อทำการเปิดประมูลโดยทั่วไปก็มักจะให้อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์เหล่านี้ เข้าประมูลได้ด้วย ส่วนเกณฑ์การพิจารณาของผู้เอาประกันโดยทั่วไปก็มักจะเลือกบริษัทที่เสนออัตราเบี้ยประกันต่ำสุดเป็นเกณฑ์สำคัญ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องพิจารณาด้วยว่า บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดนั้น มีความสามารถที่จะจัดประกันได้จริงหรือไม่ บริษัทนั้น ๆ มีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด ซึ่งในเรื่องของการเสนออัตราเบี้ยประกันนี้ก็เป็นช่องทางการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นของบริษัทประกันภัยและนายหน้าประกันภัยทั้งหลาย

ผู้บริหารบริษัทประกันภัยรายใหญ่แห่งหนึ่งให้แง่คิดว่า "ความมั่นคงของบริษัทประกันภัยเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก บริษัทประกันภัยขายอะไร ไม่ใช่ขายสบู่หรืออะไรนะ แต่เป็นการขายความมั่นคง ความเชื่อถือ"

"ดังนั้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนเช่นนี้ ถ้าปล่อยให้มีการตัดเรท (อัตรา) มากเกินไปถึงขั้นหนึ่งนี่ บริษัทประกันภัยจะเจ๊ง สำนักงานฯ ก็คุมไม่อยู่ มันจะเป็นอันตรายต่อประชาชนโดยรวม ดังนั้น เรทควรอยู่ในขั้นที่เสมอตัว หรือถ้าจะแข่งขันก็ให้เสมอตัว คือ ได้ 100 จ่าย 100 ก็ยังดี ไม่ใช่ได้ 100 จ่าย 120"

ในเรื่องของการคิดอัตราเบี้ยประกันและค่าคอมมิชชั่นต่าง ๆ นั้น โดยทั่วไปในเมืองไทย บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้กำหนดตามหลักเกณฑ์ที่ทางสำนักงานประกันภัยกำหนดไว้ คือ อัตราเบี้ยประกันจะคิดจากความเสียหาย ค่าใช้จ่าย ค่านายหน้า และกำไร

สูตรของการคิดอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยโดยคร่าว ๆ คือ ความเสียหาย 55% ค่าใช้จ่าย 15% ค่านายหน้า 25% และกำไร 5%

อัตราค่านายหน้าเป็นอัตราที่ฟิกซ์ตายตัว ส่วนอัตราอื่น ๆ นั้นแปรผัน เช่น ความเสียหายอาจจะเกิดน้อยหรือมากกว่า 55% อัตราค่าใช้จ่าย หากมีปริมาณภัยมาก ๆ ค่าใช้จ่ายก็อาจจะลดลงได้ ซึ่งหากอัตราที่แปรผันเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทประกันภัยได้กำไรอย่างมาก ๆ สำนักงานประกันภัยก็จะเข้ามามีบทบาท โดยสั่งให้ลดอัตราเบี้ยประกันลง เพราะสำนักงานประกันภัยไม่ต้องการให้บริษัทประกันเอากำไรมากเกินไป

เมื่อมีการฟิกซ์อัตราค่านายหน้าไว้ที่ 25% และประมาณการค่าใช้จ่ายอยู่ในราว 15% รวมทั้งสองตัวเป็น 40% ดังนั้น หากมีการส่งภัยตัวนี้ไปประกันต่อในเมืองนอก บริษัทนายหน้าประกันต่อก็ต้องพยายามขายให้ได้สูงกว่า 40% จึงจะไม่ขาดทุน

อย่างไรก็ดี ผู้สันทัดในด้านการรับประกันต่อให้ความเห็นว่า ภัยใหญ่ ๆ ที่มีทุนประกันสูง ๆ นั้น มักจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 25% แน่ ๆ อาจจะแค่ 10% หรือ 8% เท่านั้น ดังนั้น บริษัทประกันภัยที่ชอบส่งภัยไปประกันต่อในต่างประเทศจึงแน่ใจได้ว่า ต้องมีกำไรอย่างแน่นอน

