Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2532
ปตท. ผู้เป็นทั้งกรรมการและผู้เล่น             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ เชลล์แห่งประเทศไทย

   
search resources

ปตท., บมจ.
เชลล์แห่งประเทศไทย, บจก.
Exxon Mobil Corporation
Oil and gas




"เราต้องแข่งขันกับบริษัทต่างชาติต้องทำงานเหมือนกับเขา วิธีเดียวที่จะแข่งกับเขาได้ คือ ต้องเหมือนเขา เราต้องหารออกมาเลยว่า เราขายเท่าไร คนหนึ่งสามารถทำผลงานให้ได้เท่าไหร่ นึกภาพว่าเราต้องปรับคนของเรา ต้องรู้เขารู้เรา เราต้องรู้ว่าต้นทุนต่อหน่วยของเราเป็นเท่าไหร่ ต้นทุนต่อหน่วยของเขาเป็นเท่านี้ ทำไมของเราสู้เขาไม่ได้ ทำอย่างไรของเราจึงจะมีประสิทธิภาพ…

…อย่าไปใช้กฎหมาย อย่าไปใช้อภิสิทธิ์มาปิดกิจการ เพราะนั่นทำให้คนของเราเฉื่อยชาไม่ก้าวหน้า ผมสนับสนุนการแข่งขันแบบเสรีก็เพราะว่า เราอาจสู้เขาไม่ได้ในระยะสั้น แต่เราต้องหาวิธีสู้ในระยะยาวให้ได้ ถ้าเราไปกลัวหมด มันทำให้เราล้าหลัง"

คำกล่าวข้างต้นเป็นความเห็นของประยูร คงคาทอง อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของเอสโซ่ ซึ่งพอจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะเห็นองค์กรของรัฐ เช่น ปตท.เข้าแข่งขัน หรือดำเนินการในธุรกิจน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้มีการแข่งขันอย่างทัดเทียมกัน

สิบปีที่ผ่านมา ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นแขนขาของรัฐในการต่อรองทางด้านพลังงานกับบริษัทต่างชาติ เมื่อองค์กรเติบใหญ่ขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น คำพูดที่กล่าวถึง ปตท.ค่อนข้างมากก็คือ ปตท.เป็นทั้งกรรมการและนักมวยที่ลงมาต่อยกับนักมวยด้วยกัน

หรืออีกนัยหนึ่งเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานที่มี ปตท.เป็นกลไกสำคัญร่วมอยู่ด้วยในธุรกิจนั้น

ปัญหาที่กล่าวข้างต้น คงไม่สามารถอธิบายได้ด้วย "พฤติกรรม" หรือ "การกระทำ" อย่างใดอย่างหนึ่งของ ปตท.เท่านั้น แต่เรายังคงต้องย้อนกลับไปมองปัจจัยอื่น ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจเดิมที่ตั้งองค์กรอย่าง ปตท. ขึ้นมาด้วยสาเหตุใด

มีอะไรบ้างที่ ปตท. เป็นผู้กำหนดในการแข่งขัน ความได้เปรียบเสียเปรียบของคู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้ กลไกราคาการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิต เพื่อนำไปสู่หนทางของ "ความเป็นไปได้" ที่จะเกิดขึ้นของสิ่งที่เรากำลังกล่าวถึง…การแข่งขันอย่างเสรีในตลาดน้ำมัน

ปตท.เกิดขึ้นมาด้วยความฉุกละหุกอย่างยิ่ง เนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมันที่เกิดขึ้นในสองครั้ง ครั้งแรกในปี 2516 - 2517 ภายหลังจากนั้นไม่กี่ปี รัฐบาลก็ได้ตรา พ.ร.บ.ปิโตรเลียมขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการตั้งหน่วยงานใดที่มีอำนาจในการดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศอย่างเต็มที่

อีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สองในระหว่างปี 2522 - 2523 บริษัทน้ำมันต่างชาติในประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้กันมากที่สุดในช่วงนั้น เข้ามาให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในประเทศได้ ก็เนื่องจากรัฐบาลกำหนดราคาขายไว้ต่ำกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่บริษัทต่างชาติสั่งเข้ามาขายอย่างมาก หรือพูดง่าย ๆ ไม่มีใครอยากสั่งเข้ามาขาดทุนนั่นเอง

"ปตท.ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความสามารถและอำนาจในการจัดหาน้ำมัน สำรองและจัดจำหน่าย ถ้าเราสังเกตดูภาคพื้นอาเซียนและทั่วโลก จะเห็นว่าเป็นช่วงเดียวกันกับที่มี "บริษัทน้ำมันแห่งชาติ" เกิดขึ้นมากมายเพื่อต่อรองกับบริษัทต่างชาติ" ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ รองผู้ว่าการฝ่ายบัญชีและการเงินของ ปตท. บอก "ผู้จัดการ"

ในฐานะที่เป็น "แขนขา" ของรัฐในการต่อรองกับบริษัทต่างชาติ แท้ที่จริงแล้ว ส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับ "ความอยู่รอด" ของบริษัทน้ำมันต่างชาติ หรือตัว ปตท.เองไม่ได้มาจาก ปตท.

สิ่งที่ ปตท.ควบคุมและกล่าวได้ว่าเป็น "หนามยอกอก" ของบริษัทน้ำมันต่างชาติ คือ ปตท.เป็นผู้กำหนดโควตาการนำเข้าน้ำมัน และเป็นผู้ขายแก๊สให้กับบริษัทต่างชาติ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป

ส่วน "ราคา" ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานในขั้นสุดท้ายนั้น คือ รัฐบาลไม่ใช่ ปตท.

