"ผู้บริหารระดับสูงกำลังอึดอัด เส้นทางในอำนาจ ระบบจัดสรรอำนาจหน้าที่ไม่เปิดกว้างให้ขึ้นสู่ที่สูง
ผลตอบแทนต่ำ ลักษณะงานในหน้าที่ฐานะเป็นองค์กรพลังงานของชาติที่ต้องพลวัตรการทำงานตามสภาวะแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา
ปัญหาที่มีลักษณะแย้งกันเองนี้ได้มาถึงยุคของการแสวงหาถนนสู่ทางออกของวิกฤติการณ์ระบบบริหารแล้ว…บริษัทดาวบริวารหรือ
HOLDING COMPANY จะเป็นเพียงแค่ความฝันในก้อนเมฆที่รอการปฏิบัติจากผู้กล้าที่ขบถต่อผู้มีอำนาจที่กุมนโยบายน้ำมันของชาติเท่านั้นหรือ
!…"
"ปตท. แตก อาณัติ อาภาภิรมย์ ลาออกนั่งเก้าอี้แบงก์กรุงเทพ ชาตรี เกี้ยวสวมตำแหน่งแทนโชติ"
"อาณัต ตั้งท่าอำลา ปตท. ทองฉัตร ลุ้นประธาน"
"ปตท. ปรับบอร์ดครั้งใหญ่มีนาคม เชาวน์ ณ ศีลวันต์ ครบวาระ 2 สมัย
- อาณัติ ยังไม่ตัดสินใจสู่ธุรกิจ"
"ดร.อาณัติรับผลพวง ออกก่อนครบวาระแน่ เป้าปรับ ปตท. ผลักเกษมให้พ้นวงจร
3 องค์กรรัฐ"
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างพาดหัวข่าวทั้ง นสพ.รายวัน รายสัปดาห์ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับ
ปตท. ในปลายเดือนมีนาคม 2532 อันเนื่องมาจากถึงคราวที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดครั้งใหญ่
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีนัยอย่างไร ? ทำไม ดร.อาณัติ จะต้องลาออก ? การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของ
ปตท. หรือการบริหารงานใน ปตท. หรือไม่ ?
ปตท. ยุคตะลุมบอน
ปี 2516 เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันขาดแคลนไปทั่วโลกเป็นครั้งแรก (OIL CRISIS
I) ก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ เนื่องเพราะน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทางการผลิต
ผู้คนพากันตระหนกตกใจกับราคาน้ำมันที่ถีบตัวขึ้นอย่างมากทั้งยังหาซื้อไม่ได้อีกด้วย
ไทยได้รับผลพวงจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่น้อยเช่นกัน
ขณะนั้น บริษัทน้ำมันอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติแทบทั้งสิ้น กล่าวคือ เชลล์
เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ของไทยมีเพียงองค์การเชื้อเพลิงที่ขายน้ำมัน "สามทหาร"
ซึ่งซื้อจากโรงกลั่นบางจาก ซึ่งบริษัทซัมมิท อินดัสเตรียล (ปานามา) ที่เช่าโรงกลั่นจากกรรมการพลังงานทหาร
บริษัทข้ามชาติเหล่านั้นพากันลดจำนวนสั่งน้ำมันเข้ามาเพราะราคาแพงมาก หากสั่งเข้ามาขายก็ขาดทุน
ทุกบริษัทลดการสั่งเข้าอย่างมาก โดยเฉพาะซัมมิท ไม่ได้สั่งเข้ามาเลย !!!
รัฐบาลในขณะนั้นมีกลไกเพียงอย่างเดียว คือ องค์การเชื้อเพลิงซึ่งทำหน้าที่เพียงรับน้ำมันมาขาย
แต่ก็เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่หย่อนประสิทธิภาพ ดังนั้น รัฐจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างฉับพลัน
บ้านเมืองอยู่ในสภาพเกือบจะเป็นอัมพาตเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็เริ่มมีกระแสความคิดที่ว่า
รัฐน่าจะมีหน่วยงานที่เข้มแข็งที่พร้อมจะเข้าแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีกว่าที่เป็นอยู่
พ.ร.บ. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปี 2521 จึงถูกผลักดันออกมาในที่สุด
หัวเรือใหญ่ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดัน พ.ร.บ. นี้ และจัดตั้ง ปตท.
จนสำเร็จ คือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งขณะนั้น เป็นนายก รมต. และได้เป็นประธาน
ปตท. เป็นคนแรก
แต่เนื่องจากรัฐมีหน่วยงานด้านพลังงานอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ องค์การเชื้อเพลิง
(อชพ.) สังกัดกระทรวงกลาโหม องค์การก๊าซธรรมชาติ สังกัดกระทรวงการคลัง และโรงกลั่นบางจากที่บริษัทซัมมิทเช่าอยู่การที่จะยุบหน่วยงานเหล่านี้เลย
แล้วเริ่มต้นใหม่เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก จึงมีนโยบายให้รวมทั้งสามหน่วยงานเข้ามา
แต่เนื่องจากบางจากยังไม่หมดสัญญาจึงรวมเข้ามาเพียงสองหน่วยงานก่อน
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จึงถือกำเนิดขึ้นมา เมื่อ 29 ธันวาคม
2521 ในรูปของรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. ปตท. พ.ศ.
2521
ใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้ว่า ปตท. ในยุคบุกเบิกเช่นนี้ หลังจากมองหาไปจนทั่วแล้ว
พลเอกเกรียงศักดิ์ ตัดสินใจเลือก ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ด้วยชื่นชอบในฝีไม้ลายมือ
และเห็นว่าเป็นคนที่ถนัดงานบุกเบิกอย่างที่ได้ทำให้กับการทางพิเศษ ในตำแหน่งผู้ว่าการ
ดร.ทองฉัตรเองก็เห็นว่า งานสร้าง ปตท. เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ๆ จึงตัดสินใจมาเป็นผู้ว่าการคนแรก
โดย จรัล อจลภูติ ซึ่งเป็น ผอ. ขององค์การก๊าซธรรมชาติ และ นอ. ประพันธ์
จารุมณี ผอ. อชพ. รวมเข้ามา ซึ่งตอนหลังทั้งคู่ก็ได้เป็นรองผู้ว่าการ
อชพ. เป็นหน่วยงานที่ตั้งมา 36 ปี เดิมเป็นแผนกเชื้อเพลิงในกระทรวงกลาโหม
ซึ่งแผนกนี้มีมาตั้งแต่ 2476 คือ ก่อนที่จะแยกเป็น อชพ. ถึง 20 ปี คนที่ทำงานส่วนใหญ่จึงเป็นทหาร
ตอนที่รวมเข้ามาเป็น ปตท. มีคน 2 พันกว่าคน ขณะที่องค์การก๊าซธรรมชาติเพิ่งถูกตั้งขึ้นในปี
2520 เนื่องจากมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี 2515 - 2516 ซึ่งต่อมารัฐได้เจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติ
บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ องค์กรก๊าซมีพนักงานแล้ว 200 กว่าคน พนักงานเหล่านี้จึงเปลี่ยนสังกัด
ปตท.