ความจริงอัตราเบี้ยที่ว่านี้ก็คือ ปรัชญาการทำธุรกิจประกันภัยที่แท้จริง คือ ผู้รับประกันต้องไม่ขาดทุน ขณะเดียวกันก็ไม่เอากำไรมาก BOTTOM LINE ของผลประโยชน์ควรอยู่ที่เสมอตัว

นอกจากพิจารณาในเรื่องอัตราเบี้ยประกัน ความมั่นคงน่าเชื่อถือของบริษัทแล้ว ยังต้องดูเรื่องการให้บริการด้วย และนี่ก็เป็นจุดต่างที่ทำให้บางบริษัทมีข้อเด่นมากกว่าอีกหลาย ๆ บริษัท

ยกตัวอย่างเช่น เอชเอชแอลรี จะมีข้อเสนออันหนึ่งใน PROPOSAL ประกันภัย คือ เสนอ COST ที่เรียกว่า PAYMENT ON ACCOUNT หมายถึงกรณีที่เกิดความเสียหาย และอยู่ในความคุ้มครองที่บริษัทประกันภัยต้องจ่าย (CLAIM) เอชเอชแอลรีจะบริการเรียกเก็บเงินจำนวนหนึ่งจากผู้รับประกันมาจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันก่อน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ก่อนที่จะเรียกค่าสินไหมทั้งหมดมาให้แก่ผู้เอาประกัน

หรือการบริการทางด้าน SURVEY RISK ทั้งในแง่ของเคมีและวิศวกรรม ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเซฟตี้ เอนจิเนีย ที่โดยส่วนมากต้องว่าจ้างมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ก็เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่ผู้เอาประกันต้องการ

อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันแต่ละรายอาจมีนโยบายการพิจารณาที่แตกต่างกันไป เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีนโยบายดังนี้ ข้อ แรก เสนออัตราเบี้ยประกันต่ำ ข้อ สอง ต้องเป็นบริษัทที่มั่นคง สาม มีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ สี่ บริษัทรับประกันต่อมีความมั่นคงเข้มแข็ง หากเกิด CLAIM ก็มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้ได้ ห้า นำเงินเบี้ยประกันที่ได้ไปลงทุนทางด้านไหนบ้าง เช่น นำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งหากนำไปซื้อก็ถือว่ามีความมั่นคงจริง เป็นต้น

ผู้เอาประกันบางรายก็ให้ความสำคัญต่อบริษัทรับประกันต่อค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อเสนอ PROPOSAL จะต้องมีรายชื่อบริษัทรับประกันต่อแนบไปให้เรียบร้อย บางรายอาจต้องเอาหนังสือของบริษัทรับประกันต่อมายืนยันด้วย

การประกันโครงการปิโตรเคมี ไม่ว่าจะเป็นโรงของทีพีไอ และอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกนั้น ผู้รู้หลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องส่งต่อให้บริษัทรับประกันต่อในต่างประเทศ ในอัตราส่วนมากกว่าที่จะเก็บไว้ได้ในประเทศ อย่างกรณีทีพีไอนั้น ก็ช่วงต่อไปถึง 86%

ทั้งนี้ ไม่ใช่สาเหตุในข้อที่ว่า ภัยปิโตรเคมีของทีพีไอ เป็นภัยตัวใหม่สำหรับตลาดประกันภัยไทยแต่เพียงอย่างเดียว ทว่า ยังมีสาเหตุจากข้อที่ว่าบริษัทประกันภัยไทยมีเงินกองทุนไม่มากพอที่จะรับภัยตัวนี้ไว้ได้ และที่สำคัญยังไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะรับด้วย