รัฐบาลมีหน่วยงานที่สำคัญ คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้กำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ มีอำนาจในการทำหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน มติของคณะกรรมการไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากครม.เพียงแต่นำเข้าเพื่อรับทราบเท่านั้น

"คณะกรรมการมีอนุกรรมการอยู่สามชุดด้วยกัน มีคณะอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม เสนอมาตรการและนโยบายเกี่ยวกับปิโตรเลียม เป็นผู้กำหนดราคา ณ โรงกลั่น ราคานำเข้า และเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน" ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปิโตรเลียมท่านหนึ่งอธิบายให้ฟัง

อีกสองชุด คือ คณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอื่นที่ไม่ใช่ปิโตรเลียมและคณะอนุกรรมการศึกษาความต้องการ และผลิตพลังงาน มีหน้าที่ในการศึกษา และติดตามสถานการณ์ทั่วไปด้านพลังงาน รวมทั้งดูแนวโน้มในอนาคต

ในด้านของการมีจัดตั้งองค์กรทางด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากประการหนึ่งก็คงไม่พ้นเรื่องที่ว่า ผู้ที่ "ได้เปรียบ" ก็คือ ผู้ที่มีสายการดำเนินงาน "ครบวงจร" ตั้งแต่การสำรวจและผลิต มีโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นของตัวเอง บริษัทการตลาดที่เข้มแข็ง และอาจหมายรวมถึงการเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยก็ได้

เราก็จะเห็นได้ชัดว่า ในธุรกิจน้ำมันขณะนี้ใครมี "แต้มสูง" "แต้มต่ำ" แต่อย่างไรก็พอจะอุ่นใจได้ว่าเท่าที่ผ่านมา ปตท.ได้สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับสามบริษัทน้ำมันต่างชาติ

บริษัทน้ำมันต่างชาติที่อาจถือได้ว่า เกือบจะ "ครบวงจร" ที่สุด ในขณะนี้ก็ไม่หนีไปจาก "เอสโซ่" เสือตัวใหญ่ที่ดำเนินงานในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลา 95 ปี

เอสโซ่เข้ามาเปิดกิจการครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดตั้งเป็นหน่วยงานสาขาของบริษัท "สแตนดาร์ดออยล์" ซึ่งตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2437 ได้มีการพัฒนามาตลอดจนในที่สุดได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทยในปี 2508 โดยใช้ชื่อว่า "บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด"

ความ "ครบวงจร" ของเอสโซ่ คือ เอสโซ่มีบริษัทสำรวจในเครือเอกชนที่แม้จะยังไม่พบน้ำมัน แต่ก็พบแก๊สแล้ว แต่ยังไม่นำขึ้นมาใช้ เอสโซ่ซื้อโรงงานจากบริษัท ยางมะตอยไทย มาดำเนินการโดยนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นน้ำมันเอง ในตั้งแต่ปี 2510 ด้วยกำลังการผลิตเพียง 7,000 บาร์เรลต่อวัน จนในปัจจุบันได้ขยายกำลังการผลิตเป็น 63,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเท่ากับหนึ่งในสามของกำลังการผลิตที่มีทั้งหมดในประเทศ

เมื่อเทียบกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยที่เข้ามาทำกิจการด้านพลังงานในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน จะเห็นได้ว่า ความไดเปรียบของเชลล์ที่มีบริษัทสำรวจขุดเจาะที่สำคัญ "ไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น" นั้น ในทางปฏิบัติไม่ได้ทำให้เชลล์มีโอกาสก้าวหน้าไปมากกว่าเอสโซ่มากนักในอุตสาหกรรมน้ำมันนี้

บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย เริ่มนำผลิตภัณฑ์น้ำมันก๊าด ตรา "มงกุฎ" เข้ามาให้ประชาชนชาวไทยใช้เมื่อประมาณ 96 ปีที่แล้ว หรือประมาณเดือนกันยายน 2435 โดยมีบริษัทเชลล์ทรานสปอร์ต แอนด์ เทรดดิ้ง เป็นเจ้าของรับจ้างจากบริษัทรอยัลดัทช์ปิโตรเลียมให้ขนน้ำมันก๊าดจากสุมาตรา (อินโดนีเซีย) เข้ามาในประเทศไทย

บริษัทน้ำมันตรา "หอย" หรือเชลล์ในประเทศไทย มีบริษัทในเครือที่ทำกิจการเกี่ยวกับน้ำมันหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเชลล์การผลิต บริษัทไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์โปรดักชั่น ผู้ทำหน้าที่สำรวจขุดเจาะค้นหาน้ำมันในสัมปทานที่ได้รับบนที่ราบภาคกลาง อันได้แก่ แถบจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นอกจากนั้น ก็ยังมีบริษัทไทยแลนด์ สเมลติ้ง แอนด์ รีไฟนิ่ง (ไทยซาร์โก้) จำกัด ผู้ผลิตโลหะดีบุกรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย

ที่ว่าการที่บริษัทขุดเจาะเป็นของตัวเองไม่ได้ ทำให้เชลล์ได้เปรียบบริษัทคู่แข่งอย่างเอสโซ่ที่มีโรงกลั่นเป็นของตัวเองนั้นก็เพราะว่า…