ปตท. จึงไม่เหมือนหน่วยงานอื่นที่ตั้งใหม่โดยทั่วไปที่เริ่มต้นจากไม่มีอะไรแล้วค่อย
ๆ สร้างระเบียบ เลือกสรรคนที่มีฝีมือ มีคุณสมบัติที่องค์กรต้องการอย่างเต็มที่
จุดเริ่มต้นของ ปตท. ต้องรวมหน่วยงานซึ่งแตกต่างกันมากทั้งตัวบุคคล ระบบงาน
ตลอดจนวัฒนธรรม ซึ่งทองฉัตรเองก็เลือกไม่ได้ว่าจะเอาใครไว้และไม่เอาใคร ความจำเป็นเร่งด่วนของ
ปตท. และทองฉัตรในขณะนั้น คือ จะต้องรีบหาคนดีมีฝีมือและไว้วางใจได้ ให้เข้ามาสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งที่พร้อมจะลุยงานกับเขา
นั่นคือ การพาเหรดเข้ามาของผู้คนจากหลายสำนักในตำแหน่งผู้บริหารของ ปตท.
เลื่อน กฤษณกรี เพื่อนนักเรียนกลุ่มเดียวกับทองฉัตรที่คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬา เป็นผู้จัดการฝ่ายขายปลีกของบริษัทเอสโซ๋ สแตนดาร์ด เป็นมือโปรคนหนึ่งในยุทธจักรน้ำมัน
ผู้ยอมละทิ้งเงินเดือนที่สูงกว่า ปตท. หลายเท่ามาช่วยกันสร้าง ปตท.
ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเชีย ไม่รู้จักกับทองฉัตรมาก่อน
แต่ได้รับการแนะนำจาก ดร.พิศิษฐ์ ภัคเกษม รองเลขาธิการสภาพัฒน์ หลังจากฟังเลคเชอร์จาก
ดร.ทองฉัตรแล้ว เห็นว่าขอบเขตของงานกว้างขวางมาก ขณะที่ระบบอะไรก็ยังไม่มีต้องมาสร้างกันใหม่
มันท้าทายมากสำหรับคนหนุ่มอายุ 30 ต้น ๆ อย่างเขา
ประทิน พัฒนาภรณ์ จบวิศวไฟฟ้า จากจุฬาฯ เป็นลูกหม้อของการไฟฟ้าฯ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะมาอยู่
ปตท. คือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางโครงการและแผนงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หปท.
โสภณ สุภาพงษ์ จบวิศวกรรมไฟฟ้า จากจุฬาฯ อยู่เอสโซ่มาสิบสองปี ได้รับการชักชวนจากหลายคนให้มาเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการด้านจัดหาน้ำมัน
พละ สุขเวช จบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เคยเป็นหัวหน้าแผนกกองควบคุมและส่งเสริมพลังงาน
สำนักงานพลังงานแห่งชาติ และเป็นนักวิเคราะห์ระบบอาวุโสคณะกรรมการประสานงานสำรวจลุ่มน้ำโขง
องค์การ ESCAP สหประชาชาติ
ห้าคนนี้ เป็นคีย์แมนสำคัญทีเข้ามาช่วยกันสร้าง ปตท. โดยมีเป้าหมายร่วมกันเฉพาะหน้า
คือ ปตท. ต้องอยู่รอดด้วยตัวเองให้ได้
หลังจากจัดตั้ง ปตท.ไม่นาน โลกก็ต้องปั่นป่วนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่
2 ในปี 2523 ซึ่งขณะนั้นเกรียงศักดิ์ ยังเป็นนายก และเกษม จาติกวณิช เป็น
รมต.อุตสาหกรรม สถานการณ์เฉพาะหน้า คือ ต้องจัดหาน้ำมันมาให้พอใช้ให้ได้
"เราก็เรียกเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ มาต่อรอง เขาก็ไม่ยอม เพราะว่าตอนนั้นน้ำมันขาดแล้วราคาข้างนอกแพง
รัฐบาลตั้งราคาไว้ต่ำ คนจะนำเข้าก็ไม่มี มีแต่ ปตท. เท่านั้นเองที่พยายามหาน้ำมันเข้ามาจากทุกแห่งรัฐบาลก็ไม่มีเงินมาชดเชย"
ประทิน พัฒนาภรณ์ รองผู้ว่าฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เล่า
ปตท. จึงประสบกับการขาดสภาพคล่องอย่างมาก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2522
และสถานการณ์ได้เลวร้ายอย่างมากในปี 2523 ซึ่งกว่าจะแก้ไขปัญหาได้หมดทุกอย่างก็ปลายปี
2524
"สิ่งแรกที่ผมได้พยายามแก้ปัญหาความเป็นความตายทางการเงินในขณะนี้ก็คือ
ยืดเวลาชำระเงินค่าผลิตภัณฑ์และน้ำมันดิบจากต่างประเทศ โดยใช้ CREDIT INSTRUMENT
ที่เรียกว่า BANKER'S ACCEPTANCE (B/A) เข้าใจว่า ครั้งนั้นจะเป็นครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจไทยที่เริ่มใช้
B/A พร้อมทั้งขอ CREDIT TIME จาก 4 ธนาคาร แทนที่ ปตท.จะต้องชำระเงินค่าน้ำมันที่ซื้อจากต่างประเทศตามมาตรฐานทั่วไป
คือ ภายใน 30 วัน ก็ยืดไปได้ถึง 30 วัน โดยใช้ B/A ในขณะเดียวกันก็พยายามเร่งรัดติดตามหนี้ให้ชำระเร็วขึ้นด้วย"
ศิรินทร์ รองผู้ว่าการด้านการเงินได้ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาทางการเงิน
และกล่าวกันว่า ฝ่ายการเงินนั้นพัฒนาไปได้เร็วที่สุด ทำให้ ปตท.ไม่มีปัญหาด้านการเงิน
นับเป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งของ ปตท.
จะเห็นว่า ความมั่นคงทางพลังงานของไทยเรามีน้อยมาก เพราะต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น
!!!