อันที่จริงสมาคมประกันวินาศภัยก็พยายามดำเนินการจัดตั้งพูลด้านปิโตรเคมี (PETROCHEMICAL POOL) โดยมีจุดประสงค์ที่จะรวมสมรรถนะของบริษัทประกันภัยไทยทั้งหมด เพื่อรองรับทุนประกันปิโตรเคมีให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะมีการผลักทุนจำนวนนี้ออกไปต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้ยังไม่สามารถบอกสัดส่วนการเก็บภัยปิโตรเคมีไว้ในประเทศได้ และพูลปิโตรเคมีจะเป็นจริงเพียงใดก็ยังไม่มีใครให้คำรับรองได้

ในกรณีที่จะต้องส่งภัยปิโตรเคมีไปต่างประเทศนั้น ตลาดสำคัญของมันอยู่ที่ลอนดอน ทั้งในซินดิเคทของลอยด์และนอกซินดิเคทของลอยด์

สุวรรณ ปิยะภาณี กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยรับประกันต่อ จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ภัยจากประเทศไทยเวลานี้ได้รับความสนใจจากประเทศอื่นมาก เรียกว่า เนื้อหอมมากที่สุดเลยในลอยด์ก็ส่งไปเถอะมีอะไรรับหมด เวลานี้เครดิตเราดีมาก"

ผู้เชี่ยวชาญปิโตรเคมีที่เริ่มบุกตลาดประกันปิโตรเคมีในไทยเวลานี้ คือ SCOR (ASIA) จากฮ่องกง ซึ่งมีบริษัทแม่ชื่อ SCOR อยู่ในฝรั่งเศสและมีเครือข่ายทั่วโลก เป็นบริษัทรับประกันต่อที่รับภัยจากบริษัทประกันภัยในประเทศไทยเป็นอันดับ 6 มีจำนวนสัญญาที่ทำกับบริษัทประกันภัยของไทย 23 บริษัทรวม 73 สัญญา

นอกจากนี้ ก็มีซินดิเคทด้านปิโตรเคมีในลอยด์ และบริษัทใหญ่ ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่รับภัยปิดตรเคมีไว้โดยเฉลี่ยรับกันคนละเล็กละน้อย บางรายอาจจะรับในลักษณะของ TREATY และบางรายก็รับในลักษณะของ CASE BY CASE

บริษัทที่รับในลักษณะ TREATY มักจะเป็นบริษัทในคเรือเดียวกัน เช่น เอไอจี เป็นกรุ๊ปที่ใหญ่มาก มีธุรกิจในเครือหลายอย่าง ว่าเฉพาะธุรกิจประกันภัยนั้น ก็มีครบวงจรทั้งบริษัทประกันภัย ประกันชีวิต นายหน้าปะกันภัย บริษัทสำรวจและประเมินความเสียหาย รวมแล้วมากกว่า 30 บริษัทขึ้นไป ไม่นับธุรกิจด้านการเงินการธนาคารอีกต่างหาก ดังนั้น บริษัทประกันในเอไอจีจึงทำ TREATY กันไว้

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิวแฮมเชอร์สามารถรับภัยได้เป็นจำนวนมาก เพราะมีความได้เปรียบในฐานะที่เป็น WORLDWIDE COMPANY ผู้รู้ท่านหนึ่ง กล่าวว่า ทุนประกัน 100 ล้านบาท นี่นิวแฮมเชอร์รับไว้ได้สบายมาก ส่วนที่เหลือนั้นก็ปล่อยลงใน TREATY ได้หมด

นอกจากนิวแฮมเชอร์แล้ว ยังมีคอมเมอร์เชียล ยูเนียน, ซิกน่า, การ์เดียน ซึ่งล้วนเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายในต่างประเทศด้วย ส่วนบริษัทประกันภัยไทยใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ ยังต้องอาศัยบริษัทประกันต่อต่างประเทศบ้าง