น้ำมันดิบเพชรที่เชลล์ขุดและนำขึ้นมาได้วันละ 20,000 บาร์เรลจากแหล่งสิริกิติ์ที่ลานกระบือ กำแพงเพชรนั้น ในเงื่อนไขที่มีต่อรัฐบาล ปตท.จะเป็นผู้รับซื้อน้ำมันดิบทั้งหมด เพื่อนำไปให้โรงกลั่นของรัฐ คือ ไทยออยล์และบางจากฯ กลั่นต่อไปในราคาถูกกว่าซื้อจากต่างประเทศ

ถึงแม้เชลล์จะมีหุ้นอยู่ในไทยออยล์ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เพราะไม่มีโรงกลั่นเป็นของตัวเอง เชลล์จึงค่อนข้างลำบากที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะมีโควต้าน้ำมันสำเร็จรูปจากการกลั่นแล้วไม่มากนัก เมื่อเทียบกับที่ผลิตมาได้จริง

"เชลล์เขาเสียเปรียบเราที่ไม่มีโรงกลั่น เรามีโรงกลั่น เราก็จะบอกได้ว่า อันนี้ขายดี ทำมามาก ๆ หน่อย ถ้าเราต้องการคุณภาพอย่างนี้ เราก็คุยกับโรงกลั่นของเราได้ ซึ่งทางเชลล์จะขาดออันนี้ ซึ่งเขาไม่สามารถบอกให้โรงกลั่นทำอย่างนี้ได้ แต่เราทำได้" อดีตผู้บริหารระดับสูงของเอสโซ่คนหนึ่งเล่าให้ฟัง

แต่เมื่อมองในทางตรงกันข้าม คาลเท็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งก็ดูจะลำบากยากใจมากกว่าที่ไม่มีโรงกลั่นเป็นของตัวเอง ไม่มีบริษัททำการสำรวจ ขุดเจาะในประเทศไทย จะมีแต่เพียงเป็นผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งในไทยออยล์เช่นเดียวกับเชลล์เท่านั้น

ซึ่งเมื่อมองจากจุดนี้หากไม่คำนึงถึงปัญหาด้านการบริหารงาน ในแง่โครงสร้างองค์กรความคล่องตัวที่แตกต่างกันของบริษัทเอกชนที่ทำการแข่งขันกันในระดับชาติแล้ว ปตท.อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทุกประตู

เริ่มจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตที่เดิมเป็นฝ่ายเล็กๆ ในปตท.แล้วแยกออกมาดำเนินการในรูปแบบริษัทมี ปตท.เป็นผู้ถือหุ้น 100% โดยไม่ต้องใช้ระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจทั่วไปในการดำเนินงานนั้น เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการเป็น "อุตสาหกรรมครบวงจร" เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตของ ปตท.

ปตท.มีโรงกลั่นของรัฐ คือ ไทยออยล์ และบางจากปิโตรเลียมเป็นแขนขาที่สำคัญของ ปตท.ในธุรกิจน้ำมัน เนื่องจากทั้งสองแหล่งมีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 190,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับความต้องการใช้น้ำมันของประเทศไทยในปี 2530 ประมาณวันละ 248,600 บาร์เรลต่อวัน จะเห็นได้ว่าน้ำมันสำเร็จรูปจากบางจากฯ ที่ ปตท.รับซื้อทั้งหมด บวกกับส่วนจากไทยออยล์ที่ถึงแม้จะต้องหักส่วนที่แบ่งขายให้เชลล์และคาลเท็กซ์แล้ว ก็ถือว่า ปตท.เป็นผู้คุมตลาดน้ำมันในประเทศไทยได้อย่างเต็มปาก

ปตท.ในระยะสิบปีที่ผ่านมา ยังมีสิ่งที่พอจะเห็นได้อยู่บ้างวันนี้มีแนวโน้มว่าเป็นจุดอ่อนอยู่บ้างก็คงเพราะ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดความคล่องตัว จนหลายคนออกปากว่า ค่อนข้างจะเชื่องช้าอืดอาดด้วยซ้ำ

อีกส่วนหนึ่งก็เห็นจะเป็นความนิยมชมชอบในผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ปตท.น้อยกว่าบริษัทต่างชาติ ด้วยนิสัยของคนไทยที่มักมองว่า "ของนอก" ดีกว่า "ของไทย"

"ผมว่าไม่จริง คนไทยไม่ได้ชอบของนอก แต่ชอบของดี มีคุณภาพ และผมเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ของ ปตท.ตอนนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้มากขึ้น" เลื่อน กฤษณกรี รองผู้ว่าการด้านการตลาดของ ปตท.บอก "ผู้จัดการ"

ปัญหานี้กับตัว ปตท.เองก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าหนักใจนัก ปลิว มังกรกนก อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายบัญชีและการเงิน ผู้ซึ่งเป็นกรรมการศึกษาและวางแผนในการสร้าง "ภาพพจน์" ของ ปตท. แก่บุคคลภายนอกเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า

"ปตท.ทำวิจัยตลาดไว้เรื่องผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เราสงสัยว่า ทำไมคนไทยถึงไม่นิยมสินค้าของปตท." ปลิวบอกถึงหนึ่งในหัวข้อที่ ปตท.ศึกษา

ผลการศึกษาได้บ่งบอกถึงแนวทางในอนาคตของ ปตท. การวิจัยรายงานว่าเนื่องจาก ปตท.เพิ่งเข้าสู่ตลาดในระยะเวลาไม่นานนัก ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะให้ผู้บริโภคยอมรับ หรือมีความภักดีในยี่ห้อสินค้า (BRAND ROYALTY)

