เรื่องของ "บัวหลวงประกันภัย" ที่กำลังผัดหน้าทาปากเตรียมออกมาโลดแล่นอีกครั้งในนาม
"สหสินประกันภัย" ด้วยเจ้าของผู้ดำเนินกิจการคนใหม่ที่ทำงานใหม่
อะไร ๆ ก็คาดว่าจะใหม่หมด คงสร้างความรู้สึก และความทรงจำที่ดีขึ้นต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
และผู้เกี่ยวข้องในระบบ ช่วงเวลามากกว่าสี่เดือนที่ข่าวคราวเกี่ยวกับ "บัวหลวงฯ"
ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน (รวมทั้ง "ผู้จัดการ"
ด้วย) คงทำให้หลายคนรู้สึกเสียว ๆ กับความเจริญเติบโตของวงการประกันภัยที่หลายคนพยายามบอกว่า
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เป็น "ปีทอง" ของการประกันภัย… ว่าที่ผ่านมานั้น
… "หลอกกันเล่นหรือเปล่า ?!?…"
ซึ่งผู้ที่ทำให้ "หายเสียว" นี้ก็คือ บรรดาผุ้เข้ามาเสนอตัวแบกรับความสูญเสียทั้งหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็น "กลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง อัศวินวิจิตร และโอสถสภา" ผู้หยิบชิ้นปลามันนี้ไปครอง
หรือแม้เแต่ "ธนาคารเอเชีย" แบงก์เจ้าหนี้ที่อกหักไปหมาด ๆ ก็น่าจะทำให้เราหันมามองกันว่า
"ประกันภัย" นี่คงมีอะไรดีแน่ ๆ ไม่งั้นยักษ์ใหญ่ทั้งหลายคงไม่ยื่นมือมาแย่งเป็นเจ้าของกันหนุบหนับเช่นนี้
"สหสินประกันภัย" จะยังคงไม่เริ่มธุรกิจใหม่ให้เราเห็นจนกว่าจะถึงวันจันทร์ที่
3 กรกฎาคมปีนี้ ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เดือนเดียวกัน
โดยใช้ชั้น 2 ของ จี.เอฟ. เป็น "ฐานทัพ" ใหม่
"คุณแน่ใจได้ เราทำใหญ่เลยทันที ยังมีเวลาอีกนาน ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตระเตรียมกันอยู่"
ชินเวศ สารสาส กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จี.เอฟ. เครือโอสถาสภาฯ
บอก "ผู้จัดการ"
หลายคนคงมีความสงสัยอยู่บ้างว่า กลุ่มศรีเฟื่องฟุ้งมีกิจการประกันภัยอยู่แล้วสองแห่ง
คือ ที่ รสพ.ประกันภัย และไทยศรีนครประกันภัยฯ ตระกูล "อัศวินวิจิตร"
จากแสงทองค้าข้าวที่เป็นผู้ส่งออก "ข้าว" รายใหญ่ก็มีไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต
ไม่น่าที่จะมาสนใจเรื่องประกันภัยนี้มากนัก
เพราะฉะนั้น "ทริค" ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเทคโอเวอร์ "บัวหลวงฯ"
ครั้งนี้ โดยเฉพาะทางด้านการเงินก็น่าจะเกิดขึ้นจาก "หัวสมอง"
ของคนที่ทำงานเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ หรือชินเวศ สารสาส แน่นอน
ที่สุดเริ่มต้นนั้น เป็นการพูดคุยกันระหว่าง "ชินเวศ สารสาส"
กับ "กรพจน์ อัศวินวิจิตร" ในฐานะที่ จี.เอฟ.โฮลดิ้งของชินเวศ
ถือหุ้นอยู่ในที.เอส.ไลฟ์ฯ ของกรพจน์อยู่จำนวนหนึ่ง เรียกว่า คนทั้งสองนี้เคยทำธุรกิจและเพื่อนซี้ด้วยกันมาจึงรู้ขารู้ใจกันเป็นอย่างดี
ในช่วงที่ข่าวคราวการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการเป็นเจ้าของ "บัวหลวงฯ"
เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ผู้ซึ่งมีบริษัทประกันภัยอยู่ในมือ แล้วถึงสองบริษัทดังว่า
อยากที่จะมีธุรกิจประกันภัยไว้ในมืออีกแห่งหนึ่ง จึงเสนอตัวเข้ามาเจรจาต้าอ่วยกับสองคนแรก
โดยเสนอเงื่อนไขขอร่วมหุ้นด้วย 30%
ส่วนสิ่งที่ทำให้ชินเวศ กับกรพจน์ใช้เวลาไม่นานนักในการตัดสินใจร่วมมือกับ
"กลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง" ซึ่งมีธุรกิจประกันภัยอยู่ในมือมีคอนเนคชั่นที่จะช่วยให้ความตั้งใจของตนสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ข้อเสนอที่ทำให้ทั้งอสงไม่อาจปฏิเสธอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ "ไทยศรีนครประกันภัยฯ"
ยอมรับคุ้มครองกรมธรรม์จำนวน 11,250 ฉบับจาก "บัวหลวงฯ" ต่อ ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นที่ปวดเศียรเวียนเกล้ากับทั้งสองว่า
จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี
เพราะแะนั้นในขั้นต้นเรื่องที่เกี่ยวกับการประกันภัยก็ดูว่า จะ "เข้าล็อก"
ยังเหลือก็แต่เพียงว่า เงินที่จะเอามาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายให้กับ "ลูกค้า"
ที่เสียหายประมาณ 97.5 ล้านบาท เมื่อรวมกับทุนจดทะเบียนของบริษัท 45 ล้านบาท
รวมเป็นเงินประมาณ 112.5 ล้านบาท จะทำอย่างไรแต่ก็นั่นแหละ ในฐานะผู้บริหารที่เล่นกับการเงินและบัญชีตัวยงอย่างชินเวศ
มีหรือเร่องแค่นี้จะหาทางที่ออกไว้ไม่ได้
วิธีการที่ชินเวศใช้ก็เป็นการใช้หลักการบัญชีเบื้องต้นง่าย ๆ ที่ไม่มีใครนึกถึง
แต่เขากลับคิดเอามาใช้ได้ และได้ผลอย่างดีเสียด้วย
"ทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท ราคาพาร์ของหุ้น 5 บาท เราก็ขาย 12.50 บาท
เท่านี้เราก็มี "พรีเมี่ยม" หรือส่วนเกินมูลค่าหุ้นเกิดขึ้น 67
ล้านบาทในบัญชี" ชินเวศอธิบาย
"เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ สามารถทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายใน
25 ปี หรือที่เราเรียกว่า วิธี AMORTIZATION ซึ่งเราก็ถือว่าเป็น ACQUISITION
EXPENSE ในการได้มาซึ่งใบอนุญาต" ชินเวศ เล่าต่อ
ด้วยวิธีการเช่นนี้เอง ในการลงบัญชีก็จะตั้งสองบัญชีนี้ให้เท่ากัน นั่นก็คือออกหุ้นราคาพาร์
แต่ขายราคาพรีเมี่ยมแล้วเอาพรีเมี่ยมมาจ่ายค่าใช้จ่ายในการร่วมหุ้นครั้งนี้
หรือสรุปง่าย ๆ ว่า เป็นการซื้อที่ จี.เอฟ. ไม่ต้องจ่ายเงินสด 67 ล้านบาท
เพราะเป็นสินทรัพย์อื่นเป็นตัวเลขทางบัญชี พวกเขาจ่ายเงินสดในการซื้อ "บัวหลวงฯ"
จริง ๆ ก็แค่ 45 ล้านบาท
ด้วยวิธีนี้ พวกเขายังไม่ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ภาษี ซึ่งจริง
ๆ แล้ว ชินเวศเองก็เป็นนักบริหารการเงินคนหนึ่งเพื่อความ "แน่ใจ"
เขาจึงปรึกษากับสำนักงานสอบบัญชีที่มีชื่อเสียงไว้ใจได้ ขอคำแนะว่า วิธีการที่กำลังจะใช้นี้
"ใช้ได้" แน่นอนหรือไม่
สำนักงานสอบบัญชีที่ว่าก็คือ พีท มาร์วิค แอนด์ สุธี ซึ่งมีสุธี สิงห์เสน่ห์
อดีตขุนคลังคนสุดท้ายของรัฐบาลเปรมฯ เป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วยคนหนึ่ง
เรียกว่าต้องให้มั่นใจเป็นสองชั้นสามชั้นจริง ๆ ถึงจะทำเพราะฉะนั้นเรื่องนี้รับประกันความเสี่ยงได้
และวิธีนี้สำนักงานประกันภัยก็ตอบมาให้ จี.เอฟ. สบายใจในขั้นต้นแล้วว่า "ถูกต้อง"
สรุปอีกทีก็ต้องบอกว่า งานนี้ถูกหวยทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็น จี.เอฟ.ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ก็คือ
เช่าซื้อ ซึ่งมีลูกค้าจำนวนมากใช้บริการสินเชื่อทางด้านซื้อรถยนต์อยู่ก็จะได้บริการครบวงจร
แสงทองค้าข้าวก็จะได้องค์กรธุรกิจที่ตนเองเข้ามามีส่วนในการบริหาร ช่วยแบ่งเบาความ
"เสี่ยง" ที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการประกันภัยทางทะเล ซึ่งบริษัทเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเจ้าอื่นมานาน
ศรีเฟื่องฟุ้ง ผู้มาทีหลังก็แน่นอนว่า สบายอกสบายใจว่า ใครเพื่อนที่จะได้ขยายธุรกิจประกันภัยของตนเองให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม
และจากข่าวล่าสุดที่ว่า ทางกลุ่มสหสินประกันภัยจะให้บริษัทประกันภัยในกลุ่ม
ANZ (AUSTRALIA AND NEW ZEALAND BANKING GROUP LIMITED) จากออสเตรเลียเข้ามาถือหุ้นอีก
25% นั้นก็พอจะทำให้มั่นใจว่า คราวนี้ สหสินประกันภัยคงจะไม่มีอนาคตดังเช่นเจ้าของเดิม
"บัวหลวงประกันภัย" ค่อนข้างแน่
จะมีก็เพียง "ธนาคารเอเชีย" เท่านั้นที่ป่านนี้ยังคงไม่รู้ว่า
ทำไมกระทรวงพาณิชย์ถึงได้ให้อนุญาตให้กลุ่ม "สามประสาน" ศรีเฟื่องฟุ้ง
- โอสถสภา - อัศวิน - วิจิตร เข้าบริหาร "บัวหลวงฯ" ทั้ง ๆ ที่เสนอเงื่อนไขที่ดีกว่า
แต่ก็นั่นแหละ บนเส้นทาง "ธุรกิจ" สายนี้จะหาอะไรที่แน่นอนหนักหนาคงเป็นไปไม่ได้
ก็คงได้แต่ปลงอนิจจัง แล้วลับกระบี่ของตัวเองให้คมกว่านี้ แล้วมาว่ากันใหม่ครั้งต่อไปก็ทำได้เท่านั้นเองแหละ…