การติดต่อกับบริษัทประกันต่อไปในต่างประเทศนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญคุ้นเคยดี ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงบริษัทประกันภัยไทยขนาดกลางและเล็กที่มีรายได้หลักของเบี้ยประกันภัยรับจากรถยนต์และอัคคีภัย บริษัทเหล่านี้จะไม่ก้าวเข้ามาแย่งสัดส่วนตลาดภัยใหญ่ ๆ ที่กำลังขยายตัวอย่างมากเป็นแน่

ผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทในการติดต่อกับบริษัทประกันต่อต่างประเทศก็คือ บริษัทนายหน้าประกันภัย

แต่บทบาทที่แท้จริงของนายหน้าประกันภัย คือ ให้บริการจัดประกันภัยแก่ผู้เอาประกัน ทว่า ธุรกิจประกันภัยบ้านเรานั้น มักจะเป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างผู้รับประกันกับผู้เอาประกัน ดังนั้น จึงมีผู้ที่ใช้บริการของนายหน้าจัดประกันน้อย

นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยแทบทุกแห่งมักจะตั้งบริษัทนายหน้าประกันภัยของตัวเองไว้ เพื่อใช้หาลูกค้าให้บริษัท ดังนั้น แทนที่บริษัทนายหน้าควรจะเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันก็กลับบทบาทกันกลายเป็นทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยไปเสีย !

กิจการนายหน้าประกันภัยในเมืองไทยจึงถูกจำกัดบทบาทค่อนข้างมาก และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทยนั้น มีสมาชิกเพียง 31 บริษัทจากจำนวนบริษัทนายหน้าประกันภัยทั้งสิ้นที่จดทะเบียนกับสำนักงานประกันภัยรวม 174 บริษัท (ตัวเลขระหว่างปี 2529 - 2530)

ในจำนวนที่จดทะเบียนไว้ 31 บริษัทนั้น ก็มีเพียง 10 บริษัทที่เอาจริงเอาจัง หนึ่งในจำนวนนั้น คือ บริษัทฮีทฮิวดิก แลงเวล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งชนะการประมูลภัยของโรงปิโตรเคมีของทีพีไอในระหว่างปี 2531 - 32 แทนที่บริษัทเซดจวิก (ลอนดอน) ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยรายใหญ่ในอังกฤษ ซึ่งชนะประมูลการจัดประกันภัยให้ทีพีไอมาตลอดก่อนที่จะถอนตัวไป เพราะมีปัญหาการบริหารของสาขาในไทย

นอกจากโครงการปิโตรเคมีของทีพีไอแล้ว ฮีทฮิวดิก แลงเวล ยังเสนอตัวเป็นนายหน้าให้กับเทเวศประกันภัยในโครงการเอ็นพีซี 1 ด้วย และมีโครงการใหญ่ ๆ อีกหลายโครงการ เช่น เมโทรกรุ๊ปของกลุ่มศรีกรุง เป็นต้น

บทบาทของฮีทฮิวดิก แลงเวล ก็คือ การจัดประกันต่อต่างประเทศโดยผ่านทางบริษัทนายหน้าประกันต่อของตัวที่ชื่อ เอชเอชแอลรี ซึ่งมีประสบการณ์ช่ำชองในการส่งภัยไปประกันต่อต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก

โดยการส่งภัยไปประกันต่อต่างประเทศ หมายถึง การส่งเบี้ยประกันไปต่างประเทศด้วย ส่วนบริษัทนายหน้าประกันภัยจะได้รับค่านายหน้าเป็นค่าตอบแทนบริการ ซึ่งแล้วแต่จะตกลงกัน โดยทั่วไปอยู่ในระหว่าง 1.5 - 5% ของเบี้ยประกันที่ส่งออกต่างประเทศสำหรับภัยนั้น ๆ