"เขาบอกว่า คนรุ่นเดียวกับผมนี่ "ลืมมันได้เลย" พวกนี้ไม่มีทางที่จะใช้ ปตท.มีแต่คนรุ่นใหม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องลงทุนคิดดูว่า มันจะต้องอีกนานแค่ไหน การสร้างภาพพจน์กับสินค้าไม่ใช่เรื่อทำกันง่าย ๆ แต่เราก็บอกกับตัวเองว่า มาถึงจุดที่ไม่เลวแล้วในการแข่งขันกับเอกชน" ปลิวกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เกี่ยวกับความคิดหรือข้อวิจารณ์ที่ว่า ปตท.เป็นทั้งกรรมการและผู้แข่งขัน และหนทางที่จะให้ ปตท.ลงมาแข่งอย่างเสรีนั้น ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.เอง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศมองเห็นว่า มีข้อปลีกย่อยบางส่วนที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่โดยสรุปรวมแล้ว พวกเขาพร้อมเสมอที่จะสนับสนุนให้ ปตท.ลงมาแข่งกันอย่างเสรี

เนื่องจากการตั้งราคาน้ำมันถึงแม้จะมีคณะกรรมการต่าง ๆ (ข้างต้น) คอยดูแล แต่ ปตท.เองก็เป็นผู้สนับสนุนทางด้านข้อมูลให้กับรัฐบาลทำให้ถูกมองอยู่สองจุด จุดหนึ่ง คือ เป็นกรรมการและนักมวยดังที่ถูกพูดถึงเสมอ ๆ

"จุดที่ ปตท.เป็นกรรมการด้วยนี่ผมว่าไม่จริง แต่ถ้าบอกว่า ปตท.มีสิทธิพิเศาเหนือคนอื่นก็ต้องบอกว่ามี เช่น สิทธิการขายให้หน่วยราชการ สิทธิในการกำหนดราคาให้หน่วยราชการ สิทธิในการกำหนดราคาแก๊สแต่เพียงผู้เดียว" ปลิวอธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

คำถามก็คือว่า การกระทำเช่นนี้เพื่อใคร ผู้รับประโยชน์คือใคร เมื่อ ปตท.เป็นหน่วยงานของรัฐ เงินทุกบาททุกสตางค์ก็เข้ารัฐ ???

และเมื่อกล่าวถึงการที่ ปตท.จะลงมาแข่งขันอย่างเสรี ในตลาดน้ำมันนั้น ข้อวิจารณ์ถึงความไม่ยุติธรรมของการเป็นองค์กรของรัฐที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็เห็นจะเป็นการที่ ปตท. "ผูกขาด" การขายให้กับหน่วยราชการรวมทั้งรัฐวิสาหกิจด้วยกัน

"เราก็ต้องดูว่าสิทธิผูกขาดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อย่าลืมว่าเมื่อก่อนมีองค์การเชื้อเพลิง (อ.ช.พ.) อ.ช.พ.จะไปสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างเชลล์ คาลเท็กซ์ เอสโซ่ได้อย่าไรก็ต้องให้แต้มต่อเขา"

สิ่งเหล่านี้คนของ ปตท.ถือเป็น "ทุน" ในการต่อสู้กับบริษัทต่างชาติ เนื่องจาก ปตท.มี "ข้อจำกัด" เช่น จำนวนพนักงานที่มากกว่า ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากกว่า ซึ่งถูกบังคับอีกขั้นด้วยระเบียบรัฐวิสาหกิจ หรืออำนาจของสหภาพแรงงานที่เราทราบกันดีอยู่ว่า ไม่สามารถไล่ใครออกได้ง่าย ๆ

"นั่นก็คือ รัฐบาลให้สิ่งที่สำคัญมาเป็นทุน คือ ทรัพยากร ให้ ปตท.มาให้สิทธิในการขายกับรัฐบาล สิทธิในการขายแก๊สเหมือนนักมวยคนละรุ่นก็ต้องให้อาวุธกัน เพื่อที่จะสู้กันได้" ปลิวบอกกับ "ผู้จัดการ"

เรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาอีกประการหนึ่ง ก็คือ การมองด้านเศรษฐศาสตร์ การเจริญเติบโตของประเทศว่า ควรจะใช้นโยบายอย่างไร กับราคาน้ำมัน ซึ่งด้านหนึ่งเกี่ยวพันกับ "เสถียรภาพ" ของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย

ซึ่งนโยบายราคาที่ว่านี้ต้องทำการพิจารณากันตั้งแต่น้ำมันดิบที่นำเข้ามา การจัดซื้อจัดหา การตั้งราคา ณ โรงกลั่น ราคาขายปลีกที่ให้บริษัทต่าง ๆ ขายให้กับผู้บริโภค แนวความคิดในระยะหลังที่ถูกกล่าวถึงกันมากก็ได้แก่ การให้น้ำมันราคาเดียวทั่วประเทศ หรือราคาน้ำมันลอยตัว เป็นการให้รัฐบาลเป็นอิสระจากราคาน้ำมัน ซึ่งอาจจะใช้วิธีการใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกกองทุนน้ำมันหรืออื่น ๆ

ในการจัดซื้อน้ำมันดิบ ปตท.จะจัดการประมูลเพื่อทำกาซื้อประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ๆ ละเท่ากับจำนวนที่ต้องใช้ คือ วันละ 65,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำการซื้อขายเป็นล็อตใหญ่ ๆ เพื่อการต่อรองหรือลดราคาที่ควรจะได้รับ