หลังจากปัญหาขาดแคลนน้ำมันคลี่คลายไปแล้ว สิ่งที่ทองฉัตรและทีมงานจะต้องเร่งรีบกระทำ
คือ จัดโครงสร้างการบริหารภายในให้เป็นระบบและเข้มแข็ง เพื่อสามารถปฏิบัติภารกิจตาม
พ.ร.บ. ปตท. 2521 ที่ต้องการให้ ปตท.ทำธุรกิจครบวงจร
"10 ปี ปตท.นั้นมียุคเดียว คือ ยุคก่อร่างสร้างตัว แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำมัน
สร้างองค์กรให้เข้มแข็งโดยจัดระบบงาน ปรับปรุงภาพพจน์ขององค์การจนคนมั่นใจในคุณภาพของ
ปตท. เราทุ่มเทเต็มที่ เราเรียกยุคนี้ว่า ยุคตะลุมบอน เราสร้าง ปตท. จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
และสามารถแข่งกับบริษัทน้ำมันในต่างประเทศได้" ทองฉัตร เล่าถึงงาน ปตท.ให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ทองฉัตร ได้นำทีม บุกเบิกธุรกิจของ ปตท. ออกไปอย่างกว้างขวางจนเกือบจะครบวงจร
ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ปตท. ปี 2521 กล่าวคือ
หนึ่ง - การจัดหา คือ การจัดซื้อ สำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม ปัจจุบัน
ปตท. สามารถจัดหาปิโตรเลียมประเภทต่าง ๆ จากในและนอกประเทศรวมกันวันละ 177,000
บาร์เรล เทียบเท่าประมาณ 50% ของการใช้ปิโตรเลียมทั้งประเทศ และได้จัดตั้ง
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยซื้อสัมปทานแหล่งก๊าซราคา 200 ล้านบาท
จากเท็กซัส แปซิฟิคไทยแลนด์ ร่วมทุนกับไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น ขุดเจาะน้ำมันที่ลานกระบือ
และร่วมทุนกับเอสโซ่ เอ็กซ์พลอเรชั่น ในสัมปทานอีกหลายแปลง
สอง - การขนส่ง มีทั้งทางรถยนต์ รถไฟ ทางเรือ และการขนส่งทางท่อจากอ่าวไทย
สาม - การกลั่น ปตท. ถือหุ้นในบริษัทไทยออยล์ ร้อยละ 49 และบริษัทบางจากปิโตรเลียมร้อยละ
30.37 และทำให้รัฐมีส่วนเป็นเจ้าของกิจการกลั่นน้ำมันร้อยละ 50 ของกำลังกลั่นทั้งประเทศ
สี่ - จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยร่วมมือกับเอกชนในระดับสถานีบริการ 700
แห่ง และร้านค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวอีก 560 ร้าน
ห้า - สำรอง การสำรองเป็นหลักประกันของความมั่นคงทางด้านพลังงาน ปตท.ได้สร้างขีดความสามารถของการสำรองน้ำมันด้วยการสร้างคลังน้ำมันและก๊าซขึ้นทั่วประเทศ
หก - อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปตท. ได้ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องจากปิโตรเลียม โดยส่วนใหญ่ร่วมมือกับเอกชน
โดยที่ ปตท. เป็นแกนนำในการลงทุน
ถือหุ้นใน บ.ปิโตรเคมี 49% บ.ปุ๋ยแห่งชาติ 16% บ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ
10% บ.ก๊าซธรรมชาติไทย 10% ปตท.สผ. 100%
จะเห็นได้ว่า ปตท.นั้นแม้จะตั้งขึ้นมาเพียง 10 ปี แต่กลับเป็นรัฐวิสาหกิจจัดอยู่ในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพและมีกำไร
ดังจะพบว่า ในปี 2530 มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 35,345 ล้านบาท มียอดขาย 38,560
ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,589 ล้านบาท
การเติบโตอย่างรวดเร็วและค่อนข้างมั่นคงนั้น มีปัจจัยมาจากหลายด้านด้วยกัน
แต่ด้านที่ทุกคนไม่ปฏิเสธก็คือ ความสามารถเฉพาะตัวของ ดร.ทองฉัตร ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงใน
ปตท. กล่าวว่า "ปตท.โชคดีที่ได้คนอย่าง ดร.เชาว์มาเป็นประธานต่อจาก
พลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งท่านมีบทบาทอย่างมากในระดับนโยบาย และคนที่ต้องยกให้ว่ามีความสามารถรอบด้านจริง
ๆ คือ ผู้ว่าทองฉัตร ตอนนั้นได้เขามานับว่าเป็นบุญของประเทศอย่างมาก ถ้าเผื่อไม่ใช่ทองฉัตร
ผมว่า ปตท.มาไม่ได้ไกลขนาดนี้ เพราะเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านเทคนิคอย่างดี
มองการณ์ไกล มีความกล้าในการทำงานและการตัดสินใจ เป็นคนฉลาด คิดอะไรเร็ว
เข้ากับหน่วยงานราชการได้ดีมาก เข้ากับการเมืองได้ดี ทำงานเป็นทีมได้ดีมาก
ซึ่งหายากมากที่คน ๆ เดียวมีคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นใคร"
แต่ในด้านกลับก็มีคนภายใน ปตท. ไม่น้อยที่ไม่พอใจการบริหารภายในที่ทองฉัตรเอาคนมาจากข้างนอกมากมายและมาในตำแหน่งสูง
ทำให้กลายเป็นว่าเอารุ่นน้องมาปกครองรุ่นพี่ เพราะคนที่ทองฉัตรดึงเข้ามาซึ่งส่วนใหญ่ก็ในระดับรองผู้ว่า
และผู้ช่วยผู้ว่าการนั้นอายุไม่ถึง 40 เป็นส่วนใหญ่ นอจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่า
มีระบบเส้นสายพกพ้องเข้าทำนอง "เส้นใคร เส้นมัน" มีการแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าตามแหล่งที่มาบ้าง
เช่น พวกเชื้อเพลิง พวกก๊าซ พวกบางจาก นอกจากนี้ยังมีสหภาพแรงงานอีกถึง 4
สหภาพด้วยกัน ความไม่พอใจที่รู้สึกว่ามีความไม่ยุติธรรมนี้ยังเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่
ในประเด็นนี้ ทองฉัตรตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า "ลักษณะความใหญ่ทำให้ถูกมองว่า
เป็นก๊กเป็นเหล่า มันเป็นเรื่องทฤษฎีมากกว่า ที่มองว่า ปตท.ไม่มีวัฒนธรรม
ผมก็เห็นเขารักปตท. อยากให้เจริญก้าวหน้า มันต้องดูว่า องค์การประสบความสำเร็จไหม
เรื่องทะเลาะวิวาทกันมีทุกองค์กร คุณบอกผมได้ไหมว่า องค์กรไหนไม่มีการทะเลากัน
แต่ถึงเวลาก็ทำงาน คนเก่าผมก็สนับสนุนเต็มที่ ผมไม่มีคำว่า อชพ.หรือองค์การก๊าซ
ผมมีแต่คำว่าเสียสละไหม ซื่อตรงหรือเปล่า ขี้เกียจหรือขยัน ก็เป็นไปตามนั้น
แต่ข้อวินิจฉัยเป็นเรื่องของการบริหารเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่หน้าที่ของสหภาพ
เขาจะมารู้ลึกซึ้งถึงการตัดสินใจแต่ละครั้งได้อย่างไร ใครที่ว่าไม่ได้รับความยุติธรรมเข้ามาร้องเรียนกับผมได้เลย"
ทองฉัตร เป็นผู้ว่าการ ปตท. สองสมัยซ้อน คือ 8 ปี ซึ่งครบกำหนดเมื่อกลางปี
2530 ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเดียวที่มีการกำหนดระยะเวลาของการเป็นผู้ว่าการ
ช่วงต่อของการผลัดแผ่นดินว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าการคนใหม่ และทองฉัตรจะไปอยู่ในตำแหน่งไหนนั้นวุ่นวายพอสมควร
ว่ากันว่า ปตท.เกือบจะลุกเป็นไฟ
ในขณะที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นเอง ก็มีข่าวว่า สหภาพแรงงานแห่งหนึ่งยื่นหนังสือถึง
ปปป. ให้ทำการสอบสวนทองฉัตรที่ร่ำรวยผิดปกติ ปลูกบ้านหลังใหม่ราคากว่าสิบล้าน
ซึ่งเรื่องนี้ก็เงียบไปตามวันเวลาที่ผ่านไป !?