สถิติสำนักงานประกันภัยล่าสุด ปี 2530 แสดงให้เห็นว่า มีการส่งเบี้ยประกันภัยออกต่างประเทศ 3,191 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.54% ของเบี้ยรับทั้งสิ้นจำนวน 8,733 ล้านบาท ตัวเลขนี้นับว่าสูงพอสมควร และยังมีแนวโน้มที่จะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุมาจากการที่ธุรกิจประกันภัยไทยเติบโตขยายตัวมากขึ้น เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่วงการประกันภัยต่างประเทศอยากจะ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย กอปรกับบริษัทประกันภัยไทยไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้เข้าไปรองรับตลาดที่ขยายออกไปนี้ได้

ตลาดประกันภัยปิโตรเคมีไทยเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของข้อสรุปนี้

ว่ากันตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาภัยปิโตรเคมี การตรวจสอบทางด้านวิศวกรรม การร่างกรมธรรม์ปิโตรเคมีล้วนแต่ต้องใช้ประสบการณ์ความชำนาญของต่างประเทศ

บทบาทที่บริษัทประกันภัยไทยมีอยู่ในการประกันภัยปิโตรเคมี คือ เรื่อง CONNECTION ในการประมูล แต่เมื่อได้ภัยมาแล้วก็ต้องวิ่งโร่เอาไปประกันต่อในต่างประเทศ ยกเบี้ยประกันส่วนข้างมากให้กับบริษัทรับประกันต่อต่างประเทศ

เพราะยึดติดกับความคิดที่ว่า ขอกินค่าคอมมิชชั่นที่เป็นอัตราที่แน่นอน

ดีกว่าเก็บความเสี่ยงภัยไว้แล้วต้องนอนสะดุ้งทุกวันคืน เนื่องมาจากตัวเลขความเสี่ยงภัยปิโตรเคมี เป็นตัวเลขที่อาจกล่าวได้ว่ามากกว่าภัยทุกภัยที่รับกันอยู่

แต่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมา

ทั้งที่โดยทั่วไปก็มักจะอ้างกันว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นเรื่องของการค้าความเสี่ยงภัย ซึ่งนั่นหมายความว่า โดยพื้นฐานแล้ว คนที่ทำธุรกิจด้านนี้ต้องมี "ความกล้า" มากกว่านักธุรกิจในวงการอื่น

มิฉะนั้น จะยอมเข้าไปรับความเสี่ยงภัยแทนเจ้าของกิจการได้อย่างไร

แต่เมื่อถูกถามว่า ทำไมไม่เก็บภัยปิโตรเคมีไว้เอง ทำไมต้องส่งไปประกันต่อต่างประเทศในจำนวนที่มากมายเพียงนั้น

บรรดาผู้บริหารในวงการประกันภัยก็จะอ้างเหตุผลคล้ายคลึงกันว่า มันเป็นเรื่องของการกระจายความเสี่ยงภัย ซึ่งเป็นวิธีบริหารแบบพื้น ๆ อย่างหนึ่งในการทำธุรกิจประกันภัย

ส่วนเหตุข้อสองก็มาจากการที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไว้ได้ไม่เกิน 1 ใน 10 เท่าของเงินกองทุนต่อภัย ๆ หนึ่ง และเมื่อบริษัทประกันภัยไทยโดยส่วนมากมีเงินกองทุนไม่มากนัก ดังนั้นความสามารถที่จะรับไว้จึงมีน้อยตามสัดส่วนของเงินกองทุนโดยปริยาย

สุวรรณ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องของความไม่กล้าเสี่ยงมากกว่า "เรื่องนี้ต้องไปถามบริษัทประกันภัยว่า เราเป็นบริษัทประกันภัยนะ ไม่ใช่บริษัทนายหน้า ต้องกล้ารับความเสี่ยงภัยไว้กับตัวเองเท่าที่จะรับได้ แต่มีบางบริษัทที่ไม่กล้ารับ กลัว เลยเก็บค่านายหน้าดีกว่าเพราะมันเป็นของแน่อยู่แล้ว"

นี่คือเทคนิคการบริหารประการหนึ่งของบริษัทประกันภัยในบ้านเรา คือ กินค่านายหน้าชัวร์ ๆ ดีกว่า และนี่ก็เป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยไทยไม่เติบโตเท่าบริษัทในเมืองนอก