หรือใช้วิธีการซื้อน้ำมันดิบแบบมีสัญญาระยะยาวหรือ TERM PURCHASE ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้เพื่อประกันความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำมันดิบและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะการขาดแคลนน้ำมันดิบ เช่น การซื้อจากตลาดจร (SPOT MARKET)

วิธีการในอดีตที่ใช้กันจนเกิดเรื่องอื้อฉาวใหญ่โตมีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับ "แหล่งที่มา" ของน้ำมันดิบที่สั่งซื้อนั้น

นอกจากน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ได้แก่ น้ำมันดิบเพชร ผ10,000 บาร์เรลต่อวัน) เอราวัณคอนเดนเสท (5,000 บาร์เรลต่อวัน) และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (2,000 บาร์เรลต่อวัน) แล้ว ปตท.ยังสั่งซื้อน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นเข้ามาอีกเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ

นั่นคือ น้ำมันดิบจากตะวันออกไกล ได้แก่ น้ำมันดิบที่ได้จากแหล่งในประเทศมาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย รวม 30,000 บาร์เรลต่อวัน เช่น น้ำมันสเล็บ บรูไนไลท์ การจัดซื้อน้ำมันพวกนี้จะเป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลด้วยวิธีการที่เคยใช้กันอยู่วิธีนี้ "กิน" ค่อนข้างยาก

อีกส่วนหนึ่งเป็นน้ำมันจากตะวันออกกลาง เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลางรวม 36,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งการซื้อส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อกับชี้ค หรือซาร์ผู้ครองประเทศนั้น

"พวกนี้ก็จะมีโบรกเกอร์ หรือตัวแทนขายติดต่อสำหรับการจัดซื้อ พวกนี้จะเป็นผู้ให้หรือได้รับคอมมิชชั่น เพราะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสำนักงานอยู่ในฮ่องกง" แหล่งข่าวใน ปตท.เล่า

ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่งของการ "กิน" จากการซื้อขายน้ำมัน นั่นคือ เมื่อผู้ซื้อ-ผู้ขายตกลงที่จะซื้อขายน้ำมันกันเรียบร้อย เนื่องจากปกติเรือบรรทุกน้ำมันจะวิ่งรับส่งน้ำมันอยู่ในทะเลเป็นเวลานาน ไม่มีใครรู้ว่าเรือลำนั้นจะไปส่งน้ำมันที่ใดกันแน่ เพราะการติดต่อส่วนใหญ่ใช้เทเล็กซ์

"ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดเหตุการณ์ เช่น เราซื้อน้ำมันจากประเทศนี้ บริษัทนี้จำนวนหนึ่งขณะที่เรือก็ต้องส่งน้ำมันให้กับประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย น้ำมันที่บรรจุใส่ถังในเรือก็เลยเป็นส่วนเพิ่มที่ทำให้น้ำมันในเรือลำนั้นเต็ม ค่าใช้จ่ายส่วนที่ควรจะน้อยลงสำหรับบริษัทเรือก็จะนำมาจ่ายให้ผู้เกี่ยวข้อง" แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับการซื้อขายน้ำมันของ ปตท.เล่าให้ฟัง

แต่ในช่วงหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 - 5 ปีหลังนี้ ผู้บริหารระดับสูงหลายคนในวงการน้ำมันให้ความเห็นว่า เรื่องที่ว่าเป็นไปได้น้อยมาก

"เมื่อก่อนเรามีผู้ค้าอยู่ไม่กี่ราย เช่น โอเปค แต่พอหลังจากวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สอง ก็เกิดผู้ค้ารายย่อยที่เรียกว่าเทรดเดอร์ในตลาดจรขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้การซื้อขายน้ำมันสะดวกขึ้น และมีโอกาสเลือกมากขึ้น" เกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการไทยออลย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

การซื้อขายนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นตามอุปสงค์และอุปทานในตลาดเท่านั้น แต่ราคาน้ำมันยังขึ้นลงอย่างรวดเร็ว มีปัจจัยอื่นอีกมากที่มีส่วนในการตัดสินใจแต่ละครั้ง

"เราต้องศึกษามากมายทั้งปริมาณการใช้น้ำมันดิบในประเทศ ปริมาณการผลิต ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรือขนส่งน้ำมัน ค่าระวางขนส่ง และประกันภัย ความเคลื่อนไหวของเงินตราต่างประเทศ ฯลฯ เราต้องติดตามดูตลอดเวลาว่า เราจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในตลาดได้อย่างไร" ผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาน้ำมันคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

สิ่งที่พอจะยืนยันได้ถึงการจัดซื้อจัดหาน้ำมันในปัจจุบันว่า จะบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง ๆ ก็เนื่องจากการจัดซื้อจัดหาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่นำมากลั่นในเมืองไทยนั้น ถูกควบคุมถึงสองชั้น นั่นคือ ถึงแม้ ปตท.จะเป็นผู้จัดซื้อ ผู้ประมูลซื้อตามกฎหมาย แต่ราคาน้ำมันที่ซื้อ คุณภาพน้ำมันที่นำมากลั่นจะได้มาก็จากการปรึกษาหารือร่วมกันของ ปตท. ไทยออยล์ และบางจากฯ