ศึกชิงเจ้ายุทธจักร
โครงสร้างของการบริหารงานใน ปตท. ก่อนที่จะหมดยุคทองฉัตรานั้น จะพบว่า มีรองผู้ว่าการอยู่ถึง
6 คน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วทุกคนก็อยู่ในฐานะที่มีสิทธิที่จะคั่วตำแหน่งผู้ว่าด้วยกันทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังมีโสภณ สุภาพงษ์ อดีตรองผู้ว่าการด้านจัดหาน้ำมัน ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทบางจากปิโตรเลียมเป็นด้วยอีกคน
ตำแหน่งผู้ว่าการอยู่ในดุลยพินิจของบอร์ด รมต.อุตสาหกรรมและที่สุดแล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.
ขณะนั้นพลเอกเปรมเป็นนายกฯ ที่ให้ความสำคัญกับหน่วยงานด้านพลังงานอย่างมาก
ดังจะเห็นว่า ได้มอบหมายให้ ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ รมต.สำนักนายกฯ ที่พลเอกเปรมไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง
เป็นผู้ดูแล ปตท. อย่างใกล้ชิดมาตลอด แน่นอนคนที่จะมาเป็นผู้ว่าการต้องเป็นคนที่พลเอกเปรมไว้วางใจมากที่สุด
คนใน ปตท. แต่ละคนก็มีลูกน้องของตนเป็นกองเชียร์ให้ได้ตำแหน่งผู้ว่า เพราะนั่นย่อมจะหมายถึงทุกคนในฝ่ายนั้นก็จะได้ขยับตามนายของตน
บางกลุ่มก็ใช้วิธีสกปรกด้วยการปล่อยข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามบ้าง สารพัดวิธีที่จะนำมาใช้กัน
! เมื่อมีกระแสข่าวว่า คนนี้เต็งว่าจะมา ก็จะมีเสียงว่าคนนี้ไม่เหมาะตามมา
"ช่วงแรก ๆ มีคนบอกว่า โสภณจะมาเพราะความที่เป็นคนโปรดของป๋า เสียงว่าโสภณไม่เหมาะด้วยวัยวุฒิ
เคยมีเรื่องกับ ปตท. ทำให้คนใน ปตท. ไม่ชอบเป็นจำนวนมาก แล้วชื่อของโสภณก็เงียบไปตอนหลังมีข่าวว่า
รองเลื่อนเป็นเต็งหนึ่ง เลื่อนก็เลยหลบไปพักร้อนที่สวิสเพื่อให้มีการพิจารณากันได้เต็มที่"
แหล่งข่าวใน ปตท. เล่า
ผู้เข้าโค้งสุดท้ายมีสองคน คือ พละ และ เลื่อน แต่ดูเหมือนเลื่อนจะมาแรงกว่า
ขณะที่มีข่าวว่าอาจจะมีคนนอกเข้ามา แต่ก็ไม่มีใครได้รับการยืนยันที่แน่ชัดจากผู้ใหญ่
ทำให้ก่อนจะถึงเวลาตัดสินไม่นาน คนใน ปตท.ก็ยังคิดว่าพวกเขาคงจะได้ตำแหน่งนี้
"การซาวเสียงกันในบอร์ด ปรากฏว่า ดร.อาณัติมีคะแนนเท่ากับเลื่อน แต่เมื่อมีประกาศิตจากทำเนียบ
ในที่สุดกรรมการก็ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์เลือก ดร.อาณัติ เป็นผู้ว่าการคนใหม่"
แหล่งข่าวระดับสูงใน ปตท. เล่า
ดร.อาณัติ ได้เข้ามาเป็นผู้ว่า ปตท. ท่ามกลางความผิดหวังของคนใน ปตท. ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าพวกตนมีฝีมือเพียงพอ
และมีส่วนสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับองค์การนี้มาแต่ต้น ความรู้สึกเจ็บปวดย่อมจะมีอยู่ไม่น้อย
แต่เมือ่ตำแหน่งผู้ว่าการเป็นตำแหน่งการเมืองไม่ใช่ตำแหน่งประจำ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำใจ
แต่สำหรับอาณัติผู้มาใหม่ ความหนักใจคงมีไม่น้อยเช่นกัน เพราะการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากมีแบ็คที่ดี คือ รัฐบาลแล้ว ต้องได้ทีมงานที่ตนเองไว้วางใจได้ว่าจะไม่ถูกหลอกให้เข้ารกเข้าพงไป
เส้นทางข้างหน้าใน ปตท. ของลูกผู้ชายชื่อ อาณัติ จะราบรื่นหรือไม่เป็นสิ่งที่ทุกคนเฝ้าจับตามอง
?
ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาวของ ปตท.
วันแรกที่ อาณัติ เข้าประชุมกรรมการ ปตท. ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแรงงาน
ซึ่งเรื้อรังมานานเกือบสองปี คือ พนักงาน ปตท. ช่วยงานโรงกลั่นบางจากชุดสุดท้าย
70 คน เป็นพวกที่ต้องการเข้าทำงานกับ ปตท. จริง ๆ แต่ถูกปฏิเสธ จึงทำการชุมนุมประท้วง
ซึ่งผลจากการชุมนุมวันนั้น คนงานเหล่านั้นก็ได้รับทำงานใน ปตท. พร้อมทั้งการที่อาณัติดึงงานของรองผู้ว่าฝ่ายบริหารไปทำเอง
รองผู้ว่าฝ่ายบริหาร ซึ่งดูแลงานด้านบริหารบุคคล ฝ่ายจัดหาและพัสดุ ฝ่ายบริหารทั่วไป
และฝ่ายกฎหมาย ตำแหน่งนี้เว้นว่างมา 7 ปี ในช่วงแรกนั้น ทองฉัตรดูงานด้านนี้ควบไปด้วย
หลังจากนั้น ได้ขอให้ศิรินทร์ ซึ่งเป็นรองผู้ว่าการด้านการเงิน รักษาการตำแหน่งนี้ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
ศิรินทร์จึงรักษาการแทนถึง 7 ปี ด้วยเหตุผลที่ทองฉัตรตอบ "ผู้จัดการ"
ว่า "ผมหาคนที่เหมาะสมในสายตาผมไม่ได้"
อาณัติ เห็นว่า ตำแหน่งนี้มีความสำคัญ จึงขอเอาไปดูเองชั่วคราวก่อนที่จะหาคนที่เหมาะสมได้
ในที่สุดก็ไม่สามารถหาคนในที่เหมาะสมได้จึงไปทาบทามสมควร วัฒนกีกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
อดีตผู้อำนวยการโครงการเขาแหลม ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่เรียนสวนกุหลาบและจุฬาฯ
ของอาณัติ
เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนไม่น้อยใน ปตท. ที่มีความรู้สึกว่า
รองผู้ว่าฯ มีถึง 6 คน และผู้ช่วยผู้ว่าอีก 7 คนก็ล้วนแล้วแต่มีความสามารถทั้งนั้น
การดึงคนนอกมาเช่นนี้ถือเป็นการตบหน้าคน ปตท.
