ปรีดา ชนะนิกร เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาที่ชื่อ ปรีดา ชนะนิกร อันเป็นชื่อเดียวกับชื่อของเขา
ปรีดาเป็นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในวงการค้าระหว่างประเทศ
ย้อนหลังกลับไป 3-4 ปีก่อนปรีดาอำลาชีวิตการเป็นมือปืนรับจ้างที่สร้างเท่าไหร่
ผลที่สุดก็เป็นของคนอื่น ปรีดาตัดสินใจตั้งบริษัทปรีดา ชนะนิกร โดยลงทุนเองทั้งหมด
เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตเขา ด้วยเหตุผลว่า ต้องการอิสรภาพและต้องการสร้างอะไรที่เป็นของตัวเองสักที
การที่เขาเอาชื่อและนามสกุลของตัวเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัท หลายคนออกจะแปลกใจว่านึกพิเรนทร์หรืออยากดัง
"ผมมีเหตุผลนะ หนึ่ง - ชื่อของผมมีการประชาสัมพันธ์มามากพอสมควรในอดีต
ถ้าตั้งชื่อเป็นชื่อตัวเอง นี่ทำให้ไม่ต้องเสียเงินโฆษณาบริษัท สอง - การเอาชื่อบริษัทเป็นเดิมพันแล้ว
ฉะนั้นล้มไม่ได้ พลาดไม่ได้ เสียหายไม่ได้ มันทำให้ต้องหันหลังชนฝาแล้วสู้อย่างขาดใจ…"
ปรีดาให้เหตุผลพร้อมเสียงหัวเราะ เพราะต้องตอบคำถามนี้บ่อย
ปรีดา ชนะนิกร เกิดที่ลาวในตระกูลขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ลุงแท้ ๆ ของเขาคือ
เฒ่าผุ้ยนั้นเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของลาว เขามีญาติพี่น้องรับราชการอยู่ที่เมืองลาวไม่น้อย
แต่ครอบครัวของเขาอพยพมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เขาอายุได้ 4 ขวบ ฝรั่งคนที่ช่วยครอบครัวเขาให้มาอยู่ในแผ่ดินไทยได้อย่างเรียบร้อยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่โอเอสเอสของอเมริกันชื่อ
จิม ทอมสัน แม่ของปรีดาเป็นคนที่ทอผ้าไหมได้งดงามมากคนหนึ่ง ซึ่ง จิม ทอมสัน
ชอบใจมาก หลังจากนั้นไม่นาน จิม ทอมสัน อันลือชื่อจนปัจจุบัน และก็ปรากฎ
"ชนะนิกร" เป็นหุ้นส่วนเล็ก ๆ ไปด้วย
ปรีดาข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร ที่มหาวิทยาลัยอเบอร์ดินแห่งสก๊อตแลนด์
เนื่องจากบิดาเขามีที่ดินอยู่เมืองลาวเกือบ 6 พันไร่ ปลูกพืชหลายชนิดแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จึงเป็นเจตนารมณ์ของพ่อที่อยากให้เขามาพัฒนาที่ดิน แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ไม่ได้ใช้วิชาที่อุตส่าห์ไปร่ำเรียนมา
ปรีดาเริ่มงานเป็นมาร์เก็ตติ้งเทรนนีที่บริษัทลีเวอร์บราเดอร์สอยู่ราวสองปี
ก่อนจะไปอยู่บริษัทแมคแคนอีริคสัน หลังจากนั้นไม่นานก็ย้ายข้ามฟากมาเป็นรองผุ้จัดการใหญ่ของบริษัทค้าสากลซีเมนต์ไทย
ในเครือปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งขณะนั้นสมหมาย ฮุนตระกูล นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