ส่วนราคาขายปลีกก็คือ ราคา ณ โรงกลั่นบวกด้วยอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันหรือเงินชดเชย บวกกับภาษีอากรสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง บวกค่าการตลาด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกตัวที่เกี่ยวข้องรัฐบาลเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น มาร์จิ้นที่จะได้จากการขายน้ำมันของแต่ละบริษัทนั้น จึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหาร การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของแต่ละบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้นเอง

"เมื่อก่อนมีทางเป็นไปได้อย่างบ้างว่า จะมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้รับรองเลยว่า ทุกหยดคุ้มค่าร้อยเปอร์เซ็นต์" โสภณ สุภาพงษ์ กรรมการผู้จัดการบางจากปิโตรเลียม ผู้ซื้อขายน้ำมันเข้ามากลั่นอยู่ทุกวันบอกกับ "ผู้จัดการ"

ราคาน้ำมันราคาเดียวทั่วประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นความขัดแย้งถ้าเกิดขึ้นจริงกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์

"ทางเศรษฐศาสตร์บอกว่า ถ้าอยู่ไกลคุณต้องจ่ายแพง เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือ คุณยอมไหมที่จะให้คนที่เชียงใหม่ซื้อน้ำมันราคาเท่ากรุงเทพฯ เท่ากับว่าคนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งให้คนต่างจังหวัด" ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งกล่าว

แต่ปัญหานี้ไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก เพราะหากใช้ราคาเท่ากันทั่วประเทศนี้ ปัจจัยที่สำคัญในการแข่งขันก็คือ คนที่มีคลังเก็บน้ำมันกระจายทั่วประเทศมากที่สุด จะเป็นผู้ได้เปรียบ ซึ่งก็คือ ปตท.นั่นก็ทำให้เรื่องนี้ไม่ฮือฮานัก เพราะบริษัทน้ำมันอื่นก็คงอยากให้เรื่องนี้เงียบไปเฉย ๆ รัฐเองก็คงไม่อยากพูดถึงมากนัก เพราะถ้าต้องการให้ทัดเทียมกันจริงๆ รัฐก็ต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยเป็นค่าขนส่งให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งสาม ซึ่งไม่ใช่เป็นเงินจำนวนน้อย ๆ

เรื่องที่กำลังอยู่ในการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุดของของรัฐบาลชุดนี้ โดยมี ปตท.เป็นผู้ให้ข้อมูลศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับคณะกรรมการต่าง ๆ ก็เห็นจะเป็นการให้ราคาน้ำมันลอยตัว

"ตอนนี้ มันก็ลอยตัวอยู่แล้ว ราคาน้ำมันดิบที่ซื้อก็เปลี่ยนแปลงตามตลาดโลก ราคาหน้าโรงกลั่นก็เปลี่ยนแปลงทุกอาทิตย์ เรียกว่าใกล้เคียงกับราคาที่สิงคโปร์มาก ที่จะไม่เห็นว่าลอยก็เพราะเราไปกำหนดราคาที่ปั๊มเท่านั้น" เกษม จาติกวนิช บอกกับ "ผู้จัดการ"

ความเป็นไปได้ของการให้ราคาน้ำมันลอยตัวนั้น มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ไม่สูงนัก เนื่องจากมีปัจจัยที่รัฐต้องคิดถึงหลายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้น หรือ "เสถียรภาพ" ของรัฐบาลเอง และปัจจัยด้าน "ความมั่นคง" ของ ปตท.ที่เป็นหน่วยงานที่ต้องสำรอง และจัดหาพลังงานให้เหมาะสมกับความต้องการของคนในประเทศ

"เมื่อราคาลอยตัว มันก็จะเป็นการแข่งขันอย่างเสรีโดยอัตโนมัติ นั่นคือต้องมาดูที่ประสิทธิภาพ บริษัทเล็ก ๆ ก็จะตาย" ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทน้ำมันต่างชาติคนหนึ่งบอก "ผู้จัดการ"

"แต่ผมว่า มันน่าจะเป็นไปได้ ผมคิดว่าหลักอุปสงค์อุปทานจะถูกนำมาใช้เองได้ดีที่สุด ดูอย่างราคาพืชผักผลไม้ อย่างมะนาวเราซื้อลูกละห้าบาท บางทีเราซื้อสามลูกบาท ผักชีชีดละห้าสิบสตางค์ บางทีโลละร้อยห้าสิบยังเคยมี เราก็วื้อกินกันได้ ผมเชื่อว่า ในที่สุด เราจะต้องใช้น้ำมันราคาลอยตัวได้ เพียงแต่รัฐจะใช้กลไกอะไรเข้ามาทำให้มันเกิดขึ้นเท่านั้น" ศิรินทร์ อธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ "คู่แข่งขัน" ทุกคนสามารถแข่งกันได้อย่างเป็นธรรม มีสิ่งสนับสนุนต่าง ๆ ที่ทัดเทียมกัน

"อย่างเช่น ในเบื้องต้นผมอยากให้รัฐสนับสนุนให้มีการตั้งโรงกลั่น โดยมองว่า ปิโตรเคมีที่กำลังจะเกิดต้องใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญ นอกจากจะทำให้เป็นการวางรากฐานที่ดีในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว ปริมาณการซื้อเมื่อรวมกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศก็จะทำให้มีอำนาจต่อรองกันมากขึ้น" ประทิน พัฒนาภรณ์ รองผู้ว่าการด้านก๊าซธรรมชาติ บอก