"เรื่องนี้จะโทษ ดร.อาณัติ ไม่ถูกนัก เพราะ ดร.ได้ถามความเห็นบรรดารองทั้งหลายแล้ว
เห็นว่าไม่มีคนในเหมาะสม ก็เลยไปหาคนนอก มีคนแสดงความต่อต้านการเข้ามาของสมควรไม่น้อยในระยะแรก
ก็เล่นเอาสมควรเสียความรู้สึกไปไม่น้อย แต่เมื่อรับปากผู้ใหญ่ไปแล้วก็ไม่อยากให้เสียกันไปหมด
จึงต้องใช้ความอดทน" แหล่งข่าวในฝ่ายบริหารเล่า
แต่อย่างไรก็ตาม อาณัติก็นำคนเข้ามาเพียงคนเดียว และไม่ได้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งระดับบริหารอย่างที่หลายองค์กรประสบเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำ
อย่างเช่น การบินไทย ที่มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งกันมโหฬาร (อ่านการบินไทยของใครกันแน่
? "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 64) อาณัติปล่อยให้รองผู้ว่าทั้งหลายทำงานของตนไปตามปกติ
ดร.อาณัติ เข้ามาใน ปตท. ในขณะที่ ปตท. เป็นองค์กรที่มีภาพพจน์ดี เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไร
มีประสิทธิภาพดีพอสมควร ซึ่งการที่เข้ามาในองค์กรที่ดูเหมือนดีอยู่แล้ว เป็นทั้งข้อดีข้อด้อย
ข้อดีคือน่าจะบริหารงานต่อไปตามแนวทางที่วางไว้แล้ว ข้ออ่อนคือคนจะตั้งข้อสงสัยในผลงานว่า
มีอะไรใหม่ไหม หรือเป็นตำแหน่งที่ใครเป็นก็บริหารไปได้
อาณัติเองคงเห็นด้วยว่า ภาพโดยรวม ๆ ของ ปตท. นั้นดี แต่ภายในตัว ปตท. เองกำลังเริ่มมีปัญหาเชิงโครงสร้าง
ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ในระยะยาว และลึก ๆ แล้ว ปตท. เป็นองค์กรใหม่ที่ยังขาดวัฒนธรรมร่วม
!?
HOLDING COMPANY
ปตท. เป็นองค์กรใหญ่ที่มีทรัพย์สินเกือบ 4 หมื่นล้าน มียอดขายสูงที่สุดในประเทศไทย
คือ สี่หมื่นกว่าล้านบาท และยังมีกิจการในเครืออีกหลายแห่ง ความใหญ่ของมันนี่เองที่คนเริ่มกลัวว่า
จะใหญ่เกินไปเสียแล้ว หากมีปัญหาอะไรกับ ปตท. อาจจะหมายถึงความมั่นคงของชาติไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อาณัติ มองปัญหาโครงสร้างภายในอย่างทะลุปรุโปร่ง กล่าวคือ
หนึ่ง - เนื่องจาก ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งความเป็นราชการ (BUREAUCRATIZATION)
เพิ่มดีกรีสูงขึ้นทุกที ทำให้ความคล่องตัวไม่มี ขณะที่ธุรกิจน้ำมันมีความเคลื่อนไหวรวดเร็วเหลือเกิน
ความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีเสมอ "คนทำงานต้องตกอยู่ในความกดดันที่สูงมาก
เพราะในหลายครั้งต้องตัดสินใจในสิ่งซึ่งอาจจะคาบเส้นกับความไม่ถูกต้องในเชิงระเบียบ
และอาจจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น อาจจะถูกสอบสวนได้ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้
ถ้าเอาเข้าจริงคงติดคุกติดตะรางกันไปหลายคน อย่างสองวันนี้ไฮสปีดดีเซลขาดตลาด
ราคาข้างนอกมันขึ้น ก็ไม่มีใครสั่งมา คนก็เฮโลมาซื้อที่ ปตท. เราต้องขายทำให้สำรองน้ำมันดีเซลเราต่ำ
ก็ต้องไปขอยกเว้นกับกระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้าเอากันทางอาญานี่ผู้ว่าติดคุกได้
แล้วมันมีเหตุการณ์อย่างนี้อยู่ตลอด…" อาณัติระบายถึงความอึดอัดที่ต้องทำงานภายใต้กรอบระเบียบมากไป
สอง - อัตราค่าตอบแทน เมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำมันด้วยกันแล้ว ปตท.เงินเดือนต่ำกว่าคู่แข่งมากในทุกระดับ
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงนี่ต่ำกว่าหลายเท่าตัว ขณะที่เป็นธุรกิจที่เรียกร้องความมีประสิทธิภาพสูง
แต่แรงจูงใจที่จะดึงคนไว้กลับต่ำ ขณะเดียวกันธุรกิจเอกชนนั้นบูมอย่างมาก
ต้องการคนมีความสามารถสูง ก็เริ่มดึงเอาจากราชการและรัฐวิสาหกิจแล้ว นั่นคือ
ต่อไปปตท.จะพบกับปัญหามันสมองไหลอย่างแน่นอน หากไม่เร่งแก้ปัญหา ล่าสุด ปลิว
มังกรกนก ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายการเงิน ลาออกไปเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ของ
บงล.ทิสโก้ ซึ่งว่ากันว่า ปลิวได้เงินเดือนมากกว่าเดิมเกือบสิบเท่า พร้อมกันนั้นก็มีผู้บริหารระดับกลางออกไปอีก
10 กว่าคน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแทบทั้งสิ้น
"ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์รองผู้ว่าการหลายท่าน ซึ่งทุกคนพูดถึงปัญหานี้เป็นเสียงเดียวกันว่า
จะเป็นปัญหาต่อไปถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างเงินเดือน ศิรินทร์กล่าวถึงปัญหานี้อย่างชัดเจนโดยยกตัวเองเป็นตัวอย่าง