"ตอนนั้นผมถูกจับให้ทำเรื่องขายแทนคุณอมเรศ ต้องขายสินค้าเป็นพัน ๆ
ล้าน ก็กลัวเหมือนกัน เพราะเราจบด้านเกษตรมา แต่ก็สู้และคิดว่าทุกอย่างเรียนรู้ได้
ยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนั้นเครือปูนต้องการให้มีการตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
คุณสมหมายก็ให้ผมไปทำ ผมนะตอนนั้นยังไม่รู้จักแอลซีเลยว่าเป็นยังไง แต่ก็ลุยมาสร้างจนเป็นบริษัทระหว่างประเทศที่มั่นคงพอสมควร"
ปรีดา เล่า
ประสบการณ์กว่าสิบปีที่ปูนซีเมนต์ทำให้เขากลายเป็นคนที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างหาตัวจับยาก
ในที่สุด น้ำผึ้งก็ขม เขาต้องลาออกจากปูนอย่างชอกช้ำด้วยซาบซึ้งสุภาษิตไทยหลายบทโดยเฉพาะ
"จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย"
แต่คนที่รู้เรื่องของปูนซีเมนต์ดี อรรถาธิบายว่า "ตอนนั้นในปูนเป็นยุคของเสือสิงห์กระทิงแรดที่มาจากหลายแหล่งฟาดฟันกันอย่างหนัก
ปรีดาเป็นคนหนึ่งที่ถูกเด้งออกมา"
เมื่อผู้จัดการถามว่า ทำไมต้องอก เขาตอบอย่างขรึม ๆ ว่า "ผมรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ไม่ยุติธรรมกับผม"
หลังจากนอนเลียแผลอยู่พักใหญ่ เขาก็ได้รับการทาบทามจากเสี่ยงกฤษณ์ อัสสกุล
เจ้าพ่อใหญ่แห่งค่ายไทยสมุทร ซึ่งเคยได้ยินกิตติศัพท์ของปรีดาจากหน้าหนังสือพิมพ์
และเสียงร่ำลือได้ชักชวนให้ปรีดาไปช่วยสร้าง "บริษัทอโศกอินเตอร์เทรด"
ซึ่งกฤษณ์ต้องการให้เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ แต่ต้องไปสร้างบริษัทนี้จากศูนย์อย่างแท้จริง
เพราะฐานของธุรกิจในเครือของ กฤษณ์ คือ ไฟแนนซ์ประกันภัย - ประกันภัย สำหรับปรีดาแล้ว
งานบุกเบิกเป้นงานที่เขาถนัดและที่สำคัญมันท้าทายมืออาชีพอย่างเขาเป็นยิ่งนัก
อโศกอินเตอร์เทรด โตวันโตคืน ยอดขายที่ตั้งไว้บรรลุไปด้วยดี ขณะที่บริษัทในลักษณะเดียวกันประสบปัญหาไม่น้อย
ชื่อของปรีดาเฟื่องสุดขีดที่อโศกอินเตอร์เทรดนี้เอง แล้วจู่ ๆ ก็มีข่าวว่า
เขาตัดสินใจอำลาจากบริษัทที่ตัวเองสร้างมากับมือด้วยเหตุผลสั้น ๆ ว่า "อยากเป็นเถ้าแก่เองเสียที"
ประสบการณ์นับสิบปีกับวงการค้าต่างประเทศ ทำให้เขารู้กลไกของการนำเข้าส่งออกอย่างลึกซึ้ง
นั่นเป็นที่มาของหนังสือ "คู่มือการส่งออก" ที่เขาเขียนขึ้นจากประสบการณ์ทั้งหมดของตัวเอง
หนังสือนี้ขายดิบขายดีและสร้างชื่อเสียงให้ปรีดาไม่น้อยเมื่อ 4 ปีก่อน
หลังจากนั้น ข่าวคราวของปรีดาค่อนข้างเงียบหายไปจากวงการ เขาเริ่มธุรกิจที่ปรึกษาโดยอาศัยสายสัมพันธ์ที่สั่งสมมานาน
หาลูกค้าจากต่างประเทศที่ต้องการมาลงทุนในไทย ซึ่งในช่วงแรกค่อนข้างยากลำบากไม่น้อย