และเมื่อถามว่าทำไมไม่กล้าเสี่ยง ก็เพราะว่า "หากเกิดเสียหายขึ้นมา กระเป๋าฉีกไปหมดนี่ คุณก็ถูกผู้ถือหุ้นคุณด่าใช่ไหม ยิ่งบริษัทเล็กๆ ที่ปีหนึ่งกำไรแค่ 2 ล้านก็ยิ่งเจ๊ง"

"แสดงว่า ความคิดของผู้บริหารโดยส่วนมากนั้นไม่กล้าเสี่ยง คอนเซ็ปต์นี้ยังมีอยู่มาก ยังไงก็ไม่ยอมเสี่ยงเกินกว่าขีดจำกัดที่กำหนดเอาไว้ ขอกินค่านายหน้าชัวร์ ๆ ดีกว่า"

ว่าไปแล้ว เหตุผลของผู้บริหารในวงการประกันภัยมีลักษณะเหมือนงูกินหาง

อาจจะมีหลายคนอยากก้าวออกมาจากวังวนนี้ แต่คงเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก เพราะแต่ไหนแต่ไรมาวิธีการบริหารที่ลกายเป็นธรรมเนียมปฎิบัติกันโดยทั่วไปแล้วก็คือ ค่อยเก็บค่อยทำ ก้าวช้า ๆ แต่มั่นคง

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สะท้อนธรรมเนียมปฏิบัตินี้ก็คือ การดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนและทุนจดทะเบียนในจำนวนจำกัด

ลองดูตัวอย่างของบริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด ซึ่งเพิ่งครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้งไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ที่ผ่านมา พร้อมกับการประกาศจุดมุ่งหมายในการเป็น "บริษัทประกันภัยชั้นนำของเมืองไทย"

บางกอกสหฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2472 ด้วยทุนจดทะเบียน 400,000 บาท มีการเพิ่มทุนครั้งแรกในปี 2510 ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยที่ออกมาในปีนั้นและบังคับว่า บริษัทประกันวินาศภัยต้องมีเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านบาท

ดังนั้น บางกอกสหฯ จึงทำการเพิ่มทุนต่อเนื่องกัน 3 ครั้งในปีเดียว จากทุนฯ เดิม 400,000 บาท เพิ่มเป็น 12,000,000 บาท

การเพิ่มทุนครั้งต่อมาเกิดขึ้นเมื่อบางกอกสหฯ ต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงทำการเพิ่มทุนเป็น 20 ล้านบาทในปี 2531

ส่วนในเรื่องของการดำรงเงินกองทุนปี 2522 บางกอกสหฯ มีเงินกองทุนจำนวน 18.8 ล้านบาท ปี 2531 เพิ่มเป็น 73.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9 เท่าตัว และมากกว่าจำนวนที่กฎหมายบังคับให้ดำรงไว้ 3.5 ล้านบาทถึง 21 เท่า

แต่เงินกองทุนเมื่อวัดดูปีต่อปีแล้ว การเพิ่มเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก ทั้ง ๆ ที่ตลาดได้เติบโตไปเร็วมาก ดูจากรายงานของบริษัทบางกอกฯ เอง พบว่า ช่วงปี 22 - 29 อัตราเติบโตเฉลี่ยเงินกองทุนมีเพียง 5% ต่อ 1 ปี แม้หลังปี '29 จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบเท่าตัว คือ 100% แต่ก็เป็นการเพิ่มจากเงินทุนจดทะเบียนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากจะจัดอันดับกันโดยวัดจากฐานะเงินกองทุนแล้ว บางกอกสหฯ กลับถูกจัดอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของ "1 ใน 20 บริษัทประกันวินาศภัยชั้นนำไทย"

หากไม่ใช่นโยบายการเติบโตอย่างช้า ๆ แล้ว ก็ยากที่จะกล่าวว่าเป็นสาเหตุอื่น !

