Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2532
จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี จากเยาวราชถึงซูริคกับบทเรียนจากโมคัตตา             
 


   
search resources

จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี
โมคัตตา
Jewelry and Gold




บรรพบุรุษของจิตต์ ตั้งสิทธิ์ภักดี ทำมาค้าขายเรื่องทองคำมาหลายชั่วคน ตัวจิตติเองเป็นลูกจ้างในร้านทองของพี่ชายมาตั้งแต่อายุ 15 ปี เขาเรียนไม่สูง แต่ประสบการณ์เรื่องค้าทองกว่า 30 ปีทำให้เขากลาเยป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าทองอย่างหาตัวจับยาก

8 ปีก่อน เขาเปิดกิจการห้างค้าทองของตนเองขึ้นใจกลางย่านเยาวราช ชื่อ "ห้างขายทองจินฮั้วเฮง" ไม่กี่ปีเขาเปิดสาขาที่สองไม่ห่างจากร้านแรก ไม่ถึงป้ายรถเมล์ ปี 2526 เขามีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมค้าทงอคำ และปัจจุบันเขาก็เป็นอุปนายกอยู่ในสมาคมดังกล่าว

มีไม่กี่คนที่รู้ว่า จิตติเป็นหนึ่งในสองคนที่กำหนดและชี้ชะตาราคาทองคำร้านค้าทองในแต่ละวัน อีกคนคือ ปราโมทย์ พสวงศ์ แห่งห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง ซึ่งเป็นนายกสมาคมเดียวกับจิตต์

"เช้า ๆ เราจะติดตามราคาตลาดต่างประเทศว่า มันขึ้นลงอย่างไรแล้วเราก็ปรับตัว ราคาที่เปิดออกมาต้องผ่านการพิจารณาว่ายุติธรรม ให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการซื้อขายกัน จะถูกเกินไปหรือแพงเกินไปไม่ได้ต้องให้พอดี ๆ หากราคาเคลื่อนไหวมากก็ต้องเปลี่ยนแปลงทุกวัน หรือบางครั้งครึ่งวันก็เปลี่ยน" จิตติ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ราคาทองที่กำหนดนี้เป็นที่ยอมรับกันในวงการค้าทองคำ ซึ่งเป็นการรวมตัวกัน ห้างขายทองยักษ์ใหญ่ย่านเยาวราช เช่น ฮั่วเซ่งเฮง โต๊ะกังเยาวราช เล่งหงษ์ ยู่หลงกิมกี่ บ้วนฮั่วล้ง เลี่ยงเซ่งเฮง และจินฮั้วเฮง ซึ่งล้วนแต่เป็นห้างที่มีอิทธิพลต่อตลาดค้าทองบ้านเรา

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนทองคำเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นทองรูปพรรณในไทย และมีการลักลอบนำทองคำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายมากมายผิดสังเกต จิตติและสมาคมค้าทองคำ ได้พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับกระทรวงการคลังรวมทั้งสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ

รัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสมบูรณ์ ได้ออกกฎหมายควบคุมไม่ให้นำเข้าหรือส่งออกทองคำโดยเสรีมาตั้งแต่ปี 2494 เพราะทองคำเป็นสินค้าที่ใช้แทนเงินได้ง่าย เหมาะสำหรับการเก็งกำไร หากปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี รัฐบาลเกรงว่าจะควบคุมลำบาก และถ้าเกิดมีการตุนทองคำเพื่อเก็งกำไรมาก ๆ จะส่งผลกระเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อการสั่งทองคำจากต่างประเทศเข้ามาจะต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ

แต่มาตรการนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก เพราะปริมาณทองคำในเมืองไทยเพียงพอต่อการเป็นวัตถุดิบสกัดเป็นทองแท่งและทองรูปพรรณ และคนไทยก็ชอบ "เล่นทอง" ซื้อง่ายขายคล่อง ทองรูปพรรณก็จะแปรเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่

มาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่ปริมาณทองคำเริ่มลดลง กระทรวงการคลังจึงอนุมัติให้มีการประมูลบริษัทนำเข้าทองคำแท่งจากต่างประเทศ ให้เวลาในการนำเข้างวดละ 2 ปีต่อหนึ่งบริษัท แต่ทำไปได้ไม่กี่ปีก็ไม่มีใครอยากนำเข้าอีก เพระาเอามาแล้วขายไม่ค่อยออก ขาดทุนกันทุกบริษัท เนื่องเพราะกฎระเรียบการซื้อขายที่หยุมหยิมเกินไป และความต้องการทองคำก็ยังไม่ได้รุนแรงมากมาเมื่อ 2-3 ปีมานี้เองที่ปริมาณทองคำไม่เพียงพอ และทองเถื่อนก็ทะลักมาจากสิงคโปร์ ฮ่องกงอยู่เรื่อย ๆ มีคดีจับกุมผู้ลักลอบนำทองคำเข้าไม่ขาดระยะหลายสิบคดี