"ใน STRUCTURE อย่างเก่า ในที่สุด ผู้บริหารขึ้นมาถึงระดับหนึ่งมันติด
อย่างปัจจุบันมีรองผู้ว่าถึง 7 คน นั่งประชุมก็มองหน้ากัน แล้ว PRIVATE SECTOR
เกิดบูมอย่างมหาศาล แล้วเขาเองก็ผลิตมืออาชีพไม่ทัน คุณจะเห็น TOP MANAGEMENT
ของหน่วยราชการไปอยู่กับเอกชน เช่น ดร.อำนวย วีรวรรณ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ
คุณชาญชัย ลี้ถาวร… ปตท.ระดับท็อป แมนเนจเม้นท์ เงินเดือนสามหมื่นกว่า หักภาษีแล้วเหลือ
2 หมื่นกว่า เงินเดือนสองหมื่นหว่า คุณก็รู้ว่าเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ ผมอาจจะบ่นมากหน่อย
เพราะผมเพิ่งอายุสี่สิบสอง เป็นรองผู้ว่าการตั้งแต่อายุ 33 ปี แล้วอนาคตผมจะอยู่ด้วยเงินเดือนที่ตันไปอีก
18 ปีหรือ คิดถึงตัวนี้แล้วหัวใจมันห่อเหี่ยว ขณะที่ผมหมุนเงิน 4 หมื่นกว่าล้าน
ยังไม่รวม INVESTMENT BUDGET ผมเคยพูดเล่น ๆ กับผู้ว่าการทั้ง 2 ท่านว่า
สำหรับมือการเงินที่หมุนเงินปีละสี่หมื่นกว่าล้าน ผมไม่ได้ CLAIM ว่าผมเก่งที่สุด
เมืองไทยมีคนเก่งกว่าผมเยอะแยะ แต่ผมการันตีได้เลยว่า สี่หมื่นล้านี่เงินเดือนผมถูกที่สุด
ผมเป็นมือการเงินที่ราคาถูกที่สุด ท่านผู้ว่าก็หัวเราะ แต่ผมไม่ได้คิดว่าปรับเงินเดือนเป็นแสนแล้วประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นมากมายไม่ใช่อย่างนั้น
มันต้องเปลี่ยน STRUCTURE ไม่ให้ต่างกันมากจนเกินไป"
อาณัติ พูดให้ชัดไปอีกว่า "ระดับล่างนี่ เงินเดือนสูง แต่ระดับสูงนี่เงินเดือนน้อย
แรงจูงใจในการเก็บคนไว้จะต่ำ แล้วมันเหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วไปที่คนคุมเงินเดือน
คือ คลัง อีกหน่อยก็ตันขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนรถติด ระดับฝ่ายตันเกือบหมดแล้ว
อีกหน่อยก็ระดับกองก็ตัน"
สาม - ธุรกิจมีลักษณะที่ต่างกันมาก มันมีหลายหน้า (FACES) แล้วแต่ละหน้าก็มีหน้าย่อย
ๆ อีกเยอะ แต่ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเดียวกันหมด บางอย่างจะ CENTRALIZE ไว้ก็จะงุ่มง่าม
บางอย่างจะ DECENTRALIZE ไปมันก็ไม่เหมือนกัน ก็เป็นปัญหาว่าควรจะ CENTRALIZE
หรือ DECENTRALIZE แค่ไหนอย่างไร
ภายใต้ลักษณะที่แตกต่างกันเช่นนี้ ผู้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยไม่น้อย เพราะต้องทำงาอย่างน้อย
3 หน้า หนึ่ง - ต้องทำงานกับรัฐบาลในเชิงนโยบายได้ สอง - ในแง่ธุรกิจเอง
จะต้องเชี่ยวชาญในการค้า รู้จักการลงทุนให้ได้จังหวะ สาม - บริหารงานภายในให้สงบเรียบร้อย
นั่นคือตัวอย่างปัญหาบางประการที่มองเห็นได้ชัด ซึ่ง ปตท. ได้มอบหมายให้
บริษัท อาร์เธอร์ดีลิตเติ้ล (เอ.ดี.แอล.) ได้ทำการศึกษาโครงสร้างดังกล่าว
หลังจากศึกษาแล้ว เอ.ดี.แอล. ได้เสนอการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยเสนอให้แก้ปัญหาเงินเดือนตันของผู้บริหารระดับสูง
โดยให้ตั้งรองผู้ว่าการฝ่ายอาวุโสขึ้นมาอีก 3 ตำแหน่ง ซึ่งดูไปแล้วยิ่งทำให้โครงสร้างการบริหารของ
ปตท. ใหญ่โตเทอะทะเข้าไปอีก ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้นยังไม่ได้เขียนออกมา
"เขาเขียนมาแค่การแก้ปัญหาระยะสั้น แล้วก็หยุดไว้ก่อน เหตุผลที่หยุดก็คือ
การแก้ปัญหาระยะสั้นของเขายิ่งจะสร้างปัญหากันไปใหญ่ ถ้าเราจะไปโฮลดิ้ง ซึ่งเขายังไม่ได้เสนอแต่คาดว่าจะเป็นเช่นนั้น
แล้วมาตั้งรองอาวุโส เดี๋ยวพวกนี้ก็จะไม่ยอมไปเป็นอะไรที่บริษัทในเครือ…"
ศิรินทร์ในฐานะประธานกรรมการที่ตั้งมาศึกษาโครงสร้างกล่าว
ทางออกของการแก้ปัญหาระยะยาวของ ปตท. อาณัติเสนอการจัดองค์การใหม่ในรูปของ
โฮลดิ้ง คัมปะนี ซึ่งมีบริษัทแม่คือตัว ปตท. ที่ทำหน้าที่ดูแลผลประกอบการทั้งหมด
เป็นผู้ควบคุมนโยบายและเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารเข้าไปในบริษัทลูก ซึ่งบริษัทลูกจะมีการจัดการเป็นแบบเอกชนเต็มที่ทั้งในด้านการจัดการ
ระบบเงินเดือน…โดยที่จะมีเพียงบริษัทแม่ที่ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ
ปตท. สผ. ซึ่งเดิมเป็นแผนกหนึ่งใน ปตท. ได้แยกออกไปเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ทุกอย่างแบบเอกชน
แต่ ปตท.ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์และผู้ว่าการ ปตท. เข้าไปเป็นประธานกรรมการของ
ปตท. สผ.