ส่วนบริษัทภัทรประกันภัย ซึ่งก่อตั้งหลังจากบางกอกสหฯ 2 ปีนั้น มีอัตราส่วนการเติบโตที่ก้าวกระโดดกว่ามาก โดยมีเงินกองทุนระหว่างปี 2529 - 2530 ประมาณ 229 ล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท

การเติบโตของภัทรฯ มีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป แต่ก็เป็นลักษณะร่วมกับอีกหลายบริษัท กล่าวคือ เป็นธุรกิจในเครือของะนาคารกสิกรไทย และมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กับบริษัทประกันชีวิตในเครืออีกต่างหาก

อย่างไรก็ดี ทุนจดทะเบียนและเงินกองทุนของภัทรฯ ก็ไม่ได้มีปริมาณมากมาย เพราะตามกฎหมายก็เท่ากับว่า ภัทรฯ จะรับประกันภัยหนึ่ง ๆ ได้ในวงเงินไม่เกิน 229 ล้านบาท

บริษัทประกันภัยอันดับ 1 ของไทย คือ กรุงเทพประกันภัยมีเงินกองทุนระหว่างปี 2529 - 2530 ประมาณ 434 ล้านบาท ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท

เงินทุนจดทะเบียนของ 20 บริษัทประกันภัยชั้นนำของไทยอยู่ระหว่าง 10 - 60 ล้านบาท และมีเงินกองทุนระหว่าง 37 - 434 ล้านบาท

พิชัยแห่งนิวแฮมเชอร์ ให้ความเห็นว่า ธุรกิจประกันภัยต้องเตรียมตัวที่จะรับภัยที่เพิ่มขึ้นนี้ โดยจะต้องทำการเพิ่มเงินกองทุน "มีเงินทุนไม่พอ คุณก็รับไม่ได้ คุณก็เป็นแคระอยู่เรื่อย ๆ กินแต่ค่าคอมมิชชั่นแล้วทุกอย่างก็ไปเมืองนอกหมด"

แต่สุวรรณกลับให้ความเห็นในเรื่องของการเติบโตของตลาดในแง่มุมที่ต่างออกไป โดยมองว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมที่สลับซับซ้อนอื่น ๆ ว่า เป็นการเติบโตที่ผิดปกติ

"อย่างเรื่องปิโตรเคมีนั้น ถ้าเกิดขึ้นมาจะมีความเสียหายมาก ยังมีมลภาวะที่จะขยายออกไปอีก เช่น UNION CARBIDE การเติบโตที่ผิดปกติพวกนี้เราไม่ควรจะไปตามมันอย่างตอนปี 1974 โรงงานปิโตรเคมีที่พิสเบิร์กไฟไหม้นี่ โอ้โฮ ร้องกันทั่วโลกเลย ผมก็เจอด้วยเรพาะไปรับมาจากอังกฤษ"

"ถ้าสิ่งปลูกสร้าง โรงแรมต่าง ๆ โตนี่ เราควรจะโตตาม หรืออย่างพวกโทรคมนาคม รถไฟฟ้านี่เพราะมันเป็นภัยที่ดี เป็นประสบการณ์ที่ดี"

คำพูดนี้สะท้อนความคิดของนักบริหารประกันภัยในลักษณะอนุรักษ์นิยมได้เป็นอย่างดี !

แน่นอน ใคร ๆ ก็อยากจะรับแต่ภัยดี ๆ มีโอกาสเกิดความเสียหายน้อย ได้กำไรงาม ๆ

แต่ถ้าวงการประกันภัยไทยคิดกันอย่างนี้เสียหมด ละทิ้งความกล้าเสี่ยงเสียแล้ว

อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยก็คงต้องย่ำเท้าอยู่เช่นนี้ ทั้งที่มีการดำเนินกิจการกันมากว่าครึ่งค่อนศตวรรษแล้ว !!