ถึงแม้ว่าผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.หลายท่านจะแสดงความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปตท.พร้อมเสมอที่จะลงมาแข่งขันอย่างเสรี ไม่ว่าจะด้วยวิธีในเบื้องต้นที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด เช่น จำกัดระยะเวลาที่ ปตท.จะยังสามารถเป็นผู้ขายน้ำมันให้กับหน่วยงานรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ อาทิ ภายในสามปีหรือห้าปี หลังจากนั้นจะเปิดให้ขาย มีการแข่งขันกันอย่างเสรีก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจละเลยที่จะนำมาพิจารณาได้ก็คือ "ความเป็นจริง" ที่แสดงถึง "ความพร้อม" ในวันนี้ของ ปตท. ไม่ว่าจะเป็นความครบวงจรที่เรากล่าวถึงมาแล้วข้างต้น ความสามารถทางการตลาดของ ปตท.ในการที่จะต่อสู้กับบริษัทต่างชาติ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า รายได้ของ ปตท.จะมาจากส่วนไหน และถูกจำกัดด้วยปัจจัยใดบ้าง

รายได้หลักของ ปตท.มาจากการขายแก๊ส และน้ำมัน สำหรับการขายแก๊สในประเทศไทยช่วงสิบปีข้างหน้า บริษัทน้ำมันต่างชาติที่ขายแก๊สอยู่ด้วยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นับวันตลาดต่างจังหวัดของ ปตท.มีแต่จะโตขึ้น ๆ เพราะรัฐบาลชดเชยค่าขนส่งให้ ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทน้ำมันต่างชาติมีแต่จะลดลงตามลำดับ

ส่วนน้ำมันที่เราจะพูดถึงมีสองส่วนด้วยกัน คือ ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น เบนซิน ดีเซล ฯลฯ และตลาดน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งปริมาณการใช้และมูลค่าการตลาดนับเป็น 2 - 3 เท่าของตลาดแรก

ถึงแม้ ปตท.จะเป็นผู้สั่งซื้อน้ำมันดิบ เพื่อการกลั่นมาให้กับโรงกลั่นทั้งสอง คือ บางจากฯ และไทยออยล์ก็ตาม แต่ ปตท.ไม่ได้กำไรจากการซื้อน้ำมันดังกล่าว เพราะมาร์จิ้นที่ได้จากกระบวนการกลั่นจะเป็นรายได้ของโรงกลั่น ซึ่งก็คือ ราคา ณ โรงกลั่นหักด้วยต้นทุนราคาน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการกลั่น

เมื่อมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูป บริษัทน้ำมันต่าง ๆ รวมทั้ง ปตท.ก็จะต้องมาเติมสารพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพก่อนที่จะนำออกขายให้กับผู้บริโภค ในการนี้จะมีค่าใช้จ่ายทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีกเพียบ

"มาร์จิ้นที่ได้จากการขายน้ำมันจริง ๆ แค่ 1% เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปกติ ปตท.เราจะทำได้ประมาณ 0.8 บริษัทน้ำมันด้วยกัน ถ้าได้ 1 เปอร์เซ็นต์นี่ก็ถือว่าเฮงมากแล้ว" เลื่อน กฤษณกรี รองผู้ว่าการฯ ฝ่ายการตลาด บอก "ผู้จัดการ"

เพราะฉะนั้นรายได้ที่จะได้ก็ต้องมาจากจำนวนขาย หรือต้องขายให้ได้มากที่สุด เพื่อจะมา "ตู๊" กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่ง "ทัพหน้า" ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จก็คือ ปั๊มที่ขายน้ำมันของแต่ละบริษัทนั่นเอง

แต่การจะเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันสักปั๊มไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และระหว่าง ปตท.กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ รายละเอียดการจะเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันก็แตกต่างกันค่อนข้างมาก

ข้อแตกต่างที่ "ผู้จัดการ" พอจะหยิบยกออกมาให้ดู และคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินผลแพ้ชนะในภายหน้ามีอยู่หลายข้อด้วยกัน…

เจ้าของปั๊ม ปตท.จะต้องลงทุนเอง สร้างปั๊มเอง ทำการก่อสร้าง งานคอนกรีต สร้างอาคารพื้นที่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งไร่ในกรุงเทพฯ บางปั๊ม ปตท.อาจจะช่วยลงทุนประมาณ 5 - 7 แสนบาท ส่วนที่ ปตท.จะช่วยเหลือก็มีอุปกรณ์บนพื้นดินสำหรับการขาย ปตท.จะให้เครดิตไลน์ 70 - 90 วันแล้วแต่ความเหมาะสม และอาจจะมีส่วนลดให้กับลูกค้าในกรณีซื้อน้ำมันจาก ปตท.จำนวนมาก

ซึ่งต่างกับปั๊มน้ำมันของบริษัทต่างชาติ เช่น เชลล์ วิธีการจะเป็นเจ้าของปั๊มมีสองวิธี วิธีแรกผู้สนใจจะทำปั๊มจะบอกกับบริษัทว่า มีที่ดินจะทำปั๊ม บริษัทก็จะขอเช่าที่ดินนั้นแล้วทำการก่อสร้างส่วนต่าง ๆ จนแล้วเสร็จ ต่อจากนั้นก็จะให้ผู้สนใจเช่าปั๊มนั้นเพื่อทำกิจการต่อไป

ส่วนอีกวิธีหนึ่ง เชลล์จะซื้อที่ดินเอง ลงทุนสร้างปั๊มเอง ระหว่างที่มีการสร้างปั๊ม (ก่อนที่ปั๊มจะเสร็จสมบูรณ์) ก็จะมีการรับสมัครผู้สนใจที่จะมาทำกิจการ ผู้สนใจจะต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ โดยคิดจำนวนน้ำมันที่คาดว่าจะขายได้ ซึ่งจะนำไปเป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราค่าเช่า