โฮลดิ้ง คัมปะนี นั้นว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ บริษัทเอกชนใหญ่ทั่วโลกก็ใช้การบริหารแบบโฮลดิ้งแทบทั้งสิ้น
บริษัทบริติช ปิโตรเลียม (บีพี) มีบริษัทในเครือมากมายเกือบ 2,000 บริษัท
ธุรกิจในไทยก็มีตัวอย่างมากมาย เช่น เครือซิเมนต์ไทยมีบริษัทลูกกว่า 40 แห่ง
เครือซีพี เครือสหยูเนี่ยน เป็นต้น
แต่ โฮลดิ้ง คัมปะนี ในลักษณะที่มาใช้ในรัฐวิสาหกิจบ้านเรายังไม่เคยมีมาก่อน
ถ้า ปตท.เริ่มทำเป็นรายแรกแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะเป็น MODEL หนึ่งในการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจไทยที่มีปัญหาไม่แตกต่างกันในเรื่อง
STRUCTURE ขององค์กร เช่น การบินไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯลฯ
เรื่องโฮลดิ้ง คัมปะนี เป็นคนละเรื่องกับการ PRIVATIZATION เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น
ปตท.ก็ยังคงถือหุ้นในบริษัทลูก 100% แต่ในระยะยาว เมื่อธุรกิจแต่ละบริษัทเจริญไปได้ดี
และรัฐมีนโยบายจะ PRIVATIZATION ก็ทำได้ง่าย เพราะสามารถนำเอาบริษัทลูกค้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้
ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สหภาพแรงานกลัวมาก และพยายามจะแสดงความเห็นคัดค้านอยู่ตลอดเวลา
จุดอ่อนของเรื่องโฮลดิ้งคัมปะนี ก็คือ เรื่องการควบคุม (CONTROL) คือ บริษัทแม่จะคุมบริษัทลูกอย่างไร
"ถ้าสมมติว่าจะให้มีการควบคุมกันได้อย่างแท้จริง CHAIRMAN PRESIDENT
ของโฮลดิ้ง คัมปะนี ควรที่จะลงไปเป็น CHAIRMAN หรือกรรมการของบริษัทลูกด้วย
แต่รัฐวิสาหกิจโดยส่วนใหญ่การแต่งตั้งระดับบอร์ดของบริษัทลูกบางทีมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารของโฮลดิ้งคัมปะนี
มันขึ้นอยู่กับกระทรวงบ้าง รัฐมนตรีบ้าง ครม.บ้าง การรัฐวิสาหกิจซึ่งมีการเมืองแทรกเข้ามาได้อีก
สมมติว่า คุณตั้งบริษัทลูกแล้วควบคุมไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้น มันก็กลายไปอีกบริษัทหนึ่งไปเลย
นี่คือจุดอ่อนของโฮลดิ้ง คัมปะนี" แหล่งข่าวระดับสูงวิเคราะห์
อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการยกขึ้นมาบ่อยครั้งเมื่อคุยกันถึงการควบคุมไม่ได้
แล้วในที่สุด หลุดไปเป็นอีกบริษัทหนึ่ง คือ บริษัทบางจากปิโตรเลียม
ในทางปฏิบัติแล้ว หากจะมีการแยกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกมาเป็นบริษัทนั้นต้องเตรียมการไม่น้อย
กรณีที่มีการพูดกันมากที่สุดว่า จะแยกไปเป็นบริษัท คือ โรงแยกก๊าซ ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินนั้นไม่ต่ำกว่า
1 หมื่นล้านบาท ต้องเตรียมตัวอย่างมาก คุณลองคิดดูตั้งโรงแยกก๊าซให้เป็นบริษัท
จะต้องมีระบบบัญชีขึ้นมาเฉพาะ จัดฝ่ายการเงิน การบริหาร จะเอาอย่างไร พนักงานจะแบ่งอย่างไร
พนักงานก็อยากได้ไปใน AREA ที่มีกำไรจะ CORDINATE กับฝ่ายบริหารอย่างไร จะโยกย้ายทรัพย์สิน
- หนี้สินอย่างไร ไม่ใช่ของง่าย ๆ ถ้าจะทำจริง ๆ ก็ต้องเตรียมปูพื้นฐานไว้ให้มันแน่นอน
มาถึงดีเดย์ ก็ตัดแยกได้เลย"
ทองฉัตรเองก็เห็นด้วยในหลักการของโฮลดิ้ง คัมปะนี ว่า จะสามารถดึงคนมีความรู้ความสามารถไว้ได้
แต่ก็มีความเห็นแตกต่างออกไปหลายประการ
"มองในแง่การบริหารองค์กรที่ใหญ่ ๆ แล้ว ถ้าทำได้จริงในแบบโฮลดิ้งก็ดี
เงินเดือนจะได้สู้เขาได้มากขึ้น การบริหารก็คงคล่องตัวขึ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ตาย
ไม่ถึงกับล่มจม การพูดว่าใหญ่มาก จะ BREAK DOWN ไม่จริงหรอก ไม่เห็นเป็นปัญหา
บางทีการจ้างแพงอาจจะไม่ได้คนดีมาก็ได้ ลองดูก็ดีเหมือนกัน ผมไม่เชื่อว่าระบบที่เป็นอยู่จะเป็นปัญหามาก
คน ปตท.มีฝีมือและเสียสละ เพียงแต่ขอให้ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ และผมคิดว่า
เรื่องคนตันจากรองขึ้นเป็นผู้ว่าไม่ได้ ก็จะขึ้นไปทำไมละ ผมว่านั่นไม่ใช่ปัญหาหลัก
ปัญหาคือความคล่องตัวของการบริหารธุรกิจ ผู้บริหารแต่ละจุดก็อิสระ แต่ตันก็ตันละ
ตั้งโฮลดิ้งอีกสักพักก็ตัน แล้วปัญหาเรื่องคนเข้า - ออกไปเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทั่วไปของทุกองค์กร"
อย่างไรก็ตาม เรื่องโฮลดิ้งคัมปะนี ยังเป็นเพียงเรื่องที่อยู่ในระดับการพูดคุยถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้
โดยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดและยังไม่ได้มีการทดลองเสนอเป็นเอกสาร (PAPER)
ใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความฝันของอาณัติ !
ปัญหาอีกประการหนึ่งของ ปตท. คือ การขาด "วัฒนธรรมร่วม" เนื่องจาก
ปตท.นั้นจะว่าไปแล้วก็มาจากร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีพื้นฐานความคิดจิตใจที่แตกต่างกันในยุคของทองฉัตรนั้น
ทุกคนต้องทำงานตะลุมบอนอย่างหนักเพื่อให้ ปตท.อยู่รอด วัฒนดธรรมที่พอจะเห็นได้
คือ "วัฒนธรรมของการทำงานหนัก"
"เราโชคไม่ดีก็คอืว่า เริ่มขึ้นมามันก็ต้องผสมกันแล้ว เราไม่มีโอกาสอยู่ด้วยกัน
มัน SEAT OUT คือคนหนึ่งก็ไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง แล้วมีรองมาต่าง ๆ กัน การประเมินค่าไม่เหมือนกัน
สไตล์ไม่เหมือนกัน รองเลื่อนมาจากเอสโซ่ รองประทินมาจากไฟฟ้า ผมมาจากแบงก์
ตอนแรก ๆ มีเป้าหมายร่วมกันมีอย่างเดียว คือ เอา ปตท.ให้อยู่รอด ไม่มีเวลามานั่งแลกเปลี่ยนกัน
ผมจำได้ว่า 5 ปีแรกนี่ไม่ได้พักเลย ผู้ว่าทองฉัตรท่านสไตล์ตะลุมบอนอยู่แล้ว
ห้าปีหลัง ยุทธศาสตร์องค์กรมันเปลี่ยนไป แต่เราก็แยกกันอยู่เสียแล้ว มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วิภาวดี
อาคารลิ้มเจริญ มีพระโขนง มีกสิกรไทย มีเซ็นทรัล ระดับรองก็เจอกันวันอังคารเช้า
มีอะไรก็ว่ากันตรงนั้น" ศิรินทร์วิเคราะห์
ในความเห็นของสมควร วัฒนกีกุลนั้น คิดว่าสำหรับฮาร์ดแวร์นั้นดีแล้ว ส่วนซอฟต์แวร์ยังอ่อนอยู่เป็นสิ่งที่จะต้องเสริม
"ฮาร์ดแวร์ในที่นี้ผมหมายถึง STRUCTURE ดี STRATEGY ดี ระบบที่ดี คนดี