ในส่วนของผู้บริหารประกันภัยจากภาครัฐเอง เช่น สำนักงานประกันภัยก็มีความคิดที่ไม่ต่างไปจากนักธุรกิจสักเท่าใดนัก

ขณะที่นักธุรกิจมุ่งหมายที่จะรับภัยที่มีความเสี่ยงน้อย รายได้งาม พึ่งพิงความชำนาญประสบการณ์จากต่างประเทศ เพื่อลด COST การพัฒนาบุคลากรของตน

ผู้บริหารของภาครัฐ ก็มุ่งที่จะออกกฎเกณฑ์การควบคุมต่าง ๆ เก็บเบี้ยไว้ในประเทศให้ได้มากที่สุด หรือในเรื่องของการรับประกันโครงการใหญ่ ๆ ก็ดูคล้ายกับว่า ให้การสนับสนุน

ชลอ เฟื่องอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมคิดง่ายๆ ว่า ในเรื่องของโครงการขนาดใหญ่อย่างอีสเทิร์นซีบอร์ดนั้น เราควรมีวิธีการเจาะเอาตามแบบไทยๆ คือ เราไม่ใช่เอ็กซเปิร์ตก็ทำแบบนี้ ดูว่าใครรับมาเท่าไหร่ แล้วก็โดดเข้าร่วมด้วย เมื่อกำลังตัวเองไม่ได้ เอ็กซเปิร์ตจากเมืองนอกเขาก็พร้อมที่จะเข้ามา"

สิ่งที่นายทะเบียนผู้นี้ให้คำแนะนำคือ "ในการรับประกันอีสเทิร์นซีบอร์ด อาจใช้กองกลางที่เรียกว่า ไฟร์พูล ก่อนได้ ก่อนที่อีสเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดต่อมา ในขณะที่ยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอะไรมากนี่จะเข้าไปได้อย่างไร"

"ผมคิดว่า ก็น่าจะได้โดยการมีข้อมูลให้ชัดเจนว่า มีโครงการอะไรบ้างที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอจะเข้ามาเมื่อไหร่ ใครเป็นคนลงทุน ร่วมทุนกับใคร อาจทำการ APPROACH กับผู้ลงทุนโดยตรงหรือกับ LOCAL PARTNER ที่เป็นคนไทย เสนอการจัดประกันให้"

"สมมติว่า กลุ่มผู้ลงทุนบอกผมเตรียมไว้เสร็จแล้ว ก็ยังสามารถตามไปดูว่าใครที่รับไว้ แล้วก็ยพายามเจรจาหาทางที่จะแชร์ส่วนนั้นก็ยังได้ ผมคิดว่ามีลูทาง อย่างน้อยในจังหวะช่วงก่อสร้างนี่ก็น่าจะได้"

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ "สมมติญี่ปุ่นมาทำ เขาอาจจะทำประกันกับโตเกียวมารีนแล้ว เราก็เจรจากับบริษัทเหล่านั้นว่า เอามาแชร์กันได้ไหม นี่ก็เป็นวิธีการที่ผมคิดว่าทำได้ ในทำนองเดียวกันเราก็สามารถปรับวิธีนี้มาใช้กับสหรัฐฯ ได้ เมื่อได้แล้ว ก็เอามากระจายกันในประเทศ"

นี่ก็คือข้อเสนอ "วิธีการเจาะเอาตามแบบไทย ๆ " ของนายทะเบียนสำนักงานประกันภัย ผู้มีหน้าที่ควบคุมกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกจประกันภัยในประเทศ

วิธีคิดและสไตล์การบริหารงานทำนองนี้กระมังที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยไทยเติบโต "แบบไทย ๆ "

ประกันภัยไทยจึงเป็น "บอนไซ" อยู่ในกระถางธุรกิจที่มีแนวโน้มจะใหญ่ ๆ ขึ้นตามสังคมที่กำลังผันแปรเป็นอุตสาหกรรม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us