คราวนี้ กระทรวงการคลังแก้ปัญหาโดยการอนุมัติให้บริษัท "โมคัตตา แอนด์ โกลด์สมิท" เป็นผู้นำทองเข้าแต่ผู้เดียวตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วเป็นเวลา 1 ปี ปริมาณทองคำที่นำเข้าคือ 7,400 กิโลกรัม มูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ

โมคัตตา เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในการทำธุรกิจค้าทองคำ และโลหะมีค่าทั่วโลกมากกว่า 3 ศตวรรษ ก่อตั้งโดยโมเสส โมคัตตา พ่อค้าชาวโปรตุเกส แต่ไปมีกิจการรุ่งเรืองในอังกฤษ และเคยคุมตลาดทองในมือถือ 3 ใน 4 ของผลผลิตทั่วโลก แต่ในปี 2500 โมคัตตากลับประสบวิกฤตทางการเงิน บรรดาหุ้นส่วนต้องขายกิจการให้กับฮัมโบรส์ แบงก์ พอปี 2516 ฮัมโบรส์ แบงก์ ก็ขายกิจการโมคัตตา ให้กับสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ แบงก์ แห่งอังกฤษ ซึ่งในปัจจุบันสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ แบงก์ ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้น 100% อยู่

ปัจจุบัน โมคัตตา ได้รับการยอมรับว่า เป็นบริษัทค้าโลหะมีค่ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก มีสำนักงานอยู่ในลอนดอน นิวยอร์ก ฮ่องกง ไทย และอีกหลายประเทศ

แต่ในช่วง 1 ปีที่โมคัตตา เข้ามาทำกิจการในเมืองไทย โมคัตตาขายทองไปได้เป็นจำนวนน้อยมาก คือ 790 กิโลกรัม ปัญหาที่โมคัตตาประสบ คือ เรื่องระเบียบและขั้นตอนที่กระทรวงการคลังกำหนดในการขายทอง ซึ่งทำให้ผู้ค้าทองทั้งในประเทศและส่งออกเข็ดขยาดและหันไปสนใจกับทองเถื่อนที่มาจากสิงคโปร์ ฮ่องกงเหมือนเดิม

"ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ไปซื้อได้ต้องแสดงให้กระทรวงการคลังเขาดูว่า ใน 3 เดือนข้างหน้าจะมีการซื้อขายทองกันอีกเท่าไร ต้องไปจดทะเบียน "ผู้ค้าทอง" กับกรมสรรพากร ขออนุมัติเสร็จต้องเอาแบงก์ไปการันตีส่วนมากพ่อค้าเขาไม่รู้จักไม่เข้าใจระเบียบพวกนี้ และโมคัตตาก็ไม่ประสานเรื่องนี้กับร้านค้าทอง แต่ละคนเขายังไม่รู้เลยว่า มีโมคัตตาในไทย เรื่องการไปจดทะเบียนกับสรรพากรก็มีผล เพราะบางเจ้าเขาต้องถูกสอบภาษีย้อนหลัง" จิตติยกตัวอย่างของปัญหาให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในที่สุด กระทรวงการคลังประนีประนอมตรงที่ให้สมาคมค้าทองคำและสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับตั้งบริษัทตัวแทนขึ้นมาสองบริษัทเป็นผู้นำเข้าทอง โดยได้โควต้าบริษัทละ 6,000 กิโลกรัม ส่วนโมคัตตาได้โควต้าตามเดิมคือ 7,400 กิโลกรัม

จิตติเป็นตัวแทนของสมาคมค้าทองคำที่เข้าไปเจรจาและให้ข้อมูลแก่กระทรวงและเมื่อตั้งบริษัทนำเข้าทอง เขาก็เป็นผู้จัดการของบริษัทแห่งนี้ซึ่งมีชื่อว่า "โกลด์ยูเนี่ยน" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกันระหว่างร้านขายทองที่เป็นสมาชิกของสมาคมจำนวน 20 แห่ง มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

จิตติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา โมคัตตาไปมุ่งเน้นที่ตลาดส่งออก คือ บรรดาสมาชิกของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นผู้ส่งออกทองรูปพรรณรายใหญ่ปีหนึ่ง ๆ มีมูลค่าประมาณเกือบหมื่นล้านบาท แต่แท้ที่จริงบริษัทใหญ่ที่ทำการส่งออกจะมีโรงงานคลังสินค้าทัณฑ์บนเป็นของตนเอง เพื่อนำเข้าทองและส่งออกโดยเฉพาะอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ที่จะสั่งทองจากโมคัตตาน่าจะเป็นผู้ค้าทองเพื่อส่งออกรายย่อย ๆ และบรรดาห้างขายทองตามเยาวราชที่มีโรงงานแปรรูปทองของตนเอง ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อขายในประเทศ

"ตลาดเมืองไทยอยู่ที่นักท่องเที่ยว ทองเมืองไทยมีแบบให้เลือกมากมาย ราคาก็ถูก ส่วนใหญ่พวกนี้เขามาซื้อทีละนิดทีละหน่อย แต่รวม ๆ แล้วมีจำนวนมาก ซึ่งพวกนี้เราไม่มีตัวเลขที่กรมศุลกากรจะมีแต่ตัวเลขส่งออก แล้วคนไทยก็มีการซื้อขายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจดี คนซื้อไปเพื่อเป็นเครื่องประดับกับเก็งกำไร อันนี้แหละที่ทำให้ทองมันไม่พอ" จิตติ แจกแจง

มูลเหตุใหญ่ ๆ สรุปง่าย ๆ ที่ทำให้คนชอบลักลอบทองคำเข้าเมืองไทย แต่นักท่องเที่ยวกลับแห่มาซื้อทองรูปพรรณออกไป เพราะราคาทองเมืองไทยนั้นค่อนข้างตลกไปจากเมืองนอก คือ ไม่ได้ขึ้นลงไปตามภาวะราคาตลาดโลก แต่ขึ้นกับอุปสงค์อุปทานในประเทศเป็นหลัก เพราะความเข้มงวดในการนำทองคำเข้าของกระทรวงและอัตราภาษีการค้า 3.3% จุดนี้ทำให้ทองคำในไทยราคาสูงกว่าทองคำต่างประเทศที่เคยสูงกว่ามากที่สุดนั้น เคยสูงกว่าถึง 7-8% ส่วนปัจจุบันก็ยังสูงกว่าในระดับ 4%

แต่พอนำทองคำไปแปรรูปเป็นทองรูปพรรณขายตามห้างแถวเยาวราช ราคาทองเหล่านี้กลับถูกกว่าทองรูปพรรณในต่างประเทศ เพราะค่าแรงงานของเราถูก ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เป็นต้นทุนก็ถูกกว่า และมีการซื้อขายกันในปริมาณมาก ดังนั้นแม้กำไรต่อหน่วยจะน้อย แต่กำไรทั้งหมดก็มากเอาการ ซึ่งทั้งหมดตรงข้ามกับตลาดทองในต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตัวที่จะมาซื้อทองแถวเยาวราชกันมาก แต่คนไทยกลับชอบแอบเหน็บทองแท่งมากับตัวอยู่บ่อย ๆ

แล้วห้างขายทองที่กุมตลาดนี้อยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในเยาวราช ซึ่งล้วนเป็นห้างที่สมาคมค้าทองคำมีอิทธิพลอยู่ ซึ่งแน่นอนที่ "โกลด์ยูเนียน" จะต้องเป็นผู้ขายทองให้กับห้างขายทองเหล่านี้ เพื่อนำไปแปรรูปต่อ

"ในส่วน 6,000 กิโลกรัม นี่ก็คิดว่า เพียงพอต่อลูกค้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมแล้วที่เราตั้งใจไว้ก็คือ ต้องไม่มีระเบียบหยุมหยิมมาก ใครต้องการไปซื้อก็ได้เลย ไม่ต้องไปขออนุญาต เรื่องเช็คการันตีจากแบงก์ก็ไม่ต้อง มาซื้อก็เอาทองไปทันทีเลย ลูกค้าเรารู้จักกันทั้งนั้น เครดิตแต่ละคนมันก็ดีพอสมควร" จิตติ อธิบายถึงความตั้งใจ แต่ทั้งนี้ข้อเสนอในเรื่องแก้ไขระเบียบยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ซึ่งจิตติ เชื่อว่า จากการที่ได้ถกเถียงและให้ข้อมูลมาแล้วคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะถ้าขืนยังใช้ระเบียบแบบเดิมอีก เรื่องการตั้งบริษัทก็ไม่มีความหมาย เพราะทำไปก็เจ๊งแน่ ๆ

ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ ซัพพลายเออร์ของโกลด์ยูเนียน คือ เครดิตสวิสส์ (หรือเครดิตซุยเซ CREDIT SUISSE) ซึ่งตั้งอยู่ ณ ซูริค สวิตเซอร์แลนด์

เมื่อก่อนนี้ ตลาดซื้อขายทองคำที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดลอนดอนและนิวยอร์ก แต่ทุกวันนี้ ศูนย์กลางการซื้อขายทองคำของโลกกลับไปอยู่ที่ตลาดซูริค ทั้งที่ซูริคไม่มีผู้ค้าทองรายใหญ่สัญชาติสวิสส์อยู่เลย แต่เป็นเพราะสวิสส์ได้เปรียบตลาดแห่งอื่นของโลกตรงที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการค้าทองคำ และมีระบบภาษีที่เอื้ออำนวย ประมาณว่ามูลค่าตลาดที่หมุนเวียนอยู่ในซูริคอยู่ในราว 140 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อไปหรือประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณทองคำทั้งหมด โดยการซื้อขายจะผ่านธนาคารใหญ่ที่สุด 3 แห่งของสวิสส์ คือ CREDIT SUISSE, SWISS BANK CORP. และ UNION BANK OF SWITZERLAND

เดครดิตสวิสส์ก่อตั้งในปี 2399 เป็นธนาคาร 1 ใน 10 ที่อยู่ในขั้น "TRIPLE A" ด้านผลดำเนินงานและความเชื่อถือมั่นคง สามารถถือครองตลาดค้าทองอยู่ในราว 20-30% ของการค้าทองทั่วโลก

"ผมไม่ห่วงเลยเรื่องคุณภาพหรือความมั่นคงในการนำเข้าทองครั้งนี้ เพราะเรามีซัพพลายเออร์ที่ใหญ่และดีมาก" จิตติกล่าวอย่างเชื่อมั่น พร้อมทั้งเสริมว่า สาเหตุที่โกลด์ยูเนียนได้เครดิตสวิสส์มาตั้งนานแล้ว เพื่อป้อนให้กับโรงงานทองที่ทำส่งออก ซึ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย

"ในบรรดาห้างขายทองแถวเยาวราช จินฮั้วเฮงเป็นเจ้าเดียวที่ขายหน้าร้านด้วยกับมีโรงงานแปรรูปทองคำเพื่อส่งออกซึ่งมีตลาดใหญ่ที่อเมริกาเจ้าอื่นเขาไม่เกี่ยวข้อง ใครค้าหน้าร้านก็ค้าไป มีโรงงานรับสั่งตามออร์เดอร์ก็แยกไปอาจถือว่าผมเป็นคนรุ่นใหม่ คือ ผมจัดว่าอายุน้อยในระดับพวกค้าทอง คนอื่นเขาอยู่มาเก่าแก่อายุเกิน 50 ปีไป ผมติดต่อต่างประเทศบ่อย เครดิตสวิสส์เขาเลยให้ผมเป็นเอเย่นต์ให้เขา และเขาหวังว่า สักวันหนึ่ง ผมจะทำเรื่องการนำเข้าทอง ซึ่งเร่องนี้ผมก็เป็นคนดำเนินการมาแต่ต้น" จิตติ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

คาดว่า ภายในเดือนเมษายนนี้ รายละเอียดและการเซ็นสํญญาอนุมัติอย่างเป็นทางการเพื่อให้บริษัทนำเข้าทองทั้งสามแห่งจะแล้วเสร็จ และเมื่อถึงเวลานั้นโมคัตตาอาจจะต้องเรียนรู้ตลาดทองคำเมืองไทยให้มากขึ้น เพราะอีกสองบริษัทที่เหลือก็จะยึดครองตลาดในกลุ่มของตนไว้อย่างแน่นอน ขณะที่โมคัตตาจะต้องหาตลาดรายย่อยอื่น ๆ ที่กระจัดกระจายด้วยวิธีการที่ง่ายต่อความเข้าใจต่อผู้ค้าทอง ซึ่งก็คงต้องไปทำความเข้าใจและกระตุ้นกระทรวงการคลังกันเหนื่อยหน่อย

แต่สำหรับวันนี้ จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี กำลังทำให้ถนนสายเยาวราชไปบรรจบที่ซูริคอย่างเงียบเชียบและเหลือเชื่อ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us