แผนการดี ส่วนซอฟต์แวร์หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี การประสานงานที่ดี จิตใจที่ดี
ทัศนคติที่ดี อุดมการณ์และวัฒนธรรม โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ฮาร์ดแวร์ดีแล้ว
ส่วนซอฟต์แวร์จะต้องพยายามทำให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะให้ PRODUCTIVITY
ดีขึ้นมาด้วย" สมควร กล่าว
อาณัติให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไม่น้อย เขาตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายชุด เพื่อหาทางทำให้องค์การกระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น
พยายามสร้างวัฒนธรรมร่วมให้เกิดขึ้นในองค์กร และทำประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม
ด้วยความคิดว่า "วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวา นและพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันี้"
เริ่มการเอาเรื่องคิวซีมาใช้ มีกิจกรรม 5 ส (5 ส ปัจจัยพื้นฐานในการเพิ่มผลผลิต
มี สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย) มีกิจกรรมพิเศษขึ้นมากมายเพื่อให้ทุกคนผนึกกำลังกันและสามัคคีกัน
และในขณะที่ความคิดเรื่องโฮลดิ้ง คัมปะนี ชะงักไปนั้น ดร.อาณัติ บอกผู้จัดการว่า
"ก็หันมาเน้นกิจกรรมพิเศษเหล่านี้มากขึ้น"
แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า หาก ปตท. ยังไม่สามารถสถาปนาวัฒนธรรมที่ลงตัวได้แล้ว
ถ้าแยกเป็นโฮลดิ้ง คัมปะนี ก็จะยิ่งกระจัดกระจายหาเอกลักษณ์ร่วมไม่ได้ นี่ก็เป็นอีกข้อสังเกตหนึ่งของการไปสู่โฮลดิ้ง
คัมปะนี
ความเปลี่ยนแปลง
อาณัติ เข้ามาเป็นผู้ว่าการในปลายสมัยรัฐบาลเปรม 5 พอจะพูดได้ว่า เขาคือสายตรงจากป๋า
อาณัติมาพร้อมกับการผลักดันความคิดเรื่อง HOLDING COMPANY ซึ่งโดยแนวความคิดแล้วคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย
และถ้าจะทำจริงต้องมีการเตรียมการอย่างมโหฬารและใช้เวลาพอสมควร ที่สำคัญรัฐบาลต้องไฟเขียว
ซึ่งเรื่องนี้พลเอกเปรมได้ไฟเขียวเรียบร้อยแล้ว
แต่หลังจากที่มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ปรากฏว่า พลเอกเปรมไม่ได้กลับมา
ผู้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคชาติไทย โดยมีนายกฯ ชื่อ พลเอกชาติชาย เรื่อง
HOLDING COMPANY ก็เลยชะงักไป และค่อย ๆ เงียบหายไปทีละน้อย พร้อมกับคำอธิบายของ
อาณัติ กับผู้ร่วมงานว่า "สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไป" ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงใน
ปตท. วิเคราะห์ว่า
"ดร.อาณัติ แกไม่อยากลงมือลงแรงเตรียมการไปมากมาย แล้วไปพบในท้ายที่สุดว่า
รัฐบาลไม่เห็นด้วย ซึ่งความจริงพรรคชาติไทยก็ยังไม่ได้บอกว่าไม่เอา แต่ ดร.อาณัติ
อาจจะไปทราบอะไรมา ผมก็ไม่ทราบ แต่อย่างหนึ่ง ผมว่า ดร.อาณัติเป็นคนที่ ถ้าไม่คิดว่า
จะได้นกแน่ ๆ จะไม่ลั่นไกโดยเด็ดขาด เรื่องนี้ ถ้าไม่ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดใหม่
และรัฐบาลแกไม่ทำ และเมื่อไม่สามารถผลักดันความคิดนี้ได้ ผมว่าแกอาจจะพิจารณาลาออก…แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน
ดร.อาณัติเป็นคนที่อ่านยาก"
เสถียรภาพของอาณัติใน ปตท. เริ่มสั่นคลอน เพราะไม่มีพลเอกเปรมเป็นกำแพงหลังอีกต่อไป
ความโน้มเอียงของอาณัตินั้นดูเหมือนจะไปสนิทสนมกับทางพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าถึงกับเคยมีประแสข่าวว่า
อาณัติจะลงเลือกตั้ง ส.ส.ในนาม ปชป. เมื่อคราวเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ลง
แต่เมื่อพรรคที่ขึ้นมาเป็นใหญ่และดูแลด้านพลังงานทั้งหมดกลับเป็นพรรคชาติไทย
โดยที่ บรรหาร ศิลปอาชา เป็น รมต.อุตสาหกรรม และ กร ทัพพะรังสี เป็นประธานคณะอนุกรรมการพลังงานแห่งชาติ
อาณัติ เองก็ตกที่นั่งลำบากไปด้วย
ประกอบกับปลายเดือนมีนาคมนี้ มีกรรมการที่ครบวาระ 6 คน รวมทั้ง ดร.เชาวน์
ณ ศีลวันต์ ซึ่งเป็นมาครบสองวาระ คือ 6 ปี ไม่สามารถเป็นต่อได้อีก
กรรมการอีก 5 คนที่ครบวาระ คือ ดร.เสนาะ อูนากูล ม.ล.เชิงชาญ กำพู วีระ
สุสังกรกาญจน์ เกษม จาติกวณิช ศิววงศ์ จังคศิริ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดถึง 6 คน โดยเฉพาะ ดร.เชาวน์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้
อาณัติ มาเป็นผู้ว่า ที่สำคัญ คือ คนที่จะมาเป็นกรรมการและประธาน ปตท. นั้น
พรรคชาติไทยย่อมจะส่งคนที่ไว้วางใจได้และสามารถทำนองสนองนโยบายรัฐบาลได้
นั่นเป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน ปตท. เองนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองความสามารถว่า
อาณัติไม่เห็นทำให้ ปตท.มีอะไรใหม่ ขณะที่ข่าวอีกด้านหนึ่ง กล่าวว่า การที่อาณัติทำอะไรไม่ค่อยได้
เพราะคนระดับรอง ๆ มาบางคนไม่ให้ความร่วมมือ และข่าวเรื่องอาณัติจะลาออก
ส่วนหนึ่งก็ถูกปล่อยมาจากผู้สูญเสียประโยชน์จากการดำรงอยู่ของอาณัติ
ข่าวเรื่องอาณัติจะไปเป็นผู้บริหารระดับสูงในธนาคารกรุงเทพ แทนตำแหน่งของโชติ
โสภณพนิช ที่ลาออกไป ซึ่งทางแบงก์กรุงเทพยอมรับว่า มีการทาบทามจริง แต่ ดร.อาณัติ
ยังไม่ตัดสินใจ
นับว่ามีแรงกดดันรอบด้านต่ออาณัติไม่น้อย จึงมีคนลือกันว่า อาณัติลาออกแล้ว
ซึ่งอาณัติได้ออกมาปฏิเสธข่าวยื่นใบลาออก แต่ไม่ปฏิเสธว่จะต้องพิจารณาอีกครั้งเมื่อทราบแน่ว่าใครจะมาเป็นบอร์ด
เมื่อหนังสือผู้จัดการถึงมือท่านผู้อ่านคงจะทราบแล้วว่าใครเป็นประธานบอร์ดและอาณัติจะอยู่หรือไป
แต่ไม่ว่าอาณัติจะอยู่หรือไป ปตท. ยังคงอยู่ ปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาระยะสั้น
และปัญหาโครงสร้างในระยะยาว เป็นสิ่งที่ต้องการการแก้ไข ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ยุคนี้เป็นยุคที่พรรคการเมืองเป็นใหญ่ ทุกคนกำลังจับตาดูอยู่ว่า ท่านต้องการเข้ามาสร้างสรรค์หรือแสวงหาผลประโยชน์