ความแตกต่างของการเป็นเจ้าของปั๊มเชลล์กับ ปตท. ก็คือ ถึงแม้เชลล์จะไม่ให้เครดิตไลน์เหมือน ปตท. แต่เจ้าของปั๊มก็ดูจะพอใจดี โดยเฉพาะเมื่อขายได้ปริมาณเพิ่มขึ้น

"สมมติเราตกลงกับบริษัทว่า จะขายได้ 200,000 ลิตรต่อเดือน ค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท ถ้าเราขายได้ 150,000 ลิตร ค่าเช่าก็อาจลดลงเหลือ 15,000 บาท แต่ถ้าเราขายได้ 250,000 ลิตร ค่าเช่าจะลดลงเหลือ 10,000 บาทด้วย ยิ่งถ้าขายได้ 300,000 ลิตร ค่าเช่าอาจเป็นแค่ 5,000 บาทก็ได้" เจ้าของปั๊มคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

นั่นก็คือ นอกจากมาร์จิ้นที่จะได้รับจากทุก ๆ ลิตรที่ขายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายของปั๊มก็อาจลดลงไปด้วย ซึ่งจุดนี้ บริษัทน้ำมันต่างชาติเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก พวกเขาจะพอใจที่ขายน้ำมันออกไปได้มาก ๆ มากกว่าที่จะเก็บค่าเช่าจากการขายได้น้อย

ส่วนตลาดน้ำมันหล่อลื่น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านน้ำมันท่านหนึ่ง กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปตท.อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างลำบาก

"น้ำมันหล่อลื่นส่วนใหญ่ ปตท.สั่งให้คนอื่นผสมให้ โรงกลั่นในประเทศไทยยังไม่มีโรงกลั่นที่สามารถผสมน้ำมันหล่อลื่น โดยเฉพาะน้ำมันหล่อลื่นเกิดจากการนำเอาน้ำมันเบส ออยล์ (BASE OIL) ซึ่งส่วนใหญ่สั่งมาจากสิงคโปร์ จีนแดง มาผสมกับสารพิเศษตามแต่สูตรของแต่ละบริษัท"

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาของ ปตท.ก็คือ น้ำมันหล่อลื่นส่วนใหญ่ที่ ปตท.ขายให้กับหน่วยงานรัฐ หรือที่ขายอยู่ทุกวันนี้เทียบได้กับมาตรฐานสากล

แต่ไม่ผ่าน !

"อธิบายได้ คือ เมื่อจะขายน้ำมันหล่อลื่น ปตท.จะจัดประมูลโดยกำหนดสเป็ค ถ้าตรงสเป็คก็จะนำมาขาย ที่ว่าไม่ผ่าน ก็เพราะมีบ่อยครั้งที่น้ำมันหล่อลื่นของ ปตท. ผลิตโดยเทียบกับมาตรฐานสากล แต่เมื่อนำไปใช้กับเครื่องยนต์บางชนิดไม่ผ่านมาตรฐานที่แต่ละบริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้" แหล่งข่าว กล่าว

เมื่อรวมกับจำนวนปั๊มของ ปตท.ในกรุงเทพฯ ที่มีน้อยกว่าบริษัทต่างชาติค่อนข้างมาก การบริการที่ถึงแม้จะเริ่มพัฒนาขึ้น แต่ในสายตาผู้บริโภคส่วนใหญ่ แต่ยังไม่สามารถทัดเทียมบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ได้ คงทำให้ความหวังที่ ปตท.จะลงมาสู้ในตลาดเสรีคงจะต้องลำบากไม่น้อย

การแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำมันเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นที่ผู้แข่งขันแต่ละรายย่อมต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด แม้ว่า ปตท.จะถูกมองว่า เป็นทั้งกรรมการและผู้แข่งขันในสถานะของวันนี้ ปตท.ดูจะมีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้ออำนวยให้สามารถเอาชนะการแข่งขัน และเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ แต่สำหรับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ทั้งสามที่เข้ามาต่อสู้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับ ปตท.พวกเขาก็ดูเหมือนว่า จะไม่สะทกสะท้าน และเชื่อมั่นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดความเป็นไปของอุตสาหกรรมนี้อยู่ในมือของรัฐบาลมากกว่า ว่าจะมีนโยบายให้ไปทางไหน

"เราหวังให้รัฐบาลเข้าใจเหตุการณ์อย่างถ่องแท้ รับฟังความเห็น และข้อมูลจากทุกฝ่าย มีอุดมการณ์ในการปฏิบัติที่แน่นอน เพื่อที่เราจะมั่นใจ และร่วมพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้นร่วมกัน" ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างชาติคนหนึ่ง กล่าว

โดยสรุปแล้ว แม้บริษัทน้ำมันต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ จะพูดเช่นนั้น ปตท.ก็ไม่อยู่จุดที่สบายเท่าไรนักในเวทีการแข่งขันเสรี ภายใต้การให้น้ำให้ท่าจากรัฐ

"ปตท.เป็นทั้งกรรมการและผู้เล่น สถานภาพนี้ย่อมเอื้อประโยชน์แก่ ปตท.ในการแข่งขัน ถ้าหาก ปตท.จะไม่สะดุดปัญหาการบริหารภายในของตัวเองในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเสียก่อน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us