แต่นับเนื่องจากกระแสการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลบ่ามาบ้านเราไม่น้อย หากนับเป็นการเก็งตลาดถูกก็ไม่ผิดนัก
บริษัทปรีดานั้น ทำการติดต่อให้นักลงทุนจากต่างชาติจนครบวงจรตั้งแต่ติดต่อกับราชการไทย
หาผู้ร่วมทุนติดต่อจัดสร้างโรงงาน และช่วยจนกระทั่งผลิตสินค้าล็อตแรกออกมาได้เป็นอันหมดหน้าที่
ซึ่งขึ้นอยู่กับลูกค้าว่า ต้องการให้บริษัทช่วยเหลืออะไร
ในรอบ 3 ปีมีโครงการผ่านมือบริษัทไป 30 กว่าโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากไต้หวัน
ออสเตรเลีย และยุโรป สำหรับออสเตรเลียนั้นพิเศาหน่อยตรงที่รัฐบาลของรัฐนิวเซ้าท์เวลส์
ติดใจในฝีไม้ลายมือของปรีดา ได้แต่งตั้งให้ปรีดาเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ประจำประเทศไทยติดต่อกันมา
2 ปีแล้ว ตำแหน่งนี้มีเงินเดือนประจำที่สูงโขอยู่ ทำหน้าที่ช่วยเหลือให้ความกระจ่างแก่นักลงทุนจากออสเตรเลียที่ต้องการมาลงทุนในไทย
ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้เมื่อต้องการมาลงทุนจริงๆ ก็มักจะใช้บริการของบริษัทของเขา
นับเป็นตำแหน่งที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเขาไม่น้อย ยิ่งถ้าดูสถิติการมาลงทุนจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมาก
หลังจากเริ่มทำการค้ากับไทยอย่างจริงจังเมื่อ 3-4 ปีก่อนเท่านั้น
นอกจากจะทำธุรกิจด้านให้คำแนะนำปรึกษาแล้ว เขายังเป็นผู้ร่วมทุนกับนักลงทุนบางรายที่จะรู้สึกมั่นใจและอุ่นใจว่า
การลงทุนของเขาไม่ผิดพลาดแน่ หากบริษัทที่ปรึกษาร่วมทุนด้วย ในระยะหลังนี้
ปรีดาได้ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเองด้วย ล่าสุดนี้ เขาไปตั้งบริษัทปรีดา สาขาประเทศลาว
ตามกระแสนโยบายแปรสนามรบให้เป็นการค้าของรัฐบาล ธุรกิจนี้เน้นหนักไปในทางค้าไม้และแร่
ซึ่งกำลังจะเปิดที่ทำการในเวียงจันทน์เดือนหน้านี้ ว่ากันว่า ธุรกิจที่ลาวนี้ทำท่าจะไปดี
เพราะเขามีสายสัมพันธ์กับข้าราชการลาวไม่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นญาติ ๆ ของเขาทั้งนั้น
วัย 48 ปีของปรีดา ชนะนิกร ชีวิตเขายังคงทำงานหนักตั้งแต่ 7 โมงไปจนมืดค่ำทำงานเงียบ
ๆ รวยเงียบ ๆ ไปกับธุรกิจตัวเองที่มีอนาคต บทสรุปข้อหนึ่งของมืออาชีพมาตลอดชีวิตเช่นเขาแล้วตัดสินใจมาเป็นเถ้าแก่เสียเอง
"เป็นลูกจ้างอาชีพบางทีเราก็สงสัยว่าเรามีค่าตัวสักเท่าไหร่ ตอบยากเหมือนกัน
ต้องลงมาทำเอง แล้วเราจะพบว่า เรามีมูลค่ามากกว่าที่คิดไว้เยอะ แต่ก็ต้องระวังนะ
เพราะผมเห็นว่าโดดลงมาทำเอง โอกาสรอดตายมีเพียง 2 ใน 10 เท่านั้น เพราะมืออาชีพเคยชินกับมวยฝรั่งทุกอย่างมีกฎระเบียบลงมาเจอมวยวัด
บางทีอาจจะเสียมวยไปเลย" ปรีดา พูดทิ้